วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓ หน่วยการเรียนรู้ที่ ๒ พุทธประวัติ

วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓ 
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๒ 
เรื่องที่ ๑ พุทธประวัติ 


หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วก็ทรงมีพระกรุณาสังสอนสัตว์โลกให้ปฏิบัติตามจนสามารถละความทุกข์ สร้างความสุขแก่ตนเองและสร้างสันติสุขแก่สังคม
การศึกษาพุทธประวัติ ประวัติพระสาวก และชาดกต่าง ๆ จึงสะท้อนว่าทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยความเพียรและสติปัญญา จริยาวัตรอันดีงามและคุณธรรมของแต่ละท่านเป็นผลจากการฝึกฝนและพัฒนาตนในทางที่ถูกต้องดีงาม ซึ่งชาวพุทธควรดำเนินตาม เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและสังคมต่อไป

๑.พุทธประวัติ


๑.๑ การแสดงปฐมเทศนา


หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงเสวยวิมุตติสุขอยู่ภายใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ และต้นไม้ต่าง ๆ ในปริมณฑล ๔ สัปดาห์ พอขึ้นสัปดาห์ที่ ๕ ทรงพิจารณาเห็นว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นั้นลึกซึ้งคัมภีรภาพมาก ยากที่บุคคลผู้ติดอยู่ใน "อาลัย" (กิเลส คือ โลภ โกรธ หลง) จะเข้าใจได้ เบื้องแรกไม่ทรงคิดจะเสด็จออกไปสอนใคร เกรงว่าจะเหนื่อยเปล่า แต่เพราะพระมหากรุณาสงสารสัตว์โลกที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ ซึ่งบุคคลแรกที่ทรงมีพระประสงค์จะแสดงธรรมโปรด คือ อาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร แต่เมื่อทรงทราบด้วยพระญาณว่า ท่านทั้งสองได้สิ้นชีพไปก่อนหน้านั้น ๗ วัน จึงตัดสินพระทัยจะไปโปรดปัญจวัคคีย์ อันมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า ซึ่งเคยอุปัฏฐากรับใช้พระองค์ขณะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา แต่เมื่อเห็นพระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา จึงพากันหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี (ปัจจุบันคือเมืองสารนาถ รัฐอุตรประเทศ)
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอธิบายให้ปัญจวัคคีย์ทราบว่าพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว และปัญจวัคคีย์ยินยอมรับฟัง พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงปฐมเทศนาที่เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" ให้ฟัง มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้



ขั้นที่ ๑ ทรงชี้ว่ามีทาง "สุดโต่ง" ๒ ทาง ที่บรรพชิตไม่พึงปฏิบัติ คือ การหมกมุ่นในกาม อันเป็นทางหย่อนเกินไป และการทรมาณตนให้ลำบาก อันเป็นทางตึงเกินไป ซึ่งการกระทำทั้ง ๒ อย่างนี้ ไม่สามารถทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างถาวร

ขั้นที่ ๒ ทรงแสดง "ทางสายกลาง หรือ มัฌชิมาปฏิปทา" คือ อริยมรรคมีองค์แปดประการ ได้แก่ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ สติชอบ และสมาธิชอบ

ขั้นที่ ๓ ทรงแสดง "อริยสัจสี่ประการ" คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อย่างพิศดาร และครบวงจร ว่าพระองค์ทรงตรัสรู้สิ่งเหล่านี้อย่างไร

ขั้นที่ ๔ เป็นผลจากการแสดงธรรมจบลง อาจารย์ผู้รวบรวมคัมภีร์นำมาผนวกหลังจากฟังเทศน์จบลง โกณฑัญญะได้ "ดวงตาเห็นธรรม" คือ เข้าใจแจ่มแจ้งว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีการดับสลายเป็นธรรมดา" พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า "โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ" (อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ)
โกณฑัญญะได้ทูลขอบวช พระพุทธองค์ก็ประทานการบวชให้ด้วยการอุปสมบท ที่เรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" ท่านอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นพระสาวกรูปแรกในพระพุทธศาสนา

ขั้นที่ ๕ กล่าวถึงเทพทั้งหลายตั้งแต่ภุมมเทวดา ได้ป่าวร้องบอกต่อ ๆ กันไปจนถึงหมู่พรหมว่า พระพุทธเจ้าทรงหมุนกงล้อคือพระธรรม ที่ไม่มีใครไม่ว่าสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม สามารถหมุนกลับได้
จากพุทธประวัติตอนนี้มีประเด็นที่พึงวิเคราะห์วิจารณ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งดังต่อไปนี้



๑.เมื่อพระพุทธองค์ทรงมีพระดำริจะไม่เสด็จไปสอนใครในชั่วขณะจิตหนึ่ง ท้าวสหัมบดีพรหมได้มาอัญเชิญให้พระพุทธองค์เสด็จไปสอน โดยกล่าวว่า "สัตว์มีธุลีในดวงตาน้อยยังมีอยู่ เมื่อไม่ได้ฟังธรรม จักเสื่อมจากประโยชน์ที่พึงได้" ความหมายของท้าวสหัมบดีพรหมก็คือ บุคคลผู้มีพื้นความรู้ความสามารถจะฟังเข้าใจยังมีอยู่
พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเปรียบเทียบกับดอกบัวทั้ง ๓ เหล่า คือ (ดอกอุบล ดอกปทุม และดอกบุณฑริก) ซึ่งเจริญงอกงามในสระ ๓ ระดับ และทรงเห็นว่าสัตว์โลกที่มีระดับสติปัญญาจะเข้าใจพระธรรมมีอยู่จริง จึงได้ทรงรับคำอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม (ตามหลักฐานในพระไตรปิฏกเล่มที่ ๔ ข้อที่ ๙ หน้าที่ ๑๑ มีบัว ๓ ระดับเท่านั้น แต่ต่อมาพระอรรถกถาจารย์ได้เพิ่มเข้ามาอีกระดับหนึ่ง เรียกว่า "ดอกบัว ๔ เหล่า")
ข้อความตรงนี้เป็นบุคลาธิษฐาน ถอดเป็น "ภาษาธรรม" หรือ "ธัมมาธิษฐาน" ว่าพรหมเป็นสัญลักษณ์แทนพรหมวิหารธรรมอันมีเมตตากรุณาเป็นหลัก การที่ท้าวสหัมบดีพรหมมาเชิญ หมายถึง พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาสงสารสัตว์โลกที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกไปโปรด การเสด็จออกไปโปรดสัตว์ของพระพุทธองค์เป็นความเคลื่อนไหวด้วยพระมหากรุณาอย่างใหญ่หลวง พอ ๆ กับพระพรหมที่คนสมัยนั้นนับถือกันมาอัญเชิญเลยทีเดียว



๒.การที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะไปสอนปัญจวัคคีย์ให้ได้ แม้พบคนอื่นที่พึงสอน เช่น อุปกาชีวก ก็มิได้สอน เนื่องจากมีเหตุผล ดังนี้
ทรงต้องการแก้ความเข้าใจผิดของปัญจวัคคีย์ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ว่าการทรมานตัวเองด้วยการอดอาหารมิใช่ทางบรรลุมรรคผลอย่างที่พวกเขาเข้าใจ อริยมรรคมีองค์แปดเท่านั้นที่จะทำให้บรรลุถึงนิพพานได้
ทรงต้องการสักขีพยานแห่งการตรัสรู้ เมื่อทรงแสดงธรรมให้ปัญจวัคคีย์บรรลุธรรมแล้ว เท่ากับว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ผู้ที่ตรัสรู้ตามเป็นสักขีพยาน ยืนยันว่าแนวทางของพระพุทธองค์สามารถนำพาผู้ปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์ได้จริง



๓.เหตุที่พระธรรมเทศนานี้มีชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร (สูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อ คือ พระธรรม) เป็นการเปรียบเทียบกับทางโลก คือ พระมหาราชผู้ยิ่งใหญ่เมื่อต้องการเป็นใหญ่เหนือแว่นแคว้นทั้งหลาย จะทำพิธีอัศวเมธ ปล่อยม้าอุปการไปยังเมืองต่าง ๆ เมื่อม้าผ่านไปยังเมื่องใด ถ้าเจ้าเมืองนั้นเกรงบารมีก็จะส่งเครื่องบรรณาการมายอมสยบเป็นเมืองขึ้น แต่ถ้าไม่ยินยอมก็จะฆ่าม้านั้นเสีย และพระมหาราชพระองค์นั้นก็จะยกทัพไปปราบผู้แข็งข้อ ล้อรถศึกของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ผ่านไปในทิศทางใด ยากที่ใคร ๆ จะต้านทานได้ฉันใด เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมอันว่าด้วยอริยสัจสี่ประการที่ไม่เคยมีประกาศมาก่อน เท่ากับทรงหมุนกงล้อแห่งธรรมที่ไม่มีใครคัดค้านได้ ล้อแห่งธรรมนี้หมุนไปยังทิศทางใด ก็จะขจัดทำลายอวิชชาออกจากจิตใจผู้คน ให้ได้พบกับแสงสว่างแห่งชีวิตในที่สุดฉันนั้น เพราะฉะนั้น พระธรรมเทศนานี้ จึงเรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

๑.๒ โอวาทปาฏิโมกข์


เมื่อส่งสาวกแยกย้ายไปประกาศพระพุทธศาสนายังแว่นแคว้นต่าง ๆ แล้ว พระองค์เสด็จโดยลำพังไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ถวายป่าไผ่สร้างวิหารที่ประทับของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ เรียกว่า "วัดพระเวฬุวัน" อันเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
ครั้นพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะ ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ พระสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ รูป ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดพระเวฬุวันโดยมิได้นัดหมายกัน ท่านเหล่านั้นเป็นเอหิภิกขุ (พระสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าประทานอุปสมบทให้) เป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา พระพุทธองค์ทรงเห็นการประชุมใหญ่ของสงฆ์ ประกอบด้วยองค์ ๔ (จาตุรงคสันนิบาต) จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ หรือ พระโอวาทสำคัญ มีทั้งหมด ๑๓ หัวข้อธรรม ซึ่งสรุปประเด็นได้ ดังนี้



๑.ทรงแสดงถึงอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน
๒.ทรงแสดงถึงหลักการทั่วไปของพระพุทธศาสนา ๓ ประการ คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้พร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
๓.ทรงแสดงถึงวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยเน้นการไม่ว่าร้ายคนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น ใช้ขันติธรรม และสันติวิธีในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
๔.ตรัสถึงคุณสมบัติของผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่น จะต้องเป็นผู้เคร่งครัดในระเบียบข้อบังคับ อยู่ในที่สงบสงัด รู้ประมาณโภชนาการ และฝึกจิตให้มีสมาธิอย่างสูงยิ่ง
เหตุการณ์ครั้งนี้ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงบัญญัติให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง คือ วันมาฆบูชา และได้ถือปฏิบัติมาจนถึงบัดนี้

จากพุทธประวัติตอนนี้มีข้อพิจารณาและวิเคราะห์ได้ ดังนี้



๑.ถามว่าเพราะเหตุใดภิกษุจำนวนมากถึง ๑,๒๕๐ รูป จึงมาประชุมกันในวันนี้ และการมาประชุมกันนั้น มาโดยมิได้นัดหมายกันมาก่อนจริงหรือ คำตอบที่น่าเป็นไปได้ก็คือ พระภิกษุเหล่านั้น พระพุทธองค์ทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนายังแว่นแคว้นต่าง ๆ มานานพอสมควร (๔ เดือนหลังจากประกาศพระพุทธศาสนา) เมื่อไปทำงานได้ผลหรือมีอุปสรรคอะไร ก็ประสงค์จะมาเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อรายงานให้ทรงทราบ เมื่อได้ทราบว่าพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่วัดพระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ จึงเดินทางมาเพื่อรอเฝ้าพระพุทธองค์ ประจวบกับวันนั้นเป็นวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งมีแสงสว่างเหมาะสำหรับการประชุมใหญ่ ต่างรูปต่างก็เดินทางเข้ามายังวัดพระเวฬุวัน โดยมิได้นัดหมายกันมาก่อน ซึ่งเป็นเหตุผลที่เป็นไปได้
การที่ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เท่ากับเป็นการปัจฉิมนิเทศ สรุปทบทวนผลงานของธรรมทูตชุดแรก และปฐมนิเทศธรรมทูตคณะใหม่ที่จะส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป สังเกตได้จากเนื้อหาของโอวาทที่ตรัสในโอกาสนี้เป็นสำคัญ เพราะทรงเน้นอุดมการณ์ หลักการ คุณสมบัติของผู้เผยแผ่ และเทคนิควิธีการเผยแผ่

**หมายเหตุจากพระอาจารย์ ข้อมูลในชุดนี้ในหนังสือกล่าวผิดโดยไม่ได้ดูข้อมูลที่ถูกต้องเท่าที่ควร พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูปนี้ มาจากบริวารของเหล่าพระที่เคยเป็นชฎิล ๓ พี่น้อง คือ พระอุรุเวลกัสสปะ พระนทีกัสสปะ และพระคยากัสสปะ ก่อนท่านทั้งสามจะบวชมีบริวารทั้งหมดรวมกัน ๑,๐๐๐ คน และบริวารเหล่านั้นก็ตามมาบวชด้วยกันทั้งหมด อีก ๒๕๐ รูปนั้น มาจากเหล่าบริวารของพระอัครสาวก คือ พระมหาโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร ที่ก่อนจะมาบวช ได้ชักชวนอาจารย์สัญชัยแต่ไม่สำเร็จ จึงชักชวนพรรคพวกบริวารของตนที่สามารถชวนมาได้ ๒๕๐ คนมาบวชด้วย นี่จึงเป็นจำนวนพระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ที่มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย



๒.น่าสังเกตว่าในวันเพ็ญเดือนสามนี้เอง พระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหันต์ และจากนั้นไม่นาน พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งให้พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย ทำให้บางท่านคิดว่าพระพุทธองค์ทรงเห็นแก่หน้า หรือทรงลำเอียงที่ไม่แต่งตั้งพระเถระผู้ใหญ่อื่น ๆ ซึ่งมีอยู่มาก แต่กลับแต่งตั้งพระนวกะเพิ่งบวชใหม่มาเพียงสองสัปดาห์กว่า
ข้อนี้แสดงว่าพระองค์ทรงเห็นว่างานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลายเป็นสิ่งสำคัญ พระองค์ทรงมองหา "บุคคล" ที่จะช่วยทำงาน ทรงเห็นว่าทั้งสองท่านนี้เป็นผู้ที่เหมาะสมกับงานนี้ เพราะพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นพราหมณ์มาก่อน มีความเชียวชาญไตรเพทอย่างดี
นอกจากนี้ ยังเป็นศิษย์สำนักสัญชัยเวลัฏฐบุตรมาก่อน สำนักนี้เป็นสำนักปรัชญาที่สอนวิธีการโต้เถียงหักล้างกันด้วยเหตุผล การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคแรก ๆ ต้องการผู้ที่ "รู้เขา รู้เรา" คือ มีความรู้ลิทธิศาสนาของคนสมัยนั้นดี และมีความแตกฉานในศาสนาของตนเองอย่างลึกซึ้งด้วย จึงจะสามารถโต้เถียงหักล้างคำสอนของพวกพราหมณ์ได้
การที่พระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งให้พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย ก็เพราะทรงต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั่นเอง หาใช่เพราะทรงลำเอียง หรือทรงเห็นแก่หน้าใคร

**หมายเหตุจากพระอาจารย์ หัวข้อโอวาทปาฏิโมกข์ แต่เนื้อหาในหนังสือดันวิเคราะห์อัครสาวก นี่มันคืออะไร? เป็นคนละประเด็นกันเลย

๑.๓ พุทธประวัติจากพระพุทธรูปปางต่าง ๆ 



พระพุทธรูปสำคัญปางต่าง ๆ ได้สร้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้าในโอกาสต่าง ๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระพุทธคุณและเป็นแบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิตประจำวันของเหล่าชาวพุทธ ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียง ๔ ปาง ดังนี้

๑) ปางมารวิชัย


พระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งในท่าสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางที่พระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นดิน จำลองเหตุการณ์ก่อนตรัสรู้ที่พระองค์ได้ทรงสู้รบกับพญามาร และเสนามาร ซึ่งมีเรื่องย่อว่า ขณะพระองค์ทรงนั่งสมาธิเข้าฌาณอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ทรงทำฌาณให้เป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาอยู่นั้น พญาวสวัตดีมารได้มาขับไล่ให้พระองค์ลุกจากบัลลังก์ (ที่นั่ง) และอ้างว่าบัลลังก์นี้เป็นของตน เมื่อพระองค์แย้งว่าบัลลังก์เป็นของพระองค์ เพราะทรงรับหญ้าคากุสะแปดกำจากนายโสตถิยะมาปูเป็นอาสนะ พญามารได้บอกว่าถ้าท่านยืนยันว่า บัลลังก์นี้เป็นของท่านจงอ้างพยานมา พระองค์ทรงชี้พระดรรชนีลงยังพื้นดิน และตรัสว่า "ขอให้วสุนธราจงเป็นพยาน" ทันใดนั้นพระแม่ธรณีได้ผุดขึ้นมาจากแผ่นดิน และบีบมวยผมบันดาลให้เกิดกระแสน้ำที่เชี่ยวกราดไหลท่วมพัดพากองทัพพญามารจนพ่ายแพ้ไปในที่สุด ชาวพุทธจึงได้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้น เรียกว่า "ปางมารวิชัย" (อ่านว่า มา-ระ-วิ-ชัย) แปลว่า "ชนะมาร"

พญามารในที่นี้เป็นสัญลักษณ์แทนกิเลสใหญ่ ๆ ๓ ประการ คือ โลภะ โมหะ และโทสะ เสนามารเป็นสัญลักษณ์แทนกิเลสน้อยใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับกิเลสใหญ่ทั้ง ๓ นั้น การรบกับพญามาร และเสนามารก็คือทรงต่อสู้กับอำนาจของกิเลสเหล่านั้น
พระแม่ธรณี หมายถึง บารมีทั้งสิบที่ทรงบำเพ็ญมา การอ้างพระแม่ธรณีก็คือทรงอ้างถึงคุณงามความดีที่ทรงบำเพ็ญมา เป็นกำลังใจในการต่อสู้กับอำนาจของกิเลสนั่นเอง เพราะทรงมีบารมีเต็มเปี่ยม พระองค์จึงทรงสามารถเอาชนะกิเลสทั้งปวง และบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ในที่สุด

๒.ปางลีลา



พระพุทธรูปปางลีลา เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกส้นพระบาทขวาสูงขึ้นจากพื้น ปลายพระบาทยังอยู่ติดกับพื้น อยู่ในท่าจะก้าวเดิน พระหัตถ์ขวาอยู่ในท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระ ป้องฝ่าพระหัตถ์ไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน (บางองค์ยกพระหัตถ์ขวาก็มี)

อันที่จริง อิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นอิริยาบถหรือการเคลื่อนไหวประจำวันของพระพุทธองค์ การที่ท่านสร้างพระพุทธรูปปางลีลาขึ้นเป็นพิเศษนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่ากิริยาอาการเยื้องย่างเสด็จดำเนินของพระพุทธองค์นั้นงดงามยิ่งนัก เป็นที่ศรัทธาปสาทะของผู้พบเห็นอย่างยิ่ง


พระพุทธรูปปางลีลานี้เกี่ยวโยงกับพระพุทธรูปปางเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ กล่าวคือ หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แสดงธรรมโปรด (อดีต) พุทธมารดาตลอดสามเดือนแล้ว กเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กล่าวกันว่าพระพุทธลีลาตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ครั้งนั้นงดงามยิ่งกว่าคราใด แม้พระสารีบุตรพระอัครสาวก ก็ยังได้กล่าวคาถาชื่นชมพุทธลีลาครั้งนี้ด้วยความเบิกบานใจว่า "พระพุทธเจ้าผู้พระสิริโสภาคย์อันงามปานนี้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยินคำบอกเล่าจากใคร ๆ พระบรมศาสดาผู้มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้ ได้เสด็จลงจากดาวดึงส์สวรรค์ สู่พื้นแผนดินแล้ว"


พระพุทธรูปปางลีลานอกจากจะบ่งบอกถึงความงามอันอ่อนช้อย น่าเลื่อมใสแห่งพระอิริยาบถการเคลื่อนไหวของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการเคลื่อนไหวด้วยพระมหากรุณาธิคุณเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏ โดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยพระวรกายอีกด้วย

๓) ปางปฐมเทศนา 



พระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา เป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิ พระหัตถ์ขวา ยกขึ้นจีบนิ้วเป็นรูปวงกลมในท่าแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา (บางแห่งให้พระหัตถ์ซ้ายยกประคองพระหัตถ์ขวา) มีธรรมจักรอยู่เบื้องหลัง และกวางหมอบอยู่เบื้องหน้า



เหตุการณ์เบื้องหลังพระพุทธรูปปางนี้ คือ หลังจากตรัสรู้แล้วพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินด้วยพระบาทไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ทรงแสดงธรรมมจักกัปปวัตนสูตร อันว่าด้วยอริยสัจสี่ประการแก่ปัญจวัคคีย์โดยมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า

การแสดงปฐมเทศนานี้เรียกอีกอย่างว่า ทรงหมุนกงล้อธรรมชาติซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก และล้อพระธรรมที่พระองค์ทรงหมุนนี้ ไม่มีใครยับยั้งหรือหยุดได้ หมุนไป ณ ทิศทางใดก็จะขจัดความมือบอดคืออวิชชาจากใจชาวโลกทั้งมวลให้เข้าใจแจ่มแจ้งซึ่งความจริงแห่งชีวิต

กวางหมอบเบื้องหน้าพระพุทธองค์นอกจากจะเป็นเครื่องหมายว่าพระองค์ได้ทรงแสดงธรรม ณ สวนกวางแล้ว ยังเป็นตัวแทนของเวไนยสัตว์ที่รับคำสอนของพระพุทธองค์ เริ่มต้นจากพระปัญจวัคคีย์ อันมีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นประมุขเป็นต้นไป ตลอดจนพุทธบริษัททั้งหลายในภายหลัง

๔) ปางประจำวันเกิด



การที่สังคมไทยเป็นสังคมชาวพุทธ จึงทำให้เกิดมีคติความเชื่อถือในการบูชาพระประจำวันเกิดของตนขึ้นมาอย่างหนึ่ง นอกเหนือไปจากการเคารพบูชาพระพุทธรูปทั่ว ๆ ไป โดยเชื่อว่าถ้าได้บูชาพระประจำวันเกิด ก็จะยิ่งทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลมากขึ้นไปอีก พระปางประจำวันเกิดแต่ละปางใน ๑ สัปดาห์ มีดังนี้

วันอาทิตย์
ปางถวายเนตร



พระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ข้างหน้า พระหัตถ์ขวาซ้อนเหลื่อมอยู่บนพระหัตถ์ซ้าย เป็นเหตุการณ์หลังตรัสรู้ใหม่ ๆ พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากโคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงจ้องต้นพระศรีมหาโพธิ์ไม่กระพริบพระเนตรเป็นเวลา ๗ วัน สถานที่นี้เรียกว่า "อนิมิสเจดีย์"

วันจันทร์ 
ปางห้ามสมุทร



พระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน ยื่นพระหัตถ์ทั้งสองออกไปข้างหน้า แบพระหัตถ์ข้างหน้าเสมอพระอุระ จำลองเหตุการณ์ขณะพระพุทธเจ้าประทับที่โรงไฟเมื่อเสด็จไปโปรดชฏิล ๓ พี่น้อง แล้วเกิดฝนตกหนัก น้ำหลากมาท่วมบริเวณที่ประทับอยู่ พวกชฏิล ๓ พี่น้องหนีขึ้นไปบนที่ดอน พระพุทธเจ้ามิได้เสด็จหนีน้ำไป เช้าขึ้นมาเมื่อพวกชฏิลตามหาพระพุทธองค์ ได้พบพระองค์ทรงยืนอยู่ภายในวงล้อมของน้ำที่ท่วมท้นเป็นกำแพงรอบด้าน เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก
หมายเหตุ บางมติว่า พระปางห้ามญาติเป็นพระประจำวันจันทร์

วันอังคาร
ปางไสยาสน์


พระพุทธรูปในพระอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียร มีพระเขนยรองรับ เรียกอีกอย่างว่า "ปางโปรดอสุทินราหู" เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ครั้งนั้นอสุทินราหูจอมอสูรสำคัญว่าตนมีร่างกายใหญ่โต แสดงความกระด้างกระเดื่องไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงมีพระประสงค์ลดทิฐิของจอมอสูร จึงทรงเนรมิตรกายจนใหญ่กว่า อสุทินราหูจึงยอมอ่อนน้อม

วันพุธ (กลางวัน)
ปางอุ้มบาตร



พระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตร เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติกรุงกบิลพัสดุ์ รุ่งขึ้นอีกวันจากวันเสด็จไปถึงในเวลาเช้า พระพุทธองค์ก็ทรงบาตรพาภิกษุสงฆ์ออกไปโปรดสัตว์ เสด็จพุทธดำเนินไปตามถนนในกรุงกบิลพัสดุ์

วันพุธ (กลางคืน)
ปางป่าลิไลยก์



พระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาวางหงาย เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งพระภิกษุเมืองโกสัมพีทะเลาะกันขนานใหญ่ พระพุทธองค์เสด็จไปห้ามปราม แต่ไม่มีใครฟัง พระองค์จึงเสด็จหลีกไปประทับอยู่ในป่าโดยมีพญาช้างปาลิเลยยกะและลิงคอยเฝ้าปรนนิบัติ

วันพฤหัสบดี
ปางสมาธิ



พระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายบนพระเพลา โดยพระหัตถ์ขวาประทับพระหัตถ์ซ้าย เป็นเหตุการณ์เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรูปอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์

วันศุกร์
ปางรำพึง



พระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานกัน ยกขึ้นทาบพระอุระ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย เป็นเหตุการณ์เมื่อทรงรำพึงถึงธรรมะที่ตรัสรู้ว่ามีความลึกซึ้งคัมภรีภาพ ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ ก็ทรงมีพระทัยน้อมไปในความเป็นผู้ขวานขวายน้อย (คือ ไม่อยากไปสอนใคร) แต่เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมมาทูลอัญเชิญ จึงตัดสินพระทัยไปเทศนาสั่งสอนประชาชน

วันศุกร์
ปางนาคปรก



พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเหนือขนดพญานาคที่มาขดให้ประทับ และแผ่พังพานบังลมและฝนให้ เป็นเหตุการณ์หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ขณะประทับใต้ต้นมุจลินทร์ (ต้นจิก) มีฝนตกพรำ ๆ ๗ วัน เมื่อฝนหยุดแล้ว พญานาคได้จำแลงกายเป็นมานพหนุ่ม ยืนประคองอัญชลีอยู่ข้าง ๆ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น