วิชาพระพุทธศาสนา ม.๓
หน่วยการเรียนรู้ที่ ๓
หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
สังฆคุณ ๙ และขันธ์ ๕
พระพุทธศาสนามีองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงค้นพบหลักธรรมซึ่งเป็นความจริงอันประเสริฐ โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้สืบทอดและเผยแผ่หลักธรรมคำสอน จึงกล่าวได้ว่าพระธรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญของพระพุทธศาสนา นั่นคือ พระธรรมเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้านั่นเอง
ดังนั้น พุทธศาสนิกชนจึงควรศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้สามารถนำไปเป็นแนวทางในการประพฤติปฎิบัติได้อย่างถูกต้อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมส่วนรวม
๑.พระรัตนตรัย
พระพุทธศาสนามีองค์ประกอบสำคัญสามประการ คือ พระรัตนตรัย ซึ่งแปลว่า แก้วประเสริฐ ๓ ดวง อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
พระพุทธ หมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ซึ่งทรงเป็นศาสดาของศาสนา คือเป็นผู้ทรงค้นพบสัจธรรมโดยการตรัสรู้เอง และสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
พระธรรม หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งที่เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ และเป็นคำสั่งสอนให้มนุษย์ปฏิบัติดีต่อกัน
พระสงฆ์ หมายถึง หมู่สาวกที่ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และเผยแผ่คำสอนให้แก่คนทั่วไป
พระพุทธเจ้ามีคุณลักษณะ ๙ ประการ เรียกว่า "พุทธคุณ ๙"
พระธรรมมีคุณลักษณะ ๖ ประการ เรียกว่า "ธรรมคุณ ๖"
พระสงฆ์มีคุณลักษณะ ๙ ประการ เรียกว่า "สังฆคุณ ๙"
ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงสังฆคุณ ๙ ดังนี้
สังฆคุณ ๙ หมายถึง คุณของพระสงฆ์ มี ๙ ประการ ได้แก่
๑) สุปฏิปนฺโน : เป็นผู้ปฏิบัติดี คือ ปฏิบัติถูกธรรม ถูกวินัย หรือปฏิบัติตามแนวทางแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘
๒) อุชุปฏิปนฺโน : เป็นผู้ปฏิบัติตรง คือ ไม่เป็นคนเจ้าเล่ห์หลอกลวง ไม่คด ไม่โกง ปากกับใจตรงกัน ไม่พูดเท็จเพื่อรักษาผลประโยชน์ตน หรือเบียดเบียนคนอื่น เป็นคนตรง ต่อหน้าประพฤติเช่นไร ลับหลังก็ประพฤติเช่นนั้น
๓) ญายปฏิปนฺโน : เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม หรือ ปฏิบัติถูกทาง เพื่อให้เกิดความรู้เห็นสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริง
๔) สามีจิปฏิปนฺโน : เป็นผู้ปฏิบัติสมควร คือ ควรแก่การกราบไหว้ กล่าวโดยใจความก็คือ "ทำความดีเพื่อความดี" นั่นเอง เมื่อท่านเห็นว่าอะไรเป็นความดีที่ควรกระทำ ท่านก็ทำโดยไม่หวังผลตอบแทน เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นต้น เพราะท่านปฏิบัติได้อย่างนี้ จงสมควรแก่การยกย่องนับถือ
๕) อาหุเนยฺโย : เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ กล่าวคือ มนุษย์ที่อยู่ร่วมกันไม่ว่าในสังคมใด ย่อมมีบุคคลที่มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ และชาติวุฒิ ที่เป็นที่เคารพนับถือของคนอื่น แม้กระทั่งในครอบครัวก็มีบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ เป็นที่เคารพของบุตรหลาน เวลาผู้น้อยจะไปแสดงความเคารพผู้ใหญ่เนื่องในโอกาสสำคัญ ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันเกิด เรียกว่า "ไปไหว้" ของที่นำติดมือเพื่อให้แก่ญาติผู้ใหญ่เรียกว่า "ของไหว้" หรือ "ของคำนับ (อาหุนะ)" ของคำนับนี้คนเขาจะนำไปให้เฉพาะญาติผู้ใหญ่หรือผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นที่เคารพนับถือเท่านั้น ดังนั้น ญาติผู้ใหญ่หรือผู้เฒ่าผู้แก่จึงเรียกว่าเป็นผู้ควรรับของไหว้หรือของคำนับของบุตรหลาน พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่การเคารพนบไหว้ของชาวโลก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ญาติผู้ใหญ่ในตระกูลก็ควรรับของไหว้หรือของคำนับเฉพาะจากบุตรหลานของตนเท่านั้น ส่วนพระสงฆ์ควรรับของคำนับไหว้หรือของคำนับจากประชาชนทั้งปวง
๖) ปาหุเนยฺโย : เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ กล่าวคือ เวลาที่มีคนมาเยี่ยมถึงบ้าน เจ้าของบ้านผู้มีอัธยาศัยไมตรีย่อมยินดีต้อนรับ นำเครื่องดื่ม ของขบเคี้ยว มาให้ตามความเหมาะสม และตามความสะดวก เรียกว่า "ของต้อนรับ (ปาหุนะ)" แขกบางคนพอเจ้าของบ้านเผลอก็อาจหยิบฉวยทรัพย์สินของเจ้าของบ้าน มีผู้หากินทางทุจริตมิจฉาชีพบางคนอาจแฝงมาในรูปแบบแขกผู้มาเยือนก็มี จึงไม่ปลอดภัยสำหรับเจ้าของบ้าน แต่แขกที่เป็นพระสงฆ์นอกจากไม่สร้างความเดือดร้อนให้เจ้าของบ้านแล้ว ยังนำสิริมงคลมาให้ด้วย เพราะฉะนั้นพระสงฆ์จึงนับว่าเป็นแขก (ปาหุนะ) ผู้ยอดเยี่ยม ควรแก่การต้อนรับอย่างยิ่ง
๗) ทกฺขิเณยฺโย : เป็นผู้ควรแก่ของทำบุญ วัตถุสิ่งของที่ถวายแด่พระสงฆ์เรียกว่า "ทักษิณา" หรือของทำบุญ การทำบุญที่จะให้ได้บุญจริง ๆ ท่านว่าขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ ของที่ทำบุญนั้นต้องบริสุทธิ์ เจตนาของผู้ทำบุญต้องบริสุทธิ์ และผู้รับจะต้องมีศีลบริสุทธิ์ ซึ่งพระสงฆ์เป็นผู้รับที่มีศีลบริสุทธ์เพราะเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
๘) อญฺชลีกรณีโย : เป็นผู้ควรกราบไหว้ คือ การยกมือไหว้ (อัญชลีกรรม) จริงอยู่การยกมือไหว้แสดงความเคารพ ใคร ๆ ก็ทำได้ และกระทำต่อใครก็ได้ในทุกโอกาส แต่การไหว้บุคคลอาจมีเงื่อนไข ดังนี้
- ไหว้เพราะจำเป็นต้องไหว้ เช่น ข้าราชการผู้น้อยจำต้องไหวผู้บังคับบัญชาทั้ง ๆ ที่ไม่อยากไหว้ เพราะมีความรู้สึกว่าเขาผู้นั้น ไม่มีคุณสมบัติที่จะไหว้ได้สนิทใจ เป้นต้น
- ไหว้เพราะเต็มใจไหว้ คือ มีความรู้สึกว่าผู้นั้นสมควรไหว้ด้วยความเต็มใจ
เนื่องจากพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบดังกล่าวแล้ว จึงควรแก่การยกมือไหว้อย่างยิ่ง เพราะทำให้ผู้ไหว้มีความสนิทใจ มีความเลื่อมใส อย่างภาษาสามัญว่า "ไหว้ไม่เสียมือ"
๙) อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส : เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของชาวโลก คุณข้อนี้เป็นคำเปรียบเทียบ คือ เทียบพระสงฆ์เหมือนที่นา เปรียบการทำบุญด้วยการถวายทานแด่พระสงฆ์เป็นการหว่านพืชลงในที่นา นาดี คือ ไม่ใช่ที่ลุ่มเกินไป ไม่เป็นที่ดอนเกินไป ดินดี ไม่มีกรวดหินดินทราย เมื่อชาวนาหว่านพันธุ์ข้าวลงไปแล้ว ข้าวกล้าก็ย่อมเจริญงอกงามดี เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็ได้ข้าวเปลือกมากมายเพียงพอต่อความต้องการฉันใด ทานที่บุคคลถวายแด่พระสงฆ์ผู้มีศีลบริสุทธ์ดุจเดียวกับการทำนาในที่นาอันสมบูรณ์ฉันนั้น
๒.อริยสัจ ๔
อริยสัจ ๔ อันเป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา อาจเรียกว่าเป็นหัวใจของพระศาสนาก็ว่าได้ อริยสัจประกอบไปด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
๒.๑ ทุกข์ (ธรรมที่ควรรู้)
ทุกข์ คือ ภาวะที่ทนอยู่ได้ยาก แม้ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ฯลฯ ก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของทุกข์ หลักธรรมที่ควรรู้เพื่อให้รู้ความจริงของการเกิดทุกข์ ได้แก่
๑) ขันธ์ ๕ การที่จะดับทุกข์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตได้ ต้องรู้ว่าชีวิตมีลักษณะอย่างไรในพระพุทธศาสนา ชีวิตประกอบด้วยองค์ประกอบ ๕ อย่าง เรียกว่า "ขันธ์ ๕" อันได้แก่
๑.๑) รูป คือ ส่วนที่เป็นร่างกาย รวมถึงพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกายด้วย เช่น การหมุนเวียนโลหิต การหายใจ การเติบโตของร่างกาย เป็นต้น
๑.๒) เวทนา ในที่นี้มิได้หมายถึงความสงสารที่ใช้กันทั่วไป แต่หมายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อสิ่งที่รับรู้นั้น เวทนามีอยู่ ๓ อย่าง คือ
ความรู้สึกสบายใจเรียกว่า "สุขเวทนา"
ความรู้สึกไม่สบายใจเรียกว่า "ทุขเวทนา"
ความรู้สึกเฉย ๆ เรียกว่า "อทุกขมสุขเวทนา"
๑.๓) สัญญา ในที่นี้มิได้แปลว่าคำมั่นสัญญาดังในภาษาสามัญ แต่หมายถึงการกำหนดหมายรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง การแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นอะไร อันเป็นขั้นตอนถัดจากเวทนานั่นเอง
๑.๔) สังขาร หมายถึง สิ่งที่ปรุงแต่งจิต เช่น แรงจูงใจ หรือสิ่งที่กระตุ้นผลักดัน ให้มนุษย์กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผลรวมของการรับรู้ (วิญญาณ) ความรู้สึก (เวทนา) และความจำได้ (สัญญา) ที่ผ่านมา เช่น ตารับรู้วัตถุสิ่งหนึ่ง (วิญญาณ) รู้สึกว่าสวยดี (เวทนา) จำได้ว่ามันเป็นวัตถุกลม ๆ ใส ๆ (สัญญา) แล้วเกิดแรงจูงใจผลักดันให้เอื้อมมือไปหยิบมาเพราะความอยากได้ ขั้นตอนนี้เรียกว่า "สังขาร" สังขารจึงเป็นขั้นตอนที่ก่อให้เกิดพฤติกรรม ซึ่งมีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ฝ่ายดี เช่น ศรัทธา หิริ สติ กรุณา เป็นต้น ฝ่ายชั่ว เช่น โลภะ โทสะ มานะ ทิฐิ มัจฉริยะ เป็นต้น
๑.๕) วิญญาณ คือ การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ และใจ ได้แก่
การรับรู้ทางตา การเห็น เรียกว่า "จักขุวิญญาณ"
การรับรู้ทางหู การได้ยิน เรียกว่า "โสตวิญญาณ"
การรับรู้ทางจมูก การได้กลิ่น เรียกว่า "ฆานวิญญาณ"
การรับรู้ทางลิ้น การลิ้มรส เรียกว่า "ชิวหาวิญญาณ"
การรับรู้ทางกาย การสัมผัสทางกาย เรียกว่า "กายวิญญาณ"
การรับรู้ทางใจ การคิด เรียกว่า "มโนวิญญาณ"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น