วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พุทธประวัติตอน ๐ อินเดียก่อนยุคพุทธกาล

อินเดียก่อนยุคพุทธกาล (India before Buaddha's time)



อินเดีย เป็นประเทศที่เก่าแก่ที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
เคียงคู่กับจีน อียิปต์ มีอารยธรรมที่เก่าแก่มากมาย ผืนดินแห่งนี้เปรียบเสมือนหัวใจของโลกเพราะที่นี่มีศาสนาเกิดขึ้นหลายศาสนา ผลิตกระแสหล่อเลี้ยงจิตใจประชากรหลายส่วนของโลก ศาสนาที่เกิดในแผนดินส่วนนี้ คือ ศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดูพุทธศาสนา ศาสนาเชน ศาสนาซิกซ์ รวมทั้งลัทธิที่เกิดใหม่เช่น บาไฮ และไสบาบา เมื่อรวมผู้นับถือศาสนาที่เกิดในอินเดีย มีมากถึง 1,500 ล้านคนทั่วโลก คำว่า "อินเดีย" (India) เป็นคำใหม่ ในยุคก่อนพุทธกาลถูกเรียกว่า ชมพูทวีป และภารตประเทศในภาษาสันสกฤต

1. ชมพูทวีป (Jambudvipa)


ชมพูทวีป เป็นชื่อที่คนทั่วไปในสมัยโบราณเรียก อินเดีย อันมีความหมายถึงทวีปต้นหว้า หรือทวีปที่มีสัณฐานดั่งต้น หว้า ในปัจจุบันได้แก่ประเทศทั้ง 4 คือ อินเดีย ปากีสถาน เนปาล และบังคลาเทศ บางช่วงที่กษัตริย์อินเดียเรืองอำนาจ อัฟกานิสถานก็ถูกผนวกเข้ามาด้วย ดังเช่นสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชหรือพระเจ้ากนิษกะ พระเจ้าหรรษวรรธนะ เป็นต้น

ชมพูทวีปอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของไทย 
แต่คำว่าชมพูทวีป กลับไม่เป็นที่รู้จักในอินเดียมากนัก ยกเว้นนักการศึกษาเท่านั้น 
พวกเขาจะรู้จัก คำว่า ภารตะมากกว่าเพราะเป็นชื่อที่มาจากท้าวภารตะ ปฐมวงศ์แห่งราชวงศ์ปาณฑปจากเรื่องมหาภารตะ 
ความจริงคำที่เรียกชื่ออินเดีย มีหลายชื่อ เช่น ภารตะ ฮินดูสถานสินธุสถาน อินเดีย 
คำว่า "อินเดีย" เพี้ยนมาจากคำว่า สินธุ (Sindhu) อันเป็นชื่อแม่น้ำสำคัญทางภาคเหนือของอินเดีย 
ชาวเปอร์เซียพูดเพี้ยนเป็นอินดู ชาวฮอลันดา เรีกอินดัส และอังกฤษเรียกอินเดียตามลำดับ อากาศของชมพูทวีปมีตั้งแต่หนาวที่สุดในเขตเหนือ โดยเฉพาะเทือกเขาหิมาลัย จนถึงแห้งแล้งที่สุด ในเขตทราย รัฐราชสถาน ดังนั้นแต่ละภาคจึงมีอากาศไม่เท่ากัน 
ด้วยความที่ใหญ่โต จนกล่าวได้ว่าเป็นทวีปเล็ก ๆ (Subcontinent) ทวีปหนึ่ง อินเดียเป็นประเทศที่เคยเจริญรุ่งเรืองมายาวนาน เทียบเคียงได้กับอีหยิปต์และจีนหลักฐานทางราณคดีที่ค้นพบมีหลายแห่งเช่น ซากโบราณสถานเมืองโมเหนโจ ตาโร ที่แคว้นสินธุ 
และมหัปปะที่แคว้นปัญจาปในปากีสถาน ซึ่งมีอายุเก่าแก่ราว 3,500 ปีก่อนพุทธกาล

การปกครองของชมพูทวีปแบ่งการปกครองออกเป็น 2 ระบบ คือ

  1. รูปแบบการปกครองส่วนกลาง เรียกว่า มัชฌิมชนบท โดยเป็นการเปรียบเสมือนการปกครองส่วนกลางของประเทศไทย 
  2. รูปแบบการปกครองส่วนหัวเมืองชั้นนอก เรียกว่า ปัจจันตชนบท เปรียบเสมือนการปกครองส่วนภูมิภาคของประเทศไทย อีกทั้งมีการใช้หลักอปริหานิยธรรมซึ่งจะเน้นเรื่องความสามัคคีเป็นหลัก

ชมพูทวีปยุคก่อนและยุคพุทธกาลแบ่งแคว้นออกเป็น 16 แคว้นใหญ่ ๆ 
ตามที่ปรากฏในอุบาลีอุโบสถสูตร ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย คือ


  1. อังคะ 
  2. มคธะ 
  3. กาสี 
  4. โกศละ 
  5. วัชชี 
  6. มัลละ 
  7. เจตี 
  8. วังสะ 
  9. กุรุ 
  10. ปัญจาละ
  11. มัจฉะ 
  12. สุรเสนะ 
  13. อัสสกะ 
  14. อวันตี 
  15. คันธาระ 
  16. กัมโพชะ 
และมีแคว้นเล็กๆ อีก 5 แคว้นคือ สักกะ โกลิยะ ภัคคะ วิเทหะ และอังคุตตราปะ

แคว้นพระบิดาของพระพุทธองค์ก็อยู่ในแคว้นเล็ก ๆ นี่อาณาจักรเหล่านี้ปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือพระราชามีอำนาจเด็ดขาดบ้าง ระบบสามัคคีธรรม คือมีสภาเป็นที่ปรึกษาบ้าง ระบบประชาธิปไตยบ้าง แต่ส่วนมากจะเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยเหตุที่พุทธศาสนาถือกำเนิดในแผ่นดินอินเดีย จึงควรจะได้ศึกษาภูมิหลังของอินเดียในยุคก่อนการกำเนิดของพุทธศาสนาพอสังเขป ดังนี้

ชนชาติที่เชื่อกันว่า เป็นชนชาติดั่งเดิมของอินเดีย คือ 
เผ่าซานโตล (Santole) มุนดา (Mundas) 
โกลาเรีย (Kolaria) ตูเรเนียน (Turanians) ดราวิเดียน (Dravidians)
คนพวกนี้เป็นพวกผิวดำจำพวกหนึ่ง 
ปัจจุบันพวกเขายังพอหลงเหลืออยู่ที่รัฐพิหาร และเบงกอลของอินเดีย

2. การมาของชาวอารยัน (The Aryans)

ต่อมาพวกมิลักขะ หรือ ดราวิเดียน (Dravidian) 
ที่มีความเจริญมากกว่าเผ่าเดิมก็ได้อพยพเข้ามาสู่อินเดีย 
ชนพวกนี้ได้ขยายตัวสู่ภาคใต้กลายเป็น พวกทมิฬ (Tamil) เตุลุคุุ (Teluku) 
มาลาบาร์ (Malabar) และ กนะริส (Kanarise) เป็นต้น 
คำว่ามิลักขะ แปลว่า เศร้าหมอง หรือมีผิวดำ

และต่อมาเมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว 
ชนชาติอารยัน (Aryans) ซึ่งเดิมกล่าวกันว่ามาจากเอเซียกลาง 
ก็อพยพเข้าสู่อินเดีย การย้ายถิ่นของชาวอารยันแบ่งออกเป็น 2 สาย คือ 
สายแรกไปสู่ยุโรปกลายเป็นชาวอารยันยุโรปในปัจจุบัน 
สายที่สองมุ่งสู่ทิสตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งรกรากแถวทะเลสาบแคชเบี้ยนในปัจจุบัน 
ต่อมาพวกเขาจึงแยกออกเป็นสองสาย คือ
สายหนึ่งไปสู่ตะวันออกกลางกลายเป็นชาวอารยันเปอร์เซีย
และอีกเผ่ามุ่งตรงสู่อินเดียตั้งรกรากแถวแม่น้ำสิทธุตอนบน 
ลักษณะทั่วไป ของชาวอารยันคือผิวขาว ร่างกายสูงใหญ่ จมูกโด่งศีรษะค่อนข้างยาว 
ผมสีอ่อน หน้าตาได้สัดส่วน หน้าตาจึงออกไปทางฝรั่งชาวยุโรป 
สังคมชาวอารยันยุคแรก ๆ ประกอบด้วยนักรบ สามัญชน พ่อค้า นักบวช ทาส

เนื่องจากอารยันซึ่งแปลว่าเจริญรุ่งเรืองเป็นชนชาติที่เจริญมากกว่า
มีความชำนาญในการขี่ม้า ใช้หอกและดาบ เป็นอาวุธสำหรับทำการรบมากกว่า
จึงเอาชนะชนพื้นเมืองสองเผ่าเบื้องต้นได้ 
และผลักดันพวกเขาสู่ภาคใต้ 
ต่อมาพวกเขาจึงเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างฉันมิตร
และมีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ กลายมาเป็นชนส่วนมากของอินเดียปัจจุบัน

แม้ ในด้านการปกครองระยะนี้จะตกอยู่ในอำนาจของชาวอารยันผู้มาใหม่ 
แต่ด้านวัฒนธรรมด้านศาสนากับมีการผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น
พวกมิลักขะเป็นชนเผ่าที่เคารพบูชาธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ภูเขา ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นต้น
โดยถือว่ามีเทพสิงสถิตย์อยู่ทุกแห่งหน สามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้อ้อนวอนบวงสรวงได้ 
พวกอารยัน ก็มีความเชื่อถือในธรรมชาติ เช่นกัน เช่นพระอาทิตย์ ดวงจันทร์ดวงดาว ท้องฟ้า เมฆหมอก พายุ เป็นต้น โดยถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพระเจ้าของตน 
เมื่อพวกอารยันเข้ามาตั้งรกราก 
ชนทั้งสองจึงมีการผสมผสานเข้ากันกลายมาเป็นศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูดังเช่นปัจจุบัน

3. ศาสนาพราหมณ์ (Brahmanism)

เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่มีวิวัฒนาการมาพร้อมกับการมาของชาวอารยันราว 4,000 ปีมาแล้ว
ในชั้นต้นพวกอารยันนับถือภูติผีปีศาจ อำนาจต่างๆ ทางธรรมชาติที่ไม่สามารถอธิบายได้ 
ต่อมาการนับถือธรรมชาติต่าง ๆ จึงพัฒนามาสู่การทำรูปเคารพ และเทพีต่าง ๆ มากมาย เช่น
พระอินทร์ พระวิรุฬ พระอัคนี เป็นต้น

ลัทธิความเชื่อเหล่านี้เองที่ได้พัฒนาการมาเป็นศาสนาพราหมณ์ 
เป็นศาสนาที่ไม่มีศาสดาเป็นผู้ก่อตั้งเหมือนหลาย ๆ ศาสนา 
ปัจจุบันเรียกว่าศาสนาฮินดู (Hinduism) 
มีผู้นับถือทั่วโลกเกือบ 800 ล้านคนทั้งอินเดีย,เนปาล และบางส่วนของอินโดนีเซีย

เมื่อชาวอารยันเข้ามาตั้งรกรากในชมพูทวีปแล้ว ก็ได้รวบรวมคำสอนคำอ้อนวอนของตนขึ้นเป็นครั้งแรกเป็นภาษาสันสกฤต 
เรียกว่า พระเวท(Veda) ซึ่งแปลว่าความรู้ คัมภีร์ 
ที่แต่งขึ้นครั้งแรกเรียกว่า ฤคเวค (Rigveda)
ต่อมาจึงได้เรียบเรียงคัมภีร์เพิ่มเติมตามลำดับคือ 
ยชุรเวท(Yajurveda) สามเวท (Samveda) อาถรรพเวท (Atharveda) 
แต่ทั้งสี่คัมภีร์นี้มีลักษณะแตกต่างกันดังนี้

  1. ฤคเวท (Rigveda) เป็นคัมภีร์ที่เกี่ยวเนื่องกับบทสวดต่าง ๆ เพื่อสรรเสริญพระเจ้า , ฤทธิ์เทวะและ ธรรมชาติ กล่าวถึงการสร้างโลก เป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุด มีบทสวดถึง 1,028 บท
  2. ยชุรเวท (Yajureda) เป็นคัมภีร์ที่เกี่ยวกับบทร้อยกรองบวงสรวงต่าง ๆ ใช้ในพิธีการบูชายัญที่เรียกว่า ยัญพิธีในทางศาสนา
  3. สามเวท (Samveda) เป็นคัมภีร์ที่เกี่ยวกับกลศาสตร์รวมทั้งสังคีตเป็นคัมภีร์บทสวดมนต์ สำหรับประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของประชาชนทั่ว ๆไป
  4. อาถรรพเวท (Atharvaveda) เป็นคัมภีร์ที่เกี่ยวกับเวทมนต์ คาถาต่าง ๆ ที่เน้นไปในทางไสยศาสตร์

ต่อมาคัมภีร์ทั้งสี่ได้กลายมาเป็นคัมภีร์สำคัญของศาสนาฮินดู เป็นศาสนาที่รวมพระเจ้าในทุกสิ่งอย่างจึงปรากฏว่ามีพระเจ้ามากมาย เช่น
พระอัคนี (ไฟ) พระโสม (จันทร์) พระอินทร์ พระอาทิตย์ พระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์ 
พระวิษณุ พระกฤษณะ พระราม และพระพิฆเณศ เป็นต้น


นิกายศาสนาฮินดู (Hindu Sects)


ศาสนาฮินดู ที่สืบเนื่องจากศาสนาพราหมณ์นับเป็นศาสนาที่เก่าแก่มากที่สุด สำหรับศาสนาที่มีคนนับถือปัจจุบันได้แบ่งออกเป็นหลายนิกายที่สำคัญคือ

  1. นิกายไวศณพ (Vishnav) เป็นนิกายที่นับถือพระวิษณุเจ้าเป็นเทพองค์สูงสุด เชื่อว่าวิษณุสิบปาง หรือนารายณ์ 10 ปางอวตารลงมาจุติ มีพระลักษมีเป็นมเหสี มีพญาครุฑเป็นพาหนะ นิกายนี้มีอิทธิพลมากในอินเดียภาคเหนือและภาคกลาง ของประเทศ นิกายนี้เกิดเมื่อ พ.ศ. 1300 สถาปนาโดยท่านนาถมุนี (Nathmuni)
  2. นิกายไศวะ (Shiva) เป็นนิกายที่เก่าที่สุด นับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด พระศิวะเป็นเทพทำลายและสร้างสรรค์ด้วย สัญลักษณ์ อย่างหนึ่งแทนพระศิวะคือศิวลึงค์และโยนีก็ได้รับการบูชา เช่น องค์พระศิวะ นิกายนี้ถือว่าพระศิวะเท่านั้นเป็นเทพสูงสุดแม้แต่พระพรหม, พระวิษณุก็เป็นรองเทพเจ้าพระองค์นี้ นิกายนี้เชื่อว่าวิญญาณเป็นวิถีทางแห่งการหลุดพ้นมากกว่าความเชื่อในลัทธิ ภักดี นิกายนี้จะนับถือพระศิวะและพระนางอุมาหรือกาลีไปพร้อมกัน
  3. นิกายศักติ (Shakti) เป็นนิกายที่นับถือพระเทวี หรือพระชายาของมหาเทพ เช่น สรัสวดี พระลักษมี พระอุมา เจ้าแม่ทุรคา และเจ้าแม่กาลีซึ่งเป็นชายาของมหาเทพทั้งหลาย เป็นผู้ทรงกำลังหรืออำนาจของเทพสามีไว้ จึงเรียกว่า ศักติ (Power) นิกายนี้เป็นที่นิยมในรัฐเบงกอล และรัฐอัสสัม เป็นต้น
  4. นิกายคณะพัทยะ (Ganabadya) นิกายนี้นับถือพระพิฆเณศเป็นเทพเจ้าสูงสุด พระพิฆเณศเป็นเทพเจ้าแห่งความกล้าหาญและฉลาด สุขุม มีเศียรเป็นช้าง รูปร่างเล็กอ้วน สมบูรณ์ แต่ร่าเริง นิกายนี้มีผู้นับถือน้อย แม้แต่ในอินเดียเอง
  5. นิกายสรภัทธะ (Sarabhadh) เป็นนิกายขนาดเล็ก ในสมัยก่อนบูชาพระอาทิตย์ (สูรยะ) มีผู้นับถือมากในอดีต ปัจจุบันมีจำนวนน้อย นิกายนี้มีพิธีอย่างหนึ่งคือ กายตรี ถือว่ามีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ คือการกลับมาของพระอาทิตย์เป็นฤๅษีวิศวามิตร
  6. นิกายสมารธะ (Samardha) เป็นนิกายที่ใหญ่พอสมควร นับถือทุกเทพเจ้าทุกพระองค์ในศาสนา ฮินดู ความเชื่อแบบนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เพราะสามารถบูชาเจ้าได้ตามต้องการ

4. อาศรม 4 (Four Ashrams)


คำว่า อาศรม (Ashrams) ในความหมายโดยทั่วไป หมายถึงที่อยู่อาศัยของนักบวชหรือดาบส แต่ในที่นี้หมายถึง ช่วงระยะเวลาของชีวิตที่ต้องปฏิบัติตาม คนในวรรณะสูงทั้งสามคือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ (เว้นศูทร) ต้องปฏิบัติตามอาศรม 4 อย่างนี้คือ

  1. พรหมจารี คือช่วงชีวิตสำหรับการศึกษาเล่าเรียน เพื่อนำความรู้มาแสวงหาทรัพย์ สมบัติ ทางโลก บุคคลที่อยู่ในอาศรมคือพรหมจารีต้องปฏิบัติตามคำสั่งสอนอย่างเคร่งครัด
  2. คฤหัสถ์ คือช่วงหาความสุขทางโลก มีครอบครัว มีบุตรธิดา แสวงหาทรัพย์สมบัติ ประกอบยัญพิธี และรับผิดชอบต่อชุมชน บุคคลที่อยู่ในช่วงนี้คือคฤหัสถ์
  3. วนปรัตถ์ คือ ช่วงที่จะต้องปล่อยว่างวิถีชีวิตคฤหัสถ์แล้วหันมาปฏิบัติธรรม ทำตนให้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรรม โดยการออกไปพำนักอยู่ในอาศรมในป่า บำเพ็ญตบะและข้อปฏิบัติอื่นๆ ทางศาสนาอย่างเคร่งครัด เรียกว่า วนปรัตถ์
  4. สันยาสี คือการปฏิบัติเพื่อบรรลุโมกษะ อันเป็นจุดหมายของชาวฮินดู เป็นช่วงที่สละทุกอย่างเหลือแต่ผ้านุ่งกับภาชนะสำหรับภิกขาจารและหม้อน้ำ เที่ยวจาริกทั่วไป บุคคลที่อยู่ในอาศรมนี้เรียกว่า สันยาสี
ทั้งสี่อาศรมนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอัตถะ กามะ ธรรมะ และโมกษะ

5. วรรณะทั้ง 4 (4 Castes)


ชนชาวอารยันนับเป็นชนชาติเดียวในโลกที่แบ่งคนออกเป็น 4 วรรณะตามความเชื่ออย่างเคร่งครัด ทั้งนี้สืบเนืองมาจากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ดั่งเดิม วรรณะทั้ง 4 คือ

  1. กษัตริย์ (Kshatriya) เกิดจากอกของพระพรหม ถือว่าสืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์ มีเครื่องแต่งกายสีแดง เป็นชนชั้นปกครองหรือนักรบ ปัจจุบันวรรณะนี้เป็นบุคคลทั่วไป ไม่จำเป็นว่าต้องกษัตริย์เสมอไป
  2. พราหมณ์ (Brahmana) เกิดจากพระโอษฐ์ของพระพรหม มีเครื่องแต่งกายประจำคือสีขาว อันแสดงถึงความบริสุทธิ์ มีหน้าที่กล่าวมนต์ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้แก่ผู้คนโดยทั่วไป เป็นพวกศึกษาเล่าเรียน คัมภีร์พระเวท เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า
  3. แพศย์ (Vaishaya) เกิดจากตะโพก (บางแห่งว่าจากตัก) ของพระพรหม มีเครื่องแต่งกายประจำคือสีเหลือง เป็นพวกแสวงหาทรัพย์สมบัติจัดเป็นพวกพ่อค้า วาณิช ทำเกษตรกรรม เป็นพลเรือนโดยทั่วไป
  4. ศูทร (Sudra) เกิดจากฝ่าเท้าของพระพรหม มีเครื่องแต่งกายคือสีดำหรือสีอื่น ๆ ที่ไม่มีความสดใส เป็นกรรมกร มีอาชีพชั้นต่ำ เป็นที่ดูถูกในสังคม และยังมีวรรณะพิเศษอีกพวกที่ไม่ถูกจัดเข้าพวกนั้นคือจัณฑาลหรืออธิศูทร (Adhisudra) หรือหริชน เป็นวรรณะที่ต่ำต้อยที่สุดที่ไม่ได้รับอภิสิทธิ์ใด ๆ จากสังคม มีสถานะต่ำยิ่งกว่าสัตว์เสียเอีก พวกวรรณะจัณฑาลกล่าวกันว่ามาจากพวกที่แต่งงานข้ามวรรณะลูกที่ออกมาจึงกลายเป็นจัณฑาล ทฤษฎีนี้ไม่ถูกต้องเสมอไป มีอีกมากมาย ที่คนแต่งงานข้ามวรรณะแล้วก็ยังมีหน้ามีตาทางสังคม ปัจจุบันวรรณะนี้มีหลายร้อยล้านคนในอินเดีย

6.สำนักปรัชญาทั้ง 6 (6 Theories)


  1. ลัทธิเวทานตะ (Vedanta) ลัทธินี้แปลว่า ตอนสุดท้ายแห่งพระเวท โดยแสดงว่าความจริงอย่างแท้จริงมีอยู่สิ่งเดียวคือปรมาตมัน ๆ แตกตัวจากอาตมันคือวิญญาณของบุคคล มันสิงอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน เพียงแต่เขาอาจจะไม่ทราบเท่านั้น หลักการนี้พุทธศาสนามหายานก็นำไปใช้ โดยกล่าวว่ามนุษย์ทุกคนมีธาตุแห่งความเป็นพุทธะอยู่แล้วในตัวทุกคน ลัทธินี้เป็นระบบปรัชญาที่เกิดจากอุปนิษัท โดยอุปนิษัทเรียกร้องศรัทธา เวทานตะเรียกร้องเหตุผลจากมนุษย์ ปรัชญาหลักของเวทานตะคือ ความไม่รู้เท่าทันความจริงที่ว่า จิตของเราแต่ละคนเป็นอาตมัน เป็นอย่างเดียวกับจิตของพรหมคือ ปรมาตมัน คนเราจึงกระทำกรรมถือกรรมต่าง ๆ เป็นตัวตนของเขา ดังนั้นจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกนี้ เมื่อใดกำจัดอวิชชา ความไม่รู้ไห้หมดไปแล้วอาตมันจะเข้าร่วมกับปรมาตมัน คนที่สำเร็จจะกลายเป็นพรหม ลัทธินี้รวบรวมโดยอวยาส
  2. ลัทธินยายะ (Nyaya) แปลว่าเข้าไปในธรรม เป็นหลักการค้นคว้าหาความจริงอย่างอนุมานและพิจารณาเรื่องทุกข์ ชาติ พฤติกรรมโทษพร้อมทั้งอวิชชา ซึ่งนยายะสอนให้เปลื้อง ตั้งแต่ปลายไปหาต้น แล้วจะบรรลุความหลุดพ้น วาตสยายนะ อาจารย์สอนชื่อดังของลัทธินี้กล่าวว่า "อวิชชา คือ ความไม่รู้นำมาซึ่งความเกาะเกี่ยว ความแห้งแล้ง ความริษยา ความเห็นผิดความประมาท อหังการและความโลภตามลำดับ บุคคลผู้มีอวิชชา ย่อมประกอบประทุษกรรมต่าง ๆ มีการลักขโมย ประพฤติผิดในกาม เป็นต้นนี้เป็นอกุศลทั้งสิ้น บุคคลใดมีความประพฤติดีรู้จักให้ทาน มีความเมตตากรุณา มีความสัตย์ บำเพ็ญประโยชน์ พูดจามีสาระย่อมได้ชื่อว่าประกอบกุศลกรรม การเกาะเกี่ยวชีวิต ทำให้มีการเกิดและนำมาซึ่งความทุกข์ อุปมาว่าอาหารที่คลุกเคล้าด้วยน้ำผึ้งและยาพิษก็ควรทิ้งไปให้หมดเพราะเป็น สุขที่เจือด้วยทุกข์" ลัทธินี้รวบรวมโดยท่านฤๅษีโคตมะ ซึ่งมีชื่อพ้องกับพระพุทธเจ้าและหลักคำสอนก็คล้ายคลึงอย่างมาก
  3. ลัทธิไวเศษิกะ (Vaisesika) ลัทธินี้สอนว่าโลกเกิดจากพลังอันมองไม่เห็นที่สืบมาจากกรรมในภพก่อน แต่ก็มีจิตอันยิ่งใหญ่ที่สุดคือปรมาตมันเป็นใหญ่อยู่ในสากลโลก จิตอันยิ่งใหญ่นี้แยกเป็นวิญญาณ ส่วนบุคคลเรียกว่าชีวาตมัน ปรมาตมันเป็นอมตะ ไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีการทำลายแตกดับแผ่ซ่านทั่วไปโดยปราศจากรูปร่างและเป็นผู้สร้างสากลโลก ขึ้นก่อตั้งโดยกณาทะ
  4. ลัทธิสางขยะ (Sankhya) มาจากคำว่าสังขยา แปลว่าการนับก่อตั้งโดยกบิลมุนี เป็นลัทธิที่มีอิทธิพลมากพอสมควรในยุคก่อนพุทธกาล แนวปรัชญาของลัทธินี้อยู่ในประเภททวินิยม คือสองส่วนโดยชี้ให้เห็นว่าปุรุษะถูกขังอยู่ในประกฤติ จึงได้ประกอบกรรมอันนำมาซึ่งความทุกข์ เมื่อทราบดังนี้แล้วจึงต้องพยายามหาทางถอนวิญญาณของตนออกจากวัตถุธาตุทั้ง มวล เพื่อเข้าร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิญญาณสากล หรือปรมาตมันต่อไป
  5. ลัทธิโยคะ (Yoga) ก่อตั้งโดย ฤๅษีตัญชลี ในยุคต้นฝึกบำเพ็ญตบะ โดยหวังไปทางโลกิตสุข ต่อมาฝึกเน้นหนักไปในทางทำจิตให้สะอาดเพื่อจะได้รวมกับพระพรหมในโอกาสต่อไป คำว่าโยคะแปลว่าการดับพฤติของจิต หรือสกัดกั้นความเคลื่อนไหวของจิต ลัทธินี้ให้หลักการไว้ว่า จิตมักจะแสดงอาการให้เห็น 4 ลักษณะ คือ 1. พุทธะ ความเข้าใจหรือแน่วแน่ 2. จิตความตริตรอง 3. สมฤติ ความระลึกทรงจำ 4. อหังการ ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ จิตมีฤติ 4 ประการ คือ 1.ประมาณความวิปลาส 2.ความสมมติผิด 3.ความหลับและ 4.ความระลึกความทรงจำ วิธีการของโยคะคือบังคับการระบายและตั้งลมหายใจเข้าออก เพ่งบางส่วนของร่างกายให้เกิดสมาธิ ต้องมีความข่มการดิ้นรนให้หมดไป โดยตั้งใจเพ่งพระอิศวรเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นบุรุษหรืออาตมัน อันพ้นแล้วจากกรรมหรือความเสื่อมเสียทั้งปวง มีทางเข้าถึงโยคะ 8 สาย การปฏิบัติโยคะนี้ต้องปฏิบัติเป็นขั้น ๆ ไป และจะเกิดความสำเร็จเป็นขั้น ๆ เช่นกัน บางครั้งอาจเกิดมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ขึ้นมา ซึ่งเป็นผลพลอยได้ แต่เป้าหมายที่แท้จริงก็เพื่อการดับพฤติของจิต ปัจจุบันลัทธินี้ยังคงแพร่หลาย แม้ในเมืองไทยเราเอง ก็มีการเปิดหลักสูตรโยคะอยู่ทั่วไป
  6. ลัทธิมิมางสา (Mimamsa) ลัทธินี้มีหลักคล้ายโยคะมาก ผิดกันเฉพาะตอนที่สอนให้ทำพิธีต่าง ๆ ไม่ได้สอนให้ใช้การเพ่งด้วยการคิดอันเป็นหลักของโยคะ ก่อตั้งโดยไชมินิ จึงไม่มีความสำคัญมากนัก

7. ครูทั้ง 6 (6 Gurus)


ลัทธิครูทั้ง 6 เป็นลัทธิที่มีมาก่อนยุคพุทธกาลเล็กน้อยและบางท่านร่วมสมัยกับพระพุทธองค์มีประวัติไม่
ชัดเจนมากนัก หลักฐานที่ได้มาจากพระไตรปิฎิกเป็นหลักโดยทั้ง 6 ท่านต่างเป็นคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงพอสมควร แต่ที่ดังมากที่สุดจนถึงปัจจุบันคือ นิครนถ์นาฏบุตร หรือมหาวีระ ศาสดาของศาสนาเชน ซึ่งจะได้กล่าวย่อ ๆ แต่ละลัทธิดังนี้

1. ลัทธิปูรณะกัสสปะ (Purana Kassapa)

ท่าน นี้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งในบรรดาครูทั้ง 6 ในหนังสือสุมัคลวิลาสินีของพระพุทธโฆษาจารย์ปราชญ์ผู้เรืองนามราวพุทธศตวรรษ ที่ 10 กล่าว่า ท่านผู้นี้เกิดในตระกูลวรรณะพราหมณ์ โตขึ้นออกบวชแบบลัทธินิยมการนุ่งลมห่มฟ้า หรือเปลือย ในวัยเด็กเป็นคนรับใช้ในตระกูลที่มีคนรับใช้ 99 คน รวมบูรณะอีกคนหนึ่งเป็น 100 พอดี แต่มีบางมติแย้งว่า คำว่าปูรณะมาจากการบรรลุโพธิญาณมากกว่า เป็นเรื่องยากที่คนวรรณะพราหมณ์จะลดตัวมาเป็นเด็กรับใช้ ท่านผู้นี้มีคำสอนที่ว่า "วิญญาณนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ทำงานอะไร แต่ร่างกายต่างหากทำงาน วิญญาณจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลบุญและบาปที่ร่างกายทำไว้และกล่าวว่า บุญไม่มี บาปไม่มี ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว ทำเองก็ดีให้ผู้อื่นทำก็ดี ย่อมไม่มีผล สิ่งใดก็ตามที่ได้ทำลงไปแล้วดีก็ตาม ชั่วก็ตามเท่ากับว่าไม่ได้ทำไม่มีบุญหรือบาปเกิดขึ้น ทฤษฎีนี้เรียกว่า อกริยทิฏฐิ คือการกระทำที่ไม่มีผล หรือไม่เชื่อไม่เชื่อในผลของกรรม" ซึ่งค้านกับคำสอนของพระพุทธองค์ที่กล่าวว่า กายกับจิตเป็นสิ่งที่เนื่องถึงกัน แยกกันไม่ได้ ทำกรรมเช่นใดย่อมได้รับผลกรรมเช่นนั้น

2. ลัทธิมักขลิโคสาล (Magghalikosala)

ท่านผู้นี้เป็นบุตรพราหมณ์มักขลิ มารดาชื่อภัททา ณ หมู่บ้านสาลวัน ใกล้เมืองสาวัตถี พระพุทธโฆษาจารย์ กล่าวว่า คำว่าโคสาละ แปลว่าผู้เกิดในคอกวัว สมัยเป็นเด็กเป็นคนรับใช้ วันหนึ่งเดินอุ้มหม้อน้ำมันไปตามถนน ด้วยความประมาทจึงลื่นล้ม เจ้านายจึงกล่าวเตือนว่า มา ขลิ แปลว่า อย่าลื่น จึงได้ชื่อว่ามักขลิ ตั้งแต่นั้นมา แต่ทฤษฎีนี้ก็มีผู้แย้งว่าเป็นไปได้ยากที่ที่คนวรรณะพราหมณ์จะลดตัวเป็นคนใช้ ยิ่งในสมัยก่อนพุทธกาล วรรณะยังเข้มข้นอยู่

ลัทธิ นี้มีความเกี่ยวเนื่องกับศาสดา คือปารศวนาถต้นกำเนิดศาสนาเชน และเคยเป็นอาจารย์ของนิครนถ์นาฏบุตรมาก่อน ลัทธินี้มีชีวิตอย่างสกปรก ไม่ยอมรับอาหารที่เขาเจาะจงถวาย ไม่รับอาหารขณะมีสุนัขอยู่ข้าง ๆ หรือแมลงวันตอมอยู่เพราะถือว่าเป็นการแย่งความสุขของผู้อื่นไม่รับประทานปลา เนื้อ ไม่ดื่มสุราและของมึนเมา ไม่สะสมข้าวปลาอาหาร ยามข้าวยากหมากแพง

ลัทธิมีคำสอนว่า
"สัตว์ทั้งหลาย ต้องฟื้นคืนชีพมาอีกไม่สูญหายไปจากโลกนี้และมีภพที่ไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลงไม่ ว่าภพชั้นต่ำหรือสูง สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย การกระทำไม่มี ผลของการกระทำไม่มีการกระทำที่เป็นเหตุเศร้าหมองไม่มี ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับความ บังเอิญและโชควาสนาและอำนาจของดวงดาว การกระทำทุกอย่างอยู่ภายใต้ชะตากรรม อำนาจของดวงดาวมีอำนาจเหนือสิ่งใดในพิภพ แม้แต่พระเจ้ายังตกอยู่ในอำนาจของโชคชะตา ด้วยคำสอนแบบนี้มักขลิโทศาลจึงจัดเข้าในเจ้าลัทธิอเหตุกทิฏฐิ คือมีความเห็นว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สิ่งทั้งหลายเป็นมาของมันเอง โดยมันเองและเพื่อมันเองไม่มีใครสร้างและปรุงแต่ง"

แนวคำสอนนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่าไร้ประโยชน์ที่สุดในบรรดาลัทธิทั้งหลาย ลัทธินี้สืบต่อกันมาไม่นานก็ขาดหายไป

3. ลัทธิอชิตเกสกัมพล (Ajita kesakambala)

ลัทธินี้ก่อตั้งโดยท่านอชิตเกสกัมพลเป็นผู้มีชือเสียงก่อนพุทธกาลเล็กน้อย คำว่า เกสกัมพล แปลว่า ผู้มีผ้านุ่งผ้าห่มที่ทำด้วยผม เป็นผ้าที่หยาบและน่าเกลียด มีแนวความคิดที่รุนแรงคัดค้านทุกลัทธิรวมทั้งพุทธศาสนา

ลัทธินี้สอนว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างขาดสูญ ไม่มีคนไม่มีสัตว์ ไม่มีมารดา บิดา ทำอะไรก็สักว่าแต่ทำเท่านั้นการบูชาบวงสรวงก็ไร้ผล การเคารพนับถือผู้ควรเคารพก็ไร้ผล โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี สัตว์ตายแล้วขาดสูญ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อตายแล้วก็จบที่ป่าช้า ไม่มีอะไรเกิดอีก บาปบุญคุณโทษไม่มี การทำบุญคือคนโง่ การแสวงหาความสุขจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ความสุขที่ได้มาจาก การปล้นสะดมภ์ ย่องเบา เผาบ้านสังหารชีวิตก็ควรทำ"

ลัทธินี้ หนักไปในทางวัตถุนิยมยิ่งกว่าลัทธิใด เป็นลักษณะอุจเฉททิฏฐิ ที่เชื่อว่า ตายแล้วขาดสูญ

4. ลัทธิปกุธกัจจายนะ (Pakudha Kacchayana)

ลัทธินี้ก่อตั้งโดยปกุธกัจจายนะ หนึ่งในคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง เล่ากันว่าเกิดในตระกูลพราหมณ์ สมัยเด็กมีความสนใจทางศาสนาเป็นอย่างยิ่ง โตขึ้นจึงออกบวชแสวงหาโมกขธรรม จนบรรลุธรรมที่มุ่งหวัง แล้วสั่งสอนจนกลายเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียง

ลัทธินี้สอนว่า "สภาวะที่แยก หรือทำให้แปรเปลี่ยนไปไม่ได้อีก มี 7 อย่างคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สุข ทุกข์ วิญญาณ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำหรือใครเนรมิตร เป็นสภาพที่ยั่งยืนั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่อาจให้สุข ทุกข์ ผู้ฆ่า ผู้ถูกฆ่า บาปกรรมจากการฆ่าจึงไม่มี เป็นแต่เพียงสภาวะที่แทรกเข้าไปวัตถุทั้ง ๗ เท่านั้น" ความเห็นของปกุธกัจจายนะจึงจัดเป็นสัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าโลกเที่ยง ซึ่งเป็นแนวคำสอนที่ตรงกันข้ามกับพุทธศาสนา

5. สัญชัยเวลัฏฐบุตร (Sanjaya Velatthaputra)

ท่านสัญชัย เป็นคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระอัครสาวกคือ พระโมคคัลลานะและพระสารีบุต รก็เคยอยู่กับท่าน เป็นเจ้าลัทธิของพวกปริพพาชก ตั้งสำนักเผยแพร่ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ชาวมคธเป็นจำนวนมากต่างนับถือในเจ้าลัทธินี้

แต่เมื่อพระอัครสาวกทั้งสองผละหนีไปพร้อมลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก จึงกระอักเลือดจนถึงมรณกรรม ท่านสัญชัยมีแนวคำสอนกลับกลอก เอาแน่นอนไม่ได้ ไม่สามารถบัญญัติอะไรตายตัวอะไรออกไปได้ เพราะกลัวผิดบ้าง ไม่รู้บ้าง โดยคำสอนว่า "ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ มีก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง โลกนี้โลกหน้าไม่มีจะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ จะว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีทั้งสองอย่าง วิญญาณไม่มี จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ มีก็ไม่ใช่ ไม่ใช้ทั้งสองอย่าง"

ทฤษฎีของท่านสัญชัยจึงฟังยากจะเอาแน่ เอานอนไม่ได้ พูดซัดส่ายเหมือนปลาไหล ในกรตังคสูตร จึงกล่าวประณามว่า เป็นลัทธิคนตาบอด ไม่สามารถนำตนและผู้อื่นให้เข้าถึงความจริงได้ มีปัญญาทราม โง่เขลาไม่กล้าตัดสินใจใด ๆ ได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากไม่รู้จริงอย่างถ่องแท้

6. นิครนถ์นาฏบุตรหรือศาสดามหาวีระ (Mahavira)

ก่อนพุทธกาลราว 43 ปี นิครนถ์นาฏบุตร หรือมหาวีระ (Mahavira) ก็ได้ก่อตั้งลัทธิศาสนาหนึ่งขึ้น ซึ่ง ปัจจุบันเรียกว่า ศาสนาเชน ท่านนิครนถ์นาฏบุตร นับเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในบรรดาครูทั้ง 6 ตำนานกล่าวว่าเกิดที่กุณฑคาม เมืองไวสาลี แคว้นวัชชีของพวกเจ้าลิจฉวี บิดานามว่าสิทธัตถะหรือสิทธารถะ เป็นกษัตริย์ลิจฉวีพระองค์หนึ่ง มารดาชื่อว่าตฤศลา เนื่องจากเป็นคนกล้าหาญ จึงได้ชื่อว่า มหาวีระ แปลว่า มีความแกล้วกล้าอาจหาญ

ครั้งออกบวชแสวงหาโมกขธรรม 12 ปี จึงบรรลุโมกษะ เมื่อได้บรรลุแล้วจึงได้นามใหม่ว่า ชินะ อันหมายถึงผู้ชนะแล้ว ท่านเป็นศิษย์ท่านปาร์ศวา (Parsva) ซึ่งถือว่าเป็นศาสดาองค์ที่ ๒๓ ผู้มีอายุห่างจากท่านมหาวีระเพียง 250 ปีเท่านั้น คำว่า ศาสดาในศาสนาเชนเรียกว่า ตัรถังกร แปลว่า ผู้ถึงท่าคือนิพพาน

โดยมหา วีระเป็นองค์ที่ 24 ได้สั่งสอน อยู่ 30 ปี จึงนิพพานหรือ นิรวาน (Nirvan) ก่อนพระบรมศาสดา อย่างไรก็ตาม มีสาวกของมหาวีระหรือนิครนถ์นาฏบุตรเป็นจำนวนมากที่เปลี่ยนกลับมาเป็นพุทธ สาวก

เชนนับเป็นศาสนาที่ถือหลักการไม่เบียดเบียน หรืออหิงสาอย่างเอกอุ และที่มีแนวคิดใกล้คียงกันกับพุทธศาสนา แม้แต่การสร้างพระพุทธรูป ถ้าดูอย่างผิวเผินก็ไม่เห็นความแตกต่างจากพระพุทธรูปเท่าใด ยกเว้นจะเปลือยกายและมีดอกจันทน์ที่หน้าอกเท่านั้น

ปัจจุบันมีเชนศาสนิกชนประมาณ 6 ล้านคน ทั่วอินเดีย โดยมากมีฐานะดี เพราะเป็นพ่อค้าเสียส่วนใหญ่ จุดประสงค์ของลัทธินี้ก็เพื่อจะหลุดพ้นจากสังสารวัฏ โดยเรียกว่าโมกษะ คือต้องสำเร็จเกวลัชญาณก่อน โดยสอนว่า "การที่จะนำไปสู่โมกษะได้นั้นคือแก้ว 3 ดวงคือมีความเห็นชอบ มีความรู้ชอบ มีความประพฤติชอบ เท่านั้น พระเจ้าเป็นเรื่องเหลวไหล พระเจ้าไม่สามารถบันดาลทุกข์สุขให้ใครได้ ทุกข์สุขเป็นผลที่สืบเนืองมาจากกรรม การอ้อนวอนก็เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ไม่มีสาระ"

ลัทธินี้ถือว่าการบำเพ็ญตนให้ลำบากคืออัตตกิลมถานุโยค ถือเป็นทางนำไปสู่การบรรลุธรรมที่เรียกว่า โมกษะ ผู้ที่ฝึกฝนดีแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดทางกาย วาจา ใจ

กล่าวกันว่า ท่านมหาวีระบำเพ็ญขันติธรรมนานจนไม่ขยับเขยื้อนไปไหน จนเถาวัลย์ขึ้นพันรอบกายท่าน

นอกจากนี้นักบวชเชนยังต้องรักษาศีล 5 ข้อย่างเคร่งครัด คือ

  1. เว้นจาการฆ่าสิ่งที่มีชีวิตรวมทั้งพืชด้วย
  2. เว้นจาการพูดเท็จ
  3. เว้นจาการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
  4. เว้นจาการประพฤติผิดในกาม
  5. ไม่ยินดีในกามวัตถุ


และศาสนิกชนเชนต้องรักษาศีล 12 ข้ออย่างเคร่งครัดเช่นกัน คือ

  1. เว้นจากการทำลายสิ่งที่มีชีวิต
  2. เว้นจาการประพฤติผิดในกาม
  3. เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ไห้
  4. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
  5. มีความพอใจในความปรารถนาคือพอใจในสิ่งที่ตนมี
  6. เว้นจากอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความชั่ว เช่นการเที่ยวเตร่
  7. รู้จักประมาณในการใช้สอยเครื่องอุปโภคบริโภค
  8. เว้นจากการทางที่ก่อให้เกิดอาชญาให้ร้าย
  9. ไม่ออกพ้นเขตไม่ว่าทิศใดทิศหนึ่งยามบำเพ็ญพรต
  10. บำเพ็ญพรตทุกเทศกาล
  11. อยู่จำอุโบสถศีล
  12. ให้ทานแก่พระและต้อนรับแขกผู้มาเยือน


ต่อมาหลังพุทธปรินิพพาน 240 ปีก็แตกออกเป็น 2 นิกายคือ

  1. นิกายทิฆัมพร ยังถือเคร่งครัดเหมือนเดิม โดยไม่นุ่งผ้า เปลือยกายเหมือนเดิม
  2. นิกายเสวตัมพร นุ่งขาวห่มขาว ไว้ผมยาว แต่งตัวสะอาดสะอ้าน และคบหากับผู้คนมากกว่านิกายเดิม ที่เน้นการปลีกตัวอยู่ต่างหาก

๘.ยุคมหากาพย์ (Mahakavya Period)


ยุคนี้เกิดหลังจากที่เผ่าอารยันได้ตั้งรกรากอย่างมั่นคงแล้วในชมพูทวีป แต่ก็ยังมีการรบพุ่งอยู่กับชนเผ่าพื้นเมือง เกิดขึ้นราวก่อนพุทกาล 700 ถึง 250 ปี ได้เกิดวรรณกรรมที่สำคัญขึ้น 2 เรื่องคือ มหาภารตะ (Mahabharata) และรามายณะ (Ramayana) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อชาวอินเดียในปัจจุบันโดยเฉพาะชาวฮินดู และคำว่าภารตะก็กลายมาเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของอินเดีย ก็เพราะอาศัยอิทธิพลจากวรรณกรรมเรื่องนี้

1. รามายณะ (Ramayana)

เป็นวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่งของอินเดียและยังแพร่ไปสู่หลายประเทศในเอเซีย เช่น ในเมืองไทยเรียกว่า รามเกียรติ์ ในลาวเรียกว่าพระลักษณ์พระราม ในอินโดนีเซียเรียก รามายณะ นอกนั้นยังมีที่กัมพูชา สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่าและเนปาล เรื่องนี้แต่งโดย ฤๅษีวัลมีกิ (Valmiki)

นักประวัติศาสตร์ เชื่อว่าเป็นการรุกรานต่อพวกมิลักขะของพวกอารยัน โดยมีพระรามอันเป็นเป็นตัวแทนชาวอารยัน กับราวณยักษ์ฝ่ายมิลักขะ คำว่ารามายณะ แปลว่า การไปของพระราม ซึ่งหมายถึงการบุกป่า ฝ่าดงของพระรามในการติดตามหานางสีดา

เป็นวรรณกรรมยาวเป็นที่สองรองมาจาก มหาภารตะ มีโศลก 24,000 บท แบ่งออกเป็น 7 กัณฑ์

เรื่องย่อของรามายณะกล่าวถึง ท้าวทศรถ (Dasharatha) แห่งเมืองอโยธยา (Ayodhya) มีพระมเหสี 3 องค์ แต่ที่ปรากฏชื่อมี 1 องค์คือ 1. พระนางไกเกยี มีพระโอรส 1 พระองค์คือ เจ้าชายภารตะ มเหสีอีกองค์มีโอรส 2 ประองค์คือ พระรามและพระลักษณ์ ส่วนมเหสีอีกองค์ไม่ได้ระบุว่ามีโอรสหรือธิดา พระนางไกเกยีต้องการให้บุตรของตนคือท้าวภารตะครองราชสมบัติต่อจากท้าวทศรถ พระองค์จำยอมเพราะเคยประทานพรไว้คราวนางประสูติพระโอรส พระรามและพระลักษณ์ จึงต้องไปสู่ป่า ตามคำสั่งของพระบิดา พร้อมนางสีดา ผู้เป็นชายา ทั้งสามชิวิตอาศัยที่ภูเขาวินทยะ

ต่อมาสุรภนกะ น้องสาวของยักษ์ราวณะแห่งกรุงลังกา (ในไทยเรียกว่าท้าวทศกัณฑ์) มาเห็นพระลักษณ์ ด้วยความพอใจอย่างยิ่ง แต่พระลักษณ์ไม่ชอบ ฝ่ายนางก็ไม่ละความพยายาม ด้วยความโมโห พระลักษณ์จึงตัดจมูกนางด้วยดาบ สร้างความโกรธแค้นให้กับราวณะผู้พี่ชายอย่างยิ่ง จึงให้ลูกน้องแปลงร่าง เป็นกวางมาล่อระรามไป แล้วทำเลียนเสียงเหมือนพระรามให้ไปช่วย พระลักษณ์จึงออกตามหา คงเหลือนางสีดาคนเดียวที่กระท่อม เมื่อได้จังหวะจึงจับนางสีดาไปกรุงลังกา พระรามพระลักษณ์ออกตามหา ได้เจอสุกรีวะ หัวหน้าลิงซึ่งมีลูกน้องชื่อดัง คือหนุมาณ พวกเขาสัญญาจะช่วยตามหานางสีดา เมื่อทราบว่าถูกลักพาไปลังกา กองทัพลิงจึงสร้างสะพานไปลังกา แล้วยึดนางสีดามาคืนนางสีดามาคืนสำเร็จ ราวณะก็ถูกฆ่า ทั้งหมดก็กลับไปครองราชย์ที่อโยธยาอย่างมีความสุข

๒. มหาภารตะ (Mahabharata)

เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุด มีโศลกมากถึง 100,000 บท แบ่งเป็นบรรพได้ 18 บรรพ มหาภารตะเป็นการกล่าวถึงการทำสงครามกันระหว่างพี่น้องสองตระกูล คือตระกูลเการพและปาณฑพ ซึ่งทั้งสองตระกูลต่างสืบเชื้อสายมาจากตระกูลเดียวกันคือ ท้าวภรตะ การทำสงครามขับเคี้ยวกัน ณ ทุ่งกถรุเกษตเป็นเวลา 18 วัน สุดท้ายตระกูลฝ่ายธรรม คือปาณฑพเป็นฝ่ายชนะ เรื่องนี้แต่งโดยฤๅษีเวทวยาสหรือ กฤษณะ ไทวปายน

มีเรื่องย่อว่า ณ แคว้นกุรุ (ใกล้เดลลี) มีเมืองหลวงชื่อ หัสตินปุระ ตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำคงคา มีพระราชา พระราชาก พระนามว่าวิจิตรวิริยะมีโอรส ๒ พระองค์ องค์หนึ่งนามว่าธฤตราษฏร์ ซึ่งมีพระเนตรบอด อีกองค์นามว่าปาณฑุ ตามกฏมณเฑียรบาลผู้ไม่สมประกอบ ไม่สามารถครองบัลลังก์ได้ ต่อมาราชสมบัติจึงตกแก่เจ้าชายปาณฑุ

เจ้าชายธฤตราษฏร์ (Dhritarashtra) มีพระโอรส 100 องค์ เป็นต้นตระกูลเการพ ส่วนเจ้าชายปาณฑุมีโอรสเพียง ๕ เท่านั้น ต่อมาเป็นต้นตระกูลปาณฑพ ทั้ง 5 คนคือ ยุทธิสถิระ (ยุธิษเฐียร) ภีมะ อรชุน นกุลและสหเทวะ เมื่อเจ้าชายปาณฑุสิ้นพระชนม์ลง เจ้าชายธฤตราษฏร์ผู้มีพระเนตรบอดก็ดูแลอาณจักรไปพลาง ทั้งโอรสและนัดดา 105 ได้รับการศึกษาศิลปวิทยาอย่างดี

เมื่อโตแล้วพระองค์ก็มอบราชสมบัติให้เจ้าชายยุธิษเฐียร เจ้าชายปกครองบ้านเมืองอย่างดี ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม สร้างความไม่พอใจให้กุมารทั้ง 100 ที่พระบิดายกสมบัติให้คนอื่น ท้าวทุรโยธน์ผู้เป็นเจ้าชายองค์โตในบรรดา 100 องค์ แห่งตระกูลเการพ อิจฉาแล้วคิดลอบฆ่าในงานเทศกาล โดยลักลอบวางเพลิงแต่แผนการไม่สำเร็จ

เมื่อ ฝ่ายปาณฑวะทราบจึงหลบหนีไปผจญภัยในป่า ใกล้ป่าแห่งนั้นมีแคว้นชื่อปัญจาละ กษัตริย์ นามว่าทรุปทะ มีพระธิดาที่สวยสดงดงาม พระราชาสั่งให้มีพิธีสยมพร คือการเลือกคู่ให้ธิดาโดยแข่งยิงธนู การแข่งขันผ่านไปหลายวันก็ไม่มีผู้สามารุยิงธนูตรงเป้าได้ถูก จนอรชุนน้องชาย คนที่สามที่ปลอมเป็นพราหมณ์ จึงไปทดสอบสุดท้่ายก็ยิงเข้าเป้าอย่างแม่นยำ พระราชาจึงยกธิดาให้แล้วไปนำไปอยู่ป่าด้วยกัน และพระธิดาก็เป็นชายาของทั้งห้า

ด้านฝ่ายเการพที่ครองเมืองเห็นความจำเป็นที่จะผูกมิตร จึงเชิญให้กลับนครแล้วแบ่งเมืองให้ เรียกว่านครอินทรปรัสถ์ ทั้งห้าจึงตอบตกลง ต่อมาฝ่ายเการพท้าเล่นเกมส์สะกา เอาบ้านเมืองเป็นเดิมพัน ชั้นแรกฝ่ายปาณฑวะพ่ายแพ้ ต้องเสียฐานะทุกทุกอย่าง ต่อมาด้วยความขอร้องจากบิดาคือท้าวธฤตราษฏร์ ฝ่ายเการพจึงยอมมอบราชสมบัติให้และเมื่อมีการท้าครั้งที่สองเกิดขึ้น ทั้งสองจึงประลองกันอีกครั้ง ครั้งที่สองฝ่ายปาณฑวะก็ยังแพ้จึงต้องหนีเข้าป่าตามสัญญา 13 ปี

เมื่อครบแล้วจะขอแผ่นดินคืน แต่ฝ่ายเการพไม่อนุญาต แม้แต่แผ่นดินเท่าปลายจุดเข็มก็ไม่อาจให้ได้ จึงได้ทำสงครามกันเป็นเวลา 18 วันที่ทุ่งกุรุเกษตร ทั้งสองฝ่ายเสียไพล่พลมหาศาล สุดท้ายสงครามสิ้นสุดลง โดยชัยชนะเป็นของฝ่ายปาณฑวะ และต่อมาท้าวยุธิษเฐียร ผู้พี่ก็ครองราชย์ต่อมาถึง 36 ปี

มหากาพย์เรื่องนี้ เป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายธรรมะคือ ตระกูลปาณฑวะ และฝ่ายอธรรมคือตระกูลเการพ แม้จะแต่งนานแล้ว แต่ก็มีอิทธิพลต่อชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูโดยไม่เสื่อมคลาย ในมุมมองของพุทธศาสนาและศาสนาเชน เรื่องนี้ไม่มีคุณค่าต่อการส่งเสริม เพราะเป็นการสนับสนุนการทำสงคราม ประหัตประหารชีวิตมนุษย์ด้วยกัน แม้จะเป็นคนละตระกูลก็ตาม ทั้งนี้เพราะสองศาสนาเน้นการไม่เบียดเบียน (Ahimsa) เป็นหลักสำคัญ

นักบวชประเภทต่างๆในชมพูทวีปมีดังนี้
  1. ฤาษี อยู่ป่า บำเพ็ญตบะและทุกรกิริยา
  2. ปริพาชก ครูพเนจรสอนปรัชญา
  3. อาชีวก นักบุญเปลือยกาย
  4. นิครนก์และ อเจลกะ เป็นนักบวชเปลือยกาย
  5. ชฎิล ดาบสเกล้าผมมวย เป็นวรรณะพราหมณ์
โดยทุกๆ คนต่างแสวงหา โมกขธรรมหรือโมกษะ ซึ่งหมายถึง ความหลุดพ้น หรือ นิพพาน 
หรือวิมุติ ซึ่งเป็นทางไปสู่ความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย และเป็นอมตะ

จบการเกริ่นเรื่องก่อนยุคพุทธกาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น