วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

พุทธประวัติตอน ๑๓ โปรดพระนันทกุมาร สามเณรองค์แรกและ ๖ กษัตริย์ออกบวช


พระนันทกุมาร พุทธอนุชา





วันที่ ๔ พระบรมศาสดาเสด็จไปรับบิณฑบาตในนิเวศน์ของพระนันทราชกุมารผู้เป็นพุทธอนุชา 
ซึงประสูติแต่พระนางมหาปชาบดี โคตมี ในงานวิวาหมงคลของนันทกุมารเอง 
ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ก็ประทานบาตรให้นันทกุมารถือไว้ 
มีพระดำรัสตรัสมงคลคาถาแก่สมาคม เสร็จแล้วก็เสด็จลุกจากอาสน์ ลงจากนิเวศน์ 
แต่มิได้ทรงรับบาตรจากนันทกุมาร แม้นันทกุมารก็ไม่กล้าทูลเตือนใหทรงรับบาตรคืนไป 
คงทรงดำเนินตามเสด็จลงมา ด้วยดำริอยู่ว่า เมื่อเสด็จถึงพื้นล่างแล้ว คงทรงรับไป 
ครั้นพระศาสดาไม่ทรงรับคืนไป ก็ดำริอีกว่า ถึงหน้าพระลานคงจะทรงรับ หรือไม่ก็ถึงพระทวารวัง 
ก็คงจะทรงรับไป ครั้นสองแห่งไม่ทรงรับ 
นันทกุมารก็ต้องจำใจถือตามเสด็จต่อไปอีก ไม่อาจทูลเตือนได้ 
แล้วก็ดำริต่อไปใหม่ตามทางเสด็จว่า เมื่อถึงตรงนั้น ๆ แล้ว คงจะทรงรับบาตรคืนไป

ฝ่ายนางชนปทกัลยาณี ผู้เป็นเทวีคู่อภิเษก 
ได้ทราบจากนางสนมว่า พระชินสีห์พานันทกุมารไปเสียแล้ว ก็ตกพระทัย ทรงกรรแสง 
รีบแล่นตามมาโดยเร็ว แล้วร้องทูลว่า 
“ข้าแต่นันทะพระลูกเจ้า ขอพระองค์รีบทรงเสด็จกลับมาโดยด่วน” 
นันทกุมารได้สดับเสียงก็สดุ้งด้วยความอาลัย ใคร่จะกลับ แต่กลับไม่ได้ 
ด้วยเกรงพระทัยพระบรมศาสดา 
ต้องฝืนใจอุ้มบาตรตามพระบรมศาสดาไปจนถึงนิโครธมหาวิหาร



ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จถึงพระคันธกุฎีแล้วก็ทรงรับสั่งว่า 
“นันทกุมาร จงบรรพชาเสียเถิด”
นันทกุมารไม่อาจทูลขัดพระพุทธบัญชาได้ 
ด้วยความเคารพยิ่ง ก็จำใจทูลว่า “จะบวช” 
แล้วก็ทรงโปรดประทานอุปสมบทให้นันทกุมารในวันนั้น.

ราหุลกุมาร สามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา




ครั้นวันที่ ๗ พระนางพิมพาเทวีประดับองค์ราหุลกุมารด้วยอาภรณ์อันวิจิตร 
ให้ราชบุรุษพาเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา เพื่อทูลขอขุมทอง 
ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติอันราหุลกุมาร เป็นทายาทควรจะได้รับเป็นสมบัติสืบสันตติวงค์
พระศาสดาก็ทรงพาราหุลกุมารไปพระวิหาร 
แล้วโปรดให้พระสารีบุตรจัดการบรรพชาราหุลกุมารเป็นสามเณร



พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ ก็โทมนัสเสียพระทัย 
ด้วยเดิมนั้นทรงประสงค์จะให้นันทกุมาร พระโอรสองค์ที่ ๒ สืบราชสมบัติ 
พระบรมศาสดาก็ทรงพาไปอุปสมบทเสีย 
ท้าวเธอก็ทรงหวังว่า จะให้ราหุลกุมารซึ่งเป็นทายาท สืบราชสมบัติต่อไป 
ซึ่งเป็นความหวังครั้งสุดท้าย 
แต่แล้วพระบรมศาสดาก็ทรงพาราหุลกุมารไปให้บรรพชาเสียอีก 
จึงรีบเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังพระวิหาร 
แล้วทูลขอประทานพระพุทธานุญาตว่า

“แต่นี้ต่อไปเมื่อหน้า กุลบุตรผู้ใดแม้ประสงค์จะบวช 
หากมารดาบิดาไม่ยอมพร้อมใจอนุญาตให้บวชแล้ว 
ขอให้ทรงงดไว้ก่อน อย่าเพิ่งให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรผู้นั้น” 

พระบรมศาสดาก็ทรงประทานแก่พระพุทธบิดา แล้วถวายพระพรอำลา 
พาพระนันทและลาหุลสามเณร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริษัท 
เสด็จนิวัตตนาการกลับกรุงราคฤห์มหานคร.

ประวัติท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้ถวายวัดเชตวัน




ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐี ผู้อยู่ในเมืองสาวัตถี 
มาที่พระนครราชคฤห์ด้วยธุระกิจอย่างหนึ่ง 
พักอยู่ที่นิเวศน์ของท่านราคฤห์เศรษฐี ผู้เป็นน้องชายแห่งภริยาของท่าน 
ได้ถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน 
ได้สดับพระธรรมเทศนา บรรลุโสดาปัตติผล 
แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาให้เสด็จ ประกาศพระพุทธศาสนายังนครสาวัตถี 
พร้อมกับกราบทูลว่า จะจัดสร้างพระวิหารถวายให้เป็นสังฆาราม 
ครั้นพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาแล้ว ท่านอนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐีก็รีบล่วงหน้าไป 
บริจาคทรัพย์ซื้อที่ดิน อันเป็นอุทยานของพระราชกุมาร พระนามว่า “เชต” 
โดยวิธีให้คนขนเอาเงินมาลาดลงให้เต็มบนพื้นที่นั้นตามสัญญา สิ้นเงิน ๒๗ โกฏิ 
ทั้งพระราชกุมารเจ้าของที่ให้สัญญาขอให้จาลึกพระนามของพระองค์ว่า “ เชตวัน ” 
ติดไว้ที่ซุ้มประตูพระอาราม ซึ่งเป็นส่วนของพระองค์สร้างอีกด้วย

ท่านมหาเศรษฐีได้บริจาคทรัพย์สร้างพระคันธกุฎีและเสนาสนะอันควร แก่ สมณะวิสัย 
พร้อมหมดทุกอย่างด้วยอำนาจเงินอีก ๒๗ โกฎิ เมื่อพระเชตวันวิหารสำเร็จเรียบร้อยแล้ว 
ก็ทูลอัญเชิญพระบรมศาสดาเสด็จมาจำพรรษา 
สมเด็จพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสด็จมาสถิตยังพระมหาวิหารเชตวัน 
ในความอุปถัมภ์บำรุงของพุทธบริษัท มีท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี เป็นประมุข 
พระศาสดาและพระสงฆ์ ได้รับความสุขตามควรแก่วิสัย 
ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัททั้งหลายให้เลื่อมใส มั่นอยู่ในคุณพระรัตนตรัยเป็นอันมาก.

พระพุทธองค์สอนพระนันทะ




ครั้งนั้น พระนันทะ พุทธอนุชา เกิดความกระสันต์เป็นทุกข์ใจ 
ด้วยไม่มีความเลื่อมใสในการบรรชา 
ครั้นพระบรมศาสดาทรงทราบ จึงรับสั่งให้มาเฝ้าแล้วตรัสถาม 
พระนันทะทูลความว่า ตนมีจิตกำหนัดคำนึงถึงนางชนปทกัลยาณ

ลำดับนั้น พระชินสีห์จึงทรงจูงกรของพระอนุชา 
สำแดงอิทธานุภาพ พาพระนันทะขึ้นไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก 
บันดาลให้เห็นแม่วานรตัวหนึ่งในระหว่างทาง 
แล้วทรงพาขึ้นไปบันดาลให้เห็นนางเทพอัปสรกัญญา 
ซึ่งมีกายงามวิจิตรเจริญตา กำลังดำเนินขึ้นไปเฝ้าท้าวสหัสสนัยยังเทพวิมาน 
จึงตรัสถามว่า “นันทะ นางชนปทกัลยาณีที่เธอมีใจรัญจวนถึงนั้น 
กับนางอัปสรเหล่านี้ นางไหนจะงามกว่ากัน”



พระนันทะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค 
จะเอานางชนปทกัลยาณี มาเปรียบกับนางฟ้านั้นผิดกันไกล 
นางชนปทกัลยาณีหากจะเปรียบเทียบก็ได้เท่ากับแม่วานรในระหว่างทางเท่านั้น ”

“นันทะ ผิว่าเธอยินดีรักใคร่นางฟ้าทั้งหลายนี้ 
ตถาคตรับรองจะช่วยให้ได้นางฟ้าสำเร็จตามความปรารถนาของเธอ”

“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม 
ถ้าพระองค์จะทรงพระกรุณาช่วยให้ข้าพระองค์ได้นางฟ้านี้สมความปรารถนาแล้วไซร้ 
ข้าพระองค์ยินดีจะอยู่ในเพศพรหมจรรย์ ไม่รัญจวนจิตคิดออกไป”

พระบรมศาสดาตรัสว่า “นันทะ ตถาคตรับรอง” 
แล้วก็ทรงพาพระนันทะอันตรธารจากเทวโลก มาปรากฎ ณ พระเชตวัน



ครั้งนั้น บรรดาภิกษุที่เป็นเพื่อนพระนันทะทราบเหตุ 
ต่างก็พากันพูดเคาะพระนันทะว่า “ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อนางฟ้า 
โดยมีพระบรมศาสดาเป็นผู้รับรองจะสงเคราะห์ให้” 
พระนันทะคิดละอายใจ จึงหลีกออกไปอยู่ในที่สงัด 
บำเพ็ญสมณธรรมแต่ผู้เดียว ไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล.

๖ กษัตริย์ออกผนวช




วันหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจาริกมายังมหาชนบท 
ประทับอยู่ที่อนุปิยะอัมพวันใกล้บ้านอนุปิยะมลานิคม แขวงเมืองพาราณสี 
ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามะ ผู้เป็นพระโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ 
ผู้เป็นพระเจ้าอาของพระบรมศาสดา เข้าไปหาพระอนุรุทธะ ผู้เป็นอนุชา ทรงปรารถว่า
“ในตระกูลเรา ยังไม่มีใครออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาเลย 
ฉะนั้น ในเราสองคน คือ อนุรุทธะกับพี่ จะต้องออกบวชคนหนึ่ง 
พี่จะให้อนุรุทธะเลือกเอา อนุรุทธะจะบวชหรือจะให้พี่บวช”

เนื่องจากพระอนุรุทธะ เป็นพระโอรสพระองค์เล็ก ของพระเจ้าอมิโตทนะ 
พระมารดารักมาก ทั้งเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีบุญมาก 
ได้รับความรักใคร่เมตตาปราณีจากพระญาติทั้งหลายเป็นอันมาก 
ดังนั้น อนุรุทธะกุมารจึงทูลว่า 
“หม่อมฉันบวชไม่ได้ดอก ขอให้เจ้าพี่บวชเถอะ”

พระมหานามะจึงรับสั่งว่า 
“ถ้าอนุรุทธจะอยู่ ก็ต้องศึกษาเรื่องการครองเรือน เรื่องบำรุงวงศ์ตระกูลให้จงดี” 
และพระมหานามะ ก็ถวายคำแนะนำการครองชีพด้วยกสิกรรม 
ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ อนุรุทธะกุมารก็ฟังแล้วทรงระอาในการงานไม่รู้จักจบ 
ต้องทำติดต่อกันไปไม่รู้สิ้น จึงรับสั่งว่า
“ถ้าเช่นนั้น ให้เจ้าพี่อยู่เถอะ หม่อมฉันจะบวชเอง 
รำคาญที่จะต้องไปวุ่นอยู่กับงานไม่รู้จักจบ ต้องทำติดต่อไม่รู้สิ้น” 
รับสั่งแล้วก็ลาพระมารดาขออนุญาตบรรพชาตามพระบรมศาสดา 
พระมารดาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง ภายหลังทรงอนุญาตเป็นนัยว่า 
“ถ้าพระภัททิยะราชกุมาร ผู้เป็นโอรสของพระนางกาฬีโคธาศากยะวงศ์ 
ผู้เป็นเพื่อนเล่นที่สนิทสนมของพ่อจะออกบรรพชา พ่อจะบรรพชาด้วยก็ตามเถิด” 
พระอนุรุทธะก็ไปชวนพระภัททิยะ ให้ออกบวชด้วยกัน 
แต่วิงวอนชวนอยู่ถึง ๗ วัน พระภัททิยะจึงยินยอมปฎิญญาว่าจะบวชด้วย

ในกาลนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ องค์ คือ 
พระภัททิยะ ๑ 
พระอนุรุทธะ ๑ 
พระอานนท์ ๑ 
พระภัคคุ ๑ 
พระกิมพิละ ๑ 
พระเทวทัต ๑ 
ได้พร้อมใจกันจะออกบรรพชา 
ชวน อุบาลี อำมาตย์ ช่างกัลบก(๑) เป็น ๗ ด้วยกัน 
เดินทางไปสู่มลรัฐชนบทเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยะอัมพวัน 
ถวายอภิวาทแล้ว ขอประทานบรรพชาอุปสมบท

อนึ่ง ก่อนแต่พระบรมศาสดาจะทรงประทานบรรพชา 
พระอนุรุทธะได้กราบทูลว่า 
“ข้าแต่ผู้มีพระภาค ข้าพระองค์เป็นกษัตริย์ สูงด้วยขัตติยะมานะอันกล้า 
ขอให้พระองค์ประทานบรรพชาแก่อุบาลี อำมาตย์ ผู้รับใช้สอยติดตาม ของมวลข้าพระองค์ก่อน 
ให้ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรพชาต่อภายหลัง 
จะได้คารวะ ไหว้นบ เคารพนับถืออุบาลี ผู้บวชแล้วก่อน 
บรรเทาขัตติยะมานะให้บางเบาจากสันดาน”

พระบรมศาสดาจึงได้ประทานอุปสมบทแก่อุบาลี กัลบกก่อน 
แล้วจึงประทานอุปสมบทแก่ ๖ กษัตริย์ในภายหลัง 
พระภัททิยะ นั้น ได้สำเร็จไตรวิชา พระอรหัตตผลในพรรษานั้น 
พระอนุรุทธะ ได้บรรลุทิพจักษุญาณก่อน 
ภายหลังได้ฟังพระธรรมเทศนา มหาปุริสวิตักสูตร จึงสำเร็จพระอรหัตตผล 
พระอานนท์ นั้น ได้บรรลุอริยะผลเพียงพระโสดาบัน 
พระภัคคุ และ พระกิมพิละ เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุพระอรหัตตผล 
ส่วนพระเทวทัตนั้น ได้บรรลุปุถุชนฤทธิ์ อันเป็นของโลกิยะบุคคล



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น