วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

การเผยแผ่และการพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก (เอเชีย-ประเทศอินเดีย)

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๑
เรื่องที่ ๒.การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในชมพูทวีปมาโดยลำดับ จนเมื่อถึงพุทธศตวรรษที่ ๓ ในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ภายหลังการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ พระองค์ได้ส่งสมณทูต ๙ สายออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนใกล้เคียงกับชมพูทวีป จากจุดเริ่มต้นนี้เองทำให้พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป ทวีปออสเตรเลีย และทวีปอเมริกา และเจริญแพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยอาศัยเหล่าพุทธสาวกได้สืบสานพุทธปณิธานในการสร้างสันติสุขให้แก่ประชาคม นำหลักพระพุทธศาสนาไปเสริมสร้างความสงบสุข และสร้างสรรค์จรรโลงอารยธรรมอันดีงามให้แก่ชาวโลกตลอดมา



๑.การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในทวีปเอเชีย


พระพุทธศาสนาถือกำเนิดในดินแดนชมพูทวีปหรือประเทศอินเดีย เจริญรุ่งเรืองในอินเดียในสมัยพุทธกาล ภายหลังได้แผ่ขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย และไปเจริญรุ่งเรืองมั่นคงในประเทศศรีลังกา และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรียนรู้ และเผยแผ่พระพุทธศาสนา จุดเริ่มต้นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทวีปเอเชียมีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนเกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๓ ภายหลังจากการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่าง ๆ



เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าไปเจริญรุ่งเรืองในประเทศต่าง ๆ แล้ว ได้ถูกหล่อหลอมและผสมกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของประชาชนในประเทศนั้น ๆ ทำให้เกิดรูปแบบการนับถือพระพุทธศาสนาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถแยกรายละเอียดเป็นประเทศต่าง ๆ ได้ดังนี้


๑) ประเทศอินเดีย



เป็นดินแดนแห่งพุทธมาตุภูมิ พระพุทธเจ้าผู้เป็นองค์ศาสดาของพระพุทธศาสนา เสด็จอุบัติขี้นในที่แห่งนี้ พระองค์ได้ทรงก่อตั้งพระพุทธศาสนา และประกาศหลักธรรมคำสอนแก่ประชาชนชาวอินเดียเป็นเบื้องต้น พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง และยังประโยชน์สุขแก่ประชาชนชาวอินเดียเรือยมา จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ร่องรอยการเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนาในอินเดียก็ได้ปรากฏขึ้น

อย่างไรก็ตามในยุคการกอบกู้อิสระภาพของอินเดีย พระพุทธศาสนาได้กลับมาเจริญขึ้นอีกครั้ง โดยมีบุคคลหลายท่านที่เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา เช่น

เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม


เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Sir Alexander Cunningham)
(23 มกราคม ค.ศ. 1814 – 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1893)
เป็นนักโบราณคดีชาวอังกฤษ เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายพลและวิศวกรแห่งกองทัพสหราชอาณาจักร
เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ "บิดาแห่งการสำรวจโบราณคดีอินเดีย"


ชาวอังกฤษในยุคที่อังกฤษปกครองอินเดีย ท่านเป็นผู้นำให้มีการสำรวจโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปกรรมต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา นับได้ว่าท่านเป็นผู้บุกเบิกการขุดค้นโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาในอินเดียให้ปรากฏแก่โลก ทำให้ชาวอินเดียหันมาสนใจต่อมรดกอันเป็นผลผลิตทางความคิด และความเพียรพยายามของคนอินเดียเอง ทำให้เกิดกระบวนการรื้อฟื้นการเรียนรู้พระพุทธศาสนาขึ้นในหมู่ปัญญาชนชาวอินเดีย

เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์


เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ (Sir Edwin Arnold)
(10 มิถุนายน พ.ศ. 2375 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2447) เป็นกวีและนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ
เป็นที่รู้จักจากผลงานหนังสือ ประทีปแห่งเอเชีย (The Light of Asia)



เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในด้านวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา ท่านได้เขียนงานพุทธประวัติที่ชื่อว่า "ประทีปแห่งเอเชีย (The Light of Asia)" ทำให้เรื่องราวของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักกันอย่างแพรหลายทั่วโลก


ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๔ อนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา ผู้มีความศรัทธาอย่างสูงส่งต่อพระพุทธศาสนา และมีความปรารถนามุ่งมั่นในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ได้ก่อตั้ง "มหาโพธิสมาคม" ขึ้น ภายใต้ความร่วมือของเหล่าปัญญาชนชาวอินเดีย และเหล่ากัลยาณมิตรชาวต่างชาติผู้มีความศรัทธาและห่วงใยในพระพุทธศาสนา มหาโพธิสมาคมได้กลายเป็นศูนย์กลางการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย โดยจัดให้มีพิธีกรรม การบรรยายธรรม ปาฐกถาธรรม รวทั้งการออกนิตยสารภาคภาษาอังกฤษชื่อว่า "มหาโพธิ (Mahabodhi Review) เพื่อเผยแผ่กิจกรรมและแนวคิดทางพระพุทธศาสนา


อนาคาริก ธรรมปาละ (Anagarika Dhammapala)
(เกิด 17 กันยายน พ.ศ. 2407 มรณภาพ 29 เมษายน พ.ศ. 2476)
เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์
และเป็นผู้เรียกร้องเอาพุทธสถานในอินเดียกลับคืนมาเป็นของชาวพุทธ

 

นิตยสาร "มหาโพธิ (Mahabodhi Review)

ในยุคหลังของการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย ได้มีชาวอินเดียที่มีบทบาทสำคัญท่านหนึ่ง คือ ดร.อัมเบดการ์ เป็นแกนนำคนในวรรณะศูทรประกาศปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ นับถือพระพุทธศาสนา รวมทั้งผู้นำชาวอินเดียท่านอื่น ๆ แม้มิใช่พุทธศาสนิกชน แต่ก็ให้ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา ปัจจุบันจึงทำให้ประชาชนชาวอินเดียประกาศตนนับถือพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลอินเดียให้การสนับสนุนงานพระพุทธศาสนา ด้วยการส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมถึงสนับสนุนพุทธศาสนิกชนต่างประเทศในการสร้างวัดพระพุทธศาสนามากขึ้นในอินเดีย เพราะชาวอินเดียโดยทั่วไปต่างระลึกเสมอว่าพระพุทธเจ้าคือบุคคลผู้นำเกียรติภูมิอันสูงส่งมาสู่อินเดีย

 

ดร.ภีมราว รามจี อามเพฑกร  หรือบางครั้งนิยมทับศัพท์เป็น เอมเบดการ์
อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรมของอินเดีย
และเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย
ท่านถูกยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย" อีกด้วย
อามเพฑกร เป็นผู้อุปถัมภพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย
และได้เดินร่วม ขบวนกับ มหาตมา คานธี และชวาหระลาล เนห์รู
เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ
ต่อมาเนห์รูได้เป็นนายกรัฐมนตรีและได้แต่งตั้งให้อามเพฑกร
เป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรม




เนื่องจากเดิมอามเพฑกรเป็นชาวจัณฑาล ภายหลังได้เลิกนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
เนื่องจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีการใช้ระบอบวรรณะ ถูกคนวรรณะอื่นรังเกียจเดียดฉันท์
ซึ่งเขาเคยเผชิญมากับตนเองตั้งแต่ยังเด็ก 



เพื่อทำลายความอยุติธรรมนั้น อามเพฑกรจึงได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่เมืองนาคปุระ
พร้อมกับบุคคลวรรณะศูทรกว่า 500,000 คน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2499



























วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓ หน่วยการเรียนรู้ที่ ๑ เรื่องที่ ๑.การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๑
เรื่องที่ ๑.การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

แบบคลิปวิดีโอพร้อมภาพประกอบ https://youtu.be/LkGh4SUpOW0


การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยโบราณ



การเผยแผ่ด้วยการแสดงธรรมหรือการเทศน์





เป็นการแสดงหลักธรรมคำสอน โดยอาศัยพระสงฆ์ หรือผู้รู้ เป็นผู้บอก ชี้แนะ และสั่งสอนหลักธรรม การเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยวิธีนี้ ผู้เผยแผ่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนเป็นอย่างดี การเทศน์ หรือการแสดงธรรม เป็นรูปแบบการเผยแผ่ธรรมที่ใช้ได้ผลดีมาทุกยุคทุกสมัย เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังได้ตามเป้าหมาย ทั้งกลุ่มเปาหมายเฉพาะบุคคล กลุ่มย่อย หรือกลุ่มใหญ่ที่มีผู้ฟังจำนวนมาก การเผยแผ่ด้วยการเทศน์นี้ รวมถึงการปาฐกถา การอภิปราย และการสนทนาธรรม


การเผยแผ่ด้วยการศึกษาและปฏิบัติธรรม





ในยุคแรกของการศึกษาพระพุทธศาสนา เป็นการศึกษาแบบมุขปาฐะ คือ การจดจำและถ่ายทอดกันโดยอาศัยการบอกและการท่องจำสืบทอดกันมา และมีพระสงฆ์เป็นแบบอย่างของการปฏิบัติ เนื่องจากการถ่ายทอดด้วยวิธีการท่องจำอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนได้ ต่อมาราว พ.ศ.๔๓๓ จึงได้มีการจดจารึกพระพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น เพื่อให้การศึกษาปฏิบัติเป็นไปได้อย่างถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน


สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่






ในยุคแรกของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจะเจาะจงเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มผู้นำทางสังคม ได้แก่ พระมหากษัตริย์ นักปกครอง และนักคิดปัญญาชน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นศูนย์กลางความเชื่อและความหวังของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากษัตริย์ หากพระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงเลื่อมใสและยอมรับนับถือศาสนาใดแล้ว ประชาชนในปกครองย่อมเชื่อและนับถือตาม เมื่อพระมหากษัตริย์พระอค์ใดทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา ถือเป็นพระราชภาระในการบำรุงพระพุทธศาสนา ก็เป็นเหตุให้เหล่าข้าราชการและประชาชนในปกครองถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ ราชสำนักจึงถือเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยโบราณ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสถาบันหลักที่สะท้อนถึงความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี ดังเช่นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงส่งพระธรรมฑูต ๙ สายออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นต่าง ๆ ของชมพูทวีปและดินแดนใกล้เคียง เช่น ศรีลังกา เนปาล อัฟกานิสถาน อิหร่าน และประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในยุคต่อ ๆ มาที่พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายเข้าไปในทิเบตและจีน ก็ล้วนเป็นผลมาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ทรทงให้ความอุปถัมภ์ทำนุบำรุงเป็นอย่างดียิ่งนั่นเอง
หลังจากที่หลายประเทศได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ต่อมาบางประเทศก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น จีน เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสู่เกาหลีและญี่ปุ่น หรือ ศรีลังกาเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศเมียนมาและไทย เป็นต้น

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยปัจจุบัน


ปัจจุบันเป็นยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ โลกเปลี่ยนไปภายใต้ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อน ส่งผลให้เกิดโลกไร้พรมแดน ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้าถึงกัน เป็นสังคมแห่งข้อมูลข่าวสารและเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ในรูปแบบต่าง ๆ มนุษย์ซึ่งมีวิถีการดำรงชีวิตในสังคมข้อมูลข่าวสาร ย่อมมีความแตกต่างจากสังคมในอดีต การจะนำหลักพระพุทธสาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีของคนในสังคม ย่อมหลีกไม่พ้นจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยหากนับระยะเวลาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นต้นมา เราอาจสรุปแนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบันได้ ดังนี้

การเผยแผ่ด้วยการแสดงธรรมหรือเทศน์





การแสดงธรรมด้วยการเทศน์ ถือเป็นรูปแบบการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เป็นลักษณะเฉพาะ และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในพระพุทธศาสนา และใช้กันมาทุกยุคทุกสมัยแม้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงปาฐกถาธรรม เป็นวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่นิยมกันแพร่หลายในปัจจุบัน


การเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านองค์กรทางพระพุทธศาสนา




พระพุทธศาสนามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย มีความเจริญรุ่งเรือง และมีศูนย์กลางอยู่ในทวีปเอเชีย ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นต้นมา พุทธศาสนิกชนชาวเอเชีย เช่น จีน ทิเบต ญี่ปุ่น ได้มีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินในทวีปยุโรปและอเมริกา ได้นำเอาพระพุทธศาสนาเข้าไปเผยแผ่ในดินแดนเหล่านั้นด้วย จึงกล่าวได้ว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในช่วงนั้นเป็นการเผยแผ่ตามวิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชนที่มีการอพยพถิ่นฐานและนำพระพุทธศาสนาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นแบบอย่างให้คนในถิ่นนั้นเกิดศรัทธาเลื่อมใสและนับถือตาม

อย่างไรก็ตาม เพื่อความเป็นเอกภาพและเป็นปึกแผ่นในการปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา รวมทั้งการพัฒนาการนับถือพระพุทธศาสนาให้มีการมุ่งเน้นคุณค่าในหลักคำสอน มีการศึกษา และวิเคราะห์หลักธรรมอย่างเป็นระเบียบ จึงได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรทางพระพุทธศาสนาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งระดับชาติและนานาชาติ ได้แก่

(๑) วัด หรือพุทธศาสนสถาน เป็นศูนย์รวมการศึกษาและการปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา วัดจึงเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชน และผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาทั่วไป ปัจจุบันวัดในพระพุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาท มหายาน และพระพุทธศาสนานิกายอื่น ได้รับการก่อตั้งขึ้นในประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก



(๒) สมาคม มูลนิธิ และชมรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา องค์กรทางพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูและเผยแผ่พระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ เช่น มหาโพธิสมาคมในประเทศอินเดีย องค์การพระพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก สมาคมบาลีปกรณ์ในประเทศอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยแรงศรัทธาและความเสียสละของพุทธศาสนิกชนในประเทศนั้น ๆ ร่วมกันก่อตั้งขึ้น องค์กรทางพระพุทธศาสนาเหล่านี้ นอกจากเป็นศูนย์รวมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปฏิบิติธรรมทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังทำหน้าที่ด้านสังคมสงเคราะห์ปัจจัยสี่ ช่วยเหลือประชาชนโดยไม่แบ่งแยกศาสนาในวาระและโอกาสต่าง ๆ ทั้งในยามปกติและในยามเกิดภัยพิบัติ




(๓) สถาบันเฉพาะทางพระพุทธศาสนา เพื่อทำการศึกษาและวิจัยวิชาการทางพระพุทธศาสนา ปัจจุบันมีการก่อตั้งสถาบัน หรือหน่วยการศึกษาเฉพาะทางพระพุทธศาสนาขึ้นหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในประเทศไทย ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษาในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในประเทศอังกฤษ เป็นต้น







การเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติธรรม


หลักการสำคัญประการหนึ่งของพระพุทธศาสนา คือ การบรรลุผลหรือเป้าหมายจากการปฏิบัติด้วยตนเอง พระพุทธเจ้า พระสงฆ์ หรือผู้แสดงธรรมเป็นเพียงกัลยาณมิตรที่คอยบอกธรรมและแนะนำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม บุคคลจะประสบความสำเร็จจากการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง วัดและองค์กรทางพระพุทธศาสนาเป็นสื่อกลางและศูนย์รวมให้พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติธรรมตามแนวทางพระพุทธศาสนา ถือได้ว่าเป็นที่นิยมและศรัทธาเลื่อมใสของคนทั่วไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวตะวันตก เพราะถือเป็นรูปแบบการฝึกพัฒนาตนเองโดยเริ่มต้นจากการพัฒนาจิตเป็นสำคัญ



การเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านสื่อเทคโนโลยี

 
อิทธิพลจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ส่งผลให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน ได้อาศัยเทคโนโลยีและการสื่อสารมาเป็นเครื่องมือการเผยแผ่หลักธรรม ผ่านสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ อินเตอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ และสื่อผสมที่เรียกว่า "มัลติมีเดีย (Multimedia)" ต่างมีบทบาทสำคัญต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน เช่น การที่พระสงฆ์ผู้มีชื่อเสียงเขียนเรียบเรียงหนังสือธรรมะที่มีเนื้อหาอ่านเข้าใจได้ง่าย สนุกสนาน และให้แง่คิดคติสอนใจที่ดี การบรรจุประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในในอินเตอร์เน็ต ซึ่งคนทั่วไปสามารถเข้าไปศึกษาค้นคว้าได้อย่างสะดวก เป็นต้น