วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564

หน่วยการเรียนรู้ที่ ๕ เรื่องที่ ๑ หน้าที่ของพระภิกษุ

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๕ 
หน้าที่ชาวพุทธและมารยาทชาวพุทธ




    พระพุทธศาสนามีส่วนช่วยจรรโลงสังคมไทยมาจนกระทั่งปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกลงในวิถีชีวิตของคนไทย ดังนั้น ในฐานะชาวพุทธที่ดีจึงควรช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงยิ่งขึ้นไป หมั่นศึกษาหาความรู้ ปฏิบัติตามหลักธรรมและประเพณีพิธีกรรมทางศาสนา เผยแผ่และปกป้องพระศาสนา ตลอดจนเรียนรู้มารยาทที่ดีงามของชาวพุทธ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป



๑.หน้าที่ของพระภิกษุในการปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย และจริยาวัตรอย่างเหมาะสม



    พระภิกษุหรือพระสงฆ์ เป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบยิ่ง เป็นแหล่งปลูกฝังคุณธรรมแก่ชาวโลก และชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีแก่สังคม ตลอดจนมีหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนาด้วยการตั้งใจศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ และเผยแผ่พระพุทธศาสนา นับว่าพระสงฆ์ได้ทำประโยชน์แก่สังคมมิใช่น้อย จึงควรที่ชาวพุทธจะพึงเคารพนับถือพระสงฆ์และปฏิบัติตนให้เหมาะสมต่อพระสงฆ์
หน้าที่หลักของพระสงฆ์มี ๓ ประการ คือ การศึกษา การปฏิบัติ และการสั่งสอนและเผยแผ่พระธรรม



๑.๑ การศึกษา



    การศึกษา หมายถึง การเรียนพระพุทธวจนะ ซึ่งภายหลังรวบรวมเป็นพระไตรปิฏกเอาไว้ การเรียนสมัยก่อนใช้วิธีท่องจำ เรียกว่า "มุขปาฐะ" ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ไม่มีการสอบไล่เพื่อรับปริญญาเหมือนสมัยปัจจุบัน ซึ่งใช้วิธีการแบบต่างคนต่างท่องจำ มากน้อยตามความสามารถและความถนัด ถ้าอยู่ด้วยกันหมู่มากก็แบ่งกลุ่มหรือสำนักท่องจำกัน เช่น กลุ่มนี้ท่องพระสูตร กลุ่มนี้ท่องพระวินัย กลุ่มโน้นท่องพระอภิธรรม เป็นต้น เมื่อกาลเวลาบล่วงไปก็มีเหตุการณ์ทำให้พระธรรมวินัยคลาดเคลื่อนหรือกลัวว่าจะเกิดความคลาดเคลื่อน จึงมีการเรียกประชุม "สังคายนา" (ร้อยกรองหรือสวดสอบทานกัน) เพื่อความถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น พระพุทธวจนะเป็นจำนวนมากได้ถูกบันทึกลงในสมองของพระสาวกโดยระบบท่องจำอย่างนี้ คำสอนของพระพุทธเจ้าจึงสืบทอดมาถึงพวกเราซึ่งนับเป็นเวลากว่าสองพันปี
การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะนี้ ต่อมาเรียกกันว่า "คันถธุระ" (หน้าที่ด้านการเรียนพระคัมภีร์) เป็นการเรียนรู้หลักวิชาเพื่อเกื้อกูลและสนับสนุนการปฏิบัติธรรมให้เกิดผลดี



๑.๒ การปฏิบัติ



    ภาระหน้าที่ด้านนี้เรียกตามศัพท์ศาสนาว่า "วิปัสสนาธุระ" (หน้าที่ปฏิบัติเพื่อความเห็นแจ้ง) หมายถึง การฝึกอบรมจิตให้เป็นสมาธิและให้มีพลัง เพื่อนำไปใช้ในการข่มหรือกำจัดกิเลส คือความเศร้าหมองแห่งจิต และให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง กล่าวเพื่อให้เข้าใจง่ายก็คือ การปฏิบัติตามทฤษฏีที่ได้ศึกษามาข้างต้นนั้น ก็เพื่อการดับทุกข์เป็นขั้น ๆ จนถึงความดับโดยสิ้นเชิง การศึกษาเฉพาะในด้านปริยัติคือคัมภีร์ต่าง ๆ เหล่านั้น ก็เปรียบเหมือนการอ่านแผนที่เพื่อให้รู้ว่ามีถนนกี่สาย สายใดนำไปสู่จุดหมายใด ส่วนการศึกษาในด้านการปฏิบัตินั้น จะต้องนำมาปฏิบัติด้วยตนเอง จริง ๆ ก็เหมือนกับการเดินทางตามเส้นทางที่แผนที่บ่งไว้เพื่อไปสู่จดุหมายปลายทางที่ตนต้องการ 



    เมื่อพระสงฆ์ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมจนเข้าใจแจ่มแจ้งและสามารถปฏิบัติตามหลักธรรมนั้นได้แล้ว คุณค่าและประโยชน์ที่ได้จากการปฏิบัตินั้นย่อมก่อให้เกิดผล ดังนี้
(๑) สามารถควบคุมกาย วาจา ให้เรียบร้อย งดเว้นจากข้อห้ามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ได้
(๒) สามารถฝึกจิตใจของตนเองให้มีสมาธิอันแน่วแน่จนจิตสงบ สามารถขจัดสิ่งมัวหมองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจิตออกจากใจได้ และยังมีผลให้จิตสมบูรณ์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น มีความเมตตากรุณา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเข้มแข็งอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ สามารถยับยั้งชั่งใจ มีความเพียร ความกล้าหาญ ความไม่ยึดมั่นถือมั่น รู้จักเข้าใจ และให้อภัยคนอื่น เป็นต้น
(๓) ก่อให้เกิดปัญญาที่เกิดจากการฝึกปฏิบัตินั้น ทั้งยังเข้าใจโลกและชีวิตอย่างแจ่มแจ้ง จนสามารถปล่อยวางจากความยึดติด ลด ละ เลิกความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้ลดลง จนกระทั่งหมดไปโดยสิ้นเชิง



๑.๓ การสั่งสอนและเผยแผ่พระธรรม



    การสั่งสอนและเผยแผ่พระธรรมเป็นการทำประโยชน์แก่สังคม (ประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น) หมายถึง การทำประโยชน์แก่ชาวบ้านผู้ได้อนุเคราะห์ช่วยเหลือพระสงฆ์ด้วยปัจจัย ๔ หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึง การทำประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งมวล



    ในพระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๑ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงหน้าที่ของพระสงฆ์ในด้านการสั่งสอนและการเผยแผ่ธรรมแก่ประชาชนไว้ ๖ ประการ ดังนี้

    (๑) สอนให้เขาละเว้นจากความชั่ว ชี้ให้เห็นว่าความชั่วเป็นอย่างไร โทษของความชั่วเป็นอย่างไร และพยายามชักจูงให้เขาละเว้นจากความชั่วนั้น
    (๒) แนะนำให้เขาตั้งอยู่ในความดี การละเว้นจากการทำความชั่วอย่างเดียว ยังไม่นับว่าเป็นคนดีสมบูรณ์และยังไม่ปลอดภัย เผลอเมื่อไรก็อาจหันเข้าหาความชั่วอีกได้ ดังนั้น พระสงฆ์ต้องทำหน้าที่ ๒ คือ แนะนำให้ทำความดีเพิ่มเติม
    (๓) อนุเคราะห์ด้วยจิตใจอันงาม แนะนำสั่งสอนด้วยความปรารถนาดี มุ่งประโยชน์ที่เขาจะพึงได้รับเป็นสำคัญ ไม่หวังอามิส ลาภ ยศ หรือชื่อเสียงใด ๆ เป็นการตอบแทน
    (๔) สอนสิ่งที่เขาไม่เคยสดับรับฟังมาก่อน ประชาชนส่วนมากมักวุ่นวายอยู่กับการทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาและสดับพระธรรม พระสงฆ์ผู้ได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติมากกว่าชาวบ้าน จึงต้องนำเอาสิ่งที่ตนเรียนรู้มาถ่ายทอดให้ชาวบ้านได้รู้ด้วย
    (๕) ชี้แจงสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟังมาแล้วให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น บางเรื่องเขาฟังมาแล้ว เกิดความสงสัยไม่แน่ใจ ก็ต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจแจ่มแจ้งจนหายสงสัย โดยรู้จักอธิบายยักเยื้องหลายแง่หลายมุม จับจุดสำคัญมาขยายชี้แจงแต่ละประเด็นให้ชัดเจน
    (๖) บอกทางสวรรค์ ทำหน้าที่เป็น "มัคนายก" (ผู้นำทาง) แนะนำทางดำเนินชีวิตที่ดีงาม และเป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชน



การเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มีความสำคัญ ดังนี้
    ๑. เป็นการช่วยเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นที่แพร่หลายทั่วโลก โดยในปัจจุบันมีผู้สนใจหันมานับถือพระพุทธศาสนามากขึ้น เพราะเขาเห็นว่าพระพุทธศาสนานั้นได้ให้วิถีทางในการดำเนินชีวิตอันสงบสุขได้
    ๒.เป็นการช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาและทำให้มีผู้สนใจเข้ามาบวชเรียนศึกษาพระธรรมเพื่อเป็นศาสนทายาทต่อไป
    ๓.เป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยพระสงฆ์ผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ งดงามไปด้วยศีล สมบูรณ์ไปด้วยคุณธรรม มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ทำหน้าที่เป็นผู้เผยแผ่ธรรมะที่ถูกต้องให้แก่ผู้ที่ยังไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด ได้เข้าใจหลักธรรมอย่างแจ่มแจ้งและถูกต้องมากขึ้น
    ๔.ลดการเกิดปัญหาสังคม เมื่อหลักธรรมของพระพุทธเจ้าได้เผยแผ่ออกไป จนทำให้ประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว ปัญหาสังคมต่าง ๆ เช่น การลักขโมย การเล่นการพนัน การเสพสิ่งเสพติดต่าง ๆ ก็จะลดน้อยลง จนกระทั่งปลอดจากอบายมุขในที่สุด