วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

หน่วยการเรียนรู้ที่ ๕ เรื่องที่ ๒ มารยาทและหน้าที่ชาวพุทธ

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๕
เรื่องที่ ๒ มารยาทและหน้าที่ชาวพุทธ



๒.มารยาทชาวพุทธ

๒.๑ การปฏิบัติตนต่อพระภิกษุในงานศาสนพิธีที่บ้าน




    ชาวพุทธนิยมทำบุญเลี้ยงพระที่บ้าน เพื่อก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว โดยเริ่มแรกก็ไปอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งในงานมงคลจะนิยมนิมนต์พระจำนวน ๕ รูป ๗ รูป หรือ ๙ รูป


    เมื่อพระมาถึงแล้วควรรับรองด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส นิมนต์ให้นั่งในที่สมควรซึ่งจัดไว้ แล้วถวายของรับรอง เช่น น้ำดื่มหรือน้ำผลไม้ ไม่ควรถวายหมากพลูหรือบุหรี่อันเป็นสิ่งเสพติด ถ้ายังไม่ถึงเวลาประกอบพิธี เจ้าภาพหรือเจ้าของบ้านควรอยู่ร่วมสนทนากับท่านตามสมควร จนกระทั่งถึงเวลาประกอบพิธีการ เรื่องที่สนทนาอาจเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป หรือเป็นเรื่องที่จะขอความร่วมมือจากท่านก็ได้ และเมื่อเสร็จพิธีแล้ว ควรเดินตามไปส่งท่านจนพ้นบริเวณงานหรือจนกว่าจะขึ้นรถออกจากบริเวณงาน หรือเดินไปส่งถึงวัด

๒.๒ การสนทนาและการใช้คำพูดกับพระภิกษุตามฐานะ



    การสนทนากับพระภิกษุ พึงปฏิบัติตน ดังนี้
(๑) ควรพูดจาอย่างไพเราะ ไม่กระโชกโฮกฮาก เสียดสี แดกดัน หรือทำนองดูหมิ่น
(๒) ใช้คำพูดให้ถูกต้องเหมาะสมแก่สถานภาพของตนและพระสงฆ์ เช่น ใช้สรรพนามแทนตนเองและแทนพระสงฆ์ในระดับต่าง ๆ ได้ถูกต้อง เป็นต้น
(๓) ไม่พูดล้อเล่นกับพระสงฆ์ หรือพูดตลกโปกฮาดังเช่นพูดคุยกับเพื่อน
(๔) เมื่อพูดกับพระผู้ใหญ่ ควรพนมมือพูดกับท่านทุกครั้ง
(๕) ไม่ชวนพระสงฆ์พูดคุยเรื่องที่ไม่เหมาะสม
(๖) เวลาพูดถึงพระสงฆ์ลับหลัง พึงพูดด้วยความปรารถนาดี ไม่นินทาหรือให้ร้ายป้ายสีพระสงฆ์เด็ดขาด
(๗) เวลาพูดกับพระสงฆ์ จะต้องใช้สรรพนามให้เหมาะสม ดังนี้



๒.๓ การแต่งกายในพิธีต่าง ๆ



    การแต่งกายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นสิ่งแรกที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น ดังนั้น จึงควรแต่งกายให้เหมาะสมกับโอกาสต่าง ๆ ในที่นี้จะกล่าวถึงการแต่งกายเมื่อไปพบพระที่วัด หรือนิมนต์พระมาที่บ้าน พึงปฏิบัติดังนี้
    (๑) ควรแต่งกายให้สะอาด ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ และไม่เกี่ยวกับความเก่าหรือความใหม่ เครื่องแต่งกายใหม่อาจสกปรกได้ เครื่องแต่งกายที่เท่าและราคาถูกอาจดูสะอาดได้ เสื้อผ้าควรซักรีดให้เรียบร้อย รองเท้าก็ขัดให้ดูเงางาม
    (๒) แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย สุภาพสตรีควรแต่งกายให้รัดกุม เช่น ไม่นุ่งกระโปรงสั้นจนเกินไป ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปจนเกินไป ไม่สวมเสื้อที่คอลึกจนเกินไป เป็นต้น
    การแต่งกายเป็นเรื่องของรสนิยม ซึ่งแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน คนหนึ่งว่าอย่างนี้เหมาะ อีกคนว่าไม่เหมาะ แต่จะต้องคำนึงถึงหลักความสะอาด ความสุภาพเรียบร้อย และถูกกาละเทศะ


๓.หน้าที่ชาวพุทธ


๓.๑ การปฏิบัติตนเป็นชาวพุทธที่ดีตามหลักทิศ ๖ (ทิศเบื้องขวา) 

    คำว่า "ทิศ" ในที่นี้ มิได้มีความหมายในทางภูมิศาสตร์ แต่หมายถึง บุคคลประเภทต่าง ๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคมดุจทิศที่อยู่รอบตัว ซึ่งมีอยู่ ๖ ทิศ ได้แก่ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย และทิศเบื้องล่าง ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะทิศเบื้องขวา คือ ครู อาจารย์ ดังนี้



(๑) การปฏิบัติตนต่อครู อาจารย์ 
มีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้
๑.ลุกขึ้นต้อนรับ
๒.เข้าไปหาเพื่อคอยรับใช้หรือรับคำแนะนำ
๓.ใฝ่ใจเรียน
๔.ปรนนิบัติ
๕.เรียนศิลปวิทยาด้วยความตั้งใจ
(๒) การปฏิบัติต่อศิษย์
ครู อาจารย์ ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ ดังนี้
๑.ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี
๒.สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓.สินศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๔.ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ
๕.ให้ความคุ้มครองปกป้องในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม

๓.๒ การปฏิบัติตนตามพุทธปณิธาน ๔



    พุทธปณิธาน คือ ความตั้งพระทัยของพระพุทธเจ้า โดยเมื่อตั้งแต่พระองค์บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ ๆ มีพญามารนามว่า "วสวัตดี" ได้มาทูลอาราธนาให้เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสว่า ตราบใดที่พระพุทธศาสนายังไม่มั่นคงแพร่หลาย พระองค์จะไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อพญามารกราบทูลถาม พระองค์จึงตรัสว่า พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อพุทธบริษัททั้ง ๔ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้



  • ศึกษาพระธรรมจนมีความรู้แตกฉาน
  • ปฏิบัติตามที่ได้ศึกษามาจนบรรุผลแห่งการปฏิบัติ ตามความสามารถ
  • มีความสามารถในการถ่ายทอด เผยแผ่ให้คนอื่นได้รู้ตาม
  • กำจัดปรัปวาท (ปะ-รับ-ปะ-วาด) คือ การกล่าวร้าย เข้าใจผิดต่อพระศาสนา ให้ราบคาบ โดยชอบธรรม

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา พญามารได้มาทวงสัญญาจากพระพุทธองค์ว่า บัดนี้พระพุทธศาสนาได้แพร่หลายมั่นคงแล้ว พุทธบริษัท ๔ มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพุทธปณิธานแล้ว ขออาราธนาให้เสด็จดับขันธปรินิพพานเถิด พระพุทธองค์จึงทรงรับอาราธนาแล้วทรง "ปลงอายุสังขาร" (ตัดสินพระทัยกำหนดวันปรินิพพาน) ว่าอีกสามเดือนถัดไป พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ดังที่ทราบกันดีแล้ว

การปฏิบัติตนตามพุทธปณิธานก็คือ พุทธศาสนิกชนจะต้องปฏิบัติ ดังนี้


๑.ศึกษาพุทธวจนะในพระไตรปิฏกให้เข้าใจ อย่างน้อยต้องเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาสอนอะไร หลักคำสอนที่เป็นแก่นหรือสาระสำคัญของพระพุทธศาสนาคืออะไรบ้าง วิธีที่จะเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของ "หลักพหูสูต" ดังนี้
  • ฟังมาก คือ อ่าน ฟัง ศึกษาข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น เป็นภิกษุต้องศึกษานักธรรมตรี โท เอก และบาลีตั้งแต่เปรียญ ๓ ประโยค ถึงเปรียญ ๙ ประโยค หรือไม่ก็ศึกษานอกระบบด้วยตนเอง จนมีความเข้าใจพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี เป็นต้น ถ้าเป็นคฤหัสถ์ เช่น นักเรียน นักศึกษาก็ตั้งใจศึกษาพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียน หรือศึกษาธรรมศึกษาตรี โท เอก หรือเข้าวัดสดับพระธรรมเทศนา หรืออ่านตำหรับตำราทางพระพุทธศาสนา จนเข้าใจดี เป็นต้น
  • จำได้ เมื่อฟัง อ่าน หรือศึกษาแล้วให้กำหนดจดจำให้ดี เพื่อจะได้นำไปถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจตาม การจำนี้มิได้หมายความว่าให้จำทั้งหมดที่ได้ฟัง ได้อ่าน หรือศึกษามา แต่ให้จำประเด็นหลักหรือสาระสำคัญให้ได้เท่านั้น
  • คล่องปาก ประเด็นไหนมีความสำคัญมาก ก็ให้ท่องจนคล่องปาก ทำนองท่องบทอาขยาน เช่น ท่อง "โอวาทปฏิโมกข์" หรือพุทธวจนสำคัญ ๆ เพื่อนำไปใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว
  • เจนใจ บางเรื่องท่องได้คล่องปากแล้ว ก็นำมาขบคิดให้เกิดความกระจ่าง จนสามารถมองเห็นภาพในใจ เวลาอธิบายให้คนอื่นฟังก็อธิบายได้ทันท่วงที
  • นำไปประยุกต์ได้ เมื่อฟังมาก จำได้ คล่องปาก และเจนใจแล้ว เวลาจะนำไปใช้ เช่น นำไปสอน ไปอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจ ก็ไม่จำเป็นต้องคัดลอกคำพูดจากตำรา แต่สามารถใช้คำพูดหรือวิธีการอธิบายของตนเองได้ เพราะได้มีความรู้แตกฉานดีแล้ว ผู้ที่ฝึกฝนจนถึงขั้นนี้แล้ว ย่อมสามารถแตกหน่ออกเป็นแนวคิดใหม่ ๆ ที่คล้ายกันหรือต่างจากเดิมได้อีกมาก

๒.เมื่อศึกษาพระพุทธศาสนาจนเป็นพหูสูตแล้ว ต้องนำเอาทฤษฎีความรู้นั้นมาปฏิบัติจนได้รับผลจากการปฏิบัติด้วย เช่น ทราบว่าพระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เห็นแก่ตัว ให้เสียสละ ก็พยายามปฏิบัติตนให้ได้ เป็นคนไม่เห็นแก่ตัวและเสียสละต่อส่วนรวมอันจะเป็นตัวอย่างแก่คนอื่น หรือทราบว่าพระพุทธศาสนาตำนิการพนันว่าเป็นอบายมุข (ทางแห่งความเสื่อม) ก็พยายามหลีกเลี่ยง ไม่มัวเมาหมกมุ่นในอบายมุข เป็นต้น

๓.เรียนรู้และปฏิบัติได้ตามที่รู้ นับว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น ต้องสามารถนำไปถ่ายทอดให้คนอื่นได้เข้าใจด้วย คือ ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ชี้ทางเดินแก่คนอื่นว่า ทางนี้เป็นทางเสื่อมไม่ควรเดินตาม ทางนี้เป็นทางแห่งความเจริญ การดำเนินตามคำสอนคำชี้แจงของผู้ที่ได้ทำตามคำสอน ย่อมมีความศักดิ์สิทธ์หรือมีน้ำหนัก จึงควรฟังและปฏิบัติตาม

๔.ปกป้องพระพุทธศาสนา เมื่อมีการกล่าวจ้วงจาบให้ร้ายป้ายสีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ หรือพระพุทธศาสนาโดยส่วนรวม พุทธศาสนิกชนจะต้องให้ความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขให้ความขัดแย้งนั้น ๆ ลุล่วงไป


วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564

หน่วยการเรียนรู้ที่ ๕ เรื่องที่ ๑ หน้าที่ของพระภิกษุ

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๕ 
หน้าที่ชาวพุทธและมารยาทชาวพุทธ




    พระพุทธศาสนามีส่วนช่วยจรรโลงสังคมไทยมาจนกระทั่งปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกลงในวิถีชีวิตของคนไทย ดังนั้น ในฐานะชาวพุทธที่ดีจึงควรช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงยิ่งขึ้นไป หมั่นศึกษาหาความรู้ ปฏิบัติตามหลักธรรมและประเพณีพิธีกรรมทางศาสนา เผยแผ่และปกป้องพระศาสนา ตลอดจนเรียนรู้มารยาทที่ดีงามของชาวพุทธ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป



๑.หน้าที่ของพระภิกษุในการปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย และจริยาวัตรอย่างเหมาะสม



    พระภิกษุหรือพระสงฆ์ เป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบยิ่ง เป็นแหล่งปลูกฝังคุณธรรมแก่ชาวโลก และชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีแก่สังคม ตลอดจนมีหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนาด้วยการตั้งใจศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ และเผยแผ่พระพุทธศาสนา นับว่าพระสงฆ์ได้ทำประโยชน์แก่สังคมมิใช่น้อย จึงควรที่ชาวพุทธจะพึงเคารพนับถือพระสงฆ์และปฏิบัติตนให้เหมาะสมต่อพระสงฆ์
หน้าที่หลักของพระสงฆ์มี ๓ ประการ คือ การศึกษา การปฏิบัติ และการสั่งสอนและเผยแผ่พระธรรม



๑.๑ การศึกษา



    การศึกษา หมายถึง การเรียนพระพุทธวจนะ ซึ่งภายหลังรวบรวมเป็นพระไตรปิฏกเอาไว้ การเรียนสมัยก่อนใช้วิธีท่องจำ เรียกว่า "มุขปาฐะ" ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ไม่มีการสอบไล่เพื่อรับปริญญาเหมือนสมัยปัจจุบัน ซึ่งใช้วิธีการแบบต่างคนต่างท่องจำ มากน้อยตามความสามารถและความถนัด ถ้าอยู่ด้วยกันหมู่มากก็แบ่งกลุ่มหรือสำนักท่องจำกัน เช่น กลุ่มนี้ท่องพระสูตร กลุ่มนี้ท่องพระวินัย กลุ่มโน้นท่องพระอภิธรรม เป็นต้น เมื่อกาลเวลาบล่วงไปก็มีเหตุการณ์ทำให้พระธรรมวินัยคลาดเคลื่อนหรือกลัวว่าจะเกิดความคลาดเคลื่อน จึงมีการเรียกประชุม "สังคายนา" (ร้อยกรองหรือสวดสอบทานกัน) เพื่อความถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น พระพุทธวจนะเป็นจำนวนมากได้ถูกบันทึกลงในสมองของพระสาวกโดยระบบท่องจำอย่างนี้ คำสอนของพระพุทธเจ้าจึงสืบทอดมาถึงพวกเราซึ่งนับเป็นเวลากว่าสองพันปี
การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะนี้ ต่อมาเรียกกันว่า "คันถธุระ" (หน้าที่ด้านการเรียนพระคัมภีร์) เป็นการเรียนรู้หลักวิชาเพื่อเกื้อกูลและสนับสนุนการปฏิบัติธรรมให้เกิดผลดี



๑.๒ การปฏิบัติ



    ภาระหน้าที่ด้านนี้เรียกตามศัพท์ศาสนาว่า "วิปัสสนาธุระ" (หน้าที่ปฏิบัติเพื่อความเห็นแจ้ง) หมายถึง การฝึกอบรมจิตให้เป็นสมาธิและให้มีพลัง เพื่อนำไปใช้ในการข่มหรือกำจัดกิเลส คือความเศร้าหมองแห่งจิต และให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง กล่าวเพื่อให้เข้าใจง่ายก็คือ การปฏิบัติตามทฤษฏีที่ได้ศึกษามาข้างต้นนั้น ก็เพื่อการดับทุกข์เป็นขั้น ๆ จนถึงความดับโดยสิ้นเชิง การศึกษาเฉพาะในด้านปริยัติคือคัมภีร์ต่าง ๆ เหล่านั้น ก็เปรียบเหมือนการอ่านแผนที่เพื่อให้รู้ว่ามีถนนกี่สาย สายใดนำไปสู่จุดหมายใด ส่วนการศึกษาในด้านการปฏิบัตินั้น จะต้องนำมาปฏิบัติด้วยตนเอง จริง ๆ ก็เหมือนกับการเดินทางตามเส้นทางที่แผนที่บ่งไว้เพื่อไปสู่จดุหมายปลายทางที่ตนต้องการ 



    เมื่อพระสงฆ์ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมจนเข้าใจแจ่มแจ้งและสามารถปฏิบัติตามหลักธรรมนั้นได้แล้ว คุณค่าและประโยชน์ที่ได้จากการปฏิบัตินั้นย่อมก่อให้เกิดผล ดังนี้
(๑) สามารถควบคุมกาย วาจา ให้เรียบร้อย งดเว้นจากข้อห้ามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ได้
(๒) สามารถฝึกจิตใจของตนเองให้มีสมาธิอันแน่วแน่จนจิตสงบ สามารถขจัดสิ่งมัวหมองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจิตออกจากใจได้ และยังมีผลให้จิตสมบูรณ์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น มีความเมตตากรุณา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเข้มแข็งอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ สามารถยับยั้งชั่งใจ มีความเพียร ความกล้าหาญ ความไม่ยึดมั่นถือมั่น รู้จักเข้าใจ และให้อภัยคนอื่น เป็นต้น
(๓) ก่อให้เกิดปัญญาที่เกิดจากการฝึกปฏิบัตินั้น ทั้งยังเข้าใจโลกและชีวิตอย่างแจ่มแจ้ง จนสามารถปล่อยวางจากความยึดติด ลด ละ เลิกความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้ลดลง จนกระทั่งหมดไปโดยสิ้นเชิง



๑.๓ การสั่งสอนและเผยแผ่พระธรรม



    การสั่งสอนและเผยแผ่พระธรรมเป็นการทำประโยชน์แก่สังคม (ประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น) หมายถึง การทำประโยชน์แก่ชาวบ้านผู้ได้อนุเคราะห์ช่วยเหลือพระสงฆ์ด้วยปัจจัย ๔ หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึง การทำประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งมวล



    ในพระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๑ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงหน้าที่ของพระสงฆ์ในด้านการสั่งสอนและการเผยแผ่ธรรมแก่ประชาชนไว้ ๖ ประการ ดังนี้

    (๑) สอนให้เขาละเว้นจากความชั่ว ชี้ให้เห็นว่าความชั่วเป็นอย่างไร โทษของความชั่วเป็นอย่างไร และพยายามชักจูงให้เขาละเว้นจากความชั่วนั้น
    (๒) แนะนำให้เขาตั้งอยู่ในความดี การละเว้นจากการทำความชั่วอย่างเดียว ยังไม่นับว่าเป็นคนดีสมบูรณ์และยังไม่ปลอดภัย เผลอเมื่อไรก็อาจหันเข้าหาความชั่วอีกได้ ดังนั้น พระสงฆ์ต้องทำหน้าที่ ๒ คือ แนะนำให้ทำความดีเพิ่มเติม
    (๓) อนุเคราะห์ด้วยจิตใจอันงาม แนะนำสั่งสอนด้วยความปรารถนาดี มุ่งประโยชน์ที่เขาจะพึงได้รับเป็นสำคัญ ไม่หวังอามิส ลาภ ยศ หรือชื่อเสียงใด ๆ เป็นการตอบแทน
    (๔) สอนสิ่งที่เขาไม่เคยสดับรับฟังมาก่อน ประชาชนส่วนมากมักวุ่นวายอยู่กับการทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาและสดับพระธรรม พระสงฆ์ผู้ได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติมากกว่าชาวบ้าน จึงต้องนำเอาสิ่งที่ตนเรียนรู้มาถ่ายทอดให้ชาวบ้านได้รู้ด้วย
    (๕) ชี้แจงสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟังมาแล้วให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น บางเรื่องเขาฟังมาแล้ว เกิดความสงสัยไม่แน่ใจ ก็ต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจแจ่มแจ้งจนหายสงสัย โดยรู้จักอธิบายยักเยื้องหลายแง่หลายมุม จับจุดสำคัญมาขยายชี้แจงแต่ละประเด็นให้ชัดเจน
    (๖) บอกทางสวรรค์ ทำหน้าที่เป็น "มัคนายก" (ผู้นำทาง) แนะนำทางดำเนินชีวิตที่ดีงาม และเป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชน



การเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มีความสำคัญ ดังนี้
    ๑. เป็นการช่วยเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นที่แพร่หลายทั่วโลก โดยในปัจจุบันมีผู้สนใจหันมานับถือพระพุทธศาสนามากขึ้น เพราะเขาเห็นว่าพระพุทธศาสนานั้นได้ให้วิถีทางในการดำเนินชีวิตอันสงบสุขได้
    ๒.เป็นการช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาและทำให้มีผู้สนใจเข้ามาบวชเรียนศึกษาพระธรรมเพื่อเป็นศาสนทายาทต่อไป
    ๓.เป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยพระสงฆ์ผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ งดงามไปด้วยศีล สมบูรณ์ไปด้วยคุณธรรม มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ทำหน้าที่เป็นผู้เผยแผ่ธรรมะที่ถูกต้องให้แก่ผู้ที่ยังไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด ได้เข้าใจหลักธรรมอย่างแจ่มแจ้งและถูกต้องมากขึ้น
    ๔.ลดการเกิดปัญหาสังคม เมื่อหลักธรรมของพระพุทธเจ้าได้เผยแผ่ออกไป จนทำให้ประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว ปัญหาสังคมต่าง ๆ เช่น การลักขโมย การเล่นการพนัน การเสพสิ่งเสพติดต่าง ๆ ก็จะลดน้อยลง จนกระทั่งปลอดจากอบายมุขในที่สุด






วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2564

หน่วยการเรียนรู้ที่ ๔ พระไตรปิฏก และพุทธศาสนสุภาษิต

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๔
พระไตรปิฏก และพุทธศาสนสุภาษิต




๑.พระไตรปิฏก


๑.๑ โครงสร้าง ชื่อคัมภีร์ และสาระสังเขปของพระอภิธรรมปิฏก



พระไตรปิฏก คือ คัมภีร์บันทึกคำสอนทางพระพุทธศาสนา มี ๓ หมวดใหญ่ ได้แก่

หมวดที่ว่าด้วยศีลของพระภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ตลอดถึงพิธีกรรมต่าง ๆ เรียกว่า พระวินัยปิฏก

หมวดที่ว่าด้วยพระธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เทศนาของพระสาวกสำคัญบางองค์ เรียกว่า พระสุตตันตปิฏก

และหมวดว่าด้วยธรรมะที่อธิบายเป็นหลักวิชาชั้นสูงล้วน ๆ ไม่กล่าวถึงบุคคล และเหตุการณ์ เรียกว่า พระอภิธรรมปิฏก

ในที่นี้จะกล่างถึงพระอภิธรรมปิฏก ดังนี้

พระอภิธรรมปิฏก



เนื้อหาของพระอภิธรรมปิฏกก็คือ พระสูตรหรือเทศนาต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่บุคคลต่าง ๆ ต่างกรรม ต่างวาระ ซึ่งรวบรวมไว้ในพระสุตตันตปิฏกนั่นเอง แต่นำเอามาเรียบเรียงใหม่ในรูปแบบวิชาการ และอธิบายให้ละเอียด เป็นขั้นเป็นตอน แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ ดังนี้



คัมภีร์ ธัมมสังคณี สาระสังเขป รวมข้อธรรมเป็นหมวด ๆ แล้วแยกออกอธิบายเป็นประเภท ๆ

คัมภีร์ วิภังค์ สาระสังเขป แยกแยะธรรมในข้อธรรมสังคณี ออกแสดงให้เห็นรายละเอียด เพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้ง

คัมภีร์ ธาตุกถา สาระสังเขป จัดข้อธรรมต่าง ๆ มารวมลงในขันธ์ อายตนะและธาตุ ว่าข้อใดเข้ากันได้หรือไม่อย่างไร

คัมภีร์ ปุคคลบัญญัติ สาระสังเขป บัญญัติเรียกบุคคลต่าง ๆ ตามคุณธรรมที่มี เช่น เรียกว่า "โสดาบัน" เพราะเข้าถึงกระแสพระนิพพาน ละกิเลสได้ ๓ ชนิด

คัมภีร์ กถาวัตถุ สาระสังเขป อธิบายทัศนะที่ข้ดแย้งกันของนิกายต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาในยุคต้น ๆ เน้นทัศนะของนิกายเถรวาทว่าถูกต้อง คัมภีร์นี้พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระเป็นผู้แต่ง เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๓

คัมภีร์ ยมก สาระสังเขป ยกข้อธรรมขึ้นอธิบายเป็นคู่ ๆ เช่น กุศลกับอกุศล แล้วอธิบายโดยวิธีถามตอบ

คัมภีร์ ปัฏฐาน สาระสังเขป อธิบายปัจจัยหรือเงื่อนไขทางธรรม ๒๔ อย่าง ว่าธรรมใดเป็นเงื่อนไขของธรรมใด

๑.๒ เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฏก (พุทธปณิธาน ๔ ในมหาปรินิพพานสูตร)



พุทธปณิธาน คือ ความตั้งพระทัยของพระพุทธเจ้าว่า ตราบใดที่พระพุทธศาสนายังไม่แพร่หลาย คือ พุทธบริษัท ๔ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ยังไม่มีคุณสมบัติครบถ้วน พระองค์จะไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน คุณสมบัติดังกล่าว คือ

๑. ศึกษา คือศึกษา พระพุทธวจนะในพระไตรปิฎกให้เข้าใจอย่างน้อยต้องเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาสอนอะไร หลักคำที่สอนเป็นแก่นหรือสาระสำคัญของพระพุทธศาสนาคืออะไรบ้างวิธีที่จะเข้าใจพระพุทธศสนาอย่างลึกซึ้งจะต้องปฎิบัติตามขั้นตอนแห่ง หลักพหูสูตร ทั้ง 5 ข้อคือ

- ฟังมาก คืออ่านฟังศึกษาข้อมูล รายละเอียดต่างๆให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้

- จำได้เมื่อฟัง หรือศึกษาแล้ว ให้กำหนดจดจำให้ได้เพื่อจะได้นำไปถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจตาม

- คล่องปากประเด็นไหนมีความสำคัญมากก็ให้ท่องจนคล่องปาก ทำนองท่องบทอาขยาน

-เจนใจ นำมาขบคิดให้เกิดความเข้าใจกระจ่างในใจ จนสามารถมองเห็นภาพในใจ เวลาอธิบายให้คนอื่นเข้าใจก็อธิบายได้ทันที

- ประยุกต์ใช้เป็น คือนำเอาสิ่งที่ได้ศึกษา จำได้ ท่องคล่องปาก และเข้าใจชัดเจนนั้นมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตในปัจจุบบัน

๒. ปฏิบัติ คือต้องนำเอาทฤษฎี ความรู้นั้นมาปฏิบัติตนจนได้รับผลจากการปฏิบัติด้วย เช่น เมื่อทราบว่าพระพุทธศาสนาตำหนิการพนันว่าเป็น อบายมุข (ทางแห่งความเสื่อม)ก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่มัวเมาหมกหมุ่น ในอบายมุข เป็นต้น

๓. ชี้แจง คือสามารถนำไปถ่ายทอด ให้คนอื่นเข้าใจด้วยทำหน้าที่เป็น มัคคุเทศก์ ชี้ทางเดินแก่คนอื่นว่า ทางนี้เป็นทางเสื่อมไม่ควรเดินตาม ทางนี้เป็นทางแห่งความเจริญควรดำเนินตามคำสอนคำชี้แจงของผู้ที่ทำได้ตามสอน ย่อมมีความศักสิทธิ์หรือมีน้ำหนักควรฟังและปฏิบัติตาม

๔. ปกป้อง คราวใดมีผู้จ้วงจาบให้ร้ายป้ายสีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์หรือพระพุทธศาสนาโดยรวมไม่ว่าจะเกิดจากพุทธบริษัทที่หลงผิด หรือจาการเบียดเบียนรังแกจากศัตรูภายนอกก็ตาม พุทธศาสนิกชนพึงร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขให้ความเข้าใจผิดๆนั้นให้ควมขัดแย้งนั้นลุลาวงไป ไม่ปล่อยให้คาราคาซังโดยคิดว่าธุระไม่ใช่เป็นอันขาด


๒.พุทธศาสนสุภาษิต


๒.๑ อตฺตา ทเว ชิตํ เสยฺโย : ชนะตนนั่นแลดีกว่า



การชนะตน คือ ความสามารถในการควบคุมตนเองให้ประพฤติในสิ่งที่ดีงามตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา การควบคุมตนเอง หมายถึง การควบคุมทั้งกาย วาจา ใจ หรือกล่าวได้ว่า เป็นหลักธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพุทธวจนาไว้ในวันมาฆบูชา ที่เรียกกันว่า โอวาทปาฏิโมกข์ หรือโอวาท 3 คือการทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส

การชนะตนเอง หมายถึง การเอาชนะกิเลสของตนเองให้ได้ การเอาชนะแบบนี้เท่านั้นเท่านั้นนำมาซึ่งสันติภาพ เมื่อชนะใจตนเองแล้ว การชนะใจผู้อื่นจะนำมาซึ่งสันติภาพของโลก เหมือนกับที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ พระองค์ทรงชนะใจตนเองแล้วจึงชนะใจผู้อื่น ด้วยการอบรมสั่งสอนสาวกให้เลื่อมใสในพระธรรม เมื่อปวงชนได้นำหลักธรรมมาประพฤติปฏิบัติย่อมเกิดความสงบสุข ทำให้เกิดสันติภาพบนโลก

๒.๒ ธมฺมจารี สุขํ เสติ : ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข



กรมการศาสนา (2534) ได้อธิบายพุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ไว้ ความว่า ผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ย่อมมีใจหนักแน่นมั่นคง เป็นอิสระจากกิเลส ทำแต่สิ่งที่ควรทำ กล่าวแต่คำที่ควรพูด คิดแต่เรื่องที่ควรคิด เขาจึงอยู่เป็นสุขผู้ประพฤติธรรม ต้องมีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา รวมถึงผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริต เป็นผู้ทำสิ่งเลวร้ายให้กลายเป็นดี เกลียดธรรมที่เป็นไปเพื่อความแตกแยก ยินดีในธรรมที่เป็นไปเพื่อความสามัคคี มีความคงมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์เช่นเดียวกับภูเขาหินที่ฝังรากลึกลงไปในดินไม่กระเทือนเพราะถูกลมพัดฉะนั้น ดังนั้น ความเป็นอยู่ของผู้ประพฤติธรรมจึงอยู่เป็นสุขผู้ที่ต้องการความสุข อยากอยู่เป็นสุข ไม่เดือดร้อน ก็ต้องเร่งประพฤติธรรม เริ่มตั้งแต่การประพฤติดีปฏิบัติชอบเป็นต้นไป

๒.๓ ปมาโท มจฺจุโน ปทํ : ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย



ความประมาท คือ การขาดสติ ปล่อยใจให้ล่องลอยไป ไม่รู้สึกตัวว่ากำลังทำอะไร กำลังพูดอะไร ไม่รู้จักระวังตัวในสิ่งที่ควรระวัง ปราศจากความรอบคอบในการเตรียมตัวไว้เผชิญกับเหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคต

ความไม่ประมาท หมายถึง การมีสติตื่นอยู่เสมอ รู้ว่ากำลังทำอะไรในปัจจุบัน และเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่จะเกิดในอนาคต ความประมาทเป็นสิ่งไม่ดี และความไม่ประมาทเป็นสิ่งดี แต่หากระมัดระวังจนเกินเหตุก็จะกลายเป็นคนลังเลใจ ลงมือทำอะไรไม่ได้ มีแต่ความวิตกกังวลคิดล่วงหน้ามากไป มองโลกในแง่ร้ายมากเกินไป คนแบบนี้คงไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต แม้ว่าเหตุร้ายจะไม่ค่อยเกิดขึ้นกับเขา แต่คนที่ประมาทเกินไป ขาดสติบ่อยๆ ก็คงไม่ค่อยประสบความสำเร็จในชีวิตเหมือนกัน ดังนั้นจึงควรเดินตามทางสายกลาง ความประมาทมีได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

ในทางธรรมนั้นการไม่ระวังตัวทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน คิดแต่เรื่องอกุศล ก็อาจเป็นทางให้เดินไปสู่ความชั่วได้โดยไม่ตั้งใจ ส่วนในทางโลกการไม่ระวังตัวขาดสติ ไม่รอบครอบ ไม่หาทางป้องกันอันตรายหรืออุปสรรค ที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำกิจกรรมต่างๆ ก็อาจเป็นทางทำให้กิจการนั้นๆเสียหายหรือได้ไม่ดีเท่าที่ควร ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ไม่เป็นไรแต่ถ้าความประมาทเกิดกับผู้ที่ต้องรับผิดชอบมากๆความเสียหายก็อาจเกิดขึ้นและกระทบถึงคนจำนวนมหาศาลได้ เช่น ผู้ดูแลโรงไฟฟ้าปรมาณูประมาทเลินเล่อ ทำให้คนจำนวนมากตาย หรือได้รับความทรมารจนตาย และทำให้พืชพรรณธัญญาหารเสียหายในบริเวณกว้าง

๒.๔ สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ การฟังที่ดีย่อมได้ปัญญา



การฟังเป็นทักษะพื้นฐานที่มนุษย์ใช้ภาษาในการสื่อสาร หากฟังแล้วเข้าใจจุดมุ่งหมายของผู้พูด จะทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้ามหากไม่เข้าใจจะทำให้การสื่อสารเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคม ก่อให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสาร อย่างเช่น การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนทางหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์บางฉบับ บางช่องในปัจจุบันบางครั้งการนำเสนอข่าวทำให้สังคมสับสนเกิดความขัดแย้งในการนำเสนอข่าวเลือกข้างสีเสื้อต่างๆ การนำเสนอข่าวไม่เป็นกลาง เพราะฉะนั้นผู้ฟังต้องฟังแบบมีสติ มีเหตุมีผลใช้ปัญญาพิจารณาเนื้อหาของข่าวแต่ละข่าวอย่างพินิจพิเคราะห์เป็นกลางในการรับฟังข่าวสารนั้นๆ อย่างไม่มีอคติไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่ง พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวไว้ว่า

การฟัง ตามคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ”สุตะ” แปลว่า สิ่งที่ได้สดับ หมายถึงความรู้ที่ได้จากการได้ยินได้ฟัง การสดับ การอ่าน การเล่าเรียน ความรู้ที่ได้จากการศึกษาศิลปวิทยาต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพและการประกอบกิจต่าง ๆ ในทางโลก สุตะที่เป็นคุณสมบัติของอริยสาวกนั้น หมายถึงความรู้ที่จำเป็นสำหรับทุกคนเพื่อให้รู้จักวิธีที่จะดำเนินชีวิตให้ดีงาม ทำให้รู้จักใช้สุตะ อื่น ๆ มีวิชาชีพ เป็นต้น ไปในทางที่เป็นคุณประโยชน์ ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เป็นส่วนเสริมสำหรับปิดกั้นโทษช่วยทำให้สุตะอื่นมีคุณค่าเต็มบริบูรณ์ เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาตามความหมายที่แท้จริง เป็นคุณด้านเดียว ยิ่งกว่านั้น สุตะ อย่างนี้เท่านั้น เป็นความรู้ที่ทำให้ปุถุชนกลายเป็นอริยะหรืออารยชนได้ สุตะ นี้ก็คือความรู้ในอริยธรรม คือหลักความจริงความดีงามที่อริยชนแสดงไว้ หรือ คำแนะนำสั่งสอนต่าง ๆ ที่แสดงหลักการครองชีวิตประเสริฐ ชี้มรรคาไปสู่ความเป็นอริยชน สุตะในศิลปวิทยาต่าง ๆ จะต้องมีสุตะในอริยธรรมนีควบหรือแทรกอยู่ด้วยเป็นส่วนเติมเต็มเสมอไป

ในมงคล ๓๘ ประการได้กล่าวถึง การเป็นพหูสูต หมายถึง ผู้ได้ฟังมาก หรือ บางครั้งเรียกว่า การฟังธรรมตามกาล ซึ่งหมายถึง การได้ฟังธรรมตามเวลาที่สมควร หรือตามโอกาสที่มาถึง เช่น ได้ฟังธรรมในวันธรรมสวนะ ๘ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ






วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2564

วิชาพระพุทธศาสนา ม.3 หลักธรรมในนิโรธ และมรรค

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๓
หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
หลักธรรมในนิโรธ และมรรค 





๒.๓ นิโรธ (ธรรมที่ควรบรรลุ)


นิโรธ คือ ความดับทุกข์ หลักธรรมที่ควรบรรลุเพื่อดับทุกข์ ได้แก่ อัตถะ

อัตถะ คือ "ประโยชน์หรือจุดหมาย" ในที่นี้หมายถึง คุณประโยชน์ของการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ถ้าจะถามว่า พระธรรมมีคุณประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติอย่างไร คำตอบที่สั้นและครอบคลุมความที่สุดก็คือ "พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติมิให้ตกไปในที่ชั่ว" คำว่า "ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว" ในที่นี้ ขยายความว่า ประสบความสุข ความเจริญในชีวิต ทั้งในระดับต้น ๆ และระดับสูงสุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติตามธรรมข้อใดถึงขั้นใด เพราะพระธรรมของพระพุทธเจ้ามีหลายระดับ ตั้งแต่ธรรมขั้นพื้นฐานเพื่อชี้นำแนวทางการดำรงชีวิตที่ดีของผู้ที่ยังอยู่ในเพศคฤหัสถ์ ยังต้องการความสุขความสำเร็จทางโลก จนกระทั่งธรรมชั้นสูงอันเป็นหลักปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์อย่างแท้จริง

ประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม



ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์

ความหมาย ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง บ้างเรียกว่า หัวใจเศรษฐี "อุ อา กะ สะ" อาจเรียกสั้น ๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ (เนื่องจากอัตถะ แปลว่า ประโยชน์อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีประโยชน์ ซ้ำซ้อนกันสองคำก็ได้) หรืออาจเรียกเต็ม ๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔ หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น เพื่อประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มี ทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม ๔ ประการ




แนวทางปฏิบัติ

๑.อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น เช่นขยันหมั่นเพียร เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่อง อันเป็นอุบายในการงานนั้น ให้สามารถทำได้สำเร็จ

๒.อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ (ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม) เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล ไม่ให้ถูกลัก หรือทำลายไปโดยภัยต่างๆ

๓.กัลยาณมิตร คบคนดี ไม่คบคนชั่ว อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา

๔.สมชีวิตา อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้



สัมปรายิกัตถะ

ความหมาย สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภายหน้า, ประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป อันได้แก่ ความมีจิตใจเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมความดี ทำให้ชีวิตนี้มีค่า และเป็นหลักประกันชีวิตในภพหน้า ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยธรรม ๔ ประการ

แนวทางปฏิบัติ

๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือสิ่งที่ควรเชื่อ เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล รักษากาย วาจา เรียบร้อยดีไม่มีโทษ
๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาค เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น
๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์
ธรรม ๔ อย่างนี้เรียกเต็มว่า สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม



ปรมัตถะ

ความหมาย ปรมัตถะ ประโยชน์ขั้นสูงสุด ประโยชน์อย่างยิ่ง หรือ พระนิพพาน

แนวทางปฏิบัติ

ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘

๒.๔ มรรค (ธรรมที่ควรเจริญ)



มรรค คือ ทางแห่งความดับทุกข์ หลักธรรมที่ควรปฏิบัติเพื่อเป็นทางไปสู่ความดับทุกข์ ได้แก่

๑) มรรคมีองค์ ๘ 

หรือ "ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา" แปลว่า "ทาง" หรือ "มรรควิธีที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์หรือดับตัณหา" ในที่นี้หมายถึง มรรคมีองค์ ๘ หรือ "มรรค ๘" ดังนี้




๑.สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) หมายถึง ความรู้ในอริยสัจ 4

๒.สัมมาสังกัปปะ (ความคิดที่ถูกต้อง) หมายถึง ความคิดในการออกจากกาม ความไม่พยาบาท และการไม่เบียดเบียน

๓.สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ

๔.สัมมากัมมันตะ (การปฏิบัติที่ถูกต้อง) หมายถึง เจตนาละเว้นจากการฆ่า การเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ และการประพฤติผิดในกาม

๕.สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากมิจฉาชีพ

๖.สัมมาวายามะ (ความเพียรที่ถูกต้อง) หมายถึง สัมมัปปธาน 4 คือ ความพยายามป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุศลที่ยังไม่เกิด และดำรงรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

๗.สัมมาสติ (การมีสติที่ถูกต้อง) หมายถึง สติปัฏฐาน 4

๘.สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิที่ถูกต้อง) หมายถึง ฌาน 4



มรรคมีองค์ ๘ นี้ เมื่อจัดเข้าในระบบการฝึกอบรม หรือเรียกว่า "ไตรสิกขา" จัดเป็นศีล สมาธิ และปัญญา ได้ดังนี้

  • หมวดปัญญา ได้แก่ ๑.สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) ๒.สัมมาสังกัปปะ (ความคิดที่ถูกต้อง)
  • หมวดศีล ได้แก่ ๓.สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) ๔.สัมมากัมมันตะ (การปฏิบัติที่ถูกต้อง) ๕.สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง)
  • หมวดสมาธิ ได้แก่ ความเพียรชอบ ๗.สัมมาสติ (การมีสติที่ถูกต้อง) ๘.สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิที่ถูกต้อง)

๒) ปัญญา ๓ แปลว่า "ความรู้ทั่วถึง" หมายถึง "รู้แจ่มแจ้งหรือรู้ตลอดหมด ถ้ารู้ไม่ทั่วถึง รู้ไม่แจ่มแจ้งโดยตลอด ไม่นับว่าเป็นปัญญาที่แท้จริง ดังเรื่องของคนตาบอดคลำช้าง ๘ คน ใครคลำถูกส่วนไหนของช้างก็รู้เฉพาะส่วนนั้น ทั้ง ๘ คนไม่รู้ว่าช้างทั้งตัวเป็นอย่างไร ต่างจากคนตาดี ซึ่งมองเห็นช้างชัดเจนและรู้ตลอด

ปัญญามี ๒ ประเภท คือ ปัญญาที่มีมาแต่กำเนิด (สหชาติกปัญญา) และปัญญาที่มีขึ้นมาภายหลังด้วยการศึกษาเล่าเรียน (โยคปัญญา) ปัญญาประเภทหลังนี้เท่านั้นที่ต้องการเน้นในที่นี้ เพราะเรื่องของปัญญาหรือความรู้นั้นเป็นเรื่องที่ฝึกอบรมกันได้ ดังพุทธจวจนะว่า "ปัญญาย่อมมีได้เพราะการฝึกฝนพัฒนา เสื่อมไปเพราะไม่ฝึกฝนพัฒนา" การพัฒนาปัญญามี ๓ วิธี ดังนี้



๒.๑) สุตมยปัญญาสุตมยปัญญา : ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการศึกษาเล่าเรียน กล่าวคือ สุตมยปัญญา ถือเป็นการเข้าถึงซึ่งปัญญาในระดับเบื้องต้น ด้วยการศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเองในด้านต่างๆ ทั้งการอ่านตำราด้วยตนเอง และการสดับรับฟังจากคณาจารย์ รวมถึงการศึกษาเล่าเรียนจากสื่ออื่นที่เข้าถึงได้

๒.๒) จินตามยปัญญาจินตามยปัญญา : ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการคิดวิเคราะห์ กล่าวคือ จินตามยปัญญา เป็นการได้มาซึ่งปัญญาขั้นกลางโดยใช้พื้นฐานปัญญาที่ได้รับจากการศึกษาเล่าเรียนในขั้นสุตมยปัญญา คือ การนำองค์ความรู้ที่ได้จากตำราเรียน หรือ จากคณาจารย์ผู้สอนมาคิดวิเคราะห์ หาเหตุ หาผล หาข้อเท็จจริงอันที่จะเป็นไปได้ โดยไร้ซึ่งอคติโน้มเอียงในตำรา และผู้สอน โดยให้ยึดหลักธรรมที่เรียกว่า กาลามสูตร ๑๐ ประการ

กาลามสูตร ๑๐ ประการ คือ พึงอย่าเพราะฟังตามกันมา อย่าเชื่อเพราะถือปฏิบัติสืบๆกันมา อย่าเชื่อเพราะการเล่าลือ อย่าเชื่อเพราะอ่านในตำรา อย่าเชื่อเพราะเพราะคิดด้วยตนเอง อย่าเชื่อเพราะการคาดเดา อย่าเชื่อเพราะมีเหตุผลประกอบ อย่าเชื่อเพราะมีทฤษฎีที่คนอื่นกล่าวไว้ อย่าเชื่อเพราะรูปลักษณ์ อย่าเชื่อเพราะเขาเป็นครูเรา หรือใช้หลักธรรมอื่นที่เป็นพื้นฐานสำคัญของปัญญา คือ โยนิโสมนัสสิการ

เมื่อคิดวิเคราะห์ตามประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่เราสนใจในมูลเหตุต่างๆด้วยการใช้หลักกาลามสูตร ๑๐ ประการ และโยนิโสมนัสสิการ ย่อมจะเกิดปัญญารู้แจ้งหรือได้ข้อเท็จจริงในสิ่งนั้น ว่าเป็นจริงหรือเป็นเท็จประการใด

๒.๓) ภาวนามยปัญญา ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากฝึกฝน หรือ ลงมือปฏิบัติ กล่าวคือ หมายถึง จินตามยปัญญา เป็นการได้มาซึ่งปัญญาระดับสุดท้าย โดยใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียน และคิดวิเคราะห์จนได้ข้อเท็จจริงในสิ่งนั้น แล้วนำแนวทางเหล่านั้นมาใช้ในการปฏิบัติจริง ทั้งในชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์ และการปฏิบัติธรรมของภิกษุ




๓) บุญกิริยาวัตถุ ๑๐


ตามหลักพุทธศาสนา มีการทำบุญด้วยกัน ๑๐ วิธี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ) คือ



๑. ให้ทาน แบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ (ทานมัย) การให้ทานเป็นการช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ความคับแคน ความตระหนี่ถี่เหนียว และความติดยึดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไปก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคลหรือชุมชนโดยส่วนรวม

๒. รักษาศีล ก็เป็นบุญ (ศีลมัย) เป็นการฝึกฝนที่จะ ลด ละ เลิกความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นเป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงามและพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ

๓. เจริญภาวนา ก็เป็นบุญ (ภาวนามัย) การภาวนาเป็นการพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่า จิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น

๔. อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรมรวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกันทั้งในความคิด ความเชื่อและวิถีปฏิบัติของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ก็เป็นบุญ (อปจายนมัย)

๕. ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง ช่วยเหลือสละแรงกาย เพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นบุญ (ไวยาวัจจมัย)

๖. เปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือในการทำงานก็เปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วมทำ ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ก็เป็นบุญ (ปัตติทานมัย)

๗. ยอมรับและยินดีในการทำความดี หรือทำบุญของผู้อื่น การชื่นชมยินดีหรืออนุโมทนาไม่อิจฉาหรือระแวงสงสัยในการกระทำความดีของผู้อื่น ก็เป็นบุญ (ปัตตานุโมทนามัย)

๘. ฟังธรรม บ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมสวนมัย)

๙. แสดงธรรม ให้ธรรมะและข้อคิดที่ดีกับผู้อื่น แสดงธรรมนำธรรมะไปบอกกล่าว เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงามก็เป็นบุญ (ธรรมเทศนามัย)

๑๐. ทำความเห็นให้ถูกต้องและเหมาะสม มีการปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น ความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญ ถือเป็นบุญด้วยเช่นกัน (ทิฏฐุชุกรรม)

ทิฏฐุชุกรรมหรือสัมมาทัศนะ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำบุญทุกชนิดและทุกโอกาส จะต้องประกบและประกอบเข้ากับบุญกิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ เพื่อให้งานบุญข้อนั้น ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมาย พร้อมทั้งได้ผลถูกทาง



๔) อุบาสกธรรม ๗


พุทธศาสนิกชนจำเป็นต้องมีกิจวัตรเป็นหลักปฏิบัติ เรียกว่า อุบาสกธรรม ซึ่งมีอยู่ ๗ ประการคือ

๑.หมั่นไปวัดตามโอกาสที่เหมาะสม เพราะ การไปวัดจะได้พบปะกับพระภิกษุผู้ทรงศีลทรงคุณธรรมหรือได้พบกับมิตรที่สนใจในเรื่องธรรมเหมือนกับเรา ย่อมได้ชื่อว่าเป็นการคบหากัลยาณมิตร หรือเรียกว่ามิตรที่ดี ซึ่งจะส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้น ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า
ยํ เว เสวติ ตาทิโส ( ยังเว เสวะติ ตาทิโส ) คบคนเช่นไรก็เป็นคนเช่นนั้นแล

๒.หมั่นฟังธรรม เมื่อมีโอกาสควรใส่ใจในการฟังธรรมอยู่เสมอ เพราะการฟังธรรมเป็นเหตุให้ได้รู้สิ่งไม่รู้ ส่วนสิ่งที่รู้แล้วก็จะช่วยให้เข้าใจยิ่งขึ้น เช่น การไปวัดเพื่อฟังเทศน์ ฟังธรรมตามโอกาสต่าง ๆ ฟังการแสดงธรรมเทศนาทางวิทยุหรือทางโทรทัศน์ เป็นต้น

๓.พยายามสนใจศึกษาและรักษาศีลให้บริสุทธิ์ โดยนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศานามาใช้ปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิตให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจว่าตนเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง

๔.มีความเลื่อมใสในพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพราะพระสงฆ์แต่ละรูปได้เสียสละความสุขทางโลก เพื่อมาประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอันเป็นหนทางไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์และพระสงฆ์ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบต่ออายุของพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวตลอดไป

๕.ตั้งจิตให้เป็นกุศลในขณะฟังธรรม มิใช่ฟังธรรมโดยคิดในแง่ อคติ คิดขัดแย้ง พยายามฟังธรรมเพื่อก่อให้เกิดกุศล จิตใจจะได้เป็นสุข

๖.ทำบุญกุศลตามหลักและวิธีการของพระพุทธศาสนา ไม่แสวงบุญนอกคำสอนของพระพุทธเจ้า ควรประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

๗.ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาในทุก ๆ ด้าน ถ้าสามารถช่วยเหลือพระพุทธศาสนาได้ ด้วยวิธีการใดก็ควรขวนขวายเร่งรีบกระทำ อาทิ การตั้งชมรมพุทธศาสน์ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย จัดให้มีการอบรมเยาวชน บุคคลทั่วไป หรือ คนต่างชาติให้เข้าใจใน พระพุทธศาสนา



๔) มงคล ๓๘


มงคล ๓๘ คือ มูลเหตุแห่งความสุข จำนวน ๓๘ ข้อ ที่ช่วยส่งเสริมความสุข และความก้าวหน้า ทำให้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "มงคลชีวิต ๓๘" ซึ่งไม่ใช่แนวคิดที่พึ่งพาปาฏิหาริย์แต่อย่างใด ทว่าเป็นหลักปฏิบัติง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน

ในที่นี้ (ตามหนังสือแบบเรียน) จะกล่าวถึงเพียงบางข้อ



มงคลข้อที่ ๘ การรอบรู้ในศิลปะ
บาลี : สิปฺปญฺจ (สิปปัญจะ)
ความหมาย : มีความรู้ในการใช้มือปฏิบัติการงานต่างๆ สามารถประกอบวิชาชีพได้ ชีวิตไม่อับจน



มงคลข้อที่ ๒๖ การฟังธรรมตามกาล
บาลี : กาเลน ธมฺมสฺสวนํ (กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง)
ความหมาย : เมื่อมีโอกาสให้ฟังธรรมะ คิดทบทวนถึงประโยชน์แห่งหลักธรรม แล้วนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน



มลคงข้อที่ ๒๙ การได้เห็นสมณะ
บาลี : สมณานญฺจ ทสฺสนํ (สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง)
ความหมาย : สำหรับผู้ที่อยู่ในสมณเพศ ต้องเป็นผู้ที่สงบกาย วาจา และใจ



มงคลข้อที่ ๓๐ การสนทนาธรรมตามกาล
บาลี : กาเลน ธมฺมสากจฺฉา (กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา)
ความหมาย : แลกเปลี่ยนสาระความรู้กับผู้อื่น พูดด้วยวาจาที่ไม่โอ้อวด และมีความรู้จริงในสิ่งที่พูด