วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

สรุปเนื้อหาโดยย่อของวิชาพุทธประวัติ (หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี)

สรุปเนื้อหาวิชาพุทธประวัติ



วิชาพุทธประวัติ เป็นการศึกษาภูมิหลัง ประวัติของพระพุทธเจ้า เพื่อที่จะได้เกิดศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อม ใสในพระองค์ ในคำสอนของพระองค์


ประโยชน์ของการเรียนพุทธประวัติ


๑. ได้ศรัทธา และปสาทะ
๒. ได้ทราบพระประวัติของพระองค์
๓. ได้ทราบพระจริยาวัตร การประพฤติปฏิบัติของพระองค์
๔. ได้ทิฏฐานุคติ แบบแผนที่ดีงาม
๕. นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงชีวิตของตนเอง

ว่าด้วยชมพูทวีปและประชาชน


ชมพูทวีป คือ ประเทศอินเดียในสมัยก่อน ในสมัยปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๔ ประเทศ คืออินเดีย, เนปาล,ปากีสถานและบังคลาเทศ ซึ่งอยู่ทางทิศพายัพของประเทศไทย (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ)

ชนชาติที่อาศัยอยู่มี ๒ เผ่า คือ

๑. ชนชาติมิลักขะ เจ้าถิ่นเดิม อาศัยอยู่ก่อน
๒. ชนชาติอริยกะ พวกที่รุกไล่เจ้าของถิ่นเดิมออกไป

ชมพูทวีป แบ่งออกเป็นจังหวัดใหญ่ ๒ จังหวัด คือ

๑. มัชฌิมชนบท หรือ มัธยมประเทศ ได้แก่ จังหวัดส่วนกลาง
๒. ปัจจันตชนบท ได้แก่ จังหวัดชายแดน


อาณาจักรต่าง ๆ 


ในครั้งพุทธกาล ชมพูทวีปแบ่งการปกครองออกเป็น ๒๑ อาณาจักร หรือแคว้น คือ

๑. ในบาลีอุโบสถสูตร ๑๖ แคว้น คือ อังคะ มคธะ กาสี โกสละ วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ.
๒. ในพระสูตรอื่น ๆ อีก ๕ แคว้น คือ สักกะ โกลิยะ ภัคคะ วิเทหะ และอังคุตตราปะ

อาณาจักเหล่านี้ ผู้ปกครองดำรงยศเป็นมหาราชาบ้าง เป็นราชาบ้าง เป็นอธิบดีบ้าง


วรรณะ ๔ 


๑. กษัตริย์ มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง ศึกษาเกี่ยวกับยุทธวิธี
๒. พราหมณ์ มีหน้าที่สั่งสอนและทำพิธีกรรม ศึกษาเกี่ยวกับศาสนา พิธีกรรม
๓. แพศย์ มีหน้าที่ในการทำนาค้าขาย ศึกษาเกี่ยวกับการเพาะปลูก
๔. ศูทร มีหน้าที่รับจ้างทำการงาน ศึกษาเกี่ยวกับการใช้แรงงาน

กษัตริย์และพราหมณ์ ถือตนเองว่าเป็นคนมีวรรณะสูง จึงรังเกียจพวกที่มีวรรณะต่ำ ไม่ยอมร่วมกินร่วมนอน จะสมสู่เป็นสามีภรรยาเฉพาะในวรรณะของตนเท่านั้น ถ้าหากหญิงที่เป็นนางกษัตริย์หรือพราหมณี ไปแต่งงานกับชายที่เป็นแพศย์หรือศูทรที่บุตรเกิดมาจะถูกเรียกว่า เป็นคน “จัณฑาล” เป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป โดยถือว่าเป็นคนกาลกิณี หรือที่คนไทยถือว่าเป็น “เสนียดจัญไร”

ความเชื่อเกี่ยวกับชีวิต หรือความคิดเห็น


เกี่ยวกับชีวิตความตาย พอสรุปได้ ๒ ประการ คือ

๑. ถือว่าตายแล้วเกิด
- ตนเป็นอะไรก็เป็นอย่างนั้น
- มีการเปลี่ยนแปลงได้

๒. ถือว่าตายแล้วสูญ
- ตายแล้วสูญโดยประการทั้งปวง
- สูญเพียงบางสิ่งบางอย่าง

เกี่ยวกับความสุข ความทุกข์ พอสรุปได้ ๒ ประการ คือ

๑. สัตว์จะได้รับความสุข ความทุกข์ ก็ได้เองไม่มีเหตุปัจจัย
๒. สัตว์จะได้รับความสุข ความทุกข์ เพราะมีเหตุปัจจัย
- เหตุภายนอก มีเทวดา เป็นต้น
- เพราะเหตุภายใน คือ กรรม


ปัญจมหาวิโลกนะ 5 ประการ


  1. กาลเวลา คือ กาลเวลาแห่งอายุของมนุษย์ คือ ถ้ามนุษย์มีอายุมากเกินแสนปีขึ้นไป หรือต่ำกว่าร้อยปีลงมา ก็ไม่ใช่กาลที่จะลงมาตรัสรู้ เพราะยุคสมัยที่มนุษย์อายุมากเกินไปก็ไม่อาจเห็นพระไตรลักษณ์ หรือหากอายุสั้นเกินไปก็มีกิเลสหนามากไม่อาจเห็นธรรม แต่ในยุคนี้เป็นยุคที่มนุษย์มีอายุร้อยปี จึงเป็นกาลที่จะลงมาตรัสรู้ได้ 
  2. ทวีป ทรงเห็นว่าชมพูทวีปเป็นทวีปที่เหมาะสมที่จะลงมาตรัสรู้เหตุนี้ พระบรมโพธสัตว์ซึ่งบังเกิดเป็นสันดุสิตเทวราชเสวยทิพยสมบัติอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต เลือกลงมาจุติในชมพูทวีป เพราะถือเป็นทวีปที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในยุคนั้น พระพุทธเจ้าทั้งปวงในอดีตล้วนประสูติในมัชฌิมประเทศ และกรุงกบิลพัลดุ์ แคว้นสักกะนั้นก็ตั้งอยู่ในมัชฌิมประเทศแห่งชมพูทวีป
  3. กาลประเทศ ทรงเห็นว่า มัชฌิมประเทศ คือท้องถิ่นร่วมกลางชมพูทวีป ซึ่งบัดนี้อยู่ในอินเดีย ปากีสถานเป็นส่วนมาก เลยเข้าไปในเนปาลบ้าง เช่น สถานที่ประสูติอยู่ในเนปาล เป็นสถานที่เหมาะที่จะลงมาตรัสรู้
  4. ราชตระกูล ทรงเห็นวงศ์ ศากยราชตระกูล และพระเจ้าสุทโธทนะจะทรงเป็นพระราชบิดาได้
  5. พระราชมารดา คือ ทรงเห็นพระนางสิริมหามายามีศีลและบารมีธรรมที่ได้ทรงอบรมบ่มบำเพียร สั่งสมมาเป็นเวลา 1 อสงไขย และนับแต่นี้จะมีพระชนม์ชีพเหลืออีกเพียง 10 เดือนกับอีก 7 วัน ซึ่งสมควรเป็นพระมารดาได้ ทั้งจะมีพระชนม์สืบไปจากเวลาที่พระโอรสประสูติเพียงเจ็ดวัน สัตว์อื่นไม่อาจอาศัยคัพโภทร(ครรภ์)บังเกิดได้อีก อีกทั้งพระนางสิริมหามายาเทวีก็เป็นผู้รักษา เบญจศีลาจารวัตรอันบริสุทธิ์

สักกชนบท และ ศากยวงศ์


สักกชนบท ตั้งอยู่ในชมพูทวีปตอนเหนือ ณ ป่าหิมพานต์
ในดงไม้สักกะ หรือสากะ (ไม่ใช่ดงไม้สัก) จึงได้ชื่อว่า “สักกชนบท”

กบิลพัสดุ์ พระนครที่สร้างขึ้นใหม่ ที่ชื่อว่า “กบิลพัสดุ์” เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. พระนครนี้สร้างในสถานที่ อันเป็นที่อยู่ของกบิลดาบส
๒. เพราะพระนครนี้สร้างขึ้นตามคำแนะนำของกบิลดาบส

ศากยวงศ์ คือวงศ์ของศากยะที่สืบต่อกันมา เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. เพราะกษัตริย์วงศ์นี้ตั้งอยู่ในสักกชนบท
๒. เพราะกษัตริย์ วงศ์นี้สมสู่กันเองระหว่างพี่น้อง ที่เรียกว่า “สกสังวาส”
๓. เพราะกษัตริย์วงศ์นี้ทรงถือเอาพระราชดำรัสของพระเจ้าโอกกากราช ที่ออกพระโอฐชมว่า สักกา เป็นผู้อาจหาญ มีความสามารถ การปกครอง เป็นแบบสามัคคีธรรม.

ลำดับวงศ์ ศากยวงศ์ และโกลิยวงศ์ สืบเชื้อสายต่อกันมาโดยลำดับ คือ
ศากยวงศ์ / โกลิยวงศ์
๑. ชยเสน / ๑. -
สีหหนุ, ยโสธรา อัญชนะ, กัญจนา

๒. สีหหนุ + กัญจนา / ๒. อัญชนะ + ยโสธรา
สุทโธทนะ, สุกโกทนะ, อมิโตทนะ / สุปปพุทธะ, ทัณฑปาณี, มายา,
โธโตทนะ, ฆนิโตทนะ, ปมิตา, อมิตา / ปชาบดี หรือโคตมี

๓. สุทโธนะ + มายา และปชาบดี / ๓. สุปปพุทธะ + อมิตา
สิทธัตถะ. นันนทะ, รูปนันทา / เทวทัต, ยโสธราหรือพิมพา

๔. สิทธัตถะ + ยโสธรา
ราหุล

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ หมายถึง พระราชบุตร - ธิดา
+ หมายถึงอภิเษกสมรส หรือสมสู่
- หมายถึงไม่ปรากฏชื่อ

สหชาติ ๗


สหชาติ คือผู้เกิดร่วมวันเวลาเดียวกันกับพระพุทธเจ้า มี ๗ ประการ คือ

๑. พระนางพิมพา
๒. พระอานนท์
๓. อำมาตย์ชื่อฉันนะ
๔. กาฬุทายีอำมาตย์
๕. กัณฐกอัศวราช ม้าพระที่นั่ง
๖. ต้นพระศรีมหาโพธิ์
๗. ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ (สังขนิธิ. เอลนิธิ, อุบลนิธิ, บุณฑริกนิธิ)

เหตุการณ์ในระหว่างพระชนมายุ


๑. ขนานพระนาม เมื่อพระชนมายุได้ ๕ วัน
๒. พระมารดาสวรรคต เมื่อพระชนมายุได้ ๗ วัน
๓. ทรงศึกษาศิลปวิทยา เมื่อพระชนมายุได้ ๗ ปี
๔. ทรงอภิเษกสมรส เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ ปี
๕. เสด็จทรงผนวชและมีพระโอรส เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ ปี
๖. ตรัสรู้ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ ปี
๗. เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ ปี

ใครมีศักดิ์เป็นอะไรกับพระพุทธเจ้า


พระนาม ทรงเป็น ราชาศัพท์

พระเจ้าชัยเสน ทวด พระไปยกา

พระเจ้าสีหนุ ปู่ พระอัยกา

พระนางกัญจนา ย่า พระอัยยิกา

พระเจ้าอัญชนะ ตา พระอัยกา

พระนางยโสธรา ยาย พระอัยยิกา

พระเจ้าสุทโธทนะ พ่อ พระชนก

พระนางสิริมหามายา แม่ พระชนนี

พระนางปชาบดี น้า พระมาตุจฉา

สุกโกทนะ, อมิโตทนะ, ฆนิโตทนะ, โธโตทนะ อาชาย พระปิตุลา

ปมิตา, อมิตา อาหญิง พระปิตุจฉา

- พี่ชาย พระเชษฐา
- พี่สาว พระเชฏฐภคินี

นันทะ น้องชาย พระอนุชา

รูปนันทา น้องสาว พระกนิฏฐภคินี

พระนางยโสธรา(พิมพา) เมีย พระชายา

ราหุล ลูก พระโอรส


เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะได้อภิเษกสมรสกับพระนางเจ้าสิริมหามายา พระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะกับพระนางยโสธราฝ่ายโกลิยะ เมื่อพระเจ้าสีหหนุทิวงคตแล้วได้สืบราชสมบัติแห่งนครกบิลพัสดุ์ 
จำเนียรกาลต่อมา พระโพธิสัตว์ได้จุติจากดุสิตเทวโลก มาปฏิสนธิในพระครรภ์เมื่อเวลาใกล้รุ่งคืนวันเพ็ญแห่งอาสาฬหมาส 
(วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา) ก่อนพุทธศก ๘๐ ปี 
บังเกิดแผ่นดินไหวซึ่งในคืนนั้นพระนางเจ้ามายาทรงพระสุบินว่า 
มีพญาช้างเผือกชูดอกบัวขาว เข้าสู่ครรภ์ของตน 
เวลาสายใกล้เที่ยง ณ วันเพ็ญแห่งวิสาขมาส 
(วันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ) 
ก่อนพุทธศก ๘๐ปี เวลาเช้า
พระนางสิริมหามายา เสด็จประพาส พระราชอุทยานลุมพินีวัน 
อันตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ กับกรุงเทวทหะต่อกัน
ขณะประพาสเล่นอยู่เกิดประชวรพระครรภ์จะประสูติ 
อำมาตย์ผู้ตามเสด็จจึงจัดที่ประสูติถวายใต้ร่มสาละ(รัง)เท่าที่จะจัดได้พระนางเจ้าได้ประสูติพระราชโอรส ณ ที่นั่นเองได้บังเกิดแผ่นดินไหว

แต่อาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์กล่าวว่า 
น่าจะเป็นความประสงค์ของพระนางเจ้าที่จะกลับไปประสูติ ณ ที่สกุลเดิมของพระนาง 
ตามธรรมเนียมของพราหมณ์มากกว่าที่จะไปประพาสที่พระอุทยาน
แต่เกิดประชวรครรภ์เสียก่อนจึงได้ประสูติที่นั่นขณะประสูติพระนางมายา

ประทับยืนพระหัตถ์ทรงจับกิ่งสาละพระโพธิสัตว์พอประสูติจากพระครรภ์แล้วดำเนินไปได้ ๗ ก้าว
แล้วเปล่งอาสภิวาจาอันเป็นบุรพนิมิตแห่งโพธิญาณว่า
“อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐ เสฏฺโฐหมสฺมิ อยมนฺติมา เม ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺพโว.
แปลว่า
เราเป็นยอด เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก
การเกิดของเราครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว”

ฝ่ายอสิตดาบส หรือกาฬเทวิลดาบส
ผู้คุ้นเคยแห่งราชสกุลทราบข่าวจึงได้เข้าไปเยี่ยม
เมื่อเห็นพระโพธิสัตว์มีลักษณะ ต้องตามตำรามหาปุริสลักษณะ จึงทำนายว่ามีคติเป็น ๒ คือ

๑. ถ้าเป็นฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์
๒. ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกในโลก

เกิดความเคารพจึงก้มลงกราบที่พระบาททั้งคู่แล้วถวายพระพรลากลับ

เมื่อประสูติได้ ๕ วันพระเจ้าสุทโธทนะ
โปรดให้ประชุมพระญาติวงศ์
และเสนาอำมาตย์พร้อมกันเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน
มาฉันโภชนาหารแล้วทำนายพระลักษณะและทำมงคลรับพระลักษณะ
ขนานพระนามว่า "สิทธัตถกุมาร"
แต่มหาชนทั่วไปมักจะเรียกตามพระโคตรว่า "โคตมะ"

พอประสูติได้ ๗ วันพระมารดาก็ทิวงคต
พระเจ้าสุทโธทนะจึงมอบพระโพธิสัตว์ให้อยู่ในความดูแลของพระนางปชาบดีโคตมี
พระน้านาง

ต่อมา เมื่อพระชนมายุได้ ๗ พรรษา
พระราชบิดาตรัสให้ขุดสระขึ้นภายในพระราชนิเวศน์ ๓ สระ
ปลูกอุบล บัวขาวสระ ๑
ปลูกปทุม บัวหลวงสระ ๑
ปลูกปุณฑริกบัวขาวสระ ๑
และเห็นว่าควรจะศึกษาศิลปวิทยาได้แล้วจึงทรงพาไปมอบไว้ในสำนักครูวิศวามิตร

เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษาเห็นควรจะมีพระชายาได้แล้ว
พระราชบิดาตรัสสั่งให้สร้างปราสาทขึ้น ๓ หลัง
เพื่อเหมาะแก่การอยู่ตามฤดูทั้ง ๓ ฤดู
แล้วตรัสขอพระนางยโสธราหรือพิมพา
พระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ กับพระนางอมิตาแห่งโกลิยวงศ์มาอภิเษกเป็นพระเทวี
จนกระทั่งพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา
พระนางพิมพาจึงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า “ราหุลกุมาร”

บรรพชา

ในปีที่พระชนมายุ ๒๙ พรรษานั่นเอง
พระโพธิสัตว์เสด็จออกบรรพชา
อะไรเป็นมูลเหตุให้เสด็จออกบรรพชา
และอาการที่เสด็จออกบรรพชานั้นเป็นอย่างไร
พระอาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์มีความเห็นเป็น ๒ นัย คือ

๑. อาจารย์ผู้แต่งอรรถกถา กล่าวตามนัยมหาปธานสูตรว่า
พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ
คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ
อันเทวดาสร้างเนรมิตไว้ในระหว่างทางเมื่อเสด็จประพาสพระราชอุทยาน
ทั้ง ๔ วาระโดยลำดับ ทรงสังเวชสลดพระทัย
เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๓ ข้างต้น
แต่ทรงพอพระทัยในการบรรพชาเพราะได้เห็นสมณะ
ในวันที่พระราหุลกุมารประสูตินั่นเอง
เวลากลางคืนยามดึกพระองค์ทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะตามเสด็จ
หนีออกจากพระราชวัง ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที แขวงมัลลชนบท
ทรงตัดพระเมาลีด้วยพระขรรค์ แล้วอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต
ณ วันเพ็ญอาสาฬหมาส (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘) เวลาใกล้รุ่ง.

๒. ส่วนในมัชฌิมนิกายกล่าวว่า
ทรงปรารภ ความแก่ ความเจ็บ และความตายที่มีอยู่ทั่วทุกคนไม่มีใครที่จะสามารถรอดพ้นไปได้
ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงเกิดความเบื่อหน่าย
คิดหาอุบายเครื่องที่จะทำให้รอดพ้นจาก ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
ซึ่งถือว่าเป็นทุกข์อย่างยิ่งของมนุษย์ทุกคนที่เกิดมา.

เมื่อบรรพชาแล้ว เสด็จพักแรมอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน
แขวงมัลลชนบท ๗ วัน แล้วเสด็จจาริกไปสู่มคธชนบทผ่านกรุงราชคฤห์
พบพระเจ้าพิมพิสารได้สนทนาปราศรัยกันแล้ว
พระเจ้าพิมพิสารทรงชวนให้อยู่
โดยจะมอบราชสมบัติให้กึ่งหนึ่ง พระองค์ไม่ทรงรับ
แสดงพระประสงค์ในการแสวงหาพระสัมมาสัมโพธิญาณ
พระเจ้าพิมพิสารทรงอนุโมทนา และตรัสขอปฏิญญาว่า
ถ้าตรัสรู้แล้ว ขอให้เสด็จมาโปรดบ้าง พระองค์ทรงรับโดยดุษฎียภาพ (คือนิ่ง)

จากนั้นจึงเสด็จไปสู่สำนักอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร
ศึกษาลัทธิสมัยของท่านจนจบสมาบัติ ๘ ประการ คือ รูปฌาน๔ อรูปฌาน ๔
เมื่อเห็นว่าไม่ใช่ทางที่จะตรัสรู้จึงลาออกจากสำนัก
จาริกไปจนถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
ทรงเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสำหรับการบำเพ็ญเพียรจึงทรง ประทับอยู่ ณ ที่นั้น

บำเพ็ญทุกกรกิริยา


พระมหาบุรุษทรงทดลองบำเพ็ญทุกกรกิริยา
คือการทรมานพระวรกายให้ลำบาก
ที่นักบำเพ็ญตบะทั้งหลาย ยกย่องว่า
เป็นการบำเพ็ญเพียรอย่างยอดเยี่ยม
โดยการบำเพ็ญเพียร ๓ วาระ คือ

๑. วาระแรก ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ (กัดฟัน)
กดพระตาลุด้วยพระชิวหา ( ใช้ลิ้นกดเพดาน ) ไว้จนแน่น
จนน้ำพระเสโท ( เหงื่อ ) ไหลออกมาจากพระกัจฉะ ( รักแร้ )
เกิดทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า

๒. วาระต่อมา ทรงผ่อนและกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ( ลมหายใจเข้าออก )
เมื่อลมเดินไม่สะดวกทางช่องพระนาสิก ( จมูก ) และพระโอษฐ์ ( ปาก )
ก็เกิดเสียงดังอู้ที่ช่องพระกรรณ ( หู ) ทั้งสอง
ทำให้ปวดพระเศียร ( ศีรษะ) เสียดพระอุทร ( ท้อง ) ร้อนทั่วพระวรกาย.

๓. วาระสุดท้าย ทรงอดอาหารผ่อนเสวยแต่วันละน้อย ๆ บ้าง
เสวยแต่อาหารที่ละเอียดบ้าง จนพระกายเหี่ยวแห้ง
พระฉวีวรรณเศร้าหมอง พระอัฐิ ( กระดูก ) ปรากฏทั่วพระวรกาย
เสวยทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า ถึงกระนั้นพระองค์ก็มิได้ทรงท้อถอยเลย.

เกิดอุปมา ๓ ข้อ

ครั้งนั้นอุปมา ๓ ข้อมาปรากฏแก่พระองค์

๑. สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดก็ตาม
มีกายยังไม่หลีกออกจากกาม
ยังมีความรักใคร่ในกามจะเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า
ซึ่งเกิดเพราะความเพียรหรือไม่ก็ตาม
ก็ไม่ควรจะตรัสรู้เหมือนไม้สดที่แช่น้ำ ยากที่จะสีให้เกิดไฟได้.

๒.สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดก็ตาม
แม้มีการหลีกออกจากกาม
แต่ยังมีความพอใจรักใคร่ในกามอยู่ก็ไม่ควรจะตรัสรู้
เหมือนไม้สดถึงจะไม่แช่น้ำก็ยากที่จะสีให้เกิดไฟได้.

๓. สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดก็ตาม
ที่มีกายหลีกออกจากกาม และละความมีใจรักใคร่ในกามเสียได้ ก็ควรจะตรัสรู้
เหมือนไม้แห้งอาจสีให้เกิดไฟได้.

ดังนั้น พระองค์จึงพยายามป้องกันพระหฤทัยมิให้น้อมไปในกามารมณ์
ครั้นเห็นว่ามิใช่หนทางตรัสรู้จึงได้ละทุกกรกิริยานั้นเสีย
กลับมาเสวยพระกระยาหารใหม่ เพื่อที่จะบำเพ็ญเพียรทางใจต่อไป

ในขณะที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่นั้น ฤษี ๕ ตน คือ
โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะและอัสสชิ รวมเรียกว่า “ปัญจวัคคีย์” 
เคยได้เห็นบ้างได้ยินมาบ้างว่าพระมหาบุรุษถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกในโลก
เมื่อได้ทราบข่าวพระองค์ออกบรรพชา
จึงพากันออกบวชตามหามาพบขณะบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่จึงคอยเฝ้าปฏิบัติ
แต่เมื่อเห็นพระองค์ทรงละทุกกรกิริยาเสียจึงคิดว่า
ทรงคลายความเพียรไม่มีทางที่จะตรัสรู้ได้ จึงพากันละทิ้งพระองค์
ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแขวงเมืองพาราณสี

พระมหาบุรุษกลับมาเสวยพระกระยาหาร
จนพระวรกายกลับมีกำลังขึ้นเหมือนอย่างเดิมแล้ว
ทรงเริ่มบำเพ็ญเพียรทางใจต่อไป นับตั้งแต่บรรพชามาประมาณ ๖ ปี
จนถึงวันเพ็ญแห่งวิสาขมาส (วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน๖)

ตอนเช้าวันนั้นนางสุชาดาธิดาของกุฎุมพีผู้เป็นนายบ้านของชาวบ้านอุรุเวลาเสนานิคม
ปรารถนาจะทำการบวงสรวง (แก้บน)เทวดา
จึงนำข้าวมธุปายาสไปยังต้นไทร (อชปาลนิโครธ)
ต้นหนึ่งใกล้บ้านได้เห็นพระมหาบุรุษประทับนั่งอยู่สำคัญว่า
เป็นเทวดาจึงน้อมข้าวมธุปายาสเข้าไปถวาย
พระองค์ทรงรับพร้อมทั้งถาดทองคำแล้วทรงถือไปยังริมแม่น้ำเนรัญชรา
ทรงเสวยหมดแล้วทรงอธิษฐานลอยถาดเสียในกระแสน้ำ

เวลาเย็นพระองค์เสด็จมาสู่ต้นโพธิ์
ทรงรับหญ้าคา ๘ กำมือที่โสตถิยพราหมณ์ถวายระหว่างทาง
ทรงปูลาดหญ้าคาที่โคนต้นโพธิ
แล้วประทับนั่งผินพระพักตร์ ไปทางทิศบูรพา
หันพระปฤษฎางค์ (หลัง)ไปทางลำต้นพระศรีมหาโพธิ์
ทรงอธิฐานพระทัยว่า
ตราบใดยังมิได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
แม้พระมัสสะ(เนื้อ) และพระโลหิต(เลือด)
จะเหือดแห้งไปเหลือแต่พระตจะ(หนัง) พระนหารู(เอ็น) พระอัฐิ(กระดูก)
ก็ตามทีจะไม่ลุกขึ้นตราบนั้น .

ชนะมาร

สมัยนั้น พญามารได้ยกพลเสนามารมาผจญพระองค์ทรงต่อสู้ด้วยพระบารมี ๑๐ ทัศ คือ

๑. ทาน การเสียสละ
๒. ศีล การรักษากายวาจาให้ปกติ
๓. เนกขัมมะ การออกจากกามได้แก่บรรพชา
๔. ปัญญา รู้สิ่งที่ควรรู้
๕. วิริยะ ความเพียรพยายาม
๖. ขันติ ความอดทน
๗. สัจจะ ความซื่อสัตย์
๘. อธิษฐาน ความตั้งใจอย่างมั่นคง
๙. เมตตา ความรัก
๑๐. อุเบกขา ความวางเฉย

จนพญามาร ได้พ่ายแพ้ไปตอนพระอาทิตย์จะตกแล้ว
พระองค์ทรงเริ่มเจริญสมถภาวนาทำจิตให้เป็นสมาธิ
จนได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน
แล้วยังฌานอันเป็นองค์แห่งปัญญา ๓ ประการ ให้เกิดในยามทั้ง ๓ คือ

๑. ในปฐมยาม ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ระลึกชาติได้

๒. ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ คือ การรู้การตาย การเกิดของเหล่าสัตว์ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ทิพยจักษุญาณ คือ ตาทิพย์

๓. ในปัจฉิมยาม พระองค์ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เป็นเหตุและเป็นผลเนื่องกันเหมือนกับลูกโซ่ จนได้รู้แจ้งอริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ คือ

๓.๑. ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
๓.๒. สมุทัย เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓.๓. นิโรธ ความดับเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓.๔. มรรค หนทางที่จะดับทุกข์

แล้วจึงได้บรรลุอาสวักขยญาณ คือความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวกิเลส
จิตของพระองค์ก็พ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งปวง
ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน อันเป็นการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในยามที่ ๓ แห่งราตรีวิสาขมาส ก่อนพุทธศก ๕๔ ปี
จึงได้พระนามบัญญัติโดยคุณนิมิตว่า “อรหัง”
เป็นพระอรหันต์ ห่างไกลกิเลสทั้งปวง
และ สัมมาสัมพุทโธ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
หาได้มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นครูอาจารย์ไม่ .

ปฐมเทศนา และ ปฐมสาวก


สัตตมหาสถาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้นตรัสรู้ธรรมพิเศษแล้ว
เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข คือ
สุขเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสาสวะสิ้นกาลนาน ๗ สัปดาห์ (๔๙ วัน) ณ สถานที่ ๗ แห่ง คือ

สัปดาห์ที่ ๑ หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว
เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ภายใต้ร่มไม้พระศรีมหาโพธิตลอด ๗ วัน
ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทตามลำดับ และทวนลำดับกลับไปกลับมา
ทั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับตลอด ๓ ยามแห่งราตรี
แล้วเปล่งอุทาน คือตรัสออกมาด้วยความเบิกบานพระหฤทัยยามละครั้ง

สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จไปทางทิศอิสาน
ประทับยืนทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธิ์
โดยมิได้กระพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน
สถานที่นั้นเรียกว่า อนิมิสสเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จกลับจากที่นั้นมาหยุดอยู่ระหว่างกลางต้นศรีมหาโพธิ์
และอนิมิสสเจดีย์เสด็จจง กรมกลับไปกลับมา ณ ที่นั้น ตลอด ๗ วัน
สถานที่นั้นเรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๔ เสด็จไปทางทิศพายัพ
หรือปัจจิมทิศแห่งต้นศรีมหาโพธิ
ประทับนั่งขัดบัลลังก์ทรงพิจารณาอภิธรรมปิฎกตลอด ๗ วัน
สถานที่นั้นเรียกว่า รัตนฆรเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๕ เสด็จไปทางทิศบูรพาแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์
ไปยังต้นไทรต้นหนึ่ง อันเป็นที่พักอาศัยร่มเงาของคนเลี้ยงแพะ
จึงได้ชื่อว่า “อชปาลนิโครธ”
ถูกพราหมณ์คนหนึ่งผู้มีปกติชอบกล่าวคำว่า หึ หึ หรือ หุง หุง
อันเป็นคำหยาบจนติดปาก
ทูลถามถึงพราหมณ์และธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์

สัปดาห์ที่ ๖ เสด็จไปยังต้นจิก
ซึ่งอยู่ทางทิศอาคเนย์แห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ใกล้สระ
อันเป็นที่อยู่ของพญานาคชื่อมุจลินท์ สถานที่นี้จึงได้นามว่า มุจลินท์
ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขตลอด ๗ วัน
เปล่งอุทานว่า ความสงัดเป็นความสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว เป็นต้น

สัปดาห์ที่ ๗ เสด็จไปยังต้นเกต ซึ่งได้นามว่า ราชายตนะ
อยู่ทางทิศทักษิณแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ
มีพ่อค้าสองคนพี่น้อง ชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ เดินทางมาจากอุกกลชนบท
ได้นำข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงมาถวายแล้วแสดงตนเป็นอุบาสกโดยขอถึง พระพุทธ พระธรรม
เป็นสรณะที่พึ่งทางใจนับว่าเป็นอุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนาที่ถึงรัตนะ ๒ ประการก่อนใคร
( เทววาจิกอุบาสก )

ปฐมเทศนา


ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว พระองค์เสด็จออกจากร่มไม้ราชายนตะ
กลับมาประทับ ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธอีก
ทรงพิจารณาถึงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วว่าเป็นบุคคลที่ยินดีในกามคุณจะรู้ตามได้
ท้อพระทัยที่จะสั่งสอน แต่อาศัยพระมหากรุณา ส่วนพระคันถรจนาจารย์แสดงความว่า
ในกาลทีพระองค์ท้อพระทัยนี้ ท้าวสหัมบดีพรหมทราบพุทธอัธยาศัย
จึงมากราบทูลอาราธนาเพื่อทรงแสดงธรรม พระองค์พิจารณาก็ทราบด้วยปัญญาว่า
หมู่สัตว์เปรียบได้กับดอกบัว ๔ เหล่า คือ

๑. อุคฆฏิตัญญู เหล่าสัตว์มีกิเลสเบาบาง มีอินทรีย์แก่กล้า มีอาการอันดี
พึงสอนให้รู้ได้โดยง่าย เปรียบเหมือนดอกบัวที่ขึ้นพ้นน้ำ พอต้องแสดงอาทิตย์ก็บานทันที

๒. วิปจิตัญญู เหล่าสัตว์ผู้มีคุณสมบัติเช่นนั้นพอปานกลางได้รับการอบรมจนมีอุปนิสัยแก่กล้า
ก็สามารถจะบรรลุธรรมพิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่เสมอน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้

๓. เนยยะ เหล่าสัตว์ผู้มีคุณสมบัติเช่นนั้นยังอ่อน หาอุปนิสัยไม่ได้เลย
ก็ยังควรได้รับการแนะนำในธรรมเบื้องต่ำไปก่อน เพื่อบำรุงอุปนิสัย
เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ จักบานในวันต่อไป

๔. ปทปรมะ เหล่าสัตว์ที่เป็นอภัพพบุคคล ไม่ยอมรับคำแนะนำ
เปรียบเหมือนดอกบัวที่เริ่มแตกดอกใหม่ ๆ ที่อยู่ใต้น้ำลึก
เหมาะที่จะเป็นอาหารของเต่าและปลา ฉะนี้

ดังนั้นพระองค์จึงตกลงพระทัยที่จะแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ พระองค์ทรงพิจารณาบุคคลผู้สมควรรับเทศนาครั้งแรก
ทรงปรารภถึง ปัญจวัคคีย์ทั้ง๕ จึง ทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก ชื่อ "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"

เนื้อความแห่งพระธรรมเทศนาแห่งพระสูตรนี้
ทรงตรัสเตือนพวกปัญจวัคคีย์ ให้ตั้งใจสดับพระธรรมเทศนาแล้ว
ก่อนแต่พระองค์จะทรงแสดงธรรมนั้น พระองค์ได้ยกธรรมอันควรละ ๒ อย่าง คือ

๑. กามสุขัลลิกานุโยค คือการประกอบตนให้พัวพันด้วยความสุขในกาม โดยหมกมุ่นอยู่ในกาม
๒. อัตตกิลมถานุโยค คือ การบำเพ็ญเพียรโดยการทรมานตัวให้ลำบาก ทั้ง ๒ สาย มิใช่ทางตรัสรู้

ทรงแสดงให้ดำเนินทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา ไม่หย่อนเกินไป และไม่ตึงเกินไป
ได้แก่มรรค ๘ ประการ อันเป็นทางที่จะให้ตรัสรู้ได้

และทรงแสดง อริยสัจ คือ ความจริงอย่างประเสริฐ ๔ ประการ คือ

๑. ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ
๒. สมุทัย คือเหตุให้ทุกข์เกิด
๓. นิโรธ คือความดับทุกข์
๔. มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ปฐมสาวก


พระอัญญาโกณฑัญญะ หลังจากได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว
ธรรมะได้เกิดขึ้นแก่ท่านว่า
"สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิด ขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา"
ท่านอุปสมบทจากพระพุทธองค์ด้วยการประทานพระดำรัสว่า
"เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด"
การอุปสมบทแบบนี้เรียกว่า
“เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
เป็นอันว่าพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้เป็นปฐมสาวกองค์แรกในพุทธศาสนา
และในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอาสาฬหะ
เป็นวันสังฆรัตนะเกิดขึ้นในโลก
ส่วนปริพาชกอีก ๔ ท่าน
ได้ดวงตาเห็นธรรมด้วยธรรมเทศนาเบ็ดเตล็ดแล้ว ประทานอุปสมบทให้

ครั้นวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘
พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานพระธรรมเทศนาชื่อ "อนัตตลักขณสูตร"
โดยใจความแห่งพระธรรมเทศนานั้นว่า
ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา คือ มิใช่ตัวมิใช่ตน
เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิให้ยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา
เมื่อจบพระธรรมเทศนา จิตของภิกษุทั้ง ๕ ก็หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ
ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ได้สำเร็จมรรคผลเบื้องสูง คือพระอรหันต์
สรุปว่าบัดนี้มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ คือ
พระบรมศาสดา, กับพระสาวกทั้ง ๕

ส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา


เมื่อยสะบุตรของเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี
เกิดความเบื่อหน่ายจากการครองเรือน
ได้เดินตามทางไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
พลางบ่นไปว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"
ในเวลาใกล้รุ้ง ขณะนั้นพระบรมศาสดาทรงเสด็จจงกรมอยู่ ทรงได้ยินเข้า จึงตรัสไปว่า
"ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญทางนี้เถิด และนั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน”
ยสะได้ยินดังนั้นจึงถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้าถวายนมัสการ แล้วนั่งลงที่สมควรแห่งหนึ่ง

พระองค์ทรงแสดงอนุปุพีกถา ๕ ประการ คือ

๑. ทาน การเสียสละ
๒. ศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย
๓. สวรรค์
๔. กามาทีนพ โทษของกาม
๕. เนกขัมมานิสงส์ อานิสงส์แห่งการออกจากกาม

แล้วจบลงด้วยการอริยสัจ ๔ พอจบพระธรรมเทศนา
ยสกุลบุตรก็ได้ดวงตาเห็นธรรม
เศรษฐีผู้เป็นบิดาท่านยสะ
ได้เข้าเฝ้าพระศาสดา
และพระองค์ได้ทรงประทานพระธรรมเทศนาอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔
ท่านเศรษฐีได้แสดงตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต
นับว่าเป็นอุบาสกคนแรกในโลกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ(เตวาจิกอุบาสก)

ฝ่ายมารดาและภรรยาของท่านก็เหมือกัน
ได้ขอถึงพระรัตนะตรัยเป็นสรณะเป็นอุบาสิกาคนแรกในโลก

พระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทแก่ท่านยสะ ด้วยการประทานพระดำรัสว่า
"เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด"
ในที่ นี้ไม่มีคำว่า "เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด"
เพราะยสะเป็นพระอรหันต์ ถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว

สหายยสบรรพชา 


สหายพระยสะที่มีชื่อ ๔ คน คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ และควัมปติ
และที่ไม่ปรากฏชื่ออีก ๕๐ คน ทราบข่าวยสกุลบุตบวชจึงพากันออกบวชตาม
พระพุทธองค์ทรงอุปสมบทและทรงสั่งสอนจนให้สำเร็จพระอรหันต์

ครั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลกแล้ว ๖๑ องค์ พร้อมด้วยพระศาสดา
พระองค์จึงตรัสเรียกพระสงฆ์สาวกเหล่านั้นมา
เพื่อที่จะส่งไปประกาศพระศาสนา ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้เธอทั้งหลายก็เหมือนกัน
เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปตามชนบท เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก
แต่อย่าไปทางเดียวกัน ๒ องค์
จงแสดงธรรมที่มีคุณในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด
จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะอันบริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง
สัตว์ทั้งหลายมีกิเลสบังปัญญาดุจธุลีใยจักษุมีอยู่น้อย
เพราะโทษที่มิได้ฟังธรรม จึงเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้พึงถึง
ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมีอยู่ แม้เราเองจะไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อจะแสดงธรรม”

เมื่อพระสงฆ์สาวกทั้ง ๖๐ องค์ออกประกาศพระศาสนา
ได้มีกุลบุตรศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก
พระองค์ทรงเห็นความลำบาก ที่พระสงฆ์ได้นำกุลบุตรเหล่านั้นมาบวชกับพระองค์
ภายหลังจึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์เหล่านั้นให้บวชกุลบุตรผู้มีความเลื่อมในได้เอง
โดยการให้กล่าวแสดงตนถึงพระรัตนตรัย
ก็เป็นอันเสร็จพิธีการบวช การบวชแบบนี้เรียกว่า
ติสรณคมนูปสัมปทา คือไตรสรณคมน์

โปรดชฏิล ๓ พี่น้อง


ส่วนพระองค์ทรงเสด็จไปยังอุรุเวลาเสนานิคม
ในระหว่างทางเสด็จแวะพักที่ไร่ฝ่ายแห่งหนึ่ง
ได้พบกุลบุตรผู้เป็นสหายกัน ๓๐ คน มีชื่อเรียกว่า “ภัททวัคคีย์” 
พระพุทธเจ้าก็ทรงเทศนาอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ โปรด
จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วได้ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาต่อไป

ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ฝั่งแม่น้ำเนรัญชราเป็นที่อาศัยของพวกชฏิล ๓ พี่น้อง
ผู้พี่มีชื่อว่าอุรุเวลกัสสปะมีศิษย์อยู่ ๕๐๐ คน
คนกลางมีชื่อว่านทีกัสสปะมีศิษย์อยู่ ๓๐๐ คน
คนเล็กมีชื่อว่าคยากัสสปะมีศิษย์อยู่ ๒๐๐ คน
พระพุทธเจ้าทรงทรมานชฏิลเหล่านั้นจนละทิ้งลัทธิเดิม
มีความศรัทธาในพระองค์ ขออุปสมบท
แล้วพระองค์ทรงเทศนาโปรดด้วยกัณฑ์ที่มีชื่อว่า “อาทิตตปริยาสูตร”

ใจความในอาทิตตปริยาสูตรนั้นว่า

๑. อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นต้น
๒. อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ เป็นของร้อน
๓. วิญญาณ ผัสสะ และเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะอายตนะภายใน กับอายตนะภายนอกกระทบกันเป็นของร้อน

ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟ ๓ กอง คือ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ
และร้อนเพราะ การเกิด แก่ ตาย ความเศร้าโศกครำครวญ ความทุกข์ ความเสียใจ
และความขัดเคืองใจ

เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว ภิกษุทั้งหมด ๑,๐๐๓ รูป ได้สำเร็จพระอรหันต์


เสด็จโปรดพระเจ้าพิมพิสาร


พระพุทธองค์ ครั้นประทับอยู่ที่คยาสีสะตามควรแก่พระอัธยาศัยแล้ว
จึงพร้อมด้วยภิกษุสาวกเหล่านั้นได้เสด็จถึงกรุงราชคฤห์ประทับอยู่ ณ ลัฏฐิวัน(สวนตาลหนุ่ม)
พระเจ้าพิมพิสารทราบข่าวก็ได้เสด็จออกมานมัสการพร้อมด้วยบริวารมากมาย
บริวารเหล่านั้นได้แสดงทิฐิของตนไปต่าง ๆ เช่น บางพวกก็นมัสการ บางพวกก็เฉย เป็นต้น
พระองค์จึงให้พระอุรุเวลกัสสปะ ประกาศลัทธิเก่าของตนแก่ชนผู้เลื่อมใส ว่าไม่มีแก่นสาร
หาประโยชน์มิได้ จากนั้นพระองค์ก็แสดงอนุปปุพพีกถา และอริยสัจ ๔
ในที่สุดพระเจ้าพิมพิสาร กับบริวาร ๑๒ ส่วนได้ดวงตาเห็นธรรม
อีกส่วนหนึ่งได้ตั้งอยู่ในสรณคมน์

ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารก็ได้สำเร็จความปรารถนา
ที่ทรงตั้งไว้ ๕ ประการในครั้งยังเป็นพระกุมาร คือ

๑. ขอให้ได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินในมคธรัฐนี้
๒. ขอท่านผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้รู้เองเห็นเองโดยชอบ พึงมายังแคว้นของตน
๓. ขอให้พระองค์ได้เข้าไปนั่งใกล้พระอรหันต์นั้น
๔. ขอพระอรหันต์นั้นพึงแสดงธรรมให้ฟัง
๕. ขอให้พระองค์พึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระอรหันต์นั้น

ครั้นสำเร็จความปรารถนาทั้ง ๕ ประการแล้ว
พระองค์ก็ทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน (สวนไม้ไผ่)
สร้างเป็นวัดแห่งแรกในทางพระพุทธศาสนา
เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยแห่งภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน

อัครสาวกบรรพชา


ในกรุงราชคฤห์ ได้มีกุลบุตร ๒ คน ซึ่งเป็นสหายกัน คือ อุปติสสะ และโกลิตะ
ได้พากันออกบวชแสวงหาโมกขธรรม ในสำนักของสัญชัยปริพาชก
เมื่อเรียนจบความรู้ของอาจารย์แล้วก็เห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้
จึงได้สัญญากันว่า ใครได้พบอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
วันหนึ่งท่านอุปติสสะ ได้พบพระอัสสชิ และได้ฟังธรรมจากท่านพระอัสชิ
ความว่า
"ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุ แห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น"จนได้ดวงตาเห็นธรรม
จึงได้กลับไปบอกโกลิตะ ท่านโกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเพราะฟังจากท่านอุปติสสะ
และได้พาบริวารมาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์
เมื่อท่านทั้ง ๒ บวชแล้ว ภิกษุสหธรรมิกส่วนมาก เรียกท่านอุปติสสะว่า สารีบุตร
ด้วยเหตุที่ท่านเป็นบุตรของนางสารี
เรียกท่านโกลิตะว่าโมคคัลลานะ ด้วยเหตุเป็นบุตรนางโมคคัลลี
ภิกษุผู้เป็นบริวาร บวชแล้วไม่นานได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วบำเพ็ญเพียร
ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ก่อน

ฝ่ายท่านโมคคัลลานะ บวชได้ ๗ วันไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ
อ่อนใจนั่งโงกง่วงอยู่ พระพุทธองค์เสด็จไปที่นั้น
ทรงแสดงอุบายระงับความง่วง ๘ ประการ
ท่านพระโมคคัลลานะได้สดับอุบายแก้ง่วง
และปฏิบัติตามพระโอวาทที่ทรงสั่งสอนก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ในวันนั้นเอง
ภายหลังได้รับยกย่องเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย เลิศทางมีฤทธิ์

ส่วนท่านพระสารีบุตร อุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน
นั่งถวายงานพัดพระบรมศาสดาที่ถ้ำสุกรขาตา เชิงเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์
ได้ฟังพระธรรมเทศนาอันเป็นอุบายแห่งการละทิฏฐิ ๓ ประการ
และเวทนาปริคคหสูตร (การกำหนดเวทนา ๓ ประการ)
ที่พระองค์ทรงแสดงแก่ปริพาชก ชื่อ ทีฆนขะ (มีเล็บยาว) อัคคิเวสสนโคตร
ก็ใช้ปัญญาพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ
ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทานได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนทีฆขนขปริพาชกนั้น
ได้เพียงดวงตาเห็นธรรมหมดความสงสัยในพระพุทธศาสนา
ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แล้วแสดงตนเป็นอุบสกแล้วหลีกไป
ส่วนพระสารีบุตรภายหลังได้รับยกย่องเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา เลิศทางปัญญา

ทรงบำเพ็ญพุทธกิจในมคธรัฐ


ประทานอุปสมบทแก่พระมหากัสสปะ
คราวหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จจาริกโปรดประชาชนในมคธชนบท
ประทับที่ใต้ร่มไทร เรียกว่า หุปุตตกนิโครธ
ในระหว่างกรุงราชคฤห์และนาลันทาต่อกันว่า
ในเวลานั้น ปิปผลิมาณพ กัสสปโคตร
เบื่อหน่ายการครองเรือนถือเพศบรรพชิตบวชอุทิศพระอรหันต์ในโลก
เที่ยวจาริกมาถึงที่นั้น พบพระพุทธองค์เกิดความเลื่อมใส
นับถือพระองค์เป็นศาสดาของตนแล้วทูลขอบวช
พระองค์ทรงประทานอุปสมบทให้ โดยการประทานโอวาท ๓ ข้อ
เรียกว่า โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา คือ

๑. “กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความยำเกรงไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ผู้ปานกลาง และผู้ใหม่อย่างแรงกล้า”
๒. “ธรรมใดก็ตาม ที่ประกอบไปด้วยกุศล เราจักเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้น และพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมนั้น”
๓. “เราจักได้สติที่เป็นไปในกาย คือพิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์ (กายคตาสติ)” ครั้นทรงสั่งสอนอย่างนี้ ก็เสด็จหลีกไป

การบวชแบบนี้เรียกว่า “อุปสมบทด้วยรับโอวาท ๓ ข้อ”
ท่านพระปิปผลิ ได้ฟังพุทธโอวาทที่ทรงสั่งสอนแล้ว
บำเพ็ญเพียรไม่ช้านัก ในวันที่แปดแต่อุปสมบท ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์
เมื่อท่านเข้ามาสู่พระธรรมวินัย สหธรรมิกทั้งหลายมักเรียกชื่อท่านว่า “พระมหากัสสปะ”

แม้ท่าน มหากัจจายนะ ก็ได้มาอุปสมบทโดยเอหิภิกขุอุปสัมปทาจากพระบรมศาสดา
ณ กรุงราชคฤห์

มหาสันนิบาต แห่งสาวกครั้งหนึ่ง
เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งมคธรัฐ
ได้มีการประชุมพระสาวกครั้งใหญ่คราวหนึ่ง เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต”
แปลว่าการประชุมมีองค์ ๔ คือ

๑. พระสาวก ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
๒. พระสาวกเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนเป็นพระอรหันตขีณาสพทั้งสิ้น
๓. พระสาวกเหล่านั้น ล้วนบวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น (คือมีพระพุทธองค์เป็นอุปัชฌาย์)
๔. วันนั้น เป็นวันพระจันทร์เพ็ญเต็มดวงเสวยมาฆฤกษ์ (เพ็ญเดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เมื่อองค์ ๔ มาประชุมพร้อมกันเช่นนี้ พระพุทธองค์จึงทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แด่พระสาวกเหล่านั้น

ใจความใน โอวาทปาติโมกข์ ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจหรือหลักพระพุทธศาสนา คือ

๑. ขันติ คือความอดทน เป็นตบะอย่างยอด ท่านผู้รู้กล่าวนิพพานว่าเป็นยอด บรรพชิตผู้ฆ่า ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็นสมณะ
๒. การไม่ทำบาป (ความชั่ว) ทั้งปวง การยังกุศล (ความดี) ให้บริบูรณ์ และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เป็นศาสนธรรมคำสอนของท่านผู้รู้
๓. การไม่พูดค่อนขอดกัน การไม่ประหัตประหารกัน ความสำรวมในปาติโมกข์ การรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร การพอใจที่นอนที่นั่งอันสงัด การประกอบจิตไว้โดยยิ่ง เป็นคำสอนของท่านผู้รู้

ทรงอนุญาตเสนาสนะ


ตอนต้นพุทธกาล ภิกษุสงฆ์สาวก ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายเวฬุวันให้เป็นที่ประทับพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
ต่อมาเศรษฐีเมืองราชคฤห์เลื่อมใสจึงถวายวิหารแด่พระภิกษุสงฆ์
พระองค์ทรงอาศัยเหตุนี้จึงทรงอนุญาตเสนาสนะ คือที่นอนที่นั่ง ๕ ชนิด ได้แก่

๑. วิหาร คือกุฏิมีหลังคาและปีกทั้งสองข้างอย่างปกติ
๒. อัฑฒโยคะ ได้แก่ โรงหรือร้านที่มุงด้านเดียว เช่นโรงโขน โรงลิเก เป็นต้น
๓. ปราสาท บ้านหรือตึกปลูกซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ตั้งแต่ ๒ ชั้นขึ้นไป
๔. หัมมิยะ ได้แก่ตึกหลังคาตัด ใช้หลังคาเป็นที่ตากอากาศได้
๕. คูหาได้แก่ถ้ำ

ทรงแสดงวิธีทำปุพพเปตพลี


พวกพราหมณ์มีธรรมเนียมเซ่นและทำทักษิณาอุทิศบุรพบิดรของเขาเรียกว่า “ศราท”
การเซ่นด้วยก้อนข้าว เรียกว่า “สปิณฑะ”
แปลว่า ผู้ร่วมก้อนข้าว สมาโนทก แปลว่า ผู้ร่วมน้ำ

ส่วนพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ทำบุญอุทิศแก่เปรตชนคือ ผู้ตายทั่วไป
โดยไม่จำกัดเพียงบุรพบิดรเท่านั้น จะเป็นเพื่อนมิตรสหายหรือใครก็ได้
โดยการกระทำทั้ง ๒ อย่าง คือ
ทั้งสปิณฑะและสมาโนทก โดยนำไปบริจาคในสงฆ์ แทนที่จะวางให้สัตว์มีกา เป็นต้น
กิน แล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่เปรตชนเหล่านั้น
ทักษิณาที่อุทิศมตกทาน แปลว่า การถวายทานอุทิศให้ผู้ตายบ้าง
ส่วนทักษิณาที่อุทิศเฉพาะบุรพบิดร เรียกว่าเปรตชนมีความหมายเป็น ๒ นัย คือ

๑. หมายถึงผู้ที่ตายไปแล้ว
๒. หมายถึงสัตว์ที่ไปเกิดในปิตติวิสัย

เปรตจะได้รับผลทานเพราะลักษณะ ๓ ประการ คือ

๑. ทายกบริจาคทานแล้วต้องอุทิศส่วนบุญไปให้
๒. ปฏิคาหกผู้รับทานเป็นทักขิเณยยะ คือ ผู้ควรที่จะรับทาน
๓. เปรตชนนั้นได้รับส่วนบุญแล้วต้องอนุโมทนา

ทายกผู้ทำทักษิณา แสดงออก ๓ ประการ คือ

๑. ได้แสดงญาติธรรมให้ปรากฏ
๒. ได้ทำการบูชา คือยกย่องเปรตชน
๓. ได้เพิ่มกำลังให้แก่ภิกษุทั้งหลาย เป็นอันได้บุญมิใช่น้อย

ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่


ทรงให้บวชราธพราหมณ์ โดยการให้พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์
และตรัสให้เลิกการอุปสมบทด้วยไตรสรณคมนูปสัมปทา
ทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยวิธีประชุมสงฆ์ ตั้งญัตติ ๑ ครั้ง
และสวดอนุสาวนา (สวดประกาศ) ๓ ครั้ง วิธีนี้ เรียกว่า “ญัตติจตุตถกรรมวาจา”
แม้ในสังฆกรรมอื่น ๆ ก็ทรงมอบอำนาจให้แก่สงฆ์


ทรงสอนผ่อนคดีธรรมคดีโลก


พระพุทธองค์ทรงเปลี่ยนแปลงการไหว้ทิศทั้ง ๖ ของสิงคาลมาณพมาใช้ในหลักพระพุทธศาสนาว่า

๑. ทิศบูรพา อันเป็นทิศเบื้องหน้า ได้แก่ มารดาบิดา
๒. ทิศทักษิณ อันเป็นทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์
๓. ทิศปัจจิม อันเป็นทิศเบื้องหลัง ได้แก่ บุตรภรรยา
๔. ทิศอุดร อันเป็นทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหาย
๕. เหฏฐิมทิศ อันเป็นทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ลูกจ้าง คนใช้
๖. อุปริมทิศ อันเป็นทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์

ผู้ที่จะไหว้ทิศทั้ง ๖ ควรเว้นสิ่งต่อไปนี้ คือ

๑. กรรมกิเลส คือการงานอันเศร้าหมอง ๔ อย่าง
๒. อคติ คือความลำเอียง ๔ อย่าง
๓. อบายมุข คือทางหายนะ ๖ อย่าง


เสด็จสักกชนบท


พระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดา ทรงทราบว่า
พระบรมศาสดา ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
แล้วเสด็จจาริกแสดงธรรมสั่งสอนบรรพชิตคฤหัสถ์มาโดยลำดับ
เสด็จประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ มีพระราชประสงค์จะทรงได้เห็น
จึงตรัสสั่งกาฬุทายีอมาตย์ให้ไปเชิญอาราธนาพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ทรงใช้เวลาเสด็จอยู่ ๒ เดือน
จึงเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์แคว้นสักกชนบท ประทับอยู่ที่นิโครธาราม
พร้อมด้วยภิกษุบริวาร ๒ หมื่นองค์ ทรงทำลายทิฏฐิมานะของพวกศากยะกษัตริย์
จนเป็นเหตุมหัศจรรย์ ฝนโบกขรพรรษตกลงมาในสมาคมนั้น
พวกภิกษุสงสัยทูลถาม จึงได้ตรัสเวสสันดรชาดก
และได้ทรงตรัสกิจวัตรของสมณะ
กับทั้งทรงตรัสพระธรรมเทสนาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะจนได้บรรลุโสดาปัตติผล

ในครั้งหนึ่ง เศรษฐีคฤหบดี ชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ชื่อสุทัตต์
ได้ไปกรุงราชคฤห์ด้วยภารกิจบางอย่างได้ทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงเสด็จอยู่ ในเมืองนี้
จึงได้เข้าไปเฝ้า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ ให้ฟัง
ท่านเศรษฐีก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วกราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสก เป็นผู้มีใจบุญ
มีศรัทธาถวายทานในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และได้ให้ทานแก่คนยากไร้อนาถา
ภายหลังได้เนมิตตกนามว่า “อนาถปิณฑิกะ” แปลว่า ก้อนข้าวสำหรับคนอนาถา.

ทรงปลงอายุสังขาร


เมื่อพระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินสั่งสอนเวไนยสัตว์ในคามนิคมชนบทราชธานีต่างๆ
มีเมืองราชคฤห์เป็นต้น ประดิษฐานพุทธสาวกมณฑลให้เป็นไป
นับการกำหนดแต่ได้ตรัสรู้ล่วงมาได้ ๔๔ พรรษา
ครั้นพรรษาที่ ๔๕ เสด็จจำพรรษา ณ บ้านเวฬุคาม เขตเมืองเวสาลี ภายในพรรษา
กาลนั้นพระองค์ทรงพระประชวรชราพาธกล้า
เกิดทุกขเวทนาใกล้มรณชนม์พินาศ
แต่พระองค์ทรงดำรงค์พระสติสัมปชัญญะ
ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาด้วยอธิวาสนขันติ
เห็นว่ายังมิควรที่จะปรินิพพานจึงทรงขับไล่บำบัดอาพาธนั้นให้สงบระงับไป
ทรงสั่งสอนภิกษุสงฆ์ในเอกายนมรรค คือ
สติปัฏฐานทั้ง ๔ และปกิณณกเทศนาตามสมควร

จนกาลล่วงไปถึงมาฆปุณณมี แห่งฤดูเหมันต์ (ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓) เวลาเช้าวันนั้น
พระองค์ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จโคจรบิณฑบาต ณ เมืองเวสาลี
ครั้นหลังเวลาภัตตาหารดำรัสสั่งให้พระอานนท์ถือเอาผ้านิสีทนะสำหรับรองนั่ง
เสด็จไปยังปาวาลเจดีย์ เพื่อสำราญพระอิริยาบถในเวลากลางวัน
พระพุทธองค์ทรงพระประสงค์จะให้พระอานนท์กราบทูลอาราธนาให้ดำรงค์อยู่ชั่วอายุกัปหนึ่ง
หรือเกินกว่าอายุกัปจึงได้ตรัสโอภาสปริยายนิมิตอันชัดถึง ๓ ครั้ง
แสดงอานุภาพแห่งอิทธิบาทภาวนา
สามารถจะให้ท่านผู้เจริญดำรงค์อยู่ได้อายุกัปหนึ่ง หรือเกินกว่าอายุกัป
แต่มารเข้าดลใจท่านพระอานนท์จึงไม่สามารถรู้ทันมิได้อาราธนา
พระองค์จึงทรงขับพระอานนท์ไปเสียจากที่นั่น
ครั้นท่านพระอานนท์หลีกไปไม่ช้า
มารได้เข้าไปเฝ้ายกเนื้อความแต่ปางหลังเมื่อเริ่มแรกตรัสรู้และกราบทูลว่า
“บัดนี้ ปริสสมบัติและพรหมจรรย์ก็สมบูรณ์ดังพุทธประสงค์ทุกประการแล้ว
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงปรินิพพานเถิด
บัดนี้เป็นกาลที่จะปรินิพพานแห่งพระผู้มีพระภาคแล้ว”
พระองค์จึงตรัสว่า “ดูก่อนมารผู้มีบาป เธอจงมีความขวนขวายน้อยเถิด
ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีในไม่ช้า แต่นี้ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจักปรินิพพาน”

ลำดับนั้น พระพุทธองค์ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ
ปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์นั้น
ก็เกิดมหัศจรรย์แผ่นดินไหวใหญ่
และขนลุกชูชันสยองเกล้าน่าสะพึงกลัว
ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือลั่นในอากาศ

เหตุเกิดแผ่นดินไหว ๘ ประการ


ท่านพระอานนท์เกิดพิศวงความมหัศจรรย์นั้นจึงเข้าไปถวายบังคมแล้วทูลถาม
พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า เหตุที่จะให้แผ่นดินไหวมี ๘ ประการ คือ

๑. ลมกำเริบ
๒. ท่านผู้มีฤทธิ์บันดาล
๓. พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิตลงสู่พระครรภ์
๔. พระโพธิสัตว์ประสูติ
๕. พระโพธิสัตว์ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๖. ตถาคตแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
๗. ตถาคตปลงอายุสังขาร
๘. ตถาคตปรินิพพาน

สถานที่ทรงกระทำนิมิตโอภาส ๑๖ ตำบล


ท่านพระอานนท์ได้ทราบว่า พระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร
จึงกราบขอทูลอาราธนาว่า
“ขอพระผู้มีพระภาคจงดำรงอยู่กัปหนึ่งเถิด เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

พระองค์ทรงตรัสห้ามว่า
“อย่าเลย อานนท์ ท่านอย่าได้อ้อนวอนตถาคตเลยบัดนี้มิใช่กาลเพื่อจะวิงวอนเสียแล้ว”

เมื่อตถาคตทำนิมิตโอภาส หากอานนท์พึงวิงวอนไซร้
ตถาคตพึงห้ามเสีย ๒ ครั้ง ครั้นวาระที่ ๓ ตถาคตจะรับอาราธนา
แต่อานนท์มิได้วิงวอน เพราะเหตุนั้นจึงเป็นความผิดของอานนท์ผู้เดียว
สถานที่ตถาคตทำนิมิตโอภาส ๑๖ ตำบล คือ เมืองราชคฤห์ ๑๐ ตำบล ได้แก่

๑. ภูเขาคิชฌกูฏ
๒. โคตมนิโครธ
๓.เหวที่ทิ้งโจร
๔ .ถ้ำสัตตบรรณคูหา
๕.กาฬศิลา เชิงภูเขาอิสิคิริบรรพต
๖.เงื่อมสัปปิโสณฑิกา ณ สีตวัน
๗.ตโปทาราม
๘.เวฬุวัน
๙.ชีวกัมพวัน
๑๐.มัททกุจฉิมิคทายวัน

และเมืองเวสาลี ๖ ตำบลได้แก่
๑.อุเทนเจดีย์
๒.โคตมกเจดีย์
๓.สัตตัมพเจดีย์
๔.พหุปุตตเจดีย์
๕.สารันททเจดีย์
๖. ปาวาลเจดีย์

ปัจฉิมบิณฑบาต


เมื่อพระองค์ตรัสแก่พระอานนท์แล้ว
จึงเสด็จพุทธดำเนินไปยังกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
ให้พระอานนท์เรียกประชุมภิกษุสงฆ์ ด้วยอภิญญาเทสิตธรรม
ธรรมที่ทรงแสดงด้วยปัญญาอันยิ่ง ได้แก่
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘
เพื่อประโยชน์สุขเกื้อกูลแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลกและทรงสั่งสอนสังเวคกถาและอัปปมาทธรรม

ครั้นรุ่งเช้า ทรงนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาทยังเมืองเวสาลี
ครั้นปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้ว ทอดพระเนตรเมืองเวสาลีเป็น “นาคาวโลก”
คือทรงกลับพระองค์ (กลับหันหลัง) เหมือนกับช้าง
ทอดพระเนตร อันเป็นกาการแห่งมหาบุรุษ ตรัสกะพระอานนท์ว่า
“ดูก่อนอานนท์ตถาคตเห็นเมืองเวสาลีครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย
เรามาพร้อมกันไปบ้านภัณฑุคามกันเถิด”
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับอยู่ ณ บ้านภัณฑุคามนั้น
ตรัสเทศนาอริยธรรม ๔ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ
ต่อแต่นั้นก็เสด็จไปยังบ้านหัตถีคาม อัมพคาม ชัมพุคาม และโภคนคร ประทับอยู่ที่อานันทเจดีย์
ตรัสมหาปเทศ ๔ ฝ่ายพระสูตรว่า
“ถ้าจะมีผู้ใดมาอ้างว่า นี้เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์
เธออย่าพึงรีบเชื่อและอย่างถึงปฏิเสธก่อน
พึงเรียนบทพยัญชนะให้แน่นอนแล้วพึงสืบสวนในสูตร
พึงเทียบในวินัย ถ้าสอบไม่ตรงกันในสูตร เทียบกันไม่ได้ในวินัย
พึงเข้าใจว่านั้นไม่ใช่คำของพระผู้มีพระภาค
เธอผู้นั้นรับมาผิด จำมาเคลื่อนคลาด ถ้าสอบกันได้เทียบกันได้
นั่นเป็นคำของพระผู้มีพระภาค” เป็นต้น

เมื่อวันคืนล่วงไปใกล้กำหนดจะปรินิพพาน
พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ บริวารได้เสด็จไปยังเมืองปาวานคร
ประทบอยู่ที่สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร นายจุนทกัมมารบุตร
ทราบข่าวจึงไปเฝ้า ได้ฟังธรรมีกถาแล้วเลื่อมใส
จึงได้กราบทูลนิมนต์เพื่อฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น
พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์บริวารแล้วลากลับ

รุ่งขึ้นเวลาเช้า อันเป็นวันวิสาขปุรณมี (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖)
พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริษัท
เสด็จไปถึงบ้านของนายจุนทะ ประทับ ณ พุทธอาสน์แล้ว
ตรัสเรียกหานายจุนทะแล้วว่า “ดูกร จุนทะ สูกรมัททวะ (เห็ดชนิดหนึ่ง)
ที่เธอได้จัดแจงไว้นั้น จงอังคาส(ถวาย) แต่ตถาคตเท่านั้น
ส่วนของเคี้ยวของฉันอันประณีต เธอจงอังคาสภิกษุสงฆ์เถิด”
นายจุนทะทำตามพระพุทธประสงค์ เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว
ตรัสให้นายจุนทะนำสูกรมัททวะไปฝังเสีย มิให้ผู้ใดบริโภค
ทรงแสดงธรรมีกถาแล้วเสด็จกลับ

ทรงพระประชวร


เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยภัตตาหารของนายจุนทะแล้ว
ก็เกิดอาพาธอย่างแรงกล้า ทรงพระประชวรลงพระโลหิต (อาเจียนเป็นเลือด) ใกล้แต่มรณทุกข์
ทรงมีพระสติสัมปชัญญะทรงอดกลั้นด้วยอธิวาสนขันติ
จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า
“อานนท์ เรามาพร้อมกันเถิด เราจักไปเมืองกุสินารา”
เมื่อเสด็จมากลางทางทรงเหน็ดเหนื่อย
ทรงแวะเข้าประทับร่มไม้แห่งหนึ่งตรัสให้พระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิพับเป็น ๔ ชั้น
แล้วประทับนั่ง ตรัสให้นำน้ำมาให้ดื่ม ท่านอานนท์นำบาตรไป
น้ำที่ขุ่นเพราะเกวียน ๕๐๐ เล่ม ก็กลับใส
พระอานนท์ตักน้ำนำมาถวายแล้วกราบทูลถึงความมหัศจรรย์
ขณะนั้นบุตรแห่งมัลลกษัตริย์ชื่อปุกกุสะ
เคยเป็นศิษย์แห่งสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตรร่วมกัน
เดินผ่านมาเห็นเข้าจำได้ จึงเข้าไปเฝ้า ได้ฟังสันติวิหารธรรม เกิดเลื่อมใส
ได้ถวายผ้าสิงคิวรรณ ๑ คู่ แล้วหลีกไป
เมื่อพระองค์ทรงนุ่งห่ม ปรากฏว่าผิวพรรณงามยิ่งนักเป็นที่น่ามหัศจรรย์
พระอานนท์กราบทูลสรรเสริญ พระองค์ตรัสว่า
“ผิวกายของตถาคตจะผุดผ่องสวยงามยิ่งใน ๒ กาล คือ
ในราตรีที่จะได้ตรัสรู้ และในราตรีที่จะปรินิพพาน
ดูก่อนอานนท์ ในยามสุดท้ายแห่งราตรีวันนี้
ตถาคตจักปรินิพพาน ณ ระหว่างไม้รังทั้งคู่ที่สาลวโนทยานเมืองกุสินารา
อานนท์ เรามาไปยังแม่น้ำกกุธานทีกันเถิด”

บิณฑบาต มีผลมาก ๒ คราว คือ

๑. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้
๒. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วปรินิพพานมีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมาก มีอานิสงส์มากว่าบิณฑบาตทั้งลายอื่น ๆ กรรมที่ให้อายุ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ และความเป็นอธิบดี

ต่อแต่นั้นเสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญญวดีถึงสาลวโนทยานเมื่องกุสินารา
ตรัสให้พระอานนท์ตั้งเตียงหันศีรษะไปทางทิศอุดร ระว่างต้นไม้รังทั้งคู่
ทรงสำเร็จสีหไสยา มีพระสติสัมปชัญญะ แต่มิได้มีมนสิการที่จะลุกขึ้น
เพราะเป็นการบรรทมครั้งสุดท้าย เรียกว่าอนุฏฐานไสยา

สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล


สังเวชนียสถาน คือ สถานที่พุทธบริษัทควรจะเห็น ควรจะดู
และควรให้เกิดความสังเวชแห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธา

๑. สถานที่พระตถาคตเจ้าประสูติ (ลุมพินีวัน)
๒. สถานที่พระตถาคตเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (อุรุเวลาเสนานิคม)
๓. สถานที่พระตถาคตเจ้าแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (อิสิปตนมฤคทายวัน)
๔. สถานที่พระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ (สาลวโนทยาน)

ถูปารหบุคคล

คือบุคคลที่ควรแก่การประดิษฐานไว้ในสถูป ๔ จำพวก คือ

๑. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า
๓. พระอรหันตสาวก
๔. พระเจ้าจักรพรรดิ์


โปรดสุภัททปริพาชก


มีปริพาชกคนหนึ่งชื่อว่าสุภัททะได้ขอเข้าเฝ้า
พระอานนท์ทัดทานไว้ถึง ๓ ครั้ง
พระองค์ทรงได้สดับ จึงตรัสให้เข้าเฝ้า
สุภัททปริพาชกทูลถามถึงเรื่องครูทั้ง ๖ คือ
ปูรณกัสสป มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล
ปุกุทธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครนถนาฏบุตร
ว่าตรัสรู้ด้วยปัญญาจริงหรือไม่
พระองค์ตรัสตอบว่า มรรคมีองค์ ๘ มีอยู่ ในธรรมวินัยใด
พระอริยบุคคลย่อมมีในธรรมวินัยนั้น
แต่มรรคมีองค์ ๘ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น
หากว่าชนทั้งหลายยังปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ไซร้ (ปฏิบัติตามอริยมรรค ๘ )
โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์

สุภัททะเกิดเลื่อมใสทูลขอบวช
เมื่อบวชแล้วปลีกตนออกจากหมู่คณะบำเพ็ญเพียรไม่ช้าก็สำเร็จพระอรหันต์
ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน
นับเป็นพระอรหันตสาวกองค์สุดท้าย


ประทานพระโอวาท


พระพุทธองค์ตรัสประทานโอวาทแก่ภิกษุบริษัทว่า
เธอทั้งหลายอย่ามีความดำริว่าปาพจน์ คือ ศาสนธรรม
มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาแห่งเราทั้งหลายไม่มี
เธอทั้งหลายไม่ถึงเห็นเช่นนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใดอันเราได้แสดงแล้ว
ได้บัญญัติไว้แล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น
จักเป็นศาสดาแห่งเธอทั้งหลาย
โดยกาลล่วงไปแล้วแห่งเราต่อแต่นั้นทรงสั่งสอนให้ภิกษุร้องเรียกกัน
และกันโดยอาหารอันสมควรว่า
ภิกษุเถระผู้แก่พรรษา พึงเรียกภิกษุที่อ่อนกว่าตนโดยชื่อ หรือ โคตร หรือโดยคำว่า “อาวุโส”
ส่วนภิกษุใหม่ที่อ่อนพรรษา พึงเรียกภิกษุผู้เถระมีพรรษาแก่กว่าตนว่า “ภันเต” หรือ “อายัสมา”

ปัจฉิมโอวาท


ทรงตรัสเตือนภิกษุเป็นครั้งสุดท้ายว่า
“บัดนี้ ตถาคตขอเตือนเธอทั้งหลายให้รู้ว่าสังขารทั้งหลายมีความฉิบหายไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวง อันเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
พระดำรัสนี้เป็นปัจฉิมโอวาท คือคำสั่งสอนครั้งสุดท้าย


ต่อแต่นั้นพระองค์มิได้ตรัสอะไรเลย
ทรงทำปรินิพพานปริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ คือ
ทรงเข้ารูปสมาบัติทั้ง ๔ (รูปฌาน) ตามลำดับ
ออกจากรูปฌานที่ ๔ แล้วเข้าอรูปสมาบัติทั้ง ๔ (อรูปฌาน)
ออกจาอรูปฌานที่ ๔ แล้ว เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ดับจิตสังขาร คือสัญญาและเวทนา
ครั้นแล้วทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธเข้าสู่อรูปฌานที่ ๔
ถอยหลังตามลำดับกลับมาจนกระทั่งปฐมฌาน
ออกจากปฐมฌานแล้วเข้าสู่ ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานโดยลำดับ
พิจารณาองค์แห่งจตุตถฌานนั้นแล้ว
เสด็จออกจากฌานนั้นยังมิทันเข้าสู่อรูปสมาบัติ
ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน
ณ ยามสุดท้ายแห่งราตรีวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๑ ปี
ในขณะนั้นก็บังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่สั่นสะเทือน
โลมชาติชูชันสยดสยอง กลองทิพย์ก็บันลือสนั่นสำเนียงในอากาศ

ถวายพระเพลิง


เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ ๗ วัน เจ้ามัลลกษัตริย์
จึงได้เชิญพระพุทธสรีระไปประดิษฐานไว้ ณ มกุฏพันธนเจดีย์
เพื่อถวายพระเพลิง แต่ได้ถวายพระเพลิงในวันที่ ๘ เพราะรอคอยพระมหากัสสปะอยู่

ฝ่ายกษัตริย์และพราหมณ์ ๗ พระนคร คือ
พระเจ้าอชาตศัตรูเมืองราชคฤห์,
เจ้าลิจฉวีเมืองเวสาลี,
เจ้าศากยะกรุงกบิลพัสดุ์,
ถูลีกษัตริย์ในอัลลกัปปนคร,
โกลิยกษัตริย์ในรามคาม,
มหาพราหมณ์เจ้าเมืองเวฏฐทีปกะ
และมัลลกษัตริย์ในเมืองปาวา

ทั้ง ๗ พระนครนี้เมื่อได้ทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธจ้า
ต่างก็ส่งทูตมาถึงมัลลกษัตริย์เพื่อขอส่วนแบ่งพระสารีริกธาตุเอาไปทำการสักการะบูชา
ครั้งแรกมัลลกษัตริย์ไม่ยอมแบ่งให้ จนจวนจะเกิดสงครามแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุขึ้น
โทณพราหมณ์ จึงพูดกับทูตเหล่านั้นว่า
พระพุทธองค์เป็นผู้มีขันติธรรมแนะนำในทางสงบ
พวกเราจะมาทำสงครามกันแย่งชิงพระสารีริกธาตุคงจะไม่สมควร
แล้วจึงพูดให้ทุกคนสามัคคีกัน
จากนั้นก็ได้แบ่งพระสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเท่า ๆ กันให้ทูตเหล่านั้น
นำไปสักการะบูชาในเมืองของตน

ฝ่ายโมริยกษัตริย์ในเมืองปิปผลิวัน ได้ทราบข่าว
ก็ส่งทูตมาขอส่วนแบ่งบ้าง แต่พระบรมสารีริกธาตุหมดแล้วจึงได้พระอังคารไป

เจดีย์ ๔ ประเภท


สัมพุทธเจดีย์ คือเจดีย์อันเนื่องด้วยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านกล่าวไว้ ๔ ประเภท คือ

๑. ธาตุเจดีย์ เป็นพระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒. บริโภคเจดีย์ เป็นพระสถูปที่บรรจุเครื่องบริขารของพุทธองค์
๓. อุทเทสิกเจดีย์ เป็นพระสถูปประดิษฐ์พระพุทธรูป หรือพระพุทธปฏิมา
๔. ธรรมเจดีย์ เป็นพระสถูปที่บรรจุคัมภีร์ใบลาน หรือหนังสือคัมภีร์ที่จารึกพุทธวจนะ

สังคายนา


สังคายนา หรือสังคีติ หรือการร้อยกรอง
หรือจัดแจงพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ว่านี่เป็นธรรม นี่เป็นวินัย
จัดเป็น ๓ หมวด เรียกว่า พระไตรปิฎก คือ

๑. ที่เป็นกฎระเบียบ ข้อบังคับ จัดเป็น วินัยปิฎก
๒. ที่เป็นพระธรรมคำสอน อันเป็นบุคลาธิษฐาน ยกบุคคลเป็นอุทาหรณ์ จัดเป็นสุตตันตปิฎก
๓. ที่เป็นธรรมล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับบุคคลเป็นธรรมที่สุขุมลึกซึ่ง จัดเป็น อภิธรรมปิฎก

การทำสังคายนานั้น ที่พอจะนับได้มี ๕ ครั้ง ทำในชมพูทวีป ๓ ครั้ง ในลังกาทวีป ๒ ครั้ง คือ

๑. ปฐมสังคายนา ครั้งที่ ๑ กระทำที่หน้าถ้ำสัตตบรรณคูหา เชิงภูเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์
พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภก ภายหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน
พระมหากัสสปะ เป็นประธาน
พระอุบาลีเถระ วิสัชนาพระวินัย
พระอานนท์ วิสัชนาพระสูตร และพระอภิธรรม
รวมกับพระอรหันตขีณาสพจำนวน ๕๐๐ องค์
ปรารภเรื่องพระสุภัททะกล่าวจ้วงจาบศาสนา กระทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ

๒. ทุติยสังคายนา ครั้งที่ ๒ กระทำที่วาลิการาม เมื่องเวสาลี
พระเจ้ากาฬาโศกราชเป็นองค์อุปถัมภก
เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐
โดยพระอรหันต์จำนวน ๗๐๐ องค์
มีพระยสกากัณฑกบุตรเถระเป็นประธานและมีพระสัพพกามีเถระ และพระเรวัตตเถระ เป็นต้น
ชำระเรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ ที่พวกภิกษุชาววัชชีบุตร ชาวเมืองเวสาลีนำมาแสดงว่าไม่ผิดธรรมวินัย
กระทำอยู่ ๘ เดือน จึงสำเร็จ

๓. ตติยสังคายนา ครั้งที่ ๓ กระทำที่อโศการาม เมื่องปาฏลีบุตร
พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นองค์อุปถัมภก
เมื่อ พ.ศ. ๒๑๘
โดยพระอรหันต์ จำนวน ๑,๐๐๐ องค์
มีพระโมคคัลลีบุตรติสส เถระเป็นประธาน
เนื่องด้วยเดียรถีย์ปลอมบวชในพุทธศาสนา กระทำอยู่ ๙ เดือน จึงสำเร็จ

๔. จตุตถสังคายนา ครั้งที่ ๔ กระทำที่ถูปาราม เมืองอนุราชบุรี ลังกาทวีป
พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นองค์อุปถัมภก
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖
โดยพระมหินทเถระ และพระอริฏฐเถระ เป็นประธาน
ชักชวนภิกษุชาวสีหล ๖๘,๐๐๐ องค์
เพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงในสังกาทวีป กระทำอยู่ ๑๐ เดือน จึงสำเร็จ

๕. ปัญจมสังคายนา ครั้งที่ ๕ กระทำที่อาโลกเลณสถาน ในมลัยชนบท ลังกาทวีป
พระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย เป็นองค์อุปถัมภก
เมื่อ พ.ศ. ๔๕๐
โดยภิกษุชาวสีหลผู้พระอรหันต์ จำนวน ๑,๐๐๐ องค์
พระติสสมหาเถระ และพระพุทธทัตตเถระเป็นต้น
เห็นความเสื่อมถอยปัญญาแห่งกุลบุตรจึงได้ประชุมกันมาจารึกพระธรรมวินัย
เป็นอักษรลงไว้ในใบลาน ทำอยู่ ๑ ปี จึงสำเร็จ ฯ

สถานที่สำคัญ


๑. สวนลุมพินีวัน เป็นสถานที่ประสูติ
๒. ต้นโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เป็นสถานที่ตรัสรู้
๓. ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา
๔. ปาวาลเจดีย์ เป็นสถานที่ทรงปลงอายุสังขาร
๕. สาลวโนทยาน เป็นสถานที่ปรินิพพาน
๖. มกุฏพันธนเจดีย์ เป็นสถานที่ถวายพระเพลิง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น