วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564

หน่วยการเรียนรู้ที่ ๓ ไตรลักษณ์ วัฏฏะ ๓ และปปัญจธรรม ๓

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๓
หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
ไตรลักษณ์ วัฏฏะ ๓ และปปัญจธรรม ๓


๒) ไตรลักษณ์ 

แปลว่า "ลักษณะ ๓ อย่าง" หมายถึง ลักษณะ ๓ ประการ ของสิ่งทั้งปวง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็น "สามัญลักษณะ" ของสรรพสิ่ง คือ เป็นลักษณะร่วมหรือลักษณะทั่วไปของสิ่งทั้งปวง สิ่งต่าง ๆ นั้นอาจมีลักษณะที่ต่างกันออกไป แต่ทุกสิ่งจะต้องมีลักษณะ ๓ อย่างนี้ จึงกล่าวได้ว่าไตรลักษณ์เป็นกฏธรรมชาติ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "ไม่ว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะอุบัติขึ้นในโลกหรือไม่ก็ตาม กฏธรรมชาตินี้ก็ยังคงมีอยู่และเป็นไปตลอดกาล พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ค้นพบแล้วนำมาประกาศเปิดเผยให้คนอื่นเข้าใจตามเท่านั้น"

ลักษณะของสิ่งทั้งปวง ๓ ประการ มีดังนี้


๒.๑) อนิจจตา 

มาจาก
"อ" แปลว่า "ไม่"
"นิจจ" แปลว่า "คงทน ถาวร เที่ยง"
"ตา" แปลว่า "ภาวะ"
รวมแล้วแปลว่า "ภาวะที่ไม่คงทนถาวร หรือภาวะที่ไม่เที่ยง" ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ มีเกิดมีดับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บางสิ่งเราเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน เช่น ทารกเกิดมาตัวเล็ก ๆ ค่อย ๆ โตขึ้นเป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว แล้วก็แก่ สุดท้ายก็ตาย เป็นต้น บางสิ่ง เช่น ภูเขา เราสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้ยาก ดูเหมือนว่าร้อยปีพันปีก็ยังเหมือนเดิม แต่จริง ๆ แล้วมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่สังเกตเห็นไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น เป็นต้น

สิ่งที่เป็นนามธรรมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเหมือนกัน เช่น ได้ลาภมาก็เสื่อมลาภได้ ได้ยศมาก็เสื่อมยศได้ มีคนนินทาก็มีคนสรรเสริญได้ เป็นคนดีมาก่อนก็กลายเป็นคนชั่วได้ เป็นคนชั่วมาก่อนก็กลายเป็นคนดีได้ วันนี้สิ่งหนึ่งให้ความสุขกับเราได้ ภายหลังสิ่งนั้นก็อาจให้ความทุกข์เราได้ เป็นต้น


อนิจจตา เป็น "เนื้อใน" ของสิ่งนั้น หรือเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ การที่ผมหงอก ผิวหนังเหี่ยวปรากฏให้เห็นนั้น เพราะเนื้อแท้ของสิ่งเหล่านั้นไม่มีความสมบูรณ์ในตัว มีความบกพร่องในตัว จึงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องมีอันเปลี่ยนแปลงไป

๒.๒) ทุกขตา 

มาจาก
"ทุกข์" แปลว่า "ทนไม่ได้ ทนอยู่ได้ยาก"
"ตา" แปลว่า" "ภาวะ"
เมื่อรวมกันแล้วแปลว่า "ภาวะที่ทนอยู่ได้ยาก หรือภาวะที่ขัดแย้งไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องอยู่ในตัว พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา" ตัวอย่างเช่น เมื่อทารกเกิดมา ทารกนี้จะทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มีภาวะอย่างหนึ่งอยู่ในตัวทารกที่จะผลักดันให้ทารกกลายเป็นเด็ก โตขึ้น เป็นวันรุ่น วัยกลายคน เป็นคนแก่ ฯลฯ นอกเสียแต่ว่าจะมีสิ่งที่มาขัดขวางการเปลี่ยนแปลงนี้ นี้คือตัวอย่างของภาวะที่ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ 

๒.๓) อนัตตา

มาจากคำว่า
"อน" (อะนะ) แปลว่า "ไม่"
"อัตตา" แปลว่า "ตัวตน"
"ตา" แปลว่า "ภาวะ"
รวมแล้วแปลว่า "ภาวะที่ไม่มีตัวตน หรือ ภาวะที่หาตัวตนมิได้"
อนัตตา มีความหมาย ๒ นัย คือ

นัยที่ ๑ ไม่มีตัวตน หมายความว่า ไม่ใช่ตัวตนของคน สิ่งที่เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งประกอบเข้าเป็นรูปร่างที่เราเข้าใจว่า "คน" นี้ ไม่ใช่ตัวของคน ดังพุจวนะในอนัตลักขณสูตรว่า "เนตํ มม นั่นมิใช่ของเรา เนโสหมสฺมิ นั่นมิใช่เรา เนโส เม อตฺตา นั่นมิใช่ตัวตนของเรา"มันเป็นเพียงสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นและดำเนินไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น

นัยที่ ๒ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่มีวิญญาณถาวร หรือ "สิ่ง" ซึ่งอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย อนัตตาในความหมายนี้ ตรงกันข้ามกับอัตตาหรืออาตมันที่ลัทธิศาสนาอื่น ๆ เชื่อถือและยืนยันว่ามีจริง

ในศาสนาเทวนิยม เช่น ศาสนาฮินดู เชื่อว่ามีอัตตาถาวรที่เป็นศูนย์รวมแห่งความเปลี่ยนแปลง หรือเป็นหลักแห่งการคงเดิม เป็นสิ่งที่มีอยู่โดยตนเอง มีบูรณภาพในตัวมันเอง เช่น เรานำมะม่วงมาผลหนึ่งเมื่อวันก่อน มะม่วงนั้นแก่แล้วแต่ยังไม่สุก จึงมีสีเขียวค่อนข้างแข็ง มีกลิ่นของผลไม้สดอยู่ เรานำมะม่วงผลนี้มาบ่ม วันนี้ปรากฏว่ามะม่วงผลนี้มีคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น สี กลิ่น ความแข็ง ความอ่อน ต่างไปจากมะม่วงดิบเมื่อสองวันก่อน แต่เราก็ทราบดีว่ามันเป็นมะม่วงผลเดียวกัน มะม่วงดิบเมื่อสองวันก่อนกับมะม่วงสุกในวันนี้จึงน่าจะมี "อะไรบางอย่าง" อยู่ร่วมกับ "อะไรบางอย่าง" นี่แหล่ะคือตัวตนที่แท้จริงของมะม่วงผลนี้ ตัวตนนี้เป็นหลักแห่งการคงเดิม ที่ทำให้มะม่วงเมื่อสองวันก่อนกับมะม่วงสุกวันนี้เป็นผลเดียวกัน แม้คุณสมบัติอื่น ๆ จะเปลี่ยนไปก็ตาม

ปรัชญาเมธีทั้งตะวันตะและตะวันออก ต่างยอมรับว่าทุกอย่างแปรสภาพ ไม่คงที่ คือ มองเห็นว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกขัง แต่ยังมีความรู้สึกว่าเบื้องหลังการแปรสภาพนั้นจะต้องมี "อะไรบางอย่าง" ที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นตัวยืนโรง หรือเชื่อมประสาน หาไม่แล้วมะม่วงดิบเมื่อสองวันก่อน มันจะเป็นผลเดียวกับมะม่วงสุกวันนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่มี "สิ่ง" คอยเชื่อมหรือควบคุมการแปรสภาพ แต่พระพุทธศาสนาชี้ว่า การที่มะม่วงดิบเมื่อสองวันก่อนเป็นผลเดียวกับมะม่วงสุกในวันนี้ เพราะผลแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สืบเนื่องกันเป็นกระแส ถ่ายโอนศักภาพสืบต่อกันมา หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่าเป็นเพราะการสืบต่อไม่ขาดสาย (สันตติ) เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขของธรรมชาติ ก็ไม่จำเป็นต้องมี "ผู้" หรือ "สิ่ง" ใดมาบันดาลให้เป็นไป หากแต่มันเป็นไปเองตามเงื่อนไข และเสื่อมสลายไปเมื่อหมดเงื่อนไข เปรียบเหมือนเมื่อมีเชื้อ มีไฟ การลุกไหม้ก็เกิด เมื่อเชื้อหมด การลุกไหม้ก็ดับ ไม่ต้องมี "ผู้ใหม้" อยู่เบื้องหลัง "การไหม้" หรือ "ผู้ดับ" อยู่เบื้องหลัง "การดับ"


หลักคำสอนเรื่องไตรลักษณ์ เป็นหลักธรรมชั้นสูงที่ละเอียดลึกซึ้ง หลักธรรมนี้ช่วยเตือนสติเราว่าสรรพสิ่งล้วนแปรเปลี่ยนไป อย่ายึดมั่นจนเกินไป วันนี้รวยพรุ่งนี้อาจจน วันนี้ใคร ๆ ชื่นชมวันหลังอาจไม่มีใครเหลียวแลเลยก็ได้ วันนี้มีแต่คนสรรเสริญวันหลังอาจมีคนด่าว่านินทา หรือตรงกันข้าม วันนี้จนพรุ่งนี้อาจรวยก็ได้ ทุกสรรพสิ่งแปรเปลี่ยนไปไม่มีตัวตนให้ยึดมั่นถือมั่นได้ตลอดไป ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนไม่ยอมปล่อยวาง ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ทรัพย์สิน เงินทอง รูปร่าง หน้าตา ฯลฯ ล้วนแต่จะทำให้ชีวิตมีแต่ความทุกข์ ความกลัดกลุ้ม ความว้าวุ่นใจ 

๒.๒ สมุทัย (ธรรมที่ควรละ)

สมุทัย คือ สาเหตุแห่งการเกิดความทุกข์ หลักธรรมที่ควรละเพื่อไม่ให้เกิดทุกข์ ได้แก่


๑) หลักกรรม (วัฏฏะ ๓)

พระพุทธศาสนาสอนเรื่อง "สังสารวัฏ" คือ การเวียนว่ายตายเกิด มนุษย์ปุถุชนที่ยังมีกิเลสอยู่เมื่อตายไปแล้วต้องไปเกิดใหม่ในภพใดภพหนึ่ง เมื่อตายในภพใหม่ ก็ต้องไปเกิดใหม่อีกหากยังมีกิเลสอยู่ จะเป็นเช่นนี้เรื่อย ๆ จนกว่าจะหลุดพ้นจากกิเลสได้หมดสิ้น


"วัฏฏะ" แปลว่า "วน" หรือ "วงกลม" มี ๓ อย่าง คือ

กิเลสวัฏฏะ หรือเรียกว่า กิเลส
กรรมวัฏฏะ หรือเรียกว่า กรรม
วิบากวัฏฏะ หรือเรียกว่า วิบาก

เมื่อบุคคลทำอะไรลงไป ไม่ว่าจะทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ หากทำลงไปด้วยกิเลสที่อยู่ในใจก็จะก่อให้เกิดกรรมขึ้น เมื่อเกิดกรรมขึ้นก็จะเกิดวิบาก คือ ผลตามมา วิบากหรือผลนี้ก็จะก่อให้เกิดกิเลสขึ้นอีก และกิเลสนี้จะก่อให้เกิดกรรมขึ้นอีก กรรมนี้ก็จะก่อให้เกิดวิบากหรือผลขึ้นอีก วนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าบุคคลจะดับกิเลสได้หมดสิ้น จึงจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

ตัวอย่างเช่น
นาย ก ชอบเล่นการพนันเป็นหนี้และถูกเจ้าหนี้ขู่จะทำร้าย จึงคิดทำการทุจริตที่เรียกว่า กิเลสเกิดขึ้น ไตร่ตรองอยู่นาน ในที่สุดก็ลงมือทำเรียกว่า กรรม แต่ถูกจับได้และไล่ออกจากงาน นี่คือวิบาก เมื่อไม่มีงานก็ไม่มีเงินก็คิดทำการทุจริตอีก ก็เกิดกิเลสขึ้นอีก วนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ

๒) ปปัญจธรรม ๓


คือ เครื่องทำให้เนิ่นช้า อันหมายถึง กิเลสที่ทำให้การศึกษา และปฏิบัติตามพุทธรรมไม่ดำเนินไปด้วยดี มีอยู่ ๓ ประการ ดังนี้

๒.๑) ตัณหา คือ ความทะยานอยาก (ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวตามที่หนังสืออธิบาย) มีกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา 


๒.๒) มานะ คือ ความถือตัว ทนงตัว สำคัญตนว่าเป็นนั่น เป็นนี่ คิดว่าตนเองเหนือกว่า เด่นกว่าผู้อื่น แสดงตนข่มขู่ผู้อื่น คิดว่าตัวเองดีที่สุด


๒.๓) ทิฏฐิ คือ ความยึดติดในความเห็นของตน งมงายโดยปราศจากเหตุผล ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น คลั่งไคล้ความเชื่อ ลัทธิ ทฤษฏี หรืออุดมการณ์ต่าง ๆ โดยปราศจากการไตร่ตรอง คิดว่าความเชื่อของตนเองถูกเสมอ

ตัณหา มานะ และทิฏฐิ เกิดจากการถือเอาตนเป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดความเชื่อเรื่อง "อัตตา" หรือ "ตัวตน" ผู้ที่เชื่อเรื่องอัตตาหรือตัวตน จะมองสิ่งต่าง ๆ ในโลกว่า "นี้ของเรา เราเป็นนั่น นั่นคือตัวของเรา" หรือถ้าจะให้ชัดเจนลงไป อาจกล่าวได้ว่า ความเห็นทั้งสามก่อให้เกิดตัณหา มานะ และทิฏฐิ

กิเลสทั้งสามนี้ขัดขวางการเข้าใจและการปฏิบัติตามพุทธรรม ทำให้เกิดความทุกข์ในใจ เกิดความวุ่นวายสับสน มองปัญหาต่าง ๆ ผิดจากความเป็นจริง ทำให้การเดินทางไปสู่พุทธรรมหลงทาง วิธีแก้ก็คือ ต้องมองว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนที่เราจะไปยึดถือ ต้องพยายามมองโลกไปในทางที่ว่า "นี่ไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นมิใช่ตัวตนของเรา" การมองโลกอย่างนี้จะช่วยให้กิเลสเบาบางลง การเดินทางไปสู่พุทธรรมก็ง่ายขึ้น

วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564

หน่วยการเรียนรู้ที่ ๓ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา สังฆคุณ ๙ และขันธ์ ๕

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๓
หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
สังฆคุณ ๙ และขันธ์ ๕




พระพุทธศาสนามีองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงค้นพบหลักธรรมซึ่งเป็นความจริงอันประเสริฐ โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้สืบทอดและเผยแผ่หลักธรรมคำสอน จึงกล่าวได้ว่าพระธรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญของพระพุทธศาสนา นั่นคือ พระธรรมเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ดังนั้น พุทธศาสนิกชนจึงควรศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้สามารถนำไปเป็นแนวทางในการประพฤติปฎิบัติได้อย่างถูกต้อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมส่วนรวม



๑.พระรัตนตรัย

พระพุทธศาสนามีองค์ประกอบสำคัญสามประการ คือ พระรัตนตรัย ซึ่งแปลว่า แก้วประเสริฐ ๓ ดวง อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

พระพุทธ หมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ซึ่งทรงเป็นศาสดาของศาสนา คือเป็นผู้ทรงค้นพบสัจธรรมโดยการตรัสรู้เอง และสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม

พระธรรม หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งที่เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ และเป็นคำสั่งสอนให้มนุษย์ปฏิบัติดีต่อกัน

พระสงฆ์ หมายถึง หมู่สาวกที่ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และเผยแผ่คำสอนให้แก่คนทั่วไป

พระพุทธเจ้ามีคุณลักษณะ ๙ ประการ เรียกว่า "พุทธคุณ ๙"
พระธรรมมีคุณลักษณะ ๖ ประการ เรียกว่า "ธรรมคุณ ๖"
พระสงฆ์มีคุณลักษณะ ๙ ประการ เรียกว่า "สังฆคุณ ๙"
ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงสังฆคุณ ๙ ดังนี้

สังฆคุณ ๙ หมายถึง คุณของพระสงฆ์ มี ๙ ประการ ได้แก่


๑) สุปฏิปนฺโน : เป็นผู้ปฏิบัติดี คือ ปฏิบัติถูกธรรม ถูกวินัย หรือปฏิบัติตามแนวทางแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘


๒) อุชุปฏิปนฺโน : เป็นผู้ปฏิบัติตรง คือ ไม่เป็นคนเจ้าเล่ห์หลอกลวง ไม่คด ไม่โกง ปากกับใจตรงกัน ไม่พูดเท็จเพื่อรักษาผลประโยชน์ตน หรือเบียดเบียนคนอื่น เป็นคนตรง ต่อหน้าประพฤติเช่นไร ลับหลังก็ประพฤติเช่นนั้น



๓) ญายปฏิปนฺโน : เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม หรือ ปฏิบัติถูกทาง เพื่อให้เกิดความรู้เห็นสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริง



๔) สามีจิปฏิปนฺโน : เป็นผู้ปฏิบัติสมควร คือ ควรแก่การกราบไหว้ กล่าวโดยใจความก็คือ "ทำความดีเพื่อความดี" นั่นเอง เมื่อท่านเห็นว่าอะไรเป็นความดีที่ควรกระทำ ท่านก็ทำโดยไม่หวังผลตอบแทน เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นต้น เพราะท่านปฏิบัติได้อย่างนี้ จงสมควรแก่การยกย่องนับถือ



๕) อาหุเนยฺโย : เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ กล่าวคือ มนุษย์ที่อยู่ร่วมกันไม่ว่าในสังคมใด ย่อมมีบุคคลที่มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ และชาติวุฒิ ที่เป็นที่เคารพนับถือของคนอื่น แม้กระทั่งในครอบครัวก็มีบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ เป็นที่เคารพของบุตรหลาน เวลาผู้น้อยจะไปแสดงความเคารพผู้ใหญ่เนื่องในโอกาสสำคัญ ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันเกิด เรียกว่า "ไปไหว้" ของที่นำติดมือเพื่อให้แก่ญาติผู้ใหญ่เรียกว่า "ของไหว้" หรือ "ของคำนับ (อาหุนะ)" ของคำนับนี้คนเขาจะนำไปให้เฉพาะญาติผู้ใหญ่หรือผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นที่เคารพนับถือเท่านั้น ดังนั้น ญาติผู้ใหญ่หรือผู้เฒ่าผู้แก่จึงเรียกว่าเป็นผู้ควรรับของไหว้หรือของคำนับของบุตรหลาน พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่การเคารพนบไหว้ของชาวโลก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ญาติผู้ใหญ่ในตระกูลก็ควรรับของไหว้หรือของคำนับเฉพาะจากบุตรหลานของตนเท่านั้น ส่วนพระสงฆ์ควรรับของคำนับไหว้หรือของคำนับจากประชาชนทั้งปวง



๖) ปาหุเนยฺโย : เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ กล่าวคือ เวลาที่มีคนมาเยี่ยมถึงบ้าน เจ้าของบ้านผู้มีอัธยาศัยไมตรีย่อมยินดีต้อนรับ นำเครื่องดื่ม ของขบเคี้ยว มาให้ตามความเหมาะสม และตามความสะดวก เรียกว่า "ของต้อนรับ (ปาหุนะ)" แขกบางคนพอเจ้าของบ้านเผลอก็อาจหยิบฉวยทรัพย์สินของเจ้าของบ้าน มีผู้หากินทางทุจริตมิจฉาชีพบางคนอาจแฝงมาในรูปแบบแขกผู้มาเยือนก็มี จึงไม่ปลอดภัยสำหรับเจ้าของบ้าน แต่แขกที่เป็นพระสงฆ์นอกจากไม่สร้างความเดือดร้อนให้เจ้าของบ้านแล้ว ยังนำสิริมงคลมาให้ด้วย เพราะฉะนั้นพระสงฆ์จึงนับว่าเป็นแขก (ปาหุนะ) ผู้ยอดเยี่ยม ควรแก่การต้อนรับอย่างยิ่ง



๗) ทกฺขิเณยฺโย : เป็นผู้ควรแก่ของทำบุญ วัตถุสิ่งของที่ถวายแด่พระสงฆ์เรียกว่า "ทักษิณา" หรือของทำบุญ การทำบุญที่จะให้ได้บุญจริง ๆ ท่านว่าขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ ของที่ทำบุญนั้นต้องบริสุทธิ์ เจตนาของผู้ทำบุญต้องบริสุทธิ์ และผู้รับจะต้องมีศีลบริสุทธิ์ ซึ่งพระสงฆ์เป็นผู้รับที่มีศีลบริสุทธ์เพราะเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ



๘) อญฺชลีกรณีโย : เป็นผู้ควรกราบไหว้ คือ การยกมือไหว้ (อัญชลีกรรม) จริงอยู่การยกมือไหว้แสดงความเคารพ ใคร ๆ ก็ทำได้ และกระทำต่อใครก็ได้ในทุกโอกาส แต่การไหว้บุคคลอาจมีเงื่อนไข ดังนี้

- ไหว้เพราะจำเป็นต้องไหว้ เช่น ข้าราชการผู้น้อยจำต้องไหวผู้บังคับบัญชาทั้ง ๆ ที่ไม่อยากไหว้ เพราะมีความรู้สึกว่าเขาผู้นั้น ไม่มีคุณสมบัติที่จะไหว้ได้สนิทใจ เป้นต้น
- ไหว้เพราะเต็มใจไหว้ คือ มีความรู้สึกว่าผู้นั้นสมควรไหว้ด้วยความเต็มใจ
เนื่องจากพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบดังกล่าวแล้ว จึงควรแก่การยกมือไหว้อย่างยิ่ง เพราะทำให้ผู้ไหว้มีความสนิทใจ มีความเลื่อมใส อย่างภาษาสามัญว่า "ไหว้ไม่เสียมือ"



๙) อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส : เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของชาวโลก คุณข้อนี้เป็นคำเปรียบเทียบ คือ เทียบพระสงฆ์เหมือนที่นา เปรียบการทำบุญด้วยการถวายทานแด่พระสงฆ์เป็นการหว่านพืชลงในที่นา นาดี คือ ไม่ใช่ที่ลุ่มเกินไป ไม่เป็นที่ดอนเกินไป ดินดี ไม่มีกรวดหินดินทราย เมื่อชาวนาหว่านพันธุ์ข้าวลงไปแล้ว ข้าวกล้าก็ย่อมเจริญงอกงามดี เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็ได้ข้าวเปลือกมากมายเพียงพอต่อความต้องการฉันใด ทานที่บุคคลถวายแด่พระสงฆ์ผู้มีศีลบริสุทธ์ดุจเดียวกับการทำนาในที่นาอันสมบูรณ์ฉันนั้น


๒.อริยสัจ ๔


อริยสัจ ๔ อันเป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา อาจเรียกว่าเป็นหัวใจของพระศาสนาก็ว่าได้ อริยสัจประกอบไปด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


๒.๑ ทุกข์ (ธรรมที่ควรรู้)



ทุกข์ คือ ภาวะที่ทนอยู่ได้ยาก แม้ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ฯลฯ ก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของทุกข์ หลักธรรมที่ควรรู้เพื่อให้รู้ความจริงของการเกิดทุกข์ ได้แก่


๑) ขันธ์ ๕ การที่จะดับทุกข์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตได้ ต้องรู้ว่าชีวิตมีลักษณะอย่างไรในพระพุทธศาสนา ชีวิตประกอบด้วยองค์ประกอบ ๕ อย่าง เรียกว่า "ขันธ์ ๕" อันได้แก่

๑.๑) รูป คือ ส่วนที่เป็นร่างกาย รวมถึงพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกายด้วย เช่น การหมุนเวียนโลหิต การหายใจ การเติบโตของร่างกาย เป็นต้น

๑.๒) เวทนา ในที่นี้มิได้หมายถึงความสงสารที่ใช้กันทั่วไป แต่หมายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อสิ่งที่รับรู้นั้น เวทนามีอยู่ ๓ อย่าง คือ
ความรู้สึกสบายใจเรียกว่า "สุขเวทนา"
ความรู้สึกไม่สบายใจเรียกว่า "ทุขเวทนา"
ความรู้สึกเฉย ๆ เรียกว่า "อทุกขมสุขเวทนา"


๑.๓) สัญญา ในที่นี้มิได้แปลว่าคำมั่นสัญญาดังในภาษาสามัญ แต่หมายถึงการกำหนดหมายรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง การแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นอะไร อันเป็นขั้นตอนถัดจากเวทนานั่นเอง


๑.๔) สังขาร หมายถึง สิ่งที่ปรุงแต่งจิต เช่น แรงจูงใจ หรือสิ่งที่กระตุ้นผลักดัน ให้มนุษย์กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผลรวมของการรับรู้ (วิญญาณ) ความรู้สึก (เวทนา) และความจำได้ (สัญญา) ที่ผ่านมา เช่น ตารับรู้วัตถุสิ่งหนึ่ง (วิญญาณ) รู้สึกว่าสวยดี (เวทนา) จำได้ว่ามันเป็นวัตถุกลม ๆ ใส ๆ (สัญญา) แล้วเกิดแรงจูงใจผลักดันให้เอื้อมมือไปหยิบมาเพราะความอยากได้ ขั้นตอนนี้เรียกว่า "สังขาร" สังขารจึงเป็นขั้นตอนที่ก่อให้เกิดพฤติกรรม ซึ่งมีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ฝ่ายดี เช่น ศรัทธา หิริ สติ กรุณา เป็นต้น ฝ่ายชั่ว เช่น โลภะ โทสะ มานะ ทิฐิ มัจฉริยะ เป็นต้น


๑.๕) วิญญาณ คือ การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ และใจ ได้แก่
การรับรู้ทางตา การเห็น เรียกว่า "จักขุวิญญาณ"
การรับรู้ทางหู การได้ยิน เรียกว่า "โสตวิญญาณ"
การรับรู้ทางจมูก การได้กลิ่น เรียกว่า "ฆานวิญญาณ"
การรับรู้ทางลิ้น การลิ้มรส เรียกว่า "ชิวหาวิญญาณ"
การรับรู้ทางกาย การสัมผัสทางกาย เรียกว่า "กายวิญญาณ"
การรับรู้ทางใจ การคิด เรียกว่า "มโนวิญญาณ"








วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564

วิชาพระพุทธศาสนา ม.3 เรื่อง ชาดก

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๒ 
เรื่องที่ ๓ ชาดก


ชาดกมี ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นคาถาชาดกและบทร้อยกรองล้วน ๆ แสดงคติธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีในชาติต่าง ๆ จบลงด้วยมหาเวสสันดรชาดก ไม่มีเนื้อเรื่องและตัวละคร กับอีกส่วนหนึ่งที่อรรถกถาชาดก ที่พระอรรถกถาจารย์เล่าเรื่องราวประกอบ และมีตัวละครร ดังที่เราทราบกันในนามว่า "นิทานชาดก" นั่นเอง

นิทานชาดกให้คติธรรม แง่คิดในการดำเนินชีวิตมากมาย จึงควรที่นักเรียนและผู้สนใจศึกษา พึงอ่านเพื่อนำหลักธรรมของพระโพธิสัตว์มาใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับในชั้นเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๓ นี้ กำหนดให้ศึกษานันทวิศาลชาดก และสุวรรณหังสชาดก

นันทิวิศาลชาดก



สมัยหนึ่ง เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศลทรงทราบเรื่องที่พระสงฆ์ในวัดประชุมสนทนากันในศาลา เรื่องที่ประชุมสนทนากันนั้นเกี่ยวกับการพูดเสียดแทงให้เจ็บใจของพระภิกษุฉัพพัคคีย์ พระพุทธองค์จึงได้เสด็จไปยังที่ประชุมสงฆ์ แล้วตรัสบอกพระสงฆ์ว่า พระภิกษุฉัพพัคคีย์พูดเฉียดแทงให้ผู้อื่นเจ็บใจเช่นนี้ไม่ใช่เฉพาะปัจจุบันนี้เท่านั้นในอดีตชาติก็เคยประพฤติอย่างนี้มาแล้ว
พระสงฆ์ใคร่อยากทราบเรื่องราวในอดีตนั้น ได้กราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดง พระพุทธเจ้าจึงตรัสชาดกเรื่อง โคนันทิวิสาล ซึ่งเรื่องมีดังต่อไปนี้...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วเมื่อครั้งพระเจ้าคันธาระครองราชย์สมบัติอยู่ในกรุงตักสิลา แคว้นคันธาระในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เกิดเป็นโค ชื่อว่า นันทิวิสาล อาศัยอยู่ในบ้านพราหมณ์คนหนึ่ง พราหมณ์คนนี้รักโคนันทิวิสาลมาก เลี้ยงดูและเอาใจใส่เป็นอย่างดีราวกับลูก

เมื่อเติบโตขึ้น โคนันทิวิสาลต้องการจะช่วยพราหมณ์ให้พ้นจากสภาพความยากจน เพราะสำนึกในบุญคุณของพราหมณ์ วันหนึ่งจึงเกิดความคิดขึ้นมาว่า พราหมณ์คนนี้ เลี้ยงดูเรามาแต่อ้อนแต่ออก เอาใจใส่ดูแลเรามาเป็นอย่างดี ทะนุถนอมเราปานประหนึ่งว่า ลูกของตัวเอง เราจะต้องตอบแทนพระคุณให้ได้
โคนันทิวิสาล เห็นว่าตนมีกำลังมหาศาล โคอื่นๆ ในชมพูทวีปที่จะมีเรี่ยวแรงเท่า ๆ กับตนไม่มี จึงกล่าวกับพราหมณ์ว่า พ่อพราหมณ์ ขอให้ท่านไปหาโควินทเศรษฐี แล้วพูดท้าพนันกับเขาว่าท่านเศรษฐี เรามีโควิเศษอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งมีพละกำลังมหาศาล สามารถลากเกวียน 100 เล่มที่ผูกติดกัน ทั้งบรรทุกกรวดและทรายเต็มทุกเล่ม ให้เคลื่อนที่ไปได้มาเดิมพันกันดีไหม ฝ่ายพราหมณ์เมื่อได้ฟังเช่นนั้นก็ดีใจมาก จึงไปท้าพนันกับโควินทเศรษฐี ซึ่งโควินทเศรษฐีก็ตอบรับคำท้าทันที โดยตกลงวางเดิมพันกันคนละ 1,000 กหาปณะ

เมื่อถึงวันกำหนดนัด พราหมณ์ขนกรวดและทรายบรรทุกใส่เต็มเกวียนทุกเล่ม จากนั้นเอาเชือกผูกเกวียนทุกเล่มเข้าด้วยกันให้โคนันทิวิสาลอาบน้ำ เจิมด้วยของหอม ประดับพวงมาลัยที่คอแล้วนำเข้าเทียบแอกเกวียนเล่มแรก ส่วนตนเองขึ้นนั่งบนทูบเกวียนเงื้อประตักขึ้นแล้วพูดด้วยเสียงอันดังว่า เฮ้ย เจ้าโคขี้โกง โคถ่อย โคงี่เง่า เจ้าจงลากเกวียนไปเดี๋ยวนี้เลย

โคนันทิวิสาลเมื่อได้ฟังคำพูดของพราหมณ์เช่นนั้นจึงคิดว่า พราหมณ์เป็นอะไรไป ทำไมจึงพูดจาหยาบคาย มาเรียกเราว่าขี้โกง ถ่อย งี่เง่า ได้อย่างไร เราจะต้องสั่งสอนพราหมณ์ให้รู้สำนึกเสียบ้าง จึงยืนนิ่งไม่ขยับเขยื้อน แม้จะถูกพราหมณ์ทิ่มแทงด้วยประตักจนเลือดไหล

พราหมณ์แพ้พนันจนหมดตัว ปลดโค แล้วกลับไปนอนเศร้าโศกเสียใจอยู่ที่บ้าน ไม่ยอมกินข้าวกินปลา โคนันทิวิสาลเห็นเช่นนั้นก็รู้สึกสงสาร จึงเข้าไปปลอบจนหายเศร้าโศก แล้วพูดว่า ตั้งแต่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ในบ้านท่านมาตั้งแต่เล็ก จนกระทั่งโตเป็นหนุ่ม เคยทำอะไรเสียหายหรือไม่ หรือเคยทำอะไรขัดใจท่านบ้างหรือเปล่า
พราหมณ์ตอบว่า ไม่เคย โคนันทิวิสาลจึงพูดว่า แล้วทำไมท่านจึงเรียกข้าพเจ้าว่าเจ้าโคขี้โกง โคถ่อย โคงี่เง่า ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่ได้เป็นดังที่ท่านกล่าวเลย คราวนี้ขอให้ท่านไปแก้มือใหม่ โดยเพิ่มการเดิมพันเป็น 2 เท่า แต่มีข้อแม้ว่าท่านจะต้องพูดกับข้าพเจ้าให้เพราะๆ มิฉะนั้นท่านจะเสียใจยิ่งกว่าเก่า

พราหมณ์ทำตามที่นันทิวิสาลแนะนำ โดยไปหาโควินทเศรษฐี เพื่อขอแก้มือใหม่ ซึ่งท่านเศรษฐีก็ไม่ขัดข้อง เมื่อประชาชนทราบข่าวการพนันครั้งที่สองนี้ ต่างก็มาจากทุกสารทิศเพื่อมาเชียร์ในที่สุดวันที่รอคอยก็มาถึง พราหมณ์นำโคนันทิวิสาลเทียบเข้ากับเกวียนเล่มแรก ตัวเองก็ขึ้นไปนั่งบนทูบเกวียน เอามือลูบหลังโคนันทิวิสาลด้วยความเอ็นดู แล้วพูดด้วยเสียอันไพเราะอ่อนหวานจับใจว่า พ่อมหาจำเริญ ขอให้พ่อจงช่วยลากเกวียนไปด้วยนะ

โคนันทิวิสาลได้ฟังถ้อยคำอันไพเราะอ่อนหวานแล้ว ก็เกิดพลังขึ้นมาอย่างมหาศาล ได้ลากเกวียนที่โยงพ่วงกันทั้ง 500 เล่มไปได้ ประชาชนที่มาชมการแข่งขันต่างส่งเสียงเชียร์ด้วยความสะใจ และได้ช่วยกันให้รางวัลแก่โคนันทิวิสาลมากมาย เป็นอันว่าโควินทเศรษฐีแพ้พนันและได้จ่ายเงิน 2,000 กหาปณะให้พราหมณ์ไป

พระพุทธเจ้าเมื่อเล่านันทิวิสาลชาดกจบแล้วได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายชื่อว่าคำหยาบ ไม่เป็นที่น่าพอใจของใครๆ แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน

ชาดกเรื่องนี้มีสาระที่ให้ข้อคิดหรือคติเตือนใจ คือ

1. คนพูดคำหยาบ ย่อมทำให้ตนเดือดร้อน ดังนั้นไม่ควรพูดคำหยาบ เพราะคำหยาบไม่เป็นที่น่าพอใจของใครๆ
2. คนที่พูดจาไพเราะอ่อนหวาน ย่อมยังประโยชนให้สำเร็จ ดังนี้คนเราควรเปล่งวาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน เพราะวาจาที่ไพเราะอ่อนหวานเป็นที่น่าพอใจของใครๆ

ข้อคิดหรือคติเตือนใจดังกล่าวนี้ตรงกับพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อทรงเล่าเรื่องโคนันทิวิสาลจบว่า

"บุคคลควรพูดแต่คำที่น่าพอใจเท่านั้น ไม่ควรพูดคำที่ไม่น่าพอใจในกาลไหน เมื่อพราหมณ์พูดคำที่น่าพอใจ โคนันทิวิสาลได้ลากเอาภาระหนักไปได้ ทั้งยังทำพราหมณ์ให้ได้ทรัพย์ด้วย ตนเองเป็นผู้ปลื้มใจ เพราะการช่วยเหลือนั้นด้วย"

สุวรรณหังสขาดก



สมัยหนึ่ง เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่เชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงทราบเรื่องที่พระสงฆ์ในวัดประชุมสนทนากันในศาลา เรื่องที่ประชุมสนทนากันนั้นเกี่ยวกับการไม่รู้จักประมาณในการบริโภคกระเทียมของพระภิกษุณีถูลนันทา ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก พระพุทธองค์จึงได้เสด็จไปยังที่ประชุมสงฆ์ แล้วตรัสบอกพระสงฆ์ว่า ถูลนันทาภิกษุณีประพฤติตนแบบนี้ไม่ใช่เฉพาะปัจจุบันนี้เท่านั้น ในอดีตชาติก็เคยประพฤติปฏิบัติอย่างนี้มาแล้ว
พระสงฆ์ใคร่อยากทราบเรื่องราวในอดีตนั้น ได้กราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดง พระพุทธเจ้าจึงตรัสชาดกเรื่อง หงส์ทอง ซึ่งมีเรื่องดังต่อไปนี้

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์ เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มก็ได้แต่งงานกับนางพราหมณี มีลูกสาว 3 คน คือ นันทา นันทวดี และสุนันทา พอลูกสาวทั้ง 3 เติบโตเป็นสาว แต่งงานอยู่กินกับสามีแล้ว พราหมณ์ก็ได้เสียชีวิตไปเกิดเป็นหงส์ทองคำมีญาณวิเศษสามารถระลึกชาติได้ว่า เมื่อก่อนนั้นเป็นพราหมณ์มีภรรยาและลูกสาว 3 คน


วันหนึ่ง ได้เห็นความลำบากของพราหมณีและลูกสาวของตนที่ต้องรับจ้างคนอื่นเลี้ยงชีพ จึงเกิดความสงสารได้โผบินไปจับที่บ้านของนางพราหมณี แล้วสลัดขนทองให้ร่วงลงหนึ่งขน หงส์ทองคำได้บินมาเป็นระยะ ๆ มาครั้งใดก็สลัขชนให้ทุกครั้ง ครั้งละหนึ่ง ทำให้นางพราหมณีและลูกสาวมีฐานะดีขึ้นและมีความสุขไปตาม ๆ กัน


อยู่มาวันหนึ่ง นางพราหมณีเกิดความโลภอยากได้ขนทองคำมากกว่าเดิม โดยคิดว่า สัตว์เดรัจฉานนั้นเข้าใจยาก ถ้าหงส์ทองคำไม่มามิอดตายหรอกหรือ จึงปรึกษากับลูก ๆ ว่า ถ้าหงส์มาครั้งนี้ เราจะจับถอนขนเสียให้หมด เพื่อจะได้นำไปขาย แต่ลูก ๆ ไม่เห็นดีด้วย นางพราหมณีก็ไม่สนใจ


ครั้นเมื่อหงส์ทองคำบินมา นางได้จับถอนขนเสียจนหมด แต่ขนเหล่านั้นกลับกลายเป็นขนนกธรรมดา เพราะหงส์ทองคำมิได้ให้ด้วยความสมัครใจ นางพราหมณีจึงจับหงส์ทองคำใส่ตุ่มเลี้ยงไว้ จนขนงอกขึ้นมาใหม่เต็มตัว เมื่อสบโอกาสหงส์ทองคำก็ได้บินหนีไปไม่กลับมาอีกเลย

ชาดกเรื่องนี้มีสาระที่ให้ข้อคิดหรือคติเตือนใจ คือ
1. บุคคลควรยินดีในสิ่งที่ตนมีในสิ่งที่ตนได้
2. บุคคลไม่ควรโลภเกินประมาณ เพราะโลภมาก มักลาภหาย

ข้อคิดหรือคติเตือนดังกล่าวนี้ ตรงกับพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อทรงเล่าเรื่องหงส์ทองคำจบว่า

"บุคคลได้สิ่งใดควรยินดีสิ่งนั้น เพราะความโลภเกินประมาณเป็นความชั่วแท้ นางพราหมณีจับเอาพญาหงส์ทองจึงเสื่อมจากทองคำ"

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓ พระเจ้าปเสนทิโกศล, หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล และศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๒
พุทธสาวก พุทธสาวิกา ศาสนิกชนตัวอย่าง
พระเจ้าปเสนทิโกศล
หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
และศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักด์


๒.๔ พระเจ้าปเสนทิโกศล


๑) พระราชประวัติ


พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าโกศล ผู้ครองเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล สมัยยังทรงพระเยาว์ได้ศึกษาศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักศิลา ซึ่งเป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกันกับเจ้าชายมหาลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชี และพันธุละเสนาบดีแห่งนครกุสินารา เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็ได้เสด็จกลับไปยังนครสาวัตถี และได้ครองราชสมบัติแทนพระราชบิดาต่อไป

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงนับถือนักบวชนอกพระพุทธศาสนามาก่อน สาเหตุที่ทรงหันมาเลื่อมใสพระพุทธศาสนานั้นมีเรื่องเล่ากันว่า วันหนึ่งขณะประทับยืนอยู่บนปราสาท พระองค์ทรงเห็นพระสงฆ์หลายพันรูปเดินไปฉันภัตตาหารที่บ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐีด้วยอาการสงบสำรวม จึงทรงรู้สึกเลื่อมใสอากัปกิริยาอันงดงามของพระสงฆ์ จึงมีพระราชประสงค์จะถวายภัตตาหาร จึงได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และกราบทูลขออารารธนาให้พระพุทธองค์เสด็จไปเสวยพระกระยาหารในพระบรมมหาราชวังพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ แล้วทรงมอบพระองค์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า และทรงขอให้พระพุทธองค์เสด็จไปเสวยพระกระยาหารเช่นนี้เป็นประจำด้วย แต่พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า "ในฐานะที่ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จะต้องสงเคราะห์ประชาชนทั่วหน้ากัน จะไม่เสวยภัตตาหารในที่เดียวกันตลอดไป" จึงทรงมอบภาระให้พระอานนท์พุทธอุปฐาก พาพระภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งไปฉันภัตตาหารเป็นประจำแทน

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีความมั่นคงในพระรัตนตรัย และมีความเคารพต่อพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง ทุกครั้งที่เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะอภิวาท หรือกราบแทบพระยุคลบาทพระพุทธองค์อย่างนอบน้อมจนพระพุทธองค์ทรงทักว่า พระองค์เป็นถึงราชามหากษัตริย์ไม่จำเป็นต้องแสดงความเคารพถึงขนาดนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า "พระองค์ถวายความเคารพอย่างสูงเช่นนี้ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกของโลก เป็นผู้ประดิษฐานมหาชนไว้ในกุศลธรรม" คือ ทรงสั่งสอนประชาชนให้มีคุณธรรมอันดีงามยากที่คนอื่นจะทำได้


ทุกครั้งที่ทรงว่างจากพระราชภารกิจ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าฟังธรรมและขอคำแนะนำจากพระพุทธเจ้าเสมอ จึงทรงคุ้นเคยกับพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี และทรงปรารถนาจะมีความคุ้นเคยทางสายเลือดกับพระพุทธองค์อีกด้วย จึงทรงขอพระราชธิดาของพระเจ้าศากยะมาเป็นมเหสีอีกองค์หนึ่ง

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีพระทัยใฝ่ในการบุญการกุศลอย่างยิ่ง ดังหลักฐานปรากฏว่า พระองค์ทรงทำทานแข่งกับประชาชน เมื่อประชาชนจำนวนมากร่วมมือร่วมใจกันถวายทานอันใหญ่โต พระองค์พ่ายแพ้ แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพระนางมัลลิกาเทวีพระมเหสีได้ถวายคำแนะนำให้ทรงทำ "อสทิสทาน" จึงสามารถเอาชนะประชาชนได้

พระนางมัลลิกาเทวี


*ผู้ดำเนินการจัดอสทิสทาน คือ พระนางมัลลิกาเทวี พระมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล โดยพระนางสั่งให้สร้างมณฑปให้พระภิกษุนั่งเป็นวงล้อม โดยใช้ไม้อย่างดีเป็นการสร้าง กลางมณฑปมีเรือทองคำ ๘-๑๐ ลำ ลอยอยู่ แล้วนิมนต์ภิกษุ ๕๐๐ รูป นั่งภายในวงล้อม ขัดช้าง ๕๐๐ เชือก ยืนถือเศวตฉัตรเชือกละฉัตรกางกั้นภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้น ระหว่างที่นั่งของภิกษุแต่ละรูป จะมีเจ้าหญิงนั่งบดของหอมอยู่ ในขณะที่เจ้าหญิงองค์อื่น ๆ ยืนถวายพัดแด่ภิกษุสงฆ์ สำหรับพระพุทธเจ้า พระนางมัลลิกาได้จัดของพิเศษถวายเพิ่มเติมอีก อาทิ เศวตฉัตร บัลลังก์ เชิงบาตร เป็นต้น วัสดุสิ่งของที่ใช้ในงานนี้ล้วนจัดทำขึ้นอย่างประณีตสวยงาม สิ้นพระราชทรัพย์ไปถึง ๑๔ โกฏิ*

พระเจ้าปเสนทิโกศลถูกการายนอำมาตย์ยึดพระนครขณะเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร พระองค์จึงทรงมอบราชสมบัติให้วิฑูภะพระราชกุมารครองราชสมบัติสืบแทน ส่วนพระองค์ก็เสด็จหนีไปยังเมืองราชคฤห์ เพื่อขอกำลังจากพระเจ้าอชาตศัตรูมาช่วยปราบกบฏ แต่ไปไม่ทันเวลา ประตูเมืองปิดเสียก่อน ด้วยความเหน็ดเหนื่อยบอบช้ำพระวรกาย และด้วยความเสียพระราชหฤทัย พระองค์ก็เสด็จสวรรคต ณ ค่ำคืนนั้น ที่ข้างประตูเมืองราชคฤห์นั่นเอง


๒) คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง


๒.๑) ทรงมั่นคงในพระรัตนตรัย หลังจากทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมั่นคงในพระรัตนตรัยมาก ดังทรงแสดงออกถึงความเคารพอย่างสูงต่อพระพุทธเจ้า และดูแลความเป็นอยู่ของพระสงฆ์อย่างดีตลอดรัชกาลของพระองค์

๒.๒) ทรงรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนาอย่างดียิ่ง มีหลายครั้งที่พระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนาถูกลัทธิตรงข้ามผู้ไม่ปรารถนาดีใส่ร้ายป้ายสีให้มัวหมองเสื่อมเสีย พระองค์จะไม่ทรงเฉยเมย แต่จะทรงเอาพระทัยใส่ช่วยขจัดปัดเป่าให้หมดสิ้นไปในฐานะที่ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ดังกรณีที่พวกนิครนถ์ ได้ฆ่านางสุนทรีสาวิกาของตนเอง แล้วนำศพไปทิ้งไว้ใกล้พระเชตวัน จากนั้นก็ปล่อยข่าวว่าสาวิกาของพวกตนถูกพระสาวกของพระพุทธเจ้าฆ่าตาย พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่เชื่อ กลับรับสั่งให้สอบสวนจนถึงต้นตอ จึงได้ความจริงว่าผู้ที่ฆ่านางคือพวกนิครนถ์นั่นเอง เพื่อใส่ร้ายป้ายสีให้พระพุทธศาสนามัวหมอง และดังกรณีที่นิครนถ์จ้างโจรไปฆ่าพระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธองค์ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงเอาเป็นภาระรับสั่งให้สืบสวนจนได้ตัวการที่แท้จริง เป็นต้น

๒.๓) ทรงมีพระทัยกว้าง ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น พระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยนั้น มักไม่ค่อยมีใครกล้าตักเตือน หรือมักไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงมีทิฐิมานะเช่นนั้น แต่กลับยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น แม้ผู้นั้นจะอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าพระองค์ก็ตาม ดังทรงรับฟังคำแนะนำของพระนางมัลลิกาเทวีที่ถวายคำแนะนำให้ทรงเห็นโทษในการฆ่าสัตว์บูชายัญ และให้ทรงทำอสทิสทานแข่งกับประชาชน หรือกระทำตามข้อเสนอแนะของฉัตตปาณิอุบาสกในการเสด็จไปทูลขอพระสาวกของพระพุทธเจ้ามาช่วยสั่งสอนธรรมให้แก่พระมเหสี เป็นต้น

๒.๔) ทรงยอมรับความคิดเห็นและพร้อมที่จะแก้ไข คุณสมบัติข้อนี้สืบเนื่องมาจากข้อที่ ๒.๓) เมื่อตนทำผิดและมีคนอื่นแนะนำ ก็ยอมรับในความผิดพลาดพร้อมจะแก้ไข ข้อนี้ปรากฏชัดเจน คือ เมื่อครั้งที่พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งให้สังหารพันธุละเสนาบดีพร้อมทั้งบุตร ๓๒ คน เพราะทรงหลงเชื่อคำยุยงว่าพันธุละเสนาบดีคิดจะก่อการกบฏยึดราชสมบัติ เมื่อความจริงปรากฏว่าพันธุละเสนาบดีบริสุทธ์ พระองค์ก็เสด็จไปทรงขอขมาต่อพระนางมัลลิกาผู้เป็นภริยาของพันธุละเสนาบดี

๓.ศาสนิกชนตัวอย่าง


๓.๑ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล


๑.) พระประวัติ


หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิษกุล เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมเฉื่อย ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๘


หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นผู้มีความสนพระทัยในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ทรงมีความรู้ในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทรงศึกษาภาษาบาลีจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งเป็นพระเถระที่พระบิดาทรงเคารพเลื่อมใสมากรูปหนึ่ง ด้วยความเป็นผู้คงแก่เรียนในพระพุทธศาสนา พระองค์จึงทรงได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั้งในประเทศ และต่างประเทศอยู่เสมอ ทรงรับเป็นที่ปรึกษาของชมรมพุทธศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเสด็จไปประทานความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ทรงเป็นที่ปรึกกษาของชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับได้ทรงแสดงปาฐกถาตามหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร ได้รับความชื่นชมจากประชาชนทั่วไปว่าทรงเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง

พระกรณียกิจของพระองค์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทย แบ่งได้ ๒ ประเภท ดังนี้

๑.๑) งานด้านบริหาร ทรงเป็นกรรมการบริหารและอุปนายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หลายสมัย และเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ ทรงเป็นรองประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ต่อมาในการประชุมครั้งที่ ๗ ขององค์การ พ.ส.ล. ซึ่งเริ่มต้นที่กรุงเทพมหานคร แล้วไปประชุมต่อจนจบที่เมืองสารนาถ ประเทศอินเดียนั้น ในวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๗ ที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้ทรงดำรงตำแหน่งประธานองค์การ พ.ส.ล. กับให้ความเห็นชอบให้สำนักงานใหญ่และสำนักงานเลขานุการขององค์การ ย้ายมาตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร


หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงดำรงตำแหน่งประธานองค์การ พ.ส.ล. ติดต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง ๒๑ ปี จนถึง พ.ศ.๒๕๒๗ ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักด์ขององค์การ พ.ส.ล. ขณะทรงเป็นประธาน หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิสกุล ได้เสด็จไปประกอบพระกรณียกิจทางด้านพระพุทธศาสนาตามสถาบันต่าง ๆ ของนานาประเทศ ทรงได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักด์ทางปรัชญาจากมหาวิทยาลัยดองกุ๊ก กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐

ได้ทรงบรรยายวิชาการพระพุทธศาสนา ณ มหาวิทยาลัยในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา ๑ ปี และทรงได้รับเลือกเป็นกรรมการหนึ่งในเก้าท่านของมูลนิธิเทมเบิลตัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสรางความเข้าใจระหว่างศาสนาทุกศาสนาในโลก มีสำนักงานอยู๋ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี สหรัฐอเมริกา

๑.๒) งานเขียน หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงมีความสามารถในการเขียนหนังสือสำหรับเด็ก ทรงนิพนธ์หนังสือ "ศาสนคุณ" อันเป็นหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ ในการประกวดหนังสือจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ยังทรงนิพนธ์บทความและหนังสืออีกเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมไทย



หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล สิ้นชีพิตักษัยด้วยพระโรคชรา เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๓ รวมพระชันษาได้ ๙๕ ปี

๒) คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง


๒.๑) ทรงเป็นอุบาสิกาที่เคร่งครัด เนื่องจากพระองค์มีความสนพระทัยในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จึงทรงมีความเชื่อมั่นในหลักการของพระพุทธศาสนา และมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง ทรงมีความเห็นว่า สตรีนับเป็นหนึ่งในพุทธบริษัทสี่ ควรมีหน้าที่ในการศึกษาปฏิบัติธรรมและค้ำจุนพระพุทธศาสนาได้ไม่แพ้พระสงฆ์ พระองค์จึงสนับสนุนให้สตรีได้มีโอกาสศึกษาธรรม ช่วยกันรักษาพระศาสนาและพระสงฆ์

๒.๒) ทรงเป็นพหูสูต เนื่องจากทรงศึกษาพระพุทธศาสนาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงทรงมีความแตกฉานในพุทธธรรมเป็นอย่างยิ่ง ทรงเห็นว่าผู้ที่จะรู้พระพุทธศาสนาดี ต้องเรียนภาษาบาลีอันเป็นภาษาที่ใช้ในพระไตรปิฏกด้วย จึงทรงศึกษาภาษาบาลีอย่างจริงจังจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเทพสิรินทราวาส มีความรู้ไม่แพ้พระภิกษุสามเณรเปรียญ เพราะทรงมีพื้นฐานทางภาษาบาลีนี้เอง จึงทำให้พระองค์ได้ทรงศึกษาพระพุทธศาสนาได้แตกฉาน และทรงนิพนธ์หนังสือธรรมะได้ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะหนังสือชื่อ "ศาสนคุณ" ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ จากพระหัตถ์ของพระเจ้าอยู่หัวราชกาลที่ ๗ และได้รับการตีพิมพ์เผยแผ่ในพระราชพิธีวิสาขบูชา พ.ศ.๒๔๗๒

*พหูสูต แปลว่า ผู้มีความรู้เพราะได้ฟัง หรือศึกษาเล่าเรียนมามาก, ปราชญ์, ผู้รู้.*


๒.๓) ทรงเป็นแบบอย่างของพลเมืองดี พลเมืองดีมิใช่เพียงแต่ปฏิบัติตามกฏหมายบ้านเมือง เสียภาษีถูกต้องเท่านั้น พลเมืองดีจะต้องจงรักภักดีและพิทักษ์สมบัติล้ำค่าของชาติอีกด้วย เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ ผลงานพระนิพนธ์ทางวิชาการต่าง ๆ ของพระบิดา มีชาวต่างชาติเสนอขอซื้อไปด้วยราคาสูงมาก แต่ทางราชสกุลดิศกุลต้องการมอบหนังสือเกล่านั้นให้รัฐบาล เพื่อเก็บไว้เป็นสมบัติของชาติ ให้ประชาชนได้ศึกษา รัฐบาลสมัยนั้นอันมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้รับและสร้างอาคารหอสมุดหลังหนึ่งขึ้นเรียกว่า "หอดำรง" ซึ่งเป็นที่เก็บเอกสารหลักฐานทางศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และเปิดโอกาสให้นักศึกษา ประชาชน ตลอดจนชาวต่างชาติได้ศึกษาต่อไป


๓.๒) ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์



๑) ประวัติ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๐ เป็นบุตรของมหาอำมาตย์ตรี พระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี ศรีสัตยาวัตตาพิริยพาหะ (ทองดี ธรรมศักดิ์) กับคุณหญิงชื้น ธรรมศักดิ์ และได้สมรสกับท่านผู้หญิงพงา เพ็ญชาติ มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ นายชาติศักดิ์ กับนายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์



๑.๑) ชีวิตการศึกษา นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ขณะที่อายุได้ ๑๑ ปี บิดาก็เสียชีวิตลง ทำให้ชีวิตที่ราบเรียบสุขสบายเปลี่ยนไป ได้รับความยากลำบาก เพราะขาดหัวหน้าครอบครัว ระหว่างนี้ก็ได้มีพระยาอรรถกฤตินิรุตติ์ (ชม เพ็ญชาติ) เข้ามาให้ความช่วยเหลือดูแลเอาใจใส่ในทุก ๆ ด้าน


เมื่อท่านเรียนจบจากโรงเรียนอัสสัมชัญ คุณหญิงชื้น ผู้เป็นมารดา ก็นำไปฝากฝังไว้กับเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรม (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) ผู้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ท่านจึงได้ทำงานเป็นนักเรียนล่ามประจำกระทรวง และได้เข้าเรียนวิชากฏหมาย กระทรวงยุติธรรม ระหว่างนั้นก็ได้อุปสมบทที่วัดเบญจมบพิตร และได้ศึกษาพระธรรมวินัย จนสอบไล่นักธรรมตรีได้ที่ ๑


หลังจากสำเร็จจากศึกษาเป็นเนติบัณฑิตไทย จากโรงเรียนกฏหมาย กระทรวงยุติธรรม ท่านก็ได้สอบชิงทุน "รพีบุญนิธิ" ไปศึกษาวิชากฏหมายที่สำนักกฏหมาย The Middle Temple ประเทศอังกฤษ ตามหลักสูตร ๓ ปี แต่ท่านใช้เวลาศึกษาเพียง ๒ ปี ๓ เดือน ก็สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖



๑.๒) ชีวิตการทำงาน หลังจากสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ นายสัญญาได้เข้ารับราชการที่กระทรวงยุติธรรม ในตำแหน่งผู้พิพากษาฝึกหัด จากนั้นก็มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุธรณ์ ข้าหลวงยุติธรรมภาค ๔ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุธรณ์ และประทานศาลฎีกา ตามลำดับ

ขณะที่ท่านรับราชการอยู่ในกระทรวงยุติธรรม นอกจากท่านจะใช้วิชาความรู้ทางด้านกฎหมาย เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองแล้ว บทบาทที่เด่นชัดอีกด้านหนึ่งก็คือ บทบาททางด้านศาสนา โดยได้ร่วมก่อตั้ง "พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย" ซึ่งท่านได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างข้อบังคับของพุทธสมาคม จนได้จดทะเบียนตั้งเป็นพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖

พ.ศ.๒๕๑๑ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๑๔ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะที่ดำรงตำแหน่งได้พัฒนามหาวิทยาลัยทั้งในด้านวิชาการ ด้านการบริหาร และการสร้างสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนการจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อำนวยประโยชน์ทางการศึกษาไว้มากมาย

ในขณะที่นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เกิดเหตุการณ์มหาวิปโยค (๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖) ทำให้จอมพลถนอม กิตติจขร ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบตร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยความประนีประนอม และได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๗ เพราะถูกกดดันจากฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งเรียกร้องให้ในสิ่งที่กลุ่มของตนต้องการ และเปิดทางให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เลือกนายกรัฐมนตรีที่พึงพอใจ แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้เลือกนายสัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ได้บริหารราชการแผ่นดิน ก็ได้สร้างคุณูปการให้กับประเทศชาติอย่างมากมายเป็นอเนกอนันต์

รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ หลังจากมอบหมายงานให้กับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้ารัฐบาลชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้ง

หลังจากพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรีในวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๘ จนถึงวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๘ ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกลาฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี



๑.๓) งานด้านพระศาสนา นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นผู้ที่มีบทบาทต่อการส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยได้ดำรงตำแหน่งนายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย และเป็นประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกยาวนานถึง ๑๕ ปี ซึ่งท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ให้เกิดแก่องค์การ พ.ส.ล เป็นอเนกประการ ทำให้องค์การเป็นปึกแผ่นมั่นคงและวัฒนาถาวร เป็นศูนย์รวมแห่งการเรียนรู้และศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนทั่วโลกอย่างสมบูรณ์ จนได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติชั้นที่ ๑ (WFB GRAND MERIT MEDAL) ในวาระฉลองครบรอบ ๔๐ ปี ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓ ในฐานะบุคคลผู้มีคุณูปการแก่องค์การพุทธศาสนา ท่ามกลางความชื่นชมยินดีของชาวพุทธทั่วโลก



ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๕ สิริรวมอายุได้ ๙๔ ปี

๒) คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง



๒.๑) เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ แม้จะเป็นลูกพระยา แต่เมื่อสิ้นบิดา ชีวิตก็ลำบาก มีแม่คนเดียวซึ่งก็ไม่มีสมบัติที่จะมาเกื้อหนุน มีพี่ชายคนโตเป็นข้าราชการกรมรถไฟ ซึ่งพอจะหวังเป็นที่พึ่งได้บ้าง แต่พี่ชายก็มาเสียชีวิตขณะท่านเรียนอยู่ต่างแดน โชคดีที่ครอบครัวคหบดีซึ่งเป็นศิษย์ของบิดาท่านได้ให้ความอนุเคราะห์ สนับสนุนให้เรียนและเข้าทำงาน ต่อมาท่านได้ทุน "รพีบุญนิธิ" ไปศึกษาวิชากฏหมายยังประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นทุนที่เอาดอกผลจากมูลนิธิมาใช้ ท่านจึงได้เงินใช้จ่ายประจำเดือนน้อยกว่านักเรียนทุนอื่น ความจำกัดด้านทุนกลายเป็นแรงขับที่สำคัญทำให้ท่านใฝ่เรียนมากยิ่งขึ้น เมื่อไม่ได้เที่ยวสนุกสนานเหมือนคนอื่นเพราะเงินไม่มี ก็เข้าห้องสมุดอ่านตำราด้วยความวิริยอุตสาหะจนสามารถสอบเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษได้ในเวลาเพียง ๒ ปี กับ ๓ เดือน ของหลักสูตร ๓ ปีเต็ม ความใฝ่รู้ใฝ่เรียนของท่านได้ติดตัวมาตลอด จนในภายหลังได้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาและปฏิบติธรรมอย่างเคร่งครัดคนหนึ่ง

๒.๒) เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ในช่วงที่ตกยากเพราะสิ้นบิดานั้น พระยาอรรถกฤตินิรุตต์ (ชม เพ็ญชาติ) ซึ่งเป็นศิษย์ของบิดาท่านได้ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนให้เรียนและให้เข้าทำงาน ท่านถือว่าชีวิตของท่านนอกจากแม่แล้ว ยังมีท่านผู้นี้เป็นผู้มีอุปการคุณ จึงมีความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอย่างมาก เมื่อมีโอกาสสนองคุณท่านก็ยินดีทำเต็มความสามารถ

๒.๓) เป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริต อาจารย์สัญญาเป็นสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์สุจริต เนื่องจากท่านได้รับการหล่อหลอมโดยสายเลือดจากบิดาผู้เป็นนักกฎหมายที่มีความซื่อสัตย์ยุติธรรม ตลอดถึงแบบอย่างที่ได้จากผูหลักผู้ใหญ่ที่มีบุญคุณ เช่น พระยาอรรถกฤตินิรุติต์ผู้มีพระคุณ ทำให้ท่านเป็นผู้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรมยิ่งชีวิต เมื่อท่านเข้ารับราชการเกี่ยวกับกฎหมาย เป็นผู้พิพากษา ตุลาการ ก็ยึดมั่นในคุณธรรมจนปรากฏแก่สายตาของสังคม

๒.๔) เป็นผู้ใฝ่ธรรม ท่านได้อุปสมบทเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้สัมผัสกับความร่มเย็นแห่งพระธรรม เมื่อลาสิกขาออกมาแล้วก็ใส่ใจศึกษาธรรมตลอดเวลา และได้ศึกษาธรรมจากท่านพุทธทาสภิกขุแห่งวัดสวนโมกขพลาราม นับเป็นผู้รู้ธรรมะลึกซึ้งและปฏิบัติได้ตามที่รู้ ท่านดำรงตำแหน่งนายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ประธานองค์การพุทธศาสนิกชนสัมพันธ์แห่งโลกยาวนานถึง ๑๕ ปี และได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติชั้นที่ ๑ (WFB GRAND MERIT MEDAL) ในฐานะบุคคลผู้มีคุณูปการแก่องค์การพุทธศาสนา

๒.๕) เป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจารย์สัญญาเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มิใช่จงรักภักดีเพียงในใจ แต่มีโอกาสได้ถวายงานพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อย่างใกล้ชิด ได้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีและประธานองคมนตรีโดยลำดับ เป็นเวลานานถึง ๓๐ ปี ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถทำงานสนองพระเดชพระคุณใต้เบื้องพระยุคลบาทอย่างถวายชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริต