วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

สิกขาบท และอาบัติ พระวินัย หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี

สิกขาบท และอาบัติ


สิกขา สิกขาบท หมายถึง ข้อที่จะต้องศึกษา ข้อที่ต้องปฏิบัติ ในทางศาสนาหมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา
ในคำไทยนำมาใช้ว่า ศึกษา หมายถึงการเล่าเรียน หรือพูดซ้ำว่า การศึกษาเล่าเรียน

สิกขาบท หมายถึงข้อศีล ข้อวินัย คือศีลแต่ละข้อ วินัยแต่ละข้อ เช่นศีลของสามเณรมี 10 ข้อ เรียกว่ามี 10 สิกขาบท ศีลของพระภิกษุ มี 227 ข้อ เรียกว่ามี 227 สิกขาบท

สิกขาบทของภิกษุ 227 สิกขาบท 

  1. ปาราชิก 4 
  2. สังฆาทิเสส 13
  3. อนิยต 2 
  4. นิสสัคคิยะ 30  
  5. ปาจิตตีย์ 92
  6. ปาฏิเทสนียะ 4 
  7. เสขิยะ 75



อาบัติ มาจากภาษาบาลีว่า "อา+ปตติ" แปลว่า ตกลงไป, รุดไป, ลื่นลงไป หมายถึง "การต้อง, การล่วงละเมิด" สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติขึ้น ใช้เรียกความผิดทางวินัยของพระภิกษุว่า ต้องอาบัติ
อาบัติ มี 7 อย่าง แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

  1. ครุกาบัติ หมายถึงอาบัติหนัก อาบัติที่มีโทษร้ายแรง มี 2 อย่างคือ อาบัติปาราชิก อาบัติสังฆาทิเสส
  2. ลหุกาบัติ หมายถึงอาบัติเบา อาบัติที่ไม่มีโทษร้ายแรงเท่าครุกาบัติ มี 5 อย่าง คือ อาบัติถุลลัจจัย อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติปาฏิเทสนียะ อาบัติทุกกฎ อาบัติทุพภาสิต


อาการที่ภิกษุจะต้องอาบัติมี ๖ อย่าง คือ


  1. ต้องด้วยไม่ละอาย คือ ใจด้าน
  2. ต้องด้วยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอาบัติ
  3. ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำ 
  4. ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในสิ่งที่ควร
  5. ต้องด้วยสำคัญว่าควรในสิ่งที่ไม่ควร 
  6. ต้องด้วยลืมสติ

ครุกาบัต (อาบัติหนัก โทษร้ายแรง)


1. ปาราชิก 4 
ปาราชิก แปลว่า ผู้พ่ายแพ้ ซึ่งหมายถึง ผู้แพ้แก่หนทางชีวิตการเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา อาบัติปาราชิก เป็นอาบัติหนักที่สุด ภิกษุใดเมื่อต้องอาบัติปาราชิกแล้วจะ ขาดจากความเป็นภิกษุทันที ถ้าสึกออกไปแล้วและกลับเข้ามาบวชใหม่ ก็ไม่เป็นพระ แต่ถ้ายังไม่สึกออกไปและถ้าร่วมทำสังฆกรรมใดๆ ก็จะทำให้สังฆกรรมนั้นๆ เสียทั้งหมด แต่ถ้ายังอยู่ครองผ้าเหลืองหลอกให้คนกราบไหว้อยู่ ก็จะยิ่งเป็นบาปหนาขึ้นเรื่อยๆ

2. สังฆาทิเสส ๑๓ 
สังฆาทิเสส แปลว่า อาบัติอันจำปรารถนาสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ มูลเหตุแห่งอาบัติ นี้มี ๑๓ สิกขา ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว ต้องรับโทษที่เรียกว่า การอยู่ “ปริวาสกรรม (อยู่กรรม)” เป็นอาบัติที่หนักรองลงมา

ลหุกาบัติ (อาบัติเบา มีโทษเบา)


3.อนิยต ๒ 
อนิยต แปลว่า ไม่แน่, ไม่แน่นอน เป็นอาบัติที่อยู่ระหว่าง "ปาราชิก หรือ สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์" ดังสาระโดยสังเขปคือ "ภิกษุผู้เดียวสำเร็จการนั่งอยู่กับมาตุคาม (สตรี) ผู้เดียว ในที่ลับหู 1, หรือในที่ลับตา 1 "

4.นิสสัคคิยะปาจิตตีย์ 30 
นิสสัคคิยะปาจิตตีย์ แปลว่า จำต้องสละ อาบัติสิกขานี้ภิกษุจำต้องสละสิ่งของที่เป็นมูลเหตุแห่งอาบัติก่อน (ประกอบด้วย จีวรวรรค 10, โกสิยวรรค 10, ปัตตวรรค 10)


5.ปาจิตตีย์ 92 
ปาจิตตีย์ แปลว่า การละเมิดยังกุศลธรรมให้ตก ย่อมฝืนต่ออริยมรรค เป็นเหตุแห่งความลุ่มหลงแห่งจิต เพราะเหตุนั้น จึงเรียกความละเมิดนั้นว่า ปาจิตตีย์ (ประกอบด้วย มุสาวาทวรรค ๑๐, ภูตคามวรรค ๑๐, โอวาทวรรค ๑๐, โภชนวรรค ๑๐, อเจลกวรร ๑๐, สุราปานวรรค ๑๐, สัปปาณวรรค ๑๐, สหธรรมมิกวรรค ๑๒, รตนวรรค ๑๐) 

6. ปาฏิเทสนียะ 4 
ปาฏิเทสนียะ แปลว่า จะพึงแสดงคืน หมายถึงธรรมที่น่าติเตียนในศาสนาของพระสุคต. ความผิดที่ต้อง”แสดงคืน” คือ ต้องอาบัติเกี่ยวกับบุคคลใด ให้แสดงกับบุคคลนั้น


7.เสขิยะ 75 
เสขิยะ แปลว่า สิ่งที่พึงศึกษาอันควรปฏิบัติ ข้อนี้เป็นเบื้องต้น เป็นพุทธบัญญัติที่ได้เตือนสติให้ ภิกษุสงฆ์พึงสำรวมกาย วาจา ใจ เมื่อเข้าไป อยู่ในที่ชุมชนหรือในละแวกบ้านของผู้อื่น เพื่อยังให้เกิดความเลื่อมใสของบุคคลในชุมชนนั้นๆ จะได้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา (ประกอบด้วย สารูป ๒๖, โภชนปฏิสังยุต ๓๐, ธรรมเทศนาปฏิสังยุต ๑๖, ปกิณกะ ๓)

นอกจากนี้ยังมีความผิดที่มีโทษขั้นเบา เรียกเป็นคำศัพท์ว่า "อาบัติถุลลัจจัย, อาบัติทุกกฎ, และ อาบัติทุพภาษิต" ซึ่งเป็นสิกขาบทที่ไม่ได้มีอยู่ในพระปาติโมกข์ 

ถุลลัจจัย แปลว่า ความล่วงละเมิดที่หยาบ ภิกษุแสดงอาบัติถุลลัจจัยในที่ใกล้ภิกษุรูปหนึ่ง และภิกษุรับอาบัตินั้น โทษเสมอด้วยถุลลัจจัยนั้นไม่มี ฉะนั้นจึงเรียกโทษนั้นว่า ถุลลัจจัย เป็นอาบัติหนักรองลงมาจากปาราชิก และสังฆาทิเสส มูลเหตุเกิดขึ้นเมื่อตั้งใจจะละเมิดอาบัติ ๒ อย่างนั้น แต่ทำไม่สำเร็จสมบูรณ์ เพียงแต่คิดเจตนาจะกระทำ เช่นมีความกำหนัด มีจิตปฏิพัทธ์ มีอารมณ์เพศ คิดจะร่วมเพศ แต่ยังไม่ได้ทำ ก็จะอาบัติถุลลัจจัย

ทุกกฏ แปลว่า ทำไม่ดี กรรมใดผิดพลั้งและพลาด กรรมนั้นชื่อว่าทำไม่ดี คนทำชั่วอันใดในที่แจ้งหรือในที่ลับ บัณฑิตทั้งหลายย่อมติเตียนว่าเป็นคนทำชั่ว ทำไม่ดี ทำผิด เพราะเหตุนั้น กรรมนั้นจึงเรียกว่าทุกกฏ เป็นอาบัติเบา ส่วนมากเกี่ยวกับมารยาทต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม

ทุพภาสิต แปลว่า พูดไม่ดี, คำชั่ว, คำเสียหาย บทใด อันภิกษุกล่าวไม่ดี พูดไม่ดี และเศร้าหมอง วิญญูชนทั้งหลายย่อมติเตียน บทใด เพราะเหตุนั้น บทนั้น จึงเรียกว่า ทุพภาสิต “พูดไม่ดี” เป็นอาบัตที่เกิดจากความ ผิดพลาดในการพูดไม่เหมาะสม

การปรับ อาบัติทุกกฏ หรืออาบัติทุพภาสิต เป็นการลงโทษขั้นพื้นฐาน จนเป็นที่เสื่อมเสียแก่ตนเองและหมู่คณะ ขาดความเป็นระเบียบร้อยและขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ทั้งยังให้ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาขาดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นเหตุให้พระศาสนาเสื่อมได้

เมื่อภิกษุรูปใดรูปหนึ่งต้องอาบัติ ก็ถือว่าภิกษุรูปนั้นไม่บริสุทธิ์ จะไม่สามารถลงโบสถ์ร่วมทำสังฆกรรมกับภิกษุอื่นๆ ได้ จึงต้องแก้อาบัติให้ตนกลับมีความบริสุทธิ์เสียก่อน การไม่กระทำความผิดข้อใดๆ ก็คือการรักษาศีลให้บริสุทธิ์อย่างเคร่งครัดนั่นเอง

ปฐมบัญญัติ



อาบัติและระดับความผิดในรูปแบบตาราง




การแสดงอาบัติ



1.ผู้ต้องอาบัติ ปาราชิก ควรปฏิญญา (รับความจริง) แล้วลาสิกขาไปเสีย
2.ผู้ต้องอาบัติ สังฆาทิเสส ต้องประพฤติวุฏฐานวิธี ตั้งแต่ต้นจนถึงอัพภาน

อาบัตินอกจากนี้ เป็นลหุกาบัติ คืออาบัติเบา ซึ่งผู้ต้องลหุกาบัติต้องเปิดเผยโทษของตนแก่ภิกษุอื่นทันทีที่ระลึกได้ เมื่อโอกาสอำนวย( ไม่ต้องรอถึง วันอุโบสถ)


3.ต้องอาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ให้สละสิ่งของอันเป็นเหตุให้ต้องอาบัตินั้นก่อน

การปลงอาบัติ ลหุกาบัติ (พร้อมคำแปลความหมาย)




สำหรับผู้มีพรรษาอ่อนกว่า


(พรรษาอ่อน ว่า) สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ  (ว่า 3 หน)
ขอแจ้งให้ทราบว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหลายตัว.
สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ  (ว่า 3 หน) 
อาบัติเหล่านั้น เป็นอาบัติ(หนัก)เบา หลายตัว.
อะหัง ภันเต สัมพะหุลา นานาวัตถุกาโย อาปัตติโย  อาปัชชิง ตา ตุมหะ มูเล ปะฎิเทเสมิ 
ข้าพเจ้าต้องอาบัติหลายตัว ต่างวัตถุกัน  ข้าพเจ้าขอแสดงอาบัตินั้น.
(พรรษาแก่ รับว่า)   ปัสสะสิ อาวุโส ตา อาปัตติโย 
เธอเห็น (อาบัตินั้น) หรือ ?
(พรรษาอ่อน ว่า) อุกาสะ อามะ ภันเต ปัสสามิ 
ใช่! ข้าพเจ้าเห็น.
(พรรษาแก่ รับว่า) อายะติง อาวุโส สังวะเรยยาสิ 
เธอพึงสำรวมระวังต่อไป.
(พรรษาอ่อน ว่า) สาธุ สุฎฐุ ภันเต สังวะริสสามิ 
ดีแล้วท่าน! ข้าพเจ้าจะสำรวมไว้ด้วยดี.
ทุติยัมปิ สาธุ สุฎฐุ ภันเต สังวะริสสามิ 
แม้วาระที่สองดีแล้วท่าน! ข้าพเจ้าจะสำรวมไว้ด้วยดี.
ตะติยัมปิ สาธุ สุฎฐุ ภันเต สังวะริสสามิ 
แม้วาระที่สามดีแล้วท่าน! ข้าพเจ้าจะสำรวมไว้ด้วยดี.
นะ ปุเนวัง กะริสสามิ 
นับตั้งแต่นี้ต่อไป ข้าพเจ้าจักสำรวมกายไว้ด้วยดี
(พรรษาแก่ รับว่า) สาธุ
ดีแล้ว.
(พรรษาอ่อน ว่า) นะ ปุเนวัง ภาสิสสามิ  
นับตั้งแต่นี้ต่อไป ข้าพเจ้าจักสำรวมวาจาไว้ด้วยดี.

(พรรษาแก่ รับว่า) สาธุ
ดีแล้ว.
(พรรษาอ่อน ว่า) นะ ปุเนวัง จินตะยิสสามิ 
นับตั้งแต่นี้ต่อไป ข้าพเจ้าจักสำรวมใจไว้ด้วยดี.
(พรรษาแก่ รับว่า) สาธุ
ดีแล้ว.

สำหรับผู้มีพรรษาแก่กว่า


(พรรษาแก่ ว่า) สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ (ว่า ๓ หน)
ขอแจ้งให้ทราบว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหลายตัว.
สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ (ว่า ๓ หน) 
อาบัติเหล่านั้น เป็นอาบัติ(หนัก)เบา หลายตัว.
อะหัง อาวุโส สัมพะหุลา นานาวัตถุกาโย อาปัตติโย อาปัชชิง ตา ตุยหะ มูเล ปะฎิเทเสมิ 
ข้าพเจ้าต้องอาบัติหลายตัว ต่างวัตถุกัน, ข้าพเจ้าขอแสดงอาบัตินั้น.
(พรรษาอ่อน รับว่า) อุกาสะ ปัสสะถะ ภันเต ตา อาปัตติโย 
ท่านเห็น(อาบัตินั้น)หรือ ?
(พรรษาแก่ ว่า)  อามะ อาวุโส ปัสสามิ 
ใช่! ข้าพเจ้าเห็น.
(พรรษาอ่อน รับว่า) อายะติง ภันเต สังวะเรยยาถะ 
ท่านพึงสำรวมระวังต่อไป.
(พรรษาแก่ ว่า)  สาธุ สุฎฐุ อาวุโส สังวะริสสามิ 
ดีแล้วท่าน! ข้าพเจ้าจะสำรวมไว้ด้วยดี.
(พรรษาอ่อน ว่า) สาธุ
ดีแล้ว.
ทุติยัมปิ สาธุ สุฎฐุ อาวุโส สังวะริสสามิ 
แม้วาระที่สอง ดีแล้วท่าน! ข้าพเจ้าจะสำรวมไว้ด้วยดี.
(พรรษาอ่อน ว่า) สาธุ
ดีแล้ว.
ตะติยัมปิ สาธุ สุฎฐุ อาวุโส สังวะริสสามิ 
แม้วาระที่สาม ดีแล้วท่าน! ข้าพเจ้าจะสำรวมไว้ด้วยดี.
(พรรษาอ่อน ว่า) สาธุ
ดีแล้ว.
(พรรษาแก่ ว่า) นะ ปุเนวัง กะริสสามิ 
นับตั้งแต่นี้ต่อไป ข้าพเจ้าจักสำรวมกายไว้ด้วยดี.
(พรรษาอ่อน ว่า) สาธุ
ดีแล้ว.
(พรรษาแก่ ว่า) นะ ปุเนวัง ภาสิสสามิ 
นับตั้งแต่นี้ต่อไป ข้าพเจ้าจักสำรวมวาจาไว้ด้วยดี.
(พรรษาอ่อน ว่า) สาธุ
ดีแล้ว.
(พรรษาแก่ ว่า) นะ ปุเนวัง จินตะยิสสามิ 
นับตั้งแต่นี้ต่อไป ข้าพเจ้าจักสำรวมใจไว้ด้วยดี.
(พรรษาอ่อน ว่า) สาธุ
ดีแล้ว.


สภาคาบัติ



สภาคาบัติ แปลว่า อาบัติที่มีวัตถุเสมอกัน เช่น ภิกษุ 2 รูป ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันอาหารในเวลาวิกาลเหมือนกัน อาบัติที่ภิกษุต้องเพราะความผิดเดียวกันอย่างนี้ เรียกว่า สภาคาบัติ

ภิกษุที่ต้องสภาคาบัติ ไม่พึงแสดงและรับการแสดงอาบัติกันและกัน มิฉะนั้นจะต้องอาบัติทุกกฏทั้งผู้แสดงและผู้รับ

ใน กรณีที่สงฆ์ในอาวาสนั้นต้องสภาคาบัติทั้งหมด ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยังอาวาสใกล้เคียง เพื่อทำคืนอาบัติ เมื่อภิกษุนั้นกลับมาแล้ว จึงให้ภิกษุที่เหลือทั้งหมดทำคืนอาบัติกับภิกษุนั้น ถ้าได้อย่างนี้ก็เป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุผู้ฉลาดพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรม ดังนี้


คำประกาศสภาคาบัติ


สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ, อะยัง สัพโพ สังโฆ สะภาคัง อาปัตติง อาปันโน, ยะทา อัญญัง ภิกขุง สุทธัง อะนาปัตติกัง ปัสสิสสะติ, ตะทา ตัสสะ สันติเก ตัง อาปัตติง ปะฏิกกะริสสะติ.

ท่าน เจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ทั้งปวงนี้ต้องสภาคาบัติ จักเห็นภิกษุอื่นผู้บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติเมื่อใดจักทำคืนอาบัตินั้น ในสำนักเธอเมื่อนั้น.

เมื่อสวดประกาศแล้วจึงทำอุโบสถ หรือทำปวารณาได้


การออกจากอาบัติสังฆาทิเสส

เมื่อภิกษุต้องอาบัติดังกล่าวแล้ว ต้องแจ้งแก่สงฆ์ 4 รูปเพื่อขอประพฤติวัตรที่ชื่อมานัต เมื่อสงฆ์อนุญาตแล้วจึงประพฤติวัตรดังกล่าวเป็นเวลา 6 คืน เมื่อพ้นแล้วจึงขอให้สงฆ์ 20 รูปทำสังฆกรรมสวดอัพภานให้ เมื่อพระสงฆ์สวดอัพภานเสร็จสิ้น ถือว่าภิกษุรูปนั้นพ้นจากอาบัติข้อนี้

ในกรณีที่ภิกษุต้องอาบัติข้อนี้แล้วปกปิดไว้ เมื่อมาแจ้งแก่หมู่สงฆ์แล้ว ต้องอยู่ปริวาสกรรมเท่ากับจำนวนวันที่ปกปิดไว้ก่อน เช่น ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้หนึ่งเดือน เมื่อแจ้งแก่สงฆ์แล้วต้องอยู่ปริวาสหนึ่งเดือน แล้วจึงขอประพฤติวัตรมานัตต่อไป

สมุจจยขันธกะ เรื่องการออกจากอาบัติสังฆาทิเสสต่าง ๆ
หมวดว่าด้วย การรวบรวมเรื่องการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส

ในหมวดนี้แสดงวิธีออกจากอบัติสังฆาทิเสส โดยเล่าเรื่องพระอุทายีปรึกษาสงฆ์ว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว ควรปฏิบัติอย่างไร? มีการแสดงรายละเอียดซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสแนะดังต่อไปนี้ :-

  1. ต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อเดียว ไม่ได้ปกปิด ให้ขอมานัต ให้สวดประกาศให้มานัต เมื่อประพฤติมานัตเสร็จแล้วให้ขออัพภาน ให้สวดประกาศถอนจากอาบัติให้
  2. ต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อเดียวปิดไว้วันเดียว ให้ขอปริวาส 1 วัน เสร็จแล้วจึงขอมานัตแล้วดำเนินการต่อไปตามลำดับเหมือนข้อ 1
  3. ต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อเดียวปิดไว้ 2 วันบ้าง 3 วันบ้าง 4 วันบ้าง  5 วันบ้าง  ให้ขอปริวาสเท่ากับวันที่ปกปิดไว้มากที่สุด คือ 5 วัน แล้วขอมานัตและทำตามลำดับเหมือนข้อ 1
  4. ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ 5 วัน ขอปริวาส 5 วัน ระหว่างอยู่ปริวาสต้องอาบัติสังฆาทิเสสซ้ำอีก ให้ชักเข้าหาอาบัติเดิมโดยขอต่อสงฆ์ให้ชักเข้าหาอาบัติเดิมแล้วขอปริวาสใหม่ อยู่ปริวาสอีก 5 วัน แล้วจึงทำต่อไปตามลำดับเหมือนข้อ 1
  5. ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ 1 ปักษ์ (15 วัน) ให้ขอปริวาส 1 ปักษ์ ระหว่างที่อยู่ปริวาสต้องอาบัติเดิมซ้ำอีกปิดไว้ 5 วัน ให้ขอต่อสงฆ์เพื่อชักเข้าหาอาบัติเดิม เริ่มต้นขอปริวาสใหม่ โดยรวมกับอาบัติที่ปิดไว้เดิม(เมื่อรวมกันก็นับข้างมากเพียงฝ่ายเดียว คือ 15 วันไม่ต้องเติมอีก 5 วัน) ต่อมาเมื่ออยู่ปริวาสเสร็จแล้ว ขอประพฤติมานัต ระหว่างที่ประพฤติมานัตต้องอาบัติข้อเดิมซ้ำอีก ให้สงฆ์ชักเข้าหาอาบัติเดิม คือต้องเริ่มต้นอยู่ปริวาสใหม่อีก 15 วัน จึงขอมานัต ประพฤติมานัตใหม่เสร็จแล้วทำตามลำดับดังกล่าวมาแล้ว
  6. ภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติสังฆาทิเสส 2 ตัว ปิดไว้ 2 เดือน ได้ขอปริวาสเพื่ออาบัติ 1 ตัวปิดไว้ 2 เดือนกับสงฆ์ ภายหลังละอายใจจึงแจ้งความที่ปิดอาบัติ 2 ตัวปิดเอาไว้ 2 เดือน จึงทรงให้สงฆ์ให้ปริวาส 2 เดือนเพื่ออาบัติแม้นอนนี้
  7. สมัยนั้นภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลายตัว ไม่รู้จำนวน ระลึกไม่ได้ ไม่แน่ใจในอาบัติ และจำนวนราตรีที่ปกปิด จึงทรงให้สงฆ์ให้สุทธันตปริวาส (คือปริวาสที่อยู่จนกว่าจะบริสุทธิ์)แล้วดำเนินตามข้อ 1
  8. กรณีที่ภิกษุผู้กำลังอยู่ปริวาส ผู้ควรแก่การชัดเข้าหาอาบัติเดิมผู้ควรแก่มานัต ผู้ควรแก่อัพภานนั้นสึก ลดฐานะเป็นสามเณรวิกลจริต มีจิตฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม(ยกออกเสียจากหมู่) การอยู่ปริวาสและกรรมทั้งหลายนั้นใช้ไม่ได้, ถ้ากลับคืนสภาพเป็นภิกษุอีก ปริวาสมานัตที่ให้แล้ว หรืออยู่ประพฤติแล้ว เป็นอันให้หรือประพฤติดีแล้ว ให้ทำกรรมที่เหลืออยู่ต่อไป ตามข้อ 1
นอกจากนี้ได้แสดงตัวอย่างอื่นอีกหลายข้อ ที่เกิดปัญญาสลับซับซ้อนในระหว่างประพฤติในกรณีอื่น ๆบ้าง เรื่องราวในสมุจจยขันธกะเท่ากับเป็นประมวลแบบปฏิบัติในเรื่องออกจากอาบัติสังฆาทิเสส ทีมีปัญหาสลับซับซ้อน แสดงคำบาลีสำหรับสวดประกาศไว้อย่างพิสดาร