วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

พุทธประวัติ ตอน ๘ ประกาศศาสนาและกำเนิดอุบาสกอุบาสิกา

พุทธประวัติ ตอน ๘ 
ประกาศศาสนาและกำเนิดอุบาสกอุบาสิกา


โปรดยสะกุลบุตรลูกเศรษฐี




ในสมัยนั้น มีมาณพผู้หนึ่ง ชื่อว่า ยสะ เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี 
บริบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงฆาร มีเรือน 3 หลัง เป็นที่อยู่ประจำใน 3 ฤดู อย่างผาสุก 
อิ่มอยู่ในกามสุขตามฆราวาสวิสัย 
ครั้งนั้น ในฤดูฝน พรรษากาลที่พระสัมพุทธเจ้า 
ทรงจำพรรษาอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลแต่บ้านยสะมานพ 
ราตรีวันหนึ่ง ยสะมานพนอนหลับก่อน 
เหล่านางบำเรอและบริวารนอนหลับภายหลัง 
แสงชวาลาที่ตามไว้ยังสว่างอยู่ 
ยสะมานพตื่นขึ้นเห็นบริวารเหล่านั้นนอนหลับอยู่ ปราศจากสติสัมปชัญญะ 
แสดงอาการวิกลวิกาลไปต่าง ๆ บ้างกรน คราง ละเมอ เพ้อพึมพำ 
ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีดังแต่ก่อน ปรากฏแก่ยสะมานพ 
เหมือนซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้ในป่าช้า 
ยสะมานพเห็นแล้วเกิดความสลดใจ เบื่อหน่าย รำคาญ อยู่ในห้องไม่ติด 
ออกอุทานด้วยความสังเวชใจว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ”
แล้วออกจากห้องสรวมรองเท้า เดินออกจากประตูเรือน 
ตรงไปทางที่จะไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน 



ในเวลานั้น จวนใกล้รุ่ง พระศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง 
ทรงได้ยินเสียงยสะมานพ เดินบ่นมาด้วยความสลดใจ ใกล้ที่จงกรมเช่นนั้น 
จึงรับสั่งเรียกด้วยพระมหากรุณาว่า 
“ยสะ ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง”
ฝ่ายยสะมานพได้ยินเสียงพระศาสดารับสั่งว่า “ยสะ ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง” ก็ดีใจ ถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ด้วยความสบายใจ



พระศาสดาตรัสเทศนาโปรดยสะมานพด้วย อนุปุพพิกถา 
แสดงถึงปฏิปทาเบื้องต้น ที่คฤหัสถ์ชนจะพึงสดับ และปฏิบัติตามได้โดยลำดับ คือ

  1. ทาน พรรณาความเสียสละ ให้ด้วยความยินดี เพื่อบูชาคุณของท่านผู้มีคุณ ด้วยความกตัญญู ด้วยความเคารพนับถือ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลฉันท์ญาติมิตร ด้วยความไมตรี ด้วยน้ำใจอันงาม เพื่ออนุเคราะห์ผู้น้อย ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยความกรุณาสงสาร
  2. ศีล พรรณาความรักษากาย วาจา เป็นสุภาพ เรียบร้อย เว้นจากการเบียดเบียนกัน เพื่อความสงบสุข ตามหลักแห่งมนุษยธรรม
  3. สวรรค์ พรรณาถึงอานิสงส์ของผู้บำเพ็ญทาน รักษาศีล จะพึงได้พึงถึงความสุข อย่างเทพเจ้าในสรวงสวรรค์ ยิ่งกว่าความสุขของมนุษย์
  4. กามาทีนพ พรรณณาถึงโทษของกาม ของผู้บริโภคกาม ทั้งในมนุษย์ทั้งในสวรรค์ เป็นช่องทางแห่งทุกข์โทษ เพราะวุ่นวาย ไม่สงบ เดือดร้อน ไม่รู้จักสิ้นสุด น่าระอา น่าเบื่อหน่าย
  5. เนกขัมมานิสงส์ พรรณาถึงอานิสงส์ของการหลีกออกจากกาม เหมือนคนออกจากเรือนไฟที่กำลังติดอยู่ ไม่เร่าร้อน สงบ เย็นใจ เป็นสุข ไม่มีภัยไม่มีเวรทุกประการ


ฟอกจิตของยสะมานพ ให้ห่างไกลจากความยินดีในกามได้ธรรมจักษุ 
เหมือนผ้าที่ซักฟอกให้หมดมลทิน ควรจะรับน้ำย้อมได้แล้ว 
พระศาสดาจึงทรงแสดงอริยสัจจ์ 4 คือ 
ทุกข์ , ทุกข์สมุทัย , เหตุให้ทุกข์เกิด, นิโรธ ความดับทุกข์ , 
และมรรคได้แก่ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ 
โปรดยสะมานพให้ได้เห็นธรรมพิเศษ ณ ที่นั่งนั้น

ฝ่ายมารดาของยสะมานพ ทราบว่าลูกชายหาย มีความเศร้าโศก บอกแก่เศรษฐีผู้เป็นสามี 
ท่านเศรษฐีตกใจให้คนออกติดตามตลอดทางทุกสาย 
แม้ตนเองก็ร้อนใจ อยู่ไม่ติด ก็ออกติดตามด้วย 
เผอิญเดินทางผ่านมาใกล้ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน 
เห็นรองเท้าของลูกก็จำได้ ดีใจ ตามเข้าไปหาจนถึงที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่

อุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นคนแรก




พระบรมศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ 4 โปรดท่านเศรษฐี 
ให้เศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา 
แสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต 
ท่านเศรษฐีได้เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยคนแรก ก่อนกว่าชนทั้งปวงในพระศาสนานี้

ขณะที่พระบรมศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ 4 โปรดท่านเศรษฐี 
ยสมานพนั่งอยู่ในที่นั้น ได้ฟังเทศนาทั้งสองเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่งในที่นั่งนั้นเอง 
พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน 
สำเร็จอริยคุณเบื้องสูง เป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้น นับว่ายสะมานพ 
เป็น พระอรหันต์องค์แรกที่อยู่ในเพศคฤหัสถ์ คือ 
ยังมิทันได้บวช ก็บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ซึ่งเป็นคุณสูงสุดในพระศาสนานี้

ฝ่ายเศรษฐีผู้บิดา ไม่ทราบว่า ท่านยสะสิ้นอาสวะแล้ว จึงกล่าวแก่ยสะว่า
“พ่อยสะ มารดาของเจ้า ไม่เห็นเจ้า มีความเศร้าโศกพิไรรำพันยิ่งนัก 
เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด”

ท่านยสะแลดูพระบรมศาสดา พระบรมศาสดาจึงตรัสบอกแก่เศรษฐีให้ทราบว่า 
“บัดนี้ ยสะ ได้บรรลุพระอรหัต เป็นพระอรหันต์แล้ว มิใช่ผู้ที่จะกลับคืนไปครองฆราวาสอีก”

ท่านเศรษฐีกราบทูลว่า 
“เป็นลาภอันประเสริฐของยสะแล้ว ขอให้ยสะได้รุ่งเรืองอยู่ในอนาคาริยวิสัยเถิด” 
แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดากับพระยสะให้ไปรับอาหารบิณฑบาตที่เรือนของตนในเช้าวันนั้น 
ครั้นทราบว่า พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาด้วยอาการดุษณีภาพแล้ว 
ก็ถวายบังคมลากลับไปสู่เรือน แจ้งข่าวแก่ภรรยา 
พร้อมกับสั่งให้จัดแจงขาทนียะโภชนียาหารอันประณีต เพื่อถวายพระบรมศาสดา

เมื่อท่านเศรษฐีกลับแล้ว 
ยสะมานพได้กราบทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุ 
พระบรมศาสดาทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพิเศษ 
ด้วยยสะมานพได้บรรลุพระอรหัตเป็นพระอรหันต์แล้ว 
เพียงแต่ทรงรับให้เข้าอยู่ในภาวะของภิกษุ 
ในพระธรรมวินัยได้เท่านั้น ดังนั้น จึงตรัสพระวาจาแต่สั้น ๆ ว่า 
“เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” 
ตัดคำว่า “เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ” ข้างท้ายออกเสีย ด้วยพระยสะถึงที่สุดทุกข์แล้ว

อุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นคนแรก

ในเวลาเช้าวันนั้น พระบรมศาสดาก็มีพระยสะ 
เป็นพระตามเสด็จ 1 รูป เสด็จไปยังเรือนท่านเศรษฐีตามคำอาราธนา 
ประทับนั่งยังอาสนะที่ตกแต่งไว้ถวายเป็นอันดี 
มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะเข้าเฝ้า 
พระบรมศาสดาทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ 4 ให้สตรีทั้งสองนั้นได้ธรรมจักษุ 
เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา 
ปฏิญาณตนเป็นอุบาสิกาของถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต 
มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ 
ได้เป็นอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา 
ก่อนกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในโลกนี้

ครั้นได้เวลาภัตตกิจ มารดาบิดาและภรรยาเก่าของพระยสะ 
ได้จัดการอังคาสด้วยชัชชโภชนาหารอันประณีตด้วยมือของตนเอง 
เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว พระบรมศาสดาตรัสอนุโมทนา 
ให้อุบาสกอุบาสิกาทั้ง 3 นั้น อาจหาญ ร่าเริงในธรรม เป็นอันดีแล้ว 
เสด็จกลับประทับยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ครั้งนั้น มีเศรษฐีบุตรชาวเมืองพาราณสี 4 คน คือ
วิมละ 1 สุพาหุ 1 ปุณณชิ 1 ควัมปติ 1 
ซึ่งเป็นสหายที่รักใคร่ของพระยสะ ครั้นได้ทราบข่าวว่าพระยสะออกบวช 
เกิดความสนใจใคร่จะรู้ธรรมที่พระยสะมุ่งหมายประพฤติพรต
ดังนั้น สหายทั้ง 4 คน จึงพร้อมกันไปพบพระยสะถึงที่อยู่ 
พระยสะได้พาสหายทั้ง 4 คนนั้นไปเฝ้าพระบรมศาสดา 
ทูลให้ทรงสั่งสอน พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเศรษฐีบุตรทั้ง 4 นั้น
ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุ 
ทั้งทรงสั่งสอนให้บรรลุพระอรหัตผลในกาลต่อมา ครั้งนั้น 
มีพระอรหันต์ในโลกเป็น 11 องค์ด้วยกัน ทั้งพระบรมศาสดา

พระอรหันต์ 61 รูป เกิดขึ้นในโลก




ต่อมามีสหายของพระยสะ ซึ่งเป็นชาวชนบท 50 คน 
ได้ทราบข่าวพระยสะออกบวช มีความคิดเช่นเดียวกับสหายของพระยสะทั้ง 4 นั้น 
จึงไปหาพระยสะที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้สดับธรรม มีความเลื่อมใส ได้อุปสมบท 
และได้บรรลุพระอรหัตผลด้วยกันทั้งหมดโดยนัยก่อน 
จึงเกิดมีพระอรหันต์รวมทั้งพระศาสดาด้วยเป็น 61 องค์

เมื่อพระสาวกมีมาก พอจะเป็นกำลังช่วยพระองค์ออกประกาศพระศาสนา 
เพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่คนเป็นอันมากได้แล้ว 
ครั้นออกพรรษาแล้ว จึงส่งพระสาวกทั้ง ๖๐ นั้นให้ออกไปประกาศพระศาสนาด้วยพระดำรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ! เราได้พ้นแล้วจากบ่วงเครื่องรึงรัดทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้ท่านทั้งหลายก็เช่นกัน ท่านทั้งหลายจงเที่ยวไปในชนบท 
เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก ต่างรูปต่างไป แต่ละทิศละทาง 
อย่าไปรวมกัน 2 รูป ในทางเดียวกัน 
จงแสดงธรรมประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิบริบูรณ์สิ้นเชิง 
สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสบังปัญญาดุจธุลีในจักษุน้อย มีอยู่ 
เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรม ย่อมเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้พึงถึง 
แล้วผู้ตรัสรู้ธรรมจักมีขึ้นตามโดยลำดับ แม้เราก็จักไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมเช่นกัน”

ครั้นพระสาวกทั้ง 60 องค์ ถวายบังคมลาพระบรมศาสดาออกจากป่าอิสิปตนะมิคทายวัน 
จาริกไปประกาศพระศาสนายังชนบทน้อยใหญ่ 
ตามพระพุทธประสงค์แล้ว ส่วนพระองค์ก็เสด็จดำเนินไปยังตำบลอุรุเวลา 
ครั้นถึงไร่ฝ้ายในระหว่างทาง เสด็จหยุดพักที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง

จบตอน ประกาศศาสนาและกำเนิดอุบาสกอุบาสิกา


พระพุทธพจน์ที่เกี่ยวข้อง จะมาอัพเดทเพิ่มเติมในภายหลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น