วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พุทธประวัติ ตอน ๕ ทรงบำเพ็ญเพียร

พุทธประวัติ ตอน ๕ ทรงบำเพ็ญเพียร



พระเจ้าพิมพิสารทรงเชิญให้เสวยราชย์ร่วมกัน





ครั้นพวกราชบุรุษได้เห็นพระมหาบุรุษในขณะเสด็จบิณฑบาต
ก็นำความไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร ราชาธิบดีแห่งแคว้นมคธ 
พระเจ้าพิมพิสารจึงรับสั่งให้สะกดรอยติดตาม 
เพื่อทราบความเท็จจริงของบรรพชิตพิเศษรูปนี้ 
ครั้นพวกราชบุรุษติดตามได้ความจริงแล้ว 
ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงมคธให้ทรงทราบ



พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทรงสดับ ก็มีพระทัยโสมทัสในพระคุณสมบัติ 
ทรงพระประสงค์จะได้พบ จึงเสด็จด้วยพระราชยานออกจากพระนครโดยด่วน
ครั้นถึงบัณฑวะบรรพต ก็เสด็จลงจากราชยาน 
เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปเฝ้าพระมหาบุรุษเจ้า 
เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระอิริยาบถเรียบร้อย อยู่ในสมณสังวร 
ก็ยิ่งหลากพระทัย ทรงเลื่อมใสในปฏิปทาของพระมหาบุรุษ 
ครั้นได้ทูลถามถึงตระกูล ประเทศ และพระชาติ 
เมื่อทรงทราบว่าเป็นขัตติยศากยราชเสด็จออกบรรพชา ก็ทรงดำริว่า 
ชะรอยพระมหาบุรุษจะทรงพิพาทกับพระประยูรญาติ 
ด้วยเรื่องพระราชสมบัติเป็นแม่นมั่น จึงได้เสด็จออกบรรพชา 
ซึ่งเป็นธรรมดาของนักพรต ที่ออกจากราชตระกูลบรรพชาแต่กาลก่อน 
จึงได้ทรงเชื้อเชิญพระมหาบุรุษด้วยราชสมบัติ 
ซึ่งพระองค์ยินดีจะแบ่งถวายให้เสวยสมพระเกียรติทุกประการ

พระมหาบุรุษจึงตรัสตอบขอบพระทัยพระเจ้าพิมพิสาร 
ซึ่งมีพระทัยกอรปด้วยพระเมตตา 
แบ่งสิริราชสมบัติพระราชทานให้ครอบครอง 
แต่พระองค์มิได้มีความประสงค์จำนงหมายเช่นนั้น 
ทรงสละราชสมบัติออกผนวช เพื่อมุ่งหมายพระสัพพัญญุตญาณโดยแท้

พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับ ก็ตรัสอนุโมทนา 
และทูลขอปฏิญญากะพระมหาบุรุษว่า 
ถ้าพระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว 
ขอได้ทรงพระกรุณาเสด็จมายังพระนครราชคฤห์ แสดงธรรมโปรด 
ครั้นพระมหาบุรุษทรงรับปฏิญญาแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับเข้าพระนคร



ลำดับนั้น พระมหาบุรุษก็เสด็จจาริกจากที่นั้น 
ไปสู่สำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร 
ซึ่งสร้างอาศรมอยู่ในพนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง 
ขอพำนักศึกษาวิชาและข้อปฏิบัติอยู่ 
ทรงศึกษาอยู่ไม่นาน ก็ได้สำเร็จสมาบัติ 7 คือ รูปฌาน 4 อรูปฌาน 3
สิ้นความรู้ของอาฬารดาบส ทรงเห็นว่าธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ 
จึงได้อำลาอาฬารดาบส ไปสู่สำนักอุทกดาบส รามบุตร ขอพำนักศึกษาอยู่ด้วย 
ทรงศึกษาไดอรูปฌาน 4 ครับสมาบัติ 8
สิ้นความรู้ของอุทกดาบส ครั้นทรงไตร่ถามถึงธรรมวิเศษขึ้นไป 
อุทกดาบสก็ไม่สามารถจะบอกได้ 
และได้ยกย่องตั้งพระมหาบุรุษไว้ในที่เป็นอาจารย์เสมอด้วยตน
แต่พระมหาบุรุษทรงเห็นว่า ธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ 
จึงได้อำลาอาจารย์ออกแสวงหาธรรมวิเศษสืบไป 
ทั้งมุ่งพระทัยจะทำความเพียรโดยลำพังพระองค์เดียว



ได้เสด็จจาริกไปยังมคธชนบท บรรลุถึงตำบลอุรุเวลา เสนานิคม 
ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ราบรื่น แนวป่าเขียวสด เป็นที่เบิกบานใจ 
แม่น้ำไหล มีน้ำใสสะอาด มีท่าน่ารื่นรมณ์ โคจรคาม คือ 
หมู่บ้านที่อาศัยเที่ยวภิกษาจาร ก็ตั้งอยู่ไม่ไกล 
ทรงเห็นว่าประเทศนั้น 
ควรเป็นที่อาศัยของกุลบุตรผู้มีความต้องการด้วยความเพียรได้ 
จึงเสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น

ส่วนบรรพชิตทั้ง 5 อันมีนามว่า ปัญจวัคคีย์ คือ 
พระโกณทัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ พระอัสสชิ 
พากันเที่ยวติดตามพระมหาบุรุษในที่ต่าง ๆ จนไปประสบพบพระมหาบุรุษยังตำบลอุรุเวลา เสนานิคม 
จึงพากันเข้าไปถวายอภิวาทแล้วอยู่ปฏิบัติบำรุง 
จัดทำธุระกิจถวายทุกประการ โดยหวังว่าเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดตนบ้าง

ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา (ทรมานตน)



พระมหาบุรุษทรงเริ่มทำทุกกรกิริยา 
ซึ่งเป็นปฏิปทาที่นิยมว่าเป็นทางให้ตรัสรู้ได้ในสมัยนั้น 
โดยทรมานพระกายให้ลำบาก ซึ่งเป็นกิจยากที่บุคคลจะกระทำได้ 
ด้วยการทรมานเป็น 3 วาระ ดังนี้

วาระแรก ทรงกดพระทนต์(ฟัน)ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ(เพดานปาก) ด้วยพระชิวหา(ลิ้น)
ไว้ให้แน่น จนพระเสโท(เหงื่อ)ไหลจากพระกัจฉะ(รักแร้) 
ในเวลานั้นได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า 
เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง จับบุรุษมีกำลังน้อยไว้ที่ศรีษะ หรือที่คอ บีบให้แน่น ฉะนั้น 
แม้พระกายจะกระวนกระวายไม่สงบระงับอย่างนี้ 
ทุกขเวทนานั้นก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่าย พระองค์มีพระสติมั่น ไม่ฟั่นเฟือน 
ปรารภความเพียรไม่ท้อถอย ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำอย่างนั้น ไม่ใช่ทางตรัสรู้ 
จึงทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป

วาระที่ ๒ ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสสะ(ลมหายใจเข้าออก) เมื่อลมไม่ได้ทางเดินสะดวก 
โดยช่องพระนาสิก(จมูก)และช่องพระโอฐ(ปาก) ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณ(หู)ทั้งสอง 
ให้ปวดพระเศียร(หัว) ร้อนในพระกายเป็นกำลัง 
แม้จะได้เสวยทุกขเวทนากล้าถึงเพียงนี้ ทุกขเวทนานั้น 
ก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่าย มีพระสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน 
ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำอย่างนี้ ไม่ใช่ทางตรัสรู้ 
ก็ทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป

วาระที่ ๓ ทรงอดพระอาหาร ผ่อนเสวยแต่วันละน้อย ๆ บ้าง เสวยอาหารละเอียดบ้าง 
จนพระกายเหี่ยวแห้ง พระฉวี(ผิว)เศร้าหมอง พระอัฏฐิ(กระดูก)ปรากฏทั่วพระกาย
เมื่อทรงลูบพระกาย เส้นพระโลมามีรากเน่าร่วงจากขุมพระโลมา พระกำลังน้อยถอยลง 
จะเสด็จไปข้างไหนก็ซวนเซล้ม วันหนึ่งทรงอ่อนพระกำลัง อิดโรยโหยหิวที่สุด 
จนไม่สามารถจะทรงพระกายไว้ได้ ก็ทรงวิสัญญีภาพ(สลบ)ล้มลงในที่นั้น



ขณะนั้น เทพยดาองค์หนึ่งสำคัญผิดคิดว่า 
พระมหาบุรุษดับขันธ์ทิวงคตแล้ว จึงรีบไปยังพระปราสาทพระเจ้าสุทโธทนะ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ 
ทูลว่า บัดนี้ พระสิทธัตถะกุมารพระราชโอรสของพระองค์ สิ้นพระชนม์ชีพเสียแล้ว 
พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งถามว่า พระโอรสของเราได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือยัง 
เป็นประการใด เทพยดาก็ตอบว่า ยังมิทันได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ ท้าวเธอไม่ทรงเชื่อ 
จึงรับสั่งว่า จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้ หากพระโอรสของเรายังมิได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว 
จะด่วนทำลายพระชนม์ชีพหามิได้เลย แล้วเทพดาองค์นั้นก็อันตรธานจากพระราชนิเวศน์ไป

ส่วนพระมหาบุรุษ เมื่อได้ซึ่งสัญญาฟื้นพระกายกุมพระสติให้ตั้งมั่น 
พิจารณาดูปฏิปทาในทุกกรกิริยาที่ทำอยู่ ทรงดำริว่า 
ถึงบุคคลทั้งหลายใด ๆ ในโลกนี้ จะทำทุกกรกิริยาอย่างอุกฤษฐ์นี้ บุคคลนั้น ๆ 
ก็ทำทุกกรกิริยาเสมออาตมาเท่านั้น จะทำให้ยิ่งกว่าอาตมาหามิได้ 
แม้อาตมาปฏิบัติอย่างอุกฤษฐ์อย่างนี้แล้ว ไฉนหนอจึงยังไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณ 
ชรอยทางตรัสรู้จะมีเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่อย่างนี้เป็นแน่ 
เกิดพระสติหวลระลึกถึงความเพียรทางใจว่า จะเป็นทางตรัสรู้ได้บ้าง

ทรงเปลี่ยนวิธีสู่มัชฌิมาปฎิปทา (ทางสายกลาง)





ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธราชทรงทราบข้อปริวิตกของพระมหาบุรุษดังนั้น จึงทรงซึ่งพิณทิพย์สามสายมาดีดถวายพระมหาบุรุษ 
สายหนึ่งตึงนัก พอดีดไปหน่อยก็ขาด 
สายหนึ่งหย่อนนัก ดีดเข้าก็ไม่บันลือเสียง 
อีกสายหนึ่ง ไม่ตึงไม่หย่อนพอปานกลาง 
ดีดเข้าก็บันลือเสียงไพเราะเจริญใจ 
 พระมหาบุรุษได้สดับเสียงพิณทรงหวลระลึกถึง 
พิณที่เคยทรงมาแต่ก่อน ก็ทรงตระหนักแน่ ถือเอาเป็นนิมิต 
ทรงพิจารณาเห็นแจ้งว่า 
ทุกกรกิริยามิใช่ทางตรัสรู้แน่ทางแห่งพระโพธิญาณที่ควรแก่การตรัสรู้ 
ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา บำเพ็ญเพียรทางจิต ปฏิบัติปานกลาง ไม่ตึงนักไม่หย่อนนัก 
จึงใคร่จะทรงตั้งปณิธานทำความเพียรทางจิต 
ทรงเห็นว่าความเพียรทางจิตเช่นนั้น 
คนซูบผอมหากำลังมิได้เช่นอาตมานี้ ย่อมไม่สามารถจะทำได้ 
จำจะหยุดพักกินอาหารข้น คือ ข้าวสุก ขนมสด ให้มีกำลังดีก่อน 
ครั้นตกลงพระทัยเช่นนั้นแล้ว ก็กลับเสวยพระอาหารตามเดิม



อนึ่ง การที่พระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกกรกิริยา 
เปลี่ยนมาทำความเพียรทางจิตนั้น โดยทรงดำริเปรียบเทียบอุปมา 3ข้อ 
ซึ่งพระองค์ไม่เคยสดับ ไม่เคยดำริมาก่อนเลย 
ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์อย่างแจ่มแจ้งว่า

สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งมีกายไม่ได้หลีกออกจากกาม 
และมีความพอใจรักใคร่ในกาม ยังละให้สงบระงับไม่ได้ดี 
สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ได้เสวยทุกเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อน 
ที่เกิดเพราะความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่ควรจะตรัสรู้ 
เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง บุคคลแช่ไว้ในน้ำ 
บุรุษมีความต้องการด้วยไฟ ถือเอาไม้สีไฟมาสีเข้า ด้วยหวังจะให้เกิดไฟ 
บุรุษนั้นก็ไม่อาจให้ไฟเกิดขึ้นได้ ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า 
เพราะไม้นั้นยังสดมียางอยู่ ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ

อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง 
แม้มีกายหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความรักใคร่พอใจในกาม 
ยังละให้สงบระงับไม่ได้ดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น 
แม้ได้เสวยทุกข์เวทนาเช่นนั้น อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี 
ก็ไม่ควรจะตรัสรู้ เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง แม้ห่างไกลจากน้ำ 
บุคคลตั้งไว้บนบก บุรุษก็ไม่อาจสีให้เกิดไฟได้ ถ้าสีเข้า 
ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า เพราะไม้นั้นแม้ตั้งอยู่บนบกแล้ว แต่ยังเป็นของสดชุ่มด้วยยาง

อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายหลีกออกจากกามแล้ว
และละความใคร่ในกาม ให้สงบระงับดีแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น 
ได้เสวยทุกข์เวทนาเช่นนั้น อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี แม้ไม่ได้เสวยเลยก็ดี 
ก็ควรจะตรัสรู้ได้ เหมือนไม้แห้งที่ไกลจากน้ำ บุคคลวางไว้บนบก 
บุรุษอาจสีให้เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นของแห้ง ทั้งตั้งอยู่บนบก

อุปมาทั้ง 3 ข้อนี้ 
ได้เป็นกำลังสนับสนุนพระหฤทัยให้พระมหาบุรุษทรงมั่นหมายในการทำความเพียรทางใจว่า 
จะเป็นทางให้พระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณโดยแน่แท้

ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ภิกษุ ผู้มีความนิยมในทุกกรกิริยา 
พากันเฝ้าบำรุงพระมหาบุรุษอยู่ เมื่อเห็นพระมหาบุรุษทำความเพียรในทุกกรกิริยาอย่างตึงเครียด 
เกินกว่าสามัญชนจะทำได้เช่นนั้น ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใส 
มั่นใจว่าพระมหาบุรุษจะต้องได้ตรัสรู้โดยฉับพลัน 
และพระองค์จะได้ทรงเมตตาประทานธรรมเทศนาโปรดตนให้ตรัสรู้บ้าง 
แต่ครั้นเห็นพระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกกรกิริยาที่ประพฤติแล้ว และเห็นร่วมกันว่า บัดนี้ 
พระองค์คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว 
จึงเบื่อหน่ายในการที่จะปฏิบัติบำรุงต่อไป 
ด้วยเห็นว่าพระองค์คงจะไม่อาจบรรลุธรรมวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง
จึงพากันหลีกไปเสียจากที่นั้น ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี



พระมหาบุรุษเมื่อทรงเลิกละทุกกรกิริยาแล้ว 
ก็ทรงเริ่มเสวยพระอาหารข้น 
บำรุงร่างกายให้กลับมีกำลังขึ้นได้เป็นปกติอย่างเดิมแล้ว 
ก็ทรงเริ่มทำความเพียรทางจิตต่อไป 
จนถึงราตรีวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 เวลาบรรทมหลับ ทรงพระสุบิน 5 ประการ คือ
  1. ทรงพระสุบินว่า พระองค์ทรงผทมหงายเหนือพื้นปฐพี พระเศียรหนุนเขาหิมพานต์เป็นพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาและพระบาททั้งคู่ก็หยั่งลงในมหาสมุทรทิศใต้
  2. ทรงพระสุบินว่า หญ้าแพรกเส้นหนึ่งรอกจากพระนาภี สูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า
  3. ทรงพระสุบินว่า หมู่หนอนทั้งหลาย สีขาวบ้าง ดำบ้าง เป็นอันมาก ไต่ขึ้นมาแต่พื้นพระบาททั้งคู่ ปกปิดลำพระชงฆ์หมด และไต่ขึ้นมาถึงพระชานุมณฑล
  4. ทรงพระสุบินว่า ฝูงนก 4 จำพวก มีสีต่าง ๆ กัน คือ สีเหลือง เขียว แดง ดำ บินมาแต่ทิศทั้ง 4 ลงมาจับแท่นพระบาท แล้วกลับกลายเป็นสีขาวไปสิ้น
  5. ทรงพระสุบินว่า เสด็จขึ้นไปเดินจงกลมบนยอดภูเขาอันเต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมนั้นมิได้ทรงเปื้อนพระยุคลบาท

ในพระสุบินทั้ง 5 ข้อนั้น มีอธิบายว่า

ข้อ 1 พระมหาบุรุษเจ้าจะได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศในโลกทั้ง ๓

ข้อ 2 พระมหาบุรุษจะได้ทรงประกาศสัจธรรม เผยมรรค ผล นิพพาน แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งมวล

ข้อ 3 คฤหัสถ์ พราหมณ์ทั้งหลาย จะเข้ามาสู่สำนักของพระองค์เป็นอันมาก

ข้อ 4 ชาวโลกทั้งหลาย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทย์ เมื่อมาสู่สำนักของพระองค์แล้ว จะรู้ทั่วถึงธรรมอันบริสุทธิ์หมดจดผ่องใสไปสิ้น

ข้อ 5 ถึงแม้พระองค์จะพร้อมมูลด้วยสักการะวรามิศ ที่ชาวโลกทุกทิศน้อมถวายด้วยความเลื่อมใส ก็มิได้มีพระทัยข้องอยู่ให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย

ครั้นพระมหาบุรุษตื่นบรรทมแล้ว ก็ทรงดำริถึงข้อความในพระมหาสุบินทั้ง 5
แล้วทำนายด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เอง 
ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่แท้ 
ครั้นได้ทรงทำสรีระกิจ สระสรงพระกายหมดจดแล้ว 
ก็เสด็จมาประทับนั่ง ณ ที่ควงไม้นิโครธพฤกษ์ 
ในยามเช้าแห่งวันเพ็ญวิสาขะปุรณมี ดิถีกลางเดือน 6 ปีระกา

นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส




ประจวบด้วยวันวาน เป็นวันที่นางสุชาดา 
ธิดาของคฤหบดีผู้มั่งคั่งในตำบลนั้น 
นางได้ตั้งปณิธานบูชาเทพารักษ์ไว้ว่า 
ขอให้นางได้สามีที่มีตระกูลเสมอกัน และขอให้ได้บุตรคนแรกเป็นชาย 
ครั้นนางได้สามีและบุตรสมนึก 
นางจึงคิดจะหุงข้าวมธุปายาสอันประณีตด้วยเครื่องปรุงทุกประการ 
ไปบวงสรวงเทพารักษ์ที่ได้ไปบนบานไว้ ดังนั้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 
จึงสั่งให้บ่าวไพร่ตระเตรียมการทำข้าวปายาสเป็นการใหญ่ 
และกว่าจะสำเร็จเป็นข้าวปายาสได้ ก็ตกถึงเพลาเที่ยงคืน 
แล้วนางสุชาดาจึงสั่งนางปุณณทาสี 
หญิงคนใช้ที่สนิทให้ออกไปทำความสะอาด 
แผ้วกวาดที่โคนต้นนิโครธพฤกษ์นั้น 
เพื่อจะได้จัดเป็นที่ตั้งเครื่องสังเวยเทพารักษ์


ดังนั้น นางปุณณทาสี จึงได้ตื่นแต่เช้า 
เดินทางไปยังต้นนิโครธพฤกษ์นั้น เห็นพระมหาบุรุษทรงประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้นั้น 
ผันพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางปาจินทิศ (ตะวันออก) 
มีรัศมีพระกายแผ่สร้านออกไปเป็นปริมณฑล งามยิ่งนัก 
นางก็นึกทึกทักตระหนักแน่ในจิตทันทีว่า วันนี้ เทพยดาเจ้าลงจากต้นไทรงาม 
นั่งคอยรับข้าวปายาสของสังเวยของเจ้าแม่ด้วยมือทีเดียว 
นางก็ดีใจรีบกลับมายังเรือน บอกนางสุชาดาละล่ำละลักว่า 
เทพารักษ์ที่เจ้าแม่มุ่งทำพลีกรรมสังเวยนั้น บัดนี้ 
ได้มานั่งรอเจ้าแม่อยู่ที่ควงไม้ไทรแล้ว ขอให้เจ้าแม่รีบไปเถอะ



นางสุชาดามีความปลาบปลื้มกล่าวว่า 
ขอให้เจ้าเป็นลูกคนโตของแม่เถิด แล้วจึงมอบเครื่องประดับแก่นางปุณณทาสี 
และให้หยิบถาดทองมา ๒ ถาด ถาดหนึ่งใส่ข้าวปายาสจนหมด 
มิได้เหลือเศษไว้เลย ข้าวปายาสเต็มถาดพอดี 
แล้วให้ปิดด้วยถาดทองอีกถาดหนึ่ง 
แล้วห่อหุ้มด้วยผ้าทองอันบริสุทธิ์ 
ครั้นนางสุชาดาแต่งกายงามด้วยอาภรณ์เสร็จแล้ว 
ก็ยกถาดข้าวปายาสขึ้นทูลเหนือเศียรเกล้าของนาง 
ลงจากเรือนพร้อมด้วยหญิงคนใช้เป็นบริวารติดตามมาเป็นอันมาก 
ครั้นถึงต้นไทรเห็นพระมหาบุรุษงามด้วยรัศมีดังนั้น
ก็มีความโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดาโดยแท้ 
เดินยอบกายเข้าไปเฝ้าแต่ไกลด้วยคารวะ 
ครั้นเข้าไปใกล้จึงน้อมถาดข้าวปายาสถวายด้วยความเคารพยิ่ง




ขณะนั้น บาตรดินอันเป็นทิพย์ ซึ่งฆฏิการพรหมถวายแต่วันแรกทรงบรรพชา 
เกิดอันตรธานหายไปจากที่นั้น พระมหาบุรุษก็ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกรับ 
แล้วทอดพระเนตรดูนางสุชาดา แสดงให้นางรู้ชัดว่า 
พระองค์ไม่มีบาตรจะถ่ายใส่ข้าวปายาสไว้ 
นางสุชาดาทราบชัดโดยพระอาการ ก็กราบทูลว่า หม่อมฉันขอถวายทั้งถาด 
พระองค์มีพระประสงค์ประการใด โปรดนำไปตามพระหฤทัยเถิด 
แล้วถวายอภิวาททูลอีกว่า ความปรารถนาของหม่อมฉันสำเร็จฉันใด 
ขอสิ่งซึ่งพระหฤทัยของพระองค์ประสงค์จงสำเร็จฉันนั้นเถิด 
แล้วนางก็ก้มลงกราบ ถวายบังคมลา กลับเรือนด้วยความสุขใจเป็นล้นพ้น

จบเรื่อง ทรงบำเพ็ญเพียร


พระพุทธพจน์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้


เสด็จสำนักอาฬารดาบส


เรานั้น ครั้นบวชอย่างนี้แล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติชนิดที่ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า; ได้เข้าไปหาอาฬารดาบสผู้กาลามโคตรถึงที่สำนักแล้วกล่าวว่า "ท่านกาลามะ! เราอยากประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้ด้วย". ราชกุมาร! ครั้นเรากล่าวดังนี้แล้ว อาฬารดาบสผู้กาลามโคตรได้ตอบว่า "อยู่เถิดท่านผู้มีอายุ! ธรรมนี้เป็นเช่นนี้ๆ; ถ้าบุรุษเข้าใจความแล้ว ไม่นานเลยคงทำให้แจ้ง บรรลุได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ทั่วถึงลัทธิของอาจารย์ตน."

ราชกุมาร ! เราเล่าเรียนธรรมนั้นได้ฉับไวไม่นานเลย. ราชกุมาร! เรานั้นกล่าวได้ทั้ง ญาณวาท และ เถรวาท ด้วยอาการมาตรว่าท่องด้วยปาก และด้วยเวลาชั่วที่เจรจาตอบตลอดกาลเท่านั้น. อนึ่ง เราและศิษย์อื่นๆ ปฏิญญาได้ว่าเรารู้เราเห็น ดังนี้. ราชกุมาร ! ความรู้สึกเกิดขึ้นแก่เราว่า "อาฬารผู้กาลามโคตรประกาศให้ผู้อื่นทราบว่า 'เราทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วแลอยู่' ด้วยคุณสักว่าศรัทธาอย่างเดียวก็หามิได้, ที่แท้อาฬารผู้กาลามโคตรคงรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งธรรมนี้เป็นแน่". ราชกุมาร ! ครั้งนั้นเราเข้าไปหาอาฬารผู้กาลามโคตรถึงที่อยู่ แล้วกล่าวว่า "ท่านกาลามะ! ท่านทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว และประกาศได้เพียงเท่าไรหนอ?" ครั้นเรากล่าวอย่างนี้ อาฬารผู้กาลามโคตรได้ประกาศให้รู้ถึง อากิญจัญญายตนะ แล้ว.

ราชกุมาร ! ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า "ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา จักมีแต่ของอาฬารผู้กาลามโคตรผู้เดียวก็หาไม่. ศรัทธา, วิริยะ, สติ,สมาธิ, ปัญญา ของเราก็มีอยู่; อย่างไรก็ตาม เราจักตั้งความเพียรทำให้แจ้งธรรมที่ท่านกาลามะประกาศแล้วว่า 'เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วแลอยู่' ดังนี้ ให้จงได้." ราชกุมาร ! เราได้บรรลุ ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองฉับไวไม่นานเลย. ราชกุมาร ! ครั้งนั้นเราเข้าไปหาอาฬารผู้กาลามโคตรถึงที่อยู่ แล้วกล่าวว่า "มีเท่านี้หรือที่ท่านบรรลุถึง ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศแก่ผู้อื่นอยู่?". "เท่านี้เองผู้มีอายุ! ที่เราบรรลุถึง ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศแก่ผู้อื่นอยู่". "ท่านกาลามะ ! แม้เราก็บรรลุทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองถึงเพียงนั้นเหมือนกัน".

ราชกุมาร ! อาฬารผู้กาลามโคตรได้กล่าวกะเราว่า "ลาภของเราแล้วท่านผู้มีอายุ ! เราได้ดีแล้ว, ท่านผู้มีอายุ ! มิเสียแรงที่ได้พบเพื่อนร่วมพรหมจรรย์ เช่นกับท่านผู้ทำให้แจ้งธรรมที่เรารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง. แม้เราก็ทำให้แจ้งธรรมที่ท่านทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองนั้นอย่างเดียวกัน. เรารู้ธรรมใด ท่านรู้ธรรมนั้น, ท่านรู้ธรรมใด เรารู้ธรรมนั้น, เราเป็นเช่นใด ท่านเป็นเช่นนั้น, ท่านเป็นเช่นใด เราเป็นเช่นนั้น; มาเถิดท่านผู้มีอายุ! เราสองคนด้วยกัน จักช่วยกันปกครองคณะนี้ต่อไป."

ราชกุมาร ! อาฬารกาลามโคตรผู้เป็นอาจารย์ของเรา ได้ตั้งเราผู้เป็นศิษย์ให้เสมอด้วยตนแล้ว, ได้บูชาเราด้วยการบูชาอย่างยิ่ง. ราชกุมาร ! (เมื่อเราได้เสมอด้วยอาจารย์ ได้การบูชาที่ยิ่งดังนั้น) ได้เกิดความรู้สึกนี้ว่า "ก็ธรรมนี้จะได้เป็นไปพร้อมเพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อรำงับ เพื่อสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อรู้พร้อม เพื่อนิพพาน ก็หาไม่, แต่เป็นไปพร้อม เพียงเพื่อการบังเกิดในอากิญจัญญายตนภพ เท่านั้นเอง". ราชกุมาร ! ตถาคต (เมื่อเห็นโทษในสมาบัติทั้งเจ็ด) จึงไม่พอใจ เบื่อจากธรรมนั้น หลีกไปเสีย.

ตรัสแก่ โพธิราชกุมาร,
บาลี โพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ม.ม. ๑๓/๔๔๓/๔๘๙,
และในสคารวสูตร พราหมณวรรค ม.ม. ๑๓/๖๗๐/๗๓๘,
ปาสราสิสูตร โอปัมมวรรค มู.ม. มีย่อมาก,
มหาสัจจกสูตร มหายมกวรรค มู.ม.


เสด็จสำนักอุทกดาบส


ราชกุมาร ! เรานั้นแสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติชนิดที่ไม่มีอะไรยิ่งกว่า; ได้เข้าไปหาอุทกดาบสผู้รามบุตร ถึงที่สำนักแล้วกล่าวว่า "ท่านรามะ ! เราอยากประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้ด้วย." ราชกุมาร ! ครั้นเรากล่าวดังนี้ ท่านอุทกผู้รามบุตรได้กล่าวตอบว่า "อยู่เถิดท่านผู้มีอายุ ! ธรรมนี้เป็นเช่นนี้ๆ; ถ้าบุรุษเข้าใจความแล้ว ไม่นานเลย คงทำให้แจ้ง บรรลุได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ทั่วถึงลัทธิของอาจารย์ตน".

ราชกุมาร ! เราเล่าเรียนธรรมนั้นได้ฉับไวไม่นานเลย. ราชกุมาร ! เรากล่าวได้ทั้ง ญาณวาท และ เถรวาท ด้วยอาการมาตรว่าท่องด้วยปาก ด้วยเวลาชั่วที่เจรจาตอบตลอดกาลเท่านั้น. อนึ่ง เราและศิษย์อื่นปฏิญญาได้ว่าเรารู้เราเห็นดังนี้. ราชกุมาร ! ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า "อุทกผู้รามบุตรได้ประกาศว่าเราทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วแลอยู่" ด้วยคุณสักว่าศรัทธาอย่างเดียวก็หามิได้, ที่แท้อุทกผู้รามบุตรคงรู้อยู่เห็นอยู่ ซึ่งธรรมนี้เป็นแน่". ราชกุมาร ! ครั้งนั้นเราเข้าไปหาอุทกผู้รามบุตรถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า "ท่านรามะ ! ท่านทำธรรมนี้ให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วและประกาศได้เพียงเท่าไรหนอ?" ครั้นเรากล่าวอย่างนี้ อุทกรามบุตรได้ประกาศให้รู้ถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้ว.

ราชกุมาร ! ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า "ศรัทธา, วิริยะ, สติ,สมาธิ, ปัญญา จักมีแต่ของอุทกรามบุตรผู้เดียวก็หาไม่. ศรัทธา, วิริยะ, สติ,สมาธิ, ปัญญา ของเราก็มีอยู่; อย่างไรก็ตาม เราจักตั้งความเพียรทำให้แจ้งธรรมที่ท่านรามะประกาศแล้ว่า 'เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วแลอยู่' ดังนี้ ให้จงได้". ราชกุมาร ! เราได้บรรลุทำให้แจ้งซึ่งธรรมนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองฉับไวไม่นานเลย. ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เราเข้าไปหาอุทกผู้รามบุตรถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า" มีเท่านี้หรือ ที่ท่านบรรลุถึง ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วประกาศแก่ผู้อื่นอยู่?" "เท่านี้เองผู้มีอายุ ! ที่เราบรรลุถึงทำให้แจ้งแล้วประกาศแก่ผู้อื่น". "ท่านรามะ! ถึงเราก็ได้บรรลุทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเท่านั้นเหมือนกัน".

ราชกุมาร ! อุทกผู้รามบุตรได้กล่าวกะเราว่า "ลาภของเราแล้ว ท่านผู้มีอายุ ! เราได้ดีแล้ว, ท่านผู้มีอายุ ! มิเสียแรงที่ได้พบเพื่อนร่วมพรหมจรรย์เช่นกับท่านผู้ทำให้แจ้งธรรมที่รามะรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง, แม้รามะก็ทำให้แจ้งธรรมที่ท่านทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองนั้น อย่างเดียวกัน. รามะรู้ทั่วถึงธรรมใด ท่านรู้ธรรมนั้น, ท่านรู้ธรรมใด รามะรู้ทั่วถึงธรรมนั้น, รามะเป็นเช่นใด ท่านเป็นเช่นนั้น, ท่านเป็นเช่นใด รามะเป็นเช่นนั้น ; มาเถิดท่านผู้มีอายุ ! ท่านจงปกครองคณะนี้ต่อไป" .

ราชกุมาร ! อุทกรามบุตรเมื่อเป็นสพรหมจารีต่อเรา ก็ได้ตั้งเราไว้ในฐานะแห่งอาจารย์นั่นเทียว ; ได้บูชาเราด้วยการบูชาอันยิ่ง, ราชกุมาร ! (เมื่อเราได้เสมอด้วยอาจารย์ ได้การบูชาที่ยิ่งดังนั้น) ได้เกิดความรู้สึกนี้ว่า "ธรรมนี้จะได้เป็นไปพร้อมเพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อรำงับ เพื่อสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อรู้พร้อม เพื่อนิพพาน ก็หาไม่, แต่เป็นไปพร้อม เพียงเพื่อการบังเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภพ เท่านั้นเอง". ราชกุมาร ! ตถาคต (เมื่อเห็นโทษในสมาบัติทั้งแปด) จึงไม่พอใจในธรรมนั้น เบื่อหน่ายจากธรรมนั้น หลีกไปเสีย.

ที่มาเหมือนกันกับอาฬารดาบส.
บาลี โพธิราชกุมารสูตร ม.ม. ๑๓/๔๔๖/๔๙๐




เสด็จไปอุรุเวลาเสนานิคม


ราชกุมาร ! เรานั้นเมื่อหลีกไปจากสำนักอุทกผู้รามบุตรแล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติอันไม่มีอื่นยิ่งกว่า, เที่ยวจาริกไปตามลำดับหลายตำบลในมคธรัฐ จนบรรลุถึงตำบล อุรุเวลาเสนานิคม พักแรมอยู่ ณ ตำบลนั้น. ณ ที่นั้น เราได้พบภาคพื้นรมณียสถาน มีชัฏป่าเยือกเย็นแม่น้ำไหลใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ มีบ้านสำหรับโคจรตั้งอยู่โดยรอบ. ราชกุมาร ! เราได้เห็นแล้ว เกิดความรู้สึกว่า "ภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์จริง ชัฏป่าเย็นเยือก แม่น้ำไหลใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ ทั้งที่โคจรก็ตั้งอยู่โดยรอบ, ที่นี้สมควรเพื่อจะตั้งความเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการด้วยความเพียร" ดังนี้. ราชกุมาร ! เรานั่งพักอยู่ ณ ตำบลนั้นเองด้วยคิดว่าที่นี้สมควรแล้วเพื่อการตั้งความเพียร ดังนี้.

บาลี โพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ม.ม. ๑๓/๔๔๘/๔๙๑,
และสคารวสูตร พราหมณวรรค ม.ม., ปาสราสิสูตร มู.ม., มหาสัจจกสูตร มู.ม.



ทรงประพฤติอัตตกิลมถานุโยค
(วัตรของเดียรถีย์)


สารีบุตร ! เราตถาคตรู้เฉพาะซึ่ง พรหมจรรย์อันประกอบด้วยองค์ ๔ ที่ได้ประพฤติแล้ว; ตปัสสีวัตร เราก็ได้ประพฤติอย่างยิ่ง, ลูขวัตร เราก็ได้ประพฤติอย่างยิ่ง, เชคุจฉิวัตร เราก็ได้ประพฤติอย่างยิ่ง, ปวิวิตตวัตร เราก็ได้ประพฤติอย่างยิ่ง.

ในวัตร ๔ อย่างนั้น นี้เป็น ตปัสสีวัตร (วัตรเพื่อมีตบะ) ของเราคือเราได้ประพฤติเปลือยกาย มีมรรยาทอันปล่อยทิ้งเสียแล้ว เป็นผู้ประพฤติเช็ดอุจจาระของตนด้วยมือ ถือเป็นผู้ไม่รับอาหารที่เขาร้องเชิญว่าท่านผู้เจริญจงมา ไม่รับอาหารที่เขาร้องนิมนต์ว่าท่านผู้เจริญจงหยุดก่อน ไม่ยินดีในอาหารที่เขานำมาจำเพาะ ไม่ยินดีในอาหารที่เขาทำอุทิศเจาะจง ไม่ยินดีในอาหารที่เขาร้องนิมนต์เราไม่รับอาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก ไม่รับอาหาร ของชนสองคนผู้บริโภคอยู่ ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับอาหารของหญิงที่กำลังให้บุตรดื่มนมอยู่ ไม่รับอาหารของหญิงผู้ไปในระหว่างแห่งบุรุษ ไม่รับอาหารในอาหารที่มนุษย์ชักชวนร่วมกันทำ ไม่รับอาหารในที่ที่มีสุนัขเข้าไปยืนเฝ้าอยู่ ไม่รับอาหารในที่ที่เห็นแมลงวันบินไปเป็นหมู่ๆ ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่รับสุรา ไม่รับเมรัย ไม่ดื่มน้ำอันดองด้วยแกลบ เรารับเรือนเดียวฉันคำเดียวบ้าง รับสองเรือนฉันสองคำบ้าง รับสามเรือนฉันสามคำบ้าง ....ฯลฯ....รับเจ็ดเรือนฉันเจ็ดคำบ้าง, เราเลี้ยงร่างกายด้วยอาหารในภาชนะน้อยๆ ภาชนะเดียวบ้าง เลี้ยงร่างกายด้วยอาหารในภาชนะน้อย ๆ สองภาชนะบ้าง ..ฯลฯ... เลี้ยงร่างกายด้วยอาหารในภาชนะน้อยๆ เจ็ดภาชนะบ้าง เราฉันอาหารที่เก็บไว้วันเดียวบ้าง ฉันอาหารที่เก็บไว้สองวันบ้าง ....ฯลฯ.... ฉันอาหารที่เก็บไว้เจ็ดวันบ้าง, เราประกอบความเพียรในภัตรและโภชนะมีปริยายอย่างนี้ จนถึงกึ่งเดือนด้วยอาการอย่างนี้. เรานั้น มีผักเป็นภักษาบ้าง มีสารแห่งหญ้ากับแก้เป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีเปลือกไม้เป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีรำข้าวเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีข้าวสารหักเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัย (ขี้วัว) เป็นภักษาบ้าง มีผลไม้และรากไม้ในป่าเป็นอาหารบ้างบริโภคผลไม้อันเป็นไป (หล่นเอง) ยังชีวิตให้เป็นไปบ้าง. เรานั้นนุ่งห่มด้วยผ้าป่านบ้าง นุ่งห่มผ้าเจือกันบ้าง นุ่งห่มผ้าที่เขาทิ้งไว้กับซากศพบ้าง นุ่งห่มผ้าคลุกฝุ่นบ้างนุ่งห่มเปลือกไม้บ้าง นุ่งห่มหนังอชินะบ้าง นุ่งห่มหนังอชินะทั้งเล็บบ้าง นุ่งห่มแผ่นหญ้าคากรองบ้าง นุ่งห่มแผ่นปอกรองบ้าง นุ่งห่มแผ่นกระดานกรองบ้าง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมคนบ้าง นุ่งห่มผ้ากัมพลทำด้วยขนหางสัตว์บ้าง นุ่งห่มปีกนกเค้าบ้าง (ศัพท์นี้แปลกที่ไม่มีคำว่ากัมพล) เราตัดผมและหนวด ประกอบตามซึ่งความเพียรในการตัดผมและหนวด, เราเป็นผู้ยืนกระหย่งห้ามเสียซึ่งการนั่ง, เป็นผู้เดินกระหย่ง ประกอบตามซึ่งความเพียรในการเดินกระหย่งบ้าง, เราประกอบการยืนการเดินบนหนาม สำเร็จการนอนบนที่นอนทำด้วยหนาม, เราประกอบตามซึ่งความเพียรในการลงสู่น้ำ เวลาเย็นเป็นครั้งที่สามบ้าง, เราประกอบตามซึ่งความเพียรในการทำ (กิเลสใน) กายในเหือดแห้ง ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่นนี้ ด้วยอาการอย่างนี้. สารีบุตร ! นี่แลเป็นวัตรเพื่อความเป็นผู้มีตบะ ของเรา.

สารีบุตร ! ในวัตรสี่อย่างนั้น นี้เป็น ลูขวัตร (วัตรในการเศร้าหมอง) ของเรา คือธุลีเกรอะกรังแล้วที่กาย สิ้นปีเป็นอันมากเกิดเป็นสะเก็ดขึ้น. สารีบุตร ! เปรียบเหมือนตอตะโกนานปีมีสะเก็ดขึ้นแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น ธุลีเกรอะกรังแล้วที่กาย สิ้นปีเป็นอันมากจนเกิดเป็นสะเก็ดขั้น. สารีบุตร ! ความคิดนึกว่า โอหนอเราพึงลูบธุลีนี้ออกเสียด้วยฝ่ามือเถิด ดังนี้ ไม่มีแก่เรา, แม้ความคิดนึกว่าก็หรือชนเหล่าอื่นพึงลูบธุลีนี้ออกเสียด้วยฝ่ามือเถิด ดังนี้ ก็มิได้มีแก่เรา. ดูก่อนสารีบุตร ! นี้แล เป็นวัตรในความเป็นผู้เศร้าหมองของเรา.

สารีบุตร ! ในวัตรสี่อย่างนั้น นี้เป็น เชคุจฉิวัตร (วัตรในความเป็นผู้รังเกียจ) ของเราคือ ดูก่อนสารีบุตร ! เรานั้นมีสติก้าวขาไป มีสติก้าวขากลับ โดยอาการเท่าที่ความเอ็นดูอ่อนโยนของเราพึงบังเกิดขึ้น แม้ในหยาดแห่งน้ำ ว่าเราอย่าทำสัตว์น้อยๆ ทั้งหลายที่มีคติไม่เสมอกันให้ลำบากเลย. สารีบุตร ! นี้แลเป็นวัตรในความเป็นผู้รังเกียจของเรา.

สารีบุตร ! ในวัตรสี่อย่างนั้น นี้เป็น ปวิวิตตวัตร (วัตรในความเป็นผู้สงัดทั่วแล้ว) ของเรา คือ ดูก่อนสารีบุตร ! เรานั้นเข้าสู่ราวป่าแห่งใดแห่งหนึ่งแล้วแลอยู่ เมื่อเห็นคนเลี้ยงโค หรือคนเลี้ยงปศุสัตว์ หรือคนเกี่ยวหญ้า หรือคนหาไม้ หรือคนทำงานในป่ามา เราก็รีบลัดเลาะจากป่านี้ไปป่าโน้น จากรกชัฏนี้สู่รกชัฏโน้น จากลุ่มนี้สู่ลุ่มโน้น จากดอนนี้สู่ดอนโน้น เพราะเหตุคิดว่า ขอคนพวกนั้นอย่าเห็นเราเลยและเราก็อย่าได้เห็นชนพวกนั้น. สารีบุตร ! เปรียบเหมือนเนื้ออันอยู่ในป่า เห็นมนุษย์แล้วย่อมเลาะลัดจากป่านี้สู่ป่าโน้น จากรกชัฏนี้สู่รกชัฏโน้น จากลุ่มนี้สู่ลุ่มโน้น จากดอนนี้สู่ดอนโน้น, ฉันใดก็ฉันนั้น ที่เราเมื่อเห็นคนเลี้ยงโคหรือคนเลี้ยงปศุสัตว์หรือคนเกี่ยวหญ้า คนหาไม้ คนทำงานในป่ามาก็รีบเลาะลัดจากป่านี้สู่ป่าโน้น จากรกชัฏนี้สู่รกชัฏโน้น จากลุ่มนี้สู่ลุ่มโน้น จากดอนนี้สู่ดอนโน้น ด้วยหวังว่าคนพวกนี้อย่าเห็นเราเลย และเราก็อย่าได้เห็นคนพวกนั้น. สารีบุตร ! นี้แล เป็นวัตรในความเป็นผู้สงัดทั่วของเรา.

สารีบุตร ! เรานั้น โคเหล่าใดออกจากคอกหาคนเลี้ยงมิได้, เราก็คลานเข้าไปในที่นั้นถือเอาโคมัยของลูกโคน้อยๆที่ยังดื่มนมแม่เป็นอาหาร. สารีบุตร ! มูตรและกรีส (ปัสสาวะและอุจจาระ) ของตนเอง ยังไม่หมดเพียงใด เราก็ถือมูตรและกรีสนั้นเป็นอาหารตลอดกาลเพียงนั้น. ดูก่อน สารีบุตร ! นี้แลเป็นวัตรใน มหาวิกฏโภชนวัตร ของเรา.

สารีบุตร ! เราแลเข้าไปสู่ชัฏแห่งป่าน่าพึงกลัวแห่งใดแห่งหนึ่งแล้วแลอยู่. เพราะชัฏแห่งป่านั้นกระทำซึ่งความกลัวเป็นเหตุ ผู้ที่มีสันดานยังไม่ปราศจากราคะ เข้าไปสู่ชัฏป่านั้นแล้ว โลมชาติย่อมชูชันโดยมาก. สารีบุตร ! เรานั้นในราตรีทั้งหลายอันมีในฤดูหนาวระหว่างแปดวัน เป็นสมัยที่ตกแห่งหิมะอันเย็นเยือกกลางคืนเราอยู่ที่กลางแจ้ง กลางวันเราอยู่ในชัฏแห่งป่า. ครั้นถึงเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน กลางวันเราอยู่ในที่แจ้ง กลางคืนเราอยู่ในป่า. สารีบุตร ! คาถาน่าเศร้านี้ อันเราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน มาแจ้งแก่เราว่า :-

"เรานั้นแห้ง (ร้อน) แล้วผู้เดียว, เปียกแล้วผู้เดียว, อยู่ในป่า
น่าพึงกลัวแต่ผู้เดียว, เป็นผู้มีกายอันเปลือยเปล่า ไม่ผิงไฟ,
เป็นมุนีขวนขวายแสวงหาความบริสุทธิ์." ดังนี้.

สารีบุตร ! เรานั้นนอนในป่าช้า ทับกระดูกแห่งซากศพทั้งหลายฝูงเด็กเลี้ยงโคเข้ามาใกล้เรา โห่ร้องใส่หูเราบ้าง ถ่ายมูตรรดบ้าง ซัดฝุ่นใส่บ้างเอาไม้แหลมๆ ทิ่มช่องหูบ้าง. สารีบุตร ! เราไม่รู้สึกซึ่งจิตอันเป็นบาปต่อเด็กเลี้ยงโคทั้งหลายเหล่านั้นแม้ด้วยการทำความคิดนึกให้เกิดขึ้น. สารีบุตร ! นี้เป็นวัตรในการอยู่อุเบกขาของเรา.

สารีบุตร ! สมณพราหมณ์บางพวกมักกล่าวมักเห็นอย่างนี้ว่า "ความบริสุทธิ์มีได้เพราะอาหาร", สมณพราหมณ์พวกนั้นกล่าวกันว่า พวกเราจงเลี้ยงชีวิตให้เป็นไปด้วยผลกะเบา ทั้งหลายเถิด. สมณพราหมณ์เหล่านั้นจึงเคี้ยวกินผลกะเบาบ้าง เคี้ยวกินกะเบาตำผงบ้าง ดื่มน้ำคั้นจากผลกะเบาบ้าง ยิ่งบริโภคผลกะเบาอันทำให้แปลกๆ มีอย่างต่าง ๆ บ้าง. สารีบุตร ! เราก็ได้ใช้กะเบาผลหนึ่งเป็นอาหาร. สารีบุตร ! คำเล่าลืออาจมีแก่เธอว่า ผลกะเบาในครั้งนั้น ใหญ่มากข้อนี้เธออย่าเห็นอย่างนั้น ผลกะเบาในครั้งนั้น ก็โตเท่านี้เป็นอย่างยิ่งเหมือนในครั้งนี้เหมือนกัน. สารีบุตร ! เมื่อเราฉันกะเบาผลเดียวเป็นอาหาร ร่างกายได้ถึงความซูบผอมอย่างยิ่ง. เถาวัลย์อาสีติกบรรพหรือเถากาฬบรรพมีสัณฐานเช่นไร อวัยวะน้อยใหญ่ของเรา ก็เป็นเหมือนเช่นนั้น เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย. รอยเท้าอูฐมีสัณฐานเช่นไร รอยตะโพกนั่งทับของเราก็มีสัณฐานเช่นนั้น เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย. เถาวัฏฏนาวฬีมีสัณฐานเช่นใด กระดูกสันหลังของเราก็เป็นข้อๆ มีสัณฐานเช่นนั้น เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย. กลอน (หรือจันทัน) แห่งศาลาที่คร่ำคร่าเกะกะมีสัณฐานเช่นไร ซี่โครงของเราก็เกะกะมีสัณฐานเช่นนั้น เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย. ดวงดาวที่ปรากฏในน้ำในบ่อน้ำอันลึก ปรากฏอยู่ลึกฉันใด ดวงดาวคือลูกตาของเรา ปรากฏอยู่ลึกในเบ้าตาฉันนั้น เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย. น้ำเต้าที่เขาตัดแต่ยังอ่อน ครั้นถูกลมและแดดย่อมเหี่ยวยู่ยี่ มีสัณฐานเป็นเช่นไร หนังศีรษะแห่งเราก็เหี่ยวยู่มีสัณฐานเช่นนั้น เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย. สารีบุตร ! เราตั้งใจว่าลูบท้อง ก็ลูบถูกกระดูกสันหลังด้วย, ตั้งใจว่าลูบกระดูกสันหลังก็ลูบถูกท้องด้วย. สารีบุตร ! หนังท้องกับกระดูกสันหลังของเราชิดกันสนิท เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย. สารีบุตร! เรา เมื่อคิดว่าจักถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็ล้มพับอยู่ตรงนั้น เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย. สารีบุตร! เรา เมื่อจะบรรเทาซึ่งกายนั้นให้มีความสุขบ้าง จึงลูบตัวด้วยฝ่ามือ, เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือ ขนที่มีรากเน่าแล้วได้หลุดออกจากกายร่วงไป เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย.

(ต่อจากนี้ มีเรื่องการบริสุทธิ์เพราะอาหารอย่างเดียวกับการบริโภคผลกะเบา ต่างกันแต่แทนผลกะเบา กลายเป็น ถั่วเขียว, งา, ข้าวสาร เท่านั้น. พระองค์ได้ทดลองเปลี่ยนทุกๆ อย่าง. เรื่องตั้งแต่ต้นมา แสดงว่าพระองค์ได้ทรงเคยประพฤติวัตรของเดียรถีย์ ที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค แล้วทุกๆ อย่าง สรุปเรียกได้ว่าส่วนสุดฝ่ายข้างตึง ที่พระองค์สอนให้เว้น ในยุคหลัง. วัตรเหล่านี้สันนิษฐานว่าทำทีหลังการไปสำนัก ๒ ดาบส. ถ้าทีหลังก็ต้องก่อนเบญจวัคคีย์ไปอยู่ด้วย ยุติเป็นอย่างไรแล้วแต่จะวินิจฉัย เพราะระยะทำความเพียรนานถึง ๖ ปี ได้เหตุผลเป็นอย่างไรโปรดเผยแผ่กันฟังด้วย).

ตรัสเล่าแก่พระสารีบุตร, บาลี มหาสีหนาทสูตร สีหนาทวรรค มู.ม. ๑๒/๑๕๕/๑๗๗, ที่วนสัณฑ์ ใกล้เมืองเวสาลี.
วัตรเหล่านี้ในบาลีไม่แสดงไว้ชัดว่า ทรงทำก่อนหรือหลังการไปสำนัก ๒ ดาบส หรือคราวเดียวกับทุกรกิริยาอดอาหาร.



อุปมาปรากฏแจ่มแจ้ง


ราชกุมาร ! เรื่องประหลาดเกิดมีแก่เรา : อุปมาสามข้อ เป็นอัศจรรย์ที่ไม่เคยได้ยินมาแล้ว มาแจ่มแจ้งแก่เรา.

(๑) ราชกุมาร ! อุปมาข้อหนึ่ง ว่า เหมือนไม้สดชุ่มด้วยยาง ทั้งเขาตัดลงแช่น้ำไว้, ถ้าบุรุษตั้งใจว่าเราจะนำไม้สีไฟอันบน มาสีกับไม้นั้นให้ไฟเกิดปรากฏดังนี้, ราชกุมาร ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร บุรุษนั้นจักถือไม้สีไฟอันบนมาสีไฟให้เกิดปรากฏขึ้นได้หรือไม่ ? "พระองค์ผู้เจริญ ! ไม่ได้เลย, เพราะเหตุว่าโน้นเป็นไม้สดชุ่มด้วยยาง ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ เขาสีตลอดกาลเพียงใด จักต้องเหน็ดเหนื่อยคับแค้นเปล่าเพียงนั้น". ราชกุมาร ! ฉันใดก็ฉันนั้น สมณะหรือพราหมณ์พวกใด กายยังไม่หลีกออกจากวัตถุกาม ใจก็ยังระคนด้วยกิเลสกามอันทำความพอใจ ความเยื่อใยความเมาหมก ความกระหาย ความรุ่มร้อน ในวัตถุกามทั้งหลาย, เขายังละไม่ได้ยังรำงับไม่ได้ ซึ่งกิเลสกามอันเป็นภายในเหล่านั้น, ท่านสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ถึงจะได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแข็งเผ็ดร้อน เพราะการทำความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยก็ดี ย่อมไม่ควรเพื่อเกิดปัญญารู้เห็นอันไม่มีปัญญาอื่นยิ่งไปกว่าได้เลย. ราชกุมาร! นี่เป็นอุปมาทีแรกที่เป็นอัศจรรย์ที่เราไม่เคยได้ยินมาแล้วแต่ก่อน ได้มาแจ่มแจ้งแก่เราแล้ว.

(๒) ราชกุมาร! อุปมาข้อสอง เป็นอัศจรรย์ที่เราไม่เคยได้ยินมาแล้ว ได้มาแจ่มแจ้งแก่เรา. ราชกุมาร ! อุปมาว่าไม้สดชุ่มด้วยยาง วางอยู่บนบก ไกลจากน้ำหากบุรุษตั้งใจว่า เราจักนำไม้สีไฟอันบนมาสีกับไม้นั้นให้ไฟเกิดปรากฏดังนี้, ท่านจักเข้าใจว่าอย่างไร บุรุษนั้นจักถือเอาไม้สีไฟอันบน มาสีให้เกิดไฟปรากฏขึ้นได้หรือไม่? "พระองค์ผู้เจริญ ! ไม่ได้เลย, เพราะเหตุว่าโน้นเป็นไม้สดชุ่มด้วยยาง แม้วางอยู่บนบกก็จริง เขาจะสีไปตลอดกาลเพียงใด ก็จะเหน็ดเหนื่อยคับแค้นเปล่า ตลอดกาลเพียงนั้น". ราชกุมาร ! ฉันใดก็ฉันนั้น สมณะหรือพราหมณ์พวกใด มีกายหลีกออกจากวัตถุกามแล้ว แต่ใจยังระคนด้วยกิเลสกามอันทำความพอใจ ความเยื่อใย ความเมาหมกความกระหาย ความรุ่มร้อน ในวัตถุกามทั้งหลาย, เขายังละไม่ได้ ระงับไม่ได้ซึ่งกิเลสกามอันเป็นภายในเหล่านั้น, สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น จะได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแข็งเผ็ดร้อน เพราะทำความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่ควรเพื่อจะเกิดปัญญารู้เห็นอันไม่มีปัญญาอื่นยิ่งไปกว่าได้เลย. ราชกุมาร! นี่เป็นอุปมาที่สอง ที่เป็นอัศจรรย์ อันเราไม่เคยได้ยินมาแล้วแต่ก่อน ได้มาแจ่มแจ้งแก่เราแล้ว.

(๓) ราชกุมาร ! อุปมาข้อสาม ที่เป็นอัศจรรย์อันเราไม่เคยได้ยินมาแล้ว มาแจ่มแจ้งแก่เรา. ราชกุมาร ! อุปมาว่าไม้แห้งสนิท ทั้งวางไว้บนบกไกลจากน้ำ, หากบุรุษตั้งใจว่าเราจักนำไม้สีไฟอันบนมาสีกับไม้นั้น ให้ไฟเกิดปรากฏขึ้น ดังนี้, ราชกุมาร ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร บุรุษนั้นจักนำไม้สีไฟอันบนมาสีกับไม้นั้นให้ไฟเกิดปรากฏขึ้นได้หรือไม่? "พระองค์ผู้เจริญ ! ได้โดยแท้, เพราะเหตุว่าโน้นเป็นไม้แห้งเกราะ ทั้งอยู่บนบกไกลจากน้ำด้วย". ราชกุมาร ! ฉันใดก็ฉันนั้น สมณะหรือพราหมณ์พวกใด มีกายละจากวัตถุกามแล้ว ทั้งใจก็ไม่ระคนอยู่ด้วยกิเลสกามอันทำความพอใจ ความเยื่อใย ความเมาหมก ความกระหาย ความรุ่มร้อน ในวัตถุกามทั้งหลาย, เขาเป็นผู้ละได้ ระงับได้ซึ่งกิเลสกามอันเป็นภายในเหล่านั้น. สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น จะได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแข็งเผ็ดร้อนเพราะทำความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยก็ดี ย่อมควรเพื่อเกิดปัญญารู้เห็นอันไม่มีปัญญาอื่นยิ่งไปกว่า ได้. ราชกุมาร ! นี่เป็นอุปมาที่สาม ที่เป็นอัศจรรย์อันเราไม่เคยได้ยินมาแล้วแต่ก่อน ได้มาแจ่มแจ้งกะเราแล้ว.

บาลี โพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ม.ม. ๑๓/๔๔๘/๔๙๒.
และ สคารวสูตร พราหมณวรรค ม.ม.,
มหาสัจจกสูตร มหายมกวรรค มู.ม.;
ความตอนนี้ ปาสราสิสูนร มู.ม. ไม่มี.

ทุกรกิริยา


(วาระที่ ๑) ราชกุมาร! ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึงขบฟันด้วยฟัน อัดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบให้แน่นจนร้อนจัดดูที. ราชกุมาร! ครั้นเราคิดดังนั้นแล้ว จึงขบฟันด้วยฟัง อัดเพดานด้วยลิ้นข่มจิตด้วยจิต บีบให้แน่นจนร้อนจัดแล้ว เหงื่อไหลออกจากรักแร้ทั้งสอง, ราชกุมาร! เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงจับคนกำลังน้อยที่ศีรษะหรือที่คอ บีบให้แน่นจนร้อนจัดฉะนั้น. ราชกุมาร! แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่, เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงเอา.

(วาระที่ ๒) ราชกุมาร! ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึงเพ่งฌาน เอาการไม่หายใจเป็นอารมณ์เถิด. ราชกุมาร! ครั้นคิดดังนั้นแล้วเราจึงกลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางจมูกและทางปาก. ราชกุมาร! ครั้นเรากลั้นลมหายใจทั้งทางจมูกและทางปาก เสียงลมออกทางช่องหูทั้งสองดังเหลือประมาณเหมือนเสียงลมในสูบแห่งนายช่องทองที่สูบไปสูบมาฉะนั้น. ราชกุมาร! แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงเอา.

(วาระที่ ๓) ราชกุมาร! ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึงเพ่งฌาน มีการไม่หายใจนั่นแหละ (ให้ยิ่งขึ้น) เป็นอารมณ์เถิด. ราชกุมาร! ครั้นคิดดังนั้นแล้ว เราจึงกลั้นลมหายใจออกเข้า ทั้งทางจมูกทางปากและทางช่องหูทั้งสองแล้ว. ราชกุมาร! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้า ทั้งทางจมูกทางปากและทางช่องหูทั้งสองแล้ว ลมกล้าเหลือประมาณ แทงเซาะขึ้นไปทางบนกระหม่อมเหมือนถูกบุรุษแข็งแรง เชือดเอาที่แสกกระหม่อมด้วยมีดโกนอันคม ฉะนั้น. ราชกุมาร! แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้วจะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะได้ฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะความเพียรที่ทนได้แสนยากเสียดแทงเอา.

(วาระที่ ๔) ราชกุมาร! ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึงเพ่งฌาน มีการไม่หายใจนั่นแหละ (ให้ยิ่งขึ้นไปอีก) เป็นอารมณ์เถิด. ราชกุมาร! ครั้นคิดดังนั้นแล้ว เราได้กลั้นลมหายใจออกเข้า ทั้งทางจมูกทางปากและทางช่องหูทั้งสองแล้ว. ราชกุมาร! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้า ทั้งทางจมูกทางปากและทางช่องหูทั้งสองแล้ว รู้สึกปวดศีรษะทั่วไปทั้งศีรษะ เหลือประมาณ เปรียบปานถูกบุรุษแข็งแรง รัดศีรษะเข้าทั้งศรีษะด้วยเชือกมีเกลียวอันเขม็งฉะนั้น. ราชกุมาร! แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะความเพียรที่ทนได้แสนยากเสียดแทงเอา.

(วาระที่ ๕) ราชกุมาร! ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึงเพ่งฌานมีการไม่หายใจนั่นแหละ (ให้ยิ่งขึ้นไปอีก) เป็นอารมณ์เถิด. ราชกุมาร! ครั้นคิดดังนั้นแล้ว เราได้กลั้นลมหายใจออกเข้า ทั้งทางจมูกและทางปากและทางช่องหูทั้งสอง. ราชกุมาร! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางจมูกและทางปากและทางช่องหูทั้งสองแล้ว ลมกล้าเหลือประมาณหวนกลับลงแทงเอาพื้นท้อง ดุจถูกคนฆ่าโคหรือลูกมือตัวขยันของเขา เฉือนเนื้อพื้นท้องด้วยมีดสำหรับเฉือนเนื้อโคอันคมฉะนั้น. ราชกุมาร! แต่ความเพียรของเราจะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะได้ฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้แสนยากเสียดแทงเอา.

(วาระที่ ๖) ราชกุมาร! ความคิดอันนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึงเพ่งฌานมีการไม่หายใจนั่นแหละ (ให้ยิ่งขึ้นไปอีก) เป็นอารมณ์เถิด. ราชกุมาร! ครั้นคิดดังนั้นแล้ว เราได้กลั้นลมหายใจออกเข้าไว้ทั้งทางจมูกและทางปากและทางช่องหูทั้งสอง. ราชกุมาร! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าไว้ทั้งทางจมูกทางปากและทางช่องหูทั้งสอง ก็เกิดความร้อนกล้าขึ้นทั่วกาย ดุจถูกคนแข็งแรงสองคนช่วยกันจับคนที่กำลังน้อยที่แขนข้างละคนแล้ว ย่างรมไว้เหนือหลุมถ่านเพลิงอันระอุฉะนั้น. ราชกุมาร! แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้วจะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระวนกระวายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้แสนยากเสียดแทงเอา.

โอ ราชกุมาร! พวกเทวดาเห็นเราแล้วพากันกล่าวว่า พระสมณโคดมทำกาละเสียแล้ว, บางพวกกล่าวว่า พระสมณโคดมไม่ใช่ทำกาละแล้ว เป็นแต่กำลังทำกาละอยู่, บางพวกกล่าวว่า ไม่ใช่เช่นนั้น จะว่าพระสมณโคดมทำกาละแล้วหรือกำลังทำกาละอยู่ ก็ไม่ชอบทั้งสองสถาน พระสมณโคดมเป็นพระอรหันต์ นั่นเป็นการอยู่ของท่าน, การอยู่เช่นนั้นเป็นการอยู่ของพระอรหันต์ ดังนี้.

(วาระที่ ๗) ราชกุมาร! ความคิดอันนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึงปฏิบัติการอดอาหารโดยประการทั้งปวงเสีย. ราชกุมาร! ครั้งนั้นพวกเทวดาเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า "ท่านผู้นิรทุกข์! ท่านอย่าปฏิบัติการอดอาหารโดยประการทั้งปวงเลย ถ้าท่านจักปฏิบัติการอดอาหารโดยประการทั้งปวงไซร้ พวกข้าพเจ้าจักแทรกโอชาอันเป็นทิพย์ลงตามขุมขนของท่าน ท่านจักมีชีวิตอยู่ได้ด้วยโอชาทิพย์นั้น". ราชกุมาร! ความคิดนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า เราปฏิญญาการไม่บริโภคอาหารด้วยประการทั้งปวงด้วยตนเอง ถ้าเทวดาเหล่านี้แทรกโอชาอันเป็นทิพย์ลงตามขุมขนแห่งเราแล้ว ถ้าเราจะมีชีวิตอยู่ด้วยโอชานั้น ข้อนั้นจักเป็นมุสาแก่เราไปดังนี้. ราชกุมาร! เราบอกห้ามกะเทวดาเหล่านั้นว่าอย่าเลย.

ราชกุมาร! ความคิดอันนี้ได้เกิดมีแก่เราว่า ถ้ากระไรเราบริโภคอาหารผ่อนให้น้อยลง วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้างดังนี้. ราชกุมาร! เราได้บริโภคอาหารผ่อนน้อยลง วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง แล้ว. ราชกุมาร! เมื่อเป็นเช่นนั้นร่างกายของเราได้ถึงการซูบผอมลงยิ่งนัก. เพราะโทษที่เรามีอาหารน้อย อวัยวะใหญ่น้อยของเราเป็นเหมือนเถาวัลย์อาสีติกบรรพ หรือเถากาฬบรรพ, เนื้อที่ตะโพกที่นั่งทับของเรา มีสัณฐานดังเท้าอูฐ, ข้อกระดูกสันหลังของเราผุดขึ้นระกะราวกะเถาวัลย์วัฏฏนาวลี, ซี่โครงของเราโหรงเหรงเหมือนกลอนศาลาอันเก่าคร่ำคร่า, ดาวคือดวงตาของเรา ถล่มลึกอยู่ในกระบอกตา ดุจเงาแห่งดวงดาวที่ปรากฏอยู่ในบ่อน้ำอันลึกฉะนั้น, ผิวหนังศีรษะของเรา เหี่ยวย่นเหมือนน้ำเต้าอ่อนที่ตัดมาแต่ยังสด ถูกแดดเผาเหี่ยวย่นเช่นเดียวกัน. ราชกุมาร! เราคิดว่าจะจับพื้นท้องครั้นจับเข้าก็ถูกถึงกระดูกสันหลังตลอดไป, คิดว่าจะจับกระดูกสันหลัง ครั้นจับเข้าก็ถูกถึงพื้นท้องด้วย. ราชกุมาร! ตถาคตคิดจะถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ก็เซล้มราบอยู่ ณ ที่นั้นเอง. ราชกุมาร! ตถาคตหวังจะให้กายมีความสุขบ้าง จึงลูบไปตามตัวด้วยฝ่ามือ ขนมีรากอันเน่าหลุดตกลงจากกาย.

โอ ราชกุมาร! มนุษย์ทั้งหลายเห็นเราแล้วกล่าวว่า พระสมณโคดมดูดำไป, บางพวกกล่าวว่า พระสมณโคดมไม่ดำ เป็นแต่คล้ำไป, บางพวกกล่าวว่าจะดำก็ไม่เชิง จะคล้ำก็ไม่เชิง พระสมณโคดมมีผิวเผือดไปเท่านั้น. ราชกุมาร! ผิวพรรณที่เคยบริสุทธิ์ผุดผ่องของตถาคต มากลายเป็นถูกทำลายลงแล้ว เพราะความที่ตนมีอาหารน้อยนั้น.

บาลี โพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ม.ม. ๑๓/๔๕๒/๔๙๕;
และสคารวสูตร ม.ม. ๑๓/๖๗๘/๗๔๔;
มหาสัจจกสูตร มู.ม. ๑๒/๔๕๐/๔๑๗.
ความตอนนี้ ปาสราสิสูตรไม่มี.



ทรงแน่พระทัยว่าไม่อาจตรัสรู้เพราะการทำทุกรกิริยา


สารีบุตร! ด้วยอิริยา (เครื่องออกไปจากข้าศึก) แม้ชนิดนั้น ด้วยปฏิปทาชนิดนั้น ด้วยทุกรกิริยาชนิดนั้น, เราไม่ได้บรรลุแล้วซึ่งอลมริยญาณทัสสนวิเสส ที่ยิ่งไปกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์เลย. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ไม่มีการถึงทับซึ่งอริยปัญญา อันเป็นอริยปัญญาที่ถึงทับแล้วจักเป็นนิยยานิกธรรมอันประเสริฐ นำผู้ปฏิบัติตามนั้นให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นั่นเทียว.

หมายเหตุ : ข้อความเหล่านี้แสดงถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทรงกระทำทุกรกิริยาทุกรูปแบบแล้ว ทรงเห็นว่าไม่เป็นทางตรัสรู้ ก็ทรงเลิกเสีย, ทรงกลับพระทัยฉันอาหารหยาบ เพื่อบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป.

มหาสีหนาทสูตร มู.ม. ๑๒/๑๖๒/๑๘๖. ตรัสแก่พระสารีบุตร ที่อปรปูรวนสัณฑ์ นอกนครเวสาลี.


ทรงกลับพระทัยฉันอาหารหยาบ


ราชกุมาร! ความคิดอันนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ในอดีตกาลอันยาวยืดก็ดี...ในอนาคตกาลอันยาวยืดก็ดี...แม้ในปัจจุบันนี้ก็ดี, สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดที่ได้เสวยทุกขเวทนากล้าแข็งเผ็ดร้อนอันเกิดจากการทำความเพียร อย่างสูงสุดก็เท่าที่เราได้เสวยอยู่นี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้ได้, ก็แต่ว่าเราหาอาจบรรลุธรรมอันยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ หรืออลมริยญาณทัศนวิเศษ ด้วยทุกรกิริยาอันกล้าแข็งแสบเผ็ดนี้ไม่. ชะรอยหนทางแห่งการตรัสรู้จักพึงมีโดยประการอื่น.

ราชกุมาร! ความระลึกอันนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า เออก็เรายังจำได้อยู่เมื่องานแรกนาแห่งบิดา เรานั่ง ณ ร่มไม้หว้ามีเงาเย็นสนิท มีใจสงัดแล้วจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่ ชะรอยนั่นจักเป็นทางแห่งการตรัสรู้บ้าง ดังนี้. ราชกุมาร! วิญญาณอันแล่นไปตามความระลึก ได้มีแล้วแก่เราว่า นี่แล แน่แล้วหนทางแห่งการตรัสรู้ดังนี้.

ราชกุมาร! ความสงสัยอันนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า เราควรจะกลัวต่อความสุขชนิดที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมหรือไม่หนอ? ราชกุมาร! ความแน่ใจอันนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า เราไม่ควรกลัวต่อสุขอันเว้นจากกามและอกุศลทั้งหลาย. ราชกุมาร! ความคิดได้มีแก่เราสืบไปว่า ก็ความสุขชนิดนั้น คนที่มีร่างกายหิวโหยเกินกว่าเหตุเช่นนี้ จะบรรลุได้โดยง่ายไม่ได้เลย ถ้าไฉนเราพึงกลืนกินอาหารหยาบ คือข้าวสุกและขนมสดเถิด. ราชกุมาร! เราได้กลืนกินอาหารหยาบ คือข้าวสุกและขนมสดแล้ว.

โพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ม.ม. ๑๓/๔๕๘/๕๐๔,
และสคารวสูตร พราหมณวรรค ม.ม.,
มหาสัจจกสูตร มหายมกวรรค มู.ม.;
ปาสราสิสูตร ไม่มีข้อความนี้.



ภิกษุปัญจวัคคีย์หลีก


ราชกุมาร! เรานั้นได้กลืนกินอาหารหยาบ คือข้าวสุกและขนมสดแล้ว. ราชกุมาร! ก็ครั้งนั้นมีภิกษุผู้เป็นพวกกัน ๕ รูป (ปัญจวัคคีย์) เป็นผู้คอยบำรุงเราด้วยหวังอยู่ว่า พระสมณโคดมได้บรรลุธรรมใด จักบอกธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย. ราชกุมาร! ครั้นตถาคตกลืนกินอาหารหยาบ คือข้าวสุกและขนมสดแล้ว ภิกษุผู้เป็นพวกกัน ๕ รูปนั้น พากันหน่ายในเรา หลีกไปเสีย ด้วยคิดว่าพระสมณโคดมเป็น คนมักมากคลายความเพียรเวียนมาเป็น คนมักมาก เสียแล้ว ดังนี้.

โพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ม.ม. ๑๓/๔๕๙/๕๐๕,
และสคารวสูตร พราหมณวรรค ม.ม.,
มหาสัจจกสูตร มหายมกวรรค มู.ม.;
ปาสราสิสูตรไม่มี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น