วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี พระนางเขมาเถรี

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๒
พุทธสาวก พุทธสาวิกา
พระอัญญาโกณฑัญญะ
พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี
พระนางเขมาเถรี


๒.ประวัติพุทธสาวก พุทธสาวิกา

พุทธสาวก พุทธสาวิกา เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มีจริยาวัตรที่ดีงาม ดำเนินชีวิตในทางที่ถูกต้อง อันเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน

ในสมัยพระพุทธองค์มีพุทธสาวกและพุทธสาวิกาหลายท่านที่มีจริยาวัตรงดงาม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พุทธศาสนิกชนที่ควรนำมาปฏิบัติเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต


๒.๑ พระอัญญาโกณฑัญญะ


๑) ประวัติ 


พระอัญญาโกณฑัญญะ เดิมชื่อโกณฑัญญะ เกิดในตระกูลพราหมณ์แห่งบ้านโทณวัตถุ กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นหนึ่งในจำนวนพรามหณ์ ๘ คน ที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงคัดเลือกให้ทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะหลังจากประสูติได้ ๕ วัน พราหมณ์ ๗ คนทำนายเป็นสองลักษณะว่า ถ้าเจ้าชายทรงอยู่ครองเพศฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ์ผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าเสด็จออกผนวชจะได้เป็นพระศาสดาเอกของโลก โกณฑัญญะคนเดียวที่ยืนยันว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะเสด็จออกผนวชและได้เป็นพระศาสดาแน่นอน

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช โกณฑัญญะจึงชวนบุตรพราหมณ์ ๔ คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ออกบวชตามไปคอยปรนนิบัติพระองค์ขณะพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (ปัจจุบันสถานที่นี้เรียกว่า ดงคศิริ) ด้วยหวังว่า หลังจากพระองค์ตรัสรู้แล้วจัดได้รับคำสั่งสอนจากพระองค์ แต่เมื่อเห็นว่าพระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาคือการอดอาหาร หันมาเสวยพระกระยาหารตามเดิม โกณฑัญญะและสหายทั้งสี่เข้าใจว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมากเสียแล้ว ไม่มีโอกาสตรัสรู้ตามที่ตั้งใจแน่ จึงพากันหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี


เมื่อพระสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงดำริหาผู้จะรับฟังธรรม ทรงเห็นว่าปัญจวัคคีย์มีพื้นฐานความรู้พอจะเข้าใจได้ จึงเสด็จดำเนินด้วยพระบาทจากพุทธคยาสถานที่ตรัสรู้มุ่งไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หลังจากทรงสามารถทำให้ปัญจวัคคีย์เชื่อว่าพระองค์ตรัสรู้ได้แน่แล้วและยินยอมฟังธรรม พระองค์จึงทรงแสดง "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" ให้ฟัง


ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานั้น โกณฑัญญะได้ "ธรรมจักษุ" (ดวงตาเห็นธรรม) คือ เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งตามสภาพเป็นจริงว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีการดับสลายเป็นธรรมดา" และบรรลุเป็นพระอรยบุคคลชั้นโสดาบัน

พระพุทธองค์ทรงได้เปล่งอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑัญฺโญ อัญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑัญฺโญ" แปลว่า "โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ" อาศัยพระอุทานว่า "อญฺญาสิ" ที่แปลว่า ได้รู้แล้วนั้น คำว่า "อญฺญา" จึงได้กลายมาเป็นคำนำหน้าชื่อท่านว่า "อัญญาโกณฑัญญะ" แต่บัดนั้นมา

ครั้นท่านโกณฑัญญะได้ธรรมจักษุแล้วก็ได้ทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานอนุญาตให้อุปสมบทด้วยวิธี "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" พระอัญญาโกณฑัญญะได้เป็นพระสงฆ์รูปแรกและเป็นปฐมสาวกในพระพุทธศาสนา

หลังจากพระอัญญาโกณฑัญญะอุปสมบทแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาเบ็ดเตล็ดโปรดท่านทั้งสี่ที่เหลือตามสมควรแก่อัธยาศัยให้ได้ดวงตาเห็นธรรม และทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาโดยลำดับ

ครั้นปัญจวัคคีย์ได้อุปสมบทครบทุกรูปแล้ว พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงอนัตลักขณสูตรโปรดท่านทังห้า ซึ่งได้บรรลุอรหัตผลในคราวเดียวกัน

ในเวลาต่อมา เมื่อพระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกออกไปประกาศพระศาสนา ปัญวัคคีย์ก็ได้จากริกไปบำเพ็ญศาสนกิจในถิ่นต่าง ๆ อันเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระอัญญาโกณฑัญญะนั้น ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาในฐานะเป็นเอตทัคคะในบรรดาพระภิกษุผู้มีรัตตัญญู คือ เป็นผู้ผ่านโลกมามาก มีประสบการณ์มาก

เมื่อพระอัญญาโกณฑัญญะเข้าสู่วัยชรามากแล้ว ท่านได้ทูลลาบรรดาพระบรมศาสดาไปจำพรรษาอยู่ ณ สระฉัททัตน์ ในป่าหิมพานต์ เป็นเวลา ๑๒ ปี ท่านนิพพานก่อนพุทธปรินิพพาน ส่วนพระเถระอื่นอีก ๔ รูปในคณะปัญจวัคคีย์ ไม่พบหลักฐานว่าได้นิพพานเมืองใด และ ณ สถานที่ใด แต่สันนิษฐานว่าคงนิพพานก่อนพุทธปรินิพพานทั้งหมด

๒) คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

๒.๑) เป็นผู้มีประสบการณ์มาก

พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็น "รัตตัญญู" หมายถึง ผู้ผ่านโลกมามาก มีประสบการณ์มาก ท่านมีความรอบรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นที่ปรึกษาที่ดีของผู้น้อยด้อยวัยวุฒิและคุณวุฒิ ดังจะเห็นว่าเป็นผู้นำสหายทั้งสี่ คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ในกรณีต่าง ๆ อยู่เสมอ คุณธรรมข้อนี้ควรยึดถือเอาเป็นแบบอย่างได้ พยายามศึกษาหาความรู้ หาประสบการณ์ที่ดีแก่ชีวิตเสมอ มิใช่ปล่อยให้กาลเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ จนกลายเป็นคนประเภท "แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน " ซึ่งทำประโยชน์อันใดแก่สังคมไม่ได้

๒.๒) เป็นคนสันโดษ

คือ พอใจในสภาพที่เป็นอยู่ ไม่ขวนขวายหาลาภสักการะ หรือชื่อเสียง ชอบชีวิตสงบอยู่ในป่า ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านกราบทูลลาพระพุทธเจ้าไปจำพรรษาอยู่ ณ สระฉัททันต์ ในป่าหิมพานต์ และอยู่ที่นั่นนานถึง ๑๒ ปี นาน ๆ จึงจะเข้ามาในเมืองสักครั้ง

๒.๓) ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านความประพฤติ 

จากข้อ ๒.๒) นั่นเอง แสดงว่าพระอัญญาโกณฑัญญะได้วาง "รูปแบบชีวิต" ที่ดีงามให้อนุชนประพฤติตาม นั่นคือ ความเป็นคนเคร่งครัดในระเบียบวินัย การมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ความจริงแล้วท่านไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธุดงค์ เช่น การอยู่ป่าเป็นประจำหรือเคร่งครัดในสิกขาบทก็ได้ เพราะท่านหมดกิเลสแล้ว พฤติกรรมของท่านเป็นไปในกรอบโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่ที่ท่านต้องเน้นความเคร่งครัดเป็นพิเศษอย่างนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง คือ ต้องการวางตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีงามนั่นเอง คุณธรรมข้อนี้ควรนำไปปฏิบัติอย่างยิ่ง เช่น ต่อไปภายหน้า แม้ว่าความเป็นอยู่จะไม่ยากจน มีเงินใช้สอยอย่างสบาย แต่ถ้าอยู่อย่างเรียบง่าย ประหยัด เพื่อเป็นตัวอย่างแก่บุตรหลานก็จะยิ่งดี

๒.๔) เป็นผู้เห็นการณ์ไกล

ตามประวัติพระอัญญาโกณฑัญญะได้ชักนำหลานชายชื่อปุณณมันตานีบุตรเข้ามาบวช เพราะเห็นว่าปุณณมันตานีบุตรมีวาทศิลป์เป็นเลิศ เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ถ้านำมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา จักเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ซึ่งก็เป็นไปตามที่ท่านคาดไว้ หลังจากบวชแล้วพระปุณณมันตานีบุตรเป็นผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย เป็นนักแสดงธรรมชั้นเยี่ยม จนได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็น "เอตทัคคะ (เลิศกว่าภิกษุอื่น) ในทางเป็นพระธรรมกถึก (ผู้แสดงธรรม)"


๒.๒ พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี


๑) ประวัติ 

พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ และเป็นพระกนิษฐภคินีของพระนางสิริมหามายาพระพุทธมารดา ดังนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีจึงเป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า

เมื่อพระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๗ วัน ในกาลต่อมาพระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงแต่งตั้งพระนางมหาปชาบดีโคตมีไว้ในตำแหน่งพระอัคคมเหสี พระนางได้ทรงเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะเป็นอย่างดี เหมือนเป็นพระโอรสของพระนางเอง พระนางมีพระโอรสพระองค์หนึ่งนามว่า "นันทะ" และพระราชธิดาพระองค์หนึ่งนามว่า "รูปนันทา"



พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้พนวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา พระนางได้แสดงความประสงค์จะบวชต่อพระพุทธเจ้าในคราวที่พระองค์เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดา และพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ แต่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงอนุญาตให้พระนางอุปสมบท เพราะยังมิเคยทรงอนุญาตให้สตรีอุปสมบทในพระพุทธศาสนา

พระนางมหาปชาบดีโคตมีแม้มิได้รับการอุปสมบทในคราวนั้นก็มิได้ทรงย่อท้อ ในเวลาต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองเวสาลี และประทับอยู่ที่ภูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน พระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมด้วยนางสากิยานีจำนวนมาก ได้ปลงพระเกศา และห่มผ้ากาสายะ เพื่อเป็นการแสดงเจตนาที่จะบวชอย่างแรงกล้า และได้เดินทางไปยังภูฏาคารศาลา เพื่อทูลขออุปสมบท


พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้แจ้งความประสงค์ให้พระอานนท์นำไปกราบทูลพระพุทธเจ้าเพื่อทรงอนุญาตให้พระนางพร้อมทั้งเหล่านางสากิยานีได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา พระอานนท์ได้ทูลอ้อนวอนหลายครั้ง พระพุทธเจ้าจึงทรงวางหลักปฏิบัติเป็นพิเศษสำหรับสตรีผู้ต้องการจะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งหลักปฏิบัตินั้นก็คือ "ครุธรรม" ๘ ประการ ดังนี้

๑.ภิกษุณี แม้บวชร้อยพรรษาแล้ว ก็ต้องกราบไหว้พระภิกษุแม้บวชวันเดียว
๒.ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้
๓.ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากพระภิกษุทุกกึ่งเดือน
๔.ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น ได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจ หมายถึง ระแวง สงสัย หรือเห็นพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง)
๕.ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัต (ระเบียบในการออกจากอาบัติ) ในสงฆ์สองฝ่าย คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ เป็นเวลา ๑๕ วัน
๖.ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์สองฝ่าย
๗.ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ ไม่ว่าจะโดยปริยายใด ๆ
๘.ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุ แต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้

พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงยินดีปฏิบัติตามครุธรรมทั้ง ๘ ประการ จึงได้รับการอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พร้องทั้งเหล่านางสากิยานี เมื่อพระนางได้อุปสมบทแล้ว ก็ได้เรียนกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงประทาน และปฏิบัติอย่างจริงจังจนได้บรรลุอรหัตผล แม้ภิกษุณีเหล่าสากิยานีที่อุปสมบทพร้อมกับพระนาง ก็ได้บรรลุพระอรหันต์เหมือนกัน

พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระนางว่าเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศกว่าภิกษุอื่นในทางรัตตัญญู คือ เป็นผู้มีประสบการณ์มาก

๒) คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

๒.๑) เป็นผู้มีความตั้งใจแน่วแน่ หรือแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ คือ เมื่อตั้งใจจะกระทำอะไรแล้ว จะไม่ละทิ้งความพยายามง่าย ๆ เห็นได้จากการที่พระนางตัดสินใจจะบวชเป็นภิกษุณีแต่ไม่ได้รับอนุญาตจากพระพุทธเจ้า พระนางก็ไม่ยอมละความพยายาม แม้พระพุทธองค์จะเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปแล้ว พระนางก็ตามไปกราบทูลขอพระกรุณาอีกครั้ง จนในที่สุดได้รับประทานอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุณีได้ตามปรารถนา

๒.๒) เป็นผู้มีความอดทนสูงยิ่ง จากคุณธรรมข้อที่ ๑ ทำให้พระนางมีความอดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก และอดทนที่จะปฏิบัติแม้ในเรื่องที่ยากยิ่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ จะเห็นได้จากการที่พระพุทธเจ้าทรงวางเงื่อนไขทั้ง ๘ ประการ (ครุธรรม ๘ ข้อ) ว่าถ้าพระนางปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง ๘ ประการได้ พระองค์จึงจะทรงประทานการอุปสมบทให้ พระนางก็ยินดีรับปฏิบัติโดยไม่ลังเลใจ และอดทนปฏิบัติตามเงื่อนไขจนครบสมบูรณ์

๒.๓) เป็นผู้มีคารวธรรมอย่างยิ่ง ว่าตามฐานะแล้วพระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็นพระมารดาเลี้ยงของพระพุทธองค์ แต่พระนางกลับไม่แสดงตนในฐานะของแม่พระพุทธองค์แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับวางตนเป็นสาวิกาที่ดี มีความเคารพในพระพุทธองค์อย่างยิ่ง น้อมรับฟังพระพุทธโอวาท และปฏิบัติตามอย่างว่าง่าย เพราะพระนางถือว่าการที่พระนาง "เลี้ยงรูปกาย" ของพระองค์มานั้น เทียบกับการที่พระพุทธเจ้าทรง "เลี้ยงกาย คือ ธรรม" ของพระนางมิได้ พระพุทธเจ้าจึงอยู่ในฐานะเป็น "พระบิดา" ของพระนาง


๒.๓ พระเขมาเถรี



๑) ประวัติ 

พระเขมาเถรี หรือ พระนางเขมา เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสาคละ แห่งสาคลนคร ในมัทรัฐ เมื่อเจริญวัยแล้วเป็นมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ พระนางเขมาทรงมีพระรูปโฉมสวยงาม พระฉวีวรรณผุดผ่อง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระนางทรงหยิงในพระรูปสมบัติเป็นอันมาก

ในตอนแรกพระนางเขมามิได้มีความสนพระทัยในพระพุทธศาสนามากนัก ทั้ง ๆ ที่พระเจ้าพิมพิสารพระสวามีของพระนางทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี คือ ทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา รวมถึงได้ทรงถวายปัจจัยอุปถัมภ์ภิกษุสงฆ์ ณ พระวิหารเวฬุวัน อยู่เป็นประจำ


ในเวลาที่พระพุทธเจ้าประทับอยู๋ ณ พระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ พระนางเขมาได้ทรงทราบว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเรื่องโทษเกี่ยวกับร่างกาย จึงทรงเกรงว่าถ้าพระนางเสด็จไปเฝ้า พระพุธองค์อาจจะทรงชี้โทษเกี่ยวกับพระรูปโฉมของพระนางก็ได้ จึงไม่ยอมเสด็จไปเฝ้าพระพุงธอค์เลย แม้แต่พระวิหารเวฬุวันซึ่งพระเจ้าพิมพิสารทรงสร้าง พระนางก็มิได้เสด็จไปดู พระเจ้าพิมพิสารจึงมีพระดำริหาอุบายที่จะทำให้พระนางเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ ในที่สุดได้ทรงมีพระบัญชาให้กวีแต่งเพลงพรรณาความงามของพระวิหารเวฬุวัน แล้วขับกล่อมให้พระนางเขมาฟัง เพื่อโน้มน้าวพระทัยให้อยากเสด็จไปยังพระวิหารเวฬุวัน อุบายวิธีของพระเจ้าพิมพิสารได้ผลตามพระราชประสงค์ พระนางเขมาได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตเสด็จไปชมวัดเวฬุวัน เมื่อเสด็จมาชมวัดทั่วแล้ว ราชบุรุษก็ได้นำพระนางเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ประสงค์จะแสดงธรรมให้เหมาะแก่อุปนิสัยของพระนาง ซึ่งทรงหลงไหลในความสวยงามของตน จึงได้ทรงเนรมิตรร่างสตรีที่สวยงามประจุดนางฟ้า ให้นั่งถวายงานพัดอยู่ใกล้ ๆ พระองค์


พระนางเขมาทอดพระเนตรเห็นรูปสตรีสวยงามนั้นแล้ว ทรงดำริว่าสตรีนั้นสวยงามเหลือเกิน แม้ความสวยของพระนางเองก็เทียบไม่ได้ ในขณะที่พระนางทรงเพลินชมความสวยงามของสตรีนั้นอยู่ พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงให้สตรีนั้นมีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับวัย จากวัยสาว ไปสู่วัยกลางคน วัยแก่ซึ่งมีผิวหนังเหี่ยวย่น ฟันหัก จนถึงล้มกลิ้งเกลือกไปมาเป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก


พระนางเขมาได้ทอดพระเนตรเห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้โดยลำดับ และทรงนึกย้อนเทียบกับพระวรกายของพระนางเองว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าพระนางพร้อมที่จะรับฟังพระธรรมเทศนาแล้ว จึงได้ตรัสคาถาแสดงธรรมให้ตรงพอดีกับจังหวะที่พระนางกำลังมีพระราชดำริข้างต้นนั้น ความว่า "ผู้ที่ถูกราคะ คือ ความกำหนัดยินดีครอบงำจิตใจ ย่อมจะเป็นไปตามกระแสของกิเลสนั้น ซึ่งตนได้สร้างขึ้นมาเอง เหมือนแมงมุมวิ่งวนอยู่กับสายใยที่มันทำไว้เองฉะนั้น แต่ผู้ฉลาดตัดกระแสราคะละกามสุขได้แล้ว ย่อมดำเนินชีวิตไปโดยไม่มีความติดพันห่วงใย"

เมื่อพระนางเขมาได้ทรงสดับรับฟังพระธรรมเทศนาจบแล้วก็ได้บรรลุอรหัตผล และเป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ ประการ

(ปฏิสัมภิทา คือ มีปัญญา หรือความรู้แตกฉาน ๔ ประการได้แก่ ๑ แตกฉานในอรรถ (ใจความ) ๒ แตกฉานในธรรม (ความดีงาม) ๓ แตกฉานในนิรุกติ (ภาษา) ๔ แตกฉานในปฏิภาณ (การยืนยันโดยสุจริตใจ)

จากนั้นทรงถวายบังคมลาพระพุทธเจ้ากลับพระราชวัง พระนางได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตพระเจ้าพิมพิสารเพื่อผนวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา พระเจ้าพิมพิสารได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต และทรงนำพระนางไปยังสำนักของภิกษุณีเพื่อทำการอุปสมบท

เมื่อพระนางเขมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีแล้ว ปรากฏเกียรติคุณว่าทรงเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม พระพุทธเจ้าได้ทรงแต่งตั้งพระเขมาเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ทรงมีปัญญามากฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ และเป็นอัครสาวิกาเบื้องขวา อีกทั้งทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

๒) คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

๒.๑) มีปัญญามาก คุณสมบัติข้อนี้ของพระนางเขมาเถรีเด่นชัดมาก จนกระทั่งได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุณีอื่น และพระนางได้รับแต่งตั้งเป็นพระอัครสาวิกาเบื้องขวาฝ่ายภิกษุณี คู่กับพระอุบลวรรณาเถรีซึ่งเป็นพระอัครสาวิกาเบื้องซ้าย ในประวัติไม่มีบอกว่าพระนางศึกษาเล่าเรียนจากใครหรือที่ใด รู้แต่ว่าเป็นผู้มีปัญญามาก แสดงว่ากว่าจะประสบความสำเร็จถึงขั้นนี้ พระนางต้องได้ขวนขวายศึกษาเล่าเรียนมาด้วยความขยันหมั่นเพียรอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อเราอยากจะมีปัญญามากเช่นพระเขมาเถรี เราก็พึงขยันหมั่นเพียรศึกษาหาความรู้

๒.๒) มีปฏิภาณ ปฏิภาณ คือ การโต้ตอบฉับไว และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี คนมีความรู้มากไม่แน่ว่าจะมีปฏิภาณดีเสมอไป แต่ถ้าใครมีความรู้มากด้วยมีปฏิภาณด้วยนับว่าเป็นคนโชคดียิ่ง พระนางเขมาเถรีทรงมีคุณสมบัติข้อนี้สมบูรณ์ ดังครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนธิโกศลได้เข้าไปซักถามปัญหาที่ลึกซึ้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่ตอบให้เข้าใจได้ยาก แต่ด้วยปฏิภาณไหวพริบพระเขมาเถรีได้โต้ตอบพร้อมยกอุปมาอุปไมยให้พระเจ้าปเสนธิโกศลสดับรับฟังจนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งนี้ปฏิภาณมิใช่เป็น "พรสวรรค์" เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ฝึกฝนได้ ถ้าเราพยายามฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ ก็สามารถมีปฏิภาณได้เช่นเดียวกัน

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓ หน่วยการเรียนรู้ที่ ๒ พุทธประวัติ

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓ 
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๒ 
เรื่องที่ ๑ พุทธประวัติ 


หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วก็ทรงมีพระกรุณาสังสอนสัตว์โลกให้ปฏิบัติตามจนสามารถละความทุกข์ สร้างความสุขแก่ตนเองและสร้างสันติสุขแก่สังคม
การศึกษาพุทธประวัติ ประวัติพระสาวก และชาดกต่าง ๆ จึงสะท้อนว่าทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยความเพียรและสติปัญญา จริยาวัตรอันดีงามและคุณธรรมของแต่ละท่านเป็นผลจากการฝึกฝนและพัฒนาตนในทางที่ถูกต้องดีงาม ซึ่งชาวพุทธควรดำเนินตาม เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและสังคมต่อไป

๑.พุทธประวัติ


๑.๑ การแสดงปฐมเทศนา


หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงเสวยวิมุตติสุขอยู่ภายใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ และต้นไม้ต่าง ๆ ในปริมณฑล ๔ สัปดาห์ พอขึ้นสัปดาห์ที่ ๕ ทรงพิจารณาเห็นว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นั้นลึกซึ้งคัมภีรภาพมาก ยากที่บุคคลผู้ติดอยู่ใน "อาลัย" (กิเลส คือ โลภ โกรธ หลง) จะเข้าใจได้ เบื้องแรกไม่ทรงคิดจะเสด็จออกไปสอนใคร เกรงว่าจะเหนื่อยเปล่า แต่เพราะพระมหากรุณาสงสารสัตว์โลกที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ ซึ่งบุคคลแรกที่ทรงมีพระประสงค์จะแสดงธรรมโปรด คือ อาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร แต่เมื่อทรงทราบด้วยพระญาณว่า ท่านทั้งสองได้สิ้นชีพไปก่อนหน้านั้น ๗ วัน จึงตัดสินพระทัยจะไปโปรดปัญจวัคคีย์ อันมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า ซึ่งเคยอุปัฏฐากรับใช้พระองค์ขณะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา แต่เมื่อเห็นพระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา จึงพากันหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี (ปัจจุบันคือเมืองสารนาถ รัฐอุตรประเทศ)
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอธิบายให้ปัญจวัคคีย์ทราบว่าพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว และปัญจวัคคีย์ยินยอมรับฟัง พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงปฐมเทศนาที่เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" ให้ฟัง มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้



ขั้นที่ ๑ ทรงชี้ว่ามีทาง "สุดโต่ง" ๒ ทาง ที่บรรพชิตไม่พึงปฏิบัติ คือ การหมกมุ่นในกาม อันเป็นทางหย่อนเกินไป และการทรมาณตนให้ลำบาก อันเป็นทางตึงเกินไป ซึ่งการกระทำทั้ง ๒ อย่างนี้ ไม่สามารถทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างถาวร

ขั้นที่ ๒ ทรงแสดง "ทางสายกลาง หรือ มัฌชิมาปฏิปทา" คือ อริยมรรคมีองค์แปดประการ ได้แก่ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ สติชอบ และสมาธิชอบ

ขั้นที่ ๓ ทรงแสดง "อริยสัจสี่ประการ" คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อย่างพิศดาร และครบวงจร ว่าพระองค์ทรงตรัสรู้สิ่งเหล่านี้อย่างไร

ขั้นที่ ๔ เป็นผลจากการแสดงธรรมจบลง อาจารย์ผู้รวบรวมคัมภีร์นำมาผนวกหลังจากฟังเทศน์จบลง โกณฑัญญะได้ "ดวงตาเห็นธรรม" คือ เข้าใจแจ่มแจ้งว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีการดับสลายเป็นธรรมดา" พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า "โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ" (อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ)
โกณฑัญญะได้ทูลขอบวช พระพุทธองค์ก็ประทานการบวชให้ด้วยการอุปสมบท ที่เรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" ท่านอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นพระสาวกรูปแรกในพระพุทธศาสนา

ขั้นที่ ๕ กล่าวถึงเทพทั้งหลายตั้งแต่ภุมมเทวดา ได้ป่าวร้องบอกต่อ ๆ กันไปจนถึงหมู่พรหมว่า พระพุทธเจ้าทรงหมุนกงล้อคือพระธรรม ที่ไม่มีใครไม่ว่าสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม สามารถหมุนกลับได้
จากพุทธประวัติตอนนี้มีประเด็นที่พึงวิเคราะห์วิจารณ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งดังต่อไปนี้



๑.เมื่อพระพุทธองค์ทรงมีพระดำริจะไม่เสด็จไปสอนใครในชั่วขณะจิตหนึ่ง ท้าวสหัมบดีพรหมได้มาอัญเชิญให้พระพุทธองค์เสด็จไปสอน โดยกล่าวว่า "สัตว์มีธุลีในดวงตาน้อยยังมีอยู่ เมื่อไม่ได้ฟังธรรม จักเสื่อมจากประโยชน์ที่พึงได้" ความหมายของท้าวสหัมบดีพรหมก็คือ บุคคลผู้มีพื้นความรู้ความสามารถจะฟังเข้าใจยังมีอยู่
พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเปรียบเทียบกับดอกบัวทั้ง ๓ เหล่า คือ (ดอกอุบล ดอกปทุม และดอกบุณฑริก) ซึ่งเจริญงอกงามในสระ ๓ ระดับ และทรงเห็นว่าสัตว์โลกที่มีระดับสติปัญญาจะเข้าใจพระธรรมมีอยู่จริง จึงได้ทรงรับคำอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม (ตามหลักฐานในพระไตรปิฏกเล่มที่ ๔ ข้อที่ ๙ หน้าที่ ๑๑ มีบัว ๓ ระดับเท่านั้น แต่ต่อมาพระอรรถกถาจารย์ได้เพิ่มเข้ามาอีกระดับหนึ่ง เรียกว่า "ดอกบัว ๔ เหล่า")
ข้อความตรงนี้เป็นบุคลาธิษฐาน ถอดเป็น "ภาษาธรรม" หรือ "ธัมมาธิษฐาน" ว่าพรหมเป็นสัญลักษณ์แทนพรหมวิหารธรรมอันมีเมตตากรุณาเป็นหลัก การที่ท้าวสหัมบดีพรหมมาเชิญ หมายถึง พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาสงสารสัตว์โลกที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกไปโปรด การเสด็จออกไปโปรดสัตว์ของพระพุทธองค์เป็นความเคลื่อนไหวด้วยพระมหากรุณาอย่างใหญ่หลวง พอ ๆ กับพระพรหมที่คนสมัยนั้นนับถือกันมาอัญเชิญเลยทีเดียว



๒.การที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะไปสอนปัญจวัคคีย์ให้ได้ แม้พบคนอื่นที่พึงสอน เช่น อุปกาชีวก ก็มิได้สอน เนื่องจากมีเหตุผล ดังนี้
ทรงต้องการแก้ความเข้าใจผิดของปัญจวัคคีย์ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ว่าการทรมานตัวเองด้วยการอดอาหารมิใช่ทางบรรลุมรรคผลอย่างที่พวกเขาเข้าใจ อริยมรรคมีองค์แปดเท่านั้นที่จะทำให้บรรลุถึงนิพพานได้
ทรงต้องการสักขีพยานแห่งการตรัสรู้ เมื่อทรงแสดงธรรมให้ปัญจวัคคีย์บรรลุธรรมแล้ว เท่ากับว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ผู้ที่ตรัสรู้ตามเป็นสักขีพยาน ยืนยันว่าแนวทางของพระพุทธองค์สามารถนำพาผู้ปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์ได้จริง



๓.เหตุที่พระธรรมเทศนานี้มีชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร (สูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อ คือ พระธรรม) เป็นการเปรียบเทียบกับทางโลก คือ พระมหาราชผู้ยิ่งใหญ่เมื่อต้องการเป็นใหญ่เหนือแว่นแคว้นทั้งหลาย จะทำพิธีอัศวเมธ ปล่อยม้าอุปการไปยังเมืองต่าง ๆ เมื่อม้าผ่านไปยังเมื่องใด ถ้าเจ้าเมืองนั้นเกรงบารมีก็จะส่งเครื่องบรรณาการมายอมสยบเป็นเมืองขึ้น แต่ถ้าไม่ยินยอมก็จะฆ่าม้านั้นเสีย และพระมหาราชพระองค์นั้นก็จะยกทัพไปปราบผู้แข็งข้อ ล้อรถศึกของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ผ่านไปในทิศทางใด ยากที่ใคร ๆ จะต้านทานได้ฉันใด เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมอันว่าด้วยอริยสัจสี่ประการที่ไม่เคยมีประกาศมาก่อน เท่ากับทรงหมุนกงล้อแห่งธรรมที่ไม่มีใครคัดค้านได้ ล้อแห่งธรรมนี้หมุนไปยังทิศทางใด ก็จะขจัดทำลายอวิชชาออกจากจิตใจผู้คน ให้ได้พบกับแสงสว่างแห่งชีวิตในที่สุดฉันนั้น เพราะฉะนั้น พระธรรมเทศนานี้ จึงเรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

๑.๒ โอวาทปาฏิโมกข์


เมื่อส่งสาวกแยกย้ายไปประกาศพระพุทธศาสนายังแว่นแคว้นต่าง ๆ แล้ว พระองค์เสด็จโดยลำพังไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ถวายป่าไผ่สร้างวิหารที่ประทับของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ เรียกว่า "วัดพระเวฬุวัน" อันเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
ครั้นพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะ ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ พระสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ รูป ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดพระเวฬุวันโดยมิได้นัดหมายกัน ท่านเหล่านั้นเป็นเอหิภิกขุ (พระสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าประทานอุปสมบทให้) เป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา พระพุทธองค์ทรงเห็นการประชุมใหญ่ของสงฆ์ ประกอบด้วยองค์ ๔ (จาตุรงคสันนิบาต) จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ หรือ พระโอวาทสำคัญ มีทั้งหมด ๑๓ หัวข้อธรรม ซึ่งสรุปประเด็นได้ ดังนี้



๑.ทรงแสดงถึงอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน
๒.ทรงแสดงถึงหลักการทั่วไปของพระพุทธศาสนา ๓ ประการ คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้พร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
๓.ทรงแสดงถึงวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยเน้นการไม่ว่าร้ายคนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น ใช้ขันติธรรม และสันติวิธีในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
๔.ตรัสถึงคุณสมบัติของผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่น จะต้องเป็นผู้เคร่งครัดในระเบียบข้อบังคับ อยู่ในที่สงบสงัด รู้ประมาณโภชนาการ และฝึกจิตให้มีสมาธิอย่างสูงยิ่ง
เหตุการณ์ครั้งนี้ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงบัญญัติให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง คือ วันมาฆบูชา และได้ถือปฏิบัติมาจนถึงบัดนี้

จากพุทธประวัติตอนนี้มีข้อพิจารณาและวิเคราะห์ได้ ดังนี้



๑.ถามว่าเพราะเหตุใดภิกษุจำนวนมากถึง ๑,๒๕๐ รูป จึงมาประชุมกันในวันนี้ และการมาประชุมกันนั้น มาโดยมิได้นัดหมายกันมาก่อนจริงหรือ คำตอบที่น่าเป็นไปได้ก็คือ พระภิกษุเหล่านั้น พระพุทธองค์ทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนายังแว่นแคว้นต่าง ๆ มานานพอสมควร (๔ เดือนหลังจากประกาศพระพุทธศาสนา) เมื่อไปทำงานได้ผลหรือมีอุปสรรคอะไร ก็ประสงค์จะมาเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อรายงานให้ทรงทราบ เมื่อได้ทราบว่าพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่วัดพระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ จึงเดินทางมาเพื่อรอเฝ้าพระพุทธองค์ ประจวบกับวันนั้นเป็นวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งมีแสงสว่างเหมาะสำหรับการประชุมใหญ่ ต่างรูปต่างก็เดินทางเข้ามายังวัดพระเวฬุวัน โดยมิได้นัดหมายกันมาก่อน ซึ่งเป็นเหตุผลที่เป็นไปได้
การที่ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เท่ากับเป็นการปัจฉิมนิเทศ สรุปทบทวนผลงานของธรรมทูตชุดแรก และปฐมนิเทศธรรมทูตคณะใหม่ที่จะส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป สังเกตได้จากเนื้อหาของโอวาทที่ตรัสในโอกาสนี้เป็นสำคัญ เพราะทรงเน้นอุดมการณ์ หลักการ คุณสมบัติของผู้เผยแผ่ และเทคนิควิธีการเผยแผ่

**หมายเหตุจากพระอาจารย์ ข้อมูลในชุดนี้ในหนังสือกล่าวผิดโดยไม่ได้ดูข้อมูลที่ถูกต้องเท่าที่ควร พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูปนี้ มาจากบริวารของเหล่าพระที่เคยเป็นชฎิล ๓ พี่น้อง คือ พระอุรุเวลกัสสปะ พระนทีกัสสปะ และพระคยากัสสปะ ก่อนท่านทั้งสามจะบวชมีบริวารทั้งหมดรวมกัน ๑,๐๐๐ คน และบริวารเหล่านั้นก็ตามมาบวชด้วยกันทั้งหมด อีก ๒๕๐ รูปนั้น มาจากเหล่าบริวารของพระอัครสาวก คือ พระมหาโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร ที่ก่อนจะมาบวช ได้ชักชวนอาจารย์สัญชัยแต่ไม่สำเร็จ จึงชักชวนพรรคพวกบริวารของตนที่สามารถชวนมาได้ ๒๕๐ คนมาบวชด้วย นี่จึงเป็นจำนวนพระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ที่มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย



๒.น่าสังเกตว่าในวันเพ็ญเดือนสามนี้เอง พระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหันต์ และจากนั้นไม่นาน พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งให้พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย ทำให้บางท่านคิดว่าพระพุทธองค์ทรงเห็นแก่หน้า หรือทรงลำเอียงที่ไม่แต่งตั้งพระเถระผู้ใหญ่อื่น ๆ ซึ่งมีอยู่มาก แต่กลับแต่งตั้งพระนวกะเพิ่งบวชใหม่มาเพียงสองสัปดาห์กว่า
ข้อนี้แสดงว่าพระองค์ทรงเห็นว่างานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลายเป็นสิ่งสำคัญ พระองค์ทรงมองหา "บุคคล" ที่จะช่วยทำงาน ทรงเห็นว่าทั้งสองท่านนี้เป็นผู้ที่เหมาะสมกับงานนี้ เพราะพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นพราหมณ์มาก่อน มีความเชียวชาญไตรเพทอย่างดี
นอกจากนี้ ยังเป็นศิษย์สำนักสัญชัยเวลัฏฐบุตรมาก่อน สำนักนี้เป็นสำนักปรัชญาที่สอนวิธีการโต้เถียงหักล้างกันด้วยเหตุผล การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคแรก ๆ ต้องการผู้ที่ "รู้เขา รู้เรา" คือ มีความรู้ลิทธิศาสนาของคนสมัยนั้นดี และมีความแตกฉานในศาสนาของตนเองอย่างลึกซึ้งด้วย จึงจะสามารถโต้เถียงหักล้างคำสอนของพวกพราหมณ์ได้
การที่พระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งให้พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย ก็เพราะทรงต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั่นเอง หาใช่เพราะทรงลำเอียง หรือทรงเห็นแก่หน้าใคร

**หมายเหตุจากพระอาจารย์ หัวข้อโอวาทปาฏิโมกข์ แต่เนื้อหาในหนังสือดันวิเคราะห์อัครสาวก นี่มันคืออะไร? เป็นคนละประเด็นกันเลย

๑.๓ พุทธประวัติจากพระพุทธรูปปางต่าง ๆ 



พระพุทธรูปสำคัญปางต่าง ๆ ได้สร้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้าในโอกาสต่าง ๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระพุทธคุณและเป็นแบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิตประจำวันของเหล่าชาวพุทธ ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียง ๔ ปาง ดังนี้

๑) ปางมารวิชัย


พระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งในท่าสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางที่พระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นดิน จำลองเหตุการณ์ก่อนตรัสรู้ที่พระองค์ได้ทรงสู้รบกับพญามาร และเสนามาร ซึ่งมีเรื่องย่อว่า ขณะพระองค์ทรงนั่งสมาธิเข้าฌาณอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ทรงทำฌาณให้เป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาอยู่นั้น พญาวสวัตดีมารได้มาขับไล่ให้พระองค์ลุกจากบัลลังก์ (ที่นั่ง) และอ้างว่าบัลลังก์นี้เป็นของตน เมื่อพระองค์แย้งว่าบัลลังก์เป็นของพระองค์ เพราะทรงรับหญ้าคากุสะแปดกำจากนายโสตถิยะมาปูเป็นอาสนะ พญามารได้บอกว่าถ้าท่านยืนยันว่า บัลลังก์นี้เป็นของท่านจงอ้างพยานมา พระองค์ทรงชี้พระดรรชนีลงยังพื้นดิน และตรัสว่า "ขอให้วสุนธราจงเป็นพยาน" ทันใดนั้นพระแม่ธรณีได้ผุดขึ้นมาจากแผ่นดิน และบีบมวยผมบันดาลให้เกิดกระแสน้ำที่เชี่ยวกราดไหลท่วมพัดพากองทัพพญามารจนพ่ายแพ้ไปในที่สุด ชาวพุทธจึงได้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้น เรียกว่า "ปางมารวิชัย" (อ่านว่า มา-ระ-วิ-ชัย) แปลว่า "ชนะมาร"

พญามารในที่นี้เป็นสัญลักษณ์แทนกิเลสใหญ่ ๆ ๓ ประการ คือ โลภะ โมหะ และโทสะ เสนามารเป็นสัญลักษณ์แทนกิเลสน้อยใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับกิเลสใหญ่ทั้ง ๓ นั้น การรบกับพญามาร และเสนามารก็คือทรงต่อสู้กับอำนาจของกิเลสเหล่านั้น
พระแม่ธรณี หมายถึง บารมีทั้งสิบที่ทรงบำเพ็ญมา การอ้างพระแม่ธรณีก็คือทรงอ้างถึงคุณงามความดีที่ทรงบำเพ็ญมา เป็นกำลังใจในการต่อสู้กับอำนาจของกิเลสนั่นเอง เพราะทรงมีบารมีเต็มเปี่ยม พระองค์จึงทรงสามารถเอาชนะกิเลสทั้งปวง และบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ในที่สุด

๒.ปางลีลา



พระพุทธรูปปางลีลา เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกส้นพระบาทขวาสูงขึ้นจากพื้น ปลายพระบาทยังอยู่ติดกับพื้น อยู่ในท่าจะก้าวเดิน พระหัตถ์ขวาอยู่ในท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระ ป้องฝ่าพระหัตถ์ไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน (บางองค์ยกพระหัตถ์ขวาก็มี)

อันที่จริง อิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นอิริยาบถหรือการเคลื่อนไหวประจำวันของพระพุทธองค์ การที่ท่านสร้างพระพุทธรูปปางลีลาขึ้นเป็นพิเศษนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่ากิริยาอาการเยื้องย่างเสด็จดำเนินของพระพุทธองค์นั้นงดงามยิ่งนัก เป็นที่ศรัทธาปสาทะของผู้พบเห็นอย่างยิ่ง


พระพุทธรูปปางลีลานี้เกี่ยวโยงกับพระพุทธรูปปางเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ กล่าวคือ หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แสดงธรรมโปรด (อดีต) พุทธมารดาตลอดสามเดือนแล้ว กเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กล่าวกันว่าพระพุทธลีลาตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ครั้งนั้นงดงามยิ่งกว่าคราใด แม้พระสารีบุตรพระอัครสาวก ก็ยังได้กล่าวคาถาชื่นชมพุทธลีลาครั้งนี้ด้วยความเบิกบานใจว่า "พระพุทธเจ้าผู้พระสิริโสภาคย์อันงามปานนี้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยินคำบอกเล่าจากใคร ๆ พระบรมศาสดาผู้มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้ ได้เสด็จลงจากดาวดึงส์สวรรค์ สู่พื้นแผนดินแล้ว"


พระพุทธรูปปางลีลานอกจากจะบ่งบอกถึงความงามอันอ่อนช้อย น่าเลื่อมใสแห่งพระอิริยาบถการเคลื่อนไหวของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการเคลื่อนไหวด้วยพระมหากรุณาธิคุณเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏ โดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยพระวรกายอีกด้วย

๓) ปางปฐมเทศนา 



พระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา เป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิ พระหัตถ์ขวา ยกขึ้นจีบนิ้วเป็นรูปวงกลมในท่าแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา (บางแห่งให้พระหัตถ์ซ้ายยกประคองพระหัตถ์ขวา) มีธรรมจักรอยู่เบื้องหลัง และกวางหมอบอยู่เบื้องหน้า



เหตุการณ์เบื้องหลังพระพุทธรูปปางนี้ คือ หลังจากตรัสรู้แล้วพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินด้วยพระบาทไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ทรงแสดงธรรมมจักกัปปวัตนสูตร อันว่าด้วยอริยสัจสี่ประการแก่ปัญจวัคคีย์โดยมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า

การแสดงปฐมเทศนานี้เรียกอีกอย่างว่า ทรงหมุนกงล้อธรรมชาติซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก และล้อพระธรรมที่พระองค์ทรงหมุนนี้ ไม่มีใครยับยั้งหรือหยุดได้ หมุนไป ณ ทิศทางใดก็จะขจัดความมือบอดคืออวิชชาจากใจชาวโลกทั้งมวลให้เข้าใจแจ่มแจ้งซึ่งความจริงแห่งชีวิต

กวางหมอบเบื้องหน้าพระพุทธองค์นอกจากจะเป็นเครื่องหมายว่าพระองค์ได้ทรงแสดงธรรม ณ สวนกวางแล้ว ยังเป็นตัวแทนของเวไนยสัตว์ที่รับคำสอนของพระพุทธองค์ เริ่มต้นจากพระปัญจวัคคีย์ อันมีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นประมุขเป็นต้นไป ตลอดจนพุทธบริษัททั้งหลายในภายหลัง

๔) ปางประจำวันเกิด



การที่สังคมไทยเป็นสังคมชาวพุทธ จึงทำให้เกิดมีคติความเชื่อถือในการบูชาพระประจำวันเกิดของตนขึ้นมาอย่างหนึ่ง นอกเหนือไปจากการเคารพบูชาพระพุทธรูปทั่ว ๆ ไป โดยเชื่อว่าถ้าได้บูชาพระประจำวันเกิด ก็จะยิ่งทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลมากขึ้นไปอีก พระปางประจำวันเกิดแต่ละปางใน ๑ สัปดาห์ มีดังนี้

วันอาทิตย์
ปางถวายเนตร



พระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ข้างหน้า พระหัตถ์ขวาซ้อนเหลื่อมอยู่บนพระหัตถ์ซ้าย เป็นเหตุการณ์หลังตรัสรู้ใหม่ ๆ พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากโคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงจ้องต้นพระศรีมหาโพธิ์ไม่กระพริบพระเนตรเป็นเวลา ๗ วัน สถานที่นี้เรียกว่า "อนิมิสเจดีย์"

วันจันทร์ 
ปางห้ามสมุทร



พระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน ยื่นพระหัตถ์ทั้งสองออกไปข้างหน้า แบพระหัตถ์ข้างหน้าเสมอพระอุระ จำลองเหตุการณ์ขณะพระพุทธเจ้าประทับที่โรงไฟเมื่อเสด็จไปโปรดชฏิล ๓ พี่น้อง แล้วเกิดฝนตกหนัก น้ำหลากมาท่วมบริเวณที่ประทับอยู่ พวกชฏิล ๓ พี่น้องหนีขึ้นไปบนที่ดอน พระพุทธเจ้ามิได้เสด็จหนีน้ำไป เช้าขึ้นมาเมื่อพวกชฏิลตามหาพระพุทธองค์ ได้พบพระองค์ทรงยืนอยู่ภายในวงล้อมของน้ำที่ท่วมท้นเป็นกำแพงรอบด้าน เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก
หมายเหตุ บางมติว่า พระปางห้ามญาติเป็นพระประจำวันจันทร์

วันอังคาร
ปางไสยาสน์


พระพุทธรูปในพระอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียร มีพระเขนยรองรับ เรียกอีกอย่างว่า "ปางโปรดอสุทินราหู" เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ครั้งนั้นอสุทินราหูจอมอสูรสำคัญว่าตนมีร่างกายใหญ่โต แสดงความกระด้างกระเดื่องไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงมีพระประสงค์ลดทิฐิของจอมอสูร จึงทรงเนรมิตรกายจนใหญ่กว่า อสุทินราหูจึงยอมอ่อนน้อม

วันพุธ (กลางวัน)
ปางอุ้มบาตร



พระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตร เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติกรุงกบิลพัสดุ์ รุ่งขึ้นอีกวันจากวันเสด็จไปถึงในเวลาเช้า พระพุทธองค์ก็ทรงบาตรพาภิกษุสงฆ์ออกไปโปรดสัตว์ เสด็จพุทธดำเนินไปตามถนนในกรุงกบิลพัสดุ์

วันพุธ (กลางคืน)
ปางป่าลิไลยก์



พระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาวางหงาย เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งพระภิกษุเมืองโกสัมพีทะเลาะกันขนานใหญ่ พระพุทธองค์เสด็จไปห้ามปราม แต่ไม่มีใครฟัง พระองค์จึงเสด็จหลีกไปประทับอยู่ในป่าโดยมีพญาช้างปาลิเลยยกะและลิงคอยเฝ้าปรนนิบัติ

วันพฤหัสบดี
ปางสมาธิ



พระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายบนพระเพลา โดยพระหัตถ์ขวาประทับพระหัตถ์ซ้าย เป็นเหตุการณ์เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรูปอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์

วันศุกร์
ปางรำพึง



พระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานกัน ยกขึ้นทาบพระอุระ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย เป็นเหตุการณ์เมื่อทรงรำพึงถึงธรรมะที่ตรัสรู้ว่ามีความลึกซึ้งคัมภรีภาพ ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ ก็ทรงมีพระทัยน้อมไปในความเป็นผู้ขวานขวายน้อย (คือ ไม่อยากไปสอนใคร) แต่เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมมาทูลอัญเชิญ จึงตัดสินพระทัยไปเทศนาสั่งสอนประชาชน

วันศุกร์
ปางนาคปรก



พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเหนือขนดพญานาคที่มาขดให้ประทับ และแผ่พังพานบังลมและฝนให้ เป็นเหตุการณ์หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ขณะประทับใต้ต้นมุจลินทร์ (ต้นจิก) มีฝนตกพรำ ๆ ๗ วัน เมื่อฝนหยุดแล้ว พญานาคได้จำแลงกายเป็นมานพหนุ่ม ยืนประคองอัญชลีอยู่ข้าง ๆ



วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓ ความสำคัญของพระพุทธศาสนา

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๑
เรื่องที่ ๘ ความสำคัญของพระพุทธศาสนา

๓.๑ พระพุทธศาสนาในฐานะที่ช่วยสร้างสรรค์อารยธรรมให้แก่โลก



พระพุทธศาสนามีส่วนสำคัญในการจัดรูปแบบการปกครองที่ดี การจัดระเบียบสังคม และสร้างสรรค์อารยธรรมให้แก่โลก ดังนี้

๑) ด้านการปกครอง 

หลักธรรมสำหรับผู้ปกครองบ้านเมือง ได้แก่



๑.๑) การปกครองระบอบราชาธิปไตย สังคมใดปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย หรือสมบูรณาญาสิทธิราช ที่มีพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธ์ขาดในการปกครองแต่เพียงผู้เดียว พระพุทธศาสนาได้เสนอหลักคำสอนที่เน้นให้ผู้ปกครองมีคุณธรรม เป็นผู้นำที่ดี เพราะถ้าผู้นำมีคุณธรรม ก็จะปกครองประเทศด้วยความยุติธรรม ปราศจากการเบียดเบียนรังแกผู้ใต้ปกครอง

ผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องมีคุณสมบัติ หรือคุณธรรม ดังนี้

(๑) ทศพิธราชธรรม คุณธรรมสำหรับผู้ปกครอง มี ๑๐ ประการ ได้แก่ ทาน ศีล ปริจาคะ อาชชวะ มัทวะ ตบะ อักโกธะ อวิหิงสา ขันติ และอวิโรธนะ




(๒) จักรวรรดิวัตร เป็นหน้าที่ประจำของผู้ปกครอง ๕ ประการ ได้แก่ ธรรมาธิปไตย ธรรมิการักขา อธรรมการนิเสธนา ธนานุประทาน และปริปุจฉา

อธิบาย
ธรรมาธิปไตย (ถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นหลัก เป็นธงชัย เป็นธรรมาปิไตย)
ธรรมิการักขา (จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรม
อธรรมการนิเสธนา (ห้ามกั้น มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต คือ จัดการป้องกัน แก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง
ธนานุประทาน (ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น
ปริปุจฉา (ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง ข้อนี้ปัจจุบันสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย


๑.๒) การปกครองระบอบสามัคคีธรรม พระพุทธศาสนาได้มีหลักอปริหานิยธรรม (วัชชีอปริหานิยธรรม) เพื่อประยุกต์ใช้ในการปกครอง ดังนี้

๑.หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เพื่อปรึกษาหารือกิจการงาน
๒.พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิก
๓.ไม่บัญญัติวางข้อกำหนดกฏเกณฑ์ต่าง ๆ หรือยกเลิกสิ่งที่บัญญัติไว้แล้วตามอำเภอใจของตน โดยไม่ได้ปรึกษาหารือกัน
๔.เคารพ ให้เกียรติ ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์
๕.ให้เกียรติกุลสตรี กุลกุมารีทั้งหลาย และให้ความคุ้มครอง มิให้ถูกข่มเหงรังแกโดยไม่เป็นธรรม
๖.เคารพ บูชาเจดีย์ ปูชนียสถาน และอนุเสาวรีย์ประจำชาติ
๗.จัดอารักขา บำรุง คุ้มครอง อันชอบธรรมแก่บรรพชิตผู้ทรงศีล

๒) ด้านการจัดระเบียบสังคม 



สถาบันทางสังคมต่าง ๆ ที่มีอยู่นั้น ถ้าหากบุคคลในสถาบัน ไม่ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง สถาบันนั้นก็ไม่มีความมั่นคง พระพุทธศาสนาได้สอนหลักธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญมั่นคง พระพุทธศาสนาได้สอนหลักธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญมั่นคงแห่งสถาบันทางสังคมต่าง ๆ ไว้มากมาย หลักธรรมเรื่อง "ทิศ ๖" จึงเป็นตัวอย่างของการจัดระเบียบสังคมและสอนวิธีที่คนในสังคมนั้นจะต้องปฏิบัติต่อกันให้ถูกต้อง เพื่อความมั่นคงและสงบสุขของสถาบัน ดังต่อไปนี้

๒.๑) สถาบันครอบครัว 


แบ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา และบิดามารดากับบุตรธิดา โดยมีหน้าที่พึงปฏิบัติต่อกัน ดังนี้

บิดามารดากับบุตรธิดา



หน้าที่บิดามารดา พึงปฏิบัติต่อบุตรธิดา
๑.ห้ามปรามมิให้ทำชั่ว
๒.อบรมสั่งสอนให้ทำดี
๓.ให้การศึกษาอันเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต
๔.เป็นธุระในการจัดหาคู่ครองที่เหมาะสม
๕.มอบทรัพย์สมบัติให้เมื่อถึงโอกาส เช่น วันเกิด วันแต่งงาน เป็นต้น

หน้าที่บุตรธิดาพึงปฏฺบัติต่อบิดามารดา
๑.เลี้ยงท่านเมื่อยามชรา
๒.ช่วยทำกิจการงานของท่าน คือ ทำงานที่มอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย
๓.ดำรงวงศ์สกุล หมายถึง การประพฤติ ปฏิบัติ พยายามดูแลรักษาให้วงศ์สกุลเจริญรุ่งเรืองสืบไป
๔.ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาทสกุล คือ ประพฤติตนให้เป็นคนดี ละเว้นจากความชั่ว
๕.เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ควรทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน

สามีกับภรรยา



หน้าที่สามีพึงปฏิบัติต่อภรรยา
๑.ยกย่องให้เกียรติ สมฐานะที่เป็นภรรยา
๒.ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามวงศ์ตระกูล รูปร่างหน้าตา และสติปัญญาของภรรยาตน
๓.ไม่นอกใจภรรยาทั้งต่อหน้าและลับหลัง รวมทั้งต้องมีรักเดียวใจเดียว มีความซื่อสัตย์
๔.มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้ คือ ให้ภรรยาดูแลกิจการและทรัพย์สมบัติในบ้านตามความเหมาะสม
๕.หาเครื่องแต่งตัวมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส

หน้าที่ภรรยาพึงปฏิบัติต่อสามี
๑.จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
๒.สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
๓.ไม่นอกใจ
๔.รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
๕.ขยัน ช่างจัด ช่างทำการงานทุกอย่าง

๒.๒) สถาบันสังคม 


แบ่งความสัมพันธ์ระหว่างมิตรกับมิตร และนายจ้างกับลูกจ้าง โดยมีหน้าที่พึงปฏิบัติต่อกัน ดังนี้

มิตรกับมิตร (ในหนังสือไม่ใช่หลักของมิตรในทิศ ๖ แต่นำมาจากมิตร ๔)



มิตรมีอุปการะ
๑.เพื่อนประมาทช่วยกันป้องกันเพื่อน
๒.เพื่อนประมาทช่วยกันรักษาทรัพย์สินของเพื่อน
๓.เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้
๔.มีกิจจำเป็นช่วยออกทรัพย์สินให้เกินกว่าที่เพื่อนออกปาก

มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข
๑.บอกความลับแก่เพื่อน
๒.รักษาความลับของเพื่อน
๓.เมื่อมีภัยอันตราย ไม่ละทิ้งเพื่อน
๔.แม้ชีวิตก็สละให้เพื่อนได้

มิตรแนะนำประโยชน์
๑.ห้ามมิให้เพื่อนทำความชั่วเสียหาย
๒.เมื่อรู้เห็นว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ก็บอกให้เพื่อนรู้
๓.สนับสนุนให้ทำดี
๔.แนะนำทางดำเนินชีวิตที่ดีให้

มิตรมีใจรัก
๑.เพื่อนสุข เราสุขด้วย
๒.เพื่อนทุกข์ เราทุกข์ด้วย
๓.ผู้อื่นติเตียนเพื่อน ก็ช่วยแก้ต่างให้
๔.ผู้อื่นสรรเสริญเพื่อน ก็ช่วยพูดเสริม สนับสนุน

นายจ้างกับลูกจ้าง


นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้าง
๑.จัดหางานให้ทำตามความสามารถ
๒.ให้ค่าจ้างเหมาะสมตามความรู้ความสามารถ
๓.จัดสวัสดิการให้ด้วยดี
๔.จัดของพิเศษให้
๕.ให้มีวันหยุดและพักผ่อนตามโอกาสอันควร

ลูกจ้างปฏิบัติต่อนายจ้าง
๑.เข้างานก่อนนาย คือ เตรียมคอยรับงานที่นายมอบหมายและทำจนสำเร็จเรียบร้อย
๒.เลิกงานหลังนาย คือ พยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายจนสำเร็จ แม้เวลาจะล่วงเลยบ้างก็นึกเสียว่างานของนายสำคัญ
๓.ถือเอาแต่ของที่นายให้ คือ ไม่โลภ ไม่เห็นแก่ตัว
๔.ทำานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
๕.นำความดีของนายและกิจการงานไปเผยแพร่

๒.๓) สถาบันการศึกษา 



เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น เป็นสถานที่ให้ความรู้ และอบรมสั่งสอนนักเรียนให้มีความรู้ เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีคุณภาพ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาใช้ในการพัฒนาตน พัฒนาสังคมและประเทศชาติ บุคคลสำคัญของสถาบันการศึกษา คือ ครูอาจารย์กับศิษย์ พึงปฏิบัติต่อกันให้ถูกต้องเหมาะสม ดังนี้

ครูอาจารย์กับศิษย์



ครูอาจารย์ปฏิบัติต่อศิษย์
๑.แนะนำฝึกฝนให้ศิษย์เป็นคนดี
๒.สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓.ยกย่องความดีงามของศิษย์ให้ปรากฏ
๔.สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๕.สอนให้ศิษย์ปฏิบัติได้จริง นำวิชาไปเลี้ยงชีพได้

ศิษย์ปฏิบัติต่อครูอาจารย์
๑.แสดงความเคารพอย่างสูงตามโอกาสเหมาะสม
๒.เข้าไปหาเพื่อขอรับคำแนะนำ
๓.ปรนนิบัติรับใช้ท่านตามโอกาสอันเหมาะสม
๔.ตั้งใจฟังคำสอนของครูอาจารย์
๕.เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ คือ การตั้งใจฟังคำสั่งสอนที่ท่านถ่ายทอดโดยความเคารพอย่างสูง

๒.๔) สถาบันศาสนา 



พระสงฆ์กับประชาชน พึงปฏิบัติต่อกันให้ถูกต้องเหมาะสม ดังนี้

พระสงฆ์ปฏิบัติต่อประชาชน
๑.ห้ามมิให้ทำชั่ว
๒.อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี คือ ส่งเสริมให้กุลบุตรกุลธิดามีน้ำใจ โอบอ้อมอารี มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์
๓.ให้ตั้งอยู่ในความดี
๔.ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๕.ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
๖.สอนวิธีดำเนินชีวิตให้ประสบความสุข

ประชาชนพึงปฏิบัติต่อพระสงฆ์
๑.จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา
๒.จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
๓.จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
๔.ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
๕.อุปถัมภ์บำรุงด้วยปัจจัย ๔

๓) ด้านการสร้างสรรค์อารยธรรมให้แก่โลก 



ตลอดเวลาที่ผ่านมา พระพุทธศาสนามีส่วนในการสร้างสรรค์อารยธรรมให้แก่โลก ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๓ ด้าน ดังนี้



๓.๑) ด้านจิตใจ โดยทั่วไปมีปัญหาใหญ่ ๆ ๒ เรื่อง คือ ทางกายกับทางใจ เรื่องกายได้แก่ เรื่องของปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค คนส่วนใหญ่แม้จะมีปัจจัย ๔ ครบแล้ว ก็ยังต้องการความสุขทางกาย หรือความสุขทางวัตถุที่ดีเลิศขึ้นไป แต่ความสุขทางวัตถุมีเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้ชีวิตมนุษย์มีความพอใจและสงบสุขได้ จะเห็นได้ว่า ในประเทศที่มีการพัฒนาทางวัตถุแล้ว ผู้คนก็มิได้มีความสุขจริง ๆ แต่มีปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด ปัญหาโรคเครียด เป็นต้น และเมื่อคนเรามีความอุดมสมบูรณ์ทางวัตถุถึงจุด ๆ หนึ่ง ก็เกิดความเบื่อหน่าย เหงา และว้าเหว่ รู้สึกว่ามีความบกพร่องทางด้านจิตใจ จึงเห็นได้ว่า คนในประเทศที่มีการพัฒนาทางวัตถุสูง ๆ จะพากันหันมาให้ความสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้นที่มีชาวตะวันตกเข้ามาบวชเรียนและปฏิบัติธรรม แต่เขายังเดินทางไปประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วย

พระพุทธศาสนาเป็นแหล่งที่ให้อาหารทางใจแก่มนุษย์มานานแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปี และยังยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมโลก และมีชาวโลกจำนวนมากที่เห็นว่าพระพุทธศาสนาได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งต่ออารยธรรมของมนุษยชาติ



๓.๒) ด้านวิชาการ พระพุทธศาสนานั้น นอกจากจะเป็นดวงไฟชี้ทางให้มนุษย์ได้ประสบกับความสงบสุขทางจิตใจแล้ว ยังมีลักษณะเป็นปรัชญา ซึ่งเป็นวิทยาการแขนงหนึ่ง ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนาได้อธิบายถึงหลักฐานของชีวิตและสรรพสิ่งทั้งปวงด้วยวิธีการของเหตุผล นักวิชาการในประเทศต่าง ๆ ทั้งในซีกโลกตะวันออกและตะวันตก ได้ศึกษาค้นคว้าและทำการวิจัยเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนากันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นน้ำของโลกต่างก็มีการสอนวิชาพระพุทธศาสนา บางแห่งสอนจนถึงระดับปริญญาเอก หนังสือและเอกสารทาทงวิชาการที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก็ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาต่าง ๆ อย่างมากมาย



๓.๓) ด้านวัตถุ นอกจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จะเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมทางด้านจิตใจของโลกแล้ว พระพุทธศาสนาก็ยังสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นวัตถุให้เป็นมรดกแก่อารยธรรมของโลกด้วย โดยผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้สร้างพระพุทธรูป เจดีย์ สถูป วัด และศาสนสถานอื่น ๆ ไว้ทั่วโลก ศาสนวัตถุเหล่านี้ ได้รับการสร้างขึ้นอย่างประณีตด้วยแรงกายแรงปัญญา และแรงทรัพย์ที่เกิดจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนา

๓.๒ พระพุทธศาสนาในฐานะที่ช่วยสร้างความสงบสุขให้แก่โลก


อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา คือ การสร้างความสงบสุขแก่ชาวโลก โดยหลักคำสอนที่เป็นไปเพื่อความสงบสุขแก่โลกมีมากมาย ในที่นี้ขอยกมาเพียงบางประการ ดังต่อไปนี้



๑.พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น เช่น หลักคำสอนในศีล ๕ เน้นการไม่เบียดเบียนตนเอง (ข้อที่ ๕) และการไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ละเมิดสิทธ์ของรักของหวงของคนอื่น (ข้อ ๑, ๒, ๓, ๔)



๒.พระพุทธศาสนาสอนให้มีเมตตาต่อกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง จะพูด จะทำ จะคิด ก็มีจิตประกอบด้วยเมตตา มีความรักและอภัยซึ่งกันและกัน ให้ถือว่ามนุษย์ในโลกนี้ ถึงแม้ว่าจะต่างเพศ ต่างชาติ ต่างศาสนา ก็ล้วนแต่เป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งสิ้น เป็นเสมือนพี่น้องครอบครัวเดียวกัน เวลาอยู่รวมกันมาก ๆ ย่อมมีบ้างในบางครั้งที่อาจล่วงเกินผู้อื่น โดยเจตนาหรือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราก็ต้องรู้จักอดกลั้นและให้อภัยซึ่งกันและกัน



๓.พระพุทธศาสนาสอนให้มีความเสียสละ ซึ่งมีความหมาย ๒ นัยด้วยกัน คือ เสียสละภายใน คือ ละโลภ โกรธ หลง ความหวงแหน ความยึดมั่น ความเห็นแก่ตัว ออกจากใจ เป็นต้น และเสียสละภายนอก คือ การเฉลี่ยแบ่งปันวัตถุสิ่งของที่ตนมี สงเคราะห์แก่คนอื่นบ้าง คนเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข จะต้องรู้จักเสียสละให้แก่กันและกัน เริ่มด้วยการเสียสละประโยชน์และความสุขที่ตนมีเฉลี่ยแบ่งปันแก่คนอื่น พระพุทธศาสนาได้สอนขั้นตอนแห่งการเสียสละตั้งแต่ขั้นต้น ๆ จนกระทั่งขั้นสูงสุด คือ การเสียสละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องดีงามของสังคม


๔.พระพุทธศาสนาสอนให้มีความอดทน (ขันติ) และไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนเกินไป (อนัตตา) ธรรมะ ๒ ข้อนี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน คือ คนจะมีความอดทนได้ดีนั้นจะต้องเป็นคนยึดมั่นในตัวตนน้อย หรือมีอัตตาเบาบาง ไม่เห็นว่าตนสำคัญมากเสียจนเห็นคนอื่นต่ำต้อยหรือเป็นคนไม่ดี และคนเช่นนี้ย่อมสามารถอดทนต่อการต่ำกว่าหรือการล่วงเกินของคนอื่นได้ ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงเน้นว่าคนที่ต่ำกว่าล่วงเกินคนอื่นเป็นคนไม่ดี แต่คนที่ต่ำกว่าตอบผู้ที่ด่าว่าตนนับว่าเป็นคนที่ไม่ดียิ่งกว่าเสียอีก เพราะฉะนั้น จึงควรรู้จักอดทนอดกลั้นและอดทนต่อคำดุด่าเสียดสีของคนอื่น



๕.พระพุทธศาสนาสอนให้เป็นคนใจกว้าง ยอมรับความแตกต่างได้ คือ สอนให้รู้ความจริงว่าในโลกที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมากนั้น ย่อมมีความแตกต่างกันในเรื่องต่าง ๆ มากมาย เราต้องหัดเป็นคนมีใจกว้าง ยอมรับความแตกต่างนั้น ๆ ได้ เช่น ยอมรับความคิดเห็นหรือความเชื่อถือที่แตกต่าง เป็นต้น



๖.พระพุทธศาสนาสอนให้เอาชนะความชั่วด้วยความดี ไม่ให้เอาชนะความชั่วด้วยความชั่ว เช่น เขาด่ามาเราด่าตอบไป เขาเอาเปรียบเราหนึ่งเท่าเราเอาเปรียบเขาเพิ่มขึ้นอีกสองเท่า เป็นต้น อันนี้มิใข่ทางที่ถูกต้อง ยิ่งทำก็ยิ่งเพิ่มความชั่วร้ายขึ้น ดุจดังเอาน้ำโสโครกล้างด้วยน้ำโสโครก ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่าพึงเอาชนะความชั่วร้ายด้วยความดี เช่น เอาชนะคนโกรธด้วยการไม่โกรธตอบ เอาชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ เอาชนะคนพูดเหลวไหลด้วยการพูดความจริง เอาชนะเวรด้วยการไม่จองเวร เป็นต้น



กล่าวสรุปได้ว่า
พระพุทธศาสนาซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย ปัจจุบันได้เผยแผ่ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ถึงแม้ว่าในบางทวีป อาทิ ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา การนับถือพระพุทธศาสนาจะยังคงจำกัดอยู่แต่เฉพาะในกลุ่มชาวเอเชียด้วยกันก็ตาม แต่ในอนาคตอันใกล้นี้คงมีชาวพื้นเมืองหันมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนากันมากขึ้น ทั้งนี้ พระพุทธศาสนาได้พิสูจน์ให้สังคมโลกประจักษ์แล้วว่าหลักธรรมของพระพุทธเจ้าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ หรือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี และช่วยสร้างความสงบสุขให้เกิดแก่ชาวโลกอีกด้วย

จบเนื้อหาหน่วยการเรียนรู้ที่ ๑