วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

พุทธประวัติตอน ๑๕ พระอริยสาวกที่สำคัญในพระพุทธศาสนา

พระอริยสาวกที่สำคัญในพระพุทธศาสนา


พระมหากัสสปะ


พระมหากัสสปะ เป็นพระอรหันต์สาวกองค์หนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า เป็นเอตทัคคะที่ทรงยกย่องและให้ถือเป็นแบบอย่างในด้านผู้ทรงธุดงค์และสรรเสริญคุณแห่งธุดงค์ ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ท่านได้เป็นประธานในการสังคายนาครั้งที่หนึ่งในศาสนาพุทธ

ประวัติ

ก่อนบวช


พระมหากัสสปะมีนามว่า ปิปผลิ เป็นบุตรของกปิลพราหมณ์
เกิดที่หมู่บ้านมหาติตถะ แคว้นมคธ
เมื่ออายุเข้าย่างสู่ 20 ปี มารดาบิดาของท่านรบเร้าให้ท่านแต่งงาน 
ท่านปฏิเสธเพราะตั้งใจว่าเมื่อดูแลมารดาบิดาจนทั้งสองเสียชีวิตแล้วก็จะออกบวช 
แต่มารดาบิดาของท่านยังยืนยันให้ท่านแต่งงานเพื่อดำรงวงศ์ตระกูล 
ปิปผลิจึงจ้างช่างหล่อทองคำเป็นรูปหญิงสาว 
ประดับด้วยผ้านุ่งสีแดง ดอกไม้ และเครื่องประดับต่าง ๆ 
แล้วบอกมารดาว่าถ้าหาหญิงสาวลักษณะตามรูปปั้นดีได้จึงจะยอมแต่งงาน 
มารดาของท่านจึงให้พราหมณ์ ๘ คนนำรูปหล่อไปตามหาหญิงสาวที่มีลักษณะตามนั้น 
เมื่อได้พบนางภัททากาปิลานี จึงแจ้งให้กบิลพราหมณ์ทราบ 
ทั้งปิปผลิและภัททาต่างไม่อยากแต่งงานจึงแอบส่งจดหมายขอให้อีกฝ่ายหาคู่ครองใหม่ 
แต่คนถือจดหมายได้แปลงข้อความในจดหมาย ทั้งสองจึงได้แต่งงานกันในที่สุด

ออกบวช

วันหนึ่ง ปิปผลิไปตรวจนาเห็นฝูงนกจิกกินไส้เดือน
จึงถามบริวารว่าบาปของสัตว์พวกนั้นตกแก่ใคร 
บริวารว่าตกแก่ท่านปิปผลิ 
ท่านสังเวชใจว่าถ้าอกุศลกรรมแบบนี้ตกแก่ท่านแล้ว 
ถึงเวียนว่ายตายเกิดสักพันชาติก็คงไม่พ้นทุกข์ 
กลับถึงบ้านแล้วจึงบอกภรรยาว่าจะออกบวช 
ภรรยาของท่านก็จะออกบวชเช่นกัน
ทั้งสองปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสายะ 
ตั้งใจออกบวชเพื่ออุทิศพระอรหันต์ในโลก 
แล้วออกจากไปจนถึงทางแยกก็แยกกันเดินทาง 
ขณะที่แยกทางกันนั้นก็เกิดแผ่นดินไหว



บรรลุอรหัตผล


หลังจากบวชได้ครบ 7 วัน เข้าวันที่ 8 
พระมหากัสสปะก็พบพระพุทธเจ้าขณะประทับที่พหุปุตตเจดีย์ 
พระองค์ประทานโอวาทแก่ท่าน 3 ข้อ คือ
  1. มีหิริและโอตตัปปะอย่างแรงกล้าในภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ ผู้เป็นนวกะ และผู้เป็นมัชฌิมะ
  2. ฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกุศล จักกระทำธรรมนั้นทั้งหมดให้เป็นประโยชน์ มนสิการถึงธรรมนั้นทั้งหมด จักประมวลจิตมาทั้งหมด เงี่ยโสตสดับธรรม
  3. ไม่ละกายคตาสติที่ประกอบด้วยความยินดี
พระมหากัสสปะฟังแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ 
จากนั้นท่านนำผ้าสังฆาฏิของตนปูถวายพระพุทธเจ้าให้ทรงประทับนั่ง 
พระพุทธเจ้าจึงประทานผ้าป่านบังสุกุลให้ท่านใช้แทน 
ขณะนั้นแผ่นดินก็ไหวขึ้น
เพราะไม่เคยมีมาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะประทานจีวรที่ทรงใช้แล้วแก่พระสาวก 
พระมหากัสสปะประทับใจมากด้วยระลึกว่าท่านเป็น 
"บุตรของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอษฐ์ 
เกิดแต่พระธรรม อันพระธรรมเนรมิตแล้ว เป็นธรรมทายาท 
ได้รับผ้าป่านบังสุกุลที่ใช้สอยแล้ว"



ปฐมสังคายนา


พระมหากัสสปเถระได้ทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า 
เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วได้ 7 วัน 
ขณะที่ท่านกำลังเดินทางอยู่ ณ เมืองปาวาพร้อมด้วยหมู่ศิษย์จำนวนมาก 
เมื่อได้ทราบข่าวนั้น เหล่าศิษย์ของพระมหากัสสปะซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ 
ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้น 
จึงมีพระภิกษุผู้บวชเมื่อแก่รูปหนึ่ง ชื่อว่าสุภัททะ ได้กล่าวขึ้นว่า 
"พอทีเถิด พวกท่านอย่าโศกเศร้า อย่าคร่ำครวญเลย 
พวกเรารอดพ้นดีแล้วจากพระมหาสมณะรูปนั้นที่คอยจ้ำจี้จ้ำไชพวกเราอยู่ว่า
‘สิ่งนี้ควรแก่พวกเธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่พวกเธอ’ 
บัดนี้ พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักทำสิ่งนั้น 
ไม่ปรารถนาสิ่งใด ก็จักไม่ทำสิ่งนั้น" 
พระมหากัสสปะได้ฟังเช่นนั้นก็ดำริขึ้นว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 7 วัน 
ก็มีผู้คิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน
หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัยเช่นนี้ 
จึงควรจะทำสังคายนาและจะชักชวนพระอรหันต์เถระทั้งหลาย
ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรง 
เป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า 
และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ 
รู้ว่าสิ่งใดที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้มาประชุมกัน 
เพื่อช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า 
แล้วตกลงวางมติไว้ ใช้เวลา 7 เดือน พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นผู้อุปถัมภ์

การสังคายนาครั้งที่หนึ่งในศาสนาพุทธจึงได้จัดขึ้นที่ถ้ำสัตบรรณคูหา 
กรุงราชคฤห์ ตามคำปรารภของพระมหากัสสปะเถระ 
โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ 
ใช้เวลาในการสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยอยู่ 7 เดือนจึงแล้วเสร็จ 
โดยในครั้งนั้น พระมหากัสสปะเถระเป็นประธานทำสังคายนา 
พระอานนท์เป็นองค์วิสัชชนาแสดงพระธรรม 
พระอุบาลีเป็นองค์วิสัชชนาพระวินัยปิฎก 
การสังคายนาครั้งนั้นนับเป็นต้นกำเนิดของพระไตรปิฎกภาษาบาลีที่ใช้ในนิกายเถรวาทในปัจจุบัน


พระอานนท์


พระนามเดิม: อานันทศากยะ

พระนามอื่น: พระอานนท์, พระอานนท์พุทธะอนุชา, พระอานนทเถระ, พระอานนท์เถระ, เจ้าชายอานันทะ, เจ้าชายอานนท์

สถานที่ประสูติ: เมืองกบิลพัสดุ์

ตำแหน่ง: พระบรมพุทธอุปัฏฐาก

เอตทัคคะ: มีสติเป็นเลิศ, มีความทรงจำเป็นเลิศ, มีความเพียรเป็นเลิศ, พหูสูตร, ยอดพระพุทธอุปัฏฐาก


นิพพาน: เมื่ออายุได้ 120 พรรษา


สถานที่นิพพาน: กลางแม่น้ำโรหิณี (ระกว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ)

สถานะเดิม
ชาวเมือง: กบิลพัสดุ์
นามพระบิดา: พระเจ้าอมิโตทนศากยราช
นามพระมารดา: พระนางมฤคีเทวี
วรรณะเดิม: กษัตริย์
ราชวงศ์: ศากยราชวงศ์

สถานที่รำลึก

ชื่อสถานที่
: กุฎิพระอานนท์ ในอารามโบราณสมัยพุทธกาล เช่น 
กุฎิพระอานนท์วัดพระเชตวันมหาวิหาร กุฎีพระอานนท์ที่เขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ เป็นต้น

พระอานนท์ เป็นสหชาติและพุทธอุปัฏฐากของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าพระสาวกอื่นถึง 5 ประการ และเป็นพหูสูต 
เนื่องจากเป็นผู้ทรงจำพระสูตรที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ 
และเป็นผู้ที่สาธยายพระสูตร จนทำให้ปฐมสังคายนาสำเร็จเรียบร้อย

กำเนิดพระอานนท์


พระอานนท์ ก่อนจะผนวชนั้น ทรงเป็นเจ้าชายแห่งศากยวงศ์ 
โดยท่านเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ 
ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระพุทธบิดา 
พระมารดาของท่านทรงพระนามว่า มฤคี 
พระอานนท์จึงถือว่าเป็นลูกผู้น้องของเจ้าชายสิทธัตถะ 
และเป็นสหชาติของเจ้าชายสิทธัตถะ เนื่องจากในวันประสูตินั้น 
ได้บังเกิดสหชาติกับพระพุทธเจ้า ทั้ง 7 ได้แก่ 
(1) พระนางพิมพาราหุลมาตา 
(2) ฉันนะอำมาตย์ 
(3) กาฬุทายิอำมาตย์ 
(4) พระอานนท์ 
(5) กันถกอัสสราช 
(6) ต้นมหาโพธิ์ 
(7) ขุมทรัพย์ 4 ทิศ

เจ้าชายอานนท์ออกผนวช


เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว 
ในพรรษาที่ 2 ได้เสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดา 
และพระญาติวงศ์ศากยะ ณ นครกบิลพัศดุ์ 
ในครั้งนั้นบรรดาศากยราชได้ทรงเลื่อมใสศรัทธา 
ต่างได้ถวายพระโอรสของตนให้ออกบวชตามเสด็จ 
ยังเหลือแต่ศากยกุมารเหล่านี้คือ 
เจ้าชายมหานามะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายภัคคุ 
เจ้าชายกิมพิละ เจ้าชายอานนท์ และเจ้าชายเทวทัตต์ 
ครั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่กรุงกบิลพัศดุ์พอสมควรแก่กาลแล้วก็เสด็จจาริกต่อไปยังที่อื่น
ศากยกุมารเหล่านี้ได้ถูกพระประยูรญาติวิจารณ์ว่า 
เหตุที่ไม่ออกผนวชตามเสด็จนั้น 
คงจะไม่ถือว่าตนเองเป็นพระประยูรญาติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระมัง 
เจ้าชายมหานามะได้ฟังดังนั้นเกิดละอายพระทัย จึงได้ไปปรึกษากับเจ้าชายอื่นๆ ในที่สุดตกลงกันว่าจะออกผนวชตามเสด็จ โดยเจ้าชายมหานามะไม่อาจบวชได้ 
เนื่องจากจะต้องเป็นกษัตริย์ต่อไป 
จึงให้พระอนุชาคือเจ้าชายอนุรุทธะออกผนวชแทน 
ศากยกุมารทั้ง 6 องค์ มีพระอานนท์ เป็นต้น รวมทั้งอุบาลี ซึ่งเป็นกัลบกด้วยเป็น 7 
ได้ตามเสด็จพระพุทธองค์ไปเพื่อขอบรรพชาอุปสมบท 
และได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่อนุปิยอัมพวัน เขตอนุปิยนิคม แคว้นมัลละ 
แล้ว กราบทูลว่า
“พระพุทธเจ้าข้า พวกหม่อมฉันเป็นเจ้าศากยะยังมีมานะ 
ความถือตัวอยู่ อุบาลีผู้นี้เป็น นายภูษามาลา เป็นผู้รับใช้ของหม่อมฉันมานาน 
ขอพระผู้มีพระภาคจงให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้บวชก่อนเถิด 
พวกหม่อมฉันจักทำการอภิวาท การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้ 
เมื่อเป็นอย่างนี้ ความถือตัวว่าเป็นศากยะ ของพวกหม่อมฉันผู้เป็นศากยะจักเสื่อมคลายลง”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคโปรดให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาบวชก่อน
ให้ ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อภายหลัง ฯ 
พระอุปัชฌายะของท่าน พระอานนท์ ชื่อพระเวลัฏฐสีสเถระ



พระอานนท์บรรลุโสดาบัน


เมื่อศากยราชกุมารทั้ง 6 และอุบาลีได้ผนวชแล้ว 
ท่านพระภัททิยะได้เป็นพระอรหัตถ์เตวิชโช โดยระหว่างพรรษานั้นนั่นเอง 
ท่านพระอนุรุทธเป็นผู้มีจักษุเป็นทิพย์ ภายหลังบรรลุพระอรหัตผล 
พระภคุเถระและพระกิมพิลเถระ ภายหลังเจริญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัต 
พระเทวทัตได้บรรลุฤทธิ์อันเป็นของปุถุชน
สำหรับท่านพระอานนท์ครั้นอุปสมบทแล้ว 
ได้ศึกษาธรรมจากสำนักของท่านพระปุณณมันตานีบุตร 
ไม่นานก็ได้สำเร็จชั้นโสดาบัน 
ในกาลต่อมาท่านได้เล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า 
ท่านพระปุณณมันตานีบุตร มีอุปการคุณต่อท่านและพวกภิกษุผู้นวกะมาก 
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรได้กล่าวสอนท่านว่า
"ดูกรอานนท์ เพราะถือมั่นจึงมีตัณหา มานะ ทิฐิว่าเป็นเรา 
เพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีตัณหามานะ ทิฐิ ว่าเป็นเรา 
เพราะถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฐิ ว่าเป็นเรา 
เพราะไม่ถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฐิว่า เป็นเรา 
เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มสาวมีนิสัยชอบแต่งตัวส่องดูเงาของตนที่กระจก
หรือที่ภาชนะน้ำอันใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง 
เพราะยึดถือจึงเห็น เพราะไม่ยึดจึงไม่เห็น ฉันใด 
เพราะถือมั่นรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฐิ ว่า เป็นเรา
เพราะไม่ถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหามานะ ทิฐิว่า เป็นเรา 
ฉันนั้นเหมือนกัน”
จากนั้น ท่านพระอานนท์เล่าต่อไปว่า 
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรได้ถามท่านว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 
เที่ยงหรือไม่เที่ยงท่านตอบว่าไม่เที่ยง 
และในตอนสุดท้ายของการสอนธรรมครั้งนี้ 
ท่านบอกแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า ท่านได้ตรัสรู้ธรรม 
ซึ่งหมายถึงได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน


พระอานนท์ได้รับแต่งตั้งเป็นพุทธอุปัฎฐาก


สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้ทรงตรัสรู้แล้วถึง 20 พรรษา 
แต่ยังไม่มีผู้ใดเป็นพุทธอุปัฎฐากประจำ 
ซึ่งได้สร้างความลำบากแก่พระองค์เป็นอย่างมาก 
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า 
บัดนี้พระองค์ทรงพระชราแล้ว 
ภิกษุผู้อุปัฏฐากพระองค์บางรูปทอดทิ้งพระองค์ไปตามทางที่ตนปรารถนา 
บางรูปวางบาตรจีวรของพระองค์ไว้บนพื้นดินแล้วเดินจากไปเสีย 
จึงขอให้พระสงฆ์เลือกพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ 
คณะสงฆ์เห็นว่าควรจะมีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งคอยสนองงานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในครั้งนั้นพระสงฆ์ทั้งหลายนำโดยพระสารีบุตรมหาเถระ 
ได้กราบทูลขอเป็นพุทธอุปัฎฐาก แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามเสีย แม้พระเถระรูปอื่นๆ 
จะกราบทูลเสนอตัวเป็นพุทธอุปัฏฐาก แต่พระพุทธองค์ก็ทรงห้ามเสียทุกรูป 
คงเว้นแต่พระอานนท์ที่มิได้กราบทูลด้วยถ้อยคำใด 
พระภิกษุรูปอื่นได้เตือนให้พระอานนท์ขอโอกาส 
แต่ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อันตำแหน่งที่ขอได้มานั้นจะมีความหมายอะไรเล่า 
พระบรมศาสดาไม่ทรงเห็นข้าพเจ้าเลยกระนั้นหรือ? 
ก็หากพระองค์ทรงพอพระทัยในตัวข้าพเจ้าแล้วไซร้ พระองค์ก็คงตรัสเองว่า 
อานนท์เธอจงอุปัฏฐากเราเถิด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า 
ไม่มีผู้ใดจะสามารถให้ท่านพระอานนท์เกิดความอุตสาหะขึ้นมาได้เลย 
แต่เมื่อท่านพระอานนท์รู้แล้ว ท่านจักอุปัฏฐากพระองค์เอง 
เมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้ยินพระดำรัสนั้น ก็ทราบทันทีว่า 
พระองค์ทรงประสงค์ให้ท่านพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก 
จึงได้พูดตักเตือนให้ท่านทูลขอตำแหน่งพุทธุปัฏฐากจากพระองค์

พระอานนท์ขอประทานพร 8 ประการ


ดังนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้กราบทูลขอพร 8 ประการ 
หากพระองค์ทรงประทานพร 8 ประการนี้ 
ท่านจึงจะรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐากท่านกราบทูลขอพร ว่า

  1. ถ้าจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
  2. ถ้าจักไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
  3. ถ้าจักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
  4. ถ้าจักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่ที่ทรงรับนิมนต์ไว้
  5. ถ้าพระองค์จักไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้
  6. ถ้าข้าพระองค์จะพาบริษัทซึ่งมาแต่ที่ไกลเพื่อเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่มาแล้ว
  7. ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น
  8. ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์จักเสด็จมาตรัสบอกพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีก
เมื่อข้าพระองค์ได้รับพร 8 ประการนี้ แหละจึงจักเป็นพุทธุปัฏฐากของพระองค์

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามถึงโทษและอานิสงส์ที่ทูลขอพร 8 ประการนี้ 
ท่านได้กราบทูลว่า ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ 1-4 ก็จักมีคนพูดได้ว่า 
ท่านรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐาก เพื่อหวังลาภสักการะอย่างนั้น ๆ เพื่อป้องกันปรวาทะอย่างนั้น 
ท่านจึงได้ทูลขอพร 4 ข้อนี้ 
ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ 5-7 ก็จักมีคนพูดได้ว่า 
พระอานนท์บำรุงพระศาสดาไปทำไม 
เพราะกิจเท่านี้พระองค์ก็ยังไม่ทรงสงเคราะห์เสียแล้ว 
และหากท่านไม่ทูลขอพรข้อ 8 
เมื่อมีคนมาถามท่านลับหลัง พระพุทธองค์ว่า 
คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสที่ไหน?
ถ้าท่านตอบเขาไม่ได้ เขาก็จะพูดได้ว่า 
พระอานนท์เฝ้าติดตามพระผู้มีพระภาคเหมือนเงาของพระองค์อยู่เป็นเวลานาน
ทำไมเรื่องเท่านี้ยังไม่รู้?

ครั้นท่านได้ทูลชี้แจงแสดงโทษในข้อที่ไม่ควรได้ 
และอานิสงส์ในข้อที่ควรได้อย่างนี้แล้ว 
พระผู้มีพระภาคจึงทรงประทานพรตามที่พระอานนท์กราบทูลขอทุกประการ 
ท่านพระอานนท์จึงได้รับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐาก 
และได้อุปัฏฐากพระพุทธองค์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
จนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค เป็นเวลา 25 พรรษา

กิจในหน้าที่ของพุทธอุปัฏฐาก


ท่านพระอานนท์ได้รับตำแหน่ง 
ท่านก็ได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดี กิจที่ท่านทำเป็นประจำแก่พระพุทธเจ้าคือ
ถวายน้ำ 2 อย่าง คือน้ำเย็นและน้ำร้อน
ถวายไม้สีฟัน 3 ขนาด
นวดพระหัตถ์และพระบาท
นวดพระปฤษฏางค์
ปัดกวาดพระคันธกุฏี และบริเวณพระคันธกุฏี
ในตอนกลางคืนท่านกำหนดเวลาได้ว่า 
เวลานี้พระพุทธองค์ทรงต้องการอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเข้าเฝ้า
เมื่อเฝ้าเสร็จก็ออกมาอยู่ยาม ณ ภายนอกพระคันธกุฏีในคืนหนึ่ง ๆ 
ท่านถือประทีปด้ามใหญ่เวียนรอบบริเวณพระคันธกุฏีถึง 8 ครั้ง 
ท่านคิดว่าหากท่านง่วงนอน เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียกท่านจะไม่สามารถขานรับได้ 
ฉะนั้น จึงไม่ยอมวางประทีปตลอดทั้งคืน

ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้กล่าวยกย่องท่านพระอานนท์ไว้ว่าท่านขยันในการอุปัฏฐากมาก 
ในบรรดาพระภิกษุผู้เคยอุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามาแล้ว 
ไม่มีใครทำได้เหมือนท่าน เพราะพระภิกษุเหล่านั้นไม่รู้พระทัยของพระพุทธองค์ดี 
จึงอุปัฏฐากได้นาน 
ด้วยเหตุนี้ในคราวที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานพระองค์ได้ตรัสกับท่านว่า

"อานนท์ เธอได้อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายธรรม วจีกรรมมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา 
ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หากประมาณมิได้มาช้านานแล้ว 
เธอได้ทำบุญไว้มากแล้วอานนท์ เธอจงประกอบความเพียรเถิด จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยฉับพลัน"

แล้วตรัสประกาศเกียรติคุณของพระอานนท์ให้ปรากฏแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใด 
ที่มีมาแล้วในอดีตกาลภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นอย่างยิ่ง
ก็เหมือนกับอานนท์ของเราเท่านั้น 
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่จักมีอนาคตกาล 
ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นอย่างยิ่งก็เพียงอานนท์ของเราเท่านั้น 
อานนท์เป็นบัณฑิตย่อมรู้ว่า 
นี่เป็นกาลเพื่อจะเข้าเฝ้าพระตถาคต
นี่เป็นกาลของพวกภิกษุ
นี่เป็นกาลของพวกภิกษุณี 
นี่เป็นกาลของพวกอุบาสก 
นี่เป็นกาลของพวกอุบาสิกา 
นี่เป็นกาลของพระราชา 
นี่เป็นกาลของพวกอำมาตย์ราชเสวก 
นี่เป็นกาลของพวกเดียรถีย์
นี่เป็นกาลของพวกสาวกของพวกเดียรถีย์”



พระอานนท์ผู้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุรูปอื่น


พระอานนท์ได้รับการสรรเสริญจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะ (เลิศ) 5 ประการคือ

  1. มีสติ รอบคอบ
  2. มีคติ คือความทรงจำแม่นยำ
  3. มีความเพียรดี
  4. เป็นพหูสูต
  5. เป็นยอดของภิกษุผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า

ภิกษุอื่น ๆ ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะก็ได้รับเพียงอย่างเดียว 
แต่พระอานนท์ท่านได้รับถึง 5 ประการ นับว่าหาได้ยากมาก 
ความเป็นพหูสูตรของพระอานนท์นั้นนับว่าเป็นคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา 
กล่าวคือภายหลังพุทธปรินิพพานแล้ว มีภิกษุบางพวกกล่าวติเตียนพระศาสนา 
ทำให้พระมหากัสสปเถระเกิดความสังเวชในใจว่า 
ในอนาคตพวกอลัชชีจะพากันกำเริบ ย่ำเหยียบพระศาสนา 
จำต้องกระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกให้เป็นหมวดหมู่ 
จึงได้นัดแนะพระภิกษุสงฆ์ให้ไปประชุมกันที่กรุงราชคฤห์ 
เพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยตลอดเข้าพรรษา
การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งนั้นได้มีพระมหาเถระ 3 รูปที่มีส่วนสำคัญในการสังคายนา
กล่าวคือ พระอานนท์เถระ ผู้เป็นพุทธอุปฐาก ซึ่งได้รับประทานพรข้อที่ 8 
ทำให้ท่านเป็นผู้ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้มาก 
ท่านจึงได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม 
ดังบทสวดคาถาต่าง ๆ มักขึ้นต้นด้วย
“เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา.....” 
อันหมายถึง 
“ข้าพเจ้า (คือพระอานนท์เถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ 
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า”

พระอุบาลี ซึ่งเคยเป็นพนักงานภูษามาลาในราชสำนักกรุงกบิลพัสดุ์ 
และออกบวชพร้อมศากยราชกุมาร ท่านได้จดจำพระวินัยเป็นพิเศษ 
มีเรื่องเล่าในพระวินัยปิฏกว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องวินัยแก่พระภิกษุทั้งหลาย 
และสรรเสริญพระวินัยและสรรเสริญพระอุบาลีเป็นอันมาก 
ภิกษุทั้งหลายจึงพากันไปเรียนวินัยจากพระอุบาลี 
ในการสังคายนาครั้งนี้ท่านจึงได้รับหน้าที่วิสัชชนาเกี่ยวกับพระวินัย

พระมหากัสสปเถระ ซึ่งเป็นเลิศทางธุดงวัตรและเป็นผู้ชักชวนให้สังคายนาพระธรรมวินัย 
เป็นผู้ถามทั้งพระธรรมและพระวินัย

ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้เล่าไว้ว่า 
ท่านพระอานนท์มีปัญญา มีความจำดี ท่านได้ฟังครั้นเดียว 
ไม่ต้องถามอีกก็สามารถจำได้เป็นจำนวนตั้ง 60,000 บาท 15,000 คาถา 
โดยไม่เลอะเลือน ไม่คลาดเคลื่อน 
เหมือนบุคคลเอาเถาวัลย์มัดดอกไม้ถือไป 
เหมือนจารึกอักษรลงบนแผ่นศิลา 
เหมือนน้ำมันใสของราชสีห์ที่บุคคลใส่ไว้ในหม้อทองคำ ฉะนั้น

ด้วยเหตุที่ท่านขยันเรียน และมีความจำดีนี่เอง ท่านจึงได้รับยกย่องว่าเป็นพหูสูต 
เป็นธรรมภัณฑาคาริก ทรงจำพระพุทธพจน์ได้ถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ 
คือท่านเรียกจากพระพุทธองค์ 82,000 พระธรรมขันธ์
และเรียนจากเพื่อนสหธรรมมิกอีก 2,000 พระธรรมขันธ์ 
แม้ท่านจะเป็นเพียงพระโสดาบันก็ตาม 
แต่ท่านก็มีปัญญาแตกฉานในปฏิสัมภิทา
มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องปฏิจจสมุปบาท 
จึงสามารถสั่งสอนศิษย์ได้มากมาย 
ศิษย์ของท่านส่วนมากก็เป็นพหูสูตเช่นเดียวกับท่าน 
ว่ากันว่า ท่านพูดได้เร็วกว่าคนธรรมดา 8 เท่า 
คือคนเราพูด 1 คำ ท่านพูดได้ 8 คำ

ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้พรรณนาคุณของท่านพระอานนท์ไว้อีกอย่างหนึ่งว่า 
ท่านมีรูปงาม น่าเลื่อมใส น่าทัศนายิ่งนัก ยิ่งเป็นพหูสูตด้วย 
ก็ยิ่งทำให้สังฆมณฑลนี้งดงามยิ่งขึ้น 
ด้วยเหตุนี้จึงมีบริษัททั้ง 4 นิยมไปหาท่านกันมาก 
ข้อนี้สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสยกย่องท่านว่า 
ท่านมีอัพภูตธรรม คือคุณอันน่าอัศจรรย์ 4 ประการ คือ
ถ้าภิกษุบริษัทภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัทเข้าไปหาท่าน 
พอได้เห็นรูปเท่านั้นก็มีความยินดี พอได้ฟังธรรมเทศนาของท่านก็ยิ่งมีความยินดี 
แม้เมื่อท่านแสดงธรรมจบลงแล้ว ก็ยังฟังไม่อิ่ม 
แล้วทรงเปรียบเทียบท่านซึ่งมีคุณอันน่าอัศจรรย์นี้กับพระเจ้าจักรพรรดิ คือว่า 
พระเจ้าจักรพรรดินั้นเมื่อขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท และสมณบริษัทเข้าเฝ้า 
พอได้เห็นก็มีความยินดี ครั้นได้ฟังพระราชดำรัส ก็ยิ่งมีความยินดี แม้ตรัสจบแล้วก็ยังไม่อิ่ม

นอกจากหน้าที่อุปัฏฐากประจำองค์อย่างใกล้ชิดแล้ว 
ท่านพระอานนท์ ยังปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ อีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า งานรับสั่ง เช่น 
ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์รับสั่งให้ท่านไปประกาศคว่ำบาตรแก่วัฑฒลิจฉวี 
เพราะเหตุที่วัฑฒลิจฉวีได้สมรู้ร่วมคิดกับพระเมตติยะ และพระภุมมชกะ 
กล่าวใส่ร้ายท่านพระทัพพมัลลบุตร ว่า เสพเมถุนธรรมกับชายาเดิมของท่าน 
ครั้งหนึ่งรับสั่งให้ท่านนำนางยักษิณีเข้าเฝ้า 
เพื่อระงับการจองเวรจองผลาญกันและกัน 
ครั้งหนึ่งรับสั่งให้ท่านเรียกพระภิกษุสงฆ์ที่นครเวสาลีเข้าประชุมเพื่อฟังอานาปานสติ 
ครั้งหนึ่งรับสั่งให้ท่านแจ้งข่าวแก่พวกมัลลกษัตริย์ กรุงกุสินาราว่า 
พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานที่ป่าไม้สาละ ณ ราตรีนั้น เป็นต้น

งานมอบหมาย เช่น ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเลื่อมใสศรัทธา 
ทรงพระประสงค์จะถวายนิตยภัตรแก่พระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์เป็นประจำทุกวัน 
พระพุทธองค์ตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รับนิตยภัตรประจำในที่แห่งเดียว 
เพราะมีคนจำนวนมากต้องการจะทำบุญกับพระพุทธเจ้า 
จึงหวังจะให้เสด็จไปหาตนกันทั้งนั้น 
เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบดังนั้น
จึงทูลขอพระภิกษุ 1 รูปให้ไปรับนิตยภัตรของพระองค์ 
พระผู้มีพระภาค จึงทรงมอบภาระนี้ให้แก่ท่านพระอานนท์ 
เมื่อได้รับมอบหมายแล้ว ท่านก็ไปรับเป็นประจำ 
แม้ว่าในตอนหลัง ๆ พระเจ้าปเสนทิโกศล 
จะทรงลืมสั่งให้คนจัดนิตยภัตรถวายไปบ้าง 
แต่ท่านก็ยังไปอยู่เป็นประจำ

อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระประสงค์จะให้พระนางมัลลิกาเทวี 
และพระนางวาสภขัตติยา พระมเหสีของพระองค์ได้ศึกษาธรรม 
จึงทูลนิมนต์ให้พระพุทธองค์กับภิกษุสงฆ์ 500 รูป 
ไปสอนธรรมแก่พระมเหสีทั้งสอง
พระพุทธองค์ตรัสบอกข้อขัดข้องดังกล่าวแล้วข้างต้น 
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้ภิกษุรูปอื่นไปแทน 
พระพุทธองค์ก็มอบหมายให้ท่านพระอานนท์รับภาระนี้ 
และท่านก็ทำได้ดีเช่นเดียวกัน 

และในตอนที่จะเสด็จปรินิพพาน 
ได้ทรงมอบหมายให้ท่านลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ 
เมื่อพระองค์นิพพานไปแล้วในฐานหัวดื้อไม่ยอมเชื่อฟังคำตักเตือนของพระอัครสาวก 
และเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วท่านก็ได้ไปลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ 
สำเร็จตามที่ทรงมอบหมายไว้



ความภักดีของพระอานนท์ที่มีต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


พระอานนท์นั้นเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง 
ท่านยอมสละชีพของท่านเพื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ อย่างเช่น 
เมื่อพระเทวทัตได้วางอุบายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
โดยมอมเหล้าช้างนาฬาคิรี ซึ่งกำลังตกมัน 
แล้วปล่อยออกไปในขณะที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาต 
โดยมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เมื่อช้างนาฬาคิรีวิ่งเข้ามาทางพระพุทธองค์ 
พระอานนท์จึงได้เดินล้ำมาเบื้องหน้าพระศาสดา 
ด้วยคิดหมายจะเอาองค์ป้องกันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีพระพุทธดำรัสให้พระอานนท์หลีกไป 
อย่าป้องกันพระองค์เลย แต่พระอานนท์ได้กราบทูลว่า



“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชีวิตของพระองค์มีค่ายิ่งนัก 
พระองค์อยู่เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก เป็นดวงประทีปของโลก 
เป็นที่พึ่งของโลก ของพระองค์อย่าเสี่ยงกับอันตรายครั้งนี้เลย 
ชีวิตของข้าพระองค์มีค่าน้อย 
ขอให้ข้าพระองค์ได้สละสิ่งซึ่งมีค่าน้อยเพื่อรักษาสิ่งที่มีค่ามาก 
เหมือนสละกระเบื้อง เพื่อรักษาซึ่งแก้วมณีเถิดพระเจ้าข้าฯ”

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า
“อย่าเลยอานนท์ บารมีเราได้สร้างมาดีแล้ว 
ไม่มีใครสามารถปลงชีวิตของตถาคตได้ 
ไม่ว่าสัตว์ดิรัจฉานหรือมนุษย์หรือเทวดามารพรหมใด ๆ”

ในขณะนั้นช้างนาฬาคิรีวิ่งมาจนจะถึงพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว 
พระองค์จึงได้แผ่พระเมตตาจากพระหฤทัย 
ซึ่งไปกระทบกับใจอันคลุกอยู่ด้วยความมึนเมาของช้างนาฬาคิรีได้ 
ช้างใหญ่หยุดชะงัก ใจสงบลงและหมอบลงแทบพระบาท 
พระพุทธองค์ทรงใช้พระหัตถ์ลูบที่ศีรษะพญาช้าง พร้อมกับตรัสว่า

“นาฬาคิรีเอ๋ย เธอกำเนิดเป็นดิรัจฉานในชาตินี้ 
เพราะกรรมอันไม่ดีของเธอในชาติก่อนแต่งให้ 
เธออย่าประกอบกรรมหนัก คือทำร้ายพระพุทธเจ้าเช่นเราอีกเลย 
เพราะจะมีผลเป็นทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน”

ช้างนาฬาคิรีน้ำตาไหลพราก น้อมรับฟังพระพุทธดำรัสด้วยอาการดุษฎี 
(ในคัมภีร์อนาคตวงศ์กล่าวว่า ในอนาคตกาลนับจากพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้าไป 
จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้อีกหลายพระองค์ 
และช้างนาฬาคิรี จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระติสสพุทธเจ้า)



พระอานนท์เป็นผู้ออกแบบจีวรสงฆ์


เกียรติคุณอีกอย่างหนึ่งที่ท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ คือ 
มีฝีมือทางช่าง สาเหตุที่ทรงชมเชย มีว่าครั้งหนึ่ง 
พระพุทธองค์เสด็จจากนครราชคฤห์ไปสู่ทักษิณาคิรีชนบท 
ได้ทอดพระเนตรเห็นคันนาของชาวมคธเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคันนาสั้น ๆ คั่นในระหว่าง 
แล้วตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า จะเย็บจีวรอย่างนั้นได้ไหม? 
ท่านทูลรับว่า เย็บได้ 
และต่อมาท่านเย็บจีวรให้พระหลายรูปแล้วนำไปถวายให้ทอดพระเนตร 
พระพุทธองค์ทอดพระเนตรแล้วตรัสชมเชยในท่ามกลางสงฆ์ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด เป็นเจ้าปัญญา 
ซาบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำ ที่เรากล่าวโดยย่อให้พิสดารได้ 
ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าอัฑฒกุสิ ผ้ามณฑล ผ้าอัฑฒมณฑล ผ้าวิวัฏฏะ
ผ้าอนุวิวัฏฏะ ผ้าคีเวยยกะ ผ้าชังเฆยยกะ และผ้าพาหันตะก็ได้"

พระอานนท์ผู้ประหยัด


นอกจากนี้พระอานนท์เป็นผู้ที่ประหยัดและฉลาดในเรื่องนี้มาก 
ดังเหตุการณ์ที่พระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งนครโกสัมพี 
เสื่อมใสในการแสดงธรรมของพระอานนท์ 
จึงได้ถวายจีวรจำนวน 500 ผืน แด่พระอานนท์ 
เมื่อพระเจ้าอุเทนทราบจึงตำหนิพระอานนท์ว่ารับจีวรไปจำนวนมาก 
เมื่อได้โอกาสจึงนมัสการถามว่าเอาจีวรไปทำอะไร

“พระคุณเจ้า ทราบว่าพระมเหสีถวายจีวรพระคุณเจ้า 500 ผืน พระคุณเจ้ารับไว้ทั้งหมดหรือ”
“ขอถวายพระพร อาตมาภาพรับไว้ทั้งหมด”
“พระคุณเจ้ารับไว้ทำไมมากมายนัก”
“เพื่อแบ่งถวายแก่พระภิกษุผู้มีจีวรเก่าคร่ำคร่า”
“จะเอาจีวรเก่าคร่ำคร่าไปทำอะไร”
“เอาไปทำผ้าปูที่นอน”
“จะเอาผ้าปูที่นอนเก่าไปทำอะไร”
“เอาไปทำผ้าปูพื้น”
“จะเอาผ้าปูพื้นเก่าไปทำอะไร”
“เอาไปทำผ้าเช็ดเท้า”
“จะเอาผ้าเช็ดเท้าเก่าไปทำอะไร”
“เอาไปโขลกขยำกับโคลนแล้วฉาบทาฝา”

พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสว่าพระสมณบุตรเป็นผู้ประหยัด 
จึงถวายผ้าจีวรอีก 500 ผืนแด่พระอานนท์

พระอานนท์ผู้เป็นปฐมเหตุให้เกิดภิกษุณี


ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าสุทโทนมหาราช 
ผู้เป็นพระพุทธบิดาได้สิ้นพระชนม์แล้ว 
พระนางมหาปชาบดี ผู้เป็นพระอัครมเหสี 
และพระมาตุจฉาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้มีศรัทธาปสาทะ ที่จะออกบวชเป็นภิกษุณี
จึงเสด็จพร้อมด้วยเหล่าศากยกุมารีหลายพระองค์ 
ได้ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า 
เพื่อทูลขอออกบวช แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามเสีย 
แม้พระนางเจ้าจะได้กราบทูลขอถึง 3 ครั้ง 
แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงประทานพระพุทธานุญาต 
ทำให้พระนางเสียพระทัยมาก จึงกรรแสงอยู่หน้าประตูป่ามหาวัน 
เมื่อพระอานนท์ทราบเข้า 
จึงมีมหากรุณาจิตคิดจะช่วยเหลือพระนางให้สำเร็จดังประสงค์ 
จึงได้ไปกราบทูลขอสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ ทำให้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานพระพุทธานุญาต 
โดยมีเงื่อนไขว่าสตรีนั้นจะต้องรับครุธรรม 8 ประการ ก่อน ถึงจะอุปสมบทได้ 
เสร็จแล้วสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงครุธรรม 8 ประการแก่พระอานนท์ 
และพระอานนท์ก็จำครุธรรม 8 ประการนั้นไปเฝ้าพระนางมหาปชาบดี 
ซึ่งพระนางก็ทรงยอมรับครุธรรมนั้น และได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีรูปแรกของพระพุทธศาสนา

พระอานนท์บรรลุอรหัตผล


ภายหลังจากพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว 
พระมหากัสสปเถระเจ้า ได้ดำริจะให้มีการทำปฐมสังคายนาพระธรรมวินัย 
พระมหาเถระได้รับอนุมัติจากสงฆ์ให้เลือกพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระธรรมวินัย จำนวน 500 รูป 
เพื่อทำปฐมสังคายนา ท่านพระมหากัสสปเถระเลือกได้ 499 รูปอีกรูปหนึ่งท่านไม่ยอมเลือก 
ความจริงท่านต้องการจะเลือกเอาท่านพระอานนท์ 
แต่ขณะนั้นท่านพระอานนท์ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ 
ครั้นจะเลือกท่านพระอานนท์ก็เกรงจะถูกครหาว่า "เห็นแก่หน้า" 
เพราะท่านรักพระอานนท์มาก 
แต่ครั้นจะเลือกภิกษุอื่น ไม่เลือกท่านพระอานนท์ 
ก็เกรงว่าการทำสังคายนาครั้งนี้จักไม่สำเร็จผลด้วยดี 
เพราะท่านพระอานนท์ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นพหุสูตเป็นธรรมภัณฑาคาริก 
จึงได้ระบุชื่อพระเถระอื่น ๆ 499 รูป แล้วนิ่งเสีย 
ต่อพระสงฆ์ลงมติว่าท่านพระอานนท์ควรจะเข้าร่วมทำสังคายนาครั้งนี้ด้วย ท่านจึงได้รับเข้าเป็นคณะสงฆ์ผู้จะทำสังคายนา ครบจำนวน 500 รูป
เมื่อได้รับคัดเลือกแล้ว ท่านได้เดินทางจากนครกุสินารากลับไปยังนครสาวัตถีอีก 
ในระหว่างทางท่านได้แสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนจำนวนมากที่เศร้าโศกเสียใจ 
เพราะการปรินิพพานของพระพุทธองค์ เมื่อถึงพระเชตวันมหาวิหาร 
ท่านก็ได้ปฏิบัติปัดกวาดพระคันธกุฏีเสมือนเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ 
นอกจากปฏิบัติพระคันธกุฏีแล้ว ท่านได้ใช้เวลาส่วนมากให้หมดไปด้วยการยืนและนั่ง 
ไม่ค่อยจะได้จำวัด ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ท่านไม่สบาย 
ต้องฉันยาระบายเพื่อให้กายเบา 
ครั้นให้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดในพระเชตวันสำเร็จแล้ว 
พอใกล้วันเข้าพรรษาจึงได้ออกเดินทางไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อร่วมทำสังคายนา 
เมื่อถึงแล้ว ท่านได้ทำความเพียรอย่างหนักเพื่อให้สำเร็จอรหัตต์ก่อนการทำสังคายนา
แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพื่อน ๆ ได้ตักเตือนท่านว่า 
ในวันรุ่งขึ้นท่านจะต้องเข้าไปนั่งในสังฆสันนิบาตแล้ว 
ท่านเองเป็นพระเสขบุคคลอยู่ ขอให้ทำความเพียร อย่าประมาท 
ในคืนนั้น ท่านได้เดินจงกรม กำหนดกายคตาสติ จนจวบปัจจุสมัยใกล้รุ่ง 
จึงลงจากที่จงกรม หมายใจจะหยุดนอนพักผ่อนในวิหารสักครู่ก่อน 
แต่พอเอนกายลงนอน ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้าทั้งสองยังไม่พ้นจากพื้น 
ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ครั้นถึงเวลาประชุมทำสังคายนา พระมหาเถระรูปอื่น ๆ ก็พากันไปยังธรรมสภา ณ 
ถ้ำสัตตบรรณคูหากันอย่างพร้อมเพรียง 
และต่างรูปต่างก็นั่งอยู่ ณอาสนะแห่งตน ๆ 
แต่อาสนะของท่านพระอานนท์ยังว่างอยู่ 
เพราะท่านพระอานนท์คิดใคร่จะประกาศให้พระมหาเถระทั้งหลายได้ทราบว่า 
ท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว 
จึงไม่ได้ไปพร้อมกับพระเถระอื่น ๆ เมื่อกำหนดกาลเวลาพอเหมาะแล้ว 
ท่านจึงแทรกดินลงไป และผุดขึ้น ณ อาสนะแห่งตน 
แต่บางท่านกล่าวว่า ท่านเหาะไปทางอากาศตกลงบนอาสนะของท่าน



พระอานนท์ผู้อ่อนน้อมถ่อมตน


ก่อนการสังคายนาพระธรรมวินัยจะเริ่ม 
พระมหากัสสปเถระตั้งตั้งปัญหาหลายประการ แก่พระอานนท์ อาทิ 
การใช้เท้าหนีบผ้าของพระศาสดาในขณะปะหรือชุนผ้า 
การไม่อาราธนาให้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่ 
แม้จะได้ทรงแสดงนิมิตโอภาสหลายครั้ง ก่อนที่พระองค์จะปลงสังขาร 
การเป็นผู้ขวนขวายให้สตรีเข้ามาบวชในพุทธศาสนา 
การไม่กราบทูลถามเรื่องสิกขาบทเล็กน้อย 
ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสให้สงฆ์ถอนได้ว่าคือสิกขาบทอะไรบ้าง 
และการจัดสตรีให้เข้าไปถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อนบุรุษภายหลังปรินิพพาน 
ทำให้น้ำตาของสตรีเหล่านั้นเปื้อนพระพุทธสรีระ 
ถึงแม้พระอานนท์เถระจะอ้างเหตุผลมากล่าวแก่ที่ประชุมสงฆ์ 
แต่เมื่อที่ประชุมสงฆ์เห็นว่าเป็นอาบัติ ท่านก็แสดงอาบัติต่อสงฆ์ 
หรือแสดงการยอมรับผิด
การแสดงอาบัติของพระอานนท์นั้น
เป็นกุศโลบายของพระมหากัสสปเถระที่ต้องการจะวาง 
ระเบียบวิธีการปกครองคณะสงฆ์ให้ที่ประชุมเห็นว่า 
อำนาจของสงฆ์นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด
คำพิพากษาวินิจฉัยของสงฆ์ถือเป็นคำเด็ดขาด 
แม้จะเห็นว่าตนไม่ผิด แต่เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิด ผู้นั้นก็ต้องยอม 
เป็นตัวอย่างที่ภิกษุสงฆ์รุ่นหลังจะได้ยอมทำตาม
นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมเกียรติคุณของพระอานนท์เถระ 
ให้เป็นตัวอย่างของผู้ว่าง่าย เคารพยำเกรงผู้ใหญ่ เป็นปฏิปทาที่ใครๆ 
พากันอ้างถึงด้วยความนิยมชมชอบในการต่อมา

พระอานนท์ปรินิพพาน


ภายหลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว 
พระอานนท์ได้เที่ยวจาริกสั่งสอนเวไนยสัตว์แทนองค์พระศาสดา 
จนชนมายุของท่านล่วงเข้า 120 ปี 
ท่านจึงได้พิจารณาอายุสังขารของท่านพบว่า 
อายุสังขารของท่านนั้นยังอีก 7 วันก็จะสูญสิ้นเข้าสู่พระนิพพาน 
ท่านจึงพิจารณาว่าท่านจะเข้านิพพาน ณ ที่ใด 
ก็เห็นว่าท่านจะเข้านิพพานที่ปลายแม่น้ำโรหิณี 
ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์ กับเมืองโกลิยะ 
ซึ่งมีพระประยูรญาติอยู่ทั้ง 2 ฝ่าย 
จากนั้นท่านจึงได้ลาภิกษุสงฆ์ และชนทั้งหลาย จนครบ 7 วันแล้ว 
ท่านจึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์นานาประการ 
แล้วตั้งจิตอธิษฐานให้กายของท่านแตกออกเป็น 2 ภาค 
ภาคหนึ่งให้ตกที่ฝั่งกรุงกบิลพัสดุ์ 
อีกภาคหนึ่งตกที่โกลิย 
แล้วท่านได้เจริญเตโชกสิณ 
ทำให้เปลวเพลิงบังเกิดในร่างกาย 
เผาผลาญมังสะและโลหิตให้สูญสิ้น 
ยังเหลือแต่พระอัฐิธาตุสีขาวดังสีเงิน 
พระอัฐิธาตุที่เหลือจึงแตกออกป็น 2 ภาค 
ด้วยกำลังอธิษฐานของท่าน 
บรรดาพระประยูรญาติและชนที่มาชุมนุมกัน ณ ที่นั้นต่างก็รองรับพระธาตุไว้ 
แล้วสร้างพระเจดีย์บรรจุไว้ทั้ง 2 ฟากของแม่น้ำโรหิณี 
หมายเหตุ ในประเทศไทยมีเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระอานนท์แห่งเดียวในประเทศไทยที่ 
วัดมหาธาตุ(พระอารามหลวง)ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร

พระมหากัจจายนะ


พระมหากัจจายนะ (บาลี: มหากจฺจายน, สันสกฤต: มหากาตฺยายน)
เป็นพระอรหันต์ 1 ใน 80 พระอสีติมหาสาวกในศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้า 
ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร

พระมหากัจจายนมีอีกชื่อหนึ่งว่า กัจจานะ (หรือกัจจายนะ) ในญี่ปุ่นรู้จักทั่วไปในชื่อ 
"คะเซ็นเน็น" (Kasennen) ส่วนในประเทศไทยนอกจากชื่อตามภาษาบาลีแล้ว 
ยังเป็นที่รู้จักในชื่อ "พระสังกัจจายน์" หรือ "พระสังกระจาย"

พระมหากัจจายนะเกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่งในกรุงอุชเชนี 
ได้รับการศึกษาในทางไตรเพทเวทมนตร์ตามอย่างตระกูลพราหมณ์ทั้งหลาย 
ท่านเป็นศิษย์ของอสิตดาบสแห่งเขาวินธัย 
(ผู้ทำนายว่าเจ้าชายสิทธิตถะจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือพระพุทธเจ้าในอนาคต) 
พระมหากัจจายนะพร้อมด้วยมิตรอีก 7 คนได้อาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมเทศนา 
และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในระหว่างฟังธรรมนั้นเอง 
หลังจากนั้นท่านจึงทูลขออุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า 
และได้เผยแผ่ศาสนาพุทธอยู่ในแคว้นอวันตีจนมีผู้เข้ามาเป็นสาวกในพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก

โปรดธิดาเศรษฐีผู้มีผมงาม


ในนิคมนั้น มีธิดาเศรษฐี ๒ คน คนหนึ่งเกิดในตระกูลเก่าแก่เข็ญใจ 
เมื่อมารดาบิดาสิ้นชีพไปแล้ว ก็อาศัยเป็นนางนมเลี้ยงชีพ 
แต่รูปร่างของเธอนั้นบึกบึน ผมยาวเกินคนอื่น ๆ ในนิคมนั้น

และยังมีธิดาของตระกูลอิศรเศรษฐีอีกคนหนึ่ง เป็นคนไม่มีผม 
เมื่อก่อนนั้นมาแม้นางธิดาผู้นี้จะขอซื้อผมจากนางผมดกในราคา ๑๐๐ กหาปณะ 
หรือ ๑,๐๐๐ กหาปณะแก่เธอ ก็ไม่สำเร็จ

ในวันนั้น ธิดาเศรษฐีผู้มีผมดกนั้นเห็นพระมหากัจจายนเถระมีภิกษุ ๗ รูปเป็นบริวาร 
เดินมามีบาตรเปล่า คิดว่าภิกษุผู้เป็นเผ่าพันธุ์พราหมณ์รูปหนึ่ง 
มีผิวดังทองรูปนี้เดินไปบาตรเปล่าทรัพย์อย่างอื่นของเราก็ไม่มี 
แต่ว่าธิดาเศรษฐีผู้ไม่มีผมบ้านโน้นเคยส่งคนมาเพื่อต้องการซื้อผมจากเรา 
ตอนนี้เราอาจถวายไทยธรรมแก่พระเถระได้ด้วยทรัพย์ที่เกิดจากที่ได้ค่าผมนี้

เมื่อคิดดังนั้นแล้วจึงส่งสาวใช้ ไปนิมนต์พระเถระทั้งหลายให้นั่งภายในเรือนของตน 
พอพระเถระนั่งแล้ว นางก็เข้าห้องตัดผมของตน แล้วกล่าวแก่สาวใช้ว่า 
เจ้าจงเอาผมเหล่านี้ให้แก่ธิดาเศรษฐีบ้านโน้น 
แล้วเอาของที่นางให้มา 
เราจะถวายบิณฑบาตแก่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย 
สาวใช้ ถือผมนั้นไปยังสำนักของธิดาเศรษฐี.

ธรรมดาขึ้นชื่อว่าของที่จะขายนั้น จะมีราคาก็ต่อเมื่อผู้ซื้อต้องการขอซื้อ 
ธิดาเศรษฐีผู้ไม่มีผมคิดว่า เมื่อก่อนเราขอซื้อด้วยทรัพย์เป็นอันมาก 
แต่นางก็ไม่ยอมขาย แต่บัดนี้ เมื่อนางมาเสนอขายเอง ก็ไม่ได้ตามราคาเดิม 
จึงให้ไป ๘ กหาปณะเท่านั้น สาวใช้นำกหาปณะไปมอบให้แก่ธิดาเศรษฐีผู้มีผมมาก

ธิดาเศรษฐีก็จัดบิณฑบาต ๘ ที่ ให้มีค่าที่ละหนึ่งกหาปณะ ถวายแด่พระเถระทั้งหลาย

พระเถระเล็งดูด้วยฌานแล้ว เห็นอุปนิสัยของธิดาเศรษฐี จึงถามว่าธิดาเศรษฐีไปไหน

สาวใช้ตอบว่า อยู่ในห้องเจ้าค่ะ

พระเถระว่า จงไปเรียกนางมาซิ

ธิดาเศรษฐีก็มาด้วยความเคารพในพระเถระ 
ไหว้พระเถระแล้วเกิดศรัทธาอย่างแรง 
อันว่าทานอันบริสุทธิ์นั้นย่อมให้ผลในปัจจุบันชาติทีเดียว 
เพราะฉะนั้น พร้อมกับการไหว้พระเถระ ผมของนางจึงเกิดขึ้นดังเดิม

โปรดพระเจ้าจันฑปัชโชต


ฝ่ายพระเถระทั้งหลายจึงถือเอาบิณฑบาตนั้นเหาะขึ้นไปต่อหน้าธิดาเศรษฐี 
และเหาะลงยังพระราชอุทยานของพระเจ้าจันฑปัชโชต ชื่ออุทธยานกัญจนะ 
คนเฝ้าพระราชอุทยานเห็นพระเถระนั้น จึงไปเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า

ข้าแต่สมมติเทพ พระคุณเจ้ากัจจายะปุโรหิตของเราบวชแล้ว 
และกลับมายังอุทยานแล้วพระเจ้าข้า

พระเจ้าจันฑปัชโชตจึงเสด็จไปยังอุทยาน 
ไหว้พระเถระผู้กระทำภัตกิจแล้วด้วยเบญจางคประดิษฐ์ 
แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ตรัสถามว่า 
ท่านเจ้าข้าพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนล่ะ

พระเถระทูลว่า พระองค์มิได้เสด็จมาเอง ทรงส่งอาตมะมา มหาบพิตร

พระราชาตรัสถามว่าท่านผู้เจริญ วันนี้พระคุณเจ้าได้ภิกษา ณ ที่ไหน

พระเถระทูลบอกเรื่องที่ธิดาเศรษฐีกระทำทุกอย่างให้พระราชาทรงทราบ 
ตามถ้อยคำควรแก่ที่ตรัสถาม พระราชาตรัสสั่งให้จัดแจงที่อยู่แก่พระเถระ 
แล้วนิมนต์พระเถระไปยังนิเวศน์ แล้วรับสั่งให้ไปนำธิดาเศรษฐีมาตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสีแล้ว

พระราชาทรงกระทำสักการะใหญ่แต่พระมหากัจจายนเถระ 
มหาชนเลื่อมใสในธรรมกถาของพระเถระ บวชในสำนักของพระเถระ ตั้งแต่นั้น 
ทั่วพระนครก็รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัตรเป็นอันเดียวกัน คลาคล่ำ ไปด้วยหมู่ภิกษุ 
ฝ่ายพระเทวีนั้นทรงเลื่อมใสในพระมหากัจจายนเถระอย่างยิ่ง 
ขอพระราชานุญาตสร้างวิหารถวายพระเถระในกัญจนราชอุทยาน 
พระเถระยังชาวอุชเชนีให้เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาแล้ว 
จึงกลับไปเฝ้าพระศาสดาอีกครั้งหนึ่ง 
ต่อมาภายหลังพระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร 
ทรงกระทำพระสูตร ๓ สูตร เหล่านี้คือ 
มธุบิณฑิกสูตร, กัจจายนเปยยาลสูตร, ปรายนสูตร 
ให้เป็นอรรถุปบัติเหตุ 
แล้วทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุ 
ผู้จำแนกอรรถแห่งพระดำรัสที่ทรงตรัสโดยย่อให้พิสดารแล้ว


ปรับพุทธบัญญัติบางข้อสำหรับจังหวัดอวันตีทักขิณาบถ


สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะ พักอาศัยอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ 
แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท
มีชายผู้หนึ่งชื่อ โสณะอุบาสกได้ฟังธรรมในสำนักของท่านพระมหากัจจายนะ 
ก็บังเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา มีจิตตั้งอยู่ในสรณะและศีล 
จึงได้สร้างวิหารในที่อันสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ ใกล้ปวัตตบรรพต 
แล้วนิมนต์พระเถระให้อยู่ในวิหารนั้น 
โสณะอุบาสกได้อุปัฏฐากท่านพระมหากัจจายนะด้วยปัจจัยทั้ง ๔.
ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โสณะอุบาสกเป็นอุปัฏฐากของท่านมหากัจจานะ

ครั้งหนึ่งโสณะอุบาสกได้เดินทางไปยังเมืองอุชเชนีกับหมู่เกวียนเพื่อต้องการค้าขาย 
ครั้นค่ำลงในระหว่างทางหมู่เกวียนได้หยุดกองเกวียนไว้ในดงเพื่อพักผ่อน 
โสณะอุบาสกเพื่อหลีกการพักอย่างแออัดจึงหลีกไปนอนที่ท้ายหมู่เกวียน 
ครั้นใกล้รุ่ง หมู่เกวียนก็เคลื่อนออกเดินทางต่อไปโดยไม่มีใครปลุกโสณะอุบาสก

ครั้นเมื่อตื่นขึ้น โสณะอุบาสกไม่เห็นใครเลยก็ออกเดินไปตามทางเกวียนไปเรื่อย ๆ 
จนกระทั่งเหนื่อยจึงได้เข้าพักยังต้นไทร ระหว่างทาง
ณ ที่นั้นเขาได้พบเปรตตนหนึ่งยืนกินเนื้อของตนเองที่หล่นจากกระดูก 
โสณะอุบาสกจึงได้ถามถึงกรรมของเปรตที่ทำมาในอดีต

เปรตนั้นก็เล่าว่า เมื่อชาติก่อนตนเป็นพ่อค้าอยู่ในเมืองภารุกัจฉนคร 
ได้หลอกลวงเอาของ ของคนอื่นมาเคี้ยวกิน 
เมื่อมีสมณะเข้าไปบิณฑบาต ตนก็ด่าว่า 
จงเคี้ยวกินเนื้อของพวกมึงซิ เพราะกรรมนั้นจึงต้องเสวยทุกข์เช่นนี้

โสณะอุบาสกได้ฟังดังนั้นกลับได้ความสลดใจอย่างเหลือล้น 
และได้เดินทางต่อไป ก็ได้พบพวกเปรตเล็ก ๒ ตน
มีโลหิตดำไหลออกจากปาก จึงถามถึงบุรพกรรมของเปรตนั้นเช่นเดียวกัน 
ฝ่ายเปรตเหล่านั้น ก็ได้เล่ากรรมของตน แก่โสณะอบาสกนั้น ความว่า

ในอดีตชาติ ในเวลาที่ยังเป็นเด็ก เปรตเหล่านั้นเลี้ยงชีพด้วยการค้าขายสิ่งของ
ในภารุกัจฉนคร เมื่อมารดาของตนนิมนต์พระขีณาสพทั้งหลายให้มาฉัน
จึงไปยังเรือนแล้ว ด่าว่า ทำไม แม่จึงให้สิ่งของของพวกเรากับพวกสมณะ 
ขอให้โลหิตดำจงไหลออกจากปากของพวกสมณะ ผู้บริโภคโภชนะที่แม่ให้แล้วเถิด 
เพราะกรรมนั้น เด็กเหล่านั้น จึงไปเกิดในนรก หมดกรรมจากนรกแล้ว 
ก็มาเกิดเป็นเปรต ด้วยเศษแห่งวิบากของกรรมนั้น

โสณะอุบาสก ได้ฟังดังนั้นก็เกิดความสลดใจอย่างเหลือล้น 
ครั้นเมื่อเขากลับไปยังกรุงอุชเชนี จึงได้ขอบรรพชาต่อพระมหากัจจายนเถระ 
ท่านพระมหาเถระพิจารณาแล้วเห็นว่า 
ญาณของโสณะอุบาสกยังไม่แก่กล้าพอต่อเพศบรรพชิต 
จึงได้ยับยั้งไว้ถึงสองครั้ง

ในวาระที่สาม พระเถระพิจารณาเห็นว่าโสณะอุบาสกมีญาณแก่กล้าเพียงพอแล้ว 
จึงยินยอมให้บรรพชา 
แต่ว่าในสมัยนั้นการบรรพชาโดยพระสาวกต้องกระทำด้วยองค์ทสวรรค 
คือต้องหาพระสงฆ์ให้ครบ ๑๐ รูป 
สมัยนั้น อวันตีชนบทอันตั้งอยู่แถบใต้ 
มีภิกษุน้อยรูป ท่านพระมหากัจจายนเถระกว่าจะจัดหาพระภิกษุสงฆ์ 
ให้ครบองค์ประชุมทสวรรคได้ก็ต่อล่วงไปถึง ๓ ปี 
จึงอุปสมบทให้ท่านพระโสณะได้

ครั้นเมื่อบวชแล้วได้ระยะหนึ่ง 
พระโสณะเถระปรารถนาจะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า 
จึงได้ขออนุญาตต่อพระอุปัชฌาย์คือพระมหากัจจายนเถระ 
ท่านพระกัจจายนเถระก็อนุญาตพร้อมทั้งสั่งให้ไปกราบทูลขอพระบรมพุทธานุญาต 
ให้พระพุทธองค์ทรงแก้ไขพุทธบัญญัติ ๕ ข้อ 
ซึ่งไม่สะดวกแก่พระภิกษุผู้อยู่ในอวันตีชนบท คือ:-

  1. จังหวัดอวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อยรูป ขอได้โปรดทรงอนุญาตอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะสงฆ์เพียง ๕ รูปได้ ทั่วปัจจันตชนบท
  2. พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีดินสีดำมาก ดื่นดาดด้วยระแหง กีบโค ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้พระภิกษุสวมรองเท้าหลายชั้นได้ทั่วปัจจันตชนบท
  3. คนทั้งหลายในอวันตีทักขิณาบถ นิยมการอาบน้ำ ถือว่าน้ำทำให้บริสุทธิ์ ขอได้โปรดทรงอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ทั่วปัจจันตชนบท
  4. ในอวันตีทักขิณาบถ ใช้เครื่องลาดที่ทำด้วย หนังแกะ หนังแพะหนังกวาง เป็นปกติธรรมดาเหมือนกับที่ในมัชฌิมชนบท ใช้เครื่องลาดที่ทำด้วยหญ้าตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง เป็นปกติธรรมดาเช่นกัน ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้ภิกษุได้ใช้ หนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังกวาง ทั่วปัจจันตชนบท
  5. เมื่อมีผู้ฝากถวายจีวรให้กับหมู่ภิกษุผู้อยู่นอกสีมาด้วยคำว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากก็มาบอกแก่ภิกษุชื่อนั้น ๆ ว่า มีคนที่มีชื่ออย่างนี้ ฝากจีวรให้มาถวายแก่ท่าน พวกภิกษุผู้ได้รับคำบอกเล่าเมื่อทราบดังนั้น ก็รังเกียจไม่ยินดีรับจีวรที่มีผู้ฝากมาถวาย โดยคิดว่าจีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้ภิกษุนั้นรับจีวรที่มีผู้ฝากภิกษุอื่นมาถวายได้ โดยให้ถือว่าจีวรนั่นยังไม่ควรนับราตรี ตราบเท่าที่ยังไม่ถึงมือภิกษุผู้ที่เขาเจาะจงถวาย

พระบรมศาสดาทรงอนุญาตตามที่ พระมหากัจจายนเถระกราบทูลขอ

ต่อมาพระโสณะเถระท่านนี้ 
ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็น 
เอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวถ้อยคำอันไพเราะ



พระองคุลิมาลเถระ


องคุลิมาล หรือ พระองคุลิมาลเถระ 
เป็นบุคคลสำคัญในยุคต้นแห่งพุทธศาสนา 
โดยเฉพาะตามพุทธประวัติพุทธฝ่ายเถรวาท 

คำว่า องคุลิมาล นั้นมาจากคำว่า องคุลี (นิ้วมือ) + มาล (สร้อยคอ สาย หรือแถว) 
แปลว่า สร้อยคอที่ทำจากนิ้วมือ


ท่านพระองคุลิมาล
เป็นบุตรของพราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล 
ในพระนครสาวัตถี 
มารดาชื่อว่า นางมันตานีพราหมณี 
เมื่อท่านคลอดจากครรภ์มารดา ได้บังเกิดเหตุอัศจรรย์ คือ 
บรรดาเครื่องศาสตราอาวุธยุทธภัณฑ์อันมีอยู่ในเรือนนั้นก็ดี 
เครื่องพระแสงศาสตราวุธของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ดี 
ได้บังเกิดเป็นเปลวไฟรุ่งโรจน์โชตนาการ 
ฝ่ายปุโรหิตาจารย์ผู้เป็นบิดา เมื่อเห็นเหตุนั้นจึงออกจากเรือนเล็งแลดูฤกษ์บน 
(ฤกษ์ที่พระจันทร์เสวยประจำวันมี ๒๗ ฤกษ์) 
ฤกษ์นั้นก็ปรากฏในอากาศประหลาดใจยิ่งนัก 
ด้วยว่าบุตรนั้นจะเกิดเป็นโจร 
ครั้นรุ่งเช้าจึงเข้าไปสู่ที่เฝ้า 
กราบทูลเนื้อความนั้นให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบ 
และในที่สุดได้กราบทูลให้พระองค์ประหารชีวิตเด็กเสีย 
แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลหาทรงทำไม่ 
ทรงรับสั่งให้บำรุงเลี้ยงรักษาไว้ 
ปุโรหิตาจารย์ก็อภิบาลบำรุงรักษากุมารนั้นไว้ 
และให้นามว่า "อหิงสกกุมาร" แปลว่า กุมารผู้ไม่เบียดเบียน

เมื่ออหิงสกกุมารเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาจึงส่งไปสู่พระนครตักกสิลา 
เพื่อจะให้ศึกษาเล่าเรียนวิชา และศิลปศาสตร์ 
เมื่ออหิงกกุมารไปถึงพระนครตักกสิลาแล้ว
ก็เข้าไปหาอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ขอศึกษาศิลปวิทยา 
อุตส่าห์กระทำวัตรปรนนิบัติอาจารย์เป็นอันดี 
และมีปัญญาเล่าเรียนได้ว่องไว 
แม้จะเล่าเรียนศิลปศาสตร์วิชาการ ใด ๆ ก็รู้จบสิ้นทุกประการ 
เชี่ยวชาญยิ่งกว่าศิษย์ทั้งปวง 
จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ 
ฝ่ายศิษย์อื่น ๆ อันเป็นเพื่อนเล่าเรียนด้วยกันนั้น ก็บังเกิดความริษยา 
จึงปรึกษากันเพื่อหาอุบายทำลายเจ้าอหิงสกกุมารเสีย 
เมื่อเป็นที่ตกลงกันแล้วได้ไปยุยงอาจารย์ถึงสองครั้งสามครั้ง 
ในที่สุดอาจารย์ก็ปลงใจเชื่อ คิดหาอุบายที่จะกำจัดอหิงสกกุมาร 
เมื่อเห็นอุบายเป็นที่แยบคายแล้ว จึงพูดกับอหิงสกกุมารว่า
"ดูก่อนมาณพ เจ้าจงไปฆ่าคนแล้วตัดเอานิ้วมาให้ได้พันนิ้วแล้วจงนำมา 
เราจะประกอบศิลปศาสตร์อันชื่อว่า วิษณุมนต์ให้แก่เธอ"

ในขั้นต้น อหิงสกกุมารมีความรังเกียจ ไม่พอใจ 
เพราะตนเกิดในตระกูลพราหมณ์ ไม่ควรเบียดเบียนฆ่าสัตว์ 
เป็นการผิดประเพณีวงศ์ตระกูลมารดาบิดา 
แต่ด้วยอาศัยความอยากสำเร็จศิลปศาสตร์อันมีชื่อว่า วิษณุมนต์ 
จึงได้ฝืนใจทำเริ่มจับอาวุธ ผูกพันให้มั่นกับตัวแล้ว ก็ลาอาจารย์เข้าสู่ราวป่า 
เที่ยวพิฆาตฆ่ามนุษย์อันเดินไปมาในสถานที่นั้น ๆ 
ครั้นฆ่าแล้วมิได้กำหนดนับเป็นจำนวนไว้ ก็บังเกิดลบเลือนสงสัย 
ตั้งแต่นั้นมาเมื่อฆ่าคนตายแล้วก็ตัดเอานิ้วร้อยเป็นพวงไว้ดุจพวงมาลานับได้ ๙๙๙ นิ้ว 
เพราะเหตุนั้นจึงมีนามปรากฏว่า "องคุลิมาลโจร" แปลว่า โจรผู้มีนิ้วมือเป็นพวงมาลา 
ข่าวคราวเรื่องนี้ก็ระบือกระฉ่อนไปตามนิคมชนบทต่าง ๆ 
มหาชนมีความสะดุ้งตกใจกลัวจึงพร้อมกันไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล 
เพื่อกราบทูลให้พระองค์กำจัดเสีย 
เมื่อพระองค์ทรงทราบแล้วจึงสั่งให้ตระเตรียมกำลังพล
เพื่อจะไปจับองคุลิมาลโจรฆ่าเสีย 
ปุโรหิตาจารย์ผู้เป็นบิดาทราบว่า อันตรายจะมีแก่บุตร 
จึงปรึกษากับนางพราหมณี 
ให้นางพราหมณีรีบออกไปก่อนเพื่อบอกเหตุนั้นให้บุตรทราบ

ในกาลครั้งนั้น 
สมเด็จพระบรมศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตตผลขององคุลิมาลโจรว่า 
ถ้าพระองค์ไม่ทรงเป็นพระภาระก็จะกระทำมาตุฆาต (ฆ่ามารดา) เสีย
จักเป็นเหตุเสื่อมจากมรรคผล จึงรีบเสด็จไปแต่เช้าตรู่ 
เมื่อพบเข้าแล้ว องคุลิมาลโจรก็ตรงเข้าไล่ทันที 
หมายจะพิฆาตฆ่าเอานิ้วพระหัตถ์ 
แม้ไล่เท่าไรก็ไม่ทันจนเกิดกายเหนื่อยเมื่อยล้าจึงร้องตะโกนให้พระบรมศาสดา 
หยุดพระองค์จึงตรัสบอกว่าพระองค์ได้หยุดแล้ว 
แต่เขาก็ยังไล่ตามไม่ทันจึงหาว่าพระองค์ตรัสสมุสาวาท
พระองค์ก็ตรัสบอกว่า
เราหยุดจากการทำอกุศลอันให้ผลเป็นทุกข์มานานแล้ว ส่วนท่านยังไม่หยุด
พระสุรเสียงนั้นทำให้องคุลิมาลโจรรู้สึกสำนึก โทษของตน 
จึงเปลื้องเครื่องศัสตราวุธ และมาลัยนิ้วมือออกจากกายทิ้งไว้ในซอกภูเขา 
แล้วเข้าไปเฝ้าทูลขอบรรพชาอุปสมบท 
พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้อุปสมบท 
ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วทรงนำเข้าไปในพระเชตวันมหาวิหาร

ครั้นเวลารุ่งเช้าพระองคุลิมาลเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีชาวพระนครได้เห็นท่าน
เกิดความตกใจกลัว พากันวิ่งหนีเป็นอลหม่าน
โดยวิ่งเข้าไปในกำแพงพระราชวังปิดประตูพระนครเสีย 
และพูดจากันต่าง ๆ นานาบางคนพูดว่า 
ท่านพระองคุลิมาลปลอมเป็นสมณะเพื่อหลบหนีราชภัยบางคนพูดว่า 
เพื่อหวังจะประทุษร้ายคนภายในพระนคร 
ท่านเที่ยวบิณฑบาตไปถึงไหนก็มีเสียงโจษจันเซ็งแซ่ไปถึงนั่น 
ไม่มีใครถวายบิณฑบาตเลยแม้แต่เพียงทัพพีเดียว 
ภิกษุรูปใดไปกับท่านภิกษุรูปนั้นก็พลอยอดไปด้วย 
แต่ก็เป็นโชคของท่านอย่างหนึ่งที่ท่านทำน้ำมนต์ให้หญิงมีครรภ์คลอดง่ายที่สุด คือ 
ครั้งหนึ่ง ท่านทำน้ำมนต์ให้หญิงมีครรภ์คนหนึ่งหญิง
คนนั้นก็คลอดลูกง่ายเหมือนเทน้ำออกจากกระออม 
ตั้งแต่นั้นมาก็มีคนนิยมนับถือท่านจนกระทั่งว่า 
แท่นที่ท่านนั่งนั้นคนเอาน้ำไปรดแล้วใช้เป็นน้ำมนต์ 
ก็ให้ผลสมความประสงค์เช่นเดียวกัน คาถาที่ท่านทำน้ำมนต์นั้น ได้แก่ คาถาว่า

ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา 
เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส. 

แปลว่า "ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่ฉันเกิดมาแล้วโดยอริยชาติ 
ยังไม่รู้สึกตัวว่าได้แกล้งปลงชีวิตสัตว์เลยด้วยอำนาจสัจวาจานั้น 
ขอความสุขสวัสดี จงมีแก่หล่อน และครรภ์ของหล่อนเถิด"

ท่านพระองคุลิมาลนั้นเป็นผู้ไม่ประมาท ตั้งใจเจริญสมณธรรม 
แต่จิตฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธิได้ เพราะคนที่ท่านฆ่าประดุจดังว่ามาปรากฏอยู่ตรงหน้า 
พระบรมศาสดาทรงทราบจึงเสด็จมาแนะนำสั่งสอนไม่ให้ระลึกถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว 
และสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ให้พิจารณาธรรมที่บังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างเดียว 
ท่านประพฤติตามไม่ช้าก็สำเร็จอรหัตตผล 
เป็นพระอริยสาวกนับเข้าในจำนวนอสีติมหาสาวกองค์หนึ่ง 
เมื่อท่านดำรงอายุสังขารอยู่โดยสมควรแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน.

ท่านพระองคุลิมาล บางตำนานกล่าวว่า 
ท่านได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา ว่า 
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สามีบริโภค แต่ในเอตทัคคบาลีไม่ปรากฏว่าท่านได้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะ 
เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้กล่าวไว้เกรงว่าจะเกิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น