วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564

หน่วยการเรียนรู้ที่ ๓ ไตรลักษณ์ วัฏฏะ ๓ และปปัญจธรรม ๓

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๓
หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
ไตรลักษณ์ วัฏฏะ ๓ และปปัญจธรรม ๓


๒) ไตรลักษณ์ 

แปลว่า "ลักษณะ ๓ อย่าง" หมายถึง ลักษณะ ๓ ประการ ของสิ่งทั้งปวง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็น "สามัญลักษณะ" ของสรรพสิ่ง คือ เป็นลักษณะร่วมหรือลักษณะทั่วไปของสิ่งทั้งปวง สิ่งต่าง ๆ นั้นอาจมีลักษณะที่ต่างกันออกไป แต่ทุกสิ่งจะต้องมีลักษณะ ๓ อย่างนี้ จึงกล่าวได้ว่าไตรลักษณ์เป็นกฏธรรมชาติ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "ไม่ว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะอุบัติขึ้นในโลกหรือไม่ก็ตาม กฏธรรมชาตินี้ก็ยังคงมีอยู่และเป็นไปตลอดกาล พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ค้นพบแล้วนำมาประกาศเปิดเผยให้คนอื่นเข้าใจตามเท่านั้น"

ลักษณะของสิ่งทั้งปวง ๓ ประการ มีดังนี้


๒.๑) อนิจจตา 

มาจาก
"อ" แปลว่า "ไม่"
"นิจจ" แปลว่า "คงทน ถาวร เที่ยง"
"ตา" แปลว่า "ภาวะ"
รวมแล้วแปลว่า "ภาวะที่ไม่คงทนถาวร หรือภาวะที่ไม่เที่ยง" ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ มีเกิดมีดับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บางสิ่งเราเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน เช่น ทารกเกิดมาตัวเล็ก ๆ ค่อย ๆ โตขึ้นเป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว แล้วก็แก่ สุดท้ายก็ตาย เป็นต้น บางสิ่ง เช่น ภูเขา เราสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้ยาก ดูเหมือนว่าร้อยปีพันปีก็ยังเหมือนเดิม แต่จริง ๆ แล้วมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่สังเกตเห็นไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น เป็นต้น

สิ่งที่เป็นนามธรรมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเหมือนกัน เช่น ได้ลาภมาก็เสื่อมลาภได้ ได้ยศมาก็เสื่อมยศได้ มีคนนินทาก็มีคนสรรเสริญได้ เป็นคนดีมาก่อนก็กลายเป็นคนชั่วได้ เป็นคนชั่วมาก่อนก็กลายเป็นคนดีได้ วันนี้สิ่งหนึ่งให้ความสุขกับเราได้ ภายหลังสิ่งนั้นก็อาจให้ความทุกข์เราได้ เป็นต้น


อนิจจตา เป็น "เนื้อใน" ของสิ่งนั้น หรือเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ การที่ผมหงอก ผิวหนังเหี่ยวปรากฏให้เห็นนั้น เพราะเนื้อแท้ของสิ่งเหล่านั้นไม่มีความสมบูรณ์ในตัว มีความบกพร่องในตัว จึงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องมีอันเปลี่ยนแปลงไป

๒.๒) ทุกขตา 

มาจาก
"ทุกข์" แปลว่า "ทนไม่ได้ ทนอยู่ได้ยาก"
"ตา" แปลว่า" "ภาวะ"
เมื่อรวมกันแล้วแปลว่า "ภาวะที่ทนอยู่ได้ยาก หรือภาวะที่ขัดแย้งไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องอยู่ในตัว พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา" ตัวอย่างเช่น เมื่อทารกเกิดมา ทารกนี้จะทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มีภาวะอย่างหนึ่งอยู่ในตัวทารกที่จะผลักดันให้ทารกกลายเป็นเด็ก โตขึ้น เป็นวันรุ่น วัยกลายคน เป็นคนแก่ ฯลฯ นอกเสียแต่ว่าจะมีสิ่งที่มาขัดขวางการเปลี่ยนแปลงนี้ นี้คือตัวอย่างของภาวะที่ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ 

๒.๓) อนัตตา

มาจากคำว่า
"อน" (อะนะ) แปลว่า "ไม่"
"อัตตา" แปลว่า "ตัวตน"
"ตา" แปลว่า "ภาวะ"
รวมแล้วแปลว่า "ภาวะที่ไม่มีตัวตน หรือ ภาวะที่หาตัวตนมิได้"
อนัตตา มีความหมาย ๒ นัย คือ

นัยที่ ๑ ไม่มีตัวตน หมายความว่า ไม่ใช่ตัวตนของคน สิ่งที่เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งประกอบเข้าเป็นรูปร่างที่เราเข้าใจว่า "คน" นี้ ไม่ใช่ตัวของคน ดังพุจวนะในอนัตลักขณสูตรว่า "เนตํ มม นั่นมิใช่ของเรา เนโสหมสฺมิ นั่นมิใช่เรา เนโส เม อตฺตา นั่นมิใช่ตัวตนของเรา"มันเป็นเพียงสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นและดำเนินไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น

นัยที่ ๒ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่มีวิญญาณถาวร หรือ "สิ่ง" ซึ่งอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย อนัตตาในความหมายนี้ ตรงกันข้ามกับอัตตาหรืออาตมันที่ลัทธิศาสนาอื่น ๆ เชื่อถือและยืนยันว่ามีจริง

ในศาสนาเทวนิยม เช่น ศาสนาฮินดู เชื่อว่ามีอัตตาถาวรที่เป็นศูนย์รวมแห่งความเปลี่ยนแปลง หรือเป็นหลักแห่งการคงเดิม เป็นสิ่งที่มีอยู่โดยตนเอง มีบูรณภาพในตัวมันเอง เช่น เรานำมะม่วงมาผลหนึ่งเมื่อวันก่อน มะม่วงนั้นแก่แล้วแต่ยังไม่สุก จึงมีสีเขียวค่อนข้างแข็ง มีกลิ่นของผลไม้สดอยู่ เรานำมะม่วงผลนี้มาบ่ม วันนี้ปรากฏว่ามะม่วงผลนี้มีคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น สี กลิ่น ความแข็ง ความอ่อน ต่างไปจากมะม่วงดิบเมื่อสองวันก่อน แต่เราก็ทราบดีว่ามันเป็นมะม่วงผลเดียวกัน มะม่วงดิบเมื่อสองวันก่อนกับมะม่วงสุกในวันนี้จึงน่าจะมี "อะไรบางอย่าง" อยู่ร่วมกับ "อะไรบางอย่าง" นี่แหล่ะคือตัวตนที่แท้จริงของมะม่วงผลนี้ ตัวตนนี้เป็นหลักแห่งการคงเดิม ที่ทำให้มะม่วงเมื่อสองวันก่อนกับมะม่วงสุกวันนี้เป็นผลเดียวกัน แม้คุณสมบัติอื่น ๆ จะเปลี่ยนไปก็ตาม

ปรัชญาเมธีทั้งตะวันตะและตะวันออก ต่างยอมรับว่าทุกอย่างแปรสภาพ ไม่คงที่ คือ มองเห็นว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกขัง แต่ยังมีความรู้สึกว่าเบื้องหลังการแปรสภาพนั้นจะต้องมี "อะไรบางอย่าง" ที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นตัวยืนโรง หรือเชื่อมประสาน หาไม่แล้วมะม่วงดิบเมื่อสองวันก่อน มันจะเป็นผลเดียวกับมะม่วงสุกวันนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่มี "สิ่ง" คอยเชื่อมหรือควบคุมการแปรสภาพ แต่พระพุทธศาสนาชี้ว่า การที่มะม่วงดิบเมื่อสองวันก่อนเป็นผลเดียวกับมะม่วงสุกในวันนี้ เพราะผลแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สืบเนื่องกันเป็นกระแส ถ่ายโอนศักภาพสืบต่อกันมา หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่าเป็นเพราะการสืบต่อไม่ขาดสาย (สันตติ) เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขของธรรมชาติ ก็ไม่จำเป็นต้องมี "ผู้" หรือ "สิ่ง" ใดมาบันดาลให้เป็นไป หากแต่มันเป็นไปเองตามเงื่อนไข และเสื่อมสลายไปเมื่อหมดเงื่อนไข เปรียบเหมือนเมื่อมีเชื้อ มีไฟ การลุกไหม้ก็เกิด เมื่อเชื้อหมด การลุกไหม้ก็ดับ ไม่ต้องมี "ผู้ใหม้" อยู่เบื้องหลัง "การไหม้" หรือ "ผู้ดับ" อยู่เบื้องหลัง "การดับ"


หลักคำสอนเรื่องไตรลักษณ์ เป็นหลักธรรมชั้นสูงที่ละเอียดลึกซึ้ง หลักธรรมนี้ช่วยเตือนสติเราว่าสรรพสิ่งล้วนแปรเปลี่ยนไป อย่ายึดมั่นจนเกินไป วันนี้รวยพรุ่งนี้อาจจน วันนี้ใคร ๆ ชื่นชมวันหลังอาจไม่มีใครเหลียวแลเลยก็ได้ วันนี้มีแต่คนสรรเสริญวันหลังอาจมีคนด่าว่านินทา หรือตรงกันข้าม วันนี้จนพรุ่งนี้อาจรวยก็ได้ ทุกสรรพสิ่งแปรเปลี่ยนไปไม่มีตัวตนให้ยึดมั่นถือมั่นได้ตลอดไป ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนไม่ยอมปล่อยวาง ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ทรัพย์สิน เงินทอง รูปร่าง หน้าตา ฯลฯ ล้วนแต่จะทำให้ชีวิตมีแต่ความทุกข์ ความกลัดกลุ้ม ความว้าวุ่นใจ 

๒.๒ สมุทัย (ธรรมที่ควรละ)

สมุทัย คือ สาเหตุแห่งการเกิดความทุกข์ หลักธรรมที่ควรละเพื่อไม่ให้เกิดทุกข์ ได้แก่


๑) หลักกรรม (วัฏฏะ ๓)

พระพุทธศาสนาสอนเรื่อง "สังสารวัฏ" คือ การเวียนว่ายตายเกิด มนุษย์ปุถุชนที่ยังมีกิเลสอยู่เมื่อตายไปแล้วต้องไปเกิดใหม่ในภพใดภพหนึ่ง เมื่อตายในภพใหม่ ก็ต้องไปเกิดใหม่อีกหากยังมีกิเลสอยู่ จะเป็นเช่นนี้เรื่อย ๆ จนกว่าจะหลุดพ้นจากกิเลสได้หมดสิ้น


"วัฏฏะ" แปลว่า "วน" หรือ "วงกลม" มี ๓ อย่าง คือ

กิเลสวัฏฏะ หรือเรียกว่า กิเลส
กรรมวัฏฏะ หรือเรียกว่า กรรม
วิบากวัฏฏะ หรือเรียกว่า วิบาก

เมื่อบุคคลทำอะไรลงไป ไม่ว่าจะทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ หากทำลงไปด้วยกิเลสที่อยู่ในใจก็จะก่อให้เกิดกรรมขึ้น เมื่อเกิดกรรมขึ้นก็จะเกิดวิบาก คือ ผลตามมา วิบากหรือผลนี้ก็จะก่อให้เกิดกิเลสขึ้นอีก และกิเลสนี้จะก่อให้เกิดกรรมขึ้นอีก กรรมนี้ก็จะก่อให้เกิดวิบากหรือผลขึ้นอีก วนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าบุคคลจะดับกิเลสได้หมดสิ้น จึงจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

ตัวอย่างเช่น
นาย ก ชอบเล่นการพนันเป็นหนี้และถูกเจ้าหนี้ขู่จะทำร้าย จึงคิดทำการทุจริตที่เรียกว่า กิเลสเกิดขึ้น ไตร่ตรองอยู่นาน ในที่สุดก็ลงมือทำเรียกว่า กรรม แต่ถูกจับได้และไล่ออกจากงาน นี่คือวิบาก เมื่อไม่มีงานก็ไม่มีเงินก็คิดทำการทุจริตอีก ก็เกิดกิเลสขึ้นอีก วนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ

๒) ปปัญจธรรม ๓


คือ เครื่องทำให้เนิ่นช้า อันหมายถึง กิเลสที่ทำให้การศึกษา และปฏิบัติตามพุทธรรมไม่ดำเนินไปด้วยดี มีอยู่ ๓ ประการ ดังนี้

๒.๑) ตัณหา คือ ความทะยานอยาก (ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวตามที่หนังสืออธิบาย) มีกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา 


๒.๒) มานะ คือ ความถือตัว ทนงตัว สำคัญตนว่าเป็นนั่น เป็นนี่ คิดว่าตนเองเหนือกว่า เด่นกว่าผู้อื่น แสดงตนข่มขู่ผู้อื่น คิดว่าตัวเองดีที่สุด


๒.๓) ทิฏฐิ คือ ความยึดติดในความเห็นของตน งมงายโดยปราศจากเหตุผล ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น คลั่งไคล้ความเชื่อ ลัทธิ ทฤษฏี หรืออุดมการณ์ต่าง ๆ โดยปราศจากการไตร่ตรอง คิดว่าความเชื่อของตนเองถูกเสมอ

ตัณหา มานะ และทิฏฐิ เกิดจากการถือเอาตนเป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดความเชื่อเรื่อง "อัตตา" หรือ "ตัวตน" ผู้ที่เชื่อเรื่องอัตตาหรือตัวตน จะมองสิ่งต่าง ๆ ในโลกว่า "นี้ของเรา เราเป็นนั่น นั่นคือตัวของเรา" หรือถ้าจะให้ชัดเจนลงไป อาจกล่าวได้ว่า ความเห็นทั้งสามก่อให้เกิดตัณหา มานะ และทิฏฐิ

กิเลสทั้งสามนี้ขัดขวางการเข้าใจและการปฏิบัติตามพุทธรรม ทำให้เกิดความทุกข์ในใจ เกิดความวุ่นวายสับสน มองปัญหาต่าง ๆ ผิดจากความเป็นจริง ทำให้การเดินทางไปสู่พุทธรรมหลงทาง วิธีแก้ก็คือ ต้องมองว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนที่เราจะไปยึดถือ ต้องพยายามมองโลกไปในทางที่ว่า "นี่ไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นมิใช่ตัวตนของเรา" การมองโลกอย่างนี้จะช่วยให้กิเลสเบาบางลง การเดินทางไปสู่พุทธรรมก็ง่ายขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น