วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2564

การเผยแผ่และการพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก (เอเชีย-ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน)

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๑
เรื่องที่ ๓.การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
(ประเทศศรีลังกา เนปาล และภูฏาน)


๒) ประเทศศรีลังกา
ธงชาติประเทศศรีลังกา

ตำแหน่งของประเทศศรีลังกาในแผนที่โลก
แผนที่ประเทศศรีลังกา





เป็นดินแดนที่ประชาชนศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงเรื่อยมา หลักคำสอน กิจกรรม และพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ได้ฝังรากลึกลงในวิถีชีวิตของประชาชนชาวศรีลังกาอย่างแนบแน่น การสืบต่อพระพุทธศาสนาในศรีลังกามีความใกล้ชิดกับไทย ทำให้รูปแบบการนับถือพระพุทธศาสนาของไทย และศรีลังกามีความผูกพันธ์กันอย่างแนบแน่นตลอดเวลา



พระพุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ประเทศศรีลังกาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.๒๓๖ - ๒๘๗ เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระมินทเถระและภิกษุณีสังฆมิตตาไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในศรีลังกา ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ภายใต้การอุปถัมภ์ขององค์พระมหากษัตริย์ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญอย่างแพร่หลาย พระองค์ทรงประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งเป็นเช่นนี้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๔ ก็ได้กระทำกันที่เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา

เจดีย์ถูปาราม เจดีย์ทางพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในศรีลังกา

พระพุทธศาสนาเถรวาทเคยเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในศรีลังกา จนได้ชื่อว่าเป็นอูอารยธรรมทางพระพุทธศาสนา ภายหลังจากการเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนาในอินเดีย มีนักปราชญ์และชาวพุธทั่วโลกมุ่งเข้าไปศึกษาหาความรู้และได้นำเอาพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทไปเผยแผ่ในประเทศของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในภูมิภาคเอเชีนตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เมียนมา ไทย เป็นต้น ได้นำเอาพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เข้ามาประดิษฐานในประเทศของตน


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของพระพุทธศาสนาในศรีลังการุ่งเรืองและเสื่อมถอยลงแตกต่างออกไปในแต่ละยุคสมัย โดยมีฐานสำคัญแห่งความเสื่อมถอยและความเจริญอยู่ที่การอุปถัมภ์บำรุงของพระมหากษัตริย์และเหตุการณ์ทางการเมืองการปกครอง

พระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ กษัตริย์มหาราชที่สำคัญพระองค์หนึ่งของลังกา

จึงกล่าวได้ว่าความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในศรีลังกาเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจทางการปกครอง โดยใน พ.ศ. ๒๒๘๒ - ๒๒๙๐ เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่พระพุทธศาสนาในศรีลังกาเกิดการเสื่อมถอยลงมากที่สุด พระเจ้าศรีวิชัยราชสิงห์ได้ส่งทูตมาขอพระสงฆ์จากไทย เพื่อไปอุปสมบทให้กุลบุตรชาวศรีลังกา แต่เกิดเรืออัปปางในระหว่างการเดินทาง ต่อมาใน พ.ศ.๒๒๙๒ กษัตริย์ศรีลังกาโดยคำแนะนำของสามเณรสรณังกร ได้ส่งทูตมาขอพระสงฆ์จากกรุงสยามอีกครั้ง กรุงสยามในรัขสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงได้จัดส่งคณะพระสงฆ์ชาวไทยภายใต้การนำของพระอุบาลีมหาเถระ เดินทางไปยังศรีลังกา และให้การอุปสมบทแบบไทยแก่กุลบุตรชาวศรีลังกา สามเณรรูปแรกที่ได้รับการอุปสมบท คือ สามเณรสรณังกร ซึ่งต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชแห่งศรีลังกา ในนิกายสยามวงศ์เป็นองค์แรก

พระเจ้ากิตติราชสิงหะ และสามเณรสรณังกร
แผ่นป้ายทองจารึกแสดงหลักฐานของพระอุบาลีมหาเถระ จากสยามประเทศ




๓) ประเทศเนปาล

ธงชาติประเทศเนปาล
ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศเนปาลในแผนที่โลก
แผนที่ประเทศเนปาล



ในอดีตเนปาลเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย อันเป็นสถานที่ตั้งของสวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ร่องรอยของพระพุทธศาสนาในอดีตที่แสดงถึงความศรัทธาของชาวเนปาลที่มีต่อพระพุทธศานาที่ปรากฏให้เห็น นอกจากสวนลุมพินีวันแล้ว วัดและพุทธโบราณสถานที่เจ้าหญิงจารุมตี พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงสร้างไว้ยังปรากฏเป็นหลักฐานในนครกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของประเทศเนปาลในปัจจุบัน
ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ในประเทศเนปาล

วัดและโบราณสถานที่เจ้าหญิงจารุมตี พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช สร้างไว้

พระพุทธศาสนาเถรวาทได้เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในประเทศเนปาลในยุคแรก จากการที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระมัชฌิมเถระเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้ ต่อมาพระพุทธศาสนาเถรวาทเสื่อมถอยลง เนปาลได้กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนามหายานนิกายตันตระ ซึ่งผสมผสานกับความเชื่อพื้นเมืองที่เชื่อในคาถาอาคมและไสยศาสตร์


ปัจจุบันได้มีความพยายามฟื้นฟูพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในเนปาลอย่างต่อเนื่อง คณะสงฆ์เนปาลได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จไปในการบรรชาและอุปสทบทกุลบุตรชาวเนปาล รวมถึงยังได้ส่งพระภิกษุสามเณรและกุลบุตรชาวเนปาลมาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็ได้กลับไปเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มาตุภูมิ
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พ.ศ. ๒๕๑๔ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกเสด็จไปดูการพระศาสนาและการศึกษาในประเทศเนปาล ประเทศอินเดีย และประเทศปากีสถาน ทำให้เกิดงานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศเนปาลขึ้น 



๔) ประเทศภูฏาน
ธงชาติภูฏาน
ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศภูฏานในแผนที่โลก
แผนที่ประเทศภูฏาน
วัดถ้ำเสือ หรือวัดทักซัง สถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดังของภูฏาน

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ภูฏานในราว พ.ศ.๘๐๐ - ๑๒๐๐ โดยท่านคุรุปัทมสัมภวะ หรือ อุกเยน คุรุ รินโปเช ซึ่งเดินทางจากทิเบต เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในภูฏาน ด้วยหลักคำสอนและพิธีกรรมของพระพุทธศาสนาแบบวัชรยาน ที่ผสมผสานกับความเชื้อดั้งเดิมของประชาชนที่เชื่อในเรื่องเวทย์มนตรและภูติผีปีศาจ พระพุทธศาสนาแบบวัชรยานจึงเจริญรุ่งเรืองและเป็นศาสนาประจำชาติในประเทศภูฏาน
 
ภาพวาดท่านคุรุปัทมสัมภวะ
ผู้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ในประเทศภูฏาน
รูปแบบพระพุทธศาสนานิกายวัชรยานในประเทศภูฏาน


ต่อมาในราว พ.ศ.๑๗๖๓ ลามะปาโซ หรือ ดรุกอมชิงโป ซึ่งเป็นชาวทิเบต ได้เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในภูฏาน และก่อตั้งนิกายดรุกปะกัคยุขึ้น ซึ่งได้เจริญแพร่หลายมาก จนถึงยุคของท่านงาวังนัมเยล ผู้นำนิกายดรุกปะกัคยุ ในขณะนั้น ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและสร้างความเจริญให้กับภูฏาน ได้สร้างซอง หรือตึกอาคารสถานที่ทำงานขึ้นมากมาย ที่สำคัญคือ พูนาคาซอง ซึ่งเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีสำคัญของชาวภูฏาน เช่น พิธีสถานปนาเจเคนโป หรือสมเด็จพระสังฆราช เป็นสำนักงานกลางบริหารงานคณะสงฆ์ของภูฏาน เป็นต้น นอกจากนั้น ท่านยังได้รวบรวมชาวภูฏานให้เป็นหนึ่งเดียว จนได้สมญานามว่า "ซับดรุง" หมายถึง บุคคลที่ทุกคนต้องยอมอ่อนน้อมให้ หรือผู้ที่ทุกคนยอมศิโรราบแทบเท้า และได้วางรากฐานการปกครองภูฏานด้วยกฏหมาย ๒ ฉบับ คือ อาณาจักร หรือกฏหมายทางโลก เรียกว่า "ชา ลุง มิลุ ลุง" และพระพุทธจักรหรือกฏหมายทางใจ เรียกว่า "โล ทริม มิลุ ทริม"

พูนาคาซอง สถานที่ประกอบพิธีสำคัญของชาวภูฏาน

Zhabdrung Ngawang Namgyal
(ซับดรุง งาวังนัมเยล)
พระพุทธศาสนานิกายดรุกปะกัคยุ (Drukpa Kagyu) ในภูฏาน


ปัจจุบันชาวภูฏานมีความศรัทธาและยึดมั่นในพระพุทธศาสนา วิถีชีวิตส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เมื่อมีลูกนิยมให้พระสงฆ์เป็นผู้ตั้งชื่อให้ในความหมายดี ๆ เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว ครอบครัวใดมีลูกชาย มักจะส่งไปบวชเรียนตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อศึกษาหลักธรรมของพระพุทธศาสนา

วิถีขีวิตของชาวภูฏานกับพิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา
 
เหล่าเด็ก ๆ ชาวภูฏานที่ได้บวเรียนเพื่อศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
















 











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น