วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๕
เรื่องที่ ๒ มารยาทและหน้าที่ชาวพุทธ
๒.มารยาทชาวพุทธ
๒.๑ การปฏิบัติตนต่อพระภิกษุในงานศาสนพิธีที่บ้าน
ชาวพุทธนิยมทำบุญเลี้ยงพระที่บ้าน เพื่อก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว โดยเริ่มแรกก็ไปอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งในงานมงคลจะนิยมนิมนต์พระจำนวน ๕ รูป ๗ รูป หรือ ๙ รูป
เมื่อพระมาถึงแล้วควรรับรองด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส นิมนต์ให้นั่งในที่สมควรซึ่งจัดไว้ แล้วถวายของรับรอง เช่น น้ำดื่มหรือน้ำผลไม้ ไม่ควรถวายหมากพลูหรือบุหรี่อันเป็นสิ่งเสพติด ถ้ายังไม่ถึงเวลาประกอบพิธี เจ้าภาพหรือเจ้าของบ้านควรอยู่ร่วมสนทนากับท่านตามสมควร จนกระทั่งถึงเวลาประกอบพิธีการ เรื่องที่สนทนาอาจเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป หรือเป็นเรื่องที่จะขอความร่วมมือจากท่านก็ได้ และเมื่อเสร็จพิธีแล้ว ควรเดินตามไปส่งท่านจนพ้นบริเวณงานหรือจนกว่าจะขึ้นรถออกจากบริเวณงาน หรือเดินไปส่งถึงวัด
๒.๒ การสนทนาและการใช้คำพูดกับพระภิกษุตามฐานะ
การสนทนากับพระภิกษุ พึงปฏิบัติตน ดังนี้
(๑) ควรพูดจาอย่างไพเราะ ไม่กระโชกโฮกฮาก เสียดสี แดกดัน หรือทำนองดูหมิ่น
(๒) ใช้คำพูดให้ถูกต้องเหมาะสมแก่สถานภาพของตนและพระสงฆ์ เช่น ใช้สรรพนามแทนตนเองและแทนพระสงฆ์ในระดับต่าง ๆ ได้ถูกต้อง เป็นต้น
(๓) ไม่พูดล้อเล่นกับพระสงฆ์ หรือพูดตลกโปกฮาดังเช่นพูดคุยกับเพื่อน
(๔) เมื่อพูดกับพระผู้ใหญ่ ควรพนมมือพูดกับท่านทุกครั้ง
(๕) ไม่ชวนพระสงฆ์พูดคุยเรื่องที่ไม่เหมาะสม
(๖) เวลาพูดถึงพระสงฆ์ลับหลัง พึงพูดด้วยความปรารถนาดี ไม่นินทาหรือให้ร้ายป้ายสีพระสงฆ์เด็ดขาด
(๗) เวลาพูดกับพระสงฆ์ จะต้องใช้สรรพนามให้เหมาะสม ดังนี้
๒.๓ การแต่งกายในพิธีต่าง ๆ
การแต่งกายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นสิ่งแรกที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น ดังนั้น จึงควรแต่งกายให้เหมาะสมกับโอกาสต่าง ๆ ในที่นี้จะกล่าวถึงการแต่งกายเมื่อไปพบพระที่วัด หรือนิมนต์พระมาที่บ้าน พึงปฏิบัติดังนี้
(๑) ควรแต่งกายให้สะอาด ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ และไม่เกี่ยวกับความเก่าหรือความใหม่ เครื่องแต่งกายใหม่อาจสกปรกได้ เครื่องแต่งกายที่เท่าและราคาถูกอาจดูสะอาดได้ เสื้อผ้าควรซักรีดให้เรียบร้อย รองเท้าก็ขัดให้ดูเงางาม
(๒) แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย สุภาพสตรีควรแต่งกายให้รัดกุม เช่น ไม่นุ่งกระโปรงสั้นจนเกินไป ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปจนเกินไป ไม่สวมเสื้อที่คอลึกจนเกินไป เป็นต้น
การแต่งกายเป็นเรื่องของรสนิยม ซึ่งแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน คนหนึ่งว่าอย่างนี้เหมาะ อีกคนว่าไม่เหมาะ แต่จะต้องคำนึงถึงหลักความสะอาด ความสุภาพเรียบร้อย และถูกกาละเทศะ
๓.หน้าที่ชาวพุทธ
๓.๑ การปฏิบัติตนเป็นชาวพุทธที่ดีตามหลักทิศ ๖ (ทิศเบื้องขวา)
คำว่า "ทิศ" ในที่นี้ มิได้มีความหมายในทางภูมิศาสตร์ แต่หมายถึง บุคคลประเภทต่าง ๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคมดุจทิศที่อยู่รอบตัว ซึ่งมีอยู่ ๖ ทิศ ได้แก่ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย และทิศเบื้องล่าง ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะทิศเบื้องขวา คือ ครู อาจารย์ ดังนี้
(๑) การปฏิบัติตนต่อครู อาจารย์
มีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้
๑.ลุกขึ้นต้อนรับ
๒.เข้าไปหาเพื่อคอยรับใช้หรือรับคำแนะนำ
๓.ใฝ่ใจเรียน
๔.ปรนนิบัติ
๕.เรียนศิลปวิทยาด้วยความตั้งใจ
(๒) การปฏิบัติต่อศิษย์
ครู อาจารย์ ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ ดังนี้
๑.ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี
๒.สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓.สินศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๔.ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ
๕.ให้ความคุ้มครองปกป้องในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม
๓.๒ การปฏิบัติตนตามพุทธปณิธาน ๔
พุทธปณิธาน คือ ความตั้งพระทัยของพระพุทธเจ้า โดยเมื่อตั้งแต่พระองค์บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ ๆ มีพญามารนามว่า "วสวัตดี" ได้มาทูลอาราธนาให้เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสว่า ตราบใดที่พระพุทธศาสนายังไม่มั่นคงแพร่หลาย พระองค์จะไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อพญามารกราบทูลถาม พระองค์จึงตรัสว่า พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อพุทธบริษัททั้ง ๔ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- ศึกษาพระธรรมจนมีความรู้แตกฉาน
- ปฏิบัติตามที่ได้ศึกษามาจนบรรุผลแห่งการปฏิบัติ ตามความสามารถ
- มีความสามารถในการถ่ายทอด เผยแผ่ให้คนอื่นได้รู้ตาม
- กำจัดปรัปวาท (ปะ-รับ-ปะ-วาด) คือ การกล่าวร้าย เข้าใจผิดต่อพระศาสนา ให้ราบคาบ โดยชอบธรรม
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา พญามารได้มาทวงสัญญาจากพระพุทธองค์ว่า บัดนี้พระพุทธศาสนาได้แพร่หลายมั่นคงแล้ว พุทธบริษัท ๔ มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพุทธปณิธานแล้ว ขออาราธนาให้เสด็จดับขันธปรินิพพานเถิด พระพุทธองค์จึงทรงรับอาราธนาแล้วทรง "ปลงอายุสังขาร" (ตัดสินพระทัยกำหนดวันปรินิพพาน) ว่าอีกสามเดือนถัดไป พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ดังที่ทราบกันดีแล้ว
การปฏิบัติตนตามพุทธปณิธานก็คือ พุทธศาสนิกชนจะต้องปฏิบัติ ดังนี้
๑.ศึกษาพุทธวจนะในพระไตรปิฏกให้เข้าใจ อย่างน้อยต้องเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาสอนอะไร หลักคำสอนที่เป็นแก่นหรือสาระสำคัญของพระพุทธศาสนาคืออะไรบ้าง วิธีที่จะเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของ "หลักพหูสูต" ดังนี้
- ฟังมาก คือ อ่าน ฟัง ศึกษาข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น เป็นภิกษุต้องศึกษานักธรรมตรี โท เอก และบาลีตั้งแต่เปรียญ ๓ ประโยค ถึงเปรียญ ๙ ประโยค หรือไม่ก็ศึกษานอกระบบด้วยตนเอง จนมีความเข้าใจพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี เป็นต้น ถ้าเป็นคฤหัสถ์ เช่น นักเรียน นักศึกษาก็ตั้งใจศึกษาพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียน หรือศึกษาธรรมศึกษาตรี โท เอก หรือเข้าวัดสดับพระธรรมเทศนา หรืออ่านตำหรับตำราทางพระพุทธศาสนา จนเข้าใจดี เป็นต้น
- จำได้ เมื่อฟัง อ่าน หรือศึกษาแล้วให้กำหนดจดจำให้ดี เพื่อจะได้นำไปถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจตาม การจำนี้มิได้หมายความว่าให้จำทั้งหมดที่ได้ฟัง ได้อ่าน หรือศึกษามา แต่ให้จำประเด็นหลักหรือสาระสำคัญให้ได้เท่านั้น
- คล่องปาก ประเด็นไหนมีความสำคัญมาก ก็ให้ท่องจนคล่องปาก ทำนองท่องบทอาขยาน เช่น ท่อง "โอวาทปฏิโมกข์" หรือพุทธวจนสำคัญ ๆ เพื่อนำไปใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว
- เจนใจ บางเรื่องท่องได้คล่องปากแล้ว ก็นำมาขบคิดให้เกิดความกระจ่าง จนสามารถมองเห็นภาพในใจ เวลาอธิบายให้คนอื่นฟังก็อธิบายได้ทันท่วงที
- นำไปประยุกต์ได้ เมื่อฟังมาก จำได้ คล่องปาก และเจนใจแล้ว เวลาจะนำไปใช้ เช่น นำไปสอน ไปอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจ ก็ไม่จำเป็นต้องคัดลอกคำพูดจากตำรา แต่สามารถใช้คำพูดหรือวิธีการอธิบายของตนเองได้ เพราะได้มีความรู้แตกฉานดีแล้ว ผู้ที่ฝึกฝนจนถึงขั้นนี้แล้ว ย่อมสามารถแตกหน่ออกเป็นแนวคิดใหม่ ๆ ที่คล้ายกันหรือต่างจากเดิมได้อีกมาก
๒.เมื่อศึกษาพระพุทธศาสนาจนเป็นพหูสูตแล้ว ต้องนำเอาทฤษฎีความรู้นั้นมาปฏิบัติจนได้รับผลจากการปฏิบัติด้วย เช่น ทราบว่าพระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เห็นแก่ตัว ให้เสียสละ ก็พยายามปฏิบัติตนให้ได้ เป็นคนไม่เห็นแก่ตัวและเสียสละต่อส่วนรวมอันจะเป็นตัวอย่างแก่คนอื่น หรือทราบว่าพระพุทธศาสนาตำนิการพนันว่าเป็นอบายมุข (ทางแห่งความเสื่อม) ก็พยายามหลีกเลี่ยง ไม่มัวเมาหมกมุ่นในอบายมุข เป็นต้น
๓.เรียนรู้และปฏิบัติได้ตามที่รู้ นับว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น ต้องสามารถนำไปถ่ายทอดให้คนอื่นได้เข้าใจด้วย คือ ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ชี้ทางเดินแก่คนอื่นว่า ทางนี้เป็นทางเสื่อมไม่ควรเดินตาม ทางนี้เป็นทางแห่งความเจริญ การดำเนินตามคำสอนคำชี้แจงของผู้ที่ได้ทำตามคำสอน ย่อมมีความศักดิ์สิทธ์หรือมีน้ำหนัก จึงควรฟังและปฏิบัติตาม
๔.ปกป้องพระพุทธศาสนา เมื่อมีการกล่าวจ้วงจาบให้ร้ายป้ายสีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ หรือพระพุทธศาสนาโดยส่วนรวม พุทธศาสนิกชนจะต้องให้ความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขให้ความขัดแย้งนั้น ๆ ลุล่วงไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น