วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

พุทธประวัติ ตอน ๗ กำเนิดพระธรรม(ธรรมจักร)และกำเนิดพระสงฆ์(ปฐมสาวก)

พุทธประวัติ ตอน ๗ กำเนิดพระธรรม(ธรรมจักร)และกำเนิดพระสงฆ์(ปฐมสาวก)




พานิชสองพี่น้อง อุบาสกผู้รัตนะ ๒ (เทวาจิกอุบาสก)





ในกาลนั้น มีพานิชสองพี่น้อง ชื่อ ตปุสสะ 1 ภัลลิกะ 1 เป็นนายกองเกวียน
นำกองเกวียนบรรทุกสินค้า โดยมรรคาอันไกล 
ปรารถนาจะไปค้าขายยังอุกกลาชนบท ในมัชฌิมประเทศ 
เดินทางมาใกล้พนาสณฑ์นั้น เทพยดาได้แนะนำให้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า 
สองพานิชก็ดีใจ พักกองเกวียนไว้แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า 
มีศรัทธาเลื่อมใส ได้น้อมข้าวสัตตูก้อน สัตตูผล เข้าทูลถวายด้วย



ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า บาตรของตถาคตได้หายไปแต่เช้าแห่งวันตรัสรู้ 
ต้องทรงรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาด้วยพระหัตถ์ 
และครั้นได้ตรัสรู้แล้ว ก็มิได้เสวยพระกระยาหารเลย ตลอดเวลา 49 วัน บัดนี้ 
ควรที่ตถาคตจะรับอาหารของสองพานิช 
ที่น้อมเข้ามาถวายด้วยบาตร ขณะนั้นท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 พระองค์ 
ได้นำบาตรเสลมัย เป็นศิลาล้วน 
มีสีเขียวดังเม็ดถั่วเขียวทั้ง 4 ลูก มาจากทิศทั้ง 4 น้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า




ครั้นพระองค์ทรงรับบาตรทั้ง 4 ลูก จากท้าวมหาราชแล้ว ทรงดำริว่า 
บรรพชิตไม่ควรมีบาตรเกินกว่า 1 ลูก 
และในทันใดนั้น ก็ทรงอธิษฐานประสานบาตรทั้ง 4 ลูกนั้น เข้าเป็นบาตรลูกเดียว 
แล้วทรงเอาบาตรนั้นรับข้าวสัตตูก้อน สัตตูผง ของพานิชทั้งสอง ทรงทำภัตกิจ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสร็จการเสวยแล้ว ตปุสสะ ภัลลิกะ 
พานิชทั้งสองได้กราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสกด้วยความเลื่อมใส 
ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรมว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต 
ด้วยเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์ ปฐมอุบาสกทั้งสองนี้จึงเป็นอุบาสกประเภท เทววาจิก คือ 
เปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้า และพระธรรมทั้งสองเป็นที่พึ่งที่ระลึก



ครั้นแล้วพานิชทั้งสองได้กราบทูลขอประทานปูชนียวัตถุ 
คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำหรับเป็นที่ระลึก อภิวาทบูชาในกาลต่อไป 
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกพระหัตถ์ขึ้นปรามาสพระเศียร 
ในขณะนั้น พระเกศธาตุ 8 เส้น ได้ติดนิ้วพระหัตถ์ลงมา 
พระบรมศาสดาจึงทรงประทานพระเกศาธาตุทั้ง 8 เส้นนั้น แก่ตปุสสะ ภัลลิกะ ปฐมอุบาสก 
เพื่อเป็นที่ระลึกตามประสงค์ พานิชทั้งสองน้อมรับพระเกศธาตุด้วยความเบิกบานใจอย่างยิ่ง 
ได้นำบรรจุลงในผอบทองคำ แล้ววางลงบนสุวรรณภาชนะอันวิจิตร 
ถวายบังคมอัญเชิญผอบพระเกศธาตุไปด้วยเศียรเกล้าของตน 
นำขึ้นประดิษฐานบนเกวียน แล้วหลีกไปจากที่นั้น

ครั้นล่วง 7 วันแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเสด็จจากร่มไม้ราชยายตนะ 
ไปประทับยังร่มไม้อชปาลนิโครธอีกครั้งหนึ่ง ทรงพระดำริถึงพระองค์ว่า 
การดำรงพระองค์อยู่โดยความเป็นผู้ไม่มีที่เคารพ กราบไหว้ เป็นความลำบาก 
ก็แลพระองค์ควรจะเคารพกราบไหว้ผู้ใดดี 
เมื่อได้ทรงพิจารณาเลือกหาผู้ที่ทรงคุณสมบัติยิ่งกว่า 
ควรที่พระองค์จะทรงเคารพ ก็มิได้ทรงมองเห็นใครผู้ใดผู้หนึ่ง 
ซึ่งเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรม ควรแก่การคารวะ

ทรงพระดำริว่า พระโลกุตตรธรรม ที่ตถาคตได้ตรัสรู้นี้แล
เป็นปูชนียธรรมอันประเสริฐสุด ควรแก่การเคารพบูชาอย่างยิ่ง 
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วทุก ๆ พระองค์ 
ก็ทรงเคารพพระสัทธรรม ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเคารพพระธรรม 
ทรงเทิดทูนพระธรรมขึ้นเป็นที่เคารพบูชา

ต่อนั้น ก็ทรงได้พิจารณาถึงพระธรรม ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ทั้งหมดนั้น 
เป็นคุณชาติละเอียดสุขุมคัมภีรภาพอย่างยิ่ง 
ยากที่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้มีปัญญาน้อย มีความเพียรน้อย 
แม้จะได้สดับแล้ว จะตรัสรู้ตามได้ 
ทำให้พระองค์ทรงท้อพระทัยในอันจะแสดงธรรมโปรดประชากร

ท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนาแสดงธรรม




ขณะนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบในพระพุทธปริวิตกเช่นนั้น 
จึงชวนเทพยดาเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ 
แล้วกราบทูลอาราธนาว่า 
“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาดังทะเลหลวง 
ประชากรทั้งปวงที่มีสาวกบารมีได้สั่งสมไว้มีอยู่ 
สัตว์ผู้มีธุลีนัยน์ตาน้อย ยังมีอยู่ 
ถ้าพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดประทานพระธรรมเทศนา 
ประชาสัตว์ก็จะได้ดวงปัญญาหยั่งรู้ตาม 
จะได้ข้ามสังสารวัฏฏ์ สมดังมโนรถของพระองค์ที่ทรงมุ่งจะรื้อขนสัตว์ให้เข้าสู่พระนิพพาน”



ดอกบัว ๔ จำพวก





ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม 
ก็ทรงพระจินตนาการว่า เป็นธรรมดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่สืบ ๆ กันมา 
ในอันที่จะประกาศธรรมโปรดประชากร แท้จริง ในราตรีแห่งวันที่จะได้ตรัสรู้ 
ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ ก็ทรงหยั่งเห็นสันดานของประชาสัตว์สิ้นแล้ว 
ว่ามีอุปนิสสัยต่าง ๆ กัน เป็น 4 จำพวก คือ

  1. อุคฆติตัญญู ผู้สามารถจะตรัสรู้ตามพระธรรมเทศนาได้ฉับพลัน
  2. วิปจิตัญญู ผู้จะตรัสรู้ตามในกาลภายหลังที่สดับรับพระโอวาทแนะนำในกาลต่อไป
  3. เนยยะ ผู้มีสันดานเพียงเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติตามโอวาท ซึ่งสามารถจะรู้ได้ในกาลภายหลัง
  4. ปทปรมะ ผู้ยากที่จะสั่งสอน แม้จะได้สดับธรรม ก็จะได้ผลเพียงเป็นอุปนิสสัยปัจจัยในภาพต่อไป 

ดังดอกบัว 4 เหล่านั้น จึงได้ทรงน้อมพระทัยไปในอันที่จะแสดงธรรมโปรดประชาสัตว์ 
ทรงรับอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม ตั้งพระทัยจะประดิษฐานพระพุทธศาสนาด้วยดี 
ให้เกิดแก่พุทธบริษัททั้ง 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา 
แผ่ไพศาลก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานสืบไป



บัวสามเหล่า (ตามนัยพระไตรปิฏก)

ในพระไตรปิฏก พระพุทธองค์ทรงพิจารณาตามคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมที่เชิญให้พระองค์แสดงธรรม พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาตรวจสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ และทรงเห็นว่า สัตว์โลกที่ยังสอนได้มีอยู่ เปรียบด้วยดอกบัว 3 จำพวก ดังความต่อไปนี้

"ครั้นอาตมภาพทราบว่าท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนา และอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ.
เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี
มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี
จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี
เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ
บางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้
บางเหล่า ตั้งอยู่เสมอน้ำ
บางเหล่า ตั้งขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติด ฉันใด

ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้น
ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี
มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี
จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี
บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี..."


ที่มา 'มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงเปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า'

บัวสี่เหล่า (ตามนัยอรรถกถา)
ตามนัยอรรถกถา ได้อธิบายบุคคล 4 ในปุคคลวรรค พระไตรปิฏก
ปนกับอุปมาเปรียบบุคคลด้วยดอกบัว 3 เหล่าใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ 
โดยลงความเห็นว่าบุคคล 4 ที่พระพุทธองค์ตรัสในปุคคลวรรค 
เปรียบกับดอกบัว 3 เหล่า (โดยเพิ่มบัวเหล่าที่ 4 เข้าไปในบุคคล 4 ในปุคคลวรรค) ดังนี้

บุคคล 4 จำพวก คือ อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เนยย ปทปรมะ ก็เปรียบเหมือนดอกบัว 4 เหล่านั้นแล.
ในบุคคล 4 จำพวกนั้น
- บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลาที่ท่านยกขึ้นแสดง ชื่ออุคฆฏิตัญญู.
- บุคคลที่ตรัสรู้ธรรม เมื่อท่านแจกความแห่งคำย่อโดยพิสดาร ชื่อว่าวิปจิตัญญู.
- บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมโดยลำดับด้วยความพากเพียรท่องจำ ด้วยการไต่ถาม ด้วยทำไว้ในใจโดยแบบคาย ด้วยคบหาสมาคมกับกัลยาณมิตร ชื่อว่าเนยย.
- บุคคลที่ไม่ตรัสรู้ธรรมได้ในชาตินั้น แม้เรียนมาก ทรงไว้มาก สอนเขามาก ชื่อว่าปทปรมะ.

ที่มา 'อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร ธมฺมเทสนาธิฏฺฐานวณฺณนา'



ต่อนั้น ก็ทรงพระดำริหาคนที่ควรจะได้รับเทศนาครั้งแรก 
ได้ทรงปรารภถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส 
ที่พระองค์ได้เคยอยู่อาศัยศึกษาลัทธิของท่านในกาลก่อน ว่า 
ท่านทั้งสองนี้มีปัญญา ทั้งมีกิเลสเบาบาง สามารถจะรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน 
แต่ท่านทั้งสองได้สิ้นชีพเสียแล้วก่อนหน้า 7 ราตรี
มัจจุ คือความตาย เป็นมาร เป็นภัยต่อคุณอันใหญ่ของท่านทั้งสอง 
ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้ฟังธรรมแล้วคงจะได้ตรัสรู้โดยฉับพลันทีเดียว 
ภายหลังทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ว่า เป็นผู้มีอุปนิสสัยในอันจะตรัสรู้ธรรม 
ทั้งมีอุปการะแก่พระองค์มาก ได้เป็นอุปฐากของพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา 
ครั้นทรงกำหนดแน่ในพระทัยว่า จะแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ก่อน 
ดังนั้น ครั้นเวลาเช้าแห่งวันจาตุททสี ดิถีขึ้น 14 ค่ำ แห่งอาสาฬหมาส คือ เดือน 8
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว 
ก็เสด็จดำเนินไปโดยทางที่จะไปยังเมืองพาราณสี 
อันเป็นทางระหว่างแห่งแม่น้ำคยา กับแดนมหาโพธิ์ต่อกัน 
ทรงพบอาชีวกผู้หนึ่ง มีนามว่า อุปกะ เดินสวนทางมา 
ฝ่ายอุปกะได้เห็นพระรัศมีฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาพงดงามผ่องใส 
อย่างที่ไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน ก็ประหลาดใจ คิดไปว่า 
คนผู้นี้ไฉนหนอจึงมีรัศมีโอภาสงามผุดผ่อง เป็นสง่าน่าเคารพยิ่งนัก 
จึงเข้าไปใกล้แล้วปราศัยด้วยคารวะเป็นอันดีว่า 
ข้าแต่สมณะ อินทรีย์ของท่านผ่องใส บริสุทธิ์ปราศจากราคี 
ท่านบวชในสำนักไหน ใครเป็นครูของท่าน 
ท่านเล่าเรียนปฏิบัติธรรมในสำนักอาจารย์ผู้ใด กรุณาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบด้วย



พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า 
“ดูกร อุปกะ ตถาคตเป็นสยัมภู ตรัสรู้เองด้วยปัญญายิ่ง ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สั่งสอน 
เป็นสัพพัญญู ตรัสรู้ธรรมทั้งมวล ไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรู้ ซึ่งตถาคตไม่รู้ อุปกะ 
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ตถาคตแสดงว่าใครเป็นครูสั่งสอนเล่า”

อุปกะไม่เชื่อ ด้วยไม่มีญาณที่จะหยั่งเห็นตาม 
ทั้งไม่มีความรู้ที่จะซักถามถึงเหตุอื่นอีกได้ สั่นศีรษะแล้วก็หลีกไปจากที่นั้น 
ตามสันดานของอาชีวก ที่มีทิฏฐิ ที่มั่นแต่ในลัทธิของตนเท่านั้นว่าถูก 
อาจารย์ของตนรู้จริง คนอื่นเปล่า 
ต่อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จโดยทางนั้นต่อไป 
พอเพลาสายัณห์ก็บรรลุถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

โปรดปัญจวัคคีย์




ขณะนั้น ปัญจวัคคีย์ ฤาษีทั้ง 5 ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล 
จึงกล่าวนัดหมายกันว่า พระสมณะโคดม เลิกละความเพียรในการบำเพ็ญตบะ ในทุกรกิริยา 
บัดนี้ มีร่างกายผ่องใสงดงามยิ่งนัก คงจะไม่มีโอกาสได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว 
เสด็จมา ณ ที่นี้ ชรอยจะมีความรำคาญไม่สบายพระทัย 
อยู่ไม่ได้โดยลำพังพระองค์เดียว จึงเที่ยวสืบเสาะแสวงหาเรา 
ดังนั้น ในบรรดาพวกเรา ใครอย่าทำปัจจุคมต้อนรับ อย่าไหว้อย่ากราบ 
อย่ารับบาตรจีวร ปูลาดแต่อาสนะไว้ถวาย 
ด้วยพระองค์เป็นกษัตริย์ขัตติยตระกูลมหาศาล 
หากพระองค์ปรารถนาจะนั่ง ก็จะได้นั่งตามประสงค์ 
ครั้นทำกติกาสัญญานัดหมายแล้ว 
ก็ทำนั่งเพิกเฉยแสดงอาการไม่เคารพ 
ไม่ยินดีในการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้า

แต่ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้ 
ก็บรรดาลให้ปัญญจวัคคีย์ทั้ง 5 ลืมกติกาสัญญาที่ทำกันไว้หมด 
พากันลุกขึ้นยืนประนตน้อมอัญชลี รับบาตร จีวร 
บางรูปตักน้ำมาล้างพระยุคลบาท 
บางรูปก็ร้องทูลเชิญให้เสด็จประทับ 
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับนั่งแล้ว 
ปัญจวัคคีย์ได้กล่าวปฏิสันถาร 
ถามถึงทุกข์สุขตามวิสัยของคนที่ต่างถิ่นมาไกลได้พบกัน 
หากแต่ใช้สำนวนต่ำ ๆ ว่า อาวุโส โคตมะ อันเป็นกิริยาไม่เคารพ ซึ่งไม่เป็นการสมควร



แต่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกว่า
“ดูกร ปัญจวัคคีย์ บัดนี้ ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว 
มาครั้งนี้หวังจะแสดงธรรมแก่เธอทั้ง ๕ เธอจงตั้งใจสดับ 
และปฏิบัติตามคำของตถาคต ไม่ช้านานสักเท่าใด ก็จะได้ตรัสรู้ตาม”

ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ กลับคัดค้านว่า 
“อาวุโส โคตมะ แม้แต่กาลก่อน พระองค์ทรงบำเพ็ญตบะ 
ทำทุกรกิริยาด้วยความเพียรอย่างแรงกล้า ก็ยังไม่สำเร็จแก่พระสัมมาสัมโพธิญาณ 
แล้วไฉนเลิกละความเพียรเวียนมาเป็นผู้มักมากแล้ว พระองค์จะตรัสรู้พระสัมโพธิญาณได้เล่า”

แม้พระบรมศาสดาจะตรัสเตือนซ้ำอีก ปัญจวัคคีย์ก็ยังไม่เชื่อ 
กล่าวโต้แย้งถึง 3 ครั้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเตือนด้วยพระกรุณา 
ให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 หวลระลึกถึงความหลังดูว่า 
“ดูก่อนปัญจวัคคีย์ วาจาที่ไม่ควรเชื่อคำใด ตถาคตเคยกล่าวอยู่บ้างหรือ 
แม้แต่คำว่า ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณนี้ ตถาคตเคยกล่าวกะใคร ที่ไหน แต่กาลก่อน”



ด้วยอานุภาพของพระวาจาจริงของพระองค์ เป็นอัศจรรย์ 
ทำให้พระปัญจวัคคีย์ระลึกเห็นตาม พากันแน่ใจว่า 
พระผู้มีพระภาคเจ้า คงจะได้ตรัสรู้จริงดังพระวาจา 
ก็พร้อมกันถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยคารวะ 
ขอประทานอภัยโทษที่แสดงอาการไม่เคารพต่อพระองค์ในเบื้องต้นทุกประการ

ปฐมเทศนา (ธรรมจักกัปปวัตนสูตร)



พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับพักในสำนักปัญจวัคคีย์ 1 ราตรี 
ครั้นวันรุ่งขึ้น เป็นวันปัณณรสี ขึ้น 15 ค่ำ อาสาฬหมาส 
พระองค์จึงได้ทรงประกาศพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร 
ประทานปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 รูปนั้นว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ที่สุด 2 อย่าง บรรพชิตไม่ควรนิยมยินดี คือ 
กามสุขขัลลิกานุโยค ทำตนให้พัวพันด้วยสุขในกาม เป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุตั้งบ้านตั้งเรือน เป็นของคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ของพระอริยะ คือผู้บริสุทธิ์ไม่เป็นประโยชน์ นี้อย่าง 1

อัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบาก เป็นทุกข์ ไม่ทำให้เป็นพระอริยะ ไม่เป็นประโยชน์ นี้อย่าง 1 ทั้งสองอย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรนิยมยินดี

มัชฌิมาปฏิปทา เราได้ตรัสรู้แล้ว ทำดวงตา ปรีชาญาณให้สว่างเป็นไปเพื่อความสงบระงับ 
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ สิ้นตัณหาเครื่องรัดรึง



มัชฌิมาปฏิทา นั้น เป็นอย่างไร ?

มัชฌิมาปฏิทา นั้น คือ ทางมีองค์ 8 ทำผู้ดำเนินให้เป็นอริยะนั้นเอง

องค์ 8 นั้นอะไรบ้าง ?

องค์ 8 นั้น คือปัญญาความเห็นชอบ 1 ความดำริชอบ 1 วาจาชอบ 1 การงานชอบ 1 
เลี้ยงชีวิตชอบ 1 ความเพียรชอบ 1 ระลึกชอบ 1 ตั้งใจชอบ 1

มัชฌิมาปฏิทานี้แล เราได้ตรัสรู้แล้ว ทำดวงตา ปรีชาฌาณให้สว่าง 
เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน



ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยะบุคคล คือ 
ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความแห้งใจ ความรำพัน 
ความเจ็บไข้ ความเสียใจ ความคับใจ เป็นทุกข์ 
ความประจวบด้วยสิ่งไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์ 
ความปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์

ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยะบุคคล คือ 
ตัณหา ความทะยานอยาก ทำให้มีภพมีชาติ สหรคด้วยความกำหนัดยินดี 
เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ

ตัณหา อะไรบ้าง ?

กามตัณหา คือ ความทยานอยากในอารมณ์ที่ใคร่ 1 
ภวตัณหา คือความทยานอยากในความมีความเป็น 1 
วิภวตัณหา คือ ความทยานอยากในความไม่มีไม่เป็น 1 
ตัณหา ๓ ประการนี้แล เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยะบุคคล คือ 
ความดับตัณหาทั้ง 3 นั้นแหละ หมดสิ้น เป็นอเสสวิราค ความสละ ความวาง 
ความปล่อย ความไม่พัวพัน ซึ่งตัณหานั้นแล เป็นความดับทุกข์

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางเข้าถึงความดับทุกข์นี้ อย่างหนึ่ง 
เป็นสัจจะของอริยบุคคล ได้แก่อริยมรรค ทางมีองค์ 8 นี้แล คือ
ปัญญาเห็นชอบ 1 ดำริชอบ 1 วาจาชอบ 1 การงานชอบ 1 เลี้ยงชีวิตชอบ 1 
ความเพียรชอบ 1 ระลึกชอบ 1 ตั้งใจชอบ 1 เป็นทางถึงความดับทุกข์



ภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา 
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า

ข้อนี้ ทุกข์ ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา และเราก็ได้กำหนดรู้แล้ว

ข้อนี้ ทุกขสมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด ควรละเสีย และเราได้ละเสียแล้ว

ข้อนี้ ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ควรทำให้แจ้งชัด และเราก็ได้ทำให้แจ้งชัดแล้ว

ข้อนี้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางเข้าถึงความดับทุกข์ ควรทำให้เกิด และเราก็ได้ทำให้เกิดแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริง ในอริยสัจจ์ 4 อันมีรอบ 3 มีอาการ 12 อย่างนี้ 
ยังไม่หมดจดเพียงใดแล้ว เราก็ยังไม่อาจยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ 
ไม่มีความรู้อันใดเหนือเพียงนั้น

เมื่อใด ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริง ในอริยสัจจ์ 4 เหล่านี้ ของเราหมดจดดีแล้ว 
เมื่อนั้น เราอาจยืนยันตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีความรู้อันใดเหนือ 
ก็แลปัญญาได้เกิดขึ้นแก่เราชัดว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ 
ความเกิดครั้งนี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ ไม่มีความเกิดอีก

ปฐมสาวก (พระสาวกรูปแรก)




เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสพระธรรมเทศนาอยู่ ธรรมจักษุ 
(ได้แก่ พระโสดาปัตติมรรค์ ท่านผู้ได้ เป็นพระโสดาบัน) 
คือ ดวงตาอันเห็นธรรม ปราศจากธุลีมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านโกณทัญญะว่า 
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา” 
พระองค์ทรงทราบว่าท่านโกณทัญญะ ได้เห็นธรรมแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัยว่า 
“อัญญาสิ วต โภ โกณทัญโญ ๆ” แปลว่า “โกณทัญญะ ได้รู้แล้วหนอ ๆ” 
พระโกณทัญญะจึงได้คำว่า อัญญา อันเป็นคำนำหน้าพระอุทาน เพิ่มชื่อข้างหน้า 
เป็น พระอัญญาโกณทัญญะ ตั้งแต่กาลนั้นมา

เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จบลง 
ให้พระอัญญาโกณทัญญะได้บรรลุโสดาปัตติมรรค 
เป็นพระโสดาบันแล้ว และให้บรรดาอเนกนิกรเทพยดาที่มาประชุมฟังธรรมเทศนาอยู่ 
ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลมากมาย สุดที่จะคนณา

พระโกณทัญญะ จึงได้ทูลขออุปสมบท เป็นภิกษุ 
ในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
พระองค์ทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย ด้วยพระวาจาว่า 
“ท่านจงเป็นภิกษุ มาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว 
ท่านจงประพฤติพรหมจรรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
ด้วยพระวาจาเพียงเท่านั้น ก็ได้สำเร็จเป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อย่างสมบูรณ์ 
ด้วยในเวลานั้นยังมิได้ทรงบัญญัติวิธีอุปสมบทเป็นอื่นไว้ 
ทั้งเพิ่งเป็นการประทานอุปสมบทครั้งแรกในพระศาสนา 
ฉะนั้น พระอัญญาโกณทัญญะ จึงเป็นพระสงฆ์องค์แรก 
เป็นพระอริยะบุคคคลองค์แรก และเป็นพระสาวกองค์แรกในพระศาสนานี้ 
เป็นอันว่า พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆ์เจ้า 
ให้เกิดขึ้นบริบูรณ์ ในกาลแต่บัดนั้น

พระบรมศาสดา มีพระพุทธประสงค์จะทรงโปรดพระปัญจวัคคีย์ให้สำเร็จพระอรหัตต์ 
เพื่อเป็นกำลังในการประกาศพระศาสนาต่อไป 
จึงเสด็จจำพรรษา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงสั่งสอนบรรพชิตทั้ง 4 รูปที่เหลืออยู่นั้น 
ด้วยพระธรรมเทศนาต่าง ๆ ตามสมควรแก่อัธยาศัย 
เมื่อท่านวัปปะ และท่านภัททิยะ ได้ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรมอย่างพระอัญญาโกณทัญญะแล้ว 
ทูลขออุปสมบท พระศาสดาก็ทรงประทานอุปสมบทแก่ท่านทั้ง 2 นั้น 
เหมือนอย่างประทานแก่พระอัญญาโกณทัญญะ 
ภายหลังท่านมหานามะ และท่านอัสสชิ ได้ธรรมจักษุ แล้ว ทูลขออุปสมบท 
พระบรมศาสดาก็ทรงประทานเหมือนอย่างประทานแก่สาวกทั้ง 3

ครั้นพระภิกษุปัญจวัคคีย์ ตั้งอยู่ในที่พระสาวกแล้ว 
มีอินทรีย์ มีศรัทธา เป็นต้น แก่กล้า สมควรสดับธรรม จำเริญวิปัสสนา 
เพื่อวิมุติเบื้องสูงแล้ว ครั้นถึงวันแรม 5 ค่ำ แห่งเดือนสาวนะ คือ 
เดือน 9 ซึ่งเท่ากับแรม 8 ค่ำ เดือน 8 ไทย ด้วยสมัยนั้น นับแรมเป็นต้นเดือน นับขึ้นเป็นปลายเดือน 
พระศาสดาจึงได้แสดงธรรมสั่งสอน พระปัญจวัคคีย์ด้วย อนัตตลักขณะสูตร 
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนา แสดงอนัตตลักขณสูตรอยู่ 
จิตของพระภิกษุปัญจวัคคีย์ ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสเทศนานั้น 
พ้นแล้วจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก 6 องค์ คือ พระสัมพุทธเจ้า 1 พระอริยะสาวก 5 คือ 
พระอัญญาโกณทัญญะ 1 พระวัปปะ 1 พระภัททิยะ 1 พระมหานามะ 1 พระอัสสชิ 1
รวมเป็น 6 ด้วยประการฉะนี้

จบกำเนิดพระธรรม(ธรรมจักร)และกำเนิดพระสงฆ์(ปฐมสาวก)


พระพุทธพจน์จากพระไตรปิฏกที่เกี่ยวกับเรื่องนี้


ทรงคิดหาที่พึ่งสําหรับพระองค์เอง


ภิกษุ  ท.!  เมื่อเราอยู่ที่ตําบลอุรุเวลา 
ใกล้ฝั่งแม่น้ําเนรัญชรา,  ที่ต้นไทรเป็นที่พักร้อนของเด็กเลี้ยงแพะ
คราวเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ,

ภิกษุ  ท.!  เมื่อ เราเร้นอยู่  ณ  ที่สงัด  เกิดปริวิตกขึ้นในใจว่า 
“ผู้อยู่ไม่มีที่เคารพ  ไม่มีที่พึ่งพํานัก ย่อมเป็นทุกข์, 
เราจะพึงสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์คนไหนหนอแล้ว แลอยู่ ?”

ภิกษุ  ท. ! ความรู้สึกอันนี้ได้เกิดแก่เราว่า 
“เรามองไม่เห็น  สมณพราหมณ์อื่นที่ไหนในโลกนี้และเทวโลก 
มารโลก  พรหมโลก  และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์, 
เทวดาพร้อมทั้งมนุษย์  ซึ่งสมบูรณ์ด้วยศีล  ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา 
ด้วยวิมุตติ  ยิ่งกว่าเรา  ซึ่งเราควรสักการะเคารพ  แล้วเข้าไปอาศัยอยู่”.  

ภิกษุ  ท. ! ความคิดอันนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า  
“ถ้าไฉน  ธรรมอันใด ที่เราได้ตรัสรู้แล้ว.  
เราพึงสักการะเคารพธรรมนั้น  เข้าไปอาศัยแล้วแลอยู่เถิด”.

สหัมบดีพรหม รู้ความคิดในใจของเรา
อันตรธานจากพรหมโลก มาปรากฏอยู่ เฉพาะหน้าเรา 
ในชั่วเวลาที่คนแข็งแรง เหยียดแขนออก แล้วคู้เข้า เท่านั้น.

ภิกษุ ท. ! สหัมบดีพรหม ทําผ่าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
จดเข้าข้างขวาที่พื้นดิน น้อมอัญชลีเข้ามาหาเราแล้วกล่าวกะเราว่า 
“อย่างนั้นแหละ พระผู้มีพระภาค ! อย่างนั้นแหละ พระสุคต ! ข้าแต่พระองค์! 
แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ล่วงไปแล้วในอดีต 
ก็ได้สักการะเคารพธรรมนั่นเอง เข้าไปอาศัยแล้วแลอยู่, 
แม้ที่จักมาตรัสรู้ข้างหน้า ก็จักสักการะเคารพธรรมนั่นเอง 
จักเข้าไปอาศัยแล้วแลอยู่. 
ข้าแต่พระองค์ ! แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ 
ก็ขอจงสักการะเคารพธรรมนั่นแหละเข้าไปอาศัยแล้วแลอยู่เถิด”.
สหัมบดีพรหม ได้กล่าวคํานี้แล้ว; ได้กล่าวคําอื่นอีก (ซึ่งผูกเป็นกาพย์) ว่า :- 
 
“พระสัมพุทธเจ้าเหล่าใดในอดีตด้วย พระสัมพุทธเจ้า เหล่าใดในอนาคตด้วย 
และพระสัมพุทธเจ้าผู้ทําความโศกแห่งสัตวโลก เป็นอันมากให้ฉิบหายไปด้วย,
พระสัมพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นล้วน แล้วแต่เคารพพระสัทธรรมแล้วแลอยู่แล้ว, 
อยู่อยู่, และจักอยู่ ; ข้อนี้ เป็นธรรมดาแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย, 
เพราะเหตุนั้นแล คนผู้รักตน หวังอยู่ต่อคุณอันใหญ่ 
ระลึกถึงซึ่งพระพุทธศาสนาอยู่ จงเคารพ พระสัทธรรมเถิด” 

ภิกษุ ท. ! สหัมบดีพรหมได้กล่าวคํานี้แล้ว, อภิวาทเราแล้ว
กระทํา ประทักษิณหายไปในที่นั้น.

ภิกษุ ท.! เราเข้าใจในการเชื้อเชิญของพรหม 
และ การกระทําที่สมควรแก่ตน : เราได้ตรัสรู้ธรรมใดก็ สักการะเคารพธรรมนั้น 
เข้าไป อาศัยธรรมนั้น อยู่แล้ว. 

ภิกษุ ท. ! อนึ่ง ในกาลใดแล หมู่สงฆ์ประกอบพร้อมด้วยคุณอันใหญ่,
ในกาลนั้น เรามีความเคารพ แม้ในสงฆ์, ดังนี้.

บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๕/๒๑. ตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ ที่เชตวัน


ทรงถูกพวกพราหมณ์ตัดพ้อ


ภิกษุ ท.! เมื่อเราอยู่ที่ตําบลอุรุเวลา 
ที่ต้นไทรเป็นที่พักร้อนของพวกคนเลี้ยงแพะ (อชปาลนิโครธ)
ใกล้ฝั่งแม่น้ําเนรัญชรา 
คราวแรกตรัสรู้ใหม่ ๆ. 

ภิกษุ ท. ! พราหมณ์เป็นอันมาก ล้วนแก่เป็นคนแก่ คนเฒ่า เป็นผู้ใหญ่ เกิดนาน ถึงวัยแล้ว 
เข้าไปหาเราถึงที่ที่เราพักอยู่ ทําความปราศรัยพอคุ้นเคยแล้ว. 

ภิกษุ ท. ! พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวคํานี้กะเราว่า 
“พระโคดมผู้เจริญ ! ข้อนี้ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว ว่า 
“พระสมณโคดม ไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ ไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ กะพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า 
เป็นผู้ใหญ่เกิดนาน ถึงวัย แล้ว.ข้อนี้จริงอย่างนั้นหรือพระโคดม? 
ข้อนี้ไม่สมควรมิใช่หรือ?” ดังนี้. 

ภิกษุ ท. ! ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เราว่า 
“พราหมณ์มีอายุพวกนี้ ไม่ รู้จักเถระ (ผู้แก่จริง),
หรือธรรมที่ทําคนเราให้เป็นเถระ”. 

ภิกษุ ท.! คนเราแม้ เป็นผู้เฒ่า มีอายุ ๘๐,๙๐,๑๐๐ ปี โดยกําเนิดก็ดี,
แต่เขามีคําพูดไม่เหมาะ แก่กาล, พูดไม่จริง, พูดไม่มีประโยชน์, 
พูดไม่เป็นธรรม, ไม่เป็นวินัย, กล่าว วาจาไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่อิง ไม่มีที่สิ้นสุด 
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์, คนผู้นั้น ถึงการนับว่าเป็น “เถระผู้พาล” โดยแท้.

ภิกษุ ท. ! คนผู้ใดแม้ยังอ่อน ยังหนุ่ม ยังรุ่น มีผมยังดํา 
ประกอบด้วย วัยกําลังเจริญอยู่ในปฐมวัย, 
แต่เขาเป็นผู้มีคําพูดเหมาะแก่กาล, 
พูดจริง, พูดมีประโยชน์, พูดเป็นธรรม, เป็นวินัย, กล่าววาจามีที่ตั้ง มีหลักฐาน มีที่สิ้นสุด 
ประกอบด้วยประโยชน์แล้ว, คนนั้น ถึงการควรนับว่าเป็น “เถระผู้บัณฑิต” นั้นเทียว.ฯ

บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๘/๒๒. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย


มารทูลให้นิพพาน 


อานนท์ ! ครั้งหนึ่งเมื่อเราอยู่ที่ตําบลอุรุเวลา ใกล้ฝั่งแม่น้ําเนรัญชรา,
ที่ต้นไทรเป็นที่พักร้อนของเด็กเลี้ยงแพะ เมื่อได้ตรัสรู้ใหม่ ๆ, 
มารผู้มีบาปได้เข้ามา หาเราถึงที่นั้น ยืนอยู่ในที่ควรแล้วกล่าวกะเราว่า 
“ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานเถิด,
บัดนี้เป็นเวลาสมควรปรินิพพาน ของพระผู้มีพระภาคแล้ว”.
เราได้กล่าวกะมารนั้นว่า :- 
“ท่านผู้มีบาป ! เราจักไม่ปรินิพพานก่อน, 
ตลอดกาลที่ ภิกษุ... ภิกษุณี...อุบาสก..อุบาสิกาผู้เป็นสาวก (และสาวิกา) ของเรา
ยังไม่เป็นผู้ฉลาด ยังไม่ได้รับคําแนะนํา ยังไม่แกล้วกล้า ยังไม่เป็นพหุสูต ทรงธรรม
ปฏิบัติธรรมควรแก่ธรรม ปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติตามธรรม, 
ยังต้องเรียนความรู้ ของอาจารย์ตนต่อไปก่อน จึงจักบอก แสดง บัญญัติ 
แต่งตั้ง เปิดเผย จําแนก กระทําให้ตื้นซึ่งพระสัทธรรม จนข่มขี่ปรัปวาทที่เกิดขึ้น
ให้ราบเรียบโดยธรรม แล้วแสดงธรรมประกอบด้วยความน่าอัศจรรย์ได้.

บาลี มหา.ที่ ๑๐/๑๓๑/๑๐๒, ตรัสแก่พระอานนท์ ที่ปาวาลเจดีย์


ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม


ราชกุมาร ! ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า 
“ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ เป็นธรรมอันลึก สัตว์อื่นเห็นได้ยาก 
ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม, เป็นธรรมระงับ และประณีต 
ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งลงง่าย ๆ แห่งความตรึก 
เป็นของละเอียด เป็นวิสัยรู้ได้เฉพาะบัณฑิต, 
ก็สัตว์เหล่านี้ มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในอาลัย 
เพลิดเพลินแล้วในอาลัย, สําหรับสัตว์ผู้มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีเพลิดเพลิน ในอาลัยนั้น,
ยากนักที่จะเป็นปฏิจจสมุปบาทอันมีสิ่งนี้ (คือมีอาลัย) เป็นปัจจัย, 
ยากนักที่จะเห็นธรรมเป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง, คือ
ธรรมอันถอนอุปธิ ทั้งสิ้น ความสิ้นตัณหา ความคลายกําหนัด ความดับโดยไม่เหลือ และนิพพาน.
หากเราพึงแสดงธรรมแล้วสัตว์อื่นไม่พึงรู้ทั่วถึง ข้อนั้นจักเป็นความเหนื่อยเปล่า แก่เรา,
เป็นความลําบาก แก่เรา.” 

โอ, ราชกุมาร ! คาถาอันอัศจรรย์เหล่านี้ ที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน
ได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่เราว่า :-
“กาลนี้ ไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุได้แล้วโดยยาก. 
ธรรมนี้, สัตว์ที่ถูกราคะโทสะรวบรัดแล้ว ไม่รู้ได้โดยง่ายเลย.
สัตว์ที่กําหนัด ด้วยราคะ ถูกกลุ่มมืดห่อหุ้มแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันให้ถึงที่ทวนกระแส,
อันเป็นธรรมละเอียดลึกซึ่ง เห็นได้ยากเป็นอณู”.ดังนี้. 

ราชกุมาร ! เมื่อเราพิจารณาเห็นดังนี้, จิตก็น้อมไปเพื่อความ ขวนขวายน้อย
ไม่น้อมไปเพื่อการแสดงธรรม.

บาลี ม.ม. ๑๓/๔๖๑/๕๐๙. ตรัสแก่โพธิราชกุมาร. 

พรหมอาราธนา


ราชกุมาร ! ครั้งนั้น ความรู้สึกข้อนี้ ได้บังเกิดขึ้นแก่สหัมบดีพรหม
เพราะเธอรู้ความปริวิตกในใจของเราด้วยใจ. 
ความรู้สึกนั้นว่า “ผู้เจริญ ! โลกจักฉิบหายเสียแล้วหนอ ผู้เจริญ ! 
โลกจักพินาศเสียแล้วหนอ, 
เพราะเหตุที่จิตแห่งพระตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า 
น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย, ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม” ดังนี้. 
ลําดับนั้น สหัมบดีพรหมได้อันตรธานจาก พรหมโลก มาปรากฏอยู่เฉพาะหน้าเรา 
รวดเร็วเท่าเวลาที่บุรุษแข็งแรง เหยียดแขนออกแล้วงอเข้าเท่านั้น. 

ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม ห่มผ้าเฉวียงบ่า ประคองอัญชลี 
เข้ามาหาเราถึงที่อยู่แล้วกล่าวคํานี้กะเราว่า 
“พระองค์ผู้เจริญ ! ขอพระผู้มีพระภาค จงแสดงธรรมเพื่อเห็นแก่ข้าพระองค์เถิด,
ขอพระสุคตจงแสดงธรรมเถิด, สัตว์ที่มี ธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อย ก็มีอยู่, 
เขาจักเสื่อมเสียเพราะไม่ได้ฟังธรรม. 
สัตว์ ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีโดยแท้” ดังนี้. 

ราชกุมาร ! สหัมบดีพรหมได้กล่าว คํานี้แล้ว 
ยังได้กล่าวคําอื่นสืบไปอีก (เป็นคาถา) ว่า:- 
 
“ธรรมไม่บริสุทธิ์ ที่คนมีมลทิน ได้คิดขึ้น, 
ได้มีปรากฏอยู่ใน แคว้นมคธแล้ว, สืบมาแต่ก่อน; 
ขอพระองค์จงเปิดประตูนิพพานอัน ไม่ตาย. 
สัตว์ทั้งหลายจงฟังธรรมที่พระองค์ผู้ปราศจากมลทินได้ตรัสรู้ แล้วเถิด. 
คนยืนบนยอดชะง่อนเขา เห็นประชุมชนได้โดยรอบ ฉันใด ; 
ข้าแต่พระผู้มีเมธาดี ! ผู้มีจักษุเห็นโดยรอบ ! 
ขอพระองค์จงขึ้นสู่ ปราสาท อันสําเร็จด้วยธรรม, 
จักเห็นหมู่สัตว์ผู้เกลื่อนกล่นด้วยโศก ไม่ห่างจากความโศก ถูกชาติชราครอบงํา,ได้ฉันนั้น. 
จงลุกขึ้นเถิด พระองค์ผู้วีระ ! ผู้ชนะสงครามแล้ว! ผู้ขนสัตว์ด้วยยานคือเกวียน !ผู้ไม่มีหนี้สิน ! 
ขอพระองค์จงเที่ยวไปในโลกเถิด. 
ขอพระผู้มีพระ ภาคทรงแสดงธรรม สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีเป็นแน่” ดังนี้. 

บาลี ม.ม. ๑๓/๔๖๒/๕๑๐. ตรัสแก่โพธิราชกุมาร

ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า


ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เรารู้แจ้งคําเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมแล้ว,
และเพราะอาศัยความกรุณาในสัตว์ ท. 
เราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุแล้ว. เมื่อ เราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุอยู่, เราได้เห็นสัตว์ ท. 
ผู้มีธุลีในดวงตาเล็กน้อยบ้าง, มีมากบ้าง, ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าบ้าง อ่อนบ้าง,
มีอาการดีบ้าง เลวบ้าง, อาจสอนให้รู้ได้ง่ายบ้าง ยากบ้าง;
และบางพวกเห็นโทษในปรโลก โดยความ เป็นภัยอยู่ก็มี; 
เปรียบเหมือนในหนองบัวอุบล บัวปทุม บัวบุณฑริก, 
ดอกบัว บางเหล่าเกิดแล้วในน้ํา เจริญในน้ํา อันน้ําพยุงไว้ยังจมอยู่ในน้ํา,
บางเหล่าเกิด แล้วในน้ํา เจริญในน้ํา อันน้ําพยุงไว้ ตั้งอยู่เสมอพื้นน้ํา, 
บางเหล่าเกิดแล้วในน้ํา เจริญในน้ํา อันน้ําพยุงไว้ โผล่ขึ้นพ้นน้ํา อันน้ําไม่ถูกแล้ว, มีฉันใด, 
ราชกุมาร ! เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นต่างๆ กันฉันนั้น. 

ราชกุมาร! ครั้งนั้น เราได้รับรอง กะสหัมบดีพรหมด็วยคํา (ที่ผูกเป็นกาพย์) ว่า:- 
 
“ประตูแห่งนิพพานอันเป็นอมตะ เราเปิดไว้แล้วแก่สัตว์ เหล่านั้น, 
สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท สัตว์เหล่านั้น จงปลงศรัทธา ลงไปเถิด, 
ดูก่อนพรหม! เรารู้สึกว่ายาก จึงไม่กล้าวธรรมอันประณีต ที่เราคล่องแคล่วชํานาญ ในหมู่มนุษย์ ท.” ดังนี้.  
ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม รู้ว่า ตนเป็นผู้ได้โอกาสอัน 
พระผู้มีพระภาค ทรงกระทําแล้วเพื่อแสดงธรรม, 
จึงไหว้เรากระทําอันประทักษิณ แล้ว อันตรธานไปในที่นั้น นั่นเอง.

บาลี. ม.ม. ๑๓/๔๖๓/๕๑๑. ตรัสแก่โพธิราชกุมาร


ปฐมเทศนา


แสดงธรรมเป็นครั้งแรกในโลก แก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕

(จาก พระไตรปิฎก ฉบับสมาคมศิษเก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

[๑๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย (กามสุขัลลิกานุโยค)
เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก (อัตตกิลมถานุโยค)
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น
นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด
ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง
ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน?

ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แหละคือ
ปัญญาอันเห็นชอบ(สัมมาทิฏฐิ) ๑,
ความดำริชอบ(สัมมาสังกัปปะ) ๑,
เจรจาชอบ(สัมมาวาจา) ๑,
กระทำชอบ(สัมมากัมมันตะ) ๑,
เลี้ยงชีวิตชอบ(สัมมาอาชีวะ) ๑,
พยายามชอบ(สัมมาวายามะ) ๑,
ระลึกชอบ(สัมมาสติ) ๑,
ตั้งจิตชอบ(สัมมาสมาธิ) ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน.

[๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน(นันทิ) มีปกติเพลิดเพลิน(นันทิ)ในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับโดยไม่เหลือ ด้วยมรรคคือ วิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คืออริยมรรคมีองค์ ๘นี้แหละ คือ ปัญญาเห็นชอบ ๑ ............. ตั้งจิตชอบ ๑.

[๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้(คือ)ทุกขอริยสัจ.(ญาณทัสสนะที่ ๑)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้.(ญาณทัสสนะที่ ๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว.(ญาณทัสสนะที่ ๓)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้(คือ)ทุกขสมุทัยอริยสัจ.(ญาณทัสสนะที่ ๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล ควรละเสีย.(ญาณทัสสนะที่ ๕)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล เราได้ละแล้ว.(ญาณทัสสนะที่ ๖)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้(คือ)ทุกขนิโรธอริยสัจ.(ญาณทัสสนะที่ ๗)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง.(ญาณทัสสนะที่ ๘)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล เราทำให้แจ้งแล้ว.(ญาณทัสสนะที่ ๙)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้(คือ)ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.(มรรค) (ญาณทัสสนะที่ ๑๐)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ(มรรค)นี้นั้นแล ควรให้เจริญ.(ญาณทัสสนะที่ ๑๑)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ(มรรค)นี้นั้นแล เราให้เจริญแล้ว.(ญาณทัสสนะที่ ๑๒) (แสดงสรุปญาณทัสสนะทั้ง ๑๒ อาการ ในบทอริยสัจ ๔)

ญาณทัสสนะ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒

[๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีแล้วเพียงใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังยืนยันไม่ได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์.

อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป.

ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา.

[๑๗] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เหล่าภุมมเทวดาได้ บันลือเสียงว่า

นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี

อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือ ใครๆ ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้.

เทวดาชั้นจาตุมหาราช ได้ยินเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.

เทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.

เทวดาชั้นยามา ... เทวดาชั้นดุสิต ... เทวดาชั้นนิมมานรดี ... เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดี ...

เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดีแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไปว่า

นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี

อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆในโลก จะปฏิวัติไม่ได้.

ชั่วขณะการครู่หนึ่งนั้น เสียงกระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ด้วยประการฉะนี้แล.

ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้ ได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่า ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ

[ "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" - โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ]

เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้.

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จบ


อนัตตลักขณสูตร


ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร เรื่องอนัตตาในขันธ์ ๕ ต่อเหล่าพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จนสำเร็จพระอรหันต์

[๒๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
รูปเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตา(ใช่ตัวตน, มีตัวตน หรือเป็นของตัวตน อย่างแท้จริง)แล้ว รูปนี้ไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ(ความเสื่อม ความเจ็บไข้ ความแปรปรวน) และบุคคลพึงได้(หมายถึง เมื่อเป็นเราหรือของเราจริงๆ ย่อมต้องบังคับบัญชาได้ตามปรารถนา)ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา(ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตัวตน ตัวตนหรือกายที่เห็นหรือผัสสะได้ด้วยอายตนะใดๆนั้น เป็นเพียงกลุ่มหรือก้อนหรือฆนะของเหล่าเหตุที่มาเป็นปัจจัยประชุมปรุงแต่งกัน คือ ธาตุ ๔) ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ(แปรปรวนด้วยอนิจจัง จึงเจ็บป่วย) และบุคคลย่อมไม่ได้(หมายถึง ย่อมบังคับบัญชาไม่ได้ตามปรารถนาเพราะว่ารูปขึ้นอยู่กับเหตุคือธาตุทั้ง ๔ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา) ในรูปว่า รูปของเรา จง(สวย จงงาม)เป็นอย่างนี้เถิด รูปของเรา อย่าได้(น่าเกลียด)เป็นอย่างนั้นเลย.
(กล่าวคือ รูปนั้นเป็นเพียงมวลหรือก้อนหรือฆนะของเหตุที่มาเป็นปัจจัยกัน คือธาตุ ๔ จึงย่อมขึ้นหรือเนื่องสัมพันธ์อยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัยกันคือธาตุ ๔ แท้จริงหรือปรมัตถ์แล้วจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวตนที่หมายถึงเราหรือของเรา ถ้ารูปนั้นเป็นของเราหรือของตัวของตนจริงๆแล้วไซร้ จะต้องขึ้นอยู่กับเราจึงย่อมควบคุมบังคับได้ตามปรารถนา ต้องควบคุมบังคับให้สวยให้งามได้และไม่แปรปรวนหรือดับไปตามสภาวธรรมได้ด้วยตัวตนของตนเองอย่างแท้จริงและแน่นอน รูปหรือกายจึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา, เพียงแต่การบังคับให้กายกระทำอะไรๆอันเป็นเพียงการกระทำคือกายสังขาร หรือบางครั้งไปควบคุมเหตุบางประการได้ชั่วขณะหนึ่งๆ จึงก่อมายาจิตคิดไปเอาเองว่าเป็นเราหรือของเราที่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้ตามปรารถนา, ในขันธ์อื่นๆก็เป็นไปในลักษณาการเดียวกัน ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย จึงล้วนขึ้นอยูกับเหตุนั้นๆ จึงขึ้นหรืออิงหรือเนื่องสัมพันธ์อยู่กับเหตุ ที่มาเป็นปัจจัยกัน จึงย่อมไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราหรือตัวเราเช่นกัน, ดูรายละเอียดเพิ่มเติมการเป็นเหตุปัจจัยกันจึงเกิดขึ้นได้ในพระไตรลักษณ์และขันธ์ ๕)
เวทนาเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเวทนานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว เวทนานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึง(ควบคุมบังคับบัญชา)ได้ในเวทนาว่า เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด(ดังเช่น จงเป็นแต่สุขเวทนาเถิด) เวทนาของ เราจงอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย(ดังเช่น ขอได้อย่าเกิดทุกขเวทนาใดๆเลย).
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเวทนาเป็นอนัตตา ฉะนั้นเวทนาจึง เป็นไปเพื่ออาพาธ(แปรปรวน) และบุคคลย่อมไม่(สามารถควบคุม)ได้ในเวทนาว่า เวทนาของเรา จงเป็นอย่างนั้นเถิด เวทนาของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
สัญญาเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัญญานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว สัญญานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสัญญาว่า สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด สัญญาของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสัญญาเป็นอนัตตา ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสัญญาว่าสัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด สัญญาของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสังขารเหล่านี้จักได้เป็นอัตตาแล้วสังขารเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสังขารทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายของ เราจงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะ สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ฉะนั้น สังขารทั้งหลายจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสังขารทั้งหลายว่าสังขารทั้งหลายของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลายของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
วิญญาณเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าวิญญาณนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว วิญญาณนี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่าวิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะวิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้นวิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในวิญญาณว่าวิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด วิญญาณของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
ตรัสถามความเห็นของพระปัญจวัคคีย์
[๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
พระปัญจวัคคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
(โยนิโสมนสิการจากปฎิจจสมุปบาท และพระไตรลักษณ์ จะพบความจริงได้ด้วยตนเองในที่สุดว่า ทั้งสุขและทุกข์เพราะความไม่เที่ยง ย่อมเป็นทุกข์ในที่สุดทั้งสิ้น)
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน(อัตตา)ของเรา?
ป. ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน(อัตตา)ของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน(อัตตา)ของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน(อัตตา)ของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน(อัตตา)ของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ตรัสให้พิจารณาโดย ยถาภูตญาณทัสสนะ
(ยถาภูตญาณทัสสนะ - ความรู้ความเห็น ตามความเป็นจริงอย่างถูกต้อง)
[๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล
รูปอย่างใด อย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก(ภายในหมายถึงรูปกายของตน, ภายนอกหมายถึงของบุคคลอื่น) หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป
เธอทั้งหลาย พึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบ (สัมมาญาณ) ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา
เธอทั้งหลาย พึงเห็นเวทนานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา
(ไม่ใช่ของเราอย่างจริงแท้แน่นอน, เพียงเกิดแต่เหตุปัจจัย ขึ้นระยะหนึ่ง แล้วต้องแปรปรวนดับไปเป็นที่สุดอย่างจริงแท้แน่นอน).
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบ หรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา
เธอทั้งหลาย พึงเห็นสัญญานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอกหยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าสังขาร
เธอทั้งหลาย พึงเห็นสังขารนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าวิญญาณ
เธอทั้งหลาย พึงเห็นวิญญาณนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
[๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น, เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว
อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
[๒๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์มีใจยินดี เพลิดเพลิน ภาษิตของผู้มีพระภาค.
ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.

อนัตตลักขณสูตร จบ


อนัตตลักษณะ : ลักษณะที่แสดงความเป็นอนัตตา


ลักษณะที่ชี้แสดงว่าให้เห็นว่าเป็นของไม่ใช่ตัวใช่ตน หรือมิใช่ตัวตน หรือไม่มีตัวตน โดยอรรถต่างๆ
๑. เป็นของสูญ ในความหมายของสังขาร(สังขตธรรม) ก็เพราะว่า เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆทั้งหลาย เพราะเกิดขึ้นมาจากการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยประชุมรวมกันขึ้น จึงเพียงแต่แลดูประหนึ่งว่าเป็น สิ่งๆเดียวกัน เป็นมวลเดียวกัน, เป็นชิ้นเดียวกันจริงๆ ด้วยฆนะ, แต่ความจริงอย่างยิ่งหรืออย่างปรมัตถ์แล้วก็ยังเป็นเพียงการประชุมเข้ากันของส่วนย่อยๆดังกล่าว มิได้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวจริงๆ แท้จริงจึงขึ้นอยู่กับเหตุที่มาประชุมกันอันเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตา จึงไม่ใช่อะไรหรือของใครให้เป็นเจ้าของได้ เพราะย่อมขึ้นอยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัยกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ใด โดยแท้จริงจึงว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นาย ก. นาย ข. หรือการสมมติเป็นต่างๆ(สมมติสัจจะ)
เป็นของสูญ ในความหมายของอสังขตธรรมเช่นกัน ก็เพราะว่า เป็นเพียงสภาวธรรมหรือธรรมชาติเท่านั้น กล่าวคือ เป็นเพียงธรรมหรือสภาวธรรมที่ยังไม่เกิดการปรุงแต่งกันขึ้น กล่าวคือยังไม่เกิดปรากฏการณ์ของการประชุมหรือปรุงแต่งกันขึ้นเป็นสังขาร อันเป็นฆนะกลุ่มก้อนของการที่มีเหตุต่างๆได้มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกัน
๒. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง แต่มักไปหลงผิด ไปหลงยึดหรือมัวเมากันด้วยกิเลสว่า เป็นตัวตน เป็นของตัวของตน หรือของใครอย่างจริงแท้ เพราะเกิดแต่เหตุปัจจัยจึงขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุปัจจัย จึงไม่ได้ขึ้นหรืออิงอยู่กับผู้ใดอย่างแท้จริง
๓. ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆอย่างแท้จริง เพราะสภาวะของสังขารเองก็มีแรงแต่ภายใน ตลอดจนแรงจากภายนอก มาบีบคั้นให้คืนสู่สภาพเดิมๆเป็นที่สุด โดยไม่ยอมขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครอย่างแท้จริง แต่เพราะมีการควบคุมบังคับเหตุได้บ้างบางส่วนและได้อย่างเป็นครั้งคราว จึงมักพากันไปหลงผิดหลงยึดหรือมัวเมากันโดยไม่รู้ตัวหรืออวิชชาว่าสามารถควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างแท้จริงตามความปรารถนา
๔. เป็นสภาวธรรมที่ดำรงอยู่ หรือเป็นตามธรรมดาของมันเช่นนั้นเองในธรรมที่เป็นสังขตธรรมคือสังขาร ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงขึ้นต่อเหตุปัจจัย จึงไม่มีอยู่โดยลำพังตัว จึงเป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ
๕. โดยสภาวะของมันเอง ก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา (แสดงรายละเอียดของอัตตาในขันธ์ ๕ ว่ามีจริงหรือไม่)
ลักษณะหรืออาการเหล่านี้จึงจึงก่อให้เกิดทุกข์ เมื่อธรรมหรือสิ่งทั้งหลายที่ไปอยากหรือไม่อยากด้วยตัณหาหรือไปยึดมั่นด้วยกิเลส(อุปาทาน)ว่าเป็นของตัวตน ด้วยทั้งความไม่รู้(อวิชชา)และไม่รู้เท่าทัน(สติ)เหล่านั้น ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น