วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๒
พุทธสาวก พุทธสาวิกา
พระอัญญาโกณฑัญญะ
พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี
พระนางเขมาเถรี
๒.ประวัติพุทธสาวก พุทธสาวิกา
พุทธสาวก พุทธสาวิกา เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มีจริยาวัตรที่ดีงาม ดำเนินชีวิตในทางที่ถูกต้อง อันเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน
ในสมัยพระพุทธองค์มีพุทธสาวกและพุทธสาวิกาหลายท่านที่มีจริยาวัตรงดงาม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พุทธศาสนิกชนที่ควรนำมาปฏิบัติเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
๒.๑ พระอัญญาโกณฑัญญะ
๑) ประวัติ
พระอัญญาโกณฑัญญะ เดิมชื่อโกณฑัญญะ เกิดในตระกูลพราหมณ์แห่งบ้านโทณวัตถุ กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นหนึ่งในจำนวนพรามหณ์ ๘ คน ที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงคัดเลือกให้ทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะหลังจากประสูติได้ ๕ วัน พราหมณ์ ๗ คนทำนายเป็นสองลักษณะว่า ถ้าเจ้าชายทรงอยู่ครองเพศฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ์ผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าเสด็จออกผนวชจะได้เป็นพระศาสดาเอกของโลก โกณฑัญญะคนเดียวที่ยืนยันว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะเสด็จออกผนวชและได้เป็นพระศาสดาแน่นอน
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช โกณฑัญญะจึงชวนบุตรพราหมณ์ ๔ คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ออกบวชตามไปคอยปรนนิบัติพระองค์ขณะพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (ปัจจุบันสถานที่นี้เรียกว่า ดงคศิริ) ด้วยหวังว่า หลังจากพระองค์ตรัสรู้แล้วจัดได้รับคำสั่งสอนจากพระองค์ แต่เมื่อเห็นว่าพระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาคือการอดอาหาร หันมาเสวยพระกระยาหารตามเดิม โกณฑัญญะและสหายทั้งสี่เข้าใจว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมากเสียแล้ว ไม่มีโอกาสตรัสรู้ตามที่ตั้งใจแน่ จึงพากันหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
เมื่อพระสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงดำริหาผู้จะรับฟังธรรม ทรงเห็นว่าปัญจวัคคีย์มีพื้นฐานความรู้พอจะเข้าใจได้ จึงเสด็จดำเนินด้วยพระบาทจากพุทธคยาสถานที่ตรัสรู้มุ่งไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หลังจากทรงสามารถทำให้ปัญจวัคคีย์เชื่อว่าพระองค์ตรัสรู้ได้แน่แล้วและยินยอมฟังธรรม พระองค์จึงทรงแสดง "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" ให้ฟัง
ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานั้น โกณฑัญญะได้ "ธรรมจักษุ" (ดวงตาเห็นธรรม) คือ เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งตามสภาพเป็นจริงว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีการดับสลายเป็นธรรมดา" และบรรลุเป็นพระอรยบุคคลชั้นโสดาบัน
พระพุทธองค์ทรงได้เปล่งอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑัญฺโญ อัญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑัญฺโญ" แปลว่า "โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ" อาศัยพระอุทานว่า "อญฺญาสิ" ที่แปลว่า ได้รู้แล้วนั้น คำว่า "อญฺญา" จึงได้กลายมาเป็นคำนำหน้าชื่อท่านว่า "อัญญาโกณฑัญญะ" แต่บัดนั้นมา
ครั้นท่านโกณฑัญญะได้ธรรมจักษุแล้วก็ได้ทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานอนุญาตให้อุปสมบทด้วยวิธี "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" พระอัญญาโกณฑัญญะได้เป็นพระสงฆ์รูปแรกและเป็นปฐมสาวกในพระพุทธศาสนา
หลังจากพระอัญญาโกณฑัญญะอุปสมบทแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาเบ็ดเตล็ดโปรดท่านทั้งสี่ที่เหลือตามสมควรแก่อัธยาศัยให้ได้ดวงตาเห็นธรรม และทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาโดยลำดับ
ครั้นปัญจวัคคีย์ได้อุปสมบทครบทุกรูปแล้ว พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงอนัตลักขณสูตรโปรดท่านทังห้า ซึ่งได้บรรลุอรหัตผลในคราวเดียวกัน
ในเวลาต่อมา เมื่อพระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกออกไปประกาศพระศาสนา ปัญวัคคีย์ก็ได้จากริกไปบำเพ็ญศาสนกิจในถิ่นต่าง ๆ อันเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระอัญญาโกณฑัญญะนั้น ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาในฐานะเป็นเอตทัคคะในบรรดาพระภิกษุผู้มีรัตตัญญู คือ เป็นผู้ผ่านโลกมามาก มีประสบการณ์มาก
เมื่อพระอัญญาโกณฑัญญะเข้าสู่วัยชรามากแล้ว ท่านได้ทูลลาบรรดาพระบรมศาสดาไปจำพรรษาอยู่ ณ สระฉัททัตน์ ในป่าหิมพานต์ เป็นเวลา ๑๒ ปี ท่านนิพพานก่อนพุทธปรินิพพาน ส่วนพระเถระอื่นอีก ๔ รูปในคณะปัญจวัคคีย์ ไม่พบหลักฐานว่าได้นิพพานเมืองใด และ ณ สถานที่ใด แต่สันนิษฐานว่าคงนิพพานก่อนพุทธปรินิพพานทั้งหมด
๒) คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง
๒.๑) เป็นผู้มีประสบการณ์มาก
พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็น "รัตตัญญู" หมายถึง ผู้ผ่านโลกมามาก มีประสบการณ์มาก ท่านมีความรอบรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นที่ปรึกษาที่ดีของผู้น้อยด้อยวัยวุฒิและคุณวุฒิ ดังจะเห็นว่าเป็นผู้นำสหายทั้งสี่ คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ในกรณีต่าง ๆ อยู่เสมอ คุณธรรมข้อนี้ควรยึดถือเอาเป็นแบบอย่างได้ พยายามศึกษาหาความรู้ หาประสบการณ์ที่ดีแก่ชีวิตเสมอ มิใช่ปล่อยให้กาลเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ จนกลายเป็นคนประเภท "แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน " ซึ่งทำประโยชน์อันใดแก่สังคมไม่ได้
๒.๒) เป็นคนสันโดษ
คือ พอใจในสภาพที่เป็นอยู่ ไม่ขวนขวายหาลาภสักการะ หรือชื่อเสียง ชอบชีวิตสงบอยู่ในป่า ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านกราบทูลลาพระพุทธเจ้าไปจำพรรษาอยู่ ณ สระฉัททันต์ ในป่าหิมพานต์ และอยู่ที่นั่นนานถึง ๑๒ ปี นาน ๆ จึงจะเข้ามาในเมืองสักครั้ง
๒.๓) ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านความประพฤติ
จากข้อ ๒.๒) นั่นเอง แสดงว่าพระอัญญาโกณฑัญญะได้วาง "รูปแบบชีวิต" ที่ดีงามให้อนุชนประพฤติตาม นั่นคือ ความเป็นคนเคร่งครัดในระเบียบวินัย การมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ความจริงแล้วท่านไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธุดงค์ เช่น การอยู่ป่าเป็นประจำหรือเคร่งครัดในสิกขาบทก็ได้ เพราะท่านหมดกิเลสแล้ว พฤติกรรมของท่านเป็นไปในกรอบโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่ที่ท่านต้องเน้นความเคร่งครัดเป็นพิเศษอย่างนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง คือ ต้องการวางตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีงามนั่นเอง คุณธรรมข้อนี้ควรนำไปปฏิบัติอย่างยิ่ง เช่น ต่อไปภายหน้า แม้ว่าความเป็นอยู่จะไม่ยากจน มีเงินใช้สอยอย่างสบาย แต่ถ้าอยู่อย่างเรียบง่าย ประหยัด เพื่อเป็นตัวอย่างแก่บุตรหลานก็จะยิ่งดี
๒.๔) เป็นผู้เห็นการณ์ไกล
ตามประวัติพระอัญญาโกณฑัญญะได้ชักนำหลานชายชื่อปุณณมันตานีบุตรเข้ามาบวช เพราะเห็นว่าปุณณมันตานีบุตรมีวาทศิลป์เป็นเลิศ เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ถ้านำมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา จักเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ซึ่งก็เป็นไปตามที่ท่านคาดไว้ หลังจากบวชแล้วพระปุณณมันตานีบุตรเป็นผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย เป็นนักแสดงธรรมชั้นเยี่ยม จนได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็น "เอตทัคคะ (เลิศกว่าภิกษุอื่น) ในทางเป็นพระธรรมกถึก (ผู้แสดงธรรม)"
๒.๒ พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี
๑) ประวัติ
พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ และเป็นพระกนิษฐภคินีของพระนางสิริมหามายาพระพุทธมารดา ดังนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีจึงเป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า
เมื่อพระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๗ วัน ในกาลต่อมาพระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงแต่งตั้งพระนางมหาปชาบดีโคตมีไว้ในตำแหน่งพระอัคคมเหสี พระนางได้ทรงเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะเป็นอย่างดี เหมือนเป็นพระโอรสของพระนางเอง พระนางมีพระโอรสพระองค์หนึ่งนามว่า "นันทะ" และพระราชธิดาพระองค์หนึ่งนามว่า "รูปนันทา"
พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้พนวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา พระนางได้แสดงความประสงค์จะบวชต่อพระพุทธเจ้าในคราวที่พระองค์เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดา และพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ แต่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงอนุญาตให้พระนางอุปสมบท เพราะยังมิเคยทรงอนุญาตให้สตรีอุปสมบทในพระพุทธศาสนา
พระนางมหาปชาบดีโคตมีแม้มิได้รับการอุปสมบทในคราวนั้นก็มิได้ทรงย่อท้อ ในเวลาต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองเวสาลี และประทับอยู่ที่ภูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน พระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมด้วยนางสากิยานีจำนวนมาก ได้ปลงพระเกศา และห่มผ้ากาสายะ เพื่อเป็นการแสดงเจตนาที่จะบวชอย่างแรงกล้า และได้เดินทางไปยังภูฏาคารศาลา เพื่อทูลขออุปสมบท
พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้แจ้งความประสงค์ให้พระอานนท์นำไปกราบทูลพระพุทธเจ้าเพื่อทรงอนุญาตให้พระนางพร้อมทั้งเหล่านางสากิยานีได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา พระอานนท์ได้ทูลอ้อนวอนหลายครั้ง พระพุทธเจ้าจึงทรงวางหลักปฏิบัติเป็นพิเศษสำหรับสตรีผู้ต้องการจะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งหลักปฏิบัตินั้นก็คือ "ครุธรรม" ๘ ประการ ดังนี้
๑.ภิกษุณี แม้บวชร้อยพรรษาแล้ว ก็ต้องกราบไหว้พระภิกษุแม้บวชวันเดียว
๒.ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้
๓.ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากพระภิกษุทุกกึ่งเดือน
๔.ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น ได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจ หมายถึง ระแวง สงสัย หรือเห็นพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง)
๕.ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัต (ระเบียบในการออกจากอาบัติ) ในสงฆ์สองฝ่าย คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ เป็นเวลา ๑๕ วัน
๖.ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์สองฝ่าย
๗.ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ ไม่ว่าจะโดยปริยายใด ๆ
๘.ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุ แต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้
พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงยินดีปฏิบัติตามครุธรรมทั้ง ๘ ประการ จึงได้รับการอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พร้องทั้งเหล่านางสากิยานี เมื่อพระนางได้อุปสมบทแล้ว ก็ได้เรียนกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงประทาน และปฏิบัติอย่างจริงจังจนได้บรรลุอรหัตผล แม้ภิกษุณีเหล่าสากิยานีที่อุปสมบทพร้อมกับพระนาง ก็ได้บรรลุพระอรหันต์เหมือนกัน
พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระนางว่าเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศกว่าภิกษุอื่นในทางรัตตัญญู คือ เป็นผู้มีประสบการณ์มาก
๒) คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง
๒.๑) เป็นผู้มีความตั้งใจแน่วแน่ หรือแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ คือ เมื่อตั้งใจจะกระทำอะไรแล้ว จะไม่ละทิ้งความพยายามง่าย ๆ เห็นได้จากการที่พระนางตัดสินใจจะบวชเป็นภิกษุณีแต่ไม่ได้รับอนุญาตจากพระพุทธเจ้า พระนางก็ไม่ยอมละความพยายาม แม้พระพุทธองค์จะเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปแล้ว พระนางก็ตามไปกราบทูลขอพระกรุณาอีกครั้ง จนในที่สุดได้รับประทานอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุณีได้ตามปรารถนา
๒.๒) เป็นผู้มีความอดทนสูงยิ่ง จากคุณธรรมข้อที่ ๑ ทำให้พระนางมีความอดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก และอดทนที่จะปฏิบัติแม้ในเรื่องที่ยากยิ่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ จะเห็นได้จากการที่พระพุทธเจ้าทรงวางเงื่อนไขทั้ง ๘ ประการ (ครุธรรม ๘ ข้อ) ว่าถ้าพระนางปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง ๘ ประการได้ พระองค์จึงจะทรงประทานการอุปสมบทให้ พระนางก็ยินดีรับปฏิบัติโดยไม่ลังเลใจ และอดทนปฏิบัติตามเงื่อนไขจนครบสมบูรณ์
๒.๓) เป็นผู้มีคารวธรรมอย่างยิ่ง ว่าตามฐานะแล้วพระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็นพระมารดาเลี้ยงของพระพุทธองค์ แต่พระนางกลับไม่แสดงตนในฐานะของแม่พระพุทธองค์แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับวางตนเป็นสาวิกาที่ดี มีความเคารพในพระพุทธองค์อย่างยิ่ง น้อมรับฟังพระพุทธโอวาท และปฏิบัติตามอย่างว่าง่าย เพราะพระนางถือว่าการที่พระนาง "เลี้ยงรูปกาย" ของพระองค์มานั้น เทียบกับการที่พระพุทธเจ้าทรง "เลี้ยงกาย คือ ธรรม" ของพระนางมิได้ พระพุทธเจ้าจึงอยู่ในฐานะเป็น "พระบิดา" ของพระนาง
๒.๓ พระเขมาเถรี
๑) ประวัติ
พระเขมาเถรี หรือ พระนางเขมา เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสาคละ แห่งสาคลนคร ในมัทรัฐ เมื่อเจริญวัยแล้วเป็นมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ พระนางเขมาทรงมีพระรูปโฉมสวยงาม พระฉวีวรรณผุดผ่อง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระนางทรงหยิงในพระรูปสมบัติเป็นอันมาก
ในตอนแรกพระนางเขมามิได้มีความสนพระทัยในพระพุทธศาสนามากนัก ทั้ง ๆ ที่พระเจ้าพิมพิสารพระสวามีของพระนางทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี คือ ทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา รวมถึงได้ทรงถวายปัจจัยอุปถัมภ์ภิกษุสงฆ์ ณ พระวิหารเวฬุวัน อยู่เป็นประจำ
ในเวลาที่พระพุทธเจ้าประทับอยู๋ ณ พระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ พระนางเขมาได้ทรงทราบว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเรื่องโทษเกี่ยวกับร่างกาย จึงทรงเกรงว่าถ้าพระนางเสด็จไปเฝ้า พระพุธองค์อาจจะทรงชี้โทษเกี่ยวกับพระรูปโฉมของพระนางก็ได้ จึงไม่ยอมเสด็จไปเฝ้าพระพุงธอค์เลย แม้แต่พระวิหารเวฬุวันซึ่งพระเจ้าพิมพิสารทรงสร้าง พระนางก็มิได้เสด็จไปดู พระเจ้าพิมพิสารจึงมีพระดำริหาอุบายที่จะทำให้พระนางเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ ในที่สุดได้ทรงมีพระบัญชาให้กวีแต่งเพลงพรรณาความงามของพระวิหารเวฬุวัน แล้วขับกล่อมให้พระนางเขมาฟัง เพื่อโน้มน้าวพระทัยให้อยากเสด็จไปยังพระวิหารเวฬุวัน อุบายวิธีของพระเจ้าพิมพิสารได้ผลตามพระราชประสงค์ พระนางเขมาได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตเสด็จไปชมวัดเวฬุวัน เมื่อเสด็จมาชมวัดทั่วแล้ว ราชบุรุษก็ได้นำพระนางเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ประสงค์จะแสดงธรรมให้เหมาะแก่อุปนิสัยของพระนาง ซึ่งทรงหลงไหลในความสวยงามของตน จึงได้ทรงเนรมิตรร่างสตรีที่สวยงามประจุดนางฟ้า ให้นั่งถวายงานพัดอยู่ใกล้ ๆ พระองค์
พระนางเขมาทอดพระเนตรเห็นรูปสตรีสวยงามนั้นแล้ว ทรงดำริว่าสตรีนั้นสวยงามเหลือเกิน แม้ความสวยของพระนางเองก็เทียบไม่ได้ ในขณะที่พระนางทรงเพลินชมความสวยงามของสตรีนั้นอยู่ พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงให้สตรีนั้นมีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับวัย จากวัยสาว ไปสู่วัยกลางคน วัยแก่ซึ่งมีผิวหนังเหี่ยวย่น ฟันหัก จนถึงล้มกลิ้งเกลือกไปมาเป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก
พระนางเขมาได้ทอดพระเนตรเห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้โดยลำดับ และทรงนึกย้อนเทียบกับพระวรกายของพระนางเองว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าพระนางพร้อมที่จะรับฟังพระธรรมเทศนาแล้ว จึงได้ตรัสคาถาแสดงธรรมให้ตรงพอดีกับจังหวะที่พระนางกำลังมีพระราชดำริข้างต้นนั้น ความว่า "ผู้ที่ถูกราคะ คือ ความกำหนัดยินดีครอบงำจิตใจ ย่อมจะเป็นไปตามกระแสของกิเลสนั้น ซึ่งตนได้สร้างขึ้นมาเอง เหมือนแมงมุมวิ่งวนอยู่กับสายใยที่มันทำไว้เองฉะนั้น แต่ผู้ฉลาดตัดกระแสราคะละกามสุขได้แล้ว ย่อมดำเนินชีวิตไปโดยไม่มีความติดพันห่วงใย"
เมื่อพระนางเขมาได้ทรงสดับรับฟังพระธรรมเทศนาจบแล้วก็ได้บรรลุอรหัตผล และเป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ ประการ
(ปฏิสัมภิทา คือ มีปัญญา หรือความรู้แตกฉาน ๔ ประการได้แก่ ๑ แตกฉานในอรรถ (ใจความ) ๒ แตกฉานในธรรม (ความดีงาม) ๓ แตกฉานในนิรุกติ (ภาษา) ๔ แตกฉานในปฏิภาณ (การยืนยันโดยสุจริตใจ)
จากนั้นทรงถวายบังคมลาพระพุทธเจ้ากลับพระราชวัง พระนางได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตพระเจ้าพิมพิสารเพื่อผนวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา พระเจ้าพิมพิสารได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต และทรงนำพระนางไปยังสำนักของภิกษุณีเพื่อทำการอุปสมบท
เมื่อพระนางเขมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีแล้ว ปรากฏเกียรติคุณว่าทรงเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม พระพุทธเจ้าได้ทรงแต่งตั้งพระเขมาเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ทรงมีปัญญามากฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ และเป็นอัครสาวิกาเบื้องขวา อีกทั้งทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
๒) คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง
๒.๑) มีปัญญามาก คุณสมบัติข้อนี้ของพระนางเขมาเถรีเด่นชัดมาก จนกระทั่งได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุณีอื่น และพระนางได้รับแต่งตั้งเป็นพระอัครสาวิกาเบื้องขวาฝ่ายภิกษุณี คู่กับพระอุบลวรรณาเถรีซึ่งเป็นพระอัครสาวิกาเบื้องซ้าย ในประวัติไม่มีบอกว่าพระนางศึกษาเล่าเรียนจากใครหรือที่ใด รู้แต่ว่าเป็นผู้มีปัญญามาก แสดงว่ากว่าจะประสบความสำเร็จถึงขั้นนี้ พระนางต้องได้ขวนขวายศึกษาเล่าเรียนมาด้วยความขยันหมั่นเพียรอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อเราอยากจะมีปัญญามากเช่นพระเขมาเถรี เราก็พึงขยันหมั่นเพียรศึกษาหาความรู้
๒.๒) มีปฏิภาณ ปฏิภาณ คือ การโต้ตอบฉับไว และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี คนมีความรู้มากไม่แน่ว่าจะมีปฏิภาณดีเสมอไป แต่ถ้าใครมีความรู้มากด้วยมีปฏิภาณด้วยนับว่าเป็นคนโชคดียิ่ง พระนางเขมาเถรีทรงมีคุณสมบัติข้อนี้สมบูรณ์ ดังครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนธิโกศลได้เข้าไปซักถามปัญหาที่ลึกซึ้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่ตอบให้เข้าใจได้ยาก แต่ด้วยปฏิภาณไหวพริบพระเขมาเถรีได้โต้ตอบพร้อมยกอุปมาอุปไมยให้พระเจ้าปเสนธิโกศลสดับรับฟังจนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งนี้ปฏิภาณมิใช่เป็น "พรสวรรค์" เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ฝึกฝนได้ ถ้าเราพยายามฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ ก็สามารถมีปฏิภาณได้เช่นเดียวกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น