วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓หน่วยการเรียนรู้ที่ ๑เรื่องที่ ๑.การเผยแผ่พระพุทธศาสนา
แบบคลิปวิดีโอพร้อมภาพประกอบ https://youtu.be/LkGh4SUpOW0
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยโบราณ
การเผยแผ่ด้วยการแสดงธรรมหรือการเทศน์
เป็นการแสดงหลักธรรมคำสอน โดยอาศัยพระสงฆ์ หรือผู้รู้ เป็นผู้บอก ชี้แนะ และสั่งสอนหลักธรรม การเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยวิธีนี้ ผู้เผยแผ่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนเป็นอย่างดี การเทศน์ หรือการแสดงธรรม เป็นรูปแบบการเผยแผ่ธรรมที่ใช้ได้ผลดีมาทุกยุคทุกสมัย เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังได้ตามเป้าหมาย ทั้งกลุ่มเปาหมายเฉพาะบุคคล กลุ่มย่อย หรือกลุ่มใหญ่ที่มีผู้ฟังจำนวนมาก การเผยแผ่ด้วยการเทศน์นี้ รวมถึงการปาฐกถา การอภิปราย และการสนทนาธรรม
การเผยแผ่ด้วยการศึกษาและปฏิบัติธรรม
ในยุคแรกของการศึกษาพระพุทธศาสนา เป็นการศึกษาแบบมุขปาฐะ คือ การจดจำและถ่ายทอดกันโดยอาศัยการบอกและการท่องจำสืบทอดกันมา และมีพระสงฆ์เป็นแบบอย่างของการปฏิบัติ เนื่องจากการถ่ายทอดด้วยวิธีการท่องจำอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนได้ ต่อมาราว พ.ศ.๔๓๓ จึงได้มีการจดจารึกพระพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น เพื่อให้การศึกษาปฏิบัติเป็นไปได้อย่างถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่
ในยุคแรกของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจะเจาะจงเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มผู้นำทางสังคม ได้แก่ พระมหากษัตริย์ นักปกครอง และนักคิดปัญญาชน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นศูนย์กลางความเชื่อและความหวังของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากษัตริย์ หากพระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงเลื่อมใสและยอมรับนับถือศาสนาใดแล้ว ประชาชนในปกครองย่อมเชื่อและนับถือตาม เมื่อพระมหากษัตริย์พระอค์ใดทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา ถือเป็นพระราชภาระในการบำรุงพระพุทธศาสนา ก็เป็นเหตุให้เหล่าข้าราชการและประชาชนในปกครองถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ ราชสำนักจึงถือเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยโบราณ
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสถาบันหลักที่สะท้อนถึงความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี ดังเช่นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงส่งพระธรรมฑูต ๙ สายออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นต่าง ๆ ของชมพูทวีปและดินแดนใกล้เคียง เช่น ศรีลังกา เนปาล อัฟกานิสถาน อิหร่าน และประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในยุคต่อ ๆ มาที่พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายเข้าไปในทิเบตและจีน ก็ล้วนเป็นผลมาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ทรทงให้ความอุปถัมภ์ทำนุบำรุงเป็นอย่างดียิ่งนั่นเอง
หลังจากที่หลายประเทศได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ต่อมาบางประเทศก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น จีน เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสู่เกาหลีและญี่ปุ่น หรือ ศรีลังกาเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศเมียนมาและไทย เป็นต้น
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยปัจจุบัน
ปัจจุบันเป็นยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ โลกเปลี่ยนไปภายใต้ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อน ส่งผลให้เกิดโลกไร้พรมแดน ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้าถึงกัน เป็นสังคมแห่งข้อมูลข่าวสารและเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ในรูปแบบต่าง ๆ มนุษย์ซึ่งมีวิถีการดำรงชีวิตในสังคมข้อมูลข่าวสาร ย่อมมีความแตกต่างจากสังคมในอดีต การจะนำหลักพระพุทธสาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีของคนในสังคม ย่อมหลีกไม่พ้นจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยหากนับระยะเวลาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นต้นมา เราอาจสรุปแนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบันได้ ดังนี้
การเผยแผ่ด้วยการแสดงธรรมหรือเทศน์
การแสดงธรรมด้วยการเทศน์ ถือเป็นรูปแบบการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เป็นลักษณะเฉพาะ และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในพระพุทธศาสนา และใช้กันมาทุกยุคทุกสมัยแม้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงปาฐกถาธรรม เป็นวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่นิยมกันแพร่หลายในปัจจุบัน
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านองค์กรทางพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย มีความเจริญรุ่งเรือง และมีศูนย์กลางอยู่ในทวีปเอเชีย ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นต้นมา พุทธศาสนิกชนชาวเอเชีย เช่น จีน ทิเบต ญี่ปุ่น ได้มีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินในทวีปยุโรปและอเมริกา ได้นำเอาพระพุทธศาสนาเข้าไปเผยแผ่ในดินแดนเหล่านั้นด้วย จึงกล่าวได้ว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในช่วงนั้นเป็นการเผยแผ่ตามวิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชนที่มีการอพยพถิ่นฐานและนำพระพุทธศาสนาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นแบบอย่างให้คนในถิ่นนั้นเกิดศรัทธาเลื่อมใสและนับถือตาม
อย่างไรก็ตาม เพื่อความเป็นเอกภาพและเป็นปึกแผ่นในการปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา รวมทั้งการพัฒนาการนับถือพระพุทธศาสนาให้มีการมุ่งเน้นคุณค่าในหลักคำสอน มีการศึกษา และวิเคราะห์หลักธรรมอย่างเป็นระเบียบ จึงได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรทางพระพุทธศาสนาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งระดับชาติและนานาชาติ ได้แก่
(๑) วัด หรือพุทธศาสนสถาน เป็นศูนย์รวมการศึกษาและการปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา วัดจึงเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชน และผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาทั่วไป ปัจจุบันวัดในพระพุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาท มหายาน และพระพุทธศาสนานิกายอื่น ได้รับการก่อตั้งขึ้นในประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
(๒) สมาคม มูลนิธิ และชมรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา องค์กรทางพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูและเผยแผ่พระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ เช่น มหาโพธิสมาคมในประเทศอินเดีย องค์การพระพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก สมาคมบาลีปกรณ์ในประเทศอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยแรงศรัทธาและความเสียสละของพุทธศาสนิกชนในประเทศนั้น ๆ ร่วมกันก่อตั้งขึ้น องค์กรทางพระพุทธศาสนาเหล่านี้ นอกจากเป็นศูนย์รวมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปฏิบิติธรรมทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังทำหน้าที่ด้านสังคมสงเคราะห์ปัจจัยสี่ ช่วยเหลือประชาชนโดยไม่แบ่งแยกศาสนาในวาระและโอกาสต่าง ๆ ทั้งในยามปกติและในยามเกิดภัยพิบัติ
(๓) สถาบันเฉพาะทางพระพุทธศาสนา เพื่อทำการศึกษาและวิจัยวิชาการทางพระพุทธศาสนา ปัจจุบันมีการก่อตั้งสถาบัน หรือหน่วยการศึกษาเฉพาะทางพระพุทธศาสนาขึ้นหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในประเทศไทย ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษาในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในประเทศอังกฤษ เป็นต้น
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติธรรม
หลักการสำคัญประการหนึ่งของพระพุทธศาสนา คือ การบรรลุผลหรือเป้าหมายจากการปฏิบัติด้วยตนเอง พระพุทธเจ้า พระสงฆ์ หรือผู้แสดงธรรมเป็นเพียงกัลยาณมิตรที่คอยบอกธรรมและแนะนำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม บุคคลจะประสบความสำเร็จจากการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง วัดและองค์กรทางพระพุทธศาสนาเป็นสื่อกลางและศูนย์รวมให้พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติธรรมตามแนวทางพระพุทธศาสนา ถือได้ว่าเป็นที่นิยมและศรัทธาเลื่อมใสของคนทั่วไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวตะวันตก เพราะถือเป็นรูปแบบการฝึกพัฒนาตนเองโดยเริ่มต้นจากการพัฒนาจิตเป็นสำคัญ
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านสื่อเทคโนโลยี
อิทธิพลจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ส่งผลให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน ได้อาศัยเทคโนโลยีและการสื่อสารมาเป็นเครื่องมือการเผยแผ่หลักธรรม ผ่านสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ อินเตอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ และสื่อผสมที่เรียกว่า "มัลติมีเดีย (Multimedia)" ต่างมีบทบาทสำคัญต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน เช่น การที่พระสงฆ์ผู้มีชื่อเสียงเขียนเรียบเรียงหนังสือธรรมะที่มีเนื้อหาอ่านเข้าใจได้ง่าย สนุกสนาน และให้แง่คิดคติสอนใจที่ดี การบรรจุประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในในอินเตอร์เน็ต ซึ่งคนทั่วไปสามารถเข้าไปศึกษาค้นคว้าได้อย่างสะดวก เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น