วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓หน่วยการเรียนรู้ที่ ๓หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาหลักธรรมในนิโรธ และมรรค
๒.๓ นิโรธ (ธรรมที่ควรบรรลุ)
นิโรธ คือ ความดับทุกข์ หลักธรรมที่ควรบรรลุเพื่อดับทุกข์ ได้แก่ อัตถะ
อัตถะ คือ "ประโยชน์หรือจุดหมาย" ในที่นี้หมายถึง คุณประโยชน์ของการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ถ้าจะถามว่า พระธรรมมีคุณประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติอย่างไร คำตอบที่สั้นและครอบคลุมความที่สุดก็คือ "พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติมิให้ตกไปในที่ชั่ว" คำว่า "ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว" ในที่นี้ ขยายความว่า ประสบความสุข ความเจริญในชีวิต ทั้งในระดับต้น ๆ และระดับสูงสุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติตามธรรมข้อใดถึงขั้นใด เพราะพระธรรมของพระพุทธเจ้ามีหลายระดับ ตั้งแต่ธรรมขั้นพื้นฐานเพื่อชี้นำแนวทางการดำรงชีวิตที่ดีของผู้ที่ยังอยู่ในเพศคฤหัสถ์ ยังต้องการความสุขความสำเร็จทางโลก จนกระทั่งธรรมชั้นสูงอันเป็นหลักปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์อย่างแท้จริง
ประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์
ความหมาย ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง บ้างเรียกว่า หัวใจเศรษฐี "อุ อา กะ สะ" อาจเรียกสั้น ๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ (เนื่องจากอัตถะ แปลว่า ประโยชน์อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีประโยชน์ ซ้ำซ้อนกันสองคำก็ได้) หรืออาจเรียกเต็ม ๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔ หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น เพื่อประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มี ทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม ๔ ประการ
แนวทางปฏิบัติ
๑.อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น เช่นขยันหมั่นเพียร เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่อง อันเป็นอุบายในการงานนั้น ให้สามารถทำได้สำเร็จ
๒.อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ (ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม) เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล ไม่ให้ถูกลัก หรือทำลายไปโดยภัยต่างๆ
๓.กัลยาณมิตร คบคนดี ไม่คบคนชั่ว อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
๔.สมชีวิตา อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้
สัมปรายิกัตถะ
ความหมาย สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภายหน้า, ประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป อันได้แก่ ความมีจิตใจเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมความดี ทำให้ชีวิตนี้มีค่า และเป็นหลักประกันชีวิตในภพหน้า ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยธรรม ๔ ประการ
แนวทางปฏิบัติ
๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือสิ่งที่ควรเชื่อ เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล รักษากาย วาจา เรียบร้อยดีไม่มีโทษ
๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาค เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น
๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์
ธรรม ๔ อย่างนี้เรียกเต็มว่า สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม
ปรมัตถะ
ความหมาย ปรมัตถะ ประโยชน์ขั้นสูงสุด ประโยชน์อย่างยิ่ง หรือ พระนิพพาน
แนวทางปฏิบัติ
ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘
๒.๔ มรรค (ธรรมที่ควรเจริญ)
มรรค คือ ทางแห่งความดับทุกข์ หลักธรรมที่ควรปฏิบัติเพื่อเป็นทางไปสู่ความดับทุกข์ ได้แก่
๑) มรรคมีองค์ ๘
หรือ "ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา" แปลว่า "ทาง" หรือ "มรรควิธีที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์หรือดับตัณหา" ในที่นี้หมายถึง มรรคมีองค์ ๘ หรือ "มรรค ๘" ดังนี้
๑.สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) หมายถึง ความรู้ในอริยสัจ 4
๒.สัมมาสังกัปปะ (ความคิดที่ถูกต้อง) หมายถึง ความคิดในการออกจากกาม ความไม่พยาบาท และการไม่เบียดเบียน
๓.สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ
๔.สัมมากัมมันตะ (การปฏิบัติที่ถูกต้อง) หมายถึง เจตนาละเว้นจากการฆ่า การเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ และการประพฤติผิดในกาม
๕.สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากมิจฉาชีพ
๖.สัมมาวายามะ (ความเพียรที่ถูกต้อง) หมายถึง สัมมัปปธาน 4 คือ ความพยายามป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุศลที่ยังไม่เกิด และดำรงรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
๗.สัมมาสติ (การมีสติที่ถูกต้อง) หมายถึง สติปัฏฐาน 4
๘.สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิที่ถูกต้อง) หมายถึง ฌาน 4
มรรคมีองค์ ๘ นี้ เมื่อจัดเข้าในระบบการฝึกอบรม หรือเรียกว่า "ไตรสิกขา" จัดเป็นศีล สมาธิ และปัญญา ได้ดังนี้
- หมวดปัญญา ได้แก่ ๑.สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) ๒.สัมมาสังกัปปะ (ความคิดที่ถูกต้อง)
- หมวดศีล ได้แก่ ๓.สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) ๔.สัมมากัมมันตะ (การปฏิบัติที่ถูกต้อง) ๕.สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง)
- หมวดสมาธิ ได้แก่ ความเพียรชอบ ๗.สัมมาสติ (การมีสติที่ถูกต้อง) ๘.สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิที่ถูกต้อง)
๒) ปัญญา ๓ แปลว่า "ความรู้ทั่วถึง" หมายถึง "รู้แจ่มแจ้งหรือรู้ตลอดหมด ถ้ารู้ไม่ทั่วถึง รู้ไม่แจ่มแจ้งโดยตลอด ไม่นับว่าเป็นปัญญาที่แท้จริง ดังเรื่องของคนตาบอดคลำช้าง ๘ คน ใครคลำถูกส่วนไหนของช้างก็รู้เฉพาะส่วนนั้น ทั้ง ๘ คนไม่รู้ว่าช้างทั้งตัวเป็นอย่างไร ต่างจากคนตาดี ซึ่งมองเห็นช้างชัดเจนและรู้ตลอด
ปัญญามี ๒ ประเภท คือ ปัญญาที่มีมาแต่กำเนิด (สหชาติกปัญญา) และปัญญาที่มีขึ้นมาภายหลังด้วยการศึกษาเล่าเรียน (โยคปัญญา) ปัญญาประเภทหลังนี้เท่านั้นที่ต้องการเน้นในที่นี้ เพราะเรื่องของปัญญาหรือความรู้นั้นเป็นเรื่องที่ฝึกอบรมกันได้ ดังพุทธจวจนะว่า "ปัญญาย่อมมีได้เพราะการฝึกฝนพัฒนา เสื่อมไปเพราะไม่ฝึกฝนพัฒนา" การพัฒนาปัญญามี ๓ วิธี ดังนี้
๒.๑) สุตมยปัญญาสุตมยปัญญา : ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการศึกษาเล่าเรียน กล่าวคือ สุตมยปัญญา ถือเป็นการเข้าถึงซึ่งปัญญาในระดับเบื้องต้น ด้วยการศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเองในด้านต่างๆ ทั้งการอ่านตำราด้วยตนเอง และการสดับรับฟังจากคณาจารย์ รวมถึงการศึกษาเล่าเรียนจากสื่ออื่นที่เข้าถึงได้
๒.๒) จินตามยปัญญาจินตามยปัญญา : ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการคิดวิเคราะห์ กล่าวคือ จินตามยปัญญา เป็นการได้มาซึ่งปัญญาขั้นกลางโดยใช้พื้นฐานปัญญาที่ได้รับจากการศึกษาเล่าเรียนในขั้นสุตมยปัญญา คือ การนำองค์ความรู้ที่ได้จากตำราเรียน หรือ จากคณาจารย์ผู้สอนมาคิดวิเคราะห์ หาเหตุ หาผล หาข้อเท็จจริงอันที่จะเป็นไปได้ โดยไร้ซึ่งอคติโน้มเอียงในตำรา และผู้สอน โดยให้ยึดหลักธรรมที่เรียกว่า กาลามสูตร ๑๐ ประการ
กาลามสูตร ๑๐ ประการ คือ พึงอย่าเพราะฟังตามกันมา อย่าเชื่อเพราะถือปฏิบัติสืบๆกันมา อย่าเชื่อเพราะการเล่าลือ อย่าเชื่อเพราะอ่านในตำรา อย่าเชื่อเพราะเพราะคิดด้วยตนเอง อย่าเชื่อเพราะการคาดเดา อย่าเชื่อเพราะมีเหตุผลประกอบ อย่าเชื่อเพราะมีทฤษฎีที่คนอื่นกล่าวไว้ อย่าเชื่อเพราะรูปลักษณ์ อย่าเชื่อเพราะเขาเป็นครูเรา หรือใช้หลักธรรมอื่นที่เป็นพื้นฐานสำคัญของปัญญา คือ โยนิโสมนัสสิการ
เมื่อคิดวิเคราะห์ตามประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่เราสนใจในมูลเหตุต่างๆด้วยการใช้หลักกาลามสูตร ๑๐ ประการ และโยนิโสมนัสสิการ ย่อมจะเกิดปัญญารู้แจ้งหรือได้ข้อเท็จจริงในสิ่งนั้น ว่าเป็นจริงหรือเป็นเท็จประการใด
๒.๓) ภาวนามยปัญญา ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากฝึกฝน หรือ ลงมือปฏิบัติ กล่าวคือ หมายถึง จินตามยปัญญา เป็นการได้มาซึ่งปัญญาระดับสุดท้าย โดยใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียน และคิดวิเคราะห์จนได้ข้อเท็จจริงในสิ่งนั้น แล้วนำแนวทางเหล่านั้นมาใช้ในการปฏิบัติจริง ทั้งในชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์ และการปฏิบัติธรรมของภิกษุ
๓) บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
ตามหลักพุทธศาสนา มีการทำบุญด้วยกัน ๑๐ วิธี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ) คือ
๑. ให้ทาน แบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ (ทานมัย) การให้ทานเป็นการช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ความคับแคน ความตระหนี่ถี่เหนียว และความติดยึดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไปก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคลหรือชุมชนโดยส่วนรวม
๒. รักษาศีล ก็เป็นบุญ (ศีลมัย) เป็นการฝึกฝนที่จะ ลด ละ เลิกความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นเป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงามและพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ
๓. เจริญภาวนา ก็เป็นบุญ (ภาวนามัย) การภาวนาเป็นการพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่า จิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น
๔. อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรมรวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกันทั้งในความคิด ความเชื่อและวิถีปฏิบัติของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ก็เป็นบุญ (อปจายนมัย)
๕. ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง ช่วยเหลือสละแรงกาย เพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นบุญ (ไวยาวัจจมัย)
๖. เปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือในการทำงานก็เปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วมทำ ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ก็เป็นบุญ (ปัตติทานมัย)
๗. ยอมรับและยินดีในการทำความดี หรือทำบุญของผู้อื่น การชื่นชมยินดีหรืออนุโมทนาไม่อิจฉาหรือระแวงสงสัยในการกระทำความดีของผู้อื่น ก็เป็นบุญ (ปัตตานุโมทนามัย)
๘. ฟังธรรม บ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมสวนมัย)
๙. แสดงธรรม ให้ธรรมะและข้อคิดที่ดีกับผู้อื่น แสดงธรรมนำธรรมะไปบอกกล่าว เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงามก็เป็นบุญ (ธรรมเทศนามัย)
๑๐. ทำความเห็นให้ถูกต้องและเหมาะสม มีการปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น ความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญ ถือเป็นบุญด้วยเช่นกัน (ทิฏฐุชุกรรม)
ทิฏฐุชุกรรมหรือสัมมาทัศนะ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำบุญทุกชนิดและทุกโอกาส จะต้องประกบและประกอบเข้ากับบุญกิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ เพื่อให้งานบุญข้อนั้น ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมาย พร้อมทั้งได้ผลถูกทาง
๔) อุบาสกธรรม ๗
พุทธศาสนิกชนจำเป็นต้องมีกิจวัตรเป็นหลักปฏิบัติ เรียกว่า อุบาสกธรรม ซึ่งมีอยู่ ๗ ประการคือ
๑.หมั่นไปวัดตามโอกาสที่เหมาะสม เพราะ การไปวัดจะได้พบปะกับพระภิกษุผู้ทรงศีลทรงคุณธรรมหรือได้พบกับมิตรที่สนใจในเรื่องธรรมเหมือนกับเรา ย่อมได้ชื่อว่าเป็นการคบหากัลยาณมิตร หรือเรียกว่ามิตรที่ดี ซึ่งจะส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้น ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า
ยํ เว เสวติ ตาทิโส ( ยังเว เสวะติ ตาทิโส ) คบคนเช่นไรก็เป็นคนเช่นนั้นแล
๒.หมั่นฟังธรรม เมื่อมีโอกาสควรใส่ใจในการฟังธรรมอยู่เสมอ เพราะการฟังธรรมเป็นเหตุให้ได้รู้สิ่งไม่รู้ ส่วนสิ่งที่รู้แล้วก็จะช่วยให้เข้าใจยิ่งขึ้น เช่น การไปวัดเพื่อฟังเทศน์ ฟังธรรมตามโอกาสต่าง ๆ ฟังการแสดงธรรมเทศนาทางวิทยุหรือทางโทรทัศน์ เป็นต้น
๓.พยายามสนใจศึกษาและรักษาศีลให้บริสุทธิ์ โดยนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศานามาใช้ปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิตให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจว่าตนเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง
๔.มีความเลื่อมใสในพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพราะพระสงฆ์แต่ละรูปได้เสียสละความสุขทางโลก เพื่อมาประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอันเป็นหนทางไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์และพระสงฆ์ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบต่ออายุของพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวตลอดไป
๕.ตั้งจิตให้เป็นกุศลในขณะฟังธรรม มิใช่ฟังธรรมโดยคิดในแง่ อคติ คิดขัดแย้ง พยายามฟังธรรมเพื่อก่อให้เกิดกุศล จิตใจจะได้เป็นสุข
๖.ทำบุญกุศลตามหลักและวิธีการของพระพุทธศาสนา ไม่แสวงบุญนอกคำสอนของพระพุทธเจ้า ควรประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
๗.ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาในทุก ๆ ด้าน ถ้าสามารถช่วยเหลือพระพุทธศาสนาได้ ด้วยวิธีการใดก็ควรขวนขวายเร่งรีบกระทำ อาทิ การตั้งชมรมพุทธศาสน์ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย จัดให้มีการอบรมเยาวชน บุคคลทั่วไป หรือ คนต่างชาติให้เข้าใจใน พระพุทธศาสนา
๔) มงคล ๓๘
มงคล ๓๘ คือ มูลเหตุแห่งความสุข จำนวน ๓๘ ข้อ ที่ช่วยส่งเสริมความสุข และความก้าวหน้า ทำให้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "มงคลชีวิต ๓๘" ซึ่งไม่ใช่แนวคิดที่พึ่งพาปาฏิหาริย์แต่อย่างใด ทว่าเป็นหลักปฏิบัติง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน
ในที่นี้ (ตามหนังสือแบบเรียน) จะกล่าวถึงเพียงบางข้อ
มงคลข้อที่ ๘ การรอบรู้ในศิลปะ
บาลี : สิปฺปญฺจ (สิปปัญจะ)
ความหมาย : มีความรู้ในการใช้มือปฏิบัติการงานต่างๆ สามารถประกอบวิชาชีพได้ ชีวิตไม่อับจน
มงคลข้อที่ ๒๖ การฟังธรรมตามกาล
บาลี : กาเลน ธมฺมสฺสวนํ (กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง)
ความหมาย : เมื่อมีโอกาสให้ฟังธรรมะ คิดทบทวนถึงประโยชน์แห่งหลักธรรม แล้วนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
มลคงข้อที่ ๒๙ การได้เห็นสมณะ
บาลี : สมณานญฺจ ทสฺสนํ (สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง)
ความหมาย : สำหรับผู้ที่อยู่ในสมณเพศ ต้องเป็นผู้ที่สงบกาย วาจา และใจ
มงคลข้อที่ ๓๐ การสนทนาธรรมตามกาล
บาลี : กาเลน ธมฺมสากจฺฉา (กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา)
ความหมาย : แลกเปลี่ยนสาระความรู้กับผู้อื่น พูดด้วยวาจาที่ไม่โอ้อวด และมีความรู้จริงในสิ่งที่พูด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น