วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓ ความสำคัญของพระพุทธศาสนา

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๑
เรื่องที่ ๘ ความสำคัญของพระพุทธศาสนา

๓.๑ พระพุทธศาสนาในฐานะที่ช่วยสร้างสรรค์อารยธรรมให้แก่โลก



พระพุทธศาสนามีส่วนสำคัญในการจัดรูปแบบการปกครองที่ดี การจัดระเบียบสังคม และสร้างสรรค์อารยธรรมให้แก่โลก ดังนี้

๑) ด้านการปกครอง 

หลักธรรมสำหรับผู้ปกครองบ้านเมือง ได้แก่



๑.๑) การปกครองระบอบราชาธิปไตย สังคมใดปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย หรือสมบูรณาญาสิทธิราช ที่มีพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธ์ขาดในการปกครองแต่เพียงผู้เดียว พระพุทธศาสนาได้เสนอหลักคำสอนที่เน้นให้ผู้ปกครองมีคุณธรรม เป็นผู้นำที่ดี เพราะถ้าผู้นำมีคุณธรรม ก็จะปกครองประเทศด้วยความยุติธรรม ปราศจากการเบียดเบียนรังแกผู้ใต้ปกครอง

ผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องมีคุณสมบัติ หรือคุณธรรม ดังนี้

(๑) ทศพิธราชธรรม คุณธรรมสำหรับผู้ปกครอง มี ๑๐ ประการ ได้แก่ ทาน ศีล ปริจาคะ อาชชวะ มัทวะ ตบะ อักโกธะ อวิหิงสา ขันติ และอวิโรธนะ




(๒) จักรวรรดิวัตร เป็นหน้าที่ประจำของผู้ปกครอง ๕ ประการ ได้แก่ ธรรมาธิปไตย ธรรมิการักขา อธรรมการนิเสธนา ธนานุประทาน และปริปุจฉา

อธิบาย
ธรรมาธิปไตย (ถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นหลัก เป็นธงชัย เป็นธรรมาปิไตย)
ธรรมิการักขา (จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรม
อธรรมการนิเสธนา (ห้ามกั้น มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต คือ จัดการป้องกัน แก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง
ธนานุประทาน (ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น
ปริปุจฉา (ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง ข้อนี้ปัจจุบันสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย


๑.๒) การปกครองระบอบสามัคคีธรรม พระพุทธศาสนาได้มีหลักอปริหานิยธรรม (วัชชีอปริหานิยธรรม) เพื่อประยุกต์ใช้ในการปกครอง ดังนี้

๑.หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เพื่อปรึกษาหารือกิจการงาน
๒.พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิก
๓.ไม่บัญญัติวางข้อกำหนดกฏเกณฑ์ต่าง ๆ หรือยกเลิกสิ่งที่บัญญัติไว้แล้วตามอำเภอใจของตน โดยไม่ได้ปรึกษาหารือกัน
๔.เคารพ ให้เกียรติ ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์
๕.ให้เกียรติกุลสตรี กุลกุมารีทั้งหลาย และให้ความคุ้มครอง มิให้ถูกข่มเหงรังแกโดยไม่เป็นธรรม
๖.เคารพ บูชาเจดีย์ ปูชนียสถาน และอนุเสาวรีย์ประจำชาติ
๗.จัดอารักขา บำรุง คุ้มครอง อันชอบธรรมแก่บรรพชิตผู้ทรงศีล

๒) ด้านการจัดระเบียบสังคม 



สถาบันทางสังคมต่าง ๆ ที่มีอยู่นั้น ถ้าหากบุคคลในสถาบัน ไม่ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง สถาบันนั้นก็ไม่มีความมั่นคง พระพุทธศาสนาได้สอนหลักธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญมั่นคง พระพุทธศาสนาได้สอนหลักธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญมั่นคงแห่งสถาบันทางสังคมต่าง ๆ ไว้มากมาย หลักธรรมเรื่อง "ทิศ ๖" จึงเป็นตัวอย่างของการจัดระเบียบสังคมและสอนวิธีที่คนในสังคมนั้นจะต้องปฏิบัติต่อกันให้ถูกต้อง เพื่อความมั่นคงและสงบสุขของสถาบัน ดังต่อไปนี้

๒.๑) สถาบันครอบครัว 


แบ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา และบิดามารดากับบุตรธิดา โดยมีหน้าที่พึงปฏิบัติต่อกัน ดังนี้

บิดามารดากับบุตรธิดา



หน้าที่บิดามารดา พึงปฏิบัติต่อบุตรธิดา
๑.ห้ามปรามมิให้ทำชั่ว
๒.อบรมสั่งสอนให้ทำดี
๓.ให้การศึกษาอันเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต
๔.เป็นธุระในการจัดหาคู่ครองที่เหมาะสม
๕.มอบทรัพย์สมบัติให้เมื่อถึงโอกาส เช่น วันเกิด วันแต่งงาน เป็นต้น

หน้าที่บุตรธิดาพึงปฏฺบัติต่อบิดามารดา
๑.เลี้ยงท่านเมื่อยามชรา
๒.ช่วยทำกิจการงานของท่าน คือ ทำงานที่มอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย
๓.ดำรงวงศ์สกุล หมายถึง การประพฤติ ปฏิบัติ พยายามดูแลรักษาให้วงศ์สกุลเจริญรุ่งเรืองสืบไป
๔.ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาทสกุล คือ ประพฤติตนให้เป็นคนดี ละเว้นจากความชั่ว
๕.เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ควรทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน

สามีกับภรรยา



หน้าที่สามีพึงปฏิบัติต่อภรรยา
๑.ยกย่องให้เกียรติ สมฐานะที่เป็นภรรยา
๒.ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามวงศ์ตระกูล รูปร่างหน้าตา และสติปัญญาของภรรยาตน
๓.ไม่นอกใจภรรยาทั้งต่อหน้าและลับหลัง รวมทั้งต้องมีรักเดียวใจเดียว มีความซื่อสัตย์
๔.มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้ คือ ให้ภรรยาดูแลกิจการและทรัพย์สมบัติในบ้านตามความเหมาะสม
๕.หาเครื่องแต่งตัวมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส

หน้าที่ภรรยาพึงปฏิบัติต่อสามี
๑.จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
๒.สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
๓.ไม่นอกใจ
๔.รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
๕.ขยัน ช่างจัด ช่างทำการงานทุกอย่าง

๒.๒) สถาบันสังคม 


แบ่งความสัมพันธ์ระหว่างมิตรกับมิตร และนายจ้างกับลูกจ้าง โดยมีหน้าที่พึงปฏิบัติต่อกัน ดังนี้

มิตรกับมิตร (ในหนังสือไม่ใช่หลักของมิตรในทิศ ๖ แต่นำมาจากมิตร ๔)



มิตรมีอุปการะ
๑.เพื่อนประมาทช่วยกันป้องกันเพื่อน
๒.เพื่อนประมาทช่วยกันรักษาทรัพย์สินของเพื่อน
๓.เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้
๔.มีกิจจำเป็นช่วยออกทรัพย์สินให้เกินกว่าที่เพื่อนออกปาก

มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข
๑.บอกความลับแก่เพื่อน
๒.รักษาความลับของเพื่อน
๓.เมื่อมีภัยอันตราย ไม่ละทิ้งเพื่อน
๔.แม้ชีวิตก็สละให้เพื่อนได้

มิตรแนะนำประโยชน์
๑.ห้ามมิให้เพื่อนทำความชั่วเสียหาย
๒.เมื่อรู้เห็นว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ก็บอกให้เพื่อนรู้
๓.สนับสนุนให้ทำดี
๔.แนะนำทางดำเนินชีวิตที่ดีให้

มิตรมีใจรัก
๑.เพื่อนสุข เราสุขด้วย
๒.เพื่อนทุกข์ เราทุกข์ด้วย
๓.ผู้อื่นติเตียนเพื่อน ก็ช่วยแก้ต่างให้
๔.ผู้อื่นสรรเสริญเพื่อน ก็ช่วยพูดเสริม สนับสนุน

นายจ้างกับลูกจ้าง


นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้าง
๑.จัดหางานให้ทำตามความสามารถ
๒.ให้ค่าจ้างเหมาะสมตามความรู้ความสามารถ
๓.จัดสวัสดิการให้ด้วยดี
๔.จัดของพิเศษให้
๕.ให้มีวันหยุดและพักผ่อนตามโอกาสอันควร

ลูกจ้างปฏิบัติต่อนายจ้าง
๑.เข้างานก่อนนาย คือ เตรียมคอยรับงานที่นายมอบหมายและทำจนสำเร็จเรียบร้อย
๒.เลิกงานหลังนาย คือ พยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายจนสำเร็จ แม้เวลาจะล่วงเลยบ้างก็นึกเสียว่างานของนายสำคัญ
๓.ถือเอาแต่ของที่นายให้ คือ ไม่โลภ ไม่เห็นแก่ตัว
๔.ทำานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
๕.นำความดีของนายและกิจการงานไปเผยแพร่

๒.๓) สถาบันการศึกษา 



เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น เป็นสถานที่ให้ความรู้ และอบรมสั่งสอนนักเรียนให้มีความรู้ เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีคุณภาพ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาใช้ในการพัฒนาตน พัฒนาสังคมและประเทศชาติ บุคคลสำคัญของสถาบันการศึกษา คือ ครูอาจารย์กับศิษย์ พึงปฏิบัติต่อกันให้ถูกต้องเหมาะสม ดังนี้

ครูอาจารย์กับศิษย์



ครูอาจารย์ปฏิบัติต่อศิษย์
๑.แนะนำฝึกฝนให้ศิษย์เป็นคนดี
๒.สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓.ยกย่องความดีงามของศิษย์ให้ปรากฏ
๔.สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๕.สอนให้ศิษย์ปฏิบัติได้จริง นำวิชาไปเลี้ยงชีพได้

ศิษย์ปฏิบัติต่อครูอาจารย์
๑.แสดงความเคารพอย่างสูงตามโอกาสเหมาะสม
๒.เข้าไปหาเพื่อขอรับคำแนะนำ
๓.ปรนนิบัติรับใช้ท่านตามโอกาสอันเหมาะสม
๔.ตั้งใจฟังคำสอนของครูอาจารย์
๕.เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ คือ การตั้งใจฟังคำสั่งสอนที่ท่านถ่ายทอดโดยความเคารพอย่างสูง

๒.๔) สถาบันศาสนา 



พระสงฆ์กับประชาชน พึงปฏิบัติต่อกันให้ถูกต้องเหมาะสม ดังนี้

พระสงฆ์ปฏิบัติต่อประชาชน
๑.ห้ามมิให้ทำชั่ว
๒.อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี คือ ส่งเสริมให้กุลบุตรกุลธิดามีน้ำใจ โอบอ้อมอารี มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์
๓.ให้ตั้งอยู่ในความดี
๔.ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๕.ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
๖.สอนวิธีดำเนินชีวิตให้ประสบความสุข

ประชาชนพึงปฏิบัติต่อพระสงฆ์
๑.จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา
๒.จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
๓.จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
๔.ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
๕.อุปถัมภ์บำรุงด้วยปัจจัย ๔

๓) ด้านการสร้างสรรค์อารยธรรมให้แก่โลก 



ตลอดเวลาที่ผ่านมา พระพุทธศาสนามีส่วนในการสร้างสรรค์อารยธรรมให้แก่โลก ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๓ ด้าน ดังนี้



๓.๑) ด้านจิตใจ โดยทั่วไปมีปัญหาใหญ่ ๆ ๒ เรื่อง คือ ทางกายกับทางใจ เรื่องกายได้แก่ เรื่องของปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค คนส่วนใหญ่แม้จะมีปัจจัย ๔ ครบแล้ว ก็ยังต้องการความสุขทางกาย หรือความสุขทางวัตถุที่ดีเลิศขึ้นไป แต่ความสุขทางวัตถุมีเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้ชีวิตมนุษย์มีความพอใจและสงบสุขได้ จะเห็นได้ว่า ในประเทศที่มีการพัฒนาทางวัตถุแล้ว ผู้คนก็มิได้มีความสุขจริง ๆ แต่มีปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด ปัญหาโรคเครียด เป็นต้น และเมื่อคนเรามีความอุดมสมบูรณ์ทางวัตถุถึงจุด ๆ หนึ่ง ก็เกิดความเบื่อหน่าย เหงา และว้าเหว่ รู้สึกว่ามีความบกพร่องทางด้านจิตใจ จึงเห็นได้ว่า คนในประเทศที่มีการพัฒนาทางวัตถุสูง ๆ จะพากันหันมาให้ความสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้นที่มีชาวตะวันตกเข้ามาบวชเรียนและปฏิบัติธรรม แต่เขายังเดินทางไปประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วย

พระพุทธศาสนาเป็นแหล่งที่ให้อาหารทางใจแก่มนุษย์มานานแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปี และยังยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมโลก และมีชาวโลกจำนวนมากที่เห็นว่าพระพุทธศาสนาได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งต่ออารยธรรมของมนุษยชาติ



๓.๒) ด้านวิชาการ พระพุทธศาสนานั้น นอกจากจะเป็นดวงไฟชี้ทางให้มนุษย์ได้ประสบกับความสงบสุขทางจิตใจแล้ว ยังมีลักษณะเป็นปรัชญา ซึ่งเป็นวิทยาการแขนงหนึ่ง ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนาได้อธิบายถึงหลักฐานของชีวิตและสรรพสิ่งทั้งปวงด้วยวิธีการของเหตุผล นักวิชาการในประเทศต่าง ๆ ทั้งในซีกโลกตะวันออกและตะวันตก ได้ศึกษาค้นคว้าและทำการวิจัยเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนากันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นน้ำของโลกต่างก็มีการสอนวิชาพระพุทธศาสนา บางแห่งสอนจนถึงระดับปริญญาเอก หนังสือและเอกสารทาทงวิชาการที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก็ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาต่าง ๆ อย่างมากมาย



๓.๓) ด้านวัตถุ นอกจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จะเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมทางด้านจิตใจของโลกแล้ว พระพุทธศาสนาก็ยังสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นวัตถุให้เป็นมรดกแก่อารยธรรมของโลกด้วย โดยผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้สร้างพระพุทธรูป เจดีย์ สถูป วัด และศาสนสถานอื่น ๆ ไว้ทั่วโลก ศาสนวัตถุเหล่านี้ ได้รับการสร้างขึ้นอย่างประณีตด้วยแรงกายแรงปัญญา และแรงทรัพย์ที่เกิดจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนา

๓.๒ พระพุทธศาสนาในฐานะที่ช่วยสร้างความสงบสุขให้แก่โลก


อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา คือ การสร้างความสงบสุขแก่ชาวโลก โดยหลักคำสอนที่เป็นไปเพื่อความสงบสุขแก่โลกมีมากมาย ในที่นี้ขอยกมาเพียงบางประการ ดังต่อไปนี้



๑.พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น เช่น หลักคำสอนในศีล ๕ เน้นการไม่เบียดเบียนตนเอง (ข้อที่ ๕) และการไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ละเมิดสิทธ์ของรักของหวงของคนอื่น (ข้อ ๑, ๒, ๓, ๔)



๒.พระพุทธศาสนาสอนให้มีเมตตาต่อกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง จะพูด จะทำ จะคิด ก็มีจิตประกอบด้วยเมตตา มีความรักและอภัยซึ่งกันและกัน ให้ถือว่ามนุษย์ในโลกนี้ ถึงแม้ว่าจะต่างเพศ ต่างชาติ ต่างศาสนา ก็ล้วนแต่เป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งสิ้น เป็นเสมือนพี่น้องครอบครัวเดียวกัน เวลาอยู่รวมกันมาก ๆ ย่อมมีบ้างในบางครั้งที่อาจล่วงเกินผู้อื่น โดยเจตนาหรือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราก็ต้องรู้จักอดกลั้นและให้อภัยซึ่งกันและกัน



๓.พระพุทธศาสนาสอนให้มีความเสียสละ ซึ่งมีความหมาย ๒ นัยด้วยกัน คือ เสียสละภายใน คือ ละโลภ โกรธ หลง ความหวงแหน ความยึดมั่น ความเห็นแก่ตัว ออกจากใจ เป็นต้น และเสียสละภายนอก คือ การเฉลี่ยแบ่งปันวัตถุสิ่งของที่ตนมี สงเคราะห์แก่คนอื่นบ้าง คนเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข จะต้องรู้จักเสียสละให้แก่กันและกัน เริ่มด้วยการเสียสละประโยชน์และความสุขที่ตนมีเฉลี่ยแบ่งปันแก่คนอื่น พระพุทธศาสนาได้สอนขั้นตอนแห่งการเสียสละตั้งแต่ขั้นต้น ๆ จนกระทั่งขั้นสูงสุด คือ การเสียสละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องดีงามของสังคม


๔.พระพุทธศาสนาสอนให้มีความอดทน (ขันติ) และไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนเกินไป (อนัตตา) ธรรมะ ๒ ข้อนี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน คือ คนจะมีความอดทนได้ดีนั้นจะต้องเป็นคนยึดมั่นในตัวตนน้อย หรือมีอัตตาเบาบาง ไม่เห็นว่าตนสำคัญมากเสียจนเห็นคนอื่นต่ำต้อยหรือเป็นคนไม่ดี และคนเช่นนี้ย่อมสามารถอดทนต่อการต่ำกว่าหรือการล่วงเกินของคนอื่นได้ ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงเน้นว่าคนที่ต่ำกว่าล่วงเกินคนอื่นเป็นคนไม่ดี แต่คนที่ต่ำกว่าตอบผู้ที่ด่าว่าตนนับว่าเป็นคนที่ไม่ดียิ่งกว่าเสียอีก เพราะฉะนั้น จึงควรรู้จักอดทนอดกลั้นและอดทนต่อคำดุด่าเสียดสีของคนอื่น



๕.พระพุทธศาสนาสอนให้เป็นคนใจกว้าง ยอมรับความแตกต่างได้ คือ สอนให้รู้ความจริงว่าในโลกที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมากนั้น ย่อมมีความแตกต่างกันในเรื่องต่าง ๆ มากมาย เราต้องหัดเป็นคนมีใจกว้าง ยอมรับความแตกต่างนั้น ๆ ได้ เช่น ยอมรับความคิดเห็นหรือความเชื่อถือที่แตกต่าง เป็นต้น



๖.พระพุทธศาสนาสอนให้เอาชนะความชั่วด้วยความดี ไม่ให้เอาชนะความชั่วด้วยความชั่ว เช่น เขาด่ามาเราด่าตอบไป เขาเอาเปรียบเราหนึ่งเท่าเราเอาเปรียบเขาเพิ่มขึ้นอีกสองเท่า เป็นต้น อันนี้มิใข่ทางที่ถูกต้อง ยิ่งทำก็ยิ่งเพิ่มความชั่วร้ายขึ้น ดุจดังเอาน้ำโสโครกล้างด้วยน้ำโสโครก ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่าพึงเอาชนะความชั่วร้ายด้วยความดี เช่น เอาชนะคนโกรธด้วยการไม่โกรธตอบ เอาชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ เอาชนะคนพูดเหลวไหลด้วยการพูดความจริง เอาชนะเวรด้วยการไม่จองเวร เป็นต้น



กล่าวสรุปได้ว่า
พระพุทธศาสนาซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย ปัจจุบันได้เผยแผ่ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ถึงแม้ว่าในบางทวีป อาทิ ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา การนับถือพระพุทธศาสนาจะยังคงจำกัดอยู่แต่เฉพาะในกลุ่มชาวเอเชียด้วยกันก็ตาม แต่ในอนาคตอันใกล้นี้คงมีชาวพื้นเมืองหันมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนากันมากขึ้น ทั้งนี้ พระพุทธศาสนาได้พิสูจน์ให้สังคมโลกประจักษ์แล้วว่าหลักธรรมของพระพุทธเจ้าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ หรือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี และช่วยสร้างความสงบสุขให้เกิดแก่ชาวโลกอีกด้วย

จบเนื้อหาหน่วยการเรียนรู้ที่ ๑



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น