วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

การเผยแผ่และการพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก (เอเชีย-ประเทศอินเดีย)

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๑
เรื่องที่ ๒.การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในชมพูทวีปมาโดยลำดับ จนเมื่อถึงพุทธศตวรรษที่ ๓ ในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ภายหลังการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ พระองค์ได้ส่งสมณทูต ๙ สายออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนใกล้เคียงกับชมพูทวีป จากจุดเริ่มต้นนี้เองทำให้พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป ทวีปออสเตรเลีย และทวีปอเมริกา และเจริญแพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยอาศัยเหล่าพุทธสาวกได้สืบสานพุทธปณิธานในการสร้างสันติสุขให้แก่ประชาคม นำหลักพระพุทธศาสนาไปเสริมสร้างความสงบสุข และสร้างสรรค์จรรโลงอารยธรรมอันดีงามให้แก่ชาวโลกตลอดมา



๑.การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในทวีปเอเชีย


พระพุทธศาสนาถือกำเนิดในดินแดนชมพูทวีปหรือประเทศอินเดีย เจริญรุ่งเรืองในอินเดียในสมัยพุทธกาล ภายหลังได้แผ่ขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย และไปเจริญรุ่งเรืองมั่นคงในประเทศศรีลังกา และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรียนรู้ และเผยแผ่พระพุทธศาสนา จุดเริ่มต้นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทวีปเอเชียมีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนเกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๓ ภายหลังจากการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่าง ๆ



เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าไปเจริญรุ่งเรืองในประเทศต่าง ๆ แล้ว ได้ถูกหล่อหลอมและผสมกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของประชาชนในประเทศนั้น ๆ ทำให้เกิดรูปแบบการนับถือพระพุทธศาสนาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถแยกรายละเอียดเป็นประเทศต่าง ๆ ได้ดังนี้


๑) ประเทศอินเดีย



เป็นดินแดนแห่งพุทธมาตุภูมิ พระพุทธเจ้าผู้เป็นองค์ศาสดาของพระพุทธศาสนา เสด็จอุบัติขี้นในที่แห่งนี้ พระองค์ได้ทรงก่อตั้งพระพุทธศาสนา และประกาศหลักธรรมคำสอนแก่ประชาชนชาวอินเดียเป็นเบื้องต้น พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง และยังประโยชน์สุขแก่ประชาชนชาวอินเดียเรือยมา จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ร่องรอยการเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนาในอินเดียก็ได้ปรากฏขึ้น

อย่างไรก็ตามในยุคการกอบกู้อิสระภาพของอินเดีย พระพุทธศาสนาได้กลับมาเจริญขึ้นอีกครั้ง โดยมีบุคคลหลายท่านที่เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา เช่น

เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม


เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Sir Alexander Cunningham)
(23 มกราคม ค.ศ. 1814 – 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1893)
เป็นนักโบราณคดีชาวอังกฤษ เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายพลและวิศวกรแห่งกองทัพสหราชอาณาจักร
เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ "บิดาแห่งการสำรวจโบราณคดีอินเดีย"


ชาวอังกฤษในยุคที่อังกฤษปกครองอินเดีย ท่านเป็นผู้นำให้มีการสำรวจโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปกรรมต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา นับได้ว่าท่านเป็นผู้บุกเบิกการขุดค้นโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาในอินเดียให้ปรากฏแก่โลก ทำให้ชาวอินเดียหันมาสนใจต่อมรดกอันเป็นผลผลิตทางความคิด และความเพียรพยายามของคนอินเดียเอง ทำให้เกิดกระบวนการรื้อฟื้นการเรียนรู้พระพุทธศาสนาขึ้นในหมู่ปัญญาชนชาวอินเดีย

เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์


เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ (Sir Edwin Arnold)
(10 มิถุนายน พ.ศ. 2375 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2447) เป็นกวีและนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ
เป็นที่รู้จักจากผลงานหนังสือ ประทีปแห่งเอเชีย (The Light of Asia)



เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในด้านวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา ท่านได้เขียนงานพุทธประวัติที่ชื่อว่า "ประทีปแห่งเอเชีย (The Light of Asia)" ทำให้เรื่องราวของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักกันอย่างแพรหลายทั่วโลก


ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๔ อนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา ผู้มีความศรัทธาอย่างสูงส่งต่อพระพุทธศาสนา และมีความปรารถนามุ่งมั่นในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ได้ก่อตั้ง "มหาโพธิสมาคม" ขึ้น ภายใต้ความร่วมือของเหล่าปัญญาชนชาวอินเดีย และเหล่ากัลยาณมิตรชาวต่างชาติผู้มีความศรัทธาและห่วงใยในพระพุทธศาสนา มหาโพธิสมาคมได้กลายเป็นศูนย์กลางการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย โดยจัดให้มีพิธีกรรม การบรรยายธรรม ปาฐกถาธรรม รวทั้งการออกนิตยสารภาคภาษาอังกฤษชื่อว่า "มหาโพธิ (Mahabodhi Review) เพื่อเผยแผ่กิจกรรมและแนวคิดทางพระพุทธศาสนา


อนาคาริก ธรรมปาละ (Anagarika Dhammapala)
(เกิด 17 กันยายน พ.ศ. 2407 มรณภาพ 29 เมษายน พ.ศ. 2476)
เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์
และเป็นผู้เรียกร้องเอาพุทธสถานในอินเดียกลับคืนมาเป็นของชาวพุทธ

 

นิตยสาร "มหาโพธิ (Mahabodhi Review)

ในยุคหลังของการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย ได้มีชาวอินเดียที่มีบทบาทสำคัญท่านหนึ่ง คือ ดร.อัมเบดการ์ เป็นแกนนำคนในวรรณะศูทรประกาศปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ นับถือพระพุทธศาสนา รวมทั้งผู้นำชาวอินเดียท่านอื่น ๆ แม้มิใช่พุทธศาสนิกชน แต่ก็ให้ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา ปัจจุบันจึงทำให้ประชาชนชาวอินเดียประกาศตนนับถือพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลอินเดียให้การสนับสนุนงานพระพุทธศาสนา ด้วยการส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมถึงสนับสนุนพุทธศาสนิกชนต่างประเทศในการสร้างวัดพระพุทธศาสนามากขึ้นในอินเดีย เพราะชาวอินเดียโดยทั่วไปต่างระลึกเสมอว่าพระพุทธเจ้าคือบุคคลผู้นำเกียรติภูมิอันสูงส่งมาสู่อินเดีย

 

ดร.ภีมราว รามจี อามเพฑกร  หรือบางครั้งนิยมทับศัพท์เป็น เอมเบดการ์
อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรมของอินเดีย
และเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย
ท่านถูกยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย" อีกด้วย
อามเพฑกร เป็นผู้อุปถัมภพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย
และได้เดินร่วม ขบวนกับ มหาตมา คานธี และชวาหระลาล เนห์รู
เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ
ต่อมาเนห์รูได้เป็นนายกรัฐมนตรีและได้แต่งตั้งให้อามเพฑกร
เป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรม




เนื่องจากเดิมอามเพฑกรเป็นชาวจัณฑาล ภายหลังได้เลิกนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
เนื่องจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีการใช้ระบอบวรรณะ ถูกคนวรรณะอื่นรังเกียจเดียดฉันท์
ซึ่งเขาเคยเผชิญมากับตนเองตั้งแต่ยังเด็ก 



เพื่อทำลายความอยุติธรรมนั้น อามเพฑกรจึงได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่เมืองนาคปุระ
พร้อมกับบุคคลวรรณะศูทรกว่า 500,000 คน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2499



























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น