วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

สรุปเนื้อหาโดยย่อของวิชาพุทธประวัติ (หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี)

สรุปเนื้อหาวิชาพุทธประวัติ



วิชาพุทธประวัติ เป็นการศึกษาภูมิหลัง ประวัติของพระพุทธเจ้า เพื่อที่จะได้เกิดศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อม ใสในพระองค์ ในคำสอนของพระองค์


ประโยชน์ของการเรียนพุทธประวัติ


๑. ได้ศรัทธา และปสาทะ
๒. ได้ทราบพระประวัติของพระองค์
๓. ได้ทราบพระจริยาวัตร การประพฤติปฏิบัติของพระองค์
๔. ได้ทิฏฐานุคติ แบบแผนที่ดีงาม
๕. นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงชีวิตของตนเอง

ว่าด้วยชมพูทวีปและประชาชน


ชมพูทวีป คือ ประเทศอินเดียในสมัยก่อน ในสมัยปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๔ ประเทศ คืออินเดีย, เนปาล,ปากีสถานและบังคลาเทศ ซึ่งอยู่ทางทิศพายัพของประเทศไทย (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ)

ชนชาติที่อาศัยอยู่มี ๒ เผ่า คือ

๑. ชนชาติมิลักขะ เจ้าถิ่นเดิม อาศัยอยู่ก่อน
๒. ชนชาติอริยกะ พวกที่รุกไล่เจ้าของถิ่นเดิมออกไป

ชมพูทวีป แบ่งออกเป็นจังหวัดใหญ่ ๒ จังหวัด คือ

๑. มัชฌิมชนบท หรือ มัธยมประเทศ ได้แก่ จังหวัดส่วนกลาง
๒. ปัจจันตชนบท ได้แก่ จังหวัดชายแดน


อาณาจักรต่าง ๆ 


ในครั้งพุทธกาล ชมพูทวีปแบ่งการปกครองออกเป็น ๒๑ อาณาจักร หรือแคว้น คือ

๑. ในบาลีอุโบสถสูตร ๑๖ แคว้น คือ อังคะ มคธะ กาสี โกสละ วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ.
๒. ในพระสูตรอื่น ๆ อีก ๕ แคว้น คือ สักกะ โกลิยะ ภัคคะ วิเทหะ และอังคุตตราปะ

อาณาจักเหล่านี้ ผู้ปกครองดำรงยศเป็นมหาราชาบ้าง เป็นราชาบ้าง เป็นอธิบดีบ้าง


วรรณะ ๔ 


๑. กษัตริย์ มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง ศึกษาเกี่ยวกับยุทธวิธี
๒. พราหมณ์ มีหน้าที่สั่งสอนและทำพิธีกรรม ศึกษาเกี่ยวกับศาสนา พิธีกรรม
๓. แพศย์ มีหน้าที่ในการทำนาค้าขาย ศึกษาเกี่ยวกับการเพาะปลูก
๔. ศูทร มีหน้าที่รับจ้างทำการงาน ศึกษาเกี่ยวกับการใช้แรงงาน

กษัตริย์และพราหมณ์ ถือตนเองว่าเป็นคนมีวรรณะสูง จึงรังเกียจพวกที่มีวรรณะต่ำ ไม่ยอมร่วมกินร่วมนอน จะสมสู่เป็นสามีภรรยาเฉพาะในวรรณะของตนเท่านั้น ถ้าหากหญิงที่เป็นนางกษัตริย์หรือพราหมณี ไปแต่งงานกับชายที่เป็นแพศย์หรือศูทรที่บุตรเกิดมาจะถูกเรียกว่า เป็นคน “จัณฑาล” เป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป โดยถือว่าเป็นคนกาลกิณี หรือที่คนไทยถือว่าเป็น “เสนียดจัญไร”

ความเชื่อเกี่ยวกับชีวิต หรือความคิดเห็น


เกี่ยวกับชีวิตความตาย พอสรุปได้ ๒ ประการ คือ

๑. ถือว่าตายแล้วเกิด
- ตนเป็นอะไรก็เป็นอย่างนั้น
- มีการเปลี่ยนแปลงได้

๒. ถือว่าตายแล้วสูญ
- ตายแล้วสูญโดยประการทั้งปวง
- สูญเพียงบางสิ่งบางอย่าง

เกี่ยวกับความสุข ความทุกข์ พอสรุปได้ ๒ ประการ คือ

๑. สัตว์จะได้รับความสุข ความทุกข์ ก็ได้เองไม่มีเหตุปัจจัย
๒. สัตว์จะได้รับความสุข ความทุกข์ เพราะมีเหตุปัจจัย
- เหตุภายนอก มีเทวดา เป็นต้น
- เพราะเหตุภายใน คือ กรรม


ปัญจมหาวิโลกนะ 5 ประการ


  1. กาลเวลา คือ กาลเวลาแห่งอายุของมนุษย์ คือ ถ้ามนุษย์มีอายุมากเกินแสนปีขึ้นไป หรือต่ำกว่าร้อยปีลงมา ก็ไม่ใช่กาลที่จะลงมาตรัสรู้ เพราะยุคสมัยที่มนุษย์อายุมากเกินไปก็ไม่อาจเห็นพระไตรลักษณ์ หรือหากอายุสั้นเกินไปก็มีกิเลสหนามากไม่อาจเห็นธรรม แต่ในยุคนี้เป็นยุคที่มนุษย์มีอายุร้อยปี จึงเป็นกาลที่จะลงมาตรัสรู้ได้ 
  2. ทวีป ทรงเห็นว่าชมพูทวีปเป็นทวีปที่เหมาะสมที่จะลงมาตรัสรู้เหตุนี้ พระบรมโพธสัตว์ซึ่งบังเกิดเป็นสันดุสิตเทวราชเสวยทิพยสมบัติอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต เลือกลงมาจุติในชมพูทวีป เพราะถือเป็นทวีปที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในยุคนั้น พระพุทธเจ้าทั้งปวงในอดีตล้วนประสูติในมัชฌิมประเทศ และกรุงกบิลพัลดุ์ แคว้นสักกะนั้นก็ตั้งอยู่ในมัชฌิมประเทศแห่งชมพูทวีป
  3. กาลประเทศ ทรงเห็นว่า มัชฌิมประเทศ คือท้องถิ่นร่วมกลางชมพูทวีป ซึ่งบัดนี้อยู่ในอินเดีย ปากีสถานเป็นส่วนมาก เลยเข้าไปในเนปาลบ้าง เช่น สถานที่ประสูติอยู่ในเนปาล เป็นสถานที่เหมาะที่จะลงมาตรัสรู้
  4. ราชตระกูล ทรงเห็นวงศ์ ศากยราชตระกูล และพระเจ้าสุทโธทนะจะทรงเป็นพระราชบิดาได้
  5. พระราชมารดา คือ ทรงเห็นพระนางสิริมหามายามีศีลและบารมีธรรมที่ได้ทรงอบรมบ่มบำเพียร สั่งสมมาเป็นเวลา 1 อสงไขย และนับแต่นี้จะมีพระชนม์ชีพเหลืออีกเพียง 10 เดือนกับอีก 7 วัน ซึ่งสมควรเป็นพระมารดาได้ ทั้งจะมีพระชนม์สืบไปจากเวลาที่พระโอรสประสูติเพียงเจ็ดวัน สัตว์อื่นไม่อาจอาศัยคัพโภทร(ครรภ์)บังเกิดได้อีก อีกทั้งพระนางสิริมหามายาเทวีก็เป็นผู้รักษา เบญจศีลาจารวัตรอันบริสุทธิ์

สักกชนบท และ ศากยวงศ์


สักกชนบท ตั้งอยู่ในชมพูทวีปตอนเหนือ ณ ป่าหิมพานต์
ในดงไม้สักกะ หรือสากะ (ไม่ใช่ดงไม้สัก) จึงได้ชื่อว่า “สักกชนบท”

กบิลพัสดุ์ พระนครที่สร้างขึ้นใหม่ ที่ชื่อว่า “กบิลพัสดุ์” เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. พระนครนี้สร้างในสถานที่ อันเป็นที่อยู่ของกบิลดาบส
๒. เพราะพระนครนี้สร้างขึ้นตามคำแนะนำของกบิลดาบส

ศากยวงศ์ คือวงศ์ของศากยะที่สืบต่อกันมา เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. เพราะกษัตริย์วงศ์นี้ตั้งอยู่ในสักกชนบท
๒. เพราะกษัตริย์ วงศ์นี้สมสู่กันเองระหว่างพี่น้อง ที่เรียกว่า “สกสังวาส”
๓. เพราะกษัตริย์วงศ์นี้ทรงถือเอาพระราชดำรัสของพระเจ้าโอกกากราช ที่ออกพระโอฐชมว่า สักกา เป็นผู้อาจหาญ มีความสามารถ การปกครอง เป็นแบบสามัคคีธรรม.

ลำดับวงศ์ ศากยวงศ์ และโกลิยวงศ์ สืบเชื้อสายต่อกันมาโดยลำดับ คือ
ศากยวงศ์ / โกลิยวงศ์
๑. ชยเสน / ๑. -
สีหหนุ, ยโสธรา อัญชนะ, กัญจนา

๒. สีหหนุ + กัญจนา / ๒. อัญชนะ + ยโสธรา
สุทโธทนะ, สุกโกทนะ, อมิโตทนะ / สุปปพุทธะ, ทัณฑปาณี, มายา,
โธโตทนะ, ฆนิโตทนะ, ปมิตา, อมิตา / ปชาบดี หรือโคตมี

๓. สุทโธนะ + มายา และปชาบดี / ๓. สุปปพุทธะ + อมิตา
สิทธัตถะ. นันนทะ, รูปนันทา / เทวทัต, ยโสธราหรือพิมพา

๔. สิทธัตถะ + ยโสธรา
ราหุล

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ หมายถึง พระราชบุตร - ธิดา
+ หมายถึงอภิเษกสมรส หรือสมสู่
- หมายถึงไม่ปรากฏชื่อ

สหชาติ ๗


สหชาติ คือผู้เกิดร่วมวันเวลาเดียวกันกับพระพุทธเจ้า มี ๗ ประการ คือ

๑. พระนางพิมพา
๒. พระอานนท์
๓. อำมาตย์ชื่อฉันนะ
๔. กาฬุทายีอำมาตย์
๕. กัณฐกอัศวราช ม้าพระที่นั่ง
๖. ต้นพระศรีมหาโพธิ์
๗. ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ (สังขนิธิ. เอลนิธิ, อุบลนิธิ, บุณฑริกนิธิ)

เหตุการณ์ในระหว่างพระชนมายุ


๑. ขนานพระนาม เมื่อพระชนมายุได้ ๕ วัน
๒. พระมารดาสวรรคต เมื่อพระชนมายุได้ ๗ วัน
๓. ทรงศึกษาศิลปวิทยา เมื่อพระชนมายุได้ ๗ ปี
๔. ทรงอภิเษกสมรส เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ ปี
๕. เสด็จทรงผนวชและมีพระโอรส เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ ปี
๖. ตรัสรู้ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ ปี
๗. เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ ปี

ใครมีศักดิ์เป็นอะไรกับพระพุทธเจ้า


พระนาม ทรงเป็น ราชาศัพท์

พระเจ้าชัยเสน ทวด พระไปยกา

พระเจ้าสีหนุ ปู่ พระอัยกา

พระนางกัญจนา ย่า พระอัยยิกา

พระเจ้าอัญชนะ ตา พระอัยกา

พระนางยโสธรา ยาย พระอัยยิกา

พระเจ้าสุทโธทนะ พ่อ พระชนก

พระนางสิริมหามายา แม่ พระชนนี

พระนางปชาบดี น้า พระมาตุจฉา

สุกโกทนะ, อมิโตทนะ, ฆนิโตทนะ, โธโตทนะ อาชาย พระปิตุลา

ปมิตา, อมิตา อาหญิง พระปิตุจฉา

- พี่ชาย พระเชษฐา
- พี่สาว พระเชฏฐภคินี

นันทะ น้องชาย พระอนุชา

รูปนันทา น้องสาว พระกนิฏฐภคินี

พระนางยโสธรา(พิมพา) เมีย พระชายา

ราหุล ลูก พระโอรส


เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะได้อภิเษกสมรสกับพระนางเจ้าสิริมหามายา พระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะกับพระนางยโสธราฝ่ายโกลิยะ เมื่อพระเจ้าสีหหนุทิวงคตแล้วได้สืบราชสมบัติแห่งนครกบิลพัสดุ์ 
จำเนียรกาลต่อมา พระโพธิสัตว์ได้จุติจากดุสิตเทวโลก มาปฏิสนธิในพระครรภ์เมื่อเวลาใกล้รุ่งคืนวันเพ็ญแห่งอาสาฬหมาส 
(วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา) ก่อนพุทธศก ๘๐ ปี 
บังเกิดแผ่นดินไหวซึ่งในคืนนั้นพระนางเจ้ามายาทรงพระสุบินว่า 
มีพญาช้างเผือกชูดอกบัวขาว เข้าสู่ครรภ์ของตน 
เวลาสายใกล้เที่ยง ณ วันเพ็ญแห่งวิสาขมาส 
(วันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ) 
ก่อนพุทธศก ๘๐ปี เวลาเช้า
พระนางสิริมหามายา เสด็จประพาส พระราชอุทยานลุมพินีวัน 
อันตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ กับกรุงเทวทหะต่อกัน
ขณะประพาสเล่นอยู่เกิดประชวรพระครรภ์จะประสูติ 
อำมาตย์ผู้ตามเสด็จจึงจัดที่ประสูติถวายใต้ร่มสาละ(รัง)เท่าที่จะจัดได้พระนางเจ้าได้ประสูติพระราชโอรส ณ ที่นั่นเองได้บังเกิดแผ่นดินไหว

แต่อาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์กล่าวว่า 
น่าจะเป็นความประสงค์ของพระนางเจ้าที่จะกลับไปประสูติ ณ ที่สกุลเดิมของพระนาง 
ตามธรรมเนียมของพราหมณ์มากกว่าที่จะไปประพาสที่พระอุทยาน
แต่เกิดประชวรครรภ์เสียก่อนจึงได้ประสูติที่นั่นขณะประสูติพระนางมายา

ประทับยืนพระหัตถ์ทรงจับกิ่งสาละพระโพธิสัตว์พอประสูติจากพระครรภ์แล้วดำเนินไปได้ ๗ ก้าว
แล้วเปล่งอาสภิวาจาอันเป็นบุรพนิมิตแห่งโพธิญาณว่า
“อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐ เสฏฺโฐหมสฺมิ อยมนฺติมา เม ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺพโว.
แปลว่า
เราเป็นยอด เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก
การเกิดของเราครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว”

ฝ่ายอสิตดาบส หรือกาฬเทวิลดาบส
ผู้คุ้นเคยแห่งราชสกุลทราบข่าวจึงได้เข้าไปเยี่ยม
เมื่อเห็นพระโพธิสัตว์มีลักษณะ ต้องตามตำรามหาปุริสลักษณะ จึงทำนายว่ามีคติเป็น ๒ คือ

๑. ถ้าเป็นฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์
๒. ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกในโลก

เกิดความเคารพจึงก้มลงกราบที่พระบาททั้งคู่แล้วถวายพระพรลากลับ

เมื่อประสูติได้ ๕ วันพระเจ้าสุทโธทนะ
โปรดให้ประชุมพระญาติวงศ์
และเสนาอำมาตย์พร้อมกันเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน
มาฉันโภชนาหารแล้วทำนายพระลักษณะและทำมงคลรับพระลักษณะ
ขนานพระนามว่า "สิทธัตถกุมาร"
แต่มหาชนทั่วไปมักจะเรียกตามพระโคตรว่า "โคตมะ"

พอประสูติได้ ๗ วันพระมารดาก็ทิวงคต
พระเจ้าสุทโธทนะจึงมอบพระโพธิสัตว์ให้อยู่ในความดูแลของพระนางปชาบดีโคตมี
พระน้านาง

ต่อมา เมื่อพระชนมายุได้ ๗ พรรษา
พระราชบิดาตรัสให้ขุดสระขึ้นภายในพระราชนิเวศน์ ๓ สระ
ปลูกอุบล บัวขาวสระ ๑
ปลูกปทุม บัวหลวงสระ ๑
ปลูกปุณฑริกบัวขาวสระ ๑
และเห็นว่าควรจะศึกษาศิลปวิทยาได้แล้วจึงทรงพาไปมอบไว้ในสำนักครูวิศวามิตร

เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษาเห็นควรจะมีพระชายาได้แล้ว
พระราชบิดาตรัสสั่งให้สร้างปราสาทขึ้น ๓ หลัง
เพื่อเหมาะแก่การอยู่ตามฤดูทั้ง ๓ ฤดู
แล้วตรัสขอพระนางยโสธราหรือพิมพา
พระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ กับพระนางอมิตาแห่งโกลิยวงศ์มาอภิเษกเป็นพระเทวี
จนกระทั่งพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา
พระนางพิมพาจึงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า “ราหุลกุมาร”

บรรพชา

ในปีที่พระชนมายุ ๒๙ พรรษานั่นเอง
พระโพธิสัตว์เสด็จออกบรรพชา
อะไรเป็นมูลเหตุให้เสด็จออกบรรพชา
และอาการที่เสด็จออกบรรพชานั้นเป็นอย่างไร
พระอาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์มีความเห็นเป็น ๒ นัย คือ

๑. อาจารย์ผู้แต่งอรรถกถา กล่าวตามนัยมหาปธานสูตรว่า
พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ
คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ
อันเทวดาสร้างเนรมิตไว้ในระหว่างทางเมื่อเสด็จประพาสพระราชอุทยาน
ทั้ง ๔ วาระโดยลำดับ ทรงสังเวชสลดพระทัย
เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๓ ข้างต้น
แต่ทรงพอพระทัยในการบรรพชาเพราะได้เห็นสมณะ
ในวันที่พระราหุลกุมารประสูตินั่นเอง
เวลากลางคืนยามดึกพระองค์ทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะตามเสด็จ
หนีออกจากพระราชวัง ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที แขวงมัลลชนบท
ทรงตัดพระเมาลีด้วยพระขรรค์ แล้วอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต
ณ วันเพ็ญอาสาฬหมาส (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘) เวลาใกล้รุ่ง.

๒. ส่วนในมัชฌิมนิกายกล่าวว่า
ทรงปรารภ ความแก่ ความเจ็บ และความตายที่มีอยู่ทั่วทุกคนไม่มีใครที่จะสามารถรอดพ้นไปได้
ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงเกิดความเบื่อหน่าย
คิดหาอุบายเครื่องที่จะทำให้รอดพ้นจาก ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
ซึ่งถือว่าเป็นทุกข์อย่างยิ่งของมนุษย์ทุกคนที่เกิดมา.

เมื่อบรรพชาแล้ว เสด็จพักแรมอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน
แขวงมัลลชนบท ๗ วัน แล้วเสด็จจาริกไปสู่มคธชนบทผ่านกรุงราชคฤห์
พบพระเจ้าพิมพิสารได้สนทนาปราศรัยกันแล้ว
พระเจ้าพิมพิสารทรงชวนให้อยู่
โดยจะมอบราชสมบัติให้กึ่งหนึ่ง พระองค์ไม่ทรงรับ
แสดงพระประสงค์ในการแสวงหาพระสัมมาสัมโพธิญาณ
พระเจ้าพิมพิสารทรงอนุโมทนา และตรัสขอปฏิญญาว่า
ถ้าตรัสรู้แล้ว ขอให้เสด็จมาโปรดบ้าง พระองค์ทรงรับโดยดุษฎียภาพ (คือนิ่ง)

จากนั้นจึงเสด็จไปสู่สำนักอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร
ศึกษาลัทธิสมัยของท่านจนจบสมาบัติ ๘ ประการ คือ รูปฌาน๔ อรูปฌาน ๔
เมื่อเห็นว่าไม่ใช่ทางที่จะตรัสรู้จึงลาออกจากสำนัก
จาริกไปจนถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
ทรงเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสำหรับการบำเพ็ญเพียรจึงทรง ประทับอยู่ ณ ที่นั้น

บำเพ็ญทุกกรกิริยา


พระมหาบุรุษทรงทดลองบำเพ็ญทุกกรกิริยา
คือการทรมานพระวรกายให้ลำบาก
ที่นักบำเพ็ญตบะทั้งหลาย ยกย่องว่า
เป็นการบำเพ็ญเพียรอย่างยอดเยี่ยม
โดยการบำเพ็ญเพียร ๓ วาระ คือ

๑. วาระแรก ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ (กัดฟัน)
กดพระตาลุด้วยพระชิวหา ( ใช้ลิ้นกดเพดาน ) ไว้จนแน่น
จนน้ำพระเสโท ( เหงื่อ ) ไหลออกมาจากพระกัจฉะ ( รักแร้ )
เกิดทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า

๒. วาระต่อมา ทรงผ่อนและกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ( ลมหายใจเข้าออก )
เมื่อลมเดินไม่สะดวกทางช่องพระนาสิก ( จมูก ) และพระโอษฐ์ ( ปาก )
ก็เกิดเสียงดังอู้ที่ช่องพระกรรณ ( หู ) ทั้งสอง
ทำให้ปวดพระเศียร ( ศีรษะ) เสียดพระอุทร ( ท้อง ) ร้อนทั่วพระวรกาย.

๓. วาระสุดท้าย ทรงอดอาหารผ่อนเสวยแต่วันละน้อย ๆ บ้าง
เสวยแต่อาหารที่ละเอียดบ้าง จนพระกายเหี่ยวแห้ง
พระฉวีวรรณเศร้าหมอง พระอัฐิ ( กระดูก ) ปรากฏทั่วพระวรกาย
เสวยทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า ถึงกระนั้นพระองค์ก็มิได้ทรงท้อถอยเลย.

เกิดอุปมา ๓ ข้อ

ครั้งนั้นอุปมา ๓ ข้อมาปรากฏแก่พระองค์

๑. สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดก็ตาม
มีกายยังไม่หลีกออกจากกาม
ยังมีความรักใคร่ในกามจะเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า
ซึ่งเกิดเพราะความเพียรหรือไม่ก็ตาม
ก็ไม่ควรจะตรัสรู้เหมือนไม้สดที่แช่น้ำ ยากที่จะสีให้เกิดไฟได้.

๒.สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดก็ตาม
แม้มีการหลีกออกจากกาม
แต่ยังมีความพอใจรักใคร่ในกามอยู่ก็ไม่ควรจะตรัสรู้
เหมือนไม้สดถึงจะไม่แช่น้ำก็ยากที่จะสีให้เกิดไฟได้.

๓. สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดก็ตาม
ที่มีกายหลีกออกจากกาม และละความมีใจรักใคร่ในกามเสียได้ ก็ควรจะตรัสรู้
เหมือนไม้แห้งอาจสีให้เกิดไฟได้.

ดังนั้น พระองค์จึงพยายามป้องกันพระหฤทัยมิให้น้อมไปในกามารมณ์
ครั้นเห็นว่ามิใช่หนทางตรัสรู้จึงได้ละทุกกรกิริยานั้นเสีย
กลับมาเสวยพระกระยาหารใหม่ เพื่อที่จะบำเพ็ญเพียรทางใจต่อไป

ในขณะที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่นั้น ฤษี ๕ ตน คือ
โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะและอัสสชิ รวมเรียกว่า “ปัญจวัคคีย์” 
เคยได้เห็นบ้างได้ยินมาบ้างว่าพระมหาบุรุษถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกในโลก
เมื่อได้ทราบข่าวพระองค์ออกบรรพชา
จึงพากันออกบวชตามหามาพบขณะบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่จึงคอยเฝ้าปฏิบัติ
แต่เมื่อเห็นพระองค์ทรงละทุกกรกิริยาเสียจึงคิดว่า
ทรงคลายความเพียรไม่มีทางที่จะตรัสรู้ได้ จึงพากันละทิ้งพระองค์
ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแขวงเมืองพาราณสี

พระมหาบุรุษกลับมาเสวยพระกระยาหาร
จนพระวรกายกลับมีกำลังขึ้นเหมือนอย่างเดิมแล้ว
ทรงเริ่มบำเพ็ญเพียรทางใจต่อไป นับตั้งแต่บรรพชามาประมาณ ๖ ปี
จนถึงวันเพ็ญแห่งวิสาขมาส (วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน๖)

ตอนเช้าวันนั้นนางสุชาดาธิดาของกุฎุมพีผู้เป็นนายบ้านของชาวบ้านอุรุเวลาเสนานิคม
ปรารถนาจะทำการบวงสรวง (แก้บน)เทวดา
จึงนำข้าวมธุปายาสไปยังต้นไทร (อชปาลนิโครธ)
ต้นหนึ่งใกล้บ้านได้เห็นพระมหาบุรุษประทับนั่งอยู่สำคัญว่า
เป็นเทวดาจึงน้อมข้าวมธุปายาสเข้าไปถวาย
พระองค์ทรงรับพร้อมทั้งถาดทองคำแล้วทรงถือไปยังริมแม่น้ำเนรัญชรา
ทรงเสวยหมดแล้วทรงอธิษฐานลอยถาดเสียในกระแสน้ำ

เวลาเย็นพระองค์เสด็จมาสู่ต้นโพธิ์
ทรงรับหญ้าคา ๘ กำมือที่โสตถิยพราหมณ์ถวายระหว่างทาง
ทรงปูลาดหญ้าคาที่โคนต้นโพธิ
แล้วประทับนั่งผินพระพักตร์ ไปทางทิศบูรพา
หันพระปฤษฎางค์ (หลัง)ไปทางลำต้นพระศรีมหาโพธิ์
ทรงอธิฐานพระทัยว่า
ตราบใดยังมิได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
แม้พระมัสสะ(เนื้อ) และพระโลหิต(เลือด)
จะเหือดแห้งไปเหลือแต่พระตจะ(หนัง) พระนหารู(เอ็น) พระอัฐิ(กระดูก)
ก็ตามทีจะไม่ลุกขึ้นตราบนั้น .

ชนะมาร

สมัยนั้น พญามารได้ยกพลเสนามารมาผจญพระองค์ทรงต่อสู้ด้วยพระบารมี ๑๐ ทัศ คือ

๑. ทาน การเสียสละ
๒. ศีล การรักษากายวาจาให้ปกติ
๓. เนกขัมมะ การออกจากกามได้แก่บรรพชา
๔. ปัญญา รู้สิ่งที่ควรรู้
๕. วิริยะ ความเพียรพยายาม
๖. ขันติ ความอดทน
๗. สัจจะ ความซื่อสัตย์
๘. อธิษฐาน ความตั้งใจอย่างมั่นคง
๙. เมตตา ความรัก
๑๐. อุเบกขา ความวางเฉย

จนพญามาร ได้พ่ายแพ้ไปตอนพระอาทิตย์จะตกแล้ว
พระองค์ทรงเริ่มเจริญสมถภาวนาทำจิตให้เป็นสมาธิ
จนได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน
แล้วยังฌานอันเป็นองค์แห่งปัญญา ๓ ประการ ให้เกิดในยามทั้ง ๓ คือ

๑. ในปฐมยาม ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ระลึกชาติได้

๒. ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ คือ การรู้การตาย การเกิดของเหล่าสัตว์ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ทิพยจักษุญาณ คือ ตาทิพย์

๓. ในปัจฉิมยาม พระองค์ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เป็นเหตุและเป็นผลเนื่องกันเหมือนกับลูกโซ่ จนได้รู้แจ้งอริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ คือ

๓.๑. ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
๓.๒. สมุทัย เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓.๓. นิโรธ ความดับเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓.๔. มรรค หนทางที่จะดับทุกข์

แล้วจึงได้บรรลุอาสวักขยญาณ คือความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวกิเลส
จิตของพระองค์ก็พ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งปวง
ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน อันเป็นการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในยามที่ ๓ แห่งราตรีวิสาขมาส ก่อนพุทธศก ๕๔ ปี
จึงได้พระนามบัญญัติโดยคุณนิมิตว่า “อรหัง”
เป็นพระอรหันต์ ห่างไกลกิเลสทั้งปวง
และ สัมมาสัมพุทโธ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
หาได้มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นครูอาจารย์ไม่ .

ปฐมเทศนา และ ปฐมสาวก


สัตตมหาสถาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้นตรัสรู้ธรรมพิเศษแล้ว
เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข คือ
สุขเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสาสวะสิ้นกาลนาน ๗ สัปดาห์ (๔๙ วัน) ณ สถานที่ ๗ แห่ง คือ

สัปดาห์ที่ ๑ หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว
เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ภายใต้ร่มไม้พระศรีมหาโพธิตลอด ๗ วัน
ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทตามลำดับ และทวนลำดับกลับไปกลับมา
ทั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับตลอด ๓ ยามแห่งราตรี
แล้วเปล่งอุทาน คือตรัสออกมาด้วยความเบิกบานพระหฤทัยยามละครั้ง

สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จไปทางทิศอิสาน
ประทับยืนทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธิ์
โดยมิได้กระพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน
สถานที่นั้นเรียกว่า อนิมิสสเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จกลับจากที่นั้นมาหยุดอยู่ระหว่างกลางต้นศรีมหาโพธิ์
และอนิมิสสเจดีย์เสด็จจง กรมกลับไปกลับมา ณ ที่นั้น ตลอด ๗ วัน
สถานที่นั้นเรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๔ เสด็จไปทางทิศพายัพ
หรือปัจจิมทิศแห่งต้นศรีมหาโพธิ
ประทับนั่งขัดบัลลังก์ทรงพิจารณาอภิธรรมปิฎกตลอด ๗ วัน
สถานที่นั้นเรียกว่า รัตนฆรเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๕ เสด็จไปทางทิศบูรพาแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์
ไปยังต้นไทรต้นหนึ่ง อันเป็นที่พักอาศัยร่มเงาของคนเลี้ยงแพะ
จึงได้ชื่อว่า “อชปาลนิโครธ”
ถูกพราหมณ์คนหนึ่งผู้มีปกติชอบกล่าวคำว่า หึ หึ หรือ หุง หุง
อันเป็นคำหยาบจนติดปาก
ทูลถามถึงพราหมณ์และธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์

สัปดาห์ที่ ๖ เสด็จไปยังต้นจิก
ซึ่งอยู่ทางทิศอาคเนย์แห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ใกล้สระ
อันเป็นที่อยู่ของพญานาคชื่อมุจลินท์ สถานที่นี้จึงได้นามว่า มุจลินท์
ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขตลอด ๗ วัน
เปล่งอุทานว่า ความสงัดเป็นความสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว เป็นต้น

สัปดาห์ที่ ๗ เสด็จไปยังต้นเกต ซึ่งได้นามว่า ราชายตนะ
อยู่ทางทิศทักษิณแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ
มีพ่อค้าสองคนพี่น้อง ชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ เดินทางมาจากอุกกลชนบท
ได้นำข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงมาถวายแล้วแสดงตนเป็นอุบาสกโดยขอถึง พระพุทธ พระธรรม
เป็นสรณะที่พึ่งทางใจนับว่าเป็นอุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนาที่ถึงรัตนะ ๒ ประการก่อนใคร
( เทววาจิกอุบาสก )

ปฐมเทศนา


ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว พระองค์เสด็จออกจากร่มไม้ราชายนตะ
กลับมาประทับ ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธอีก
ทรงพิจารณาถึงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วว่าเป็นบุคคลที่ยินดีในกามคุณจะรู้ตามได้
ท้อพระทัยที่จะสั่งสอน แต่อาศัยพระมหากรุณา ส่วนพระคันถรจนาจารย์แสดงความว่า
ในกาลทีพระองค์ท้อพระทัยนี้ ท้าวสหัมบดีพรหมทราบพุทธอัธยาศัย
จึงมากราบทูลอาราธนาเพื่อทรงแสดงธรรม พระองค์พิจารณาก็ทราบด้วยปัญญาว่า
หมู่สัตว์เปรียบได้กับดอกบัว ๔ เหล่า คือ

๑. อุคฆฏิตัญญู เหล่าสัตว์มีกิเลสเบาบาง มีอินทรีย์แก่กล้า มีอาการอันดี
พึงสอนให้รู้ได้โดยง่าย เปรียบเหมือนดอกบัวที่ขึ้นพ้นน้ำ พอต้องแสดงอาทิตย์ก็บานทันที

๒. วิปจิตัญญู เหล่าสัตว์ผู้มีคุณสมบัติเช่นนั้นพอปานกลางได้รับการอบรมจนมีอุปนิสัยแก่กล้า
ก็สามารถจะบรรลุธรรมพิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่เสมอน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้

๓. เนยยะ เหล่าสัตว์ผู้มีคุณสมบัติเช่นนั้นยังอ่อน หาอุปนิสัยไม่ได้เลย
ก็ยังควรได้รับการแนะนำในธรรมเบื้องต่ำไปก่อน เพื่อบำรุงอุปนิสัย
เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ จักบานในวันต่อไป

๔. ปทปรมะ เหล่าสัตว์ที่เป็นอภัพพบุคคล ไม่ยอมรับคำแนะนำ
เปรียบเหมือนดอกบัวที่เริ่มแตกดอกใหม่ ๆ ที่อยู่ใต้น้ำลึก
เหมาะที่จะเป็นอาหารของเต่าและปลา ฉะนี้

ดังนั้นพระองค์จึงตกลงพระทัยที่จะแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ พระองค์ทรงพิจารณาบุคคลผู้สมควรรับเทศนาครั้งแรก
ทรงปรารภถึง ปัญจวัคคีย์ทั้ง๕ จึง ทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก ชื่อ "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"

เนื้อความแห่งพระธรรมเทศนาแห่งพระสูตรนี้
ทรงตรัสเตือนพวกปัญจวัคคีย์ ให้ตั้งใจสดับพระธรรมเทศนาแล้ว
ก่อนแต่พระองค์จะทรงแสดงธรรมนั้น พระองค์ได้ยกธรรมอันควรละ ๒ อย่าง คือ

๑. กามสุขัลลิกานุโยค คือการประกอบตนให้พัวพันด้วยความสุขในกาม โดยหมกมุ่นอยู่ในกาม
๒. อัตตกิลมถานุโยค คือ การบำเพ็ญเพียรโดยการทรมานตัวให้ลำบาก ทั้ง ๒ สาย มิใช่ทางตรัสรู้

ทรงแสดงให้ดำเนินทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา ไม่หย่อนเกินไป และไม่ตึงเกินไป
ได้แก่มรรค ๘ ประการ อันเป็นทางที่จะให้ตรัสรู้ได้

และทรงแสดง อริยสัจ คือ ความจริงอย่างประเสริฐ ๔ ประการ คือ

๑. ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ
๒. สมุทัย คือเหตุให้ทุกข์เกิด
๓. นิโรธ คือความดับทุกข์
๔. มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ปฐมสาวก


พระอัญญาโกณฑัญญะ หลังจากได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว
ธรรมะได้เกิดขึ้นแก่ท่านว่า
"สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิด ขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา"
ท่านอุปสมบทจากพระพุทธองค์ด้วยการประทานพระดำรัสว่า
"เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด"
การอุปสมบทแบบนี้เรียกว่า
“เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
เป็นอันว่าพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้เป็นปฐมสาวกองค์แรกในพุทธศาสนา
และในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอาสาฬหะ
เป็นวันสังฆรัตนะเกิดขึ้นในโลก
ส่วนปริพาชกอีก ๔ ท่าน
ได้ดวงตาเห็นธรรมด้วยธรรมเทศนาเบ็ดเตล็ดแล้ว ประทานอุปสมบทให้

ครั้นวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘
พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานพระธรรมเทศนาชื่อ "อนัตตลักขณสูตร"
โดยใจความแห่งพระธรรมเทศนานั้นว่า
ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา คือ มิใช่ตัวมิใช่ตน
เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิให้ยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา
เมื่อจบพระธรรมเทศนา จิตของภิกษุทั้ง ๕ ก็หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ
ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ได้สำเร็จมรรคผลเบื้องสูง คือพระอรหันต์
สรุปว่าบัดนี้มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ คือ
พระบรมศาสดา, กับพระสาวกทั้ง ๕

ส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา


เมื่อยสะบุตรของเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี
เกิดความเบื่อหน่ายจากการครองเรือน
ได้เดินตามทางไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
พลางบ่นไปว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"
ในเวลาใกล้รุ้ง ขณะนั้นพระบรมศาสดาทรงเสด็จจงกรมอยู่ ทรงได้ยินเข้า จึงตรัสไปว่า
"ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญทางนี้เถิด และนั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน”
ยสะได้ยินดังนั้นจึงถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้าถวายนมัสการ แล้วนั่งลงที่สมควรแห่งหนึ่ง

พระองค์ทรงแสดงอนุปุพีกถา ๕ ประการ คือ

๑. ทาน การเสียสละ
๒. ศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย
๓. สวรรค์
๔. กามาทีนพ โทษของกาม
๕. เนกขัมมานิสงส์ อานิสงส์แห่งการออกจากกาม

แล้วจบลงด้วยการอริยสัจ ๔ พอจบพระธรรมเทศนา
ยสกุลบุตรก็ได้ดวงตาเห็นธรรม
เศรษฐีผู้เป็นบิดาท่านยสะ
ได้เข้าเฝ้าพระศาสดา
และพระองค์ได้ทรงประทานพระธรรมเทศนาอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔
ท่านเศรษฐีได้แสดงตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต
นับว่าเป็นอุบาสกคนแรกในโลกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ(เตวาจิกอุบาสก)

ฝ่ายมารดาและภรรยาของท่านก็เหมือกัน
ได้ขอถึงพระรัตนะตรัยเป็นสรณะเป็นอุบาสิกาคนแรกในโลก

พระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทแก่ท่านยสะ ด้วยการประทานพระดำรัสว่า
"เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด"
ในที่ นี้ไม่มีคำว่า "เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด"
เพราะยสะเป็นพระอรหันต์ ถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว

สหายยสบรรพชา 


สหายพระยสะที่มีชื่อ ๔ คน คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ และควัมปติ
และที่ไม่ปรากฏชื่ออีก ๕๐ คน ทราบข่าวยสกุลบุตบวชจึงพากันออกบวชตาม
พระพุทธองค์ทรงอุปสมบทและทรงสั่งสอนจนให้สำเร็จพระอรหันต์

ครั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลกแล้ว ๖๑ องค์ พร้อมด้วยพระศาสดา
พระองค์จึงตรัสเรียกพระสงฆ์สาวกเหล่านั้นมา
เพื่อที่จะส่งไปประกาศพระศาสนา ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้เธอทั้งหลายก็เหมือนกัน
เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปตามชนบท เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก
แต่อย่าไปทางเดียวกัน ๒ องค์
จงแสดงธรรมที่มีคุณในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด
จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะอันบริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง
สัตว์ทั้งหลายมีกิเลสบังปัญญาดุจธุลีใยจักษุมีอยู่น้อย
เพราะโทษที่มิได้ฟังธรรม จึงเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้พึงถึง
ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมีอยู่ แม้เราเองจะไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อจะแสดงธรรม”

เมื่อพระสงฆ์สาวกทั้ง ๖๐ องค์ออกประกาศพระศาสนา
ได้มีกุลบุตรศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก
พระองค์ทรงเห็นความลำบาก ที่พระสงฆ์ได้นำกุลบุตรเหล่านั้นมาบวชกับพระองค์
ภายหลังจึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์เหล่านั้นให้บวชกุลบุตรผู้มีความเลื่อมในได้เอง
โดยการให้กล่าวแสดงตนถึงพระรัตนตรัย
ก็เป็นอันเสร็จพิธีการบวช การบวชแบบนี้เรียกว่า
ติสรณคมนูปสัมปทา คือไตรสรณคมน์

โปรดชฏิล ๓ พี่น้อง


ส่วนพระองค์ทรงเสด็จไปยังอุรุเวลาเสนานิคม
ในระหว่างทางเสด็จแวะพักที่ไร่ฝ่ายแห่งหนึ่ง
ได้พบกุลบุตรผู้เป็นสหายกัน ๓๐ คน มีชื่อเรียกว่า “ภัททวัคคีย์” 
พระพุทธเจ้าก็ทรงเทศนาอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ โปรด
จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วได้ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาต่อไป

ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ฝั่งแม่น้ำเนรัญชราเป็นที่อาศัยของพวกชฏิล ๓ พี่น้อง
ผู้พี่มีชื่อว่าอุรุเวลกัสสปะมีศิษย์อยู่ ๕๐๐ คน
คนกลางมีชื่อว่านทีกัสสปะมีศิษย์อยู่ ๓๐๐ คน
คนเล็กมีชื่อว่าคยากัสสปะมีศิษย์อยู่ ๒๐๐ คน
พระพุทธเจ้าทรงทรมานชฏิลเหล่านั้นจนละทิ้งลัทธิเดิม
มีความศรัทธาในพระองค์ ขออุปสมบท
แล้วพระองค์ทรงเทศนาโปรดด้วยกัณฑ์ที่มีชื่อว่า “อาทิตตปริยาสูตร”

ใจความในอาทิตตปริยาสูตรนั้นว่า

๑. อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นต้น
๒. อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ เป็นของร้อน
๓. วิญญาณ ผัสสะ และเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะอายตนะภายใน กับอายตนะภายนอกกระทบกันเป็นของร้อน

ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟ ๓ กอง คือ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ
และร้อนเพราะ การเกิด แก่ ตาย ความเศร้าโศกครำครวญ ความทุกข์ ความเสียใจ
และความขัดเคืองใจ

เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว ภิกษุทั้งหมด ๑,๐๐๓ รูป ได้สำเร็จพระอรหันต์


เสด็จโปรดพระเจ้าพิมพิสาร


พระพุทธองค์ ครั้นประทับอยู่ที่คยาสีสะตามควรแก่พระอัธยาศัยแล้ว
จึงพร้อมด้วยภิกษุสาวกเหล่านั้นได้เสด็จถึงกรุงราชคฤห์ประทับอยู่ ณ ลัฏฐิวัน(สวนตาลหนุ่ม)
พระเจ้าพิมพิสารทราบข่าวก็ได้เสด็จออกมานมัสการพร้อมด้วยบริวารมากมาย
บริวารเหล่านั้นได้แสดงทิฐิของตนไปต่าง ๆ เช่น บางพวกก็นมัสการ บางพวกก็เฉย เป็นต้น
พระองค์จึงให้พระอุรุเวลกัสสปะ ประกาศลัทธิเก่าของตนแก่ชนผู้เลื่อมใส ว่าไม่มีแก่นสาร
หาประโยชน์มิได้ จากนั้นพระองค์ก็แสดงอนุปปุพพีกถา และอริยสัจ ๔
ในที่สุดพระเจ้าพิมพิสาร กับบริวาร ๑๒ ส่วนได้ดวงตาเห็นธรรม
อีกส่วนหนึ่งได้ตั้งอยู่ในสรณคมน์

ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารก็ได้สำเร็จความปรารถนา
ที่ทรงตั้งไว้ ๕ ประการในครั้งยังเป็นพระกุมาร คือ

๑. ขอให้ได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินในมคธรัฐนี้
๒. ขอท่านผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้รู้เองเห็นเองโดยชอบ พึงมายังแคว้นของตน
๓. ขอให้พระองค์ได้เข้าไปนั่งใกล้พระอรหันต์นั้น
๔. ขอพระอรหันต์นั้นพึงแสดงธรรมให้ฟัง
๕. ขอให้พระองค์พึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระอรหันต์นั้น

ครั้นสำเร็จความปรารถนาทั้ง ๕ ประการแล้ว
พระองค์ก็ทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน (สวนไม้ไผ่)
สร้างเป็นวัดแห่งแรกในทางพระพุทธศาสนา
เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยแห่งภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน

อัครสาวกบรรพชา


ในกรุงราชคฤห์ ได้มีกุลบุตร ๒ คน ซึ่งเป็นสหายกัน คือ อุปติสสะ และโกลิตะ
ได้พากันออกบวชแสวงหาโมกขธรรม ในสำนักของสัญชัยปริพาชก
เมื่อเรียนจบความรู้ของอาจารย์แล้วก็เห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้
จึงได้สัญญากันว่า ใครได้พบอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
วันหนึ่งท่านอุปติสสะ ได้พบพระอัสสชิ และได้ฟังธรรมจากท่านพระอัสชิ
ความว่า
"ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุ แห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น"จนได้ดวงตาเห็นธรรม
จึงได้กลับไปบอกโกลิตะ ท่านโกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเพราะฟังจากท่านอุปติสสะ
และได้พาบริวารมาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์
เมื่อท่านทั้ง ๒ บวชแล้ว ภิกษุสหธรรมิกส่วนมาก เรียกท่านอุปติสสะว่า สารีบุตร
ด้วยเหตุที่ท่านเป็นบุตรของนางสารี
เรียกท่านโกลิตะว่าโมคคัลลานะ ด้วยเหตุเป็นบุตรนางโมคคัลลี
ภิกษุผู้เป็นบริวาร บวชแล้วไม่นานได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วบำเพ็ญเพียร
ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ก่อน

ฝ่ายท่านโมคคัลลานะ บวชได้ ๗ วันไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ
อ่อนใจนั่งโงกง่วงอยู่ พระพุทธองค์เสด็จไปที่นั้น
ทรงแสดงอุบายระงับความง่วง ๘ ประการ
ท่านพระโมคคัลลานะได้สดับอุบายแก้ง่วง
และปฏิบัติตามพระโอวาทที่ทรงสั่งสอนก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ในวันนั้นเอง
ภายหลังได้รับยกย่องเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย เลิศทางมีฤทธิ์

ส่วนท่านพระสารีบุตร อุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน
นั่งถวายงานพัดพระบรมศาสดาที่ถ้ำสุกรขาตา เชิงเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์
ได้ฟังพระธรรมเทศนาอันเป็นอุบายแห่งการละทิฏฐิ ๓ ประการ
และเวทนาปริคคหสูตร (การกำหนดเวทนา ๓ ประการ)
ที่พระองค์ทรงแสดงแก่ปริพาชก ชื่อ ทีฆนขะ (มีเล็บยาว) อัคคิเวสสนโคตร
ก็ใช้ปัญญาพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ
ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทานได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนทีฆขนขปริพาชกนั้น
ได้เพียงดวงตาเห็นธรรมหมดความสงสัยในพระพุทธศาสนา
ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แล้วแสดงตนเป็นอุบสกแล้วหลีกไป
ส่วนพระสารีบุตรภายหลังได้รับยกย่องเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา เลิศทางปัญญา

ทรงบำเพ็ญพุทธกิจในมคธรัฐ


ประทานอุปสมบทแก่พระมหากัสสปะ
คราวหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จจาริกโปรดประชาชนในมคธชนบท
ประทับที่ใต้ร่มไทร เรียกว่า หุปุตตกนิโครธ
ในระหว่างกรุงราชคฤห์และนาลันทาต่อกันว่า
ในเวลานั้น ปิปผลิมาณพ กัสสปโคตร
เบื่อหน่ายการครองเรือนถือเพศบรรพชิตบวชอุทิศพระอรหันต์ในโลก
เที่ยวจาริกมาถึงที่นั้น พบพระพุทธองค์เกิดความเลื่อมใส
นับถือพระองค์เป็นศาสดาของตนแล้วทูลขอบวช
พระองค์ทรงประทานอุปสมบทให้ โดยการประทานโอวาท ๓ ข้อ
เรียกว่า โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา คือ

๑. “กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความยำเกรงไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ผู้ปานกลาง และผู้ใหม่อย่างแรงกล้า”
๒. “ธรรมใดก็ตาม ที่ประกอบไปด้วยกุศล เราจักเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้น และพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมนั้น”
๓. “เราจักได้สติที่เป็นไปในกาย คือพิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์ (กายคตาสติ)” ครั้นทรงสั่งสอนอย่างนี้ ก็เสด็จหลีกไป

การบวชแบบนี้เรียกว่า “อุปสมบทด้วยรับโอวาท ๓ ข้อ”
ท่านพระปิปผลิ ได้ฟังพุทธโอวาทที่ทรงสั่งสอนแล้ว
บำเพ็ญเพียรไม่ช้านัก ในวันที่แปดแต่อุปสมบท ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์
เมื่อท่านเข้ามาสู่พระธรรมวินัย สหธรรมิกทั้งหลายมักเรียกชื่อท่านว่า “พระมหากัสสปะ”

แม้ท่าน มหากัจจายนะ ก็ได้มาอุปสมบทโดยเอหิภิกขุอุปสัมปทาจากพระบรมศาสดา
ณ กรุงราชคฤห์

มหาสันนิบาต แห่งสาวกครั้งหนึ่ง
เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งมคธรัฐ
ได้มีการประชุมพระสาวกครั้งใหญ่คราวหนึ่ง เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต”
แปลว่าการประชุมมีองค์ ๔ คือ

๑. พระสาวก ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
๒. พระสาวกเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนเป็นพระอรหันตขีณาสพทั้งสิ้น
๓. พระสาวกเหล่านั้น ล้วนบวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น (คือมีพระพุทธองค์เป็นอุปัชฌาย์)
๔. วันนั้น เป็นวันพระจันทร์เพ็ญเต็มดวงเสวยมาฆฤกษ์ (เพ็ญเดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เมื่อองค์ ๔ มาประชุมพร้อมกันเช่นนี้ พระพุทธองค์จึงทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แด่พระสาวกเหล่านั้น

ใจความใน โอวาทปาติโมกข์ ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจหรือหลักพระพุทธศาสนา คือ

๑. ขันติ คือความอดทน เป็นตบะอย่างยอด ท่านผู้รู้กล่าวนิพพานว่าเป็นยอด บรรพชิตผู้ฆ่า ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็นสมณะ
๒. การไม่ทำบาป (ความชั่ว) ทั้งปวง การยังกุศล (ความดี) ให้บริบูรณ์ และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เป็นศาสนธรรมคำสอนของท่านผู้รู้
๓. การไม่พูดค่อนขอดกัน การไม่ประหัตประหารกัน ความสำรวมในปาติโมกข์ การรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร การพอใจที่นอนที่นั่งอันสงัด การประกอบจิตไว้โดยยิ่ง เป็นคำสอนของท่านผู้รู้

ทรงอนุญาตเสนาสนะ


ตอนต้นพุทธกาล ภิกษุสงฆ์สาวก ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายเวฬุวันให้เป็นที่ประทับพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
ต่อมาเศรษฐีเมืองราชคฤห์เลื่อมใสจึงถวายวิหารแด่พระภิกษุสงฆ์
พระองค์ทรงอาศัยเหตุนี้จึงทรงอนุญาตเสนาสนะ คือที่นอนที่นั่ง ๕ ชนิด ได้แก่

๑. วิหาร คือกุฏิมีหลังคาและปีกทั้งสองข้างอย่างปกติ
๒. อัฑฒโยคะ ได้แก่ โรงหรือร้านที่มุงด้านเดียว เช่นโรงโขน โรงลิเก เป็นต้น
๓. ปราสาท บ้านหรือตึกปลูกซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ตั้งแต่ ๒ ชั้นขึ้นไป
๔. หัมมิยะ ได้แก่ตึกหลังคาตัด ใช้หลังคาเป็นที่ตากอากาศได้
๕. คูหาได้แก่ถ้ำ

ทรงแสดงวิธีทำปุพพเปตพลี


พวกพราหมณ์มีธรรมเนียมเซ่นและทำทักษิณาอุทิศบุรพบิดรของเขาเรียกว่า “ศราท”
การเซ่นด้วยก้อนข้าว เรียกว่า “สปิณฑะ”
แปลว่า ผู้ร่วมก้อนข้าว สมาโนทก แปลว่า ผู้ร่วมน้ำ

ส่วนพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ทำบุญอุทิศแก่เปรตชนคือ ผู้ตายทั่วไป
โดยไม่จำกัดเพียงบุรพบิดรเท่านั้น จะเป็นเพื่อนมิตรสหายหรือใครก็ได้
โดยการกระทำทั้ง ๒ อย่าง คือ
ทั้งสปิณฑะและสมาโนทก โดยนำไปบริจาคในสงฆ์ แทนที่จะวางให้สัตว์มีกา เป็นต้น
กิน แล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่เปรตชนเหล่านั้น
ทักษิณาที่อุทิศมตกทาน แปลว่า การถวายทานอุทิศให้ผู้ตายบ้าง
ส่วนทักษิณาที่อุทิศเฉพาะบุรพบิดร เรียกว่าเปรตชนมีความหมายเป็น ๒ นัย คือ

๑. หมายถึงผู้ที่ตายไปแล้ว
๒. หมายถึงสัตว์ที่ไปเกิดในปิตติวิสัย

เปรตจะได้รับผลทานเพราะลักษณะ ๓ ประการ คือ

๑. ทายกบริจาคทานแล้วต้องอุทิศส่วนบุญไปให้
๒. ปฏิคาหกผู้รับทานเป็นทักขิเณยยะ คือ ผู้ควรที่จะรับทาน
๓. เปรตชนนั้นได้รับส่วนบุญแล้วต้องอนุโมทนา

ทายกผู้ทำทักษิณา แสดงออก ๓ ประการ คือ

๑. ได้แสดงญาติธรรมให้ปรากฏ
๒. ได้ทำการบูชา คือยกย่องเปรตชน
๓. ได้เพิ่มกำลังให้แก่ภิกษุทั้งหลาย เป็นอันได้บุญมิใช่น้อย

ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่


ทรงให้บวชราธพราหมณ์ โดยการให้พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์
และตรัสให้เลิกการอุปสมบทด้วยไตรสรณคมนูปสัมปทา
ทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยวิธีประชุมสงฆ์ ตั้งญัตติ ๑ ครั้ง
และสวดอนุสาวนา (สวดประกาศ) ๓ ครั้ง วิธีนี้ เรียกว่า “ญัตติจตุตถกรรมวาจา”
แม้ในสังฆกรรมอื่น ๆ ก็ทรงมอบอำนาจให้แก่สงฆ์


ทรงสอนผ่อนคดีธรรมคดีโลก


พระพุทธองค์ทรงเปลี่ยนแปลงการไหว้ทิศทั้ง ๖ ของสิงคาลมาณพมาใช้ในหลักพระพุทธศาสนาว่า

๑. ทิศบูรพา อันเป็นทิศเบื้องหน้า ได้แก่ มารดาบิดา
๒. ทิศทักษิณ อันเป็นทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์
๓. ทิศปัจจิม อันเป็นทิศเบื้องหลัง ได้แก่ บุตรภรรยา
๔. ทิศอุดร อันเป็นทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหาย
๕. เหฏฐิมทิศ อันเป็นทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ลูกจ้าง คนใช้
๖. อุปริมทิศ อันเป็นทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์

ผู้ที่จะไหว้ทิศทั้ง ๖ ควรเว้นสิ่งต่อไปนี้ คือ

๑. กรรมกิเลส คือการงานอันเศร้าหมอง ๔ อย่าง
๒. อคติ คือความลำเอียง ๔ อย่าง
๓. อบายมุข คือทางหายนะ ๖ อย่าง


เสด็จสักกชนบท


พระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดา ทรงทราบว่า
พระบรมศาสดา ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
แล้วเสด็จจาริกแสดงธรรมสั่งสอนบรรพชิตคฤหัสถ์มาโดยลำดับ
เสด็จประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ มีพระราชประสงค์จะทรงได้เห็น
จึงตรัสสั่งกาฬุทายีอมาตย์ให้ไปเชิญอาราธนาพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ทรงใช้เวลาเสด็จอยู่ ๒ เดือน
จึงเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์แคว้นสักกชนบท ประทับอยู่ที่นิโครธาราม
พร้อมด้วยภิกษุบริวาร ๒ หมื่นองค์ ทรงทำลายทิฏฐิมานะของพวกศากยะกษัตริย์
จนเป็นเหตุมหัศจรรย์ ฝนโบกขรพรรษตกลงมาในสมาคมนั้น
พวกภิกษุสงสัยทูลถาม จึงได้ตรัสเวสสันดรชาดก
และได้ทรงตรัสกิจวัตรของสมณะ
กับทั้งทรงตรัสพระธรรมเทสนาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะจนได้บรรลุโสดาปัตติผล

ในครั้งหนึ่ง เศรษฐีคฤหบดี ชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ชื่อสุทัตต์
ได้ไปกรุงราชคฤห์ด้วยภารกิจบางอย่างได้ทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงเสด็จอยู่ ในเมืองนี้
จึงได้เข้าไปเฝ้า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ ให้ฟัง
ท่านเศรษฐีก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วกราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสก เป็นผู้มีใจบุญ
มีศรัทธาถวายทานในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และได้ให้ทานแก่คนยากไร้อนาถา
ภายหลังได้เนมิตตกนามว่า “อนาถปิณฑิกะ” แปลว่า ก้อนข้าวสำหรับคนอนาถา.

ทรงปลงอายุสังขาร


เมื่อพระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินสั่งสอนเวไนยสัตว์ในคามนิคมชนบทราชธานีต่างๆ
มีเมืองราชคฤห์เป็นต้น ประดิษฐานพุทธสาวกมณฑลให้เป็นไป
นับการกำหนดแต่ได้ตรัสรู้ล่วงมาได้ ๔๔ พรรษา
ครั้นพรรษาที่ ๔๕ เสด็จจำพรรษา ณ บ้านเวฬุคาม เขตเมืองเวสาลี ภายในพรรษา
กาลนั้นพระองค์ทรงพระประชวรชราพาธกล้า
เกิดทุกขเวทนาใกล้มรณชนม์พินาศ
แต่พระองค์ทรงดำรงค์พระสติสัมปชัญญะ
ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาด้วยอธิวาสนขันติ
เห็นว่ายังมิควรที่จะปรินิพพานจึงทรงขับไล่บำบัดอาพาธนั้นให้สงบระงับไป
ทรงสั่งสอนภิกษุสงฆ์ในเอกายนมรรค คือ
สติปัฏฐานทั้ง ๔ และปกิณณกเทศนาตามสมควร

จนกาลล่วงไปถึงมาฆปุณณมี แห่งฤดูเหมันต์ (ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓) เวลาเช้าวันนั้น
พระองค์ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จโคจรบิณฑบาต ณ เมืองเวสาลี
ครั้นหลังเวลาภัตตาหารดำรัสสั่งให้พระอานนท์ถือเอาผ้านิสีทนะสำหรับรองนั่ง
เสด็จไปยังปาวาลเจดีย์ เพื่อสำราญพระอิริยาบถในเวลากลางวัน
พระพุทธองค์ทรงพระประสงค์จะให้พระอานนท์กราบทูลอาราธนาให้ดำรงค์อยู่ชั่วอายุกัปหนึ่ง
หรือเกินกว่าอายุกัปจึงได้ตรัสโอภาสปริยายนิมิตอันชัดถึง ๓ ครั้ง
แสดงอานุภาพแห่งอิทธิบาทภาวนา
สามารถจะให้ท่านผู้เจริญดำรงค์อยู่ได้อายุกัปหนึ่ง หรือเกินกว่าอายุกัป
แต่มารเข้าดลใจท่านพระอานนท์จึงไม่สามารถรู้ทันมิได้อาราธนา
พระองค์จึงทรงขับพระอานนท์ไปเสียจากที่นั่น
ครั้นท่านพระอานนท์หลีกไปไม่ช้า
มารได้เข้าไปเฝ้ายกเนื้อความแต่ปางหลังเมื่อเริ่มแรกตรัสรู้และกราบทูลว่า
“บัดนี้ ปริสสมบัติและพรหมจรรย์ก็สมบูรณ์ดังพุทธประสงค์ทุกประการแล้ว
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงปรินิพพานเถิด
บัดนี้เป็นกาลที่จะปรินิพพานแห่งพระผู้มีพระภาคแล้ว”
พระองค์จึงตรัสว่า “ดูก่อนมารผู้มีบาป เธอจงมีความขวนขวายน้อยเถิด
ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีในไม่ช้า แต่นี้ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจักปรินิพพาน”

ลำดับนั้น พระพุทธองค์ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ
ปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์นั้น
ก็เกิดมหัศจรรย์แผ่นดินไหวใหญ่
และขนลุกชูชันสยองเกล้าน่าสะพึงกลัว
ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือลั่นในอากาศ

เหตุเกิดแผ่นดินไหว ๘ ประการ


ท่านพระอานนท์เกิดพิศวงความมหัศจรรย์นั้นจึงเข้าไปถวายบังคมแล้วทูลถาม
พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า เหตุที่จะให้แผ่นดินไหวมี ๘ ประการ คือ

๑. ลมกำเริบ
๒. ท่านผู้มีฤทธิ์บันดาล
๓. พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิตลงสู่พระครรภ์
๔. พระโพธิสัตว์ประสูติ
๕. พระโพธิสัตว์ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๖. ตถาคตแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
๗. ตถาคตปลงอายุสังขาร
๘. ตถาคตปรินิพพาน

สถานที่ทรงกระทำนิมิตโอภาส ๑๖ ตำบล


ท่านพระอานนท์ได้ทราบว่า พระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร
จึงกราบขอทูลอาราธนาว่า
“ขอพระผู้มีพระภาคจงดำรงอยู่กัปหนึ่งเถิด เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

พระองค์ทรงตรัสห้ามว่า
“อย่าเลย อานนท์ ท่านอย่าได้อ้อนวอนตถาคตเลยบัดนี้มิใช่กาลเพื่อจะวิงวอนเสียแล้ว”

เมื่อตถาคตทำนิมิตโอภาส หากอานนท์พึงวิงวอนไซร้
ตถาคตพึงห้ามเสีย ๒ ครั้ง ครั้นวาระที่ ๓ ตถาคตจะรับอาราธนา
แต่อานนท์มิได้วิงวอน เพราะเหตุนั้นจึงเป็นความผิดของอานนท์ผู้เดียว
สถานที่ตถาคตทำนิมิตโอภาส ๑๖ ตำบล คือ เมืองราชคฤห์ ๑๐ ตำบล ได้แก่

๑. ภูเขาคิชฌกูฏ
๒. โคตมนิโครธ
๓.เหวที่ทิ้งโจร
๔ .ถ้ำสัตตบรรณคูหา
๕.กาฬศิลา เชิงภูเขาอิสิคิริบรรพต
๖.เงื่อมสัปปิโสณฑิกา ณ สีตวัน
๗.ตโปทาราม
๘.เวฬุวัน
๙.ชีวกัมพวัน
๑๐.มัททกุจฉิมิคทายวัน

และเมืองเวสาลี ๖ ตำบลได้แก่
๑.อุเทนเจดีย์
๒.โคตมกเจดีย์
๓.สัตตัมพเจดีย์
๔.พหุปุตตเจดีย์
๕.สารันททเจดีย์
๖. ปาวาลเจดีย์

ปัจฉิมบิณฑบาต


เมื่อพระองค์ตรัสแก่พระอานนท์แล้ว
จึงเสด็จพุทธดำเนินไปยังกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
ให้พระอานนท์เรียกประชุมภิกษุสงฆ์ ด้วยอภิญญาเทสิตธรรม
ธรรมที่ทรงแสดงด้วยปัญญาอันยิ่ง ได้แก่
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘
เพื่อประโยชน์สุขเกื้อกูลแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลกและทรงสั่งสอนสังเวคกถาและอัปปมาทธรรม

ครั้นรุ่งเช้า ทรงนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาทยังเมืองเวสาลี
ครั้นปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้ว ทอดพระเนตรเมืองเวสาลีเป็น “นาคาวโลก”
คือทรงกลับพระองค์ (กลับหันหลัง) เหมือนกับช้าง
ทอดพระเนตร อันเป็นกาการแห่งมหาบุรุษ ตรัสกะพระอานนท์ว่า
“ดูก่อนอานนท์ตถาคตเห็นเมืองเวสาลีครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย
เรามาพร้อมกันไปบ้านภัณฑุคามกันเถิด”
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับอยู่ ณ บ้านภัณฑุคามนั้น
ตรัสเทศนาอริยธรรม ๔ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ
ต่อแต่นั้นก็เสด็จไปยังบ้านหัตถีคาม อัมพคาม ชัมพุคาม และโภคนคร ประทับอยู่ที่อานันทเจดีย์
ตรัสมหาปเทศ ๔ ฝ่ายพระสูตรว่า
“ถ้าจะมีผู้ใดมาอ้างว่า นี้เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์
เธออย่าพึงรีบเชื่อและอย่างถึงปฏิเสธก่อน
พึงเรียนบทพยัญชนะให้แน่นอนแล้วพึงสืบสวนในสูตร
พึงเทียบในวินัย ถ้าสอบไม่ตรงกันในสูตร เทียบกันไม่ได้ในวินัย
พึงเข้าใจว่านั้นไม่ใช่คำของพระผู้มีพระภาค
เธอผู้นั้นรับมาผิด จำมาเคลื่อนคลาด ถ้าสอบกันได้เทียบกันได้
นั่นเป็นคำของพระผู้มีพระภาค” เป็นต้น

เมื่อวันคืนล่วงไปใกล้กำหนดจะปรินิพพาน
พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ บริวารได้เสด็จไปยังเมืองปาวานคร
ประทบอยู่ที่สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร นายจุนทกัมมารบุตร
ทราบข่าวจึงไปเฝ้า ได้ฟังธรรมีกถาแล้วเลื่อมใส
จึงได้กราบทูลนิมนต์เพื่อฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น
พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์บริวารแล้วลากลับ

รุ่งขึ้นเวลาเช้า อันเป็นวันวิสาขปุรณมี (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖)
พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริษัท
เสด็จไปถึงบ้านของนายจุนทะ ประทับ ณ พุทธอาสน์แล้ว
ตรัสเรียกหานายจุนทะแล้วว่า “ดูกร จุนทะ สูกรมัททวะ (เห็ดชนิดหนึ่ง)
ที่เธอได้จัดแจงไว้นั้น จงอังคาส(ถวาย) แต่ตถาคตเท่านั้น
ส่วนของเคี้ยวของฉันอันประณีต เธอจงอังคาสภิกษุสงฆ์เถิด”
นายจุนทะทำตามพระพุทธประสงค์ เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว
ตรัสให้นายจุนทะนำสูกรมัททวะไปฝังเสีย มิให้ผู้ใดบริโภค
ทรงแสดงธรรมีกถาแล้วเสด็จกลับ

ทรงพระประชวร


เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยภัตตาหารของนายจุนทะแล้ว
ก็เกิดอาพาธอย่างแรงกล้า ทรงพระประชวรลงพระโลหิต (อาเจียนเป็นเลือด) ใกล้แต่มรณทุกข์
ทรงมีพระสติสัมปชัญญะทรงอดกลั้นด้วยอธิวาสนขันติ
จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า
“อานนท์ เรามาพร้อมกันเถิด เราจักไปเมืองกุสินารา”
เมื่อเสด็จมากลางทางทรงเหน็ดเหนื่อย
ทรงแวะเข้าประทับร่มไม้แห่งหนึ่งตรัสให้พระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิพับเป็น ๔ ชั้น
แล้วประทับนั่ง ตรัสให้นำน้ำมาให้ดื่ม ท่านอานนท์นำบาตรไป
น้ำที่ขุ่นเพราะเกวียน ๕๐๐ เล่ม ก็กลับใส
พระอานนท์ตักน้ำนำมาถวายแล้วกราบทูลถึงความมหัศจรรย์
ขณะนั้นบุตรแห่งมัลลกษัตริย์ชื่อปุกกุสะ
เคยเป็นศิษย์แห่งสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตรร่วมกัน
เดินผ่านมาเห็นเข้าจำได้ จึงเข้าไปเฝ้า ได้ฟังสันติวิหารธรรม เกิดเลื่อมใส
ได้ถวายผ้าสิงคิวรรณ ๑ คู่ แล้วหลีกไป
เมื่อพระองค์ทรงนุ่งห่ม ปรากฏว่าผิวพรรณงามยิ่งนักเป็นที่น่ามหัศจรรย์
พระอานนท์กราบทูลสรรเสริญ พระองค์ตรัสว่า
“ผิวกายของตถาคตจะผุดผ่องสวยงามยิ่งใน ๒ กาล คือ
ในราตรีที่จะได้ตรัสรู้ และในราตรีที่จะปรินิพพาน
ดูก่อนอานนท์ ในยามสุดท้ายแห่งราตรีวันนี้
ตถาคตจักปรินิพพาน ณ ระหว่างไม้รังทั้งคู่ที่สาลวโนทยานเมืองกุสินารา
อานนท์ เรามาไปยังแม่น้ำกกุธานทีกันเถิด”

บิณฑบาต มีผลมาก ๒ คราว คือ

๑. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้
๒. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วปรินิพพานมีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมาก มีอานิสงส์มากว่าบิณฑบาตทั้งลายอื่น ๆ กรรมที่ให้อายุ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ และความเป็นอธิบดี

ต่อแต่นั้นเสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญญวดีถึงสาลวโนทยานเมื่องกุสินารา
ตรัสให้พระอานนท์ตั้งเตียงหันศีรษะไปทางทิศอุดร ระว่างต้นไม้รังทั้งคู่
ทรงสำเร็จสีหไสยา มีพระสติสัมปชัญญะ แต่มิได้มีมนสิการที่จะลุกขึ้น
เพราะเป็นการบรรทมครั้งสุดท้าย เรียกว่าอนุฏฐานไสยา

สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล


สังเวชนียสถาน คือ สถานที่พุทธบริษัทควรจะเห็น ควรจะดู
และควรให้เกิดความสังเวชแห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธา

๑. สถานที่พระตถาคตเจ้าประสูติ (ลุมพินีวัน)
๒. สถานที่พระตถาคตเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (อุรุเวลาเสนานิคม)
๓. สถานที่พระตถาคตเจ้าแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (อิสิปตนมฤคทายวัน)
๔. สถานที่พระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ (สาลวโนทยาน)

ถูปารหบุคคล

คือบุคคลที่ควรแก่การประดิษฐานไว้ในสถูป ๔ จำพวก คือ

๑. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า
๓. พระอรหันตสาวก
๔. พระเจ้าจักรพรรดิ์


โปรดสุภัททปริพาชก


มีปริพาชกคนหนึ่งชื่อว่าสุภัททะได้ขอเข้าเฝ้า
พระอานนท์ทัดทานไว้ถึง ๓ ครั้ง
พระองค์ทรงได้สดับ จึงตรัสให้เข้าเฝ้า
สุภัททปริพาชกทูลถามถึงเรื่องครูทั้ง ๖ คือ
ปูรณกัสสป มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล
ปุกุทธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครนถนาฏบุตร
ว่าตรัสรู้ด้วยปัญญาจริงหรือไม่
พระองค์ตรัสตอบว่า มรรคมีองค์ ๘ มีอยู่ ในธรรมวินัยใด
พระอริยบุคคลย่อมมีในธรรมวินัยนั้น
แต่มรรคมีองค์ ๘ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น
หากว่าชนทั้งหลายยังปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ไซร้ (ปฏิบัติตามอริยมรรค ๘ )
โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์

สุภัททะเกิดเลื่อมใสทูลขอบวช
เมื่อบวชแล้วปลีกตนออกจากหมู่คณะบำเพ็ญเพียรไม่ช้าก็สำเร็จพระอรหันต์
ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน
นับเป็นพระอรหันตสาวกองค์สุดท้าย


ประทานพระโอวาท


พระพุทธองค์ตรัสประทานโอวาทแก่ภิกษุบริษัทว่า
เธอทั้งหลายอย่ามีความดำริว่าปาพจน์ คือ ศาสนธรรม
มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาแห่งเราทั้งหลายไม่มี
เธอทั้งหลายไม่ถึงเห็นเช่นนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใดอันเราได้แสดงแล้ว
ได้บัญญัติไว้แล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น
จักเป็นศาสดาแห่งเธอทั้งหลาย
โดยกาลล่วงไปแล้วแห่งเราต่อแต่นั้นทรงสั่งสอนให้ภิกษุร้องเรียกกัน
และกันโดยอาหารอันสมควรว่า
ภิกษุเถระผู้แก่พรรษา พึงเรียกภิกษุที่อ่อนกว่าตนโดยชื่อ หรือ โคตร หรือโดยคำว่า “อาวุโส”
ส่วนภิกษุใหม่ที่อ่อนพรรษา พึงเรียกภิกษุผู้เถระมีพรรษาแก่กว่าตนว่า “ภันเต” หรือ “อายัสมา”

ปัจฉิมโอวาท


ทรงตรัสเตือนภิกษุเป็นครั้งสุดท้ายว่า
“บัดนี้ ตถาคตขอเตือนเธอทั้งหลายให้รู้ว่าสังขารทั้งหลายมีความฉิบหายไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวง อันเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
พระดำรัสนี้เป็นปัจฉิมโอวาท คือคำสั่งสอนครั้งสุดท้าย


ต่อแต่นั้นพระองค์มิได้ตรัสอะไรเลย
ทรงทำปรินิพพานปริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ คือ
ทรงเข้ารูปสมาบัติทั้ง ๔ (รูปฌาน) ตามลำดับ
ออกจากรูปฌานที่ ๔ แล้วเข้าอรูปสมาบัติทั้ง ๔ (อรูปฌาน)
ออกจาอรูปฌานที่ ๔ แล้ว เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ดับจิตสังขาร คือสัญญาและเวทนา
ครั้นแล้วทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธเข้าสู่อรูปฌานที่ ๔
ถอยหลังตามลำดับกลับมาจนกระทั่งปฐมฌาน
ออกจากปฐมฌานแล้วเข้าสู่ ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานโดยลำดับ
พิจารณาองค์แห่งจตุตถฌานนั้นแล้ว
เสด็จออกจากฌานนั้นยังมิทันเข้าสู่อรูปสมาบัติ
ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน
ณ ยามสุดท้ายแห่งราตรีวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๑ ปี
ในขณะนั้นก็บังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่สั่นสะเทือน
โลมชาติชูชันสยดสยอง กลองทิพย์ก็บันลือสนั่นสำเนียงในอากาศ

ถวายพระเพลิง


เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ ๗ วัน เจ้ามัลลกษัตริย์
จึงได้เชิญพระพุทธสรีระไปประดิษฐานไว้ ณ มกุฏพันธนเจดีย์
เพื่อถวายพระเพลิง แต่ได้ถวายพระเพลิงในวันที่ ๘ เพราะรอคอยพระมหากัสสปะอยู่

ฝ่ายกษัตริย์และพราหมณ์ ๗ พระนคร คือ
พระเจ้าอชาตศัตรูเมืองราชคฤห์,
เจ้าลิจฉวีเมืองเวสาลี,
เจ้าศากยะกรุงกบิลพัสดุ์,
ถูลีกษัตริย์ในอัลลกัปปนคร,
โกลิยกษัตริย์ในรามคาม,
มหาพราหมณ์เจ้าเมืองเวฏฐทีปกะ
และมัลลกษัตริย์ในเมืองปาวา

ทั้ง ๗ พระนครนี้เมื่อได้ทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธจ้า
ต่างก็ส่งทูตมาถึงมัลลกษัตริย์เพื่อขอส่วนแบ่งพระสารีริกธาตุเอาไปทำการสักการะบูชา
ครั้งแรกมัลลกษัตริย์ไม่ยอมแบ่งให้ จนจวนจะเกิดสงครามแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุขึ้น
โทณพราหมณ์ จึงพูดกับทูตเหล่านั้นว่า
พระพุทธองค์เป็นผู้มีขันติธรรมแนะนำในทางสงบ
พวกเราจะมาทำสงครามกันแย่งชิงพระสารีริกธาตุคงจะไม่สมควร
แล้วจึงพูดให้ทุกคนสามัคคีกัน
จากนั้นก็ได้แบ่งพระสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเท่า ๆ กันให้ทูตเหล่านั้น
นำไปสักการะบูชาในเมืองของตน

ฝ่ายโมริยกษัตริย์ในเมืองปิปผลิวัน ได้ทราบข่าว
ก็ส่งทูตมาขอส่วนแบ่งบ้าง แต่พระบรมสารีริกธาตุหมดแล้วจึงได้พระอังคารไป

เจดีย์ ๔ ประเภท


สัมพุทธเจดีย์ คือเจดีย์อันเนื่องด้วยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านกล่าวไว้ ๔ ประเภท คือ

๑. ธาตุเจดีย์ เป็นพระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒. บริโภคเจดีย์ เป็นพระสถูปที่บรรจุเครื่องบริขารของพุทธองค์
๓. อุทเทสิกเจดีย์ เป็นพระสถูปประดิษฐ์พระพุทธรูป หรือพระพุทธปฏิมา
๔. ธรรมเจดีย์ เป็นพระสถูปที่บรรจุคัมภีร์ใบลาน หรือหนังสือคัมภีร์ที่จารึกพุทธวจนะ

สังคายนา


สังคายนา หรือสังคีติ หรือการร้อยกรอง
หรือจัดแจงพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ว่านี่เป็นธรรม นี่เป็นวินัย
จัดเป็น ๓ หมวด เรียกว่า พระไตรปิฎก คือ

๑. ที่เป็นกฎระเบียบ ข้อบังคับ จัดเป็น วินัยปิฎก
๒. ที่เป็นพระธรรมคำสอน อันเป็นบุคลาธิษฐาน ยกบุคคลเป็นอุทาหรณ์ จัดเป็นสุตตันตปิฎก
๓. ที่เป็นธรรมล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับบุคคลเป็นธรรมที่สุขุมลึกซึ่ง จัดเป็น อภิธรรมปิฎก

การทำสังคายนานั้น ที่พอจะนับได้มี ๕ ครั้ง ทำในชมพูทวีป ๓ ครั้ง ในลังกาทวีป ๒ ครั้ง คือ

๑. ปฐมสังคายนา ครั้งที่ ๑ กระทำที่หน้าถ้ำสัตตบรรณคูหา เชิงภูเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์
พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภก ภายหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน
พระมหากัสสปะ เป็นประธาน
พระอุบาลีเถระ วิสัชนาพระวินัย
พระอานนท์ วิสัชนาพระสูตร และพระอภิธรรม
รวมกับพระอรหันตขีณาสพจำนวน ๕๐๐ องค์
ปรารภเรื่องพระสุภัททะกล่าวจ้วงจาบศาสนา กระทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ

๒. ทุติยสังคายนา ครั้งที่ ๒ กระทำที่วาลิการาม เมื่องเวสาลี
พระเจ้ากาฬาโศกราชเป็นองค์อุปถัมภก
เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐
โดยพระอรหันต์จำนวน ๗๐๐ องค์
มีพระยสกากัณฑกบุตรเถระเป็นประธานและมีพระสัพพกามีเถระ และพระเรวัตตเถระ เป็นต้น
ชำระเรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ ที่พวกภิกษุชาววัชชีบุตร ชาวเมืองเวสาลีนำมาแสดงว่าไม่ผิดธรรมวินัย
กระทำอยู่ ๘ เดือน จึงสำเร็จ

๓. ตติยสังคายนา ครั้งที่ ๓ กระทำที่อโศการาม เมื่องปาฏลีบุตร
พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นองค์อุปถัมภก
เมื่อ พ.ศ. ๒๑๘
โดยพระอรหันต์ จำนวน ๑,๐๐๐ องค์
มีพระโมคคัลลีบุตรติสส เถระเป็นประธาน
เนื่องด้วยเดียรถีย์ปลอมบวชในพุทธศาสนา กระทำอยู่ ๙ เดือน จึงสำเร็จ

๔. จตุตถสังคายนา ครั้งที่ ๔ กระทำที่ถูปาราม เมืองอนุราชบุรี ลังกาทวีป
พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นองค์อุปถัมภก
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖
โดยพระมหินทเถระ และพระอริฏฐเถระ เป็นประธาน
ชักชวนภิกษุชาวสีหล ๖๘,๐๐๐ องค์
เพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงในสังกาทวีป กระทำอยู่ ๑๐ เดือน จึงสำเร็จ

๕. ปัญจมสังคายนา ครั้งที่ ๕ กระทำที่อาโลกเลณสถาน ในมลัยชนบท ลังกาทวีป
พระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย เป็นองค์อุปถัมภก
เมื่อ พ.ศ. ๔๕๐
โดยภิกษุชาวสีหลผู้พระอรหันต์ จำนวน ๑,๐๐๐ องค์
พระติสสมหาเถระ และพระพุทธทัตตเถระเป็นต้น
เห็นความเสื่อมถอยปัญญาแห่งกุลบุตรจึงได้ประชุมกันมาจารึกพระธรรมวินัย
เป็นอักษรลงไว้ในใบลาน ทำอยู่ ๑ ปี จึงสำเร็จ ฯ

สถานที่สำคัญ


๑. สวนลุมพินีวัน เป็นสถานที่ประสูติ
๒. ต้นโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เป็นสถานที่ตรัสรู้
๓. ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา
๔. ปาวาลเจดีย์ เป็นสถานที่ทรงปลงอายุสังขาร
๕. สาลวโนทยาน เป็นสถานที่ปรินิพพาน
๖. มกุฏพันธนเจดีย์ เป็นสถานที่ถวายพระเพลิง


พุทธประวัติตอน ๑๖ พุทธปรินิพพาน

พุทธปรินิพพาน 
การปรินิพพานดับขันธ์ขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า



ปรินิพพาน แปลว่า การดับรอบ ความปราศจากกิเลสที่ร้อยรัด 
คือ การดับสนิท ดับด้วยไม่เหลือแห่งกิเลสและกองทุกข์ 
มีความหมายเดียวกับคำว่า นิพพาน

บางครั้งใช้หมายถึง อนุปาทิเสนนิพพาน แปลว่า การดับกิเลสพร้อมทั้งเบญจขันธ์ 
(อนุปาทิเสสนิพพาน คู่กับ สอุปาทิเสสนิพพาน แปลว่า ดับกิเลสแต่ยังดำรงชีวิตอยู่ เช่น การตรัสรู้)

ปรินิพพาน นิยมใช้หมายถึง การดับขันธ์ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น 
ส่วนของพระอรหันตสาวกที่เหลือนิยมใช้นิพพานเฉย ๆ ทั้งนี้ 
นัยว่าเพื่อเป็นการยกย่องพระพุทธเจ้า 
แต่ในภาษามคธใช้เหมือนกันทั้งสองศัพท์ คือ ใช้สลับกันก็มี

ปรินิพพาน สำหรับพระพุทธเจ้านิยมเพิ่มคำว่า "เสด็จดับขันธ์" หรือ "เสด็จดับขันธ" ไว้หน้าด้วย 
เช่นใช้ว่า "พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา"

เมื่อพระพุทธองค์ได้คิดว่าจะสมควรแก่การประกาศพระธรรมของพระองค์แล้ว 
และในพรรษาที่ ๔๔ พระอัครสาวกทั้งสองคือ 
พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ได้นิพพานไปแล้ว 
และในพรรษาที่ ๔๕ นั้นพระพุทธองค์ก็ได้มีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษาพอดี 
พระพุทธองค์ก็ทรงเห็นว่าวันเวลาสำหรับการ 
จาริกสั่งสอนพระธรรมของพระองค์จวนจะสิ้นสุดลงแล้ว 
พระพุทธองค์ได้รู้สึกว่าชีวิตของพระองค์จะ ไม่ตั้งอยู่นานอีกต่อไปแล้ว 
และทรงตั้งพระทัยว่าจะเสด็จไปทางทิศเหนือ แถบตีนเขาหิมาลัยอันเป็น 
สถานที่ ที่พระพุทธองค์ทรงคุ้นเคยเป็นอย่างดีในวัยหนุ่ม 
พระพุทธองค์มีจุดประสงค์จะเสด็จพระปริ นิพพานในที่นั้น 
จึงได้เสด็จจาริกไปจากพระเวฬุวันมหาวิหารที่กรุงราชคฤห์ 
พร้อมทั้งพระอานนท์และ พระสาวกจำนวนมากมายตามเสด็จ
และเสด็จมุ่งหน้าไปยังสถานที่ที่พระพุทธองค์กำหนดไว้ว่าจะปรินิพพาน 
ซึ่งเป็นสถานที่สมควรเป็นอย่างยิ่ง

ในระหว่างทาง พระพุทธองค์ได้เสด็จผ่านเมือง ปาฏลีบุตร ( ปัจจุบันเรียกว่า เมืองปัตนา) 
จากนั้นพระ พุทธองค์ก็เสด็จผ่านไปยังทิศเหนือ ผ่านเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี 
ในเมืองนี้ได้มีหญิงคณิกา (นางโสเภณี) คนหนึ่งชื่อ อัมพปาลี 
ได้ถวายสวนอัมพปาลีให้เป็นพระอาราม
โดยมีการแข่งขันกันสร้างอารามถวาย 
ระหว่างทางมีพวกหญิงคณิกาและบรรดาเจ้าชายจำนวนหนึ่งภายในนครนั้น 
จากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ เสด็จต่อไปยัง หมู่บ้านเวฬุคาม ใกล้กับเมืองเวสาลี 
และพระพุทธองค์รับสั่งให้พระสาวกทั้งหลาย 
พำนักจำพรรษาจนตามความพอใจอยู่ที่นั้น 
ส่วนพระพุทธองค์เองได้ตัดสินใจ ประทับจำพรรษาใน หมู่บ้านนั้นเอง 
พร้อมทั้งพระอานนท์ อันเป็นวาระสำคัญ 
และพระองค์รู้อยู่ในพระทัยของพระองค์เอง

ในระหว่างพรรษานี้ พระพุทธองค์ทรงประชวรอย่างหนัก 
มีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงจนถึงกับจะปรินิพพาน 
แต่พระพุทธองค์ทรงระงับความเจ็บปวดทรมาน 
ด้วยการเข้า เจโตสมาธิอันไร้นิมิต 
เมื่อพระพุทธองค์ทรงทุเลาจากการประชวรนั้นแล้ว 
ได้เสด็จประทับนั่งอยู่ในเงาพระวิหารแห่งหนึ่ง 
ซึ่งเป็นเวลาเที่ยงวัน บนอาสนะซึ่งพระอานนท์ได้จัดถวาย 
พระอานนท์ได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า 
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์มีความปลาบปลื้มยินดีหาอันเปรียบไม่ได้ 
เพราะได้เห็นพระผู้มี พระภาคเจ้ากลับทรงมีพระวรกายดีขึ้นดังเดิม 
เมื่อเวลาข้าพระองค์เห็นอาการของพระพุทธองค์ 
ในเวลา นั้น จิตใจของข้าพระองค์มืดมนแปดด้านแทบจะสิ้นสติไป 
แต่ข้าพระองค์ก็ยังคิดว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า 
จะยังไม่เสด็จปรินิพพานเป็นแน่ 
จนกว่าจะได้ตรัสคำแนะนำสั่งสอนอันถึงที่สุดแก่พระสาวกทั้งหลายได้ 
ถือเป็นหลักประพฤติปฏิบัติในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จล่วงลับไปแล้ว

นับตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ 
พระองค์ได้เสด็จประกาศพระพุทธศาสนา ตามสถานที่ต่าง ๆ 
เป็นเวลา ๔๕ พรรษาและอายุของพระพุทธองค์ได้ ๘๐ พรรษาพอดี 
ในเวลาที่พระองค์จำพรรษาที่ ๔๕ ที่เวฬุคาม 
และจวนที่พระองค์จะปลงพระชนมายุนั้น 
พระองค์ยังเป็นห่วงแต่พระอานนท์ที่ยังไม่เห็นธรรมบรรลุเป็น พระอรหันต์เท่านั้น 
ในวันหนึ่ง พระพุทธเจ้ากับพระอานนท์ได้เสด็จไปยังป่าแห่งหนึ่ง 
แล้วพระองค์ทรง แสดง นิมิตโอภาส อิทธิบาท ๔ 
( ชื่อของพระธรรมบทนี้ มีสี่ข้อ ถ้าภาวนาเป็นประจำจะสามารถต่ออายุ ยืนยาวก่อนเวลาจะหมด) 
ส่วนนิมิตโอภาส แปลว่า พระพุทธเจ้ามีพระชนม์สิ้นสุดลงในปีนี้ 
จึงบอกให้ พระอานนท์ทูลขออาราธนานิมนต์ต่ออายุยืน 
แต่พระอานนท์นึกไม่ออก ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสถึง สามครั้ง 
ผลสุดท้ายพระพุทธองค์จึงสั่งให้พระอานนท์หลบไปข้างนอกร่มไม้ แล้วพยายาม 
จึงได้เข้ามา อาราธนา นิมนต์ไม่ให้พระพุทธองค์ปรินิพพาน 
และพระพุทธองค์ก็รับนิมนต์ ต่อมาจึงได้ตรัสต่อพระอานนท์ว่า ยัง 
อีกสามเดือนข้างหน้า วันเพ็ญในกลางเดือนหก ปีจอ 
พระพุทธองค์จะปรินิพพานที่เมือง กุสินารา

พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า
ดูก่อน อานนท์ ภิกษุสงฆ์จะต้องการหวังสิ่งใดอีกจากเราพระองค์ 
เราพระองค์ได้ บัญญัติไว้ในพระธรรมพระวินัยหมดสิ้นแล้ว 
ข้อประพฤติปฏิบัติ สิ่งใดที่พระสงฆ์ควรจะรู้เพื่อการปฏิบัติ 
ให้บรรลุและรู้ถึงพระนิพพานนั้น 
เราพระองค์ก็ไม่ได้ปกปิดหรือซุกช่อนไว้เอาไว้ในข้อใดข้อหนึ่งเลย 
เราพระองค์มีความหวังดีกับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายอย่างแท้จริง 
เราได้เทศน์มาสั่งสอนทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ภิกษุสงฆ์ควรจะรู้ให้ถึงที่สุดแล้ว" 



"ดูก่อน อานนท์ บัดนี้เราพระองค์เป็นคนชรา และถอยหลังแล้ว 
กาลเวลาของเราพระองค์จวนจะถึงเวลาอันสมควรแล้ว 
เราพระองค์มีอายุสังขาร ๘๐ พรรษาแล้ว 
เพราะฉะนั้น พวกท่านจงได้เป็นที่พึ่งของตนเอง 
มีตนเป็นที่พึ่งแห่งตน จงเอาธรรมเป็นที่พึ่งและเป็นหลักไว้ในใจ 
อย่าได้มีสิ่งอื่นเจือปนเลย ในที่สุดพระพุทธองค์ได้ตรัสเพิ่มอีกว่า 
ดูก่อน อานนท์ ภิกษุใดเป็นผู้ตั้งใจศึกษา 
ภิกษุนั้นจักเป็นผู้เจริญไปกว่าหมู่คณะและมีสติปัญญา

รุ่งอรุณของวันใหม่ ซึ่งเป็นวันเพ็ญเดือนสาม ปีจอ 
พระพุทธองค์ทรงรู้สึกสบายพระวรกายจนสามารถ 
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลีได้ 
หลังจากเสด็จกลับจากบิณฑบาตและได้เสวยอาหารเที่ยง (ฉันเพล)แล้ว 
พระพุทธองค์ได้รับสั่งให้พระอานนท์นำผ้าสำหรับรองนั่งตามเสด็จไปยัง ปาวาลเจดีย์ 
เพื่อทรงสมาธิพักผ่อน ในเวลาเที่ยงวัน 
ขณะประทับอยู่ใต้ร่มพฤกษาตามลำพังโดยพระองค์เดียว 
พระพุทธองค์ได้ตัดสินพระทัยว่าจะเข้าปรินิพพานในวันเพ็ญเดือนหก (วิสาขะ) 
ในสามเดือนข้างหน้า นับแต่วันตัดสินพระทัยเช่นนี้ เรียกว่า ปลงพระชนมายุสังขาร 
( ในวันเพ็ญเดือนสาม ภายหลังพรรษานั้น 
พระอานนท์บอกว่า พระพุทธองค์ได้ตัดสินพระทัยจะปรินิพพานในเวลา ๓ เดือนข้างหน้านี้เอง )

พระอานนท์ได้กราบทูลวิงวอนว่า 
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า อย่าปรินิพพานก่อนเลย 
ขอพระพุทธองค์ ทรงอยู่โปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์อีกต่อไป 
พระพุทธองค์ทรงตรัสต่อพระอานนท์ว่า 
ดูก่อน อานนท์ สิ่งใดที่ ตถาคตพ้นแล้ว คายออกแล้ว ตรัสแล้ว สิ่งนั้นคือ อายุสังขาร 
ตถาคตปลงแล้ว กล่าวตรัสแล้ว ตถาคตจะ ปรินิพพานเมื่อครบสามเดือนต่อจากนี้ 
ตรัสไปแล้วจะไม่คืนคำ เป็นสิ่งที่เป็นไปแล้ว 
อานนท์ สิ่งที่ล่วงไป แล้ว อย่าคิดถึงอีกเลย 
เราพระองค์จะไปยังป่าสาละวัน 
และท่านจงไปป่าวประกาศบอกพระภิกษุสงฆ์ 
ทั้งหลายที่อยู่ในเมืองเวสาลีให้ไปประชุมกันในที่นั้น
พระอานนท์ก็ได้ทำตามคำสั่งของพระพุทธองค์เพื่อ 
ไปป่าวประกาศแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย 
เมื่อพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายได้ทราบแล้วก็มาประชุมพร้อมกันที่ป่า สาละวัน 
ตามความประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า 
อานนท์จึงได้เข้ากราบทูลต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ทรงทราบ 
พระสงฆ์ได้มาพร้อมแล้ว

พระพุทธองค์ได้เสด็จไปยังที่ประชุม 
เพื่อประทานพระโอวาทเป็นครั้งสุดท้าย 
พระพุทธองค์ได้ตรัสให้ พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย 
ซึ่งเป็นการเตือนครั้งสุดท้ายว่า 
สิ่งสำคัญยิ่งและเป็นการแสดงถึงความหวังครั้ง 
สุดท้ายของบุคคลที่จะจากไปอย่างแท้จริง 
เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นให้พากันประพฤติปฏิบัติตาม แนวทางที่ถูกต้อง 
ตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้อย่างเคร่งครัด 
เพื่อเห็นแก่ชาวโลกให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม 
เพื่อประโยชน์ ความดี และเกื้อกูลสัตว์โลก ผู้หวังอันที่จะประพฤติปฏิบัติตาม 
ตัวอย่างในการประพฤติพรหมจรรย์อันสมบูรณ์ และบริสุทธิ์ ในที่สุด 
พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสเตือนอีกว่า 
ทุกอย่างที่อยู่ในวิสัยโลก ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ตั้งอยู่ทนนาน ( อนิจจัง วัตสังขารา ) 
ความบากบั่น พากเพียร เพื่อก้าวไปข้างหน้าและการทำจิตของตนให้อยู่ในทางที่ถูกต้องนั้น 
จะเป็นทางหลุดพ้น ผลสำเร็จจากการเวียนว่ายตายเกิด 
และการเป็นทุกข์ทั้งปวงของโลกมนุษย์นี้จะไม่สิ้นสุด
ถ้าไม่รู้ทุกข์ เราก็จะออกจากทุกข์ไม่ได้

ในวันต่อมาพระพุทธองค์พร้อมกับพระอานนท์ก็ได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย 
และพระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า 
ดูก่อน อานนท์ นี้เป็นการทอดพระเนตรเมืองเวสาลีเป็นครั้งสุดท้ายของเราตถาคต 
เราจะเสด็จไปยังบ้านภัณฑุคาม 
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จออกาจากเมืองเวสาลีไปแสดงพระธรรมตามที่ต่าง ๆ เช่น 
หมู่บ้านภัณฑุคาม ทรงพักผ่อนบำเพ็ญ ประโยชน์แก่ประชาชนพอสมควร
แล้วเดินทางต่อไปยังบ้าน หัตถิคาม อัมพคาม ชัมพุคาม เป็นลำดับจน 
ถึงนครโภคะ ประทับพักที่อานันทเจดีย์ 
แล้วทรงแสดงมหาปเทสสี่ 
ให้เป็นหลักสำหรับพิจารณาตัดสินพระธรรมวินัยแก่ภิกษุสงฆ์ 
ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือนหก 
เหลืออีกเพียง ๑ วันจะครบรอบ ๓ เดือน 
พระพุทธ องค์เสด็จถึงเมืองปาวา 
ประทับอยู่สวนมะม่วงของนายจุนทะ 
บุตรชายของนายช่างตีทอง 
ทรงแสดงพระ ธรรมโปรดนายจุนทะ จนได้บรรลุโสดาปัตติผล 
และนายจุนทะได้อาราธนาพระพุทธองค์พร้อมด้วย 
พระสาวกไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น 
และพระพุทธองค์ก็ได้รับคำอาราธนานั้น

รุ่งอรุณของวันใหม่ ตรงกับวันเพ็ญเดือนหก ปีจอ 
เสด็จไปฉันภัตตาหารที่บ้านของนายจุนทะซึ่งเป็น 
การรับบิณฑบาตเป็นครั้งสุดท้าย พระพุทธองค์ทรงฉัน สุกรมัทวะ (หมูปั้น) 
ที่นายจุนทะทำถวาย พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งห้ามไม่ให้สาวกทุกๆ รูปฉันสุกรมัทวะนั้น 
หลังจากอนุโมทนาแล้ว เสด็จออก จากบ้านนายจุนทะ 
ในระหว่างทางทรงประชวรหนักขึ้น ถึงกับอุจจาระเป็นโลหิต 
แต่ทรงบรรเทา ทุกขเวทนานั้นด้วยกำลัง อทิวาสนักขันติ และญาณสมาบัติ

เสด็จเดินทางต่อไป ทรงพักเหนื่อยเป็นระยะ ๆ จนใกล้เมืองกุสินารา 
พระพุทธองค์ได้แวะพักเอาแรง ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง 
ในที่นั้น พระพุทธองค์ได้พบกับราชโอรสของมัลละกษัตริย์ผู้หนึ่ง ซื่อ ปุกกุสะ 
ซึ่งเคย เป็นลูกศิษย์ของอาฬารดาบส 
อาจารย์เก่าในสมัยที่พระพุทธองค์ไม่ทันได้ตรัสรู้ 
ซึ่งได้ออกเดินทางจาก เมืองกุสินาราจะไปเมืองปาวาผ่านมาพบเข้า 
จึงได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้แสดงธรรมสันติวิหารธรรม 
โปรดปุกกุสะจนบรรลุเป็นโสดาปัตติผล แสดงตนเป็นพุทธมามกะ นับถือพระพุทธศาสนา 
คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไปตลอดชีวิต 
และได้น้อมถวายผ้าเนื้อดี มีสีทองทั้งสองผืน พระพุทธองค์ 
รับไว้ผืนหนึ่งและอีกผืนหนึ่งให้ถวายแก่พระอานนท์
ต่อจากนั้นก็ได้เสด็จข้ามแม่น้ำกกุธานทีทรงพักผ่อนชั่วคราวหนึ่ง
แล้วเสด็จต่อไปถึงแม่น้ำหิรัญญวดี เขตเมืองกุสินารา



ในตอนบ่ายของวันเพ็ญเดือนหก ปีจอ 
พระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์ ก็ได้เข้าถึงเขตเมืองกุสินาราแล้ว 
เสด็จเข้าไปในดงไม้สาละ ที่ชานเมืองกุสินารา 
พระพุทธองค์ได้ตรัสสั่งให้พระอานนท์จัดแท่นบรรทม 
ในระหว่างต้นไม้ ๒ ต้นคือ ต้นไม้รัง 
เพื่อพระพุทธองค์จะบรรทมไสยยาสน์ เรียกว่า อนุฏฐานไสยาสน์
 แปลว่าไม่คิดจะลุกขึ้นอีก 
เวลานั้น ต้นสาละทั้งคู่ได้ออกดอกสะพรั่งเต็มต้น 
โปรยดอกตกถูก พระพุทธศิระ 
ดังประหนึ่งจะถวายบูชาพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นการผิดปรกติ 
เพราะเวลานั้นไม่ใช่เวลาที่ต้นสาละจะออกดอก 
พระพุธเจ้าได้ทรงตรัสต่อพระอานนท์ว่า 
"ดูก่อน อานนท์ เราพระองค์สรรเสริญการบูชาเช่นนี้ 
แต่ไม่ถือว่าเป็นการบูชาอันประเสริฐ 
เป็นการดีถ้าหากพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา 
ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยให้สมควรแก่ธรรมที่เราพระองค์ได้ตรัสไว้แล้วนั้น
เราพระองค์สรรเสริญว่า เป็นการบูชาที่ประเสริฐสุด" 
ขณะประทับอยู่ในอิริยาบทเช่นนั้น 
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตลอดเวลา 
และทรงแนะนำพระอานนท์ให้ปฏิบัติต่อพุทธสรีระ
เช่นเดียวกับการปฏิบัติพระบรมศพของเจ้าจักรพรรดิ์ทั้งหลาย



บัดนี้ พระอานนท์รู้สึกว่าพระพุทธองค์กำลังจะลาจากท่านไปโดยแท้จริงแล้ว 
ก็มีความโศกเศร้าเป็น อย่างยิ่งจนไม่สามารถจะอดกลั้นได้ จึงได้หลบตัวไปแอบอยู่ 
เพื่อร้องไห้ในที่แห่งหนึ่ง รำพันว่า 
เรายัง ไม่เป็นเช่นภิกษุทั้งหลาย เรายังต้องศึกษาต่อไปอีก 
เรายังไม่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ 
บัดนี้ พระศาสดาของเรากำลังจะล่วงลับไปโดยทิ้งเราไว้อยู่เบื้องหลัง 
เราจักอยู่แต่ผู้เดียวโดยปราศจากพระศาสดา ผู้ซึ่งมีเมตตาต่อเราตลอดมา 
น้ำตาอุ่น ๆ ได้ไหลนองเต็มหน้าของพระอานนท์ในขณะนั้น



เมื่อพระพุทธองค์ทรงลืมตาขึ้นไม่เห็นพระอานนท์อยู่ในที่นั้น 
ก็ได้ตรัสถามพระภิกษุอื่นๆ พระพุทธองค์ ถามว่า อานนท์ไปไหน 
ภิกษุทูลตอบว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า 
อานนท์ได้หลบไปร้องไห้อยู่ในที่แห่งหนึ่งตามลำพัง 
ว่าท่านยังเป็นผู้ต้องศึกษา ยังไม่บรรลุธรรม ธรรมอันสูงสุด 
และพระศาสดาทรงมีพระ เมตตาอยู่ตลอดเวลานั้นกำลังจะล่วงลับไป 
พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า 
"ดูก่อน ภิกษุท่านจงไปตามพระ อานนท์มาเถิด 
และบอกว่าพระศาสดารับสั่งให้มาเฝ้า" 
ภิกษุนั้นได้ไปบอกให้เข้ามาเฝ้าแล้ว 
พระผู้มีพระ ภาคเจ้าได้ตรัสปลอบแก่พระอานนท์ด้วยพระทัยที่กรุณาเป็นอย่างยิ่ง

พระองค์ได้ทรงสรรเสริญพระอานนท์โดยตรัสว่า 
พระภิกษุทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในกาลก่อน 
ล้วนแต่มีผู้อุปัฏฐากที่ประเสริฐ แต่ก็ไม่ยิ่งไปกว่าพระอานนท์ที่ได้กระทำแก่เรา 
ในกาลบัดนี้ พระพุทธ เจ้าทั้งหลายอันจะมีในอนาคตล้วนแต่จะมีอุปัฏฐากอันประเสริฐ 
แต่จะไม่ยิ่งไปกว่าพระอานนท์ที่ได้ทำแก่เราแล้ว 
ในขณะนี้พระอานนท์เป็นผู้อุปัฏฐากที่ดีที่สุด และเฉลียวฉลาดของเรา
พระอานนท์ย่อมรู้จัก กาลเวลาอันเหมาะสมที่จะให้แขกผู้มาเยี่ยมเยียนเข้ามาเฝ้า 
พระอานนท์ปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้นด้วย ถ้อยคำที่น่าปลาบปลื้มปิติยิ่งหนักหนา 
แขกทุกคนได้รับความพอใจอย่างสูงสุดจากการต้อนรับของพระอานนท์เสมอ 
เมื่อพระอานนท์กล่าวถึงเรื่องราวใดๆ คนเหล่านั้นพากันสนใจฟัง 
ที่พระอานนท์ตั้งใจ กล่าว พระอานนท์ได้เป็นผู้อุปัฏฐากที่ดีเลิศของเราพระองค์เช่นนี้ตลอดมา

ต่อจากนั้นพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า 
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าขอพระผู้มีพระภาค 
เจ้า พระองค์อย่าได้ด่วนเสด็จปรินิพพานในเขตเมืองป่าเมืองดอยที่ไม่สมควรเช่นนี้เลย 
นครใหญ่ ๆ เช่น กรุงราชคฤห์ กรุงสาวัตถี เมืองเวสาลีและเมืองอื่นๆ ก็มีอยู่ 
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงพอพระทัย 
ที่จะเสด็จปรินิพพานในเมืองใดเมืองหนึ่งในบรรดาเมืองเหล่านั้น 
ผู้มีอำนาจวาสนาซึ่งเป็นสาวกของ พระองค์มีอยู่มากมาย 
เขาเหล่านั้นจะเอาภาระในการจัดพระศพของ พระผู้มีพระภาคเจ้าให้สมบูรณ์ ทุกประการ

ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันเพ็ญเดือนหก ปีจอ ตอนหัวค่ำ
พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้แก่พระสงฆ์ 
ถึงเวลาใกล้พระองค์จะเสด็จพระปรินิพพาน 
พระองค์ได้ตรัสสั่งให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวปรินิพพานให้ บรรดากษัตริย์ทราบ 
พุทธบริษัท เหล่าประชาชนชาวเมืองให้ได้ทราบโดยทั่วถึงกัน 
ให้จัดเตรียม ดอกไม้ ธูป เทียน ไปยังป่าสาละวัน 
พระอานนท์ก็ได้จัดให้มัลละกษัตริย์เหล่านั้น พร้อมด้วยบริวารเข้าเฝ้า พระพุทธเจ้า

เมื่อบรรดามัลละกษัตริย์ และประชาชนเมืองกุสินาราได้ฟังข่าวพระปรินิพพานจากพระอานนท์ดังนั้น
ก็ พากันเศร้าโศก และคร่ำครวญว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จปรินิพพานไวเกินไปเสียแล้ว 
ดวงประทีป ของโลกดับไวเกินไปเสียแล้ว 
ชาวเมืองกุสินาราทั้งหญิงและชาย พร้อมเด็กน้อยต่างก็พากันโศกเศร้า 
คร่ำครวญออกมาสู่ดงไม้สาละ อันเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ได้ประทับอยู่ในขณะนั้น 
เพื่อจะได้เข้าเฝ้า และแสดงความอาลัยอาวรณ์ 
ได้กล่าวคำอำลาเป็นครั้งสุดท้ายกับพระพุทธองค์ 
ชาวเมืองกุสินาราคณะ หนึ่งๆ โดยมีผู้นำคนหนึ่งๆ 
ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตามลำดับ 
และได้กล่าวถวายอาลัยใน พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกันทุกๆ คน

สุภัททะปริพาชกได้คิดในใจว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว ในคืนวันนี้ 
และเกิด ความสังหรณ์ใจขึ้นมาว่า คำที่ว่า สัมมาสัมพุทธเจ้า 
นี้เราไม่เคยได้ยินมาก่อนในโลกนี้ 
พระสมณโคดม องค์นี้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
และเป็นผู้ได้ตรัสรู้แจ้งธรรม โดยไม่มีครูบาอาจารย์ได้สอนจริงหรือ 
และพระสมณโคดมองค์นี้จะได้เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานในคืนวันนี้ด้วย 
เราสมควรที่จะไปทูลถามข้อข้องใจ ทั้งหลายที่ค้างคาอยู่ในใจของเรากับพระองค์ 
ถ้าหากว่าเราปล่อยให้ชักช้าให้เวลาผ่านไปเราก็จะเสียใจไปตลอดชีวิตเป็นแน่ 
คิดได้ดังนั้นแล้ว จึงรีบมุ่งหน้าออกไปยังป่าสาละวันที่ชานเมืองกุสินารา 
พอไปถึงก็ เห็นพุทธบริษัททั้ง ๔ เหล่าเต็มไปในบริเวณแห่งนั้น 
สุภัททะปริพาชกพยายามหาทางเข้าไปเฝ้าให้ใกล้ 
แต่ถูกพระอานนท์ห้ามเอาไว้ 
เพราะเป็นเวลาที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จพระปรินิพพานแล้ว



ถึงแม้นว่าสุภัททะปริพาชกจะถูกห้ามจากพระอานนท์ปานใดก็ตาม 
แต่เขาก็พยายาม ร้องขอ อ้อนวอน ต่อพระอานนท์เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าให้ได้ 
แต่พระอานนท์ก็ไม่อนุญาต
พระพุทธองค์รู้ว่า สุภัททะปริพาชกผู้ได้อุตสาหะเดินทางมาไกลและเต็มไปด้วยความเหนื่อยยากนั้น 
เวลานี้ได้เข้ามาอยู่ใน สถานที่นี้แล้วและกำลังถูกพระอานนท์ห้ามไว้อยู่ 
พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งให้พระอานนท์ไปนำเอาตัวของสุภัททะปริพาชกมาเข้าเฝ้าทันที 
เพื่อให้เขาได้ทูลถามข้อสงสัย 
พอสุภัททะทะปริพาชกเข้ามาถึง
และแสดงความคารวะตามสมควรแล้วสุภัททะปริพาชกได้ทูลถามขึ้นว่า

สุภัททะปริพาชกทูลถามว่า

ครูทั้ง ๖ คือ 
๑. ปูรณะกัสสปะ 
๒. มักขลิโคศาล 
๓. อชิตเกสกัมพล 
๔. ปกุทธะกัจจายนะ 
๕. สัญชัย เวลัฏฐบุตร 
๖. นิครนธ์นาฏบุตร 
พวกท่านทั้งหลายเหล่านั้น 
ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์แล้วหรือยัง 
คำถาม เหล่านี้ถูกพระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้

พระพุทธองค์ตอบ

พระพุทธองค์ได้แสดงพระธรรมว่า 
มรรคมีองค์ ๘ ไม่มีอยู่ในธรรม สมณะ ๔ เหล่านี้ คือ 
พระโสดา พระสกิทา พระอนาคา และพระอรหันต์ย่อมมีอยู่ด้วย



สุภัททะปริพาชกได้ฟังเพียงเท่านั้นก็หายความสงสัยในใจและได้ดวงตาเห็นธรรม
บรรลุโสดาบันแล้ว ขออุปสมบท 
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า 
ท่านเป็นคนนอกพระพุทธศาสนาต้องได้ไปอยู่ปริวาสธรรม ๔ ปีก่อน
จึงสามารถเข้ามาบวชได้ สุภัททะปริพาชกทูลตอบพระพุทธองค์ว่า 
ให้อยู่ ๔ ปีก็ได้ บัดนั้น 
พระพุทธองค์ได้ตรัสสั่งให้พระอานนท์รีบนำเอาสุภัททะปริพาชกไปบรรพชาเป็นสามเณรก่อน 
แล้วจึงนำเอา สามเณรสุภัททะ 
เข้าเฝ้าเพื่อพระองค์จะได้อุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ 
และพระพุทธองค์ได้อุปสมบทสามเณรสุภัททะให้เป็นโดยพิธีเอหิภิกขุ ท่านจงเป็นภิกษุเถิด

พระพุทธเจ้าได้บอกคำถามให้พระภิกษุสุภัททะ ดังนี้

เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ
ตะโจ ทันตา นขา โลมา เกสา
เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ

เอาไปปฏิบัติ พิจารณา เมื่อพระภิกษุสุภัททะพิจารณาแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที 
พระสุภัททะ ได้เป็น พระสาวกและพระอรหันต์รูปสุดท้ายของพระศาสดา 
อันนี้ได้เป็นหลักฐานยืนยันว่าพระพุทธองค์ 
ทรงบำเพ็ญพุทธกิจจนถึงนาทีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระพุทธองค์

พระพุทธเจ้าประทานโอวาทเป็นครั้งสุดท้ายแก่พระสาวกของพระพุทธองค์ว่า 
พระอรหันต์ก็ดี พระวินัย ก็ดี ที่เราตถาคตได้บัญญัติไว้แล้ว 
พระธรรมวินัยนั้นจะเป็นครูอาจารย์ของท่าน 
ในเวลาที่เราตถาคต ปรินิพพานไปแล้ว 
พระพุทธเจ้าได้ทรงเปล่งวาจาอันเป็นพระปัจฉิมโอวาทว่า 
เราขอเตือนท่านทั้ง หลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นของธรรมดา พวกท่านจงประกอบกิจทั้งปวงให้เป็น ประโยชน์แก่ตนและคนอื่นด้วย ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด 
สิ้นพระสุรเสียงนี้ พระพุทธองค์ ก็สงบไปและไม่ได้ตรัสอะไรอีก 
พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์สู่พระปรินิพพานในเวลาสุดท้ายแห่งคืน 
พระจันทร์เต็มดวงของคืนวันเพ็ญเดือนหก (วิสาขะ) 
นี่เป็นการแสดงว่าพระพุทธเจ้าได้ปฏิบัติพุทธกิจ 
อันหนักหน่วงเป็นเวลา ๔๕ พรรษา 
โดยไม่ได้พักผ่อนจนถึงวินาทีสุดท้าย 
เสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้วางสมบัติอันล้ำค่า คือ 
พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ไว้ในมนุษย์โลก 
ขอให้ท่านทั้งหลายจงหมั่นเพียรปฏิบัติต่อไปเถิด สาธุ อนุโมทนามิ

การเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้นเป็นไปตามลำดับ 
คือเข้าฌานที่ ๑ ออกจากฌานที่ ๑ แล้วเข้าสู่ฌานที่ ๒ โดยลำดับ 
ตอนนี้พระอานนท์ได้ถามพระอนุรุธว่า 
พระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานหรือยัง 
วาทะ ยิตะ นิโรธะ นี้แล้วก็กลับมาเข้าฌานที่ ๑ เข้าฌานที่ ๒ เป็นลำดับ
จนเข้าฌานที่ ๓ ที่ ๔ แล้วจึง เสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน 
การที่พระอานนท์ถามเช่นนั้นก็เพราะพระอานนท์ยังไม่ทันได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ 
พระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน ภายใต้ต้นสาละ (ไม้รัง) ในวันเพ็ญเดือนหก 
ตรัสรู้กลางดิน ภายใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ในวันเพ็ญเดือนหก 
และปรินิพพานกลางดิน ภายใต้ต้นสาละในวันเพ็ญเดือนหก 
ฉะนั้น ในเดือนวิสาขะ ( เดือนหกเพ็ญ ) 
จึงเป็นวันสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว 
บรรดาพระสาวกที่เป็นพระอรหันต์ทั้งหลายต่างก็เกิดธรรมสังเวช 
บรรดาพระสาวกที่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลต่างก็มีความเศร้าโศกเสียใจอาลัยถึงพระบรมศาสดา 
บรรดา มัลละกษัตริย์ พระราชาทั้งหลาย 
เมื่อได้ทราบข่าวพระปรินิพพานของพระพุทธเจ้าต่างก็นำผ้าไหมสีขาว บริสุทธิ์อย่างดี ๕๐๐ 
ชุดนำมาสักการะพระบรมศพ พร้อมด้วยดอกไม้ของหอมนานาชนิดมาสักการะบูชา
พระบรมศพอยู่เป็นเวลา ๗ วัน 
พอถึงวันที่ ๘ วันอัตถะ เดือนหก แรม ๘ ค่ำ 
จึงได้เชิญพระบรมศพแห่ไป ประดิษฐานไว้ที่มกุฎพันธนเจดีย์
แล้วเตรียมการถวายพระเพลิง

การตกแต่งพระบรมศพ พระอานนท์ได้แจ้งข่าวให้ชาวมัลละกษัตริย์ทรงทราบ คือ 
ห่อพระบรมศพด้วย ผ้าขาวซับด้วยสำลี ๒ ชั้น แล้วเอาฝ้ายมัด 
เอาผ้าหุ้มห่อพระบรมศพโดยอย่างเดียวกันถึง ๕๐๐ ชั้น 
แล้ว เชิญพระบรมศพใส่โลงในพระหีบทองคำ
เชิญพระบรมศพขึ้นสู่พระสุเมรุที่ทำด้วยแก่นจันทน์สูงประมาณ ๑๖๐ ศอก 
ได้เวลาถวายพระเพลิง 
กษัตริย์มัลละ ๔ พระองค์ก็ได้นำเพลิงเข้าบรรจุ 
แต่เพลิงก็ไม่ได้ ลุกไหม้ 
จึงได้ตรัสถามพระอนุรุทธแล้วได้ความว่า 
เทพยดาที่รักษาพระบรมศพมีความปรารถนาจะให้รอพระมหากัสปปะ 
ซึ่งเป็นพระสาวกผู้ใหญ่ก่อน 
ในวันนั้นเอง พระมหากัสสปปะพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูปได้เดินทางมาเฝ้าพระพุทธองค์ 
พอมาถึงระหว่างกลางทางก็ได้ทราบข่าวจากอาชีวกว่า 
สมเด็จพระ บรมศาสดาได้เสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานไปได้ ๗ วันแล้ว 
บรรดาพระภิกษุที่เป็นปุถุชนเมื่อได้ฟังคำ 
บอกกล่าวของอาชีวกตนนั้น ต่างล้มกลิ้งเกลือกร้องไห้ร่ำไรรำพันว่า 
โอ้ พระศาสดามาด่วนปรินิพพาน 

เสียแล้ว ดวงประทีปส่องโลกดับสูญสิ้นแล้ว 
ฝ่ายพระสาวกที่เป็นขีณาสพก็บังเกิดธรรมสังเวช 
ในขณะ นั้น ภิกษุชรารูปหนึ่งชื่อ สุภัททะ กล่าวห้ามพระภิกษุสงฆ์ว่า 
ท่านทั้งหลายจะเศร้าโศกร้องไห้ร่ำไรไป ทำไม 
บัดนี้ เราพ้นจากอำนาจพระมหาสมณะแล้ว 
พระมหาสมณะเมื่อยังมีพระชนม์อยู่ย่อมกล่าวว่า 
ตักเตือนจู้จี้ บัดนี้พระมหาสมณะปรินิพพานไปแล้ว 
พวกเราปรารถนาจะทำสิ่งใดก็ได้ตามใจ ไม่มีผู้ใด ที่จะมาบังคับบัญชา ห้ามพวกเราแล้ว 

ส่วนพระมหากัสปปะได้กล่าว พระธรรมคาถา 
อนิจจัง วัตตะ สังขารา (สังขารเป็นสิ่งที่ไม่ที่ยง) 
เพื่อระงับความโศกเศร้าของพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง 
แล้วรีบพากันไปยัง มกุฎพันธนเจดีย์ ใกล้เมืองกุสินารา เข้าไปยังพระสุเมรุ 
น้อมนมัสการประกอบพิธีประทักษิณ (เวียน) พระสุเมรุอยู่ ๓ รอบ
เสร็จแล้วเขาไปยืนทางขวาเบื้องพระบาทของพระบรมศพแล้วน้อมอภิวาท กราบทูลว่า 
ข้าแต่พระบรมครู ข้าพระองค์ชื่อพระมหากัสสปะเป็นสาวกของพระองค์ 
พระองค์ทรงได้ตั้ง ข้าพระพุทธเจ้าไว้ในที่เลิศ ฝ่ายธุดงค์การปฏิบัติ 
ข้าพระองค์มีความเคารพต่อพระองค์อย่างสูงสุด 
ด้วยคำสัตย์ของข้าพระองค์นี้ 
ขอให้พระบาทยุคลจงเหยียดยื่นออกมาจากพระหีบทองคำ เพื่อรับพระหัตถ์ ทั้งสองของข้าพระองค์ 
ผู้ชื่อ กัสสปะนบน้อมอภิวาทอยู่ในบัดนี้ ( ขอนิมนต์ลอดพระบาทออกมานอก พระหีบทองคำ) 
ทันใดนั้น พระบาททั้งคู่ได้สอดออกจากผ้า ๒ ชั้นซึ่งห่อหุ้มพระวรกายอยู่ถึง ๕๐๐ ชั้น 
ออกมาปรากฎภายนอกให้เห็น 
พระมหากัสสปะก็ยื่นพระหัตถ์ทั้งสองข้างออกรับพระพุทธบาท แล้วกราบทูลว่า 
ข้าแต่พระบรมครูตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าดำรงอยู่ในอริยภูมิ 
ข้าพระพุทธบาทไม่ได้ล่วงพุทธ โอวาท 
ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ตลอดมา 
วันนี้พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ข้าพระบาทอย่างล้นเหลือ 
แต่ข้าพระบาทก็ไม่ได้อยู่ปรนนิบัติพระองค์ ขอพระองค์ทรงพระมหากรุณา 
โปรดอภัยแก่ข้าพระพุทธเจ้าในบัดนี้เถิด เมื่อพระมหากัสสปะกล่าวเสร็จแล้ว
ก็น้อมนมัสการแก่ พระบาท 
ทันใดนั้นพระบาททั้งสอง ก็กลับคืนเข้าสู่พระหีบทองคำดังเก่า 
พระเพลิงก็อภินิหารติดไหม้ขึ้น บนพระสุเมรุทันที 
เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพได้ ๗ วันแล้ว 
มัลละกษัตริย์ทั้งหลายก็นำเอาพระบรมสารีริกธาตุ 
อัญเชิญพระบรมธาตุขึ้นหลังช้างแห่เข้าสู่พระนคร 
ประดิษฐาน ณ รัตนบัลลังก์ภายใต้เศวต ฉัตร 
แล้วได้จัดให้มีพิธีมหรสพสมโภชพระบรมสารีริกธาตุอยู่นานเป็นเวลา ๗ วัน เป็นอันจบพิธี

วันอัตถะมี คือ วันแรม ๘ ค่ำเดือน ๖ ปีจอ 
หรือเรียกกันว่า วันถวายพระเพลิง 
ได้เป็นวันหนึ่งที่สำคัญ สืบต่อมาในทางพระพุทธศาสนามาถึงทุกวันนี้

จากนั้นได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 
คือมีมัลละกษัตริย์ ๗ พระนครยก
พลเสนามาแย่งชิงเอาพระบรมสารีริก ธาตุของพระศาสดาเจ้าเอาไปเป็นกรรมสิทธิ์ของตน 
จึงได้มีเหตุการณ์ต่อมาคือ
๑.กษัตริย์แห่งนคร กบิลพัสดุ์ 
๒.พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งนครราชคฤห์ 
๓.กษัตริย์ลิจฉวี แห่งนครเวสาลี 
๔. พูลิราชกษัตริย์ แห่งนครอัลลกัปปะ 
๕.กษัตริย์โกลิยวงศ์แห่งรามคาม 
๖.มหาพราหมณ์ แห่งเวฏฐทีปกะ 
๗.มัลละกษัตริย์ แห่งนครปาวา 
ทั้ง ๗ นครนั้น อันเป็นที่มาของพุทธมามกะ 
มัลละกษัตริย์ผู้ถึงพร้อมด้วยพระศรีรัตนตรัย 
อันเป็นที่พึ่งของตน แต่หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ปรินิพพานไปแล้ว 
ต่างก็ถือมานะทิฐิ ไม่ได้อยู่ในหลักพระธรรมคำสั่งสอนของพระศาสดาอันควรอย่างยิ่ง 
กษัตริย์ทั้ง ๗ นั้นอันเป็นพุทธมามกะ 
ควรจะ ต้องปรองดองกันอุ้มชูพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป 
แต่ตรงกันข้ามในความมักใหญ่ใฝ่สูง และเห็นแก่ตัว 
จึงได้เกิดสงครามญาติชิงพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมา

ด้วยเหตุนั้นได้มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า โทณะ 
ได้กล่าวคำอธิบายต่อมัลละกษัตริย์ทั้ง ๗ นครว่า 
ดูก่อน ท่านทั้งหลาย 
เราล้วนแต่เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา 
มีพระบรมศาสดาเจ้าคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
อันเป็นมหาบุรุษของชาวโลก 
พระองค์ได้ตรัสสั่งสอนไว้แล้วคือ ธรรมค้ำจุนโลก 
เราควรอยู่อย่างมีธรรม เคารพธรรม บูชาธรรม ปฏิบัติธรรม 
ธรรมนั้นจะนำความเจริญมาให้แก่ชาวโลก 
แต่เราเป็นผู้ทำลาย ธรรม ควรแล้วหรือ ? 
ขอท่านจงดำริพิจารณาให้ถ้วนถี่เสียก่อน 
อย่าได้ประหัตประหารกันเลย 
เพราะเราเป็นชาวพุทธเหมือนกัน 
เมื่อพราหมณ์ได้อธิบายต่อมัลละกษัตริย์ทั้งหลาย 
ทั้ง ๗ นครจึงได้ตกลงเห็นพ้องกันสามัคคีปรองดองกัน เทิดทูน 
แบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เอาไปประดิษฐานไว้เป็นที่เคารพสักการะบูชา สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

พุทธประวัติตอน ๑๕ พระอริยสาวกที่สำคัญในพระพุทธศาสนา

พระอริยสาวกที่สำคัญในพระพุทธศาสนา


พระมหากัสสปะ


พระมหากัสสปะ เป็นพระอรหันต์สาวกองค์หนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า เป็นเอตทัคคะที่ทรงยกย่องและให้ถือเป็นแบบอย่างในด้านผู้ทรงธุดงค์และสรรเสริญคุณแห่งธุดงค์ ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ท่านได้เป็นประธานในการสังคายนาครั้งที่หนึ่งในศาสนาพุทธ

ประวัติ

ก่อนบวช


พระมหากัสสปะมีนามว่า ปิปผลิ เป็นบุตรของกปิลพราหมณ์
เกิดที่หมู่บ้านมหาติตถะ แคว้นมคธ
เมื่ออายุเข้าย่างสู่ 20 ปี มารดาบิดาของท่านรบเร้าให้ท่านแต่งงาน 
ท่านปฏิเสธเพราะตั้งใจว่าเมื่อดูแลมารดาบิดาจนทั้งสองเสียชีวิตแล้วก็จะออกบวช 
แต่มารดาบิดาของท่านยังยืนยันให้ท่านแต่งงานเพื่อดำรงวงศ์ตระกูล 
ปิปผลิจึงจ้างช่างหล่อทองคำเป็นรูปหญิงสาว 
ประดับด้วยผ้านุ่งสีแดง ดอกไม้ และเครื่องประดับต่าง ๆ 
แล้วบอกมารดาว่าถ้าหาหญิงสาวลักษณะตามรูปปั้นดีได้จึงจะยอมแต่งงาน 
มารดาของท่านจึงให้พราหมณ์ ๘ คนนำรูปหล่อไปตามหาหญิงสาวที่มีลักษณะตามนั้น 
เมื่อได้พบนางภัททากาปิลานี จึงแจ้งให้กบิลพราหมณ์ทราบ 
ทั้งปิปผลิและภัททาต่างไม่อยากแต่งงานจึงแอบส่งจดหมายขอให้อีกฝ่ายหาคู่ครองใหม่ 
แต่คนถือจดหมายได้แปลงข้อความในจดหมาย ทั้งสองจึงได้แต่งงานกันในที่สุด

ออกบวช

วันหนึ่ง ปิปผลิไปตรวจนาเห็นฝูงนกจิกกินไส้เดือน
จึงถามบริวารว่าบาปของสัตว์พวกนั้นตกแก่ใคร 
บริวารว่าตกแก่ท่านปิปผลิ 
ท่านสังเวชใจว่าถ้าอกุศลกรรมแบบนี้ตกแก่ท่านแล้ว 
ถึงเวียนว่ายตายเกิดสักพันชาติก็คงไม่พ้นทุกข์ 
กลับถึงบ้านแล้วจึงบอกภรรยาว่าจะออกบวช 
ภรรยาของท่านก็จะออกบวชเช่นกัน
ทั้งสองปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสายะ 
ตั้งใจออกบวชเพื่ออุทิศพระอรหันต์ในโลก 
แล้วออกจากไปจนถึงทางแยกก็แยกกันเดินทาง 
ขณะที่แยกทางกันนั้นก็เกิดแผ่นดินไหว



บรรลุอรหัตผล


หลังจากบวชได้ครบ 7 วัน เข้าวันที่ 8 
พระมหากัสสปะก็พบพระพุทธเจ้าขณะประทับที่พหุปุตตเจดีย์ 
พระองค์ประทานโอวาทแก่ท่าน 3 ข้อ คือ
  1. มีหิริและโอตตัปปะอย่างแรงกล้าในภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ ผู้เป็นนวกะ และผู้เป็นมัชฌิมะ
  2. ฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกุศล จักกระทำธรรมนั้นทั้งหมดให้เป็นประโยชน์ มนสิการถึงธรรมนั้นทั้งหมด จักประมวลจิตมาทั้งหมด เงี่ยโสตสดับธรรม
  3. ไม่ละกายคตาสติที่ประกอบด้วยความยินดี
พระมหากัสสปะฟังแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ 
จากนั้นท่านนำผ้าสังฆาฏิของตนปูถวายพระพุทธเจ้าให้ทรงประทับนั่ง 
พระพุทธเจ้าจึงประทานผ้าป่านบังสุกุลให้ท่านใช้แทน 
ขณะนั้นแผ่นดินก็ไหวขึ้น
เพราะไม่เคยมีมาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะประทานจีวรที่ทรงใช้แล้วแก่พระสาวก 
พระมหากัสสปะประทับใจมากด้วยระลึกว่าท่านเป็น 
"บุตรของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอษฐ์ 
เกิดแต่พระธรรม อันพระธรรมเนรมิตแล้ว เป็นธรรมทายาท 
ได้รับผ้าป่านบังสุกุลที่ใช้สอยแล้ว"



ปฐมสังคายนา


พระมหากัสสปเถระได้ทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า 
เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วได้ 7 วัน 
ขณะที่ท่านกำลังเดินทางอยู่ ณ เมืองปาวาพร้อมด้วยหมู่ศิษย์จำนวนมาก 
เมื่อได้ทราบข่าวนั้น เหล่าศิษย์ของพระมหากัสสปะซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ 
ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้น 
จึงมีพระภิกษุผู้บวชเมื่อแก่รูปหนึ่ง ชื่อว่าสุภัททะ ได้กล่าวขึ้นว่า 
"พอทีเถิด พวกท่านอย่าโศกเศร้า อย่าคร่ำครวญเลย 
พวกเรารอดพ้นดีแล้วจากพระมหาสมณะรูปนั้นที่คอยจ้ำจี้จ้ำไชพวกเราอยู่ว่า
‘สิ่งนี้ควรแก่พวกเธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่พวกเธอ’ 
บัดนี้ พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักทำสิ่งนั้น 
ไม่ปรารถนาสิ่งใด ก็จักไม่ทำสิ่งนั้น" 
พระมหากัสสปะได้ฟังเช่นนั้นก็ดำริขึ้นว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 7 วัน 
ก็มีผู้คิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน
หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัยเช่นนี้ 
จึงควรจะทำสังคายนาและจะชักชวนพระอรหันต์เถระทั้งหลาย
ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรง 
เป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า 
และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ 
รู้ว่าสิ่งใดที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้มาประชุมกัน 
เพื่อช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า 
แล้วตกลงวางมติไว้ ใช้เวลา 7 เดือน พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นผู้อุปถัมภ์

การสังคายนาครั้งที่หนึ่งในศาสนาพุทธจึงได้จัดขึ้นที่ถ้ำสัตบรรณคูหา 
กรุงราชคฤห์ ตามคำปรารภของพระมหากัสสปะเถระ 
โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ 
ใช้เวลาในการสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยอยู่ 7 เดือนจึงแล้วเสร็จ 
โดยในครั้งนั้น พระมหากัสสปะเถระเป็นประธานทำสังคายนา 
พระอานนท์เป็นองค์วิสัชชนาแสดงพระธรรม 
พระอุบาลีเป็นองค์วิสัชชนาพระวินัยปิฎก 
การสังคายนาครั้งนั้นนับเป็นต้นกำเนิดของพระไตรปิฎกภาษาบาลีที่ใช้ในนิกายเถรวาทในปัจจุบัน


พระอานนท์


พระนามเดิม: อานันทศากยะ

พระนามอื่น: พระอานนท์, พระอานนท์พุทธะอนุชา, พระอานนทเถระ, พระอานนท์เถระ, เจ้าชายอานันทะ, เจ้าชายอานนท์

สถานที่ประสูติ: เมืองกบิลพัสดุ์

ตำแหน่ง: พระบรมพุทธอุปัฏฐาก

เอตทัคคะ: มีสติเป็นเลิศ, มีความทรงจำเป็นเลิศ, มีความเพียรเป็นเลิศ, พหูสูตร, ยอดพระพุทธอุปัฏฐาก


นิพพาน: เมื่ออายุได้ 120 พรรษา


สถานที่นิพพาน: กลางแม่น้ำโรหิณี (ระกว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ)

สถานะเดิม
ชาวเมือง: กบิลพัสดุ์
นามพระบิดา: พระเจ้าอมิโตทนศากยราช
นามพระมารดา: พระนางมฤคีเทวี
วรรณะเดิม: กษัตริย์
ราชวงศ์: ศากยราชวงศ์

สถานที่รำลึก

ชื่อสถานที่
: กุฎิพระอานนท์ ในอารามโบราณสมัยพุทธกาล เช่น 
กุฎิพระอานนท์วัดพระเชตวันมหาวิหาร กุฎีพระอานนท์ที่เขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ เป็นต้น

พระอานนท์ เป็นสหชาติและพุทธอุปัฏฐากของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าพระสาวกอื่นถึง 5 ประการ และเป็นพหูสูต 
เนื่องจากเป็นผู้ทรงจำพระสูตรที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ 
และเป็นผู้ที่สาธยายพระสูตร จนทำให้ปฐมสังคายนาสำเร็จเรียบร้อย

กำเนิดพระอานนท์


พระอานนท์ ก่อนจะผนวชนั้น ทรงเป็นเจ้าชายแห่งศากยวงศ์ 
โดยท่านเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ 
ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระพุทธบิดา 
พระมารดาของท่านทรงพระนามว่า มฤคี 
พระอานนท์จึงถือว่าเป็นลูกผู้น้องของเจ้าชายสิทธัตถะ 
และเป็นสหชาติของเจ้าชายสิทธัตถะ เนื่องจากในวันประสูตินั้น 
ได้บังเกิดสหชาติกับพระพุทธเจ้า ทั้ง 7 ได้แก่ 
(1) พระนางพิมพาราหุลมาตา 
(2) ฉันนะอำมาตย์ 
(3) กาฬุทายิอำมาตย์ 
(4) พระอานนท์ 
(5) กันถกอัสสราช 
(6) ต้นมหาโพธิ์ 
(7) ขุมทรัพย์ 4 ทิศ

เจ้าชายอานนท์ออกผนวช


เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว 
ในพรรษาที่ 2 ได้เสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดา 
และพระญาติวงศ์ศากยะ ณ นครกบิลพัศดุ์ 
ในครั้งนั้นบรรดาศากยราชได้ทรงเลื่อมใสศรัทธา 
ต่างได้ถวายพระโอรสของตนให้ออกบวชตามเสด็จ 
ยังเหลือแต่ศากยกุมารเหล่านี้คือ 
เจ้าชายมหานามะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายภัคคุ 
เจ้าชายกิมพิละ เจ้าชายอานนท์ และเจ้าชายเทวทัตต์ 
ครั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่กรุงกบิลพัศดุ์พอสมควรแก่กาลแล้วก็เสด็จจาริกต่อไปยังที่อื่น
ศากยกุมารเหล่านี้ได้ถูกพระประยูรญาติวิจารณ์ว่า 
เหตุที่ไม่ออกผนวชตามเสด็จนั้น 
คงจะไม่ถือว่าตนเองเป็นพระประยูรญาติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระมัง 
เจ้าชายมหานามะได้ฟังดังนั้นเกิดละอายพระทัย จึงได้ไปปรึกษากับเจ้าชายอื่นๆ ในที่สุดตกลงกันว่าจะออกผนวชตามเสด็จ โดยเจ้าชายมหานามะไม่อาจบวชได้ 
เนื่องจากจะต้องเป็นกษัตริย์ต่อไป 
จึงให้พระอนุชาคือเจ้าชายอนุรุทธะออกผนวชแทน 
ศากยกุมารทั้ง 6 องค์ มีพระอานนท์ เป็นต้น รวมทั้งอุบาลี ซึ่งเป็นกัลบกด้วยเป็น 7 
ได้ตามเสด็จพระพุทธองค์ไปเพื่อขอบรรพชาอุปสมบท 
และได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่อนุปิยอัมพวัน เขตอนุปิยนิคม แคว้นมัลละ 
แล้ว กราบทูลว่า
“พระพุทธเจ้าข้า พวกหม่อมฉันเป็นเจ้าศากยะยังมีมานะ 
ความถือตัวอยู่ อุบาลีผู้นี้เป็น นายภูษามาลา เป็นผู้รับใช้ของหม่อมฉันมานาน 
ขอพระผู้มีพระภาคจงให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้บวชก่อนเถิด 
พวกหม่อมฉันจักทำการอภิวาท การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้ 
เมื่อเป็นอย่างนี้ ความถือตัวว่าเป็นศากยะ ของพวกหม่อมฉันผู้เป็นศากยะจักเสื่อมคลายลง”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคโปรดให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาบวชก่อน
ให้ ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อภายหลัง ฯ 
พระอุปัชฌายะของท่าน พระอานนท์ ชื่อพระเวลัฏฐสีสเถระ



พระอานนท์บรรลุโสดาบัน


เมื่อศากยราชกุมารทั้ง 6 และอุบาลีได้ผนวชแล้ว 
ท่านพระภัททิยะได้เป็นพระอรหัตถ์เตวิชโช โดยระหว่างพรรษานั้นนั่นเอง 
ท่านพระอนุรุทธเป็นผู้มีจักษุเป็นทิพย์ ภายหลังบรรลุพระอรหัตผล 
พระภคุเถระและพระกิมพิลเถระ ภายหลังเจริญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัต 
พระเทวทัตได้บรรลุฤทธิ์อันเป็นของปุถุชน
สำหรับท่านพระอานนท์ครั้นอุปสมบทแล้ว 
ได้ศึกษาธรรมจากสำนักของท่านพระปุณณมันตานีบุตร 
ไม่นานก็ได้สำเร็จชั้นโสดาบัน 
ในกาลต่อมาท่านได้เล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า 
ท่านพระปุณณมันตานีบุตร มีอุปการคุณต่อท่านและพวกภิกษุผู้นวกะมาก 
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรได้กล่าวสอนท่านว่า
"ดูกรอานนท์ เพราะถือมั่นจึงมีตัณหา มานะ ทิฐิว่าเป็นเรา 
เพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีตัณหามานะ ทิฐิ ว่าเป็นเรา 
เพราะถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฐิ ว่าเป็นเรา 
เพราะไม่ถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฐิว่า เป็นเรา 
เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มสาวมีนิสัยชอบแต่งตัวส่องดูเงาของตนที่กระจก
หรือที่ภาชนะน้ำอันใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง 
เพราะยึดถือจึงเห็น เพราะไม่ยึดจึงไม่เห็น ฉันใด 
เพราะถือมั่นรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฐิ ว่า เป็นเรา
เพราะไม่ถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหามานะ ทิฐิว่า เป็นเรา 
ฉันนั้นเหมือนกัน”
จากนั้น ท่านพระอานนท์เล่าต่อไปว่า 
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรได้ถามท่านว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 
เที่ยงหรือไม่เที่ยงท่านตอบว่าไม่เที่ยง 
และในตอนสุดท้ายของการสอนธรรมครั้งนี้ 
ท่านบอกแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า ท่านได้ตรัสรู้ธรรม 
ซึ่งหมายถึงได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน


พระอานนท์ได้รับแต่งตั้งเป็นพุทธอุปัฎฐาก


สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้ทรงตรัสรู้แล้วถึง 20 พรรษา 
แต่ยังไม่มีผู้ใดเป็นพุทธอุปัฎฐากประจำ 
ซึ่งได้สร้างความลำบากแก่พระองค์เป็นอย่างมาก 
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า 
บัดนี้พระองค์ทรงพระชราแล้ว 
ภิกษุผู้อุปัฏฐากพระองค์บางรูปทอดทิ้งพระองค์ไปตามทางที่ตนปรารถนา 
บางรูปวางบาตรจีวรของพระองค์ไว้บนพื้นดินแล้วเดินจากไปเสีย 
จึงขอให้พระสงฆ์เลือกพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ 
คณะสงฆ์เห็นว่าควรจะมีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งคอยสนองงานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในครั้งนั้นพระสงฆ์ทั้งหลายนำโดยพระสารีบุตรมหาเถระ 
ได้กราบทูลขอเป็นพุทธอุปัฎฐาก แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามเสีย แม้พระเถระรูปอื่นๆ 
จะกราบทูลเสนอตัวเป็นพุทธอุปัฏฐาก แต่พระพุทธองค์ก็ทรงห้ามเสียทุกรูป 
คงเว้นแต่พระอานนท์ที่มิได้กราบทูลด้วยถ้อยคำใด 
พระภิกษุรูปอื่นได้เตือนให้พระอานนท์ขอโอกาส 
แต่ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อันตำแหน่งที่ขอได้มานั้นจะมีความหมายอะไรเล่า 
พระบรมศาสดาไม่ทรงเห็นข้าพเจ้าเลยกระนั้นหรือ? 
ก็หากพระองค์ทรงพอพระทัยในตัวข้าพเจ้าแล้วไซร้ พระองค์ก็คงตรัสเองว่า 
อานนท์เธอจงอุปัฏฐากเราเถิด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า 
ไม่มีผู้ใดจะสามารถให้ท่านพระอานนท์เกิดความอุตสาหะขึ้นมาได้เลย 
แต่เมื่อท่านพระอานนท์รู้แล้ว ท่านจักอุปัฏฐากพระองค์เอง 
เมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้ยินพระดำรัสนั้น ก็ทราบทันทีว่า 
พระองค์ทรงประสงค์ให้ท่านพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก 
จึงได้พูดตักเตือนให้ท่านทูลขอตำแหน่งพุทธุปัฏฐากจากพระองค์

พระอานนท์ขอประทานพร 8 ประการ


ดังนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้กราบทูลขอพร 8 ประการ 
หากพระองค์ทรงประทานพร 8 ประการนี้ 
ท่านจึงจะรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐากท่านกราบทูลขอพร ว่า

  1. ถ้าจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
  2. ถ้าจักไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
  3. ถ้าจักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
  4. ถ้าจักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่ที่ทรงรับนิมนต์ไว้
  5. ถ้าพระองค์จักไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้
  6. ถ้าข้าพระองค์จะพาบริษัทซึ่งมาแต่ที่ไกลเพื่อเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่มาแล้ว
  7. ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น
  8. ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์จักเสด็จมาตรัสบอกพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีก
เมื่อข้าพระองค์ได้รับพร 8 ประการนี้ แหละจึงจักเป็นพุทธุปัฏฐากของพระองค์

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามถึงโทษและอานิสงส์ที่ทูลขอพร 8 ประการนี้ 
ท่านได้กราบทูลว่า ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ 1-4 ก็จักมีคนพูดได้ว่า 
ท่านรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐาก เพื่อหวังลาภสักการะอย่างนั้น ๆ เพื่อป้องกันปรวาทะอย่างนั้น 
ท่านจึงได้ทูลขอพร 4 ข้อนี้ 
ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ 5-7 ก็จักมีคนพูดได้ว่า 
พระอานนท์บำรุงพระศาสดาไปทำไม 
เพราะกิจเท่านี้พระองค์ก็ยังไม่ทรงสงเคราะห์เสียแล้ว 
และหากท่านไม่ทูลขอพรข้อ 8 
เมื่อมีคนมาถามท่านลับหลัง พระพุทธองค์ว่า 
คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสที่ไหน?
ถ้าท่านตอบเขาไม่ได้ เขาก็จะพูดได้ว่า 
พระอานนท์เฝ้าติดตามพระผู้มีพระภาคเหมือนเงาของพระองค์อยู่เป็นเวลานาน
ทำไมเรื่องเท่านี้ยังไม่รู้?

ครั้นท่านได้ทูลชี้แจงแสดงโทษในข้อที่ไม่ควรได้ 
และอานิสงส์ในข้อที่ควรได้อย่างนี้แล้ว 
พระผู้มีพระภาคจึงทรงประทานพรตามที่พระอานนท์กราบทูลขอทุกประการ 
ท่านพระอานนท์จึงได้รับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐาก 
และได้อุปัฏฐากพระพุทธองค์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
จนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค เป็นเวลา 25 พรรษา

กิจในหน้าที่ของพุทธอุปัฏฐาก


ท่านพระอานนท์ได้รับตำแหน่ง 
ท่านก็ได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดี กิจที่ท่านทำเป็นประจำแก่พระพุทธเจ้าคือ
ถวายน้ำ 2 อย่าง คือน้ำเย็นและน้ำร้อน
ถวายไม้สีฟัน 3 ขนาด
นวดพระหัตถ์และพระบาท
นวดพระปฤษฏางค์
ปัดกวาดพระคันธกุฏี และบริเวณพระคันธกุฏี
ในตอนกลางคืนท่านกำหนดเวลาได้ว่า 
เวลานี้พระพุทธองค์ทรงต้องการอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเข้าเฝ้า
เมื่อเฝ้าเสร็จก็ออกมาอยู่ยาม ณ ภายนอกพระคันธกุฏีในคืนหนึ่ง ๆ 
ท่านถือประทีปด้ามใหญ่เวียนรอบบริเวณพระคันธกุฏีถึง 8 ครั้ง 
ท่านคิดว่าหากท่านง่วงนอน เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียกท่านจะไม่สามารถขานรับได้ 
ฉะนั้น จึงไม่ยอมวางประทีปตลอดทั้งคืน

ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้กล่าวยกย่องท่านพระอานนท์ไว้ว่าท่านขยันในการอุปัฏฐากมาก 
ในบรรดาพระภิกษุผู้เคยอุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามาแล้ว 
ไม่มีใครทำได้เหมือนท่าน เพราะพระภิกษุเหล่านั้นไม่รู้พระทัยของพระพุทธองค์ดี 
จึงอุปัฏฐากได้นาน 
ด้วยเหตุนี้ในคราวที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานพระองค์ได้ตรัสกับท่านว่า

"อานนท์ เธอได้อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายธรรม วจีกรรมมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา 
ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หากประมาณมิได้มาช้านานแล้ว 
เธอได้ทำบุญไว้มากแล้วอานนท์ เธอจงประกอบความเพียรเถิด จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยฉับพลัน"

แล้วตรัสประกาศเกียรติคุณของพระอานนท์ให้ปรากฏแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใด 
ที่มีมาแล้วในอดีตกาลภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นอย่างยิ่ง
ก็เหมือนกับอานนท์ของเราเท่านั้น 
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่จักมีอนาคตกาล 
ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นอย่างยิ่งก็เพียงอานนท์ของเราเท่านั้น 
อานนท์เป็นบัณฑิตย่อมรู้ว่า 
นี่เป็นกาลเพื่อจะเข้าเฝ้าพระตถาคต
นี่เป็นกาลของพวกภิกษุ
นี่เป็นกาลของพวกภิกษุณี 
นี่เป็นกาลของพวกอุบาสก 
นี่เป็นกาลของพวกอุบาสิกา 
นี่เป็นกาลของพระราชา 
นี่เป็นกาลของพวกอำมาตย์ราชเสวก 
นี่เป็นกาลของพวกเดียรถีย์
นี่เป็นกาลของพวกสาวกของพวกเดียรถีย์”



พระอานนท์ผู้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุรูปอื่น


พระอานนท์ได้รับการสรรเสริญจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะ (เลิศ) 5 ประการคือ

  1. มีสติ รอบคอบ
  2. มีคติ คือความทรงจำแม่นยำ
  3. มีความเพียรดี
  4. เป็นพหูสูต
  5. เป็นยอดของภิกษุผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า

ภิกษุอื่น ๆ ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะก็ได้รับเพียงอย่างเดียว 
แต่พระอานนท์ท่านได้รับถึง 5 ประการ นับว่าหาได้ยากมาก 
ความเป็นพหูสูตรของพระอานนท์นั้นนับว่าเป็นคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา 
กล่าวคือภายหลังพุทธปรินิพพานแล้ว มีภิกษุบางพวกกล่าวติเตียนพระศาสนา 
ทำให้พระมหากัสสปเถระเกิดความสังเวชในใจว่า 
ในอนาคตพวกอลัชชีจะพากันกำเริบ ย่ำเหยียบพระศาสนา 
จำต้องกระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกให้เป็นหมวดหมู่ 
จึงได้นัดแนะพระภิกษุสงฆ์ให้ไปประชุมกันที่กรุงราชคฤห์ 
เพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยตลอดเข้าพรรษา
การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งนั้นได้มีพระมหาเถระ 3 รูปที่มีส่วนสำคัญในการสังคายนา
กล่าวคือ พระอานนท์เถระ ผู้เป็นพุทธอุปฐาก ซึ่งได้รับประทานพรข้อที่ 8 
ทำให้ท่านเป็นผู้ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้มาก 
ท่านจึงได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม 
ดังบทสวดคาถาต่าง ๆ มักขึ้นต้นด้วย
“เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา.....” 
อันหมายถึง 
“ข้าพเจ้า (คือพระอานนท์เถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ 
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า”

พระอุบาลี ซึ่งเคยเป็นพนักงานภูษามาลาในราชสำนักกรุงกบิลพัสดุ์ 
และออกบวชพร้อมศากยราชกุมาร ท่านได้จดจำพระวินัยเป็นพิเศษ 
มีเรื่องเล่าในพระวินัยปิฏกว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องวินัยแก่พระภิกษุทั้งหลาย 
และสรรเสริญพระวินัยและสรรเสริญพระอุบาลีเป็นอันมาก 
ภิกษุทั้งหลายจึงพากันไปเรียนวินัยจากพระอุบาลี 
ในการสังคายนาครั้งนี้ท่านจึงได้รับหน้าที่วิสัชชนาเกี่ยวกับพระวินัย

พระมหากัสสปเถระ ซึ่งเป็นเลิศทางธุดงวัตรและเป็นผู้ชักชวนให้สังคายนาพระธรรมวินัย 
เป็นผู้ถามทั้งพระธรรมและพระวินัย

ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้เล่าไว้ว่า 
ท่านพระอานนท์มีปัญญา มีความจำดี ท่านได้ฟังครั้นเดียว 
ไม่ต้องถามอีกก็สามารถจำได้เป็นจำนวนตั้ง 60,000 บาท 15,000 คาถา 
โดยไม่เลอะเลือน ไม่คลาดเคลื่อน 
เหมือนบุคคลเอาเถาวัลย์มัดดอกไม้ถือไป 
เหมือนจารึกอักษรลงบนแผ่นศิลา 
เหมือนน้ำมันใสของราชสีห์ที่บุคคลใส่ไว้ในหม้อทองคำ ฉะนั้น

ด้วยเหตุที่ท่านขยันเรียน และมีความจำดีนี่เอง ท่านจึงได้รับยกย่องว่าเป็นพหูสูต 
เป็นธรรมภัณฑาคาริก ทรงจำพระพุทธพจน์ได้ถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ 
คือท่านเรียกจากพระพุทธองค์ 82,000 พระธรรมขันธ์
และเรียนจากเพื่อนสหธรรมมิกอีก 2,000 พระธรรมขันธ์ 
แม้ท่านจะเป็นเพียงพระโสดาบันก็ตาม 
แต่ท่านก็มีปัญญาแตกฉานในปฏิสัมภิทา
มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องปฏิจจสมุปบาท 
จึงสามารถสั่งสอนศิษย์ได้มากมาย 
ศิษย์ของท่านส่วนมากก็เป็นพหูสูตเช่นเดียวกับท่าน 
ว่ากันว่า ท่านพูดได้เร็วกว่าคนธรรมดา 8 เท่า 
คือคนเราพูด 1 คำ ท่านพูดได้ 8 คำ

ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้พรรณนาคุณของท่านพระอานนท์ไว้อีกอย่างหนึ่งว่า 
ท่านมีรูปงาม น่าเลื่อมใส น่าทัศนายิ่งนัก ยิ่งเป็นพหูสูตด้วย 
ก็ยิ่งทำให้สังฆมณฑลนี้งดงามยิ่งขึ้น 
ด้วยเหตุนี้จึงมีบริษัททั้ง 4 นิยมไปหาท่านกันมาก 
ข้อนี้สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสยกย่องท่านว่า 
ท่านมีอัพภูตธรรม คือคุณอันน่าอัศจรรย์ 4 ประการ คือ
ถ้าภิกษุบริษัทภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัทเข้าไปหาท่าน 
พอได้เห็นรูปเท่านั้นก็มีความยินดี พอได้ฟังธรรมเทศนาของท่านก็ยิ่งมีความยินดี 
แม้เมื่อท่านแสดงธรรมจบลงแล้ว ก็ยังฟังไม่อิ่ม 
แล้วทรงเปรียบเทียบท่านซึ่งมีคุณอันน่าอัศจรรย์นี้กับพระเจ้าจักรพรรดิ คือว่า 
พระเจ้าจักรพรรดินั้นเมื่อขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท และสมณบริษัทเข้าเฝ้า 
พอได้เห็นก็มีความยินดี ครั้นได้ฟังพระราชดำรัส ก็ยิ่งมีความยินดี แม้ตรัสจบแล้วก็ยังไม่อิ่ม

นอกจากหน้าที่อุปัฏฐากประจำองค์อย่างใกล้ชิดแล้ว 
ท่านพระอานนท์ ยังปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ อีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า งานรับสั่ง เช่น 
ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์รับสั่งให้ท่านไปประกาศคว่ำบาตรแก่วัฑฒลิจฉวี 
เพราะเหตุที่วัฑฒลิจฉวีได้สมรู้ร่วมคิดกับพระเมตติยะ และพระภุมมชกะ 
กล่าวใส่ร้ายท่านพระทัพพมัลลบุตร ว่า เสพเมถุนธรรมกับชายาเดิมของท่าน 
ครั้งหนึ่งรับสั่งให้ท่านนำนางยักษิณีเข้าเฝ้า 
เพื่อระงับการจองเวรจองผลาญกันและกัน 
ครั้งหนึ่งรับสั่งให้ท่านเรียกพระภิกษุสงฆ์ที่นครเวสาลีเข้าประชุมเพื่อฟังอานาปานสติ 
ครั้งหนึ่งรับสั่งให้ท่านแจ้งข่าวแก่พวกมัลลกษัตริย์ กรุงกุสินาราว่า 
พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานที่ป่าไม้สาละ ณ ราตรีนั้น เป็นต้น

งานมอบหมาย เช่น ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเลื่อมใสศรัทธา 
ทรงพระประสงค์จะถวายนิตยภัตรแก่พระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์เป็นประจำทุกวัน 
พระพุทธองค์ตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รับนิตยภัตรประจำในที่แห่งเดียว 
เพราะมีคนจำนวนมากต้องการจะทำบุญกับพระพุทธเจ้า 
จึงหวังจะให้เสด็จไปหาตนกันทั้งนั้น 
เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบดังนั้น
จึงทูลขอพระภิกษุ 1 รูปให้ไปรับนิตยภัตรของพระองค์ 
พระผู้มีพระภาค จึงทรงมอบภาระนี้ให้แก่ท่านพระอานนท์ 
เมื่อได้รับมอบหมายแล้ว ท่านก็ไปรับเป็นประจำ 
แม้ว่าในตอนหลัง ๆ พระเจ้าปเสนทิโกศล 
จะทรงลืมสั่งให้คนจัดนิตยภัตรถวายไปบ้าง 
แต่ท่านก็ยังไปอยู่เป็นประจำ

อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระประสงค์จะให้พระนางมัลลิกาเทวี 
และพระนางวาสภขัตติยา พระมเหสีของพระองค์ได้ศึกษาธรรม 
จึงทูลนิมนต์ให้พระพุทธองค์กับภิกษุสงฆ์ 500 รูป 
ไปสอนธรรมแก่พระมเหสีทั้งสอง
พระพุทธองค์ตรัสบอกข้อขัดข้องดังกล่าวแล้วข้างต้น 
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้ภิกษุรูปอื่นไปแทน 
พระพุทธองค์ก็มอบหมายให้ท่านพระอานนท์รับภาระนี้ 
และท่านก็ทำได้ดีเช่นเดียวกัน 

และในตอนที่จะเสด็จปรินิพพาน 
ได้ทรงมอบหมายให้ท่านลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ 
เมื่อพระองค์นิพพานไปแล้วในฐานหัวดื้อไม่ยอมเชื่อฟังคำตักเตือนของพระอัครสาวก 
และเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วท่านก็ได้ไปลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ 
สำเร็จตามที่ทรงมอบหมายไว้



ความภักดีของพระอานนท์ที่มีต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


พระอานนท์นั้นเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง 
ท่านยอมสละชีพของท่านเพื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ อย่างเช่น 
เมื่อพระเทวทัตได้วางอุบายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
โดยมอมเหล้าช้างนาฬาคิรี ซึ่งกำลังตกมัน 
แล้วปล่อยออกไปในขณะที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาต 
โดยมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เมื่อช้างนาฬาคิรีวิ่งเข้ามาทางพระพุทธองค์ 
พระอานนท์จึงได้เดินล้ำมาเบื้องหน้าพระศาสดา 
ด้วยคิดหมายจะเอาองค์ป้องกันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีพระพุทธดำรัสให้พระอานนท์หลีกไป 
อย่าป้องกันพระองค์เลย แต่พระอานนท์ได้กราบทูลว่า



“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชีวิตของพระองค์มีค่ายิ่งนัก 
พระองค์อยู่เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก เป็นดวงประทีปของโลก 
เป็นที่พึ่งของโลก ของพระองค์อย่าเสี่ยงกับอันตรายครั้งนี้เลย 
ชีวิตของข้าพระองค์มีค่าน้อย 
ขอให้ข้าพระองค์ได้สละสิ่งซึ่งมีค่าน้อยเพื่อรักษาสิ่งที่มีค่ามาก 
เหมือนสละกระเบื้อง เพื่อรักษาซึ่งแก้วมณีเถิดพระเจ้าข้าฯ”

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า
“อย่าเลยอานนท์ บารมีเราได้สร้างมาดีแล้ว 
ไม่มีใครสามารถปลงชีวิตของตถาคตได้ 
ไม่ว่าสัตว์ดิรัจฉานหรือมนุษย์หรือเทวดามารพรหมใด ๆ”

ในขณะนั้นช้างนาฬาคิรีวิ่งมาจนจะถึงพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว 
พระองค์จึงได้แผ่พระเมตตาจากพระหฤทัย 
ซึ่งไปกระทบกับใจอันคลุกอยู่ด้วยความมึนเมาของช้างนาฬาคิรีได้ 
ช้างใหญ่หยุดชะงัก ใจสงบลงและหมอบลงแทบพระบาท 
พระพุทธองค์ทรงใช้พระหัตถ์ลูบที่ศีรษะพญาช้าง พร้อมกับตรัสว่า

“นาฬาคิรีเอ๋ย เธอกำเนิดเป็นดิรัจฉานในชาตินี้ 
เพราะกรรมอันไม่ดีของเธอในชาติก่อนแต่งให้ 
เธออย่าประกอบกรรมหนัก คือทำร้ายพระพุทธเจ้าเช่นเราอีกเลย 
เพราะจะมีผลเป็นทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน”

ช้างนาฬาคิรีน้ำตาไหลพราก น้อมรับฟังพระพุทธดำรัสด้วยอาการดุษฎี 
(ในคัมภีร์อนาคตวงศ์กล่าวว่า ในอนาคตกาลนับจากพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้าไป 
จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้อีกหลายพระองค์ 
และช้างนาฬาคิรี จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระติสสพุทธเจ้า)



พระอานนท์เป็นผู้ออกแบบจีวรสงฆ์


เกียรติคุณอีกอย่างหนึ่งที่ท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ คือ 
มีฝีมือทางช่าง สาเหตุที่ทรงชมเชย มีว่าครั้งหนึ่ง 
พระพุทธองค์เสด็จจากนครราชคฤห์ไปสู่ทักษิณาคิรีชนบท 
ได้ทอดพระเนตรเห็นคันนาของชาวมคธเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคันนาสั้น ๆ คั่นในระหว่าง 
แล้วตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า จะเย็บจีวรอย่างนั้นได้ไหม? 
ท่านทูลรับว่า เย็บได้ 
และต่อมาท่านเย็บจีวรให้พระหลายรูปแล้วนำไปถวายให้ทอดพระเนตร 
พระพุทธองค์ทอดพระเนตรแล้วตรัสชมเชยในท่ามกลางสงฆ์ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด เป็นเจ้าปัญญา 
ซาบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำ ที่เรากล่าวโดยย่อให้พิสดารได้ 
ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าอัฑฒกุสิ ผ้ามณฑล ผ้าอัฑฒมณฑล ผ้าวิวัฏฏะ
ผ้าอนุวิวัฏฏะ ผ้าคีเวยยกะ ผ้าชังเฆยยกะ และผ้าพาหันตะก็ได้"

พระอานนท์ผู้ประหยัด


นอกจากนี้พระอานนท์เป็นผู้ที่ประหยัดและฉลาดในเรื่องนี้มาก 
ดังเหตุการณ์ที่พระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งนครโกสัมพี 
เสื่อมใสในการแสดงธรรมของพระอานนท์ 
จึงได้ถวายจีวรจำนวน 500 ผืน แด่พระอานนท์ 
เมื่อพระเจ้าอุเทนทราบจึงตำหนิพระอานนท์ว่ารับจีวรไปจำนวนมาก 
เมื่อได้โอกาสจึงนมัสการถามว่าเอาจีวรไปทำอะไร

“พระคุณเจ้า ทราบว่าพระมเหสีถวายจีวรพระคุณเจ้า 500 ผืน พระคุณเจ้ารับไว้ทั้งหมดหรือ”
“ขอถวายพระพร อาตมาภาพรับไว้ทั้งหมด”
“พระคุณเจ้ารับไว้ทำไมมากมายนัก”
“เพื่อแบ่งถวายแก่พระภิกษุผู้มีจีวรเก่าคร่ำคร่า”
“จะเอาจีวรเก่าคร่ำคร่าไปทำอะไร”
“เอาไปทำผ้าปูที่นอน”
“จะเอาผ้าปูที่นอนเก่าไปทำอะไร”
“เอาไปทำผ้าปูพื้น”
“จะเอาผ้าปูพื้นเก่าไปทำอะไร”
“เอาไปทำผ้าเช็ดเท้า”
“จะเอาผ้าเช็ดเท้าเก่าไปทำอะไร”
“เอาไปโขลกขยำกับโคลนแล้วฉาบทาฝา”

พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสว่าพระสมณบุตรเป็นผู้ประหยัด 
จึงถวายผ้าจีวรอีก 500 ผืนแด่พระอานนท์

พระอานนท์ผู้เป็นปฐมเหตุให้เกิดภิกษุณี


ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าสุทโทนมหาราช 
ผู้เป็นพระพุทธบิดาได้สิ้นพระชนม์แล้ว 
พระนางมหาปชาบดี ผู้เป็นพระอัครมเหสี 
และพระมาตุจฉาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้มีศรัทธาปสาทะ ที่จะออกบวชเป็นภิกษุณี
จึงเสด็จพร้อมด้วยเหล่าศากยกุมารีหลายพระองค์ 
ได้ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า 
เพื่อทูลขอออกบวช แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามเสีย 
แม้พระนางเจ้าจะได้กราบทูลขอถึง 3 ครั้ง 
แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงประทานพระพุทธานุญาต 
ทำให้พระนางเสียพระทัยมาก จึงกรรแสงอยู่หน้าประตูป่ามหาวัน 
เมื่อพระอานนท์ทราบเข้า 
จึงมีมหากรุณาจิตคิดจะช่วยเหลือพระนางให้สำเร็จดังประสงค์ 
จึงได้ไปกราบทูลขอสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ ทำให้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานพระพุทธานุญาต 
โดยมีเงื่อนไขว่าสตรีนั้นจะต้องรับครุธรรม 8 ประการ ก่อน ถึงจะอุปสมบทได้ 
เสร็จแล้วสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงครุธรรม 8 ประการแก่พระอานนท์ 
และพระอานนท์ก็จำครุธรรม 8 ประการนั้นไปเฝ้าพระนางมหาปชาบดี 
ซึ่งพระนางก็ทรงยอมรับครุธรรมนั้น และได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีรูปแรกของพระพุทธศาสนา

พระอานนท์บรรลุอรหัตผล


ภายหลังจากพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว 
พระมหากัสสปเถระเจ้า ได้ดำริจะให้มีการทำปฐมสังคายนาพระธรรมวินัย 
พระมหาเถระได้รับอนุมัติจากสงฆ์ให้เลือกพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระธรรมวินัย จำนวน 500 รูป 
เพื่อทำปฐมสังคายนา ท่านพระมหากัสสปเถระเลือกได้ 499 รูปอีกรูปหนึ่งท่านไม่ยอมเลือก 
ความจริงท่านต้องการจะเลือกเอาท่านพระอานนท์ 
แต่ขณะนั้นท่านพระอานนท์ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ 
ครั้นจะเลือกท่านพระอานนท์ก็เกรงจะถูกครหาว่า "เห็นแก่หน้า" 
เพราะท่านรักพระอานนท์มาก 
แต่ครั้นจะเลือกภิกษุอื่น ไม่เลือกท่านพระอานนท์ 
ก็เกรงว่าการทำสังคายนาครั้งนี้จักไม่สำเร็จผลด้วยดี 
เพราะท่านพระอานนท์ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นพหุสูตเป็นธรรมภัณฑาคาริก 
จึงได้ระบุชื่อพระเถระอื่น ๆ 499 รูป แล้วนิ่งเสีย 
ต่อพระสงฆ์ลงมติว่าท่านพระอานนท์ควรจะเข้าร่วมทำสังคายนาครั้งนี้ด้วย ท่านจึงได้รับเข้าเป็นคณะสงฆ์ผู้จะทำสังคายนา ครบจำนวน 500 รูป
เมื่อได้รับคัดเลือกแล้ว ท่านได้เดินทางจากนครกุสินารากลับไปยังนครสาวัตถีอีก 
ในระหว่างทางท่านได้แสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนจำนวนมากที่เศร้าโศกเสียใจ 
เพราะการปรินิพพานของพระพุทธองค์ เมื่อถึงพระเชตวันมหาวิหาร 
ท่านก็ได้ปฏิบัติปัดกวาดพระคันธกุฏีเสมือนเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ 
นอกจากปฏิบัติพระคันธกุฏีแล้ว ท่านได้ใช้เวลาส่วนมากให้หมดไปด้วยการยืนและนั่ง 
ไม่ค่อยจะได้จำวัด ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ท่านไม่สบาย 
ต้องฉันยาระบายเพื่อให้กายเบา 
ครั้นให้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดในพระเชตวันสำเร็จแล้ว 
พอใกล้วันเข้าพรรษาจึงได้ออกเดินทางไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อร่วมทำสังคายนา 
เมื่อถึงแล้ว ท่านได้ทำความเพียรอย่างหนักเพื่อให้สำเร็จอรหัตต์ก่อนการทำสังคายนา
แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพื่อน ๆ ได้ตักเตือนท่านว่า 
ในวันรุ่งขึ้นท่านจะต้องเข้าไปนั่งในสังฆสันนิบาตแล้ว 
ท่านเองเป็นพระเสขบุคคลอยู่ ขอให้ทำความเพียร อย่าประมาท 
ในคืนนั้น ท่านได้เดินจงกรม กำหนดกายคตาสติ จนจวบปัจจุสมัยใกล้รุ่ง 
จึงลงจากที่จงกรม หมายใจจะหยุดนอนพักผ่อนในวิหารสักครู่ก่อน 
แต่พอเอนกายลงนอน ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้าทั้งสองยังไม่พ้นจากพื้น 
ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ครั้นถึงเวลาประชุมทำสังคายนา พระมหาเถระรูปอื่น ๆ ก็พากันไปยังธรรมสภา ณ 
ถ้ำสัตตบรรณคูหากันอย่างพร้อมเพรียง 
และต่างรูปต่างก็นั่งอยู่ ณอาสนะแห่งตน ๆ 
แต่อาสนะของท่านพระอานนท์ยังว่างอยู่ 
เพราะท่านพระอานนท์คิดใคร่จะประกาศให้พระมหาเถระทั้งหลายได้ทราบว่า 
ท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว 
จึงไม่ได้ไปพร้อมกับพระเถระอื่น ๆ เมื่อกำหนดกาลเวลาพอเหมาะแล้ว 
ท่านจึงแทรกดินลงไป และผุดขึ้น ณ อาสนะแห่งตน 
แต่บางท่านกล่าวว่า ท่านเหาะไปทางอากาศตกลงบนอาสนะของท่าน



พระอานนท์ผู้อ่อนน้อมถ่อมตน


ก่อนการสังคายนาพระธรรมวินัยจะเริ่ม 
พระมหากัสสปเถระตั้งตั้งปัญหาหลายประการ แก่พระอานนท์ อาทิ 
การใช้เท้าหนีบผ้าของพระศาสดาในขณะปะหรือชุนผ้า 
การไม่อาราธนาให้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่ 
แม้จะได้ทรงแสดงนิมิตโอภาสหลายครั้ง ก่อนที่พระองค์จะปลงสังขาร 
การเป็นผู้ขวนขวายให้สตรีเข้ามาบวชในพุทธศาสนา 
การไม่กราบทูลถามเรื่องสิกขาบทเล็กน้อย 
ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสให้สงฆ์ถอนได้ว่าคือสิกขาบทอะไรบ้าง 
และการจัดสตรีให้เข้าไปถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อนบุรุษภายหลังปรินิพพาน 
ทำให้น้ำตาของสตรีเหล่านั้นเปื้อนพระพุทธสรีระ 
ถึงแม้พระอานนท์เถระจะอ้างเหตุผลมากล่าวแก่ที่ประชุมสงฆ์ 
แต่เมื่อที่ประชุมสงฆ์เห็นว่าเป็นอาบัติ ท่านก็แสดงอาบัติต่อสงฆ์ 
หรือแสดงการยอมรับผิด
การแสดงอาบัติของพระอานนท์นั้น
เป็นกุศโลบายของพระมหากัสสปเถระที่ต้องการจะวาง 
ระเบียบวิธีการปกครองคณะสงฆ์ให้ที่ประชุมเห็นว่า 
อำนาจของสงฆ์นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด
คำพิพากษาวินิจฉัยของสงฆ์ถือเป็นคำเด็ดขาด 
แม้จะเห็นว่าตนไม่ผิด แต่เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิด ผู้นั้นก็ต้องยอม 
เป็นตัวอย่างที่ภิกษุสงฆ์รุ่นหลังจะได้ยอมทำตาม
นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมเกียรติคุณของพระอานนท์เถระ 
ให้เป็นตัวอย่างของผู้ว่าง่าย เคารพยำเกรงผู้ใหญ่ เป็นปฏิปทาที่ใครๆ 
พากันอ้างถึงด้วยความนิยมชมชอบในการต่อมา

พระอานนท์ปรินิพพาน


ภายหลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว 
พระอานนท์ได้เที่ยวจาริกสั่งสอนเวไนยสัตว์แทนองค์พระศาสดา 
จนชนมายุของท่านล่วงเข้า 120 ปี 
ท่านจึงได้พิจารณาอายุสังขารของท่านพบว่า 
อายุสังขารของท่านนั้นยังอีก 7 วันก็จะสูญสิ้นเข้าสู่พระนิพพาน 
ท่านจึงพิจารณาว่าท่านจะเข้านิพพาน ณ ที่ใด 
ก็เห็นว่าท่านจะเข้านิพพานที่ปลายแม่น้ำโรหิณี 
ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์ กับเมืองโกลิยะ 
ซึ่งมีพระประยูรญาติอยู่ทั้ง 2 ฝ่าย 
จากนั้นท่านจึงได้ลาภิกษุสงฆ์ และชนทั้งหลาย จนครบ 7 วันแล้ว 
ท่านจึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์นานาประการ 
แล้วตั้งจิตอธิษฐานให้กายของท่านแตกออกเป็น 2 ภาค 
ภาคหนึ่งให้ตกที่ฝั่งกรุงกบิลพัสดุ์ 
อีกภาคหนึ่งตกที่โกลิย 
แล้วท่านได้เจริญเตโชกสิณ 
ทำให้เปลวเพลิงบังเกิดในร่างกาย 
เผาผลาญมังสะและโลหิตให้สูญสิ้น 
ยังเหลือแต่พระอัฐิธาตุสีขาวดังสีเงิน 
พระอัฐิธาตุที่เหลือจึงแตกออกป็น 2 ภาค 
ด้วยกำลังอธิษฐานของท่าน 
บรรดาพระประยูรญาติและชนที่มาชุมนุมกัน ณ ที่นั้นต่างก็รองรับพระธาตุไว้ 
แล้วสร้างพระเจดีย์บรรจุไว้ทั้ง 2 ฟากของแม่น้ำโรหิณี 
หมายเหตุ ในประเทศไทยมีเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระอานนท์แห่งเดียวในประเทศไทยที่ 
วัดมหาธาตุ(พระอารามหลวง)ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร

พระมหากัจจายนะ


พระมหากัจจายนะ (บาลี: มหากจฺจายน, สันสกฤต: มหากาตฺยายน)
เป็นพระอรหันต์ 1 ใน 80 พระอสีติมหาสาวกในศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้า 
ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร

พระมหากัจจายนมีอีกชื่อหนึ่งว่า กัจจานะ (หรือกัจจายนะ) ในญี่ปุ่นรู้จักทั่วไปในชื่อ 
"คะเซ็นเน็น" (Kasennen) ส่วนในประเทศไทยนอกจากชื่อตามภาษาบาลีแล้ว 
ยังเป็นที่รู้จักในชื่อ "พระสังกัจจายน์" หรือ "พระสังกระจาย"

พระมหากัจจายนะเกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่งในกรุงอุชเชนี 
ได้รับการศึกษาในทางไตรเพทเวทมนตร์ตามอย่างตระกูลพราหมณ์ทั้งหลาย 
ท่านเป็นศิษย์ของอสิตดาบสแห่งเขาวินธัย 
(ผู้ทำนายว่าเจ้าชายสิทธิตถะจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือพระพุทธเจ้าในอนาคต) 
พระมหากัจจายนะพร้อมด้วยมิตรอีก 7 คนได้อาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมเทศนา 
และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในระหว่างฟังธรรมนั้นเอง 
หลังจากนั้นท่านจึงทูลขออุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า 
และได้เผยแผ่ศาสนาพุทธอยู่ในแคว้นอวันตีจนมีผู้เข้ามาเป็นสาวกในพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก

โปรดธิดาเศรษฐีผู้มีผมงาม


ในนิคมนั้น มีธิดาเศรษฐี ๒ คน คนหนึ่งเกิดในตระกูลเก่าแก่เข็ญใจ 
เมื่อมารดาบิดาสิ้นชีพไปแล้ว ก็อาศัยเป็นนางนมเลี้ยงชีพ 
แต่รูปร่างของเธอนั้นบึกบึน ผมยาวเกินคนอื่น ๆ ในนิคมนั้น

และยังมีธิดาของตระกูลอิศรเศรษฐีอีกคนหนึ่ง เป็นคนไม่มีผม 
เมื่อก่อนนั้นมาแม้นางธิดาผู้นี้จะขอซื้อผมจากนางผมดกในราคา ๑๐๐ กหาปณะ 
หรือ ๑,๐๐๐ กหาปณะแก่เธอ ก็ไม่สำเร็จ

ในวันนั้น ธิดาเศรษฐีผู้มีผมดกนั้นเห็นพระมหากัจจายนเถระมีภิกษุ ๗ รูปเป็นบริวาร 
เดินมามีบาตรเปล่า คิดว่าภิกษุผู้เป็นเผ่าพันธุ์พราหมณ์รูปหนึ่ง 
มีผิวดังทองรูปนี้เดินไปบาตรเปล่าทรัพย์อย่างอื่นของเราก็ไม่มี 
แต่ว่าธิดาเศรษฐีผู้ไม่มีผมบ้านโน้นเคยส่งคนมาเพื่อต้องการซื้อผมจากเรา 
ตอนนี้เราอาจถวายไทยธรรมแก่พระเถระได้ด้วยทรัพย์ที่เกิดจากที่ได้ค่าผมนี้

เมื่อคิดดังนั้นแล้วจึงส่งสาวใช้ ไปนิมนต์พระเถระทั้งหลายให้นั่งภายในเรือนของตน 
พอพระเถระนั่งแล้ว นางก็เข้าห้องตัดผมของตน แล้วกล่าวแก่สาวใช้ว่า 
เจ้าจงเอาผมเหล่านี้ให้แก่ธิดาเศรษฐีบ้านโน้น 
แล้วเอาของที่นางให้มา 
เราจะถวายบิณฑบาตแก่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย 
สาวใช้ ถือผมนั้นไปยังสำนักของธิดาเศรษฐี.

ธรรมดาขึ้นชื่อว่าของที่จะขายนั้น จะมีราคาก็ต่อเมื่อผู้ซื้อต้องการขอซื้อ 
ธิดาเศรษฐีผู้ไม่มีผมคิดว่า เมื่อก่อนเราขอซื้อด้วยทรัพย์เป็นอันมาก 
แต่นางก็ไม่ยอมขาย แต่บัดนี้ เมื่อนางมาเสนอขายเอง ก็ไม่ได้ตามราคาเดิม 
จึงให้ไป ๘ กหาปณะเท่านั้น สาวใช้นำกหาปณะไปมอบให้แก่ธิดาเศรษฐีผู้มีผมมาก

ธิดาเศรษฐีก็จัดบิณฑบาต ๘ ที่ ให้มีค่าที่ละหนึ่งกหาปณะ ถวายแด่พระเถระทั้งหลาย

พระเถระเล็งดูด้วยฌานแล้ว เห็นอุปนิสัยของธิดาเศรษฐี จึงถามว่าธิดาเศรษฐีไปไหน

สาวใช้ตอบว่า อยู่ในห้องเจ้าค่ะ

พระเถระว่า จงไปเรียกนางมาซิ

ธิดาเศรษฐีก็มาด้วยความเคารพในพระเถระ 
ไหว้พระเถระแล้วเกิดศรัทธาอย่างแรง 
อันว่าทานอันบริสุทธิ์นั้นย่อมให้ผลในปัจจุบันชาติทีเดียว 
เพราะฉะนั้น พร้อมกับการไหว้พระเถระ ผมของนางจึงเกิดขึ้นดังเดิม

โปรดพระเจ้าจันฑปัชโชต


ฝ่ายพระเถระทั้งหลายจึงถือเอาบิณฑบาตนั้นเหาะขึ้นไปต่อหน้าธิดาเศรษฐี 
และเหาะลงยังพระราชอุทยานของพระเจ้าจันฑปัชโชต ชื่ออุทธยานกัญจนะ 
คนเฝ้าพระราชอุทยานเห็นพระเถระนั้น จึงไปเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า

ข้าแต่สมมติเทพ พระคุณเจ้ากัจจายะปุโรหิตของเราบวชแล้ว 
และกลับมายังอุทยานแล้วพระเจ้าข้า

พระเจ้าจันฑปัชโชตจึงเสด็จไปยังอุทยาน 
ไหว้พระเถระผู้กระทำภัตกิจแล้วด้วยเบญจางคประดิษฐ์ 
แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ตรัสถามว่า 
ท่านเจ้าข้าพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนล่ะ

พระเถระทูลว่า พระองค์มิได้เสด็จมาเอง ทรงส่งอาตมะมา มหาบพิตร

พระราชาตรัสถามว่าท่านผู้เจริญ วันนี้พระคุณเจ้าได้ภิกษา ณ ที่ไหน

พระเถระทูลบอกเรื่องที่ธิดาเศรษฐีกระทำทุกอย่างให้พระราชาทรงทราบ 
ตามถ้อยคำควรแก่ที่ตรัสถาม พระราชาตรัสสั่งให้จัดแจงที่อยู่แก่พระเถระ 
แล้วนิมนต์พระเถระไปยังนิเวศน์ แล้วรับสั่งให้ไปนำธิดาเศรษฐีมาตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสีแล้ว

พระราชาทรงกระทำสักการะใหญ่แต่พระมหากัจจายนเถระ 
มหาชนเลื่อมใสในธรรมกถาของพระเถระ บวชในสำนักของพระเถระ ตั้งแต่นั้น 
ทั่วพระนครก็รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัตรเป็นอันเดียวกัน คลาคล่ำ ไปด้วยหมู่ภิกษุ 
ฝ่ายพระเทวีนั้นทรงเลื่อมใสในพระมหากัจจายนเถระอย่างยิ่ง 
ขอพระราชานุญาตสร้างวิหารถวายพระเถระในกัญจนราชอุทยาน 
พระเถระยังชาวอุชเชนีให้เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาแล้ว 
จึงกลับไปเฝ้าพระศาสดาอีกครั้งหนึ่ง 
ต่อมาภายหลังพระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร 
ทรงกระทำพระสูตร ๓ สูตร เหล่านี้คือ 
มธุบิณฑิกสูตร, กัจจายนเปยยาลสูตร, ปรายนสูตร 
ให้เป็นอรรถุปบัติเหตุ 
แล้วทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุ 
ผู้จำแนกอรรถแห่งพระดำรัสที่ทรงตรัสโดยย่อให้พิสดารแล้ว


ปรับพุทธบัญญัติบางข้อสำหรับจังหวัดอวันตีทักขิณาบถ


สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะ พักอาศัยอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ 
แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท
มีชายผู้หนึ่งชื่อ โสณะอุบาสกได้ฟังธรรมในสำนักของท่านพระมหากัจจายนะ 
ก็บังเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา มีจิตตั้งอยู่ในสรณะและศีล 
จึงได้สร้างวิหารในที่อันสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ ใกล้ปวัตตบรรพต 
แล้วนิมนต์พระเถระให้อยู่ในวิหารนั้น 
โสณะอุบาสกได้อุปัฏฐากท่านพระมหากัจจายนะด้วยปัจจัยทั้ง ๔.
ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โสณะอุบาสกเป็นอุปัฏฐากของท่านมหากัจจานะ

ครั้งหนึ่งโสณะอุบาสกได้เดินทางไปยังเมืองอุชเชนีกับหมู่เกวียนเพื่อต้องการค้าขาย 
ครั้นค่ำลงในระหว่างทางหมู่เกวียนได้หยุดกองเกวียนไว้ในดงเพื่อพักผ่อน 
โสณะอุบาสกเพื่อหลีกการพักอย่างแออัดจึงหลีกไปนอนที่ท้ายหมู่เกวียน 
ครั้นใกล้รุ่ง หมู่เกวียนก็เคลื่อนออกเดินทางต่อไปโดยไม่มีใครปลุกโสณะอุบาสก

ครั้นเมื่อตื่นขึ้น โสณะอุบาสกไม่เห็นใครเลยก็ออกเดินไปตามทางเกวียนไปเรื่อย ๆ 
จนกระทั่งเหนื่อยจึงได้เข้าพักยังต้นไทร ระหว่างทาง
ณ ที่นั้นเขาได้พบเปรตตนหนึ่งยืนกินเนื้อของตนเองที่หล่นจากกระดูก 
โสณะอุบาสกจึงได้ถามถึงกรรมของเปรตที่ทำมาในอดีต

เปรตนั้นก็เล่าว่า เมื่อชาติก่อนตนเป็นพ่อค้าอยู่ในเมืองภารุกัจฉนคร 
ได้หลอกลวงเอาของ ของคนอื่นมาเคี้ยวกิน 
เมื่อมีสมณะเข้าไปบิณฑบาต ตนก็ด่าว่า 
จงเคี้ยวกินเนื้อของพวกมึงซิ เพราะกรรมนั้นจึงต้องเสวยทุกข์เช่นนี้

โสณะอุบาสกได้ฟังดังนั้นกลับได้ความสลดใจอย่างเหลือล้น 
และได้เดินทางต่อไป ก็ได้พบพวกเปรตเล็ก ๒ ตน
มีโลหิตดำไหลออกจากปาก จึงถามถึงบุรพกรรมของเปรตนั้นเช่นเดียวกัน 
ฝ่ายเปรตเหล่านั้น ก็ได้เล่ากรรมของตน แก่โสณะอบาสกนั้น ความว่า

ในอดีตชาติ ในเวลาที่ยังเป็นเด็ก เปรตเหล่านั้นเลี้ยงชีพด้วยการค้าขายสิ่งของ
ในภารุกัจฉนคร เมื่อมารดาของตนนิมนต์พระขีณาสพทั้งหลายให้มาฉัน
จึงไปยังเรือนแล้ว ด่าว่า ทำไม แม่จึงให้สิ่งของของพวกเรากับพวกสมณะ 
ขอให้โลหิตดำจงไหลออกจากปากของพวกสมณะ ผู้บริโภคโภชนะที่แม่ให้แล้วเถิด 
เพราะกรรมนั้น เด็กเหล่านั้น จึงไปเกิดในนรก หมดกรรมจากนรกแล้ว 
ก็มาเกิดเป็นเปรต ด้วยเศษแห่งวิบากของกรรมนั้น

โสณะอุบาสก ได้ฟังดังนั้นก็เกิดความสลดใจอย่างเหลือล้น 
ครั้นเมื่อเขากลับไปยังกรุงอุชเชนี จึงได้ขอบรรพชาต่อพระมหากัจจายนเถระ 
ท่านพระมหาเถระพิจารณาแล้วเห็นว่า 
ญาณของโสณะอุบาสกยังไม่แก่กล้าพอต่อเพศบรรพชิต 
จึงได้ยับยั้งไว้ถึงสองครั้ง

ในวาระที่สาม พระเถระพิจารณาเห็นว่าโสณะอุบาสกมีญาณแก่กล้าเพียงพอแล้ว 
จึงยินยอมให้บรรพชา 
แต่ว่าในสมัยนั้นการบรรพชาโดยพระสาวกต้องกระทำด้วยองค์ทสวรรค 
คือต้องหาพระสงฆ์ให้ครบ ๑๐ รูป 
สมัยนั้น อวันตีชนบทอันตั้งอยู่แถบใต้ 
มีภิกษุน้อยรูป ท่านพระมหากัจจายนเถระกว่าจะจัดหาพระภิกษุสงฆ์ 
ให้ครบองค์ประชุมทสวรรคได้ก็ต่อล่วงไปถึง ๓ ปี 
จึงอุปสมบทให้ท่านพระโสณะได้

ครั้นเมื่อบวชแล้วได้ระยะหนึ่ง 
พระโสณะเถระปรารถนาจะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า 
จึงได้ขออนุญาตต่อพระอุปัชฌาย์คือพระมหากัจจายนเถระ 
ท่านพระกัจจายนเถระก็อนุญาตพร้อมทั้งสั่งให้ไปกราบทูลขอพระบรมพุทธานุญาต 
ให้พระพุทธองค์ทรงแก้ไขพุทธบัญญัติ ๕ ข้อ 
ซึ่งไม่สะดวกแก่พระภิกษุผู้อยู่ในอวันตีชนบท คือ:-

  1. จังหวัดอวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อยรูป ขอได้โปรดทรงอนุญาตอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะสงฆ์เพียง ๕ รูปได้ ทั่วปัจจันตชนบท
  2. พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีดินสีดำมาก ดื่นดาดด้วยระแหง กีบโค ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้พระภิกษุสวมรองเท้าหลายชั้นได้ทั่วปัจจันตชนบท
  3. คนทั้งหลายในอวันตีทักขิณาบถ นิยมการอาบน้ำ ถือว่าน้ำทำให้บริสุทธิ์ ขอได้โปรดทรงอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ทั่วปัจจันตชนบท
  4. ในอวันตีทักขิณาบถ ใช้เครื่องลาดที่ทำด้วย หนังแกะ หนังแพะหนังกวาง เป็นปกติธรรมดาเหมือนกับที่ในมัชฌิมชนบท ใช้เครื่องลาดที่ทำด้วยหญ้าตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง เป็นปกติธรรมดาเช่นกัน ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้ภิกษุได้ใช้ หนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังกวาง ทั่วปัจจันตชนบท
  5. เมื่อมีผู้ฝากถวายจีวรให้กับหมู่ภิกษุผู้อยู่นอกสีมาด้วยคำว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากก็มาบอกแก่ภิกษุชื่อนั้น ๆ ว่า มีคนที่มีชื่ออย่างนี้ ฝากจีวรให้มาถวายแก่ท่าน พวกภิกษุผู้ได้รับคำบอกเล่าเมื่อทราบดังนั้น ก็รังเกียจไม่ยินดีรับจีวรที่มีผู้ฝากมาถวาย โดยคิดว่าจีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้ภิกษุนั้นรับจีวรที่มีผู้ฝากภิกษุอื่นมาถวายได้ โดยให้ถือว่าจีวรนั่นยังไม่ควรนับราตรี ตราบเท่าที่ยังไม่ถึงมือภิกษุผู้ที่เขาเจาะจงถวาย

พระบรมศาสดาทรงอนุญาตตามที่ พระมหากัจจายนเถระกราบทูลขอ

ต่อมาพระโสณะเถระท่านนี้ 
ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็น 
เอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวถ้อยคำอันไพเราะ



พระองคุลิมาลเถระ


องคุลิมาล หรือ พระองคุลิมาลเถระ 
เป็นบุคคลสำคัญในยุคต้นแห่งพุทธศาสนา 
โดยเฉพาะตามพุทธประวัติพุทธฝ่ายเถรวาท 

คำว่า องคุลิมาล นั้นมาจากคำว่า องคุลี (นิ้วมือ) + มาล (สร้อยคอ สาย หรือแถว) 
แปลว่า สร้อยคอที่ทำจากนิ้วมือ


ท่านพระองคุลิมาล
เป็นบุตรของพราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล 
ในพระนครสาวัตถี 
มารดาชื่อว่า นางมันตานีพราหมณี 
เมื่อท่านคลอดจากครรภ์มารดา ได้บังเกิดเหตุอัศจรรย์ คือ 
บรรดาเครื่องศาสตราอาวุธยุทธภัณฑ์อันมีอยู่ในเรือนนั้นก็ดี 
เครื่องพระแสงศาสตราวุธของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ดี 
ได้บังเกิดเป็นเปลวไฟรุ่งโรจน์โชตนาการ 
ฝ่ายปุโรหิตาจารย์ผู้เป็นบิดา เมื่อเห็นเหตุนั้นจึงออกจากเรือนเล็งแลดูฤกษ์บน 
(ฤกษ์ที่พระจันทร์เสวยประจำวันมี ๒๗ ฤกษ์) 
ฤกษ์นั้นก็ปรากฏในอากาศประหลาดใจยิ่งนัก 
ด้วยว่าบุตรนั้นจะเกิดเป็นโจร 
ครั้นรุ่งเช้าจึงเข้าไปสู่ที่เฝ้า 
กราบทูลเนื้อความนั้นให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบ 
และในที่สุดได้กราบทูลให้พระองค์ประหารชีวิตเด็กเสีย 
แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลหาทรงทำไม่ 
ทรงรับสั่งให้บำรุงเลี้ยงรักษาไว้ 
ปุโรหิตาจารย์ก็อภิบาลบำรุงรักษากุมารนั้นไว้ 
และให้นามว่า "อหิงสกกุมาร" แปลว่า กุมารผู้ไม่เบียดเบียน

เมื่ออหิงสกกุมารเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาจึงส่งไปสู่พระนครตักกสิลา 
เพื่อจะให้ศึกษาเล่าเรียนวิชา และศิลปศาสตร์ 
เมื่ออหิงกกุมารไปถึงพระนครตักกสิลาแล้ว
ก็เข้าไปหาอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ขอศึกษาศิลปวิทยา 
อุตส่าห์กระทำวัตรปรนนิบัติอาจารย์เป็นอันดี 
และมีปัญญาเล่าเรียนได้ว่องไว 
แม้จะเล่าเรียนศิลปศาสตร์วิชาการ ใด ๆ ก็รู้จบสิ้นทุกประการ 
เชี่ยวชาญยิ่งกว่าศิษย์ทั้งปวง 
จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ 
ฝ่ายศิษย์อื่น ๆ อันเป็นเพื่อนเล่าเรียนด้วยกันนั้น ก็บังเกิดความริษยา 
จึงปรึกษากันเพื่อหาอุบายทำลายเจ้าอหิงสกกุมารเสีย 
เมื่อเป็นที่ตกลงกันแล้วได้ไปยุยงอาจารย์ถึงสองครั้งสามครั้ง 
ในที่สุดอาจารย์ก็ปลงใจเชื่อ คิดหาอุบายที่จะกำจัดอหิงสกกุมาร 
เมื่อเห็นอุบายเป็นที่แยบคายแล้ว จึงพูดกับอหิงสกกุมารว่า
"ดูก่อนมาณพ เจ้าจงไปฆ่าคนแล้วตัดเอานิ้วมาให้ได้พันนิ้วแล้วจงนำมา 
เราจะประกอบศิลปศาสตร์อันชื่อว่า วิษณุมนต์ให้แก่เธอ"

ในขั้นต้น อหิงสกกุมารมีความรังเกียจ ไม่พอใจ 
เพราะตนเกิดในตระกูลพราหมณ์ ไม่ควรเบียดเบียนฆ่าสัตว์ 
เป็นการผิดประเพณีวงศ์ตระกูลมารดาบิดา 
แต่ด้วยอาศัยความอยากสำเร็จศิลปศาสตร์อันมีชื่อว่า วิษณุมนต์ 
จึงได้ฝืนใจทำเริ่มจับอาวุธ ผูกพันให้มั่นกับตัวแล้ว ก็ลาอาจารย์เข้าสู่ราวป่า 
เที่ยวพิฆาตฆ่ามนุษย์อันเดินไปมาในสถานที่นั้น ๆ 
ครั้นฆ่าแล้วมิได้กำหนดนับเป็นจำนวนไว้ ก็บังเกิดลบเลือนสงสัย 
ตั้งแต่นั้นมาเมื่อฆ่าคนตายแล้วก็ตัดเอานิ้วร้อยเป็นพวงไว้ดุจพวงมาลานับได้ ๙๙๙ นิ้ว 
เพราะเหตุนั้นจึงมีนามปรากฏว่า "องคุลิมาลโจร" แปลว่า โจรผู้มีนิ้วมือเป็นพวงมาลา 
ข่าวคราวเรื่องนี้ก็ระบือกระฉ่อนไปตามนิคมชนบทต่าง ๆ 
มหาชนมีความสะดุ้งตกใจกลัวจึงพร้อมกันไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล 
เพื่อกราบทูลให้พระองค์กำจัดเสีย 
เมื่อพระองค์ทรงทราบแล้วจึงสั่งให้ตระเตรียมกำลังพล
เพื่อจะไปจับองคุลิมาลโจรฆ่าเสีย 
ปุโรหิตาจารย์ผู้เป็นบิดาทราบว่า อันตรายจะมีแก่บุตร 
จึงปรึกษากับนางพราหมณี 
ให้นางพราหมณีรีบออกไปก่อนเพื่อบอกเหตุนั้นให้บุตรทราบ

ในกาลครั้งนั้น 
สมเด็จพระบรมศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตตผลขององคุลิมาลโจรว่า 
ถ้าพระองค์ไม่ทรงเป็นพระภาระก็จะกระทำมาตุฆาต (ฆ่ามารดา) เสีย
จักเป็นเหตุเสื่อมจากมรรคผล จึงรีบเสด็จไปแต่เช้าตรู่ 
เมื่อพบเข้าแล้ว องคุลิมาลโจรก็ตรงเข้าไล่ทันที 
หมายจะพิฆาตฆ่าเอานิ้วพระหัตถ์ 
แม้ไล่เท่าไรก็ไม่ทันจนเกิดกายเหนื่อยเมื่อยล้าจึงร้องตะโกนให้พระบรมศาสดา 
หยุดพระองค์จึงตรัสบอกว่าพระองค์ได้หยุดแล้ว 
แต่เขาก็ยังไล่ตามไม่ทันจึงหาว่าพระองค์ตรัสสมุสาวาท
พระองค์ก็ตรัสบอกว่า
เราหยุดจากการทำอกุศลอันให้ผลเป็นทุกข์มานานแล้ว ส่วนท่านยังไม่หยุด
พระสุรเสียงนั้นทำให้องคุลิมาลโจรรู้สึกสำนึก โทษของตน 
จึงเปลื้องเครื่องศัสตราวุธ และมาลัยนิ้วมือออกจากกายทิ้งไว้ในซอกภูเขา 
แล้วเข้าไปเฝ้าทูลขอบรรพชาอุปสมบท 
พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้อุปสมบท 
ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วทรงนำเข้าไปในพระเชตวันมหาวิหาร

ครั้นเวลารุ่งเช้าพระองคุลิมาลเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีชาวพระนครได้เห็นท่าน
เกิดความตกใจกลัว พากันวิ่งหนีเป็นอลหม่าน
โดยวิ่งเข้าไปในกำแพงพระราชวังปิดประตูพระนครเสีย 
และพูดจากันต่าง ๆ นานาบางคนพูดว่า 
ท่านพระองคุลิมาลปลอมเป็นสมณะเพื่อหลบหนีราชภัยบางคนพูดว่า 
เพื่อหวังจะประทุษร้ายคนภายในพระนคร 
ท่านเที่ยวบิณฑบาตไปถึงไหนก็มีเสียงโจษจันเซ็งแซ่ไปถึงนั่น 
ไม่มีใครถวายบิณฑบาตเลยแม้แต่เพียงทัพพีเดียว 
ภิกษุรูปใดไปกับท่านภิกษุรูปนั้นก็พลอยอดไปด้วย 
แต่ก็เป็นโชคของท่านอย่างหนึ่งที่ท่านทำน้ำมนต์ให้หญิงมีครรภ์คลอดง่ายที่สุด คือ 
ครั้งหนึ่ง ท่านทำน้ำมนต์ให้หญิงมีครรภ์คนหนึ่งหญิง
คนนั้นก็คลอดลูกง่ายเหมือนเทน้ำออกจากกระออม 
ตั้งแต่นั้นมาก็มีคนนิยมนับถือท่านจนกระทั่งว่า 
แท่นที่ท่านนั่งนั้นคนเอาน้ำไปรดแล้วใช้เป็นน้ำมนต์ 
ก็ให้ผลสมความประสงค์เช่นเดียวกัน คาถาที่ท่านทำน้ำมนต์นั้น ได้แก่ คาถาว่า

ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา 
เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส. 

แปลว่า "ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่ฉันเกิดมาแล้วโดยอริยชาติ 
ยังไม่รู้สึกตัวว่าได้แกล้งปลงชีวิตสัตว์เลยด้วยอำนาจสัจวาจานั้น 
ขอความสุขสวัสดี จงมีแก่หล่อน และครรภ์ของหล่อนเถิด"

ท่านพระองคุลิมาลนั้นเป็นผู้ไม่ประมาท ตั้งใจเจริญสมณธรรม 
แต่จิตฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธิได้ เพราะคนที่ท่านฆ่าประดุจดังว่ามาปรากฏอยู่ตรงหน้า 
พระบรมศาสดาทรงทราบจึงเสด็จมาแนะนำสั่งสอนไม่ให้ระลึกถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว 
และสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ให้พิจารณาธรรมที่บังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างเดียว 
ท่านประพฤติตามไม่ช้าก็สำเร็จอรหัตตผล 
เป็นพระอริยสาวกนับเข้าในจำนวนอสีติมหาสาวกองค์หนึ่ง 
เมื่อท่านดำรงอายุสังขารอยู่โดยสมควรแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน.

ท่านพระองคุลิมาล บางตำนานกล่าวว่า 
ท่านได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา ว่า 
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สามีบริโภค แต่ในเอตทัคคบาลีไม่ปรากฏว่าท่านได้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะ 
เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้กล่าวไว้เกรงว่าจะเกิน