วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓หน่วยการเรียนรู้ที่ ๔ พระไตรปิฏก และพุทธศาสนสุภาษิต
๑.พระไตรปิฏก
๑.๑ โครงสร้าง ชื่อคัมภีร์ และสาระสังเขปของพระอภิธรรมปิฏก
พระไตรปิฏก คือ คัมภีร์บันทึกคำสอนทางพระพุทธศาสนา มี ๓ หมวดใหญ่ ได้แก่
หมวดที่ว่าด้วยศีลของพระภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ตลอดถึงพิธีกรรมต่าง ๆ เรียกว่า พระวินัยปิฏก
หมวดที่ว่าด้วยพระธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เทศนาของพระสาวกสำคัญบางองค์ เรียกว่า พระสุตตันตปิฏก
และหมวดว่าด้วยธรรมะที่อธิบายเป็นหลักวิชาชั้นสูงล้วน ๆ ไม่กล่าวถึงบุคคล และเหตุการณ์ เรียกว่า พระอภิธรรมปิฏก
ในที่นี้จะกล่างถึงพระอภิธรรมปิฏก ดังนี้
พระอภิธรรมปิฏก
เนื้อหาของพระอภิธรรมปิฏกก็คือ พระสูตรหรือเทศนาต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่บุคคลต่าง ๆ ต่างกรรม ต่างวาระ ซึ่งรวบรวมไว้ในพระสุตตันตปิฏกนั่นเอง แต่นำเอามาเรียบเรียงใหม่ในรูปแบบวิชาการ และอธิบายให้ละเอียด เป็นขั้นเป็นตอน แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ ดังนี้
คัมภีร์ ธัมมสังคณี สาระสังเขป รวมข้อธรรมเป็นหมวด ๆ แล้วแยกออกอธิบายเป็นประเภท ๆ
คัมภีร์ วิภังค์ สาระสังเขป แยกแยะธรรมในข้อธรรมสังคณี ออกแสดงให้เห็นรายละเอียด เพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้ง
คัมภีร์ ธาตุกถา สาระสังเขป จัดข้อธรรมต่าง ๆ มารวมลงในขันธ์ อายตนะและธาตุ ว่าข้อใดเข้ากันได้หรือไม่อย่างไร
คัมภีร์ ปุคคลบัญญัติ สาระสังเขป บัญญัติเรียกบุคคลต่าง ๆ ตามคุณธรรมที่มี เช่น เรียกว่า "โสดาบัน" เพราะเข้าถึงกระแสพระนิพพาน ละกิเลสได้ ๓ ชนิด
คัมภีร์ กถาวัตถุ สาระสังเขป อธิบายทัศนะที่ข้ดแย้งกันของนิกายต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาในยุคต้น ๆ เน้นทัศนะของนิกายเถรวาทว่าถูกต้อง คัมภีร์นี้พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระเป็นผู้แต่ง เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๓
คัมภีร์ ยมก สาระสังเขป ยกข้อธรรมขึ้นอธิบายเป็นคู่ ๆ เช่น กุศลกับอกุศล แล้วอธิบายโดยวิธีถามตอบ
คัมภีร์ ปัฏฐาน สาระสังเขป อธิบายปัจจัยหรือเงื่อนไขทางธรรม ๒๔ อย่าง ว่าธรรมใดเป็นเงื่อนไขของธรรมใด
๑.๒ เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฏก (พุทธปณิธาน ๔ ในมหาปรินิพพานสูตร)
พุทธปณิธาน คือ ความตั้งพระทัยของพระพุทธเจ้าว่า ตราบใดที่พระพุทธศาสนายังไม่แพร่หลาย คือ พุทธบริษัท ๔ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ยังไม่มีคุณสมบัติครบถ้วน พระองค์จะไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน คุณสมบัติดังกล่าว คือ
๑. ศึกษา คือศึกษา พระพุทธวจนะในพระไตรปิฎกให้เข้าใจอย่างน้อยต้องเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาสอนอะไร หลักคำที่สอนเป็นแก่นหรือสาระสำคัญของพระพุทธศาสนาคืออะไรบ้างวิธีที่จะเข้าใจพระพุทธศสนาอย่างลึกซึ้งจะต้องปฎิบัติตามขั้นตอนแห่ง หลักพหูสูตร ทั้ง 5 ข้อคือ
- ฟังมาก คืออ่านฟังศึกษาข้อมูล รายละเอียดต่างๆให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้
- จำได้เมื่อฟัง หรือศึกษาแล้ว ให้กำหนดจดจำให้ได้เพื่อจะได้นำไปถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจตาม
- คล่องปากประเด็นไหนมีความสำคัญมากก็ให้ท่องจนคล่องปาก ทำนองท่องบทอาขยาน
-เจนใจ นำมาขบคิดให้เกิดความเข้าใจกระจ่างในใจ จนสามารถมองเห็นภาพในใจ เวลาอธิบายให้คนอื่นเข้าใจก็อธิบายได้ทันที
- ประยุกต์ใช้เป็น คือนำเอาสิ่งที่ได้ศึกษา จำได้ ท่องคล่องปาก และเข้าใจชัดเจนนั้นมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตในปัจจุบบัน
๒. ปฏิบัติ คือต้องนำเอาทฤษฎี ความรู้นั้นมาปฏิบัติตนจนได้รับผลจากการปฏิบัติด้วย เช่น เมื่อทราบว่าพระพุทธศาสนาตำหนิการพนันว่าเป็น อบายมุข (ทางแห่งความเสื่อม)ก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่มัวเมาหมกหมุ่น ในอบายมุข เป็นต้น
๓. ชี้แจง คือสามารถนำไปถ่ายทอด ให้คนอื่นเข้าใจด้วยทำหน้าที่เป็น มัคคุเทศก์ ชี้ทางเดินแก่คนอื่นว่า ทางนี้เป็นทางเสื่อมไม่ควรเดินตาม ทางนี้เป็นทางแห่งความเจริญควรดำเนินตามคำสอนคำชี้แจงของผู้ที่ทำได้ตามสอน ย่อมมีความศักสิทธิ์หรือมีน้ำหนักควรฟังและปฏิบัติตาม
๔. ปกป้อง คราวใดมีผู้จ้วงจาบให้ร้ายป้ายสีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์หรือพระพุทธศาสนาโดยรวมไม่ว่าจะเกิดจากพุทธบริษัทที่หลงผิด หรือจาการเบียดเบียนรังแกจากศัตรูภายนอกก็ตาม พุทธศาสนิกชนพึงร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขให้ความเข้าใจผิดๆนั้นให้ควมขัดแย้งนั้นลุลาวงไป ไม่ปล่อยให้คาราคาซังโดยคิดว่าธุระไม่ใช่เป็นอันขาด
๒.พุทธศาสนสุภาษิต
๒.๑ อตฺตา ทเว ชิตํ เสยฺโย : ชนะตนนั่นแลดีกว่า
การชนะตน คือ ความสามารถในการควบคุมตนเองให้ประพฤติในสิ่งที่ดีงามตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา การควบคุมตนเอง หมายถึง การควบคุมทั้งกาย วาจา ใจ หรือกล่าวได้ว่า เป็นหลักธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพุทธวจนาไว้ในวันมาฆบูชา ที่เรียกกันว่า โอวาทปาฏิโมกข์ หรือโอวาท 3 คือการทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส
การชนะตนเอง หมายถึง การเอาชนะกิเลสของตนเองให้ได้ การเอาชนะแบบนี้เท่านั้นเท่านั้นนำมาซึ่งสันติภาพ เมื่อชนะใจตนเองแล้ว การชนะใจผู้อื่นจะนำมาซึ่งสันติภาพของโลก เหมือนกับที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ พระองค์ทรงชนะใจตนเองแล้วจึงชนะใจผู้อื่น ด้วยการอบรมสั่งสอนสาวกให้เลื่อมใสในพระธรรม เมื่อปวงชนได้นำหลักธรรมมาประพฤติปฏิบัติย่อมเกิดความสงบสุข ทำให้เกิดสันติภาพบนโลก
๒.๒ ธมฺมจารี สุขํ เสติ : ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข
กรมการศาสนา (2534) ได้อธิบายพุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ไว้ ความว่า ผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ย่อมมีใจหนักแน่นมั่นคง เป็นอิสระจากกิเลส ทำแต่สิ่งที่ควรทำ กล่าวแต่คำที่ควรพูด คิดแต่เรื่องที่ควรคิด เขาจึงอยู่เป็นสุขผู้ประพฤติธรรม ต้องมีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา รวมถึงผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริต เป็นผู้ทำสิ่งเลวร้ายให้กลายเป็นดี เกลียดธรรมที่เป็นไปเพื่อความแตกแยก ยินดีในธรรมที่เป็นไปเพื่อความสามัคคี มีความคงมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์เช่นเดียวกับภูเขาหินที่ฝังรากลึกลงไปในดินไม่กระเทือนเพราะถูกลมพัดฉะนั้น ดังนั้น ความเป็นอยู่ของผู้ประพฤติธรรมจึงอยู่เป็นสุขผู้ที่ต้องการความสุข อยากอยู่เป็นสุข ไม่เดือดร้อน ก็ต้องเร่งประพฤติธรรม เริ่มตั้งแต่การประพฤติดีปฏิบัติชอบเป็นต้นไป
๒.๓ ปมาโท มจฺจุโน ปทํ : ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย
ความประมาท คือ การขาดสติ ปล่อยใจให้ล่องลอยไป ไม่รู้สึกตัวว่ากำลังทำอะไร กำลังพูดอะไร ไม่รู้จักระวังตัวในสิ่งที่ควรระวัง ปราศจากความรอบคอบในการเตรียมตัวไว้เผชิญกับเหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคต
ความไม่ประมาท หมายถึง การมีสติตื่นอยู่เสมอ รู้ว่ากำลังทำอะไรในปัจจุบัน และเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่จะเกิดในอนาคต ความประมาทเป็นสิ่งไม่ดี และความไม่ประมาทเป็นสิ่งดี แต่หากระมัดระวังจนเกินเหตุก็จะกลายเป็นคนลังเลใจ ลงมือทำอะไรไม่ได้ มีแต่ความวิตกกังวลคิดล่วงหน้ามากไป มองโลกในแง่ร้ายมากเกินไป คนแบบนี้คงไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต แม้ว่าเหตุร้ายจะไม่ค่อยเกิดขึ้นกับเขา แต่คนที่ประมาทเกินไป ขาดสติบ่อยๆ ก็คงไม่ค่อยประสบความสำเร็จในชีวิตเหมือนกัน ดังนั้นจึงควรเดินตามทางสายกลาง ความประมาทมีได้ทั้งทางโลกและทางธรรม
ในทางธรรมนั้นการไม่ระวังตัวทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน คิดแต่เรื่องอกุศล ก็อาจเป็นทางให้เดินไปสู่ความชั่วได้โดยไม่ตั้งใจ ส่วนในทางโลกการไม่ระวังตัวขาดสติ ไม่รอบครอบ ไม่หาทางป้องกันอันตรายหรืออุปสรรค ที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำกิจกรรมต่างๆ ก็อาจเป็นทางทำให้กิจการนั้นๆเสียหายหรือได้ไม่ดีเท่าที่ควร ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ไม่เป็นไรแต่ถ้าความประมาทเกิดกับผู้ที่ต้องรับผิดชอบมากๆความเสียหายก็อาจเกิดขึ้นและกระทบถึงคนจำนวนมหาศาลได้ เช่น ผู้ดูแลโรงไฟฟ้าปรมาณูประมาทเลินเล่อ ทำให้คนจำนวนมากตาย หรือได้รับความทรมารจนตาย และทำให้พืชพรรณธัญญาหารเสียหายในบริเวณกว้าง
๒.๔ สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ การฟังที่ดีย่อมได้ปัญญา
การฟังเป็นทักษะพื้นฐานที่มนุษย์ใช้ภาษาในการสื่อสาร หากฟังแล้วเข้าใจจุดมุ่งหมายของผู้พูด จะทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้ามหากไม่เข้าใจจะทำให้การสื่อสารเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคม ก่อให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสาร อย่างเช่น การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนทางหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์บางฉบับ บางช่องในปัจจุบันบางครั้งการนำเสนอข่าวทำให้สังคมสับสนเกิดความขัดแย้งในการนำเสนอข่าวเลือกข้างสีเสื้อต่างๆ การนำเสนอข่าวไม่เป็นกลาง เพราะฉะนั้นผู้ฟังต้องฟังแบบมีสติ มีเหตุมีผลใช้ปัญญาพิจารณาเนื้อหาของข่าวแต่ละข่าวอย่างพินิจพิเคราะห์เป็นกลางในการรับฟังข่าวสารนั้นๆ อย่างไม่มีอคติไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่ง พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวไว้ว่า
การฟัง ตามคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ”สุตะ” แปลว่า สิ่งที่ได้สดับ หมายถึงความรู้ที่ได้จากการได้ยินได้ฟัง การสดับ การอ่าน การเล่าเรียน ความรู้ที่ได้จากการศึกษาศิลปวิทยาต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพและการประกอบกิจต่าง ๆ ในทางโลก สุตะที่เป็นคุณสมบัติของอริยสาวกนั้น หมายถึงความรู้ที่จำเป็นสำหรับทุกคนเพื่อให้รู้จักวิธีที่จะดำเนินชีวิตให้ดีงาม ทำให้รู้จักใช้สุตะ อื่น ๆ มีวิชาชีพ เป็นต้น ไปในทางที่เป็นคุณประโยชน์ ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เป็นส่วนเสริมสำหรับปิดกั้นโทษช่วยทำให้สุตะอื่นมีคุณค่าเต็มบริบูรณ์ เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาตามความหมายที่แท้จริง เป็นคุณด้านเดียว ยิ่งกว่านั้น สุตะ อย่างนี้เท่านั้น เป็นความรู้ที่ทำให้ปุถุชนกลายเป็นอริยะหรืออารยชนได้ สุตะ นี้ก็คือความรู้ในอริยธรรม คือหลักความจริงความดีงามที่อริยชนแสดงไว้ หรือ คำแนะนำสั่งสอนต่าง ๆ ที่แสดงหลักการครองชีวิตประเสริฐ ชี้มรรคาไปสู่ความเป็นอริยชน สุตะในศิลปวิทยาต่าง ๆ จะต้องมีสุตะในอริยธรรมนีควบหรือแทรกอยู่ด้วยเป็นส่วนเติมเต็มเสมอไป
ในมงคล ๓๘ ประการได้กล่าวถึง การเป็นพหูสูต หมายถึง ผู้ได้ฟังมาก หรือ บางครั้งเรียกว่า การฟังธรรมตามกาล ซึ่งหมายถึง การได้ฟังธรรมตามเวลาที่สมควร หรือตามโอกาสที่มาถึง เช่น ได้ฟังธรรมในวันธรรมสวนะ ๘ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น