วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

พุทธประวัติ ตอน ๑๑ พระอัครสาวก (พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ)

พระอัครสาวก (พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ)




สมัยนั้น มีหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ ใกล้กรุงราชคฤห์ 2 หมู่บ้าน
เรียกว่า อุปติสสะคามบ้าน 1 โกลิตคาม บ้าน 1 
บุตรคนใหญ่ของนายบ้านอุปติสสะคาม ซึ่งเกิดแต่นางสารีพราหมณี ชื่อว่า อุปดิสสะ 
บุตรคนใหญ่ของนายบ้านโกลิตะคาม ซึ่งเกิดแต่นางโมคคัลลีพราหมณี ชื่อ โกลิตะ 
และเนื่องจากหมู่บ้านทั้งสองตั้งอยู่ไม่ไกลกัน มีฐานะทัดเทียมกัน ทั้งเคารพนับถือกันดี 
ดังนั้น บุตรของตระกูลทั้งสองนี้จึงรักใคร่ ไปมาหาสู่กันอย่างสนิทสนม 
คบหาสมาคมกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ไว้วางใจกันเป็นอย่างดี

อุปดิสสะ กับโกลิตะ มีอายุคราวเดียวกัน เป็นสหชาติร่วมปีเกิด เดือนเกิด
แต่อุปดิสสะแก่วันกว่า โกลิตะจึงเรียกอุปดิสสะว่า พี่ ในฐานะแก่กว่า 
คนทั้งสองเจริญวัยอยู่ในความอุปถัมภ์บำรุงของบิดามารดาเป็นอย่างดี 
มีเด็กในหมู่บ้านทั้งสองเป็นเพื่อนฝูงกันแต่เยาว์วัยก็มาก 
แม้เมื่อมีอายุควรแก่การศึกษาแล้ว คนทั้งสองตลอดมิตรสหายก็ได้เข้าศึกษาศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์เดียวกัน 
แม้เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ยังเป็นเพื่อนร่วมงาน ร่วมความสนุกสนาน บันเทิงด้วยกันด้วยดีเสมอมา 
ในการชมมหรศพถึงคราวสรวลเสเฮฮา ก็สรวลเสเฮฮาด้วย ถึงคราวสลดใจก็สลดใจด้วย 
คราวเบิกบานใจ ควรตกรางวัล ก็ตกรางวัลให้ด้วยกัน

วันหนึ่ง มีงานมหรศพบนภูเขา มีผู้คนไปมาก อุปดิสสะมานพ และโกลิตะมานพก็ไปชมด้วยกัน 
แต่เป็นด้วยทั้งสองมานพมีบารมีญาณแก่กล้า
ดูมหรศพด้วยพิจารณา เห็นความจริงของกัปปกิริยาอาการของคนแสดงและคนดู รวมทั้งตนเองด้วย 
ปรากฏอยู่ในสถานะที่ไม่น่าจะนิยมชมชื่นเลย เมื่อเป็นเช่นนั้น การชมมหรศพก็ไม่ออกรส 
ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนแต่ก่อน หน้าตาก็ไม่เบิกบาน 
คิดว่า อีกไม่ถึง 100 ปี ทั้งคนแสดงและคนดูก็ตายหมด 
ไม่เห็นมีประโยชน์อันใดในการมาดูมหรศพนี้เลย 
ควรจะแสวงหาโมกขธรรมประเสริฐกว่า

ครั้นมานพทั้งสองได้ใต่ถามถึงความรู้สึกนึกคิด 
ทราบความประสงค์ตรงกันเช่นนั้นก็ดีใจ 
และอุปดิสสะมานพก็กล่าวกะโกลิตะมานพว่า 
เมื่อเราทั้งสองมีความตรึกตรองต้องกันเช่นนี้แล้ว 
สมควรจะบวชแสวงหาโมกขธรรมด้วยกันเถิด 
เมื่อตกลงใจออกบวชด้วยกันแล้ว 
โกลิตะมานพจึงปรึกษาว่า เราจะบวชในสำนักอาจารย์ใดดี

สมัยนั้น สญชัยปริพพาชก เป็นอาจารย์ใหญ่ อยู่ในเมืองราชคฤห์สำนักหนึ่งที่มีบริษัทบริวารมาก 
มานพทั้งสองจึงปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า เราควรจะไปบวชในสำนักอาจารย์สญชัยปริพพาชก 
ครั้นตกลงใจแล้ว มานพทั้งสองต่างก็พาบริวารของตนรวม 500 คน 
เข้าไปหาท่านอาจารย์สญชัยปริพพาชก ขอบวชและอยู่ศึกษาในสำนักนั้น

จำเดิมแต่มานพทั้งสอง เข้าไปบวชเป็นศิษย์อยู่ในสำนักสญชัยปริพพาชกไม่นาน 
สำนักก็เจริญ เป็นที่นิยมของมหาชนเป็นอันมาก 
ลาภสักการะพร้อมด้วยยศก็เจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

เมื่ออุปดิสสะมานพและโกลิตะมานพบวชเป็นปริพพาชก 
ศึกษาลัทธิของอาจารย์สญชัยไม่นาน ก็สิ้นความรู้ของอาจารย์ จึงได้เรียนถามว่า
"ท่านอาจารย์ ลัทธิของท่านอาจารย์มีเท่านี้แหละหรือ ?"
อาจารย์สญชัยก็บอกว่า 
"ลัทธิของเรามีเพียงเท่านี้ ท่านทั้งสองเรียนจบบริบูรณ์แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่ข้าพเจ้ารู้โดยท่านไม่รู้เลย" 
แล้วตั้งให้อุปดิสสะมานพ และโกลิตะมานพทั้งสอง เป็นอาจารย์สอนศิษย์ในสำนัก มีศักดิ์เสมอด้วยตน

มานพทั้งสองปรึกษากันว่า การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักนี้หาประโยชน์มิได้ 
ด้วยไม่เป็นทางให้เข้าถึงโมกขธรรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการหลุดพ้นได้ 
ความจริงชมพูทวีปนี้ก็กว้างใหญ่ คงจะมีท่านที่มีความรู้สอนให้เราเข้าถึงโมกขธรรมได้ 
ควรเราจะเที่ยวสืบเสาะ แสวงหาดู แล้วมานพทั้งสองก็ลาอาจารย์เที่ยวเสาะแสวงหาผู้ที่มีความรู้ 
ความสามารถเป็นอาจารย์สอนโมกขธรรมให้ แม้พยายามเที่ยวไปในชนบทน้อยใหญ่ 
ได้ข่าวว่ามีอาจารย์ในสำนักใดดี มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมนับถือ
ก็เข้าไปไต่ถาม ขอรับความรู้ความแนะนำ แต่แล้วก็ไม่สมประสงค์ 
เพราะทุกอาจารย์ที่เข้าไปไต่ถามต่างก็ยอมจำนน ด้วยไม่สามารถบรรเทาความสงสัย 
ให้ความเบิกบานเคารพนับถือได้ เมื่อได้ท่องเที่ยวทุกแห่งจนสุดความสามารถ 
สิ้นศรัทธาที่จะพยายามสืบเสาะต่อไปอีกแล้ว มานพทั้งสองก็กลับมาอยู่ในสำนักอาจารย์เดิมดังกล่าว 
ต่างให้สัญญาไว้แก่กันว่า ผิว์ผู้ใดได้โมกขธรรมก่อน จงบอกให้แก่ผู้หนึ่งได้รู้เช่นกัน

พระอัสสชิเถระ (๑ในพระปัญจวัคคีย์) แสดงธรรมแก่อุปติสสะ




ในกาลนั้น พอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว 
เสด็จไปตรัสเทศนาธรรมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ 
ตราบเท่าจนส่งพระอรหันต์ 60 องค์ ออกไปเที่ยวประกาศพระศาสนาแล้ว 
พระองค์ก็เสด็จไปแสดงธรรมโปรดชฎิล 1,000 รูป แล้วเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร 
เสด็จประทับอยู่ในพระเวฬุวันวิหาร 
ครั้งนั้น พระอัสสชิเถระเจ้า ซึ่งอยู่ในคณะภิกษุปัญจวัคคีย์ 
ได้ออกประกาศพระศาสนาจาริกมาสู่เมืองราชคฤห์ 
เวลาเช้าทรงบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตภายในเมือง ขณะนั้น 
พออุปดิสสะปริพพาชกบริโภคอาหารเช้าแล้ว เดินไปสู่อารามปริพพาชก เห็นพระอัสสชิเถระเจ้า 
ซึ่งสมบูรณ์ด้วยอาจาระ ตามสมณะวิสัย จะก้าวไปข้างหน้า หรือจะถอยกลับ มีสติสังวรเป็นอันดี 
มีจักษุทอด พอประมาณทุกขณะ เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส 
เป็นที่พึงตาพึงใจของอุปดิสสะเป็นอย่างมาก ดำริว่า บรรพชิตมีกริยาอาการในรูปนี้ 
เรามิได้เคยพบเห็นมาแต่ก่อน ท่านผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ในโลกนี้ 
บรรพชิตรูปนี้จะต้องนับเข้าในพระอรหันต์พวกนั้นรูปหนึ่งเป็นแน่แท้ 
ควรเราจะเข้าหาสมณะรูปนี้เพื่อได้ศึกษา ขอรับข้อปฏิบัติ เพื่อบรรลุโมกขธรรมเช่นท่านบ้าง 
แต่แล้วอุปดิสสะมานพก็กลับได้สติ ดำริใหม่ว่า 
“ขณะนี้เป็นเวลาเที่ยวบิณฑบาตของภิกษุรูปนี้อยู่ ไม่สมควรที่เราจะเข้าไปไต่ถาม” 
ครั้นอุปดิสสะดำริฉะนี้แล้ว ก็เดินติดตามท่านภายในระยะทางพอสมควร

ครั้นพระอัสสชิเถระเจ้าได้บิณฑบาตแล้ว หลีกไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง 
ซึ่งเห็นว่าควรจะเป็นที่นั่งทำภัตตกิจได้ อุปดิสสะปริพพาชกได้รีบเข้าไปใกล้ 
จัดตั้งอาสนะถวายแล้วนั่งปฏิบัติ ถวายน้ำใช้น้ำฉัน ครั้นพระเถระเจ้าทำภัตตกิจเสร็จแล้ว 
อุปดิสสะปริพพาชก จึงกล่าวปฏิสันถารด้วยคารวะว่า 
"ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ ใบหน้าของท่านผ่องใสยิ่งนัก แสดงว่าท่านมีความสุข 
แม้ผิวพรรณของท่านก็สอาดบริสุทธิ ประทานโทษ ท่านบรรพชาต่อท่านผู้ใด ? 
ใครเป็นครูอาจารย์ของท่าน และท่านได้เล่าเรียนธรรมในผู้ใด ?"


พระเถระเจ้าตอบว่า 
"ดูกรปริพพาชก พระมหาสมณะศากยบุตร เสด็จออกบรรพชาจากศากยราชตระกูล พระองค์นั้น 
เป็นบรมครูของฉัน ฉันบวชต่อพระศาสดาพระองค์นั้น และเล่าเรียนธรรมในพระศาสดาพระองค์นั้นแล" อุปดิสสะปริพพาชกจึงเรียนถามต่อไปว่า 
"อาจารย์ของท่านสอนธรรมอย่างไรแก่ท่าน ?"

พระเถระเจ้าดำริว่า ธรรมดาปริพพาชกย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนา 
ควรอาตมาจะแสดงคุณแห่งพระศาสนา โดยความเป็นธรรมลึกซึ้งและประณีตสุขุมเถิด 
ครั้นแล้วจึงบอกว่า 
"ดูกรปริพพาชก อาตมาเพิ่งบวชใหม่ ไม่อาจแสดงธรรมวินัย โดยพิศดารแก่เธอได้ดอก" 
อุปดิสสะปริพพาชกจึงได้เรียนปฏิบัติท่านว่า
"ข้าพเจ้าชื่อว่า อุปดิสสะ ขอให้พระเถระเจ้ากรุณาบอกธรรมเพียงแต่ย่อ ๆ เถิด"

พระอัสสชิเถระเจ้า กล่าวคาถาแสดงวัตถุประสงค์ของพระศาสนาว่า
“เย ธม.มา เหตุปป.ภวา” เป็นอาทิ 
ความว่า “ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น 
และความดับแห่งเหตุของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะตรัสสอนอย่างนี้”

อุปดิสสะปริพพาชกได้ปรีชาญาณหยั่งเห็นสัจจะธรรมถึงบรรลุโสดาปัตติผล 
โดยสดับเทศนาหัวใจพระศาสนา ของพระเถระเจ้าเพียงคาถาหนึ่งเท่านั้น 
แล้วเรียนท่านโดยคารวะว่า 
"ข้าแต่ท่านอาจารย์ ขอประทานกรุณาหยุดเพียงนี้เถิด อย่าแสดงต่อไปอีกเลย เวลานี้พระบรมศาสดาของเราเสด็จอยู่ที่ไหน ?"

พระเถระเจ้าบอกว่า
“เวลานี้ พระบรมศาสดายังเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร ”

“เป็นพระคุณหาที่สุดมิได้” 
อุปดิสสะอุทานวาจาออกด้วยความซาบซึ้งในธรรม และในความกรุณาของพระเถระเจ้า
"นิมนต์ท่านอาจารย์ไปก่อนเถิด แล้วข้าพเจ้าจะตามไปภายหลัง ด้วยข้าพเจ้าได้ให้สัญญาไว้กับโกลิตะมานพสหายที่รักว่า 
"ถ้าผู้ใดได้โมกขธรรมก่อน จงบอกแก่กันให้รู้ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะกลับไปเปลื้องสัญญาเสียก่อน 
แล้วจะพาสหายผู้นั้นไปสู่สำนักพระบรมศาสดาของเราต่อภายหลัง" 
แล้วกราบพระเถระเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ด้วยความเคารพ กระทำประทักษิณเดินเวียน 3 รอบ 
แล้วส่งพระเถระเจ้าไปก่อน ส่วนตนออกเดินบ่ายหน้าไปสู่ปริพพาชการาม

ส่วนโกลิตะปริพพาชกเห็นสหายเดินมาแต่ไกล จึงดำริว่า 
ใบหน้าของสหายเรา วันนี้ ดูเบิกบาน ผ่องใสยิ่งกว่าวันอื่น ๆ ชะรอยจะได้โมกขธรรมเป็นแน่แท้ 
ครั้นอุปดิสสะปริพพาชกเข้ามาใกล้ จึงถามตามความคิด อุปดิสสะก็บอกว่า 
“ตนได้บรรลุโมกขธรรมแล้ว มานี่ก็เพื่อบอกโมกขธรรมนั้นแก่สหาย 
ให้เป็นไปตามสัญญาของเราที่ ให้กันไว้แต่แรก ขอสหายจงตั้งใจฟังเถิด” 
แล้วอุปดิสสะก็แสดงคาถาหัวใจของพระศาสนา ซึ่งตนได้สดับมาจากพระอัสสชิเถระเจ้า 
พออุปดิสสะแสดงจบลง โกลิตะปริพพาชกก็ได้ปรีชาญาณหยั่งเห็นในอริยสัจจะ 
บรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกับอุปดิสสะปริพพาชก

โกลิตะจึงกล่าวแก่อุปดิสสะว่า 
“เราทั้งสองได้บรรลุโมกธรรมแล้ว ควรจะไปสำนักพระบรมศาสดากันเถิด ” 
อุปดิสสะเป็นผู้เคารพบูชาอาจารย์มาก จึงตอบว่า
” ถูกแล้ว เราทั้งสองควรจะไปเฝ้าพระบรมศาสดาดังที่เธอกล่าว 
ก่อนแต่จะจากสำนักนี้ไปเราทั้งสองควรจะไปอำลาท่านสญชัยอาจารย์ 
แล้วหาโอกาสแสดงโมกขธรรมให้ฟัง ถ้าอาจารย์ของเรามี วาสนาบารมี 
ก็จะพลอยได้รู้โมกขธรรมด้วยกัน แม้ไม่ถึงอย่างนั้นเพียงแต่ท่านเชื่อฟัง 
แล้วพากันไปสู่สำนักพระบรมศาสดา เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาแล้ว 
ก็จะได้บรรลุมรรคและผลตามวาสนาบารมีเป็นแน่ “

สัญชัยปริพาชก “โลกนี้ คนโง่ หรือ คนฉลาดมากกว่ากัน?”


ครั้นสองสหายปรึกษาตกลงกันแล้ว 
ก็พากันเข้าไปหาท่านสญชัยอาจารย์ บอกให้ทราบว่า 
บัดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในโลก 
ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วนั้น เป็นนิยยานิกธรรม 
สามารถนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์โดยชอบได้จริง 
พระสงฆ์สาวกก็ปฏิบัติชอบด้วยสุปฎิบัติ 
ท่านอาจารย์จงมาร่วมกันไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังพระเวฬุวันสถานนั้นเถิด

ท่านสญชัยปริพพาชกจึงกล่าวห้ามว่า 
“ใยท่านทั้งสองจึงมาเจรจาเช่นนี้ เรามีลาภมียศใหญ่ยิ่ง เป็นเจ้าสำนักใหญ่โตถึงเพียงนี้แล้ว 
ยังควรจะไปเป็นศิษย์ของใครในสำนักใดอีกเล่า ? ” 
แต่แล้วก็คิดว่า อุปดิสสะและโกลิตะทั้งสองนี้เป็นคนดีมีปัญญาสามารถ 
น่าที่จะบรรลุโมกขธรรมตามที่ปรารถนายิ่งนักแล้ว คงจะไม่ฟังคำห้ามปรามของตน จึงกล่าวใหม่ว่า
“ท่านทั้งสองจงไปเถิด เราเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยถึงความชราแล้ว 
ไม่อาจจะไปเป็นศิษย์ของผู้ใดได้ดอก ”

“ท่านอาจารย์อย่ากล่าวดังนั้นเลย” 
สหายทั้งสองวิงวอน 
“ไม่ควรที่ท่านอาจารย์จะคิดเช่นนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น 
ดังดวงอาทิตย์อุทัยให้ความสว่างแล้ว 
คนทั้งหลายจะหลั่งไหลไปฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วท่านอาจารย์จะอยู่ได้อย่างไร”

“พ่ออุปดิสสะ ในโลกนี้ คนโง่มาก หรือคนฉลาดมาก ?” 
สญชัยปริพพาชกถามอย่างมีท่าเลี่ยง แต่อุปดิสสะตอบตรง ๆ โดยความเคารพว่า
“คนโง่สิมาก ท่านอาจารย์ คนฉลาดมีปัญญาสามารถ จะมีสักกี่คน”

“จริง ! อย่างพ่ออุปดิสสะพูด”
สญชัยปริพพาชกกล่าวอย่างละเมียดละไม
“คนฉลาดมีน้อย คนโง่มีมาก 
อุปดิสสะ เพราะเหตุนี้แหละ เราจึงไม่ไปด้วยท่าน เราจะอยู่ในสำนักของเรา
อยู่ต้อนรับคนโง่ คนโง่อันมีปริมาณมากจะมาหาเรา 
ส่วนคนฉลาดจะไปหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ท่านทั้งสองจงไปเถิด เราไม่ไปด้วยแล้ว”

แม้สหายทั้งสอง จะพูดจาหว่านล้อมสญชัยปริพพาชกด้วยเหตุผลใด ๆ 
ก็ไม่สามารถจะโน้มน้าวจิตใจของสญชัยปริพพาชกให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดาได้ 
อุปดิสสะและโกลิตะจึงชวนปริพพาชก ผู้เป็นบริวารของตน จำนวน 250 คน 
ลาอาจารย์สญชัยไปเฝ้าพระบรมศาสดา ยังพระเวฬุวันวิหาร

ขณะนั้น เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท 4
เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นอุปดิสสะและโกลิตะ พาบริษัทของตนตรงเข้ามาแต่ไกลเช่นนั้นจึงรับสั่งว่า
“ภิกษุทั้งหลาย โน่น ! คู่อัครสาวกของตถาคตมาแล้ว พาบริวารของเธอมาให้ตถาคตด้วย” 
เมื่อปริพพาชกทั้งหลายเข้ามาเฝ้าแล้ว พระบรมศาสดาก็แสดงธรรมโดยควรแก่อุปนิสัยของปริพพาชกเหล่านั้น 
ครั้นจบพระธรรมเทศนา ปริพพาชกทั้งหมด 
เว้นอุปดิสสะและโกลิตะได้บรรลุอรหัตตผลด้วยกันสิ้น

สหายทั้งสองจึงพาบริษัทของตนทั้งหมดเข้ากราบทูลขอประทานอุปสมบท 
สมเด็จพระบรมสุคตก็ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสมบทแก่ปริพพาชกทั้ง 250 คนนั้น 
เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา แล้วตรัสเรียกชื่อสหายทั้งสองนั้นตามนามของมารดา คือ 
รับสั่งเรียกอุปดิสสะ ผู้เป็นบุตรของนางสารีพราหมณีว่า สารีบุตร 
รับสั่งเรียก โกลิตะ ผู้เป็นบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณีว่า โมคคัลลานะ 
อาศัยเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งเรียกท่านทั้งสองเช่นนั้นในท่ามกลางบริษัท 4 พุทธบริษัทจึงนิยมเรียกท่านด้วยชื่อที่ได้รับพระมหากรุณาประทานใหม่ตลอดอายุของท่าน 
และนิยมเรียกมาจนบัดนี้
พระอัครสาวกสำเร็จพระอรหันต์

ฝ่ายพระโมคคัลลานะ อุปสมบทแล้วได้ 7 วัน 
หลีกไปทำความเพียรอยู่ในเสนาสนะป่า 
ใกล้บ้านกัลลวาละมุตตคาม ในแคว้นมคธ 
ความง่วงครอบงำนั่งโงกอยู่พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่น 
ตรัสบอกอุบายระงับความง่วงให้อันตรธานแล้ว 
ทรงประทานโอวาทในธาตุกัมมักฏฐาน 
พระโมคคัลลานะได้สดับแล้วปฏิบัติตาม ก็ได้บรรลุพระอรหัตในวันนั้น

ส่วนพระสารีบุตรอุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน 
ตามพระบรมศาสดาไปอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา ใกล้กรุงราชคฤห์ 
ได้สดับพระธรรมเทศนา เวทนาปริคคหสูตร 
ซึ่งพระบรมศาสดา ทรงแสดงแก่ปริพพาชกชื่อว่า ทีฆนขะ อัคคิเวสนโคตร 
ผู้เป็นหลานของพระเถระเจ้า 
พระเถระเจ้าตั้งใจกำหนดพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น 
ก็ได้บรรลุพระอรหัต ส่วนทีฆนขะปริพพาชกได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

ในกาลนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงตั้งพระเถระเจ้าทั้งสองไว้ในตำแหน่ง คู่แห่งอัครสาวก
คือ พระสารีบุตรเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย 
เนื่องจากวันที่พระสารีบุตรเถระเจ้า ได้บรรลุพระอรหัต เป็นวันมาฆปรุณมีเพ็ญเดือน 3 เวลาบ่าย 
พระบรมศาสดาเสด็จมาประทับที่เวฬุวัน พระอรหันต์ขีณาสพเจ้า จำนวน 1,250 องค์ คือ 
พระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ พระคยากัสสปเถระ 
รวม 1,000 องค์
กับพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระ พระโมคคัลลานะเถระ รวม 250 องค์ 
รวมทั้งสองคณะ 1,250 องค์ 
ได้พร้อมกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา พระองค์ทรงเห็นเป็นนิมิตอันดี 
จึงได้เสด็จในท่ามกลางพระสงฆ์ 1,250 องค์นั้น 
แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ทรงทำวิสุทธิอุโบสถ 
ประทานธรรมอันเป็นหลักแห่งพระศาสนา เพื่อเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาสำหรับพระสาวกสืบไป

ประวัติโดยละเอียด


พระมหาโมคคัลลานะ


พระมหาโมคคัลลานเถระ เป็นพระภิกษุอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า 
เป็นพระอสีติมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคะในด้านผู้มีฤทธิ์มาก คู่กับพระสารีบุตร ผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา

ประวัติ

พระมหาโมคคัลลานะ เป็นบุตรพราหมณ์นายบ้านในหมู่บ้านโกลิตคาม 
ได้ชื่อว่า “โกลิตะ” ตามชื่อของหมู่บ้าน 
มารดาชื่อ โมคคัลลี คนทั่วไปจึงเรียกท่านว่า “โมคคัลลานะ” ตามชื่อของมารดา 
ท่านเป็นสหายที่รักกันมากับอุปติสสมาณพ (พระสารีบุตร) 
เที่ยวแสวงหาความสุขความสำราญ ตามประสาวัยรุ่น 
และพ่อแม่มีฐานะร่ำรวย นอกจากนี้ยังมีอุปนิสัยใจคอเหมือนกัน และยังได้ออกบวชพร้อมกัน

สาเหตุที่ได้เป็นเอตทัคคะ


เมื่อนับถอยหลังไปด้วยระยะเวลาได้หนึ่งอสงไขยกัปและอีกหนึ่งแสนกัปจากภัทรกัปนี้ 
พระมหาโมคคัลลานะเถระบังเกิดเป็น สิริวัฑฒกุฏมพี อยู่ในตระกูลคฤหบดีมหาศาล 
และได้เป็นสหายกับ สรทมาณพ (พระสารีบุตรเถระ) ในอดีตชาติ 
สรทมาณพนั้นคิดจะออกบรรพชาแสวงหาโมกขธรรมจึงไปชวน สิริวัฑฒกุฎุมพี 
สิริวัฑฒกุฎุมพี  ปฏิเสธว่าไม่สามารถออกบรรพชาได้ 
แล้วสรทมาณพออกไปบรรพชาเป็นดาบสพร้อมด้วยบริวารเป็นจำนวนมาก 
ได้สำเร็จอภิญญา 5 และสมาบัติ 8 ประการ ต่อมาได้กระทำอธิสักการบูชาแด่พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า 
และตั้งความปรารถนาไว้ในที่เฉพาะพระพักต์เพื่อเป็นอัครสาวกเมื่อได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว 
พลันหวนนึกถึงสิริวัฑฒกุฎมพีผู้เป็นสหายขึ้นได้ จึงรีบไปที่บ้านของสิริวัฒกุฎมพีแต่ผู้เดียว 
และได้ชี้แจงให้ผู้เป็นสหายทราบและให้ปรารถนาตำแหน่งทุติยสาวก (สาวกเบื้องซ้าย) 
ในศาสนาของพระพุทธโคดม เช่นเดียวกับตน

สิริวัฒกุฎมพี ได้ฟังดังนั้น จึงให้สรทดาบสไปนิมนต์พระพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า 
มาที่บ้านและทำการถวายมหาทานและเครื่องมหาสักการบูชามากมายตลอดเจ็ดวัน 
แล้วก็ประนมมือกราบทูลแทบพระบาทพระะอโนมทัสสีพุทธเจ้า ว่า 
สรทดาบสผู้เป็นสหายของข้าพระองค์ปรารถนาเป็นอัครสาวกของพระบรมศาสดาพระองค์ใด 
ข้าพระองค์ขอได้เป็นทุติยะสาวกของศาสดาพระองค์นั้นด้วยเถิดพระเจ้าข้า
พระอโนมทัสสีพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาดูอนาคตกาลแล้ว 
ทรงเห็นว่าความปรารถนาของสิริวัฒกุฏมพีจะสำเร็จสมมโนรถ จึงทรงพยากรณ์ว่า 
เมื่อเวลาล่วงเลยไปหนึ่งอสงไขยกับอีกหนึ่งแสนกัป นับจากกัปนี้ไป 
เธอจะได้เป็นทุติยสาวกของพระโคดมพุทธเจ้า

สิริวัฒกุฎพีรับฟังพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว มีใจร่าเริงยินดีเป็นที่สุด 
ราวกับว่าความปรารถนานั้นจะสำเร็จในวันพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ฉะนั้น 
ฝ่ายพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เสด็จกลับพระวิหาร 
พร้อมด้วยพระภิกษุทั้งหลาย 
จำเดิมแต่วันนั้นมาสิริวัฒกุฎมพีได้กระทำกัลยาณกรรมอยู่เป็นประจำตลอดชีวิต 
ครั้นเขาสิ้นชีวิตแล้วขึ้นไปเกิดในกามาวจรเทวโลก ในวาระแห่งจิตที่ 2 
และกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกในชาติต่อมา และในสมัยพระโคดมพระพุทธเจ้านี้ 
เกิดมาเป็นโกลิตมาณพ เพื่อนของอุปปติสสมาณพ

เมื่ออุปติสสมาณพได้ไปพบพระอัสสชิในกรุงราชคฤห์ ได้ฟัง 
"พระคาถาเย ธัมมา" จากพระอัสสชิ ทำให้ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาบัน 
อุปติสสมาณพได้นำคำสอนของพระอัสสชิไปแจ้งให้โกลิตมาณพทราบ 
โกลิตมาณพก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นดียวกัน ทั้งสองมาณพได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวนาราม 
และได้ทูลขออุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ได้ทรงอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุ 
โกลิตมาณพซึ่งอุปสมบทเป็นพระมหาโมคคัลลานะ บำเพ็ญความเพียรได้ 7 วัน ก็สำเร็จพระอรหันต์ 
ส่วนอุปติสสมาณพซึ่งอุปสมบทเป็นพระสารีบุตรอุปสมบทได้ 15 วัน จึงสำเร็จพระอรหันต์

ในวันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนมาฆะ ในคืนวันนั้น 
พระพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทปาติโมกข์แก่จาตุรงคสันนิบาตจากนั้น 
พระพุทธเจ้าทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา เลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญา 
พระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย (ทุติยสาวก) เลิศกว่าผู้อื่นในทางฤทธิ์

ความสำคัญในพระพุทธศาสนา


การสำเร็จเป็นพระอรหันต์

พระพุทธเจ้าทรงแสดงอุบายแก้ง่วงแก่พระโมคคัลลานะ

พระมหาโมคคัลลานะ เมื่ออุปสมบทได้ 7 วัน
ได้ไปทำความเพียรอยู่ที่ป่าใกล้บ้านกัลป์ลาวาลมุตตาคาม แขวงมคธ 
ถูกถีนมิทธารมณ์ คือ ความง่วงเหงาเข้าครอบงำ ไม่สามารถจะทำความเพียรได้ 
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ สวนเภสกลาวัน ซึ่งเป็นสถานที่ให้เหยื่อแก่เนื้อ 
ใกล้เมืองสุงสุมารคิรี อันเป็นเมืองหลวงของแคว้นภัคคะ 
ทรงทราบด้วยพระญาณว่าพระโมคคัลลานะ โงกง่วงอยู่ จึงทรงทำปาฏิหาริย์ให้เห็นปรากฏ 
ประหนึ่งว่าเสด็จประทับอยู่ตรงหน้า 
ทรงแสดงอุบายสำหรับระงับความง่วงแก่เธอตามลำดับ ดังนี้
โมคคัลลานะ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างใดแล้ว เกิดความง่วงขึ้น 
เธอจงทำไว้ในใจซึ่งสัญญาอย่างนั้นให้มาก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

หมายเหตุ ข้างต้นเป็นไปตามพระไตรปิฏกฉบับมหามกุฏและสยามรัฐ ซึ่งแปลสำนวนจาก บาลีฉบับสยามฯ ส่วน พระไตรปิฏกฉบับมหาจุฬา แปลสำนวนตาม บาลีสากล ซึ่งตรงตามบาลีลังกาและพม่า ได้เนื้อความว่า 

"เมื่อเธอมีสัญญาอยู่อย่างไร ความง่วงนั้น ย่อมครอบงำเธอได้ เธออย่าได้มนสิการถึงสัญญานั้น อย่าได้ทำสัญญานั้นให้มาก เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้นจะละความง่วงนั้นได้" .

สำหรับ บาลีจากพระไตรปิฎกบาลีฉบับต่างๆเป็นดังนี้ : "ตสฺมาติห, โมคฺคลฺลาน, ยถาสญฺญิสฺส เต วิหรโต ตํ มิทฺธํ โอกฺกมติ, ตํ สญฺญํ มา มนสากาสิ [มา มนสิกาสิ (สี.), มนสิ กเรยฺยาสิ (สฺยา.), มนสากาสิ (ก.)], ตํ สญฺญํ มา พหุลมกาสิ [ตํ สญฺญํ พหุลํ กเรยฺยาสิ (สฺยา.), ตํ สญฺญํ พหุลมกาสิ (ก.)]ฯ ฐานํ โข ปเนตํ, โมคฺคลฺลาน, วิชฺชติ ยํ เต เอวํ วิหรโต ตํ มิทฺธํ ปหีเยถ". )

  1. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรตรึกตรองถึงธรรมที่ได้เรียนมาแล้ว ได้ฟังมาแล้วให้มาก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
  2. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรสาธยายธรรมที่ได้เรียนได้ฟังมาแล้วให้มากจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
  3. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรยอนช่วงหูทั้งสองข้าง และลูบตัวด้วยฝ่ามือจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
  4. ถ้ายังละไม่ได้ เธอจงลุกขึ้นแล้วลูบนัยน์ตา ลูบหน้าด้วยน้ำเหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาว จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
  5. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรทำไว้ในใจถึงอาโลกสัญญา ถือ กำหนดความสว่างไว้ในใจเหมือนกัน ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำใจให้เปิด ให้สว่าง จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
  6. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรเดินจงกรมสำรวมอินทรีย์ มีจิตใจไม่คิดไปภายนอก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
  7. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรสำเร็จสีหไสยาสน์ นอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าให้เลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ หมายใจว่าจะลุกขึ้นเป็นนิตย์ เมื่อตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจะไม่ประกอบความสุขในการนอนและการเคลิ้มหลับอีกจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

พระพุทธองค์ ตรัสสอนอุบายเพื่อบรรเทาความง่วงโดยลำดับจนที่สุดถ้ายังไม่หายง่วงก็ให้นอน แต่ให้นอนอย่างมีสติ


พระพุทธเจ้าได้ประทานพระโอวาท 3 ข้อ


  1. โมคคัลลานะ เธอจงทำไว้ในใจว่า เราจะไม่ชูงวง คือ ความถือตัวว่าเราเป็นนั่น เป็นนี่ เข้าไปสู่สกุล เพราะถ้าภิกษุถือตัวเข้าไปสู่สกุลด้วยคิดว่าเขาจะต้องต้อนรับเราอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าคนในสกุลเขามีการงานมาก ก็จะเกิดอิดหนาระอาใจ ถ้าเขาไม่ใส่ใจต้อนรับ เธอก็จะเก้อเขินคิดไปในทางต่าง ๆ เกิดความฟุ้งซ่านไม่สำรวม จิตก็จะห่างจากสมาธิ
  2. โมคคัลลานะ เธอจงทำไว้ในใจว่า เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุเถียงกันเพราะถ้าเถียงกันก็จะต้องพูดมาก และผิดใจกัน เป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านไม่สำรวม และจิตก็จะห่างจากสมาธิ
  3. โมคคัลลานะ ตถาคตไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยประการทั้งปวง แต่ก็ไม่ตำหนิการคลุกคลีไปทุกอย่าง คือ เราไม่สรรเสริญการคลุกคลีกับหมู่ชน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่เราสรรเสริญการคลุกคลีด้วยเสนาสนะ อันสงบสงัดปราศจากเสียงอื้ออึง ควรแก่การหลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย

ลำดับนั้น พระมหาโมคคัลลานะ ได้กราบทูลถามถึงข้อปฏิบัติอันเป็นธรรมชักนำไปสู่การสิ้นตัณหา 
เกษมจากโยคะคือกิเลสเครื่องประกอบให้จิตติดอยู่ 
พระพุทธองค์ ตรัสสอนในเรื่องธาตุกรรมฐาน โดยใจความว่า 
“ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อได้สดับว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ก็ควรกำหนดธรรมเหล่านั้น 
ในยามเมื่อเสวยเวทนา อันเป็นสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง 
และให้พิจารณาดังปัญญา อันประกอบด้วยความหน่าย ความดับ และความไม่ยึดมั่น 
จิตก็จะพ้นจากอาสวกิเลส เป็นผู้รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว”

พระมหาโมคคัลลานะ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว 
ท่านเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนา ช่วยแบ่งเบาภารกิจ 
และยังพุทธดำริต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยดี เพราะท่านมีฤทธิ์มีอานุภาพยิ่งกว่าพระสาวกรูปอื่น ๆ 
จนได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง พระอัครสาวกเบื้องซ้าย 
โดยทรงยกย่องให้เป็นอัครสาวกคู่กับพระสารีบุตรว่า 
“พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดบุตร 
พระโมคคัลลานะ เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย เปรียบเสมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดมาแล้ว 
พระสารีบุตร ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะ 
ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องสูงขึ้นไป”
นอกจากนี้ พระมหาโมคคัลลานะ ยังเป็นผู้มีความสามารถในการ นวกรรม คือ งานก่อสร้าง 
พระบรมศาสดาเคยทรงมอบหมายให้ท่านรับหน้าที่ นวกัมมาธิฏฐายี คือ 
ผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้างวิหารบุพพาราม ที่เมืองสาวัตถี 
ซึ่งนางวิสาขาบริจาคทรัพย์สร้างถวายอีกด้วย

การบำเพ็ญประโยชน์ในการประกาศพระพุทธศาสนา


พระมหาโมคคัลลานเถระมีความสามารถในทางอิทธิปาฏิหาริย์ 

พระมหาโมคคัลลานะ เมื่อบวชและสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว
ปรากฏว่าท่านมีความสามารถโดดเด่นในทางอิทธิปาฏิหาริย์ เป็นเลิศ กว่าภิกษุทั้งหลาย 
ท่านสามารถแสดงฤทธิ์ ไปยังภูมิของสัตว์นรก และไปโลกสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ได้ 
ท่านได้พบเห็นสัตว์นรกในขุมต่าง ๆ 
และของเทพบุตรเทพธิดาที่ได้เสวยความสุขจากการทำบุญไว้ในเมืองมนุษย์เช่นกัน 
ท่านได้นำข่าวสารของสัตว์นรกและของเทพบุตรเทพธิดาเหล่านั้น 
มาแจ้งแก่บรรดาญาติและชนทั้งหลายให้ทราบ 
ทำให้บรรดาญาติและชนเหล่านั้นพากันละเว้นกรรมชั่วลามกอันจะพาตนไปเสวยผลกรรมในนรก 
พากันสร้างบุญกุศล อันจะนำตนไปสู่สุคติโลกสวรรค์ 
และพร้อมกันนั้นก็พากันทำบุญอุทิศไปให้แก่ญาติของตน 
เหล่าชนบางพวกที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา 
ก็พากันละทิ้งลัทธิศาสนาเดิมมาศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น 
ทำให้พวกเดียรถีย์ทั้งหลายต้องเสื่อมจากลาภสักการะ เป็นอยู่ลำบากอดอยากขึ้นเรื่อย ๆ

เรื่องที่พระเถระไปเยี่ยมชมโลกสวรรค์ชั้นต่าง ๆ

นั้นมีเรื่องกล่าวไว้ในคัมภีร์ธรรมบทหมวดปิยวรรคและโกธวรรคว่า
วันหนึ่ง พระเถระได้ขึ้นไปยังดาวดึงส์โลกสวรรค์ ด้วยอริยฤทธิ์ 
ได้เห็นปราสาทหลังหนึ่ง มีแสงแวววาวด้วยแก้วนานาประการ 
มีขนาดใหญ่ทั้งกว้าง ทั้งสูง มีนางเทพธิดาอยู่ในปราสาทนั้นจนเนืองแน่น พระเถระจึงถามว่า
“แม่เทพธิดา วิมานนี้เป็นของใคร (เกิดขึ้นเพื่อใคร) ?" 
“ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ วิมานนี้เกิดขึ้นเพื่อนันทิยะ ผู้สร้างศาล 4 มุข 4 ห้อง ถวายพระบรมศาสดา 
พวกดิฉันมาเกิดในที่นี้ก็ด้วยหวังว่าจะได้เป็นบาทจาริกาของนันทิยะนั้น 
แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่พบนันทิยะ เพราะท่านยังไม่ละอัตภาพจากโลกมนุษย์เลย
ขอพระคุณเจ้าได้โปรดนำข่าวสารไปบอกแก่นันทิยะให้ละอัตภาพมนุษย์อันเปรียบประดุจถาดดิน 
มาถือเอาอัตภาพอันเป็นทิพย์ ซึ่งเปรียบประดุจถาดทองคำล้ำค่าในโลกสวรรค์นี้ด้วยเถิด เจ้าค่ะ” 
อันที่จริง วิมานนั้นได้เกิดขึ้นบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พร้อมกับขณะที่นันทิยมาณพ 
ได้สร้างศาลาจัตุรมุขมี 4 ห้อง ถวายแด่พระบรมพระศาสดาแล้ว
หลั่งน้ำทักษิโณทก ตกลงบนฝ่าพระหัตถ์ของพระบรมศาสดา

พระเถระได้จาริกท่องเที่ยวไปยังสวรรค์ชั้นอื่น ๆ 
ได้พบเห็นวิมานทองของเหล่าเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายแล้ว 
ได้ไต่ถามเทพบุตรเทพธิดาเหล่านั้นว่า ทำบุญอะไร ทานด้วยสิ่งใด จึงได้เสวยผลบุญ 
ได้รับทิพยสมบัติวิมานแล้ว วิมานทองอันงดงามยิ่งนัก เช่นนี้ 
เทพบุตรและเทพธิดาเหล่านั้น ต่างก็รู้สึกละอายที่จะบอกแก่พระเถระเพราะบุญทานที่พวกตนกระทำนั้นมีประมาณเพียงเล็กน้อย คือ
บางองค์บอกว่า เพียงรักษาคำสัตย์ จึงได้สมบัติคือวิมานนี้
บางองค์บอกว่า เพียงห้ามความโกรธ จึงได้วิมานนี้
บางองค์บอกว่า เพียงถวายอ้อยลำเดียว จึงได้วิมานนี้
บางองค์บอกว่า เพียงถวายมะพลับ, ลิ้นจี่ ฯลฯ ผลเดียว จึงได้วิมานนี้

พระเถระจาริกไปยังสวรรค์ชั้นต่าง ๆ พอสมควรแก่อัธยาศัยแล้วก็กลับมาสู่มนุษย์โลก 
นำข่าวสารที่ได้พบเห็นมาแจ้งแก่หมู่ชนทั้งหลาย 
ซึ่งต่างก็พากันศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา 
ทำบุญสร้างกุศล เพื่อหวังผลอันเป็นสุขสมบัติในปรโลก

พระเถระทรมานพญานาค

สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของนักบวชนอกพระพุทธศาสนา
นามว่า “อัคคิทัต” จึงรับสั่งให้พระมหาโมคคัลลานเถระไปอบรมสั่งสอนให้ลดทิฏฐิมานะ 
ละการถือลัทธินั้นเสีย
พระเถระรับพระพุทธบัญชาแล้วไปยังสำนักของอัคคิทัตนั้น 
กล่าวขอที่พักอาศัยสักราตรีหนึ่ง 
แต่อัคคิทัต ปฏิเสธว่าไม่มีสถานที่ให้พัก 
พระเถระจึงกล่าวต่อไปว่า “อัคคิทัต ถ้าอย่างนั้น เราขอพักที่กองทรายนั่นก็แล้วกัน”
ก็ที่กองทรายนั้นมีพญานาคตัวใหญ่มีพิษร้ายแรงอาศัยอยู่ 
อัคคิทัต เกรงว่าพระเถระจะได้รับอันตรายจึงไม่อนุญาต 
แต่เมื่อพระเถระรบเร้าหนักขึ้นจนต้องยอมอนุญาต พระเถระจึงเดินไปที่กองทรายนั้น

พญานาคเห็นพระเถระเดินมารู้ว่าไม่ใช่พวกของตนจึงพ่นควันพิษเข้าใส่พระเถระ 
ฝ่ายพระเถระก็เข้าเตโชกสิณบังหวนควันไฟให้กลับไปทำอันตรายแก่พญานาค 
ทั้งพระเถระและพญานาคต่างก็พ่นควันพ่นไฟเข้าใส่กันจนเกิดแสงรุ่งโรจน์โชตนาการ 
พิษควันไฟไม่สามารถทำอันตรายพระเถระได้เลย แต่ทำอันตรายแก่พญานาคฝ่ายเดียวอัคคิทัต 
กับบริวารมองดูแล้วคิดตรงกันว่า 
“พระเถระคงจะมอดไหม้ในกองเพลิงเสียแล้ว” พร้อมทั้งคิดว่า 
“สาสมแล้ว เพราะเราห้ามแล้วก็ไม่ยอมเชื่อฟัง” 
รุ่งเช้า อัคคิทัตกับบริวารเดินมาดู ปรากฏว่าพระเถระนั่งอยู่บนกองทราย โดยมีพญานาค 
ขดรอบกองทรายแล้วแผ่พังพานอยู่เหนือศีรษะ พระเถระจึงพากันคิดว่า 
“น่าอัศจรรย์ สมณะนี้มีอานุภาพยิ่งนัก”

ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระมหาโมคคัลลานเถระ จึงลงจากกองทราย
แล้ว เข้าไปกราบบังคมทูลอาราธนาให้เสด็จประทับนั่งบนกองทรายแล้วกล่าวกับอัคคิทัตว่า
“พระพุทธ องค์ เป็นศาสดาของข้าพเจ้า ๆ เป็นสาวกของพระพุทธองค์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้อัคคิทัต
พร้อมทั้งบริวารเลิกละการเคารพบูชาภูเขา ป่า ต้นไม้ และจอมปลวก เป็นต้น 
ที่พวกตนพากันเคารพบูชาว่าเป็นที่พึ่งอันเกษมสูงสุด 
ให้หันมาระลึกถึงพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ 
อันเป็นสิ่งประเสริฐสุดนำไปสู่การพ้นทุกข์ทั้งปวงเมื่อจบพระธรรมเทศนา
อัคคิทัต และบริวารได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วยกันทั้งหมด
แล้วกราบทูบขอบรรพชาในพระพุทธศาสนา 
พระบรมศาสดาได้ประทานให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา 
เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ของพระมหาโมคคัลลานเถระนั้นมีมาก 
แต่นำมากล่าวไว้ในที่นี้พอเป็นตัวอย่างเพียงเท่านี้

พระเถระมีอัธยาศัยใจกว้าง




พระมหาโมคคัลลานเถระ ผู้เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมและความสามารถในอิทธิปาฏิหาริย์เหนือกว่าพระพุทธสาวกรูปอื่น ๆ 
แต่ท่านก็เป็นผู้มีอัธยาศัย ใจกว้างไม่กีดกัน ไม่เบียดบังความดีความสามารถของคนอื่น 
ไม่ฉวยโอกาสชิงความดี ความชอบจากผู้อื่น ดังจะเห็นได้จากเรื่องต่อไปนี้

สมัยหนึ่ง เศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์ 
อยากจะเห็นพระอรหันต์ที่แท้จริงเพราะในเมือง 
ราชคฤห์นั้นมีเจ้าลัทธิหลายสำนัก ซึ่งต่างก็โอ้อวดว่าตนเป็นพระอรหันต์ 
ทั้ง ๆ ที่การปฏิบัติและหลักคำสอนก็แตกต่างกันเป็นอย่างมาก 
และหาแก่นสารมิได้ จึงให้บริวารกลึงไม้จันทน์แดง 
ทำเป็นบาตรแล้วผูกติดปลายไม้ไผ่ต่อกัน หลาย ๆ ลำตั้งไว้แล้วประกาศว่า
“ใครเป็นพระอรหันต์ ก็จงเหาะมาเอาบาตรใบนี้ไป” 
เจ้าลัทธิทั้งหลายปรารถนาจะได้บาตร แต่ไม่สามารถเหาะมาเอาไปได้ 
จึงมาเกลี้ยกล่อมเศรษฐีให้ยกบาตรให้ตน โดยไม่ต้องเหาะขึ้นไป 
แต่เศรษฐีก็ยงคงยืนยันว่าต้องเหาะขึ้นไปเอาเอง เท่านั้นจึงจะได้

ขณะนั้น พระมหาโมคคัลลานเถระ กับพระปิณโฑลภารทวาชะเถระ 
กำลังยืนห่มจีวรอยู่บนก้อนหินใหญ่ เพื่อเข้าไปบิณฑบาตในเมือง ได้ยินพวกชาวบ้านพูดกันว่า
“ในโลกนี้ คงจะไม่มีพระอรหันต์ เพราะวันนี้เป็นวันที่ 7 แล้วท่านเศรษฐีประกาศให้พระอรหันต์เหาะมาเอาบาตร 
แม้แต่ครูทั้ง 6 ที่โอ้อวดนักหนาว่าเป็นพระอรหันต์ 
ก็ยังไม่สามารถเหาะขึ้นไปเอาบาตรได้เลย เราเพิ่งรู้วันนี้เองว่าพระอรหันต์ไม่มีในโลก”

พระเถระทั้งสอง ต้องการประกาศให้ประชาชนทั้งหลายรู้ว่าในพระพุทธศาสนามีพระอรหันต์อยู่จริง 
ดังนั้น พระมหาโมคคัลลานเถระ แม้จะมีฤทธิ์มีอานุภาพมากกว่า 
มีอายุพรรษามากกว่า แต่อาศัยความที่ท่านเป็นผู้มีใจกว้างมีความเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น 
ต้องการให้คุณของพระเถระรูปอื่นปรากฏบ้าง
จึงบอกให้ พระปิณโฑลภารทวาชเถระ เหาะขึ้นไปเอาบาตรนั้นลงมา 
จนเศรษฐีและชาวเมืองพากันแตกตื่นมาดูกันอย่างโกลาหล

เมื่อครั้งพระบรมศาสดา ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้วเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เทวโลก 
มหาชนที่ประชุมกันอยู่ที่นั่นไม่ทราบว่าพระพุทธองค์หายไปไหน 
จึงพากันเข้าไปถามพระมหาโมคคัลลานเถระ แม้พระเถระจะทราบเป็นอย่างดี 
แต่ท่านก็ไม่ตอบโดยตรง กลับบอกให้ไปถามพระอนุรุทธะเถระ ทั้งนี้ 
ก็เพื่อยกย่องคุณความรู้ความสามารถของพระพุทธสาวกรูปอื่น ๆ ให้ปรากฏบ้างนั่นเอง

บั้นปลายชีวิต


พระมหาโมคคัลลานเถระถูกโจรทุบ


วันเวลาผ่านไปตามลำดับ เข้าสู่ปัจฉิมโพธิกาล 
ขณะที่ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระพักอยู่ที่กาฬศิลา ในมคธชนบทนั้น
พวกเดียรถีย์ ทั้งหลาย มีความโกรธแค้นพระมหาโมคคัลลานเถระ เป็นอย่างมาก 
เพราะความที่ท่านมีฤทธานุภาพมาก สามารถกระทำอิทธิฤทธิ์ ไปเยี่ยมชมสวรรค์และนรกได้ 
แล้วนำข่าวสารมาบอกแก่ญาติมิตรของผู้ไปเกิดในสวรรค์และนรกให้ได้ทราบ
ประชาชนทั้งหลายจึงพากันเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ทำให้พวกเดียรถีย์ ต้องเสื่อมคลายความเคารพนับถือจากประชาชน
ลาภสักการะก็เสื่อมลง ความเป็นอยู่ก็ลำบากฝืดเคือง จึงปรึกษากันแล้วมีความเห็นอันเดียวกันว่า
“ต้องกำจัดพระมหาโมคคัลลานะ เพื่อตัดปัญหา” 
ตกลงกันแล้ว ก็เรี่ยไรเงินทุนจากบรรดาศิษย์ 
และอุปัฏฐากของตนเมื่อได้เงินมาพอแก่ความต้องการแล้ว ได้ติดต่อจ้างโจรให้ฆ่าพระเถระ

พวกโจรใจบาป ได้รับเงินสินบนแล้วพากันไปล้อมจับพระเถระถึงที่พัก 
แต่พระเถระรู้ตัวและหลบหนีไปได้ถึง 2 ครั้งในครั้งที่ 3 พระเถระได้พิจารณาเห็นกรรมเก่า 
ที่ตนเคยทำไว้ในอดีตชาติติดตามมา และเห็นว่ากรรมเก่านั้นทำอย่างไรก็หนีไม่พ้น 
จึงยอมให้พวกโจรจับอย่างง่ายดาย และถูกพวกโจรทุบตีจนกระดูกแตกแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี 
พวกโจรแน่ใจว่าท่านตายแล้ว จึงนำร่างของท่านไปทิ้งในป่าแห่งหนึ่ง แล้วพากันหลบหนีไป

บุพกรรมของพระมหาโมคคัลลานเถระ

ในอดีตชาติ พระมหาโมคคัลลานเถระ 
เกิดเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ ต่อมาเมื่อเจริญเติบโตขึ้นพ่อแม่ทั้งสองประสบเคราะห์กรรมตาบอดด้วยกันทั้งสองคน
เป็นภาระที่ลูกชายคนเดียวต้องปรนนิบัติเลี้ยงดู 
การงานทุกอย่างทั้งนอกบ้านในบ้านลูกชายจัดการเป็นที่เรียบร้อย 
พ่อแม่ทั้งสองมิต้องกังวล ต่อมาพ่อแม่เห็นลูกชายอยู่ในวัยที่สมควรจะมีครอบครัวได้แล้ว 
จึงจัดการสู่ขอหญิงสาวที่มีชาติตระกูลใกล้เคียงกัน ให้มาแต่งงานเป็นคู่ของลูกชาย
ทั้ง ๆ ที่ลูกชายมิได้เต็มใจ เพราะตนเองผู้เดียวก็สามารถปฏิบัติเลี้ยงดูบิดามารดาได้เป็นอย่างดี 
แต่เมื่อบิดามารดาเป็นภาระจัดการให้แล้วก็ไม่ขัดความประสงค์ของท่าน

เมื่อแต่งงานแล้ว ชีวิตครอบครัวที่มีลูกสะใภ้พ่อผัวแม่ผัวอยู่ร่วมกันมาในระยะแรก ๆ 
ก็ราบรื่นสงบสุขเป็นอย่างดีเมื่อกาลเวลาผ่านนาน ๆ ไป 
ลูกสะใภ้ก็เริ่มรังเกียจพ่อผัวแม่ผัวที่ตาบอดด้วยกันทั้งสองคน 
จึงหาวิธีกำจัดท่านทั้งสองด้วยการยุแหย่สามีให้เกลียดชังพ่อแม่ คือ 
เมื่อสามีออกทำงานนอกบ้านก็แกล้งทำบ้านเรือนให้สกปรกรกรุงรัง 
เมื่อสามีกลับมาก็ฟ้องว่าพ่อแม่ทั้งสองเป็นผู้กระทำ 
ตนเองไม่สามารถที่จะทนเห็นทนอยู่ผู้เฒ่าตาบอดทั้งสองคนนี้ได้อีกต่อไปแล้ว

ระยะแรก ๆ สามีก็ไม่ค่อยเชื่อเท่าไรนักได้แต่รับฟังแล้วก็นิ่งเฉยแต่เมื่อภรรยาพูดบ่อย ๆ 
และเห็นบ้านเรือนสกปรกมากยิ่งขึ้นจึงเชื่อคำของภรรยา 
และได้ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกับคนแก่ตาบอดทั้งสองคนนี้ดี 
“เอาท่านใส่เกวียนไปฆ่าทิ้งในป่า” 
ภรรยาเสนอความคิดเห็น สามีแม้จะไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะตนเป็นคนรักและกตัญญูต่อพ่อแม่มาตลอดแต่เมื่อภรรยารบเร้าไม่รู้จบสิ้น 
จึงใจอ่อนยอมทำตามที่ภรรยาแนะนำ รุ่งเช้า ได้จัดหาอาหารเลี้ยงดูพ่อแม่เป็นอย่างดีแล้วกล่าวว่า
“ข้าแต่คุณพ่อคุณแม่ ญาติที่หมู่บ้านโน้นต้องการให้คุณพ่อคุณแม่ไปเยี่ยมพวกเราไปกันในวันนี้เถิด”
ลูกชายให้พ่อแม่นั่งบนเกวียนแล้วออกเดินทาง 
พอมาถึงกลางป่าส่งเชือกบังคับโคให้พ่อถือไว้แล้วพูดหลอกว่า 
“คุณพ่อจับปลายเชือกนี้ไว้ โคจะลากเกวียนไปตามทางนี้ 
ทราบว่าในป่านี้มีพวกโจรซุ่มอยู่ ลูกจะลงเดินตรวจดูโดยรอบ”

เมื่อลงเดินได้สักครู่หนึ่ง ก็เปลี่ยนเสียงร้องตะโกนประหนึ่งว่าเสียงโจรดักซุ่มอยู่ 
แล้วเข้ามาทุบตีทำร้ายบิดามารดา ฝ่ายบิดามารดาเชื่อว่าเป็นโจรจริง ๆ 
แม้จะถูกทุบตีอยู่ก็ยังร้องบอกให้ลูกรีบหนีไป พ่อแม่แก่แล้วไม่ต้องเป็นห่วง ลูกจงรักษาชีวิตไว้เถิด 
ลูกชายพอได้ยินเสียงมารดาบิดาร้องบอกให้รีบหนีไปไม่ต้องเป็นห่วงพ่อแม่ ก็กลับคิดไม่ได้ว่า
“ตนทำกรรมหนัก พ่อแม่แม้จะถูกเราทุบตีอยู่นี้ 
ก็ยังร้องคร่ำครวญด้วยความรักและห่วงใยให้เรารีบหนีไปโดยมิได้คำนึงถึงชีวิตของตนเอง” 
แม้บิดามารดาจะร้องอยู่เช่นนี้ เขาก็ยังกระทำเสียงโจร และทุบบิดามารดาให้ตาย 
แล้วจึงโยนทิ้งไปในดงแล้วกลับมา

ลูกชาย เมื่อตายแล้วต้องชดใช้กรรมในนรกเป็นเวลานาน 
เมื่อพ้นจากนรกแล้วมาเกิดใหม่ ต้องถูกทุบตีจนแหลกละเอียดอีกหลายร้อยชาติ 
ในชาติสุดท้ายนี้แม้จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ มีฤทธิ์ สามารถจะดำดินล่องหนหายตัวได้ 
เหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ก็ไม่สามารถจะหนีผลกรรมได้ 
ท่านจึงยอมให้พวกโจรจับทุบจนร่างแหลกเหลวดังกล่าวมานั่นเอง

กราบทูลลานิพพาน

พระมหาโมคคัลลานเถระ คิดว่า 
“เราควรไปกราบทูลลาพระผู้มีพระภาค ก่อนจึง ปรินิพพาน” 
ดังนี้แล้วก็เรียบเรียงสรีรกายประสานกระดูกด้วยกำลังฌานฤทธิ์ เหาะมาเฝ้าพระบรมศาสดา 
ถวายบังคมแล้วกราบทูลลาปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสถามว่า 
“โมคคัลลานะ เธอจะปรินิพพาน ที่ไหน เมื่อไร ?” 
“ข้าพระองค์ จะนิพพานที่กาฬศิลาในวันนี้ พระเจ้าข้า” 
“โมคคัลลานะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงแสดงธรรมแก่ตถาคตก่อน 
ด้วยว่าการได้เห็นพระเถระเช่นเธอนี้ จะไม่มีอีกแล้ว”

พระเถระได้รับพระพุทธบัญชาเช่นนั้นจึงทำปาฏิหาริย์
เหาะขึ้นไปบนอากาศแสดงพระธรรมเทศนาแล้วลงมาถวายอภิวาทกราบทูลลาไปยังกาฬศิลา 
และปรินิพพาน ณ ที่นั้น 
ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 12 หลังจากพระสารีบุตรนิพพานได้ 15 วัน

พระผู้มีพระภาค เสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย 
ทรงเป็นองค์ประธานจุดเพลิงฌาปนกิจศพให้ท่าน 
ขณะนั้น ฝนดอกไม้ทิพย์ตกลงมาโดยรอบบริเวณ มหาชนพากันประชุมทำ 
สักการะอัฐิธาตุตลอด 7 วัน 
พระพุทธองค์โปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ ที่ใกล้ซุ้มประตูแห่งพระเชตะวันมหาวิหารนั้น


พระสารีบุตร

พระสารีบุตร (สันสกฤต: ศารีปุตฺร) หรือพระสารีบุตต์ (บาลี: สารีปุตฺต)
เป็นพระภิกษุชาวอินเดียผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า 
ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศกว่าพระภิกษุทั้งปวงในด้านสติปัญญา 
นอกจากนี้ พระสารีบุตรยังมีคุณธรรมในด้านความกตัญญู 
และการบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่พุทธศาสนาอีกด้วย จึงมีคำยกย่องภิกษุรูปนี้ว่าเป็น 
"ธรรมเสนาบดี" (แม่ทัพธรรม) คู่กับพระพุทธเจ้าที่เป็น "ธรรมราชา"
พระสารีบุตรเกิดเมื่อใดไม่ปรากฏ 
แต่นิพพานเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนกฤติกา (เดือนสิบสอง) 
ก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน

ประวัติ

สถานะเดิม

พระสารีบุตรเมื่อแรกเกิดมีชื่อว่า "อุปติสสะ" 
เป็นบุตรของนางพราหมณี ชื่อ "สารี" 
และนายพราหมณ์ ผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านอุปติสคามแห่งตำบลตำบลนาลกะ 
หรือตำบลนาลันทา ชื่อ "วังคันตะ" 
คำว่า "อุปติสสะ" หมายความว่า ชาวบ้านอุปติสคาม 
อุปติสสะนั้นมีน้องชายสามคน คือ พระจุนทะ พระอุปเสน พระเรวัตตะ 
และมีน้องสาวอีกสามคน คือ นางจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา 
ในวันเดียวกับที่นางพรามหณ์สารีให้กำเนิดอุปติสสะนั้น 
ยังเป็นวันที่ครอบครัวข้างเคียงให้กำเนิดบุตรชื่อว่า "โกลิตะ" 
หรือต่อมาคือพระมหาโมคคัลลานะ อีกด้วย
ครอบครัวของนางพราหมณีสารีนั้นมีความมั่งคั่งสมบูรณ์พร้อมมูลพอ ๆ กับครอบครัวของโกลิตะ 
นิสัยใจคอของทั้งอุปติสสะและโกลิตะก็คล้ายคลึงกัน 
ท่านทั้งสองได้คบหาและเล่าเรียนด้วยกันมาแต่เล็ก ๆ จนเติบใหญ่ 
นอกจากนี้ ครอบครัวของทั้งสองก็ยังคบหาสมาคมกันมาแต่ชั่วบรรพบุรุษ 
ทั้งสองจึงเป็นเพื่อนรักกันอย่างยิ่ง


การออกจากเพศฆราวาส


วันหนึ่ง อุปติสสะและโกลิตะไปเที่ยวเล่นในงานรื่นเริงประจำปีในกรุงราชคฤห์ 
ขณะชมมหรสพอยู่นั้นก็เกิดความสลดใจขึ้นมาอย่างเดียวกันว่า กิจกรรมเหล่านี้ช่างไร้สาระสิ้นดี 
หาประโยชน์แก่นสารมิได้เลย ควรจะหาสิ่งใดเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและหลุดพ้นจากบ่วงเช่นนี้ 
อีกสองวันจึงพากันไปบวชในสำนักของสัญชัยเวลัฏฐบุตร ณ กรุงราชคฤห์นั้นเอง 
และสำเร็จการศึกษาในสำนักนั้นโดยใช้เวลาเพียงสองสามวัน เมื่อจบแล้วก็ออกจากสำนัก 
แต่ยังไม่พึงพอใจเพราะเห็นว่าความรู้จากสำนักนั้นหาใช่ที่ตนค้นหาไม่ 
จึงตกลงแยกกันไปตามหาครูผู้สามารถสอนความจริงของโลกให้ประจักษ์ได้อย่างแท้จริง 
และสัญญากันว่าถ้าใครเจอครูเช่นว่าแล้วก็จะมาบอกกันมิได้อำพราง

บรรลุโสดาบันและบวชในพระพุทธศาสนา

นาลันทา บ้านเกิดของพระสารีบุตร ต่อมากลายเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของโลก
พระอัสสชิอันเป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ หลังจากได้ฟังธรรมจาก พระพุทธองค์ จนบรรลุอรหันต์แล้ว 
วันหนึ่งท่านถือบาตรและจีวร ไปสู่กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาตแต่เช้าตรู่ 
อุปติสสะได้พบพระอัสสชิเถระ ประทับใจในอิริยาบถน่าเลื่อมใส สำรวมดี ของท่านพระอัสสชิเถระ 
ผู้มีอินทรีย์ฝึกดีแล้ว จึงเกิดความคิดว่า ท่านผู้นี้จักเป็นพระอรหันต์ 
จึงได้ตามท่านพระอัสสชิเถระไปข้างหลัง รอคอยโอกาสอยู่ แล้วสอบถาม 
พระอัสสชิเถระได้แสดงความลึกซึ้งในคำสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า

ท่านกล่าวบทอันลึกซึ้งละเอียดทุกอย่าง เป็นเครื่องฆ่าลูกศร คือ ตัณหา 
เป็นเครื่องบรรเทาความทุกข์ทั้งมวล ว่าธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้า 
ตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะเจ้ามีปกติตรัสอย่างนี้

เมื่ออุปติสสะได้ฟังก็ได้บรรลุโสดาบัน
หลังจากนั้น อุปติสสะกราบลาพระอัสสชิเถระ แล้วนำธรรมะที่ได้รับฟังมา 
ไปบอกเพื่อนสนิทคือโกลิตะ จนได้บรรลุโสดาบัน เช่นเดียวกัน 
ทั้งสองได้ไปชวนสัญชัยปริพาชก ให้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า 
แต่สัญชัยปริพาชกปฏิเสธ ทั้งสองจึงได้พาปริพาชก 250 คน 
ไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์ หลังจากฟังธรรมครั้งนั้น 
ปริพาชก 250 คนบรรลุอรหัตผล 
แต่อุปติสสะและโกลิตะ ยังคงบรรลุเพียงโสดาบันเช่นเดิม 
พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งหมดด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา 
ภายหลังบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านอุปติสสะมีชื่อเรียกใหม่ว่าสารีบุตร

บรรลุอรหันต์

ถ้ำสุกรขาตา สถานที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ เขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์
เวลาผ่านไปครึ่งเดือน (หลังจากที่พระสารีบุตรบวชในพระพุทธศาสนา) 
ที่ถ้ำสุกรขาตา เชิงเขาคิชกูฏ นครราชคฤห์ 
พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระสารีบุตร 
ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลาน (ลุง) พระสารีบุตร 
เข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลถามปัญหา 
พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับ ทิฏฐิและเวทนา 
ทีฆนขะได้บรรลุโสดาบัน 
ส่วนพระสารีบุตรนั้น ท่านกำลังถวายงานพัดพระพุทธองค์ 
ท่านได้ยินธรรมเหล่านั้นอยู่ด้วยก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ 
ซึ่งเหตุการณ์ถัดไป 
พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ให้กับพระอรหันต์ 1,250 รูป รวมอัครสาวกทั้งสองด้วย

เป็นผู้เลิศทางปัญญา

หลังจากพระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ 
จำพรรษาและแสดงพระอภิธรรม ณ ดาวดึงส์ เสด็จลงมา ณประตูเมืองสังกัสสะ 
พระสารีบุตรพร้อมทั้งภิกษุ ภิกษุณี และสาธุชนจำนวนมาก มาเฝ้ารอรับเสด็จ
พระพุทธองค์ได้ตรัสถามปัญหาในวิสัยของปุถุชนเป็นต้น 
พวกปุถุชนแก้ปัญหาได้ ในวิสัยของตนเท่านั้น ไม่สามารถจะแก้ปัญหา ในวิสัยของพระโสดาบันได้ 
พระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระโสดาบันเป็นต้นก็เหมือนกัน ไม่สามารถจะแก้ปัญหา 
ในวิสัยของพระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระสกทาคามีเป็นต้น พระมหาสาวกที่เหลือ 
ไม่สามารถจะแก้ปัญหา ในวิสัยของพระมหาโมคคัลลานะ 
พระมหาโมคคัลลานะไม่ สามารถจะแก้ปัญหา ในวิสัยของพระสารีบุตรเถระได้ 
แม้พระสารีบุตรเถระ ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระพุทธเจ้าได้เหมือนกัน
ในครั้งนั้น มหาชนจึงได้รู้จักพระสารีบุตร ว่า เป็นผู้เลิศทางปัญญา

พระสารีบุตร เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีปัญญามาก ฯ

เอตทัคคบาลี อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐


บั้นปลายชีวิต


ก่อนที่ท่านจะนิพพาน ท่านพระสารีบุตรพิจารณาเห็นว่าอายุสังขารจวนจะสิ้นแล้ว 
ปรารถนาจะไปโปรดมารดา (คือนางสารี) 
ที่ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่และยังมีความขัดเคืองต่อพระพุทธศาสนา
เพราะเหล่าน้องๆของท่านได้หนีเข้ามาบวชจนหมดไร้สืบสกุล 
จึงกราบทูลลานิพพานกับพระพุทธองค์ว่าจะนิพพานที่บ้านเกิด 
เมื่อท่านไปถึงบ้านเดิมแล้ว ได้เกิดปักขันทิกาพาธขึ้นในคืนนั้น 
ในเวลาที่พระสารีบุตรกำลังอาพาธอยู่นั้น 
ท้าวจตุรโลกบาลทั้งสี่ ท้าวสักกะ และท้าวมหาพรหมก็ได้เสด็จลงมาเข้าเยี่ยมท่านเป็นครั้งสุดท้าย 
มารดาได้เห็นเข้าจึงถามพระสารีบุตร เมื่อท่านตอบก็ทำให้มารดาคิดว่า 
บุตรชายคนโตของตนมีอานุภาพมาก 
ขนาดทำให้เหล่าเทวดาและพรหมที่เชื่อว่าเป็นเทพสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ต่างก็มาไหว้ 
และพระพุทธเจ้าที่เป็นพระศาสดาของบุตรชายคนโตของตนจะมีอานุภาพขนาดไหน 
ทำให้จิตของมารดาน้อมไปในทาพระพุทธศาสนา 
พระสารีบุตรก็ได้เทศนาโปรดมารดา จนนางสารีได้บรรลุโสดาบัน 
คืนนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนสิบสอง พระสารีบุตรก็ปรินิพพานในห้องที่ท่านเกิด 
รุ่งขึ้นพระจุนทะ (ผู้เป็นน้อง) ได้ทำฌาปนกิจสรีระพระเถรเจ้า เสร็จแล้วเก็บอัฏฐิธาตุ 
นำไปถวายพระบรมศาสดา ณ วัดเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี 
พระพุทธองค์โปรดให้ก่อเจดีย์ บรรจุอัฏฐิธาตุของพระสารีบุตร ไว้ ณ ที่นั้น

คุณความดีของพระสารีบุตร

พระสารีบุตรท่านมีคุณความดีที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องไว้มากมาย 
ขอยกมาเฉพาะบางเรื่องที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้

พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระสารีบุตรว่า เป็นผู้มีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตด้วยกัน 
ตัวอย่างครั้งหนึ่งที่กรุงเทวทหะ ภิกษุพากันเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ทูลลาจะไปปัจฉาภูมิชนบท 
พระองค์ตรัสให้ไปลาพระสารีบุตร เพื่อท่านสารีบุตรจะได้แนะนำสั่งสอน 
ในการไปของพวกเธอ จะได้ไม่เกิดความเสียหาย

ทรงยกย่องพระสารีบุตรว่าเป็นคู่กับพระมหาโมคคัลลานะ เช่น 
ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด ... 

สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนม ผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วนั้น 
สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนสูงกว่านั้น 
ด้วยเหตุนี้จึงมีคำยกย่องว่า พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา 
และพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย

มีคำเรียกยกย่องพระสารีบุตร อีกอย่างหนึ่งว่า 
พระธรรมเสนาบดี ซึ่งเป็นคู่กับพระบรมศาสดาว่า พระธรรมราชา

พระสารีบุตรเป็นผู้มีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนา คือ 
ชี้แจงแสดงให้ผู้ฟังเข้าใจได้ชัดเจน
ท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที พึงเห็นตัวอย่างได้จาก 
เมื่อท่านได้ฟังธรรมเทศนาที่พระอัสชิแสดง 
ได้ธรรมจักษุแล้วมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา 
ตั้งแต่นั้นมาท่านก็นับถือพระอัสสชิว่า เป็นอาจารย์ทำการเคารพอยู่เสมอ 
แม้ได้ยินข่าวว่าพระอัสชิอยู่ในทิศใด เมื่อท่านจะนอน ท่านจะนมัสการไปทางทิศนั้นก่อน 
แล้วนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น 

อีกตัวอย่างหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรยังราธพราหมณ์ให้อุปสมบท
เพราะระลึกถึงคุณที่ราธพราหทณ์ ได้ถวายบิณฑบาตแก่ท่านเพียงทัพพีเดียว

ก่อนที่ท่านจะนิพพาน มารดาของท่าน(คือ นางสารี)ซึ่งเป็นมารดาของเหล่าพระอรหันต์ทั้งเจ็ดองค์ 
ได้แก่ ท่าน พระจุนทะ พระอุปเสน พระเรวัต พระจาลาเถรี พระอุปจาลาเถรี 
และพระสีสุปจาลาเถรี ที่ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ 
มีความขัดเคืองกับพระพุทธศาสนาที่บรรดาลูกๆต่างพากันหนีไปออกบวชหมดจนไร้สืบสกุล 
ท่านปรารถนาจะไปโปรดมารดาและนิพพานที่นั้น 
ตอนแรกมารดาของท่านก็คิดว่าท่านคงจะมาสึกตอนแก่ 
แต่แล้วมารดาของท่านก็ได้เห็นฤทธานุภาพของบุตรชาย
จากการที่ได้เห็นท้าวจตุรโลกบาลทั้งสี่ พระอินทร์ 
และท้าวมหาพรหมมาเข้าเยี่ยมท่านเป็นครั้งสุดท้าย ทำให้มารดาเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา 
เมื่อได้ฟังธรรมกถาจากพระสารีบุตรก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน 
การที่บุตรได้ชักนำบุพการี ให้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ 
จนได้มรรคผล นับเป็นการตอบแทนคุณอย่างยอดเยี่ยม


เวทนาปริคคหสูตร


เป็นธรรมที่พระพุทธองค์ท่านทรงแสดงแก่ปริพาชกชื่อทีฆนขะ จึงมีชื่อว่าทีฆนขสูตร 
ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ 
และในขณะที่พระองค์ท่านทรงแสดงธรรมอยู่นั้น 
พระสารีบุตรผู้จะได้เป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวาของพระพุทธเจ้า
และเป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามากในภายภาคหน้า 
ก็ได้เข้าเฝ้าถวายงานพัดอยู่ด้วยในขณะนั้น 
จึงได้ฟังธรรมแสดงมาถึง เวทนา 3 ใน เวทนาปริคคหสูตร ด้วย 
จนเกิดสัมมาญาณ จิตหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน
สำเร็จพระอรหันตผลในขณะฟังธรรมนั้นเอง

เวทนาปริคคหสูตร แสดงการเกิดขึ้นของเวทนาอย่างปรมัตถ์ 
กล่าวแสดง ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ และอทุกขมสุขเวทนาอันไม่สุขไม่ทุกข์ 
ว่าล้วนเกิดขึ้นแต่มีเหตุเป็นปัจจัยปรุงแต่งขึ้นทั้งสิ้น 
จึงย่อมล้วนเป็นสังขาร จึงย่อมมีความเสื่อมไป คลายไป สิ้นไป ดับไปเป็นธรรมดา 
ตามความในพระสูตรนี้ อันเป็นสภาวธรรมของสังขารทั้งปวง จึงย่อมเนื่องถึงเวทนาทั้ง 3
จึงย่อมอยู่ภายใต้อำนาจพระไตรลักษณ์หรือธรรมนิยามหรืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
จึงย่อมเป็นเหตุให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิดในกองทุกข์หรือสังสารวัฏ
เพราะการแสวงหาและยึดมั่นในสุขทุกข์(เวทนา)อย่างไม่รู้จักจบ อย่างไม่รู้จักสิ้น
อันเป็นเหตุให้พระสารีบุตรผู้ถวายงานพัดโดยใกล้ชิดและดำริคิดพิจารณาไตร่ตรองตามไปด้วยนั้น 
เกิดสัมมาญาณขึ้นในขณะนั้น จากการได้ปฏิบัติสั่งสมมาก่อนแล้วด้วยนั้น 
จึงเป็นปัจจัยให้เกิดนิพพิทาญาณความหน่าย จึงเป็นปัจจัยให้คลายกำหนัด 
จิตจึงหลุดพ้น สำเร็จอรหัตตผลในบัดนั้น
และในขณะแสดงธรรมเดียวกันนั้นเองท่านทีฆนขะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน 
บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบันเนื่องจากปัญญาเห็นชอบในระดับโลกุตระ 
กล่าวคือ เกิดสัมมาญาณในระดับหนึ่งขึ้น คือมีความเห็นเข้าใจอย่างมั่นคงเกิดขึ้นแล้วว่า

"สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม(สังขาร)มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแล้ว สิ่งนั้นๆทั้งหมดย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา"


ทีฆนขสูตร

[๒๖๙].......(ทรงแสดงธรรมเรื่องทิฏฐิ เรื่องความเชื่อ,ความเห็น เป็นเหตุให้เกิดการวิวาท ทุ่มเถียงกัน ก่อน)......

[๒๗๒] อัคคิเวสสนะ ก็กายนี้มีรูป เป็นที่ประชุมมหาภูตทั้งสี่มีมารดาบิดาเป็น แดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมสดต้องอบและขัดสีกันเป็นนิจ(กายจึง)มีความแตกกระจัดกระจาย เป็นธรรมดา ท่านควรพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น(ทุกบุคคลเขาเรา ด้วยอาทีนวะ) เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตน เมื่อท่านพิจารณาเห็นกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตนอยู่ ท่านย่อมละความพอใจในกาย ความเยื่อใยในกาย ความอยู่ในอำนาจของกายในกายได้.

เวทนาปริคคหสูตร

(แสดงเวทนา 3)

[๒๗๓] อัคคิเวสสนะ เวทนาสามอย่างนี้ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑.

อัคคิเวสสนะ สมัยใดได้เสวยสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น.

ในสมัยใดได้เสวยทุกขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น.

ในสมัยใดได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ได้เสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น.

อัคคิเวสสนะ สุขเวทนาไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัย(จึง)เกิดขึ้น(ได้) (จึงเป็นสังขาร จึง)มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา.

แม้ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา.

แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา.

[กล่าวคือ เวทนาทั้งปวง ล้วนเป็นสังขาร ที่เกิดขึ้นมาแต่มีเหตุหรือสิ่งดังต่อไปนี้ มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันจึงเกิดขึ้นได้ เป็นไปดังนี้

อายตนะภายนอก อายตนะภายใน วิญญาณ๖ ผัสสะ สัญญา เวทนา กล่าวคือ เกิดความรู้สึกเป็นสุข, ทุกข์, อทุกขมสุข อย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น เป็นธรรมดา

เมื่อเป็นสังขารแล้ว จึงย่อมดำเนินเป็นไปภายใต้ธรรมนิยามหรือพระไตรลักษณ์ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือแปรผันได้เลย]

อัคคิเวสสนะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่าย ทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งในอทุกขมสุขเวทนา

เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว

รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว 
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี(อีกแล้ว).

อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับใครๆ

โวหารใดที่ชาวโลกพูดกัน ก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฏฐิ.

[๒๗๔] ก็โดยสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งถวายอยู่งานพัด ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ พระผู้มีพระภาค.

ได้มีความดำริว่า ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคตรัส(ถึง)การละธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญาอันยิ่ง แก่เราทั้งหลาย

ได้ยินว่า พระสุคตตรัส(ถึง)การสละคืนธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญาอันยิ่ง แก่เราทั้งหลาย

เมื่อท่านพระสารีบุตรเห็นตระหนักดังนี้ จิตก็หลุดพ้นแล้ว จากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน

(และ)ธรรมจักษุปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ทีฆนขปริพาชก ว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา.

(แสดงสภาวธรรมหรืออสังขตธรรมว่า สังขารไม่พ้นจากความเป็นอย่างนี้ไปได้ 
ซึ่งเที่ยงแท้ และอกาลิโกไม่ขึ้นกับกาล)

ทีฆนขปริพาชกแสดงตนเป็นอุบาสก

[๒๗๕] ลำดับนั้น ทีฆนขปริพาชกมีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันถึงแล้ว มีธรรมอันทราบแล้วมีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว 
ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า 
ไม่ต้องเชื่อต่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา 
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม 
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม 
ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ 
เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด 
ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด
ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต 
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล.

จบ ทีฆนขสูตร ที่ ๔.


ความจริงที่น่ารู้เกี่ยวกับเวทนา

เพื่อนิพพิทาญาณในเวทนา

สุขเวทนา แม้เป็นสุขหรือสุขยิ่งก็จริงอยู่ แต่ด้วยอนิจจังไม่เที่ยง จึงทุกขังต้องดับไปเป็นอาสวะกิเลส ที่รอวันกำเริบเสิบสานให้เป็นทุกข์อันเจ็บปวดดังต้องศรในภายหน้า กล่าวคือ สุขโดยความเป็นทุกข์ หรือความสุขจึงมีความทุกข์แฝงอยู่ดังนี้

ทุกขเวทนา เจ็บปวดดังต้องศร แต่ต้องมีปัญญาอันยิ่งว่า เป็นเพียงสภาวธรรมของชีวิต มันเป็นเช่นนี้เป็นธรรมดา และล้วนอนิจจังไม่เที่ยง จึงต้องทุกขังดับไปเป็นอาสวะกิเลสก็ตามที แต่สามารถกำเริบเสิบสานให้เป็นทุกข์ดังต้องศรขึ้นอีกได้

อทุกขมสุขเวทนา อันละเอียดอ่อน ด้วยอนิจจังอันไม่เที่ยง จึงแปรปรวนปรุงแต่งจนเป็นสุขทุกขเวทนาในที่สุด แล้วจึงต้องเป็นทุกข์ดังต้องศรขึ้นได้เป็นที่สุดแก่ผู้ที่ประมาท

เมื่อมีชีวิตอยู่ เวทนาทั้งปวงนั้น ไม่เที่ยง จึงไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่น่าหมกมุ่น

เมื่อตายไป เวทนาทั้งปวง อันไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่น่าหมกมุ่นเหล่านี้ จักเป็นความเย็นในโลกนี้ทีเดียว (เคลัญญสูตร)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น