วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พระวินัย ปาจิตติยกัณฑ์ ว่าด้วยอาบัติปาจิตตีย์ที่ไม่ต้องสละสิ่งของ

ปาจิตติยกัณฑ์
(ว่าด้วยอาบัติปาจิตตีย์ที่ไม่ต้องสละสิ่งของ)

อรรถกถาเรียกว่า ขุททกกัณฑ์ แปลว่า หมวดเล็กน้อย และเรียกนิสสัคคิยกัณฑ์วา ติงสกกัณฑ์ แปลว่า หมวด 30 สิกขาบท 

กัณฑ์นี้ มี 92 สิกขาบท แบ่งออกเป็น 9 วรรค ๆ ละ 10 สิกขาบท เว้นแต่วรรคที่ 8 มี 12 สิกขาบท.

อิเม โข ปนายสฺมนฺโต เทฺวนวุติ ปาจิตฺติยา ธมฺมา อุทฺเทสํ อาคจฺฉนฺติ.

1. มุสาวาทวรรค วรรคว่าด้วยการพูดปด เป็นวรรคที่ 1 มี 10 สิกขาบท

***

สิกขาบทที่ 1 มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์


ห้ามพูดปด (โกหก)

๑. สมฺปชานมุสาวาเท, ปาจิตฺติยํ.

"เป็นปาจิตตีย์ในเพราะสัมปชานมุสาวาท"

ต้นบัญญัติ

พระหัตถกะ ศากยุบุตร สนทนากับพวกเดียรถีย์ ปฏิเสธแล้วกลับรับ รับแล้วกลับปฏิเสธ กล้าพูดปดทั้ง ๆ รู้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้พูดปดทั้ง ๆ รู้. 

วิภังค์

ที่ชื่อว่า สัมปชานมุสาวาท ได้แก่ วาจา เสียงที่เปล่ง ถ้อยคำเป็นแนวทาง การเปล่งวาจา เจตนาที่ให้เขาเข้าใจทางวาจา ของบุคคลผู้จงใจจะพูดให้คลาดจากความจริง ได้แก่ 

คำพูดของอนารยชน 8 อย่าง คือ
  1. ไม่เห็น พูดว่าข้าพเจ้าเห็น
  2. ไม่ได้ยิน พูดว่าข้าพเจ้าได้ยิน
  3. ไม่ทราบ พูดว่าข้าพเจ้าทราบ
  4. ไม่รู้ พูดว่าข้าพเจ้ารู้
  5. เห็น พูดว่าข้าพเจ้าไม่เห็น
  6. ได้ยิน พูดว่าข้าพเจ้าไม่ได้ยิน
  7. ทราบ พูดว่าข้าพเจ้าไม่ทราบ
  8. รู้ พูดว่าข้าพเจ้าไม่รู้.
ที่ชื่อว่า ไม่ทราบ คือ ไม่ได้สูดดมด้วยจมูก ไม่ได้ลิ้มด้วยลิ้น ไม่ได้สัมผ้สด้วยกาย.

ที่ชื่อว่า ไม่รู้ คือ ไม่รู้ด้วยใจ.

อนาบัติ
  1. ภิกษุพูดพลั้ง (คือพูดเร็วไป) 
  2. ภิกษุพูดพลาด (คือตั้งใจว่าจักพูดคำอื่น แต่กลับพูดไปอีกอย่าง) 
  3. ภิกษุวิกลจริต 
  4. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้อง อาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. คิดจะกล่าวให้คลาดจากจริงเป็นเบื้องหน้า 
  2. ทำประโยคกายหรือวาจา ให้ผู้ฟังรู้ความที่ตนหมายจะกล่าวด้วยจิตจะพูดให้คลาดจากจริง
พร้อมด้วยองค์ 2 ดังนี้จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 177).

***

สิกขาบทที่ 2 มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์


ห้ามด่า

2. โอมสวาเท, ปาจิตฺติยํ.

"เป็นปาจิตตีย์ในเพราะโอมสวาท"

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับภิกษุผู้มีศีลอันเป็นที่รักอื่น ๆ แล้วด่า แช่ง ด้วยคำด่า ๑๐ ประการ 
พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ด่าภิกษุอื่น. 

วิภังค์

ที่ชื่อว่าโอมสวาท ได้แก่ คำพูดเสียดแทงให้เจ็บใจด้วยอาการ 10 อย่าง (อักโกสวัตถุ 10) คือ 
  1. ชาติ 
  2. ชื่อ 
  3. โคตร 
  4. การงาน
  5. ศิลปะ(วิชา) 
  6. โรค 
  7. รูปพรรณ 
  8. กิเลส 
  9. อาบัติ 
  10. คำด่า (ที่เลวอื่น ๆ)
อนาบัติ
  1. ภิกษุมุ่งอรรถ 
  2. ภิกษุมุ่งธรรม
  3. ภิกษุมุ่งสั่งสอน 
  4. ภิกษุวิกลจริ 
  5. ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน 
  6. ภิกษุกระสับกระส่ายเพราะเวทนา 
  7. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. ด่าผู้ใดผู้นั้นเป็นอุปสัมบัน
  2. ด่าด้วยชาติเป็นต้นไม่อ้างผู้อื่น 
  3. ผู้ต้องด่ารู้ว่าเขาด่าเรา 
  4. ไม่ทำอรรถะธรรมะ คำสอนเป็นเบื้องหน้า 
พร้อมด้วย องค์ 4 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 179).

***

สิกขาบทที่ 3 มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์


ห้ามพูดส่อเสียดให้ทะเลาะกัน

3. โอมสวาเท, ปาจิตฺติยํ.

“เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะส่อเสียดภิกษุ.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพีคคีย์พูดส่อเสียดภิกษุสองฝ่ายซึ่งทะเลาะกัน ฟังความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น ฟังความข้างโน้นไปบอกข้างนี้เพื่อให้แตกร้าวกัน ทำให้ทะเลาะกันยิ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้พูดส่อเสียดภิกษุอื่น. 

วิภังค์

ที่ชื่อว่า ส่อเสียด คือ ฟังคำของฝ่ายนี้แล้วบอกแก่ฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ ฟังคำของฝ่ายโน้นแล้วบอกแก่ฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น

ขยายความว่า วัตถุสำหรับเก็บมาส่อเสียด มีได้ด้วยอาการ 2 อย่าง คือ
  1. ของคนผู้ต้องการจะให้เขาชอบ
  2. ของคนผู้ประสงค์จะให้เขาแตกกัน
ภิกษุเก็บเอาวัตถุสำหรับส่อเสียดมากล่าวโดยอาการ 10 อย่าง คือ 
  1. ชาติ 
  2. ชื่อ 
  3. โคตร 
  4. การงาน 
  5. ศิลปะ 
  6. โรค
  7. รูปพรรณ 
  8. กิเลส 
  9. อาบัติ 
  10. คำด่า (ที่เลวอื่น ๆ)
อนาบัติ
  1. ภิกษุไม่ต้องการจะให้เขาชอบ 
  2. ภิกษุไม่ประสงค์จะให้เขาแตกกัน 
  3. ภิกษุวิกลจริต 
  4. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. ได้ยินภิกษุด่าว่าด้วยอักโกสวัตถุมีชาติเป็นต้น ไม่อ้างผู้อื่นแล้วนำไปบอกแก่ภิกษุผู้ถูกด่า 
  2. หวังจะให้ผู้ถูกด่ารักใคร่ตัว หรือให้เธอทั้ง 2 แตกกัน อย่างใดอย่างหนึ่ง 
  3. ผู้ถูกด่านั้นรู้ความ 
 พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 180).

***

สิกขาบทที่ 4 มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์


ห้ามกล่าวธรรมพร้อมกับผู้ไม่ได้บวชในขณะสอน

4. โย ปน ภิกฺขุ อนุปสมฺปนฺนํ ปทโส ธมฺมํ วาเจยฺย, ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใดยังอนุปสัมบันให้กล่าวธรรมโดยบทเป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์สอนอุบาสกทั้งหลายให้กล่าวธรรม (พร้อมกัน) โดยบท ทำให้อุบาสกเหล่านั้น ขาดความเคารพในภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้สอนธรรมแก่อนุปสัมบัน (คือผู้มิได้เป็นภิกษุหรือภิกษุณี) พร้อมกันโดยบท.

วิภังค์

ที่ชื่อว่า อนุปสัมบัน คือ ยกเว้นภิกษุ ภิกษุณี นอกนั้นชื่อว่าอนุปสัมบัน.

ที่ชื่อว่า ธรรม ได้แก่ บาลีที่เป็นพุทธภาษิต สาวกภาษิต อิสิภาษิต เทวตาภาษิต ซึ่งประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม.

อนาบัติ
  1. ภิกษุให้สวดพร้อมกัน 
  2. ท่องพร้อมกัน 
  3. อนุปสัมบันผู้กล่าวอยู่สวดอยู่ ซึ่งคัมภีร์ที่คล่องแคล่วโดยมาก 
  4. ภิกษุวิกลจริต 
  5. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
คัมภีร์ที่คล่องแคล่วโดยมาก หมายถึงว่าถ้าคาถา 1 คาถาจำไม่ได้เสีย 1 บาท ส่วนบาทที่เหลือจำได้ (กงฺขา.ฏีกา 371)

องค์แห่งอาบัติ 
  1. เป็นอนุปสัมบัน 
  2. สอนธรรมมีลักษณะดังกล่าวแล้วโดยบท 
  3. ให้จบลงในที่อันเดียวกัน 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า182).

***

สิกขาบทที่ 5 มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์


ห้ามนอนร่วมกับอนุปสัมบันเกิน 3 คืน

5. โย ปน ภิกฺขุ อนุปสมฺปนฺเนน อุตฺตริทฺวิรตฺตติรตฺตํ สห เสยฺยํ กปฺเปยฺย, ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วมกับอนุปสัมบัน ยิ่งกว่า 2-3 คืน เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

อุบาสกไปฟังธรรม นอนค้างที่วัด ในหอประชุม ภิกษุบวชใหม่ก็นอนร่วมกับเขาด้วย เป็นผู้ไม่มีสติสัมปัญญะ นอนเปลือยกาย ละเมอ กรน เป็นที่ติเตียนของอุบาสกเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้นอนร่วมกับอนุปสัมบัน๒ (ผู้มิใช่ภิกษุ). ต่อมาทรงผ่อนผันให้นอนร่วมกันได้ไม่เกิน 3 คืน.

อนาบัติ
  1. ภิกษุอยู่ 2-3 คืน 
  2. ภิกษุอยู่ไม่ถึง 2-3 คืน 
  3. ภิกษุอยู่ 2 คืนแล้ว คืนที่ 3 ออกไปก่อนอรุณ แล้วอยู่ใหม่ 
  4. อยู่ในสถานที่มุงทั้งหมด ไม่บังทั้งหมด 
  5. อยู่ในสถานที่บังทั้งหมด ไม่มุงทั้งหมด
  6. อยู่ในสถานที่ไม่มุงโดยมาก ไม่บังโดยมาก 
  7. อนุปสัมบันนอน ภิกษุนั่ง 
  8. ภิกษุนอน อนุปสัมบันนั่ง 
  9. หรือนั่งทั้งสอง 
  10. ภิกษุวิกลจริต 
  11. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. เสนาสนะเป็นวัตถุแห่งปาจิตตีย์ 
  2. นอนกับอนุปสัมบันในเสนาสนะนั้น
  3. อาทิตย์อัสดงคตลับไปในวันที่สี่ 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 183).

อนุสัมปันในที่นี้ หมายถึงผู้ชาย แต่ในสิกขาบทที่ ๔ หมายรวมทั้งหญิงและชาย

***

สิกขาบทที่ 6 มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์


ห้ามนอนร่วมกับผู้หญิง

6. โย ปน ภิกฺขุ มาตุคาเมน สห เสยฺยํ กปฺเปยฺย, ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วมกับมาตุคาม เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

พระอนุรุทธ์เดินทางในโกศลชนบท จะไปสู่กรุงสาวัตถี ขออาศัยในอาคารพักแรมของหญิงคนหนึ่ง ต่อมามีคนเดินทางมาขออาศัยในโรงพักนั้นอีก หญิงเจ้าของบ้านพอใจในรูปโฉมของพระอนุรุทธ์ จึงจัดให้พักใหม่ห้องเดียวกับนาง แล้วยั่วยวนท่านต่าง ๆ ท่านกลับเฉย และแสดงธรรมให้ฟัง จนหญิงนั้นปฏิญญา ตนถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต พระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้นอนร่วมกับมาตุคาม (คือผู้หญิง).

อนาบัติ
  1. ในสถานที่มุงทั้งหมด ไม่บังทั้งหมด 
  2. ในสถานที่บังทั้งหมด ไม่มุงทั้งหมด 
  3. ในสถานที่ไม่มุงโดยมาก ไม่บังโดยมาก 
  4. มาตุคามนอนภิกษุนั่ง 
  5. ภิกษุนอน มาตุคามนั่ง 
  6. นั่งทั้งสอง 
  7. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. เสนาสนะเป็นวัตถุแห่งปาจิตตีย์ 
  2. นอนกับอนุปสัมบันในเสนาสนะนั้น
  3. อาทิตย์อัสดงคตลับไปแม้แต่ในคืนทีแรก 

พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 183-184).
***

สิกขาบทที่ 7 มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์


ห้ามแสดงธรรมสองต่อสองกับผู้หญิง

7. โย ปน ภิกฺขุ มาตุคามสฺส อุตฺตริฉปฺปญฺจวาจาหิ ธมฺมํ เทเสยฺย อญฺญตฺร วิญฺญุนา ปุริสวิคฺคเหน, ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใดแสดงธรรมแก่มาตุคามยิ่งกว่า 5-6 คำ เว้นไว้แต่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

พระอุทายีแสดงธรรมกระซิบที่หูของสตรี ทำให้ผู้อื่นสงสัย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามแสดงธรรมแก่สตรี ภายหลังมีเหตุเกิดขึ้น จึงทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า ภิกษุแสดงธรรมแก่มาตุคาม (สตรี) เกิน ๖ คำ ต้องปาจิตตีย์ เว้นแต่มีชายผู้รู้เดียงสาอยู่.

อนาบัติ
  1. มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ด้วย 
  2. ภิกษุแสดงธรรมเพียง 5-6 คำ 
  3. ภิกษุแสดงธรรมหย่อนกว่า 5-6 คำ 
  4. ภิกษุลุกขึ้นแล้วนั่งแสดงธรรมต่อไป 
  5. มาตุคามลุกขึ้นแล้วนั่งลงอีก ภิกษุแสดงแก่มาตุคามนั้น 
  6. ภิกษุแสดงแก่มาตุคามอื่น 
  7. มาตุคามถามปัญหา ภิกษุถูกถามปัญหาแล้วกล่าวแก้ 
  8. ภิกษุแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่คนอื่นอยู่ มาตุคามฟังอยู่ด้วย 
  9. ภิกษุวิกลจริต 
  10. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งบัญญัติ 
  1. แสดงธรรมยิ่งกว่า 6 คำ 
  2. มาตุคามเป็นหญิงมนุษย์ที่รู้คำชั่วดีและหยาบไม่หยาบ 
  3. ไม่เปลี่ยนอริยาบถ 
  4. ไม่มีชายผู้รู้ความอยู่ด้วย 
  5. ไม่ใช่กาลวิสัชนาปัญหา 
พร้อมด้วยองค์ 5 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า185).

***

สิกขาบทที่ 8 มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์


ห้ามบอกคุณวิเศษที่มีจริงแก่ผู้มิได้บวช

8. โย ปน ภิกฺขุ อนุปสมฺปนฺนสฺส อุตฺตริมนุสฺสธมฺมํ อาโรเจยฺย ภูตสฺมึ, ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใดบอกอุตตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบันเป็นปาจิตตีย์เพราะมีจริง.”

ต้นบัญญัติ

พระพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในปาราชิก สิกขาบทที่ ๔ คืออวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน แต่คราวนี้ ทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้บอกคุณวิเศษที่มีจริงแก่ผู้มิได้บวช (มิได้เป็นภิกษุ หรือภิกษุณี).

อนาบัติ
  1. ภิกษุบอกอุตตริมนุสธรรมที่มีจริงแก่อุปสัมบัน 
  2. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
***

สิกขาบทที่ 9 มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์


ห้ามบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่ผู้มิได้บวช

9. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุสฺส ทุฏฺฐุลฺลํ อาปตฺตึ อนุปสมฺปนฺนสฺส อาโรเจยฺย อญฺญตฺร ภิกฺขุสมฺมติยา, ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด บอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุ แก่อนุปสัมบันเว้นไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติ เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับพระอุปนนทะ ศากยบุตร เลยแกล้งประจานพระอุปนนทะ กับพวกอุบาสก ที่กำลังเลี้ยงพระว่า พระอุปนนทะต้องอาบัติสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๑ พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบัน (ผู้มิได้เป็นภิกษุ หรือภิกษุณี) ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ได้รับสมมติ.

วิภังค์

อาบัติที่ชื่อว่า ชั่วหยาบ ได้แก่ ปาราชิก 4 และสังฆาทิเสส 13.
บทว่า เว้นไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติ คือ ยกเว้นแต่ภิกษุที่สงฆ์สมมติ( มอบหมายให้เป็นผู้บอกอาบัติ).

อนาบัติ
  1. ภิกษุบอกวัตถุ ไม่บอกอาบัติ 
  2. ภิกษุบอกอาบัติ ไม่บอกวัตถุ 
  3. ภิกษุได้รับสมมติ 
  4. ภิกษุวิกลจริต 
  5. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. สังฆาทิเสสแห่งภิกษุทั้งวัตถุด้วย 
  2. บอกแก่อนุปสัมบัน 
  3. ไม่มีภิกษุได้รับสมมติ 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ ( บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 182).

***

สิกขาบทที่ 10 มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์


ห้ามขุดดินหรือใช้ให้ขุด

10. โย ปน ภิกฺขุ ปฐวึ ขเณยฺย วา ขณาเปยฺย วา, ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ขุดก็ดี ให้ขุดก็ดี ซึ่งปฐพี, เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุชาวเมืองอาฬวีทำการก่อสร้าง จึงขุดดินเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นขุดบ้าง มนุษย์ทั้งหลายพากันติเตียนว่าผิดประเพณีนิยมของสมณะ พระผู้มีพระภาค (ทรงอนุโลมตามประเพณีที่ถือว่าแผ่นดินเป็นของมีชีวิต คือมีอินทรีย์หนึ่ง) จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุขุด๓ดินเองหรือใช้ให้ผู้อื่นขุด ต้องปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุกล่าวว่า ท่านจงรู้ดินนี้ ท่านจงให้ดินนี้ ท่านจงนำดินนี้มา เรามีความต้องการด้วยดินนี้ ท่านจงทำดินนี้ให้เป็นกัปปิยะ ดังนี้ 
  2. ภิกษุไม่แกล้ง 
  3. ภิกษุไม่มีสติ 
  4. ภิกษุไม่รู้ 
  5. ภิกษุวิกลจริต 
  6. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
องค์แห่งอาบัติ
  1. ดินเป็นชาติปฐวี (ดินเกิดเอง, ปฐพีแท้ คือมีดินร่วนล้วน มีดินเหนียวล้วน หรือมีของอื่น เช่น หินกรวด กระเบื้อง แร่ และทรายน้อย มีดินร่วน ดินเหนียวมาก ดินนี้ประสงค์เอาที่ยังไม่ได้เผาไฟ กองดินร่วนก็ดี กองดินเหนียวก็ดี มีฝนตกรดเกิน 4 เดือนมาแล้วนับเข้าในปฐพีแท้ : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์) 
  2. รู้อยู่ว่าเป็นแผ่นดิน 
  3. ขุดเองหรือให้ผู้อื่นขุด อันใดอันหนึ่ง 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 188).

กัปปิยะ คือ ใช้ให้ผู้อื่นทำด้วยกล่าวว่า ท่านจงรู้หลุมเสา จงรู้ดินเหนียวมาก จงรู้ดินเหนียวผสมแกลบ ท่านจงให้ดินเหนียวมาก จงให้ดินเหนียวผสมแกลบ ท่านจงนำดินเหนียวมา จงนำฝุ่นมา ต้องการดินเหนียว ต้องการฝุ่น ท่านจงทำหลุมเสานี้ให้เป็นกัปปิยะ จงทำดินเหนียวนี้ให้เป็นกัปปิยะ จงทำฝุ่นนี้ให้เป็นกัปปิยะ คือให้เป็นของที่ควรใช้ (วิ.อ. 2/88/281)

ดินในสิกขาบทนี้หมายถึงดินที่ฝนตกรดแล้วเกิน ๔ เดือน สิกขาบทนี้น่าจะเห็นว่าเป็นการป้องกันการทำให้สัตว์ในดิน เช่น ไส้เดือนตายด้วย

*******

2. ภูตคามวรรค วรรคว่าด้วยพืชพันธุ์ไม้ เป็นวรรคที่ 2 มี 10 สิกขาบท คือ

สิกขาบทที่ 1 ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามทำลายต้นไม้

11. ภูตคามปาตพฺยตาย, ปาจิตฺติยํ.

“เป็นปาจิตตีย์ เพราะพรากภูตคาม.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุชาวเมืองอาฬวีทำการก่อสร้าง จึงตัดต้นไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นตัดบ้าง มนุษย์ทั้งหลายพากันติดเตียน ด้วยถือว่าต้นไม้มีชีวิต มีอินทรีย์หนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงอนุโลมตามสมมติของชาวโลก จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ทำให้ต้นไม้ตาย

วิภังค์

ที่ชื่อว่า ภูตคาม ได้แก่ พืช 5 ชนิด
  1. พืชเกิดจากเง่า ที่มีหัวเป็นพืช เช่น ขิง
  2. พืชเกิดจากดิน มีลำต้นเป็นพืช เช่น ไทร
  3. พื้ชเกิดจากข้อ มีปล้องเป็นพืช เช่น อ้อย ไม้ไผ่
  4. พืชเกิดจากยอด มียอดเป็นพืช เช่น ผักชีล้อม
  5. พืชเกิดจากเมล็ด มีเมล็ดเป็นพืช เช่น ข้าว, ถั่ว
อนาบัติ
  1. ภิกษุกล่าวว่า ท่านจงรู้พืชนี้ ท่านจงให้พืชนี้ ท่านจงนำพืชนี้มา เรามีความต้องการด้วยพืชนี้ ท่านจงทำพืชนี้ให้เป็นกัปปิยะดังนี้ 
  2. ภิกษุไม่แกล้งพราก 
  3. ภิกษุทำเพราะไม่มีสติ 
  4. ภิกษุไม่รู้
  5. ภิกษุวิกลจริต 
  6. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
พืชคาม คือ พืชพันธุ์ ที่ถูกพรากจากที่แล้วแต่ยังจะเป็นได้อีกเป็นวัตถุแห่งทุกกฎ ดูรายละเอียดวิธีกัปปิยะ คือวิธีทำให้เป็นของที่ควรที่ทรงอนุญาต ในหน้า 417

องค์แห่งอาบัติ 
  1. เป็นภูตคาม 
  2. รู้อยู่ว่าเป็นภูตคาม 
  3. ให้กำเริบเองหรือใช้ให้ผู้อื่นกำเริบ 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 190).

***

สิกขาบทที่ 2 ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามเฉไฉเมื่อถูกสอบสวน

12. อญฺญวาทเก วิเหสเก, ปาจิตฺติยํ.

“เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะความเป็นผู้กล่าวคำอื่น ในเพราะความ เป็นผู้ให้ลำบาก.” 

ต้นบัญญัติ

พระฉันนะประพฤติอนาจาร ถูกโจทอาบัติในท่ามกลางสงฆ์ กลับพูดเฉไฉไปต่าง ๆ บ้าง นิ่งเสียบ้าง พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้พูดไปอย่างอื่น ผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก (ด้วยการนิ่งในเมื่อถูกไต่สวนในท่ามกลางสงฆ์). 

วิภังค์

ที่ชื่อว่า เป็นผู้กล่าวคำอื่น คือ ภิกษุเมื่อถูกไต่สวนในเพราะวัตถุหรืออาบัติ ณ ท่ามกลางสงฆ์ไม่ปรารถนาจะบอกเรื่องนั้น ไม่ปรารถนาจะเปิดเผยเรื่องนั้น จึงเอาเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนว่า ใครต้อง ต้องอะไร ต้องในเรื่องอะไร ต้องอย่างไร ท่านทั้งหลายว่าใคร ว่าเรื่องอะไร ดังนี้ นี่ชื่อว่า เป็นผู้กล่าว คำอื่น.

ที่ชื่อว่า เป็นผู้ให้ลำบาก คือ ภิกษุเมื่อถูกไต่สวนในเพราะวัตถุ หรืออาบัติ ณ ท่ามกลางสงฆ์ ไม่ปรารถนาจะบอกเรื่องนั้น ไม่ปรารถนาจะเปิดเผยเรื่องนั้น จึงนิ่งเสีย ทำให้สงฆ์ลำบาก นี่ชื่อว่า เป็นผู้ให้ลำบาก.

อนาบัติ
  1. ภิกษุไม่เข้าใจจึงถาม 
  2. ภิกษุอาพาธให้การไม่ได้
  3. ภิกษุไม่ให้การด้วยคิดว่า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง หรือความวิวาท จักมีแก่สงฆ์ 
  4. ภิกษุไม่ให้การด้วยคิดว่า จักเป็นสังฆเภท หรือสังฆราชี 
  5. ภิกษุไม่ให้การด้วยคิดว่า สงฆ์จักทำกรรมโดยไม่ชอบธรรม โดยเป็นวรรคหรือจักไม่ ทำกรรมแก่ภิกษุผู้ควรแก่กรรม 
  6. ภิกษุวิกลจริต 
  7. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
วัตถุ ในที่นี้หมายถึงเรื่องที่ถูกสงฆ์นำมาสอบสวน กรณีที่สงฆ์ยกขึ้นมาสอบสวน (พระไตรปิฎก แปล มจร. 2/284/99)

สังฆเภท : ความแตกแห่งสงฆ์ กำหนดด้วยภิกษุแต่ละฝ่ายตั้งแต่ 4 รูป ไม่ทำอุโบสถปวารณาและสังฆกรรมด้วยกัน

สังฆราชี : ความร้าวรานแห่งสงฆ์ คือ สงฆ์จะแตกแยกกัน แต่ไม่ถึงกับแยกทำอุโบสถปวารณาและสังฆกรรมต่างหากกัน

***

สิกขาบทที่ 3 ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามติเตียนภิกษุผู้ทำการสงฆ์โดยชอบ

13. อุชฺฌาปนเก ขียนเก, ปาจิตฺติยํ.

“เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะความเป็นผู้ให้โพนทะนา ในเพราะความเป็นผู้บ่นว่า.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุทั้งหลายซึ่งมีพระเมตติยะและพระภุมมชกะเป็นหัวหน้า ติเตียน บ่นว่าพระทัพพมัลลบุตร ผู้แจกเสนาสนะ แจกภัตต์ พระผู้มีพระภาคทรงสอบสวนแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ติเตียน บ่นว่า (ภิกษุผู้ทำการสงฆ์โดยชอบ). 

วิภังค์

ทีื่ชื่อว่า ความเป็นผู้ให้โพนทะนา คือ อุปสัมบันผู้อันสงฆ์สมมติแล้วให้เป็นผู้จัดเสนาสนะ เป็นผู้แจกอาหาร แจกยาคู แจกผลไม้ แจกของเคี้ยว หรือแจกของเล็กน้อยก็ตาม ภิกษุประสงค์จะใส่โทษ ให้อัปยศ ให้เก้อเขิน จึงให้โพนทะนาก็ดี บ่นว่าก็ดี ซึ่งอุปสัมบัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุผู้ให้โพนทะนา หรือบ่นว่าภิกษุผู้มีปกติทำเพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ 
  2. ภิกษุวิกลจริต 
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. ผู้ทำสงฆ์ ได้สมมติด้วยกรรมเป็นธรรม 
  2. ผู้ทำการนั้นเป็นอุปสัมบัน 
  3. ไม่มีความถึงอคติ 
  4. ใคร่อวรรณโทษแก่ผู้นั้น 
  5. พูดในสำนักของผู้ใดผู้นั้นเป็นอุปสัมบัน 
  6. ชวนให้ดูหมิ่นหรือติเตียน 
 พร้อมด้วยองค์ 6 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า191).

พระเมตติยะและพระภุมมชกะ : อยู่ในกลุ่มพระ 6 รูป ซึ่งเรียกว่า “ภิกษุฉัพพัคคีย์ ” ได้แก่ (1) พระปัณฑุกะ (2) พระโลหิตกะ
(3) พระเมตติยะ (4) พระกุมมชกะ (5) พระอัสสชิ (6) พระปุนัพพสุกะ ( ม.ม.อ. 175/138)


***

สิกขาบทที่ 4 ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามทิ้งเตียงตั่งของสงฆ์ไว้กลางแจ้ง

14. โย ปน ภิกฺขุ สงฺฆิกํ มญฺจํ วา ปีฐํ วา ภิสึ วา โกจฺฉํ วา อชฺโฌกาเส สนฺถริตฺวา วา สนฺถราเปตฺวา วา ตํ ปกฺกมนฺโต เนว อุทฺธเรยฺย น อุทฺธราเปยฺย อนาปุจฺฉํ วา คจฺเฉยฺย, ปาจิตฺติยนฺติ.

“อนึ่ง ภิกษุใดวางไว้แล้วก็ดี ให้วางไว้แล้วก็ดี ซึ่งเตียงก็ดี ตั่งก็ดี ฟูกก็ดี เก้าอี้ก็ดี อันเป็นของสงฆ์ในที่แจ้ง เมื่อหลีกไปไม่เก็บเองก็ดี ไม่ใช้ให้เก็บก็ดี ซึ่งเสนาสนะที่วางไว้นั้น หรือไม่บอกมอบหมายไปเสีย เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุทั้งหลายนำเสนาสนะ (ที่นอนที่นั่ง) มาไว้กลางแจ้งในฤดูหนาว ผิงแดดแล้วหลีกไป ไม่เก็บไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บ ไม่บอกให้ใครรับรู้ เสนาสนะถูกหิมะตกใส่ (เปียกชุ่ม) พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุตั้งไว้เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ตั้งไว้ซึ่งเตียง ตั่ง ฟูก เก้าอี้ของสงฆ์ในกลางแจ้ง เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บ หรือไปโดยไม่บอกกล่าวให้ใครรับรู้ ต้องปาจิตตีย์ ต่อมาทรงอนุญาตพิเศษให้เก็บเสนาสนะ ในมณฑปหรือที่โคนไม้ ซึ่งสังเกตว่า ฝนจะไม่ตกรั่วรด กาเหยี่ยวจะไม่ถ่ายมูลรดได้ตลอด 8 เดือน (แห่งฤดูหนาวและฤดูร้อน ฤดูละ 4 เดือน).

องค์แห่งอาบัติ 
  1. เตียงตั่งเป็นต้น เป็นของสงฆ์
  2. ลาดเองหรือใช้ให้ผู้อื่นลาดในที่แจ้ง
  3. ไม่ม่สิ่งใดกางกั้น 
  4. ไม่มีอันตราย
  5. ไม่เหลียวแลที่จะกลับมาเก็บ 
  6. ล่วงเลฑฑุบาตที่ตกก้อนดินแห่งมัชฌิมบุรุษขว้าง 
 พร้อมด้วยองค์ 6 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 193).

***

สิกขาบทที่ 5 ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามปล่อยที่นอนไว้ ไม่เก็บงำ

15. โย ปน ภิกฺขุ สงฺฆิเก วิหาเร เสยฺยํ สนฺถริตฺวา วา สนฺถราเปตฺวา วา ตํ ปกฺกมนฺโต เนว อุทฺธเรยฺย น อุทฺธราเปยฺย อนาปุจฺฉํ วา คจฺเฉยฺย, ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ปูแล้วก็ดี ให้ปูแล้วก็ดี ซึ่งที่นอนในวิหารเป็นของสงฆ์, เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้เก็บก็ดี ซึ่งที่นอนอันปูไว้นั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย, เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุพวก 17 รูป ปูที่นอนในวิหารของสงฆ์แล้วหลีกไป ไม่เก็บเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นเก็บ หรือบอกให้ใครรับรู้ ปลวกกินเสนาสนะ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุปู หรือให้ปูที่นอนในวิหารของสงฆ์แล้ว เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเอง หรือไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บ หรือไม่บอกกล่าวให้ใครรับรู้ ต้องปาจิตตีย์. 

อนาบัติ
  1. ภิกษุเก็บเอง แล้วไป 
  2. ภิกษุให้คนอื่นเก็บ แล้วไป 
  3. ภิกษุบอกมอบหมาย แล้วไป 
  4. เสนาสนะมีเหตุบางอย่างขัดขวาง 
  5. ภิกษุยังห่วงไปยืนอยู่ ณ ที่นั้นบอกมอบหมายมา 
  6. ภิกษุมีเหตุบางอย่างขัดขวาง 
  7. ภิกษุมีอันตราย
  8. ภิกษุวิกลจริต
  9. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. ที่นอนมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งใน 10 อย่าง คือ ฟูก, เครื่องลาดรักษาสีพื้น, เครื่องลาดบนเตียงตั่ง, เครื่องลาดพื้น, เสื่อใบตาล, หนังอันใดอันหนึ่ง, ผ้านิสีทนะมีชาย, ผ้าปาวารและโกเชาว์, เครื่องลาดแล้วด้วยหญ้า, เครื่องลาดแล้วด้วยใบไม้
  2. ที่นอนนั้นเป็นของสงฆ์
  3. ลาดเองหรือให้ผู้อื่นลาด 
  4. ไม่มีผู้กางกั้น
  5. ไม่มีอันตราย
  6. หลีกไปยังทิศไม่คิดจะกลับมา
  7. ล่วงอุปจารสีมา 
พร้อมด้วยองค์ 7 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 194).

***

สิกขาบทที่ 6 ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามนอนแทรกภิกษุผู้เข้าไปอยู่ก่อน

16. โย ปน ภิกฺขุ สงฺฆิเก วิหาเร ชานํ ปุพฺพูปคตํ ภกฺขุํ อนูปขชฺช เสยฺยํ กปฺเปยฺย ยสฺส สมฺพาโธ ภวิสฺสติ โส ปกฺกมิสฺสตีติ เอตเทว ปจฺจยํ กริตฺวา อนญฺญํ, ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ สำเร็จการนอนแทรกแซงภิกษุผู้เข้าไปก่อนในวิหารของสงฆ์ ด้วยหมายว่า ผู้ใดมีความคับใจ ผู้นั้นจักหลีกไปเอง ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์หาวิธีแย่งที่อยู่ภิกษุอื่น โดยเข้าไปนอนเบียดภิกษุเถระ ด้วยคิดว่า เธออึดอัดเข้าก็จะหลีกไปเอง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุรู้อยู่ เข้าไปนอนเบียดผู้เข้าไปอยู่ก่อนในวิหารของสงฆ์ ด้วยคิดว่า เธออึดอัดก็จะหลีกไปเอง เธอมุ่งอย่างนี้เท่านั้น ไม่ใช่อย่างอื่น ต้องปาจิตตีย์. 

องค์แห่งอาบัติ 
  1. วิหารที่อยู่เป็นของสงฆ์ 
  2. รู้อยู่ว่าผู้อยู่ก่อนไม่่ควรจะให้ลุก 
  3. ปรารถนาจะให้ภิกษุนั้นคับแคบ 
  4. นั่งหรือนอนในอุปจาร (ในบริเวณรอบ ๆ วิหารสงฆ์) 
พร้อมด้วยองค์ 4 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนาหน้า 196).

***

สิกขาบทที่ 7 ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

ห้ามฉุดคร่าภิกษุออกจากวิหารของสงฆ์

17. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุํ กุปิโต อนตฺตมโน สงฺฆิกา วิหารา นิกฺกฑฺเฒยฺย วา นิกฺกฑฺฒาเปยฺย วา, ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าก็ดีให้ฉุดคร่าก็ดี ซึ่งภิกษุจากวิหารของสงฆ์ เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ (พวก 6) แย่งที่ภิกษุสัตตรสวัคคีย์ (พวก 17) เมื่อเห็นขัดขืนก็โกรธ จึงจับคอฉุดคร่าออกไป พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุโกรธ ไม่พอใจ ฉุดคร่าเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นฉุดคร่าก็ดี ซึ่งภิกษุ จากวิหารของสงฆ์ ต้องปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุฉุดคร่าก็ดี ให้ฉุดคร่าก็ดี ซึ่งภิกษุอลัชชี 
  2. ภิกษุขนก็ดี ให้ขนก็ดี ซึ่งบริขารของภิกษุอลัชชี
  3. ภิกษุฉุดคร่าก็ดี ให้ฉุดคร่าก็ดี ซึ่งภิกษุวิกลจริต 
  4. ภิกษุขนก็ดี ให้ขนก็ดี ซึ่งบริขารของภิกษุวิกลจริตนั้น
  5. ภิกษุฉุดคร่าก็ดี ให้ฉุดคร่าก็ดี ซึ่งภิกษุผู้ก่อการบาดหมางก็ดี ก่อการทะเลาะก็ดี ก่อการวิวาทก็ดี ก่อความอื้อฉาวก็ดี ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ก็ดี 
  6. ภิกษุขนก็ดี ให้ขนก็ดี ซึ่งบริขารของภิกษุผู้ก่อการบาดหมางเป็นต้นนั้น 
  7. ภิกษุฉุดคร่าก็ดี ให้ฉุดคร่าก็ดี ซึ่งอันเตวาสิก หรือสิทธิวิหาริก ผู้ประพฤติไม่เรียบร้อย 
  8. ภิกษุขนก็ดีให้ขนก็ดี ซึ่งบริขารของอันเตวาสิกหรือสิทธิวิหาริกนั้น
  9. ภิกษุวิกลจริต
  10. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. วิหารเป็นของสงฆ์ 
  2. เป็นอุปสัมบันพ้นโทษมีความเป็นคนมักทะเลาะ เป็นต้น 
  3. ฉุดคร่าเองหรือให้ผู้อื่นฉุดคร่าอุปสัมบันนั้นด้วยความโกรธ 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 197).

***

สิกขาบทที่ 8 ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามนั่งนอนทับเตียงหรือตั่งที่อยู่ชั้นบน

18. โย ปน ภิกฺขุ สงฺฆิเก วิหาเร อุปริเวหาสกุฏิยา อาหจฺจปาทกํ มญฺจํ วา ปีฐํ วา อภินิสีเทยฺย วา อภินิปชฺเชยฺย วา, ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด นั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี ซึ่งเตียงก็ดี ซึ่งตั่งก็ดี อันมีเท้าเสียบ บนร้านในวิหารเป็นของสงฆ์ เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุ ๒ รูปอยู่ในกุฎีเดียวกัน เตียงหนึ่งอยู่ข้างล่าง เตียงหนึ่งอยู่ข้างบน ภิกษุอยู่ข้างบนนั่งบนเตียงโดยแรง เท้าเตียงหลุด ตกลงถูกศีรษะของภิกษุผู้อยู่ข้างล่าง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุนั่งนอนบนเตียงหรือตั่งอันมีเท้าเสียบ (ในตัวเตียง) ในวิหารของสงฆ์ ต้องปาจิตตีย์๒ 

วิภังค์

ที่ชื่อว่า ร้าน ได้แก่ ร้านที่ไม่กระทบศีรษะของมัชฌิมบุรุษ.

เตียงที่ชื่อว่า มีเท้าเสียบ คือเขาสอดเท้าเสียบเข้าไว้ในตัวเตียง.

อนาบัติ
  1. ไม่ใช่ร้าน 
  2. ร้านสูงพอกระทบศีรษะ
  3. ข้างล่างไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่ 
  4. ข้างบนปูพื้นไว้ 
  5. เท้าเตียงเท้าตั่งได้ตรึงสลักกับตัว 
  6. ภิกษุยืนบนเตียงตั่งนั้นหยิบจีวรหรือพาดจีวรได้ 
  7. ภิกษุวิกลจริต 
  8. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
***

สิกขาบทที่ 9 ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามพอกหลังคาวิหารเกิน 3 ชั้น

19. มหลฺลกํ ปน ภิกฺขุนา วิหารํ การยมาเนน ยาว ทฺวารโกสา อคฺคลฏฺฐปนาย อาโลกสนฺธิปริกมฺมาย ทฺวิตฺติจฺฉทนสฺส ปริยายํ อปฺปหริเต ฐิเตน อธิฏฺฐาตพฺพํ ตโต เจ อุตฺตรึ อปฺปหริเตปิ ฐิโต อธิฏฺฐเหยฺย, ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำซึ่งวิหารใหญ่ จะวางเช็ดหน้าเพียงไรแต่กรอบแห่งประตู จะบริกรรมช่องหน้าต่าง พึงยืนในที่ปราศจากของสดเขียว อำนวยให้พอกได้ 2-3 ชั้น ถ้าเธออำนวยยิ่งกว่านั้น แม้ยืนในที่ปราศจากของสดเขียว ก็เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

มหาอำมาตย์ผู้อุปฐากของพระฉันนะให้สร้างวิหารถวายพระ เมื่อเสร็จแล้ว พระฉันนะอำนวยการพอกหลังคาพอกปูนบ่อย ๆ วิหารก็เลยพังลงมา พระฉันนะเก็บหญ้า เก็บไม้ ได้ทำข้าวของพราหมณ์ผู้หนึ่งให้เสียหาย พราหมณ์ยกโทษติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ถ้าภิกษุจะให้ทำวิหารใหญ่ พึงยืนในที่ไม่มีของเขียว (พืชพันธุ์ไม้) อำนวยการพอกหลังคาไม่เกิน ๓ ชั้น จนจดกรอบประตูเพื่อตั้งบานประตูได้ เพื่อทาสีหน้าต่างได้ ถ้าทำให้เกินกว่านั้น แม้ยืนในที่ปราศจากของเขียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์. 

วิภังค์

บทว่า เพียงไรแต่กรอบแห่งประตู คือ ชั่วหัตถบาสโดยรอบแห่งบานประตู.

บทว่า จะวางเช็ดหน้า คือ จะวางประตู.

อนาบัติ
  1. ภิกษุมุง 2-3 ชั้น 
  2. ภิกษุมุงหย่อนกว่า 2-3 ชั้น 
  3. ภิกษุสร้างถ้ำ 4.คูหา 
  4. กุฎีมุงหญ้า 
  5. ภิกษุสร้างกุฎีเพื่อภิกษุอื่น 
  6. ภิกษุสร้างด้วยทรัพย์ของตน
  7. ยกอาคารอันเป็นที่อยู่เสีย ภิกษุสร้างทุกอย่างไม่ต้องอาบัติ 
  8. ภิกษุวิกลจริต 
  9. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
***

สิกขาบทที่ 10 ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามเอาน้ำมีสัตว์รดหญ้าหรือดิน

21. โย ปน ภิกฺขุ ชานํ สปฺปาณกํ อุทกํ ติณํ วา มตฺติกํ วา สิญฺเจยฺย วา สิญฺจาเปยฺย วา, ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ว่าน้ำมีตัวสัตว์ รดก็ดี ให้รดก็ดี ซึ่งหญ้าก็ดี ดินก็ดี เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุชาวเมืองอาฬวีทำการก่อสร้าง รู้อยู่ว่าน้ำมีสัตว์ เอาน้ำนั้นรดหญ้าบ้าง ดินบ้าง ใช้ให้รดบ้าง เป็นที่ติเตียนของภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุรู้อยู่ เอาน้ำมีสัตว์รดหญ้า หรือดิน หรือใช้ให้ผู้อื่นรด ต้องปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุไม่แกล้ง 
  2. ภิกษุไม่มีสติ
  3. ภิกษุไม่รู้
  4. ภิกษุวิกลจริต 
  5. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. น้ำมีตัวสัตว์ 
  2. รู้อยู่ว่าสัตว์จะตายด้วยการรดเท 
  3. น้ำคงจะแห้งไป 
  4. รดหญ้าเป็นต้น ด้วยกิจอันหนึ่งเว้นจากวธกเจตนา (วธกเจตนา : เจตนาฆ่า) 
พร้อมด้วยองค์ 4 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนาหน้า 199)

3. โอวาทวรรค วรรคว่าด้วยการให้โอวาท เป็นวรรคที่ 3 มี 10 สิกขาบท


สิกขาบทที่ 1 โอวาทวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามสอนนางภิกษุณีเมื่อมิได้รับมอบหมาย

21. โย ปน ภิกฺขุ อสมฺมโต ภิกฺขุนิโย โอวเทยฺย, ปาจิตฺติยนฺติ.

“อนึ่ง ภิกษุใดไม่ได้รับสมมติ กล่าวสอนพวกภิกษุณีเป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์เห็นภิกษุอื่น ๆ สอนนางภิกษีณีแล้วได้ของถวายต่าง ๆ อยากจะมีลาภบ้าง จึงแจ้งความประสงค์แก่นางภิกษุณีทั้งหลาย เมื่อนางภิกษุณีไปสดับโอวาทก็สอนเพียงเล็กน้อย แล้วชวนสนทนาเรื่องไร้สาระโดยมาก พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุที่ไม่ได้รับสมมุติจากสงฆ์ สอนนางภิกษุณีต้องปาจิตตีย์. ภายหลังภิกษุฉัพพัคคีย์หาทางสมมติกันเองในที่นอกสีมา (เพราะจำนวน ๖ รูป พอที่จะเป็นจำนวนสงฆ์) พระผู้มีพระภาคจึงทรงกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมสำหรับภิกษุที่จะสอนนางภิกษุณีถึง ๘ ข้อ โดยกำหนดให้มีพรรษาถึง ๒๐ หรือเกินกว่าเป็นข้อสุดท้าย. 

อนาบัติ
  1. ภิกษุให้อุเทศ
  2. ภิกษุให้ปริปุจฉา
  3. ภิกษุอันภิกษุณีกล่าวว่า นิมนต์ ท่านสวดเถิดเจ้าข้า ดังนี้ สวดอยู่
  4. ภิกษุถามปัญหา
  5. ภิกษุถูกถามปัญหาแล้วแก้
  6. ภิกษุกล่าวสอนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นอยู่ แต่พวกภิกษุณีฟังอยู่ด้วย
  7. ภิกษุกล่าวสอนสิกขมานา
  8. ภิกษุกล่าวสอนสามเณรี
  9. ภิกษุวิกลจริต
  10. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
***

สิกขาบทที่ 2 โอวาทวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามสอนนางภิกษุณีตั้งแต่อาทิตย์ตกแล้ว

22. สมฺมโตปิ เจ ภิกฺขุ อตฺถงฺคเต สุริเย ภิกฺขุนิโย โอวเทยฺย, ปาจิตฺติยํ.

“ถ้าภิกษุ แม้ได้รับสมมติแล้ว เมื่อพระอาทิตย์อัสดงแล้วกล่าวสอนพวกภิกษุณี เป็นปาจิตตีย์.” 

พระจูฬปันถกสอนนางภิกษุณีจนค่ำ มนุษย์ทั้งหลายติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า เมื่ออาทิตย์ตกแล้ว ภิกษุสอนนางภิกษุณี ต้องปาจิตตีย์. 

อนาบัติ
  1. ภิกษุให้อุเทศ 
  2. ภิกษุให้ปริปุจฉา
  3. ภิกษุอันภิกษุณีกล่าวว่า นิมนต์ท่านสวดเถิดเจ้าข้า ดังนี้ สวดอยู่ 
  4. ภิกษุถามปัญหา 
  5. ภิกษุถูกถามปัญหาแล้วแก้ 
  6. ภิกษุกล่าวสอน เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นอยู่ แต่พวกภิกษุณีํฟังอยู่ด้วย 
  7. ภิกษุกล่าวสอนสิกขมานา 
  8. ภิกษุกล่าวสอนสามเณรี
  9. ภิกษุวิกลจริต 
  10. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
***

สิกขาบทที่ 3 โอวาทวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามไปสอนนางภิกษุณีถึงที่อยู่

23. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุนูปสฺสยํ อุปสงฺกมิตฺวา ภิกฺขุนิโย โอวเทยฺย อญฺญตฺร สมยา, ปาจิตฺติยํ. ตตฺถายํ สมโย คิลานา โหติ ภิกฺขุนี อยํ ตตฺถ สมโยติ.

“อนึ่ง ภิกษุใด เข้าไปสู่ที่อาศัยแห่งภิกษุณีแล้วสั่งสอนพวกภิกษุณี เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์. สมัยในเรื่องนั้น ดังนี้คือ ภิกษุณีอาพาธ นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าไปสอนนางภิกษุณีถึงที่อยู่ นางภิกษุณีทั้งหลายติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุไปสอนนางภิกษุณีถึงที่อยู่ ต้องปาจิตตีย์ ภายหลังทรงผ่อนผันให้เมื่อนางภิกษุณีเจ็บไข้. 

อนาบัติ
  1. ภิกษุสั่งสอนในสมัย 
  2. ภิกษุให้อุเทศ
  3. ภิกษุให้ปริปุจฉา 
  4. ภิกษุอันภิกษุณี กล่าวว่า นิมนต์ท่านสวดเถิดเจ้าข้า ดังนี้ สวดอยู่ 
  5. ภิกษุถามปัญหา 
  6. ภิกษุถูกถามปัญหา แล้วแก้ 
  7. ภิกษุสั่งสอนเพื่อประโยชน์แห่งผู้อื่นแต่ภิกษุณีฟังอยู่ด้วย 
  8. ภิกษุสั่งสอนสิกขมานา 
  9. ภิกษุสั่งสอนสามเณรี 
  10. ภิกษุวิกลจริต 
  11. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
***

สิกขาบทที่ 4 โอวาทวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามติเตียนภิกษุอื่นว่าสนอนนางภิกษุณีเพราะเห็นแก่ลาภ

24. โย ปน ภิกฺขุ เอวํ วเทยฺย อามิสเหตุ ภิกฺขู ภิกฺขุนิโย โอวทนฺตีติ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุสั่งสอน พวกภิกษุณี เพราะเหตุอามิส เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า พระเถระทั้งหลายสอนนางภิกษุณีเพราะเห็นแก่อามิส พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุพูดว่า ภิกษุทั้งหลายสอนนางภิกษุณีเพราะเห็นแก่อามิส ต้องปาจิตตีย์ (ห้ามประจานกันเอง แม้เห็นแก่อามิสจริง ถ้าเที่ยวพูดไป ก็ต้องอาบัติทุกกฏ). 

อนาบัติ
  1. ภิกษุผู้กล่าวแก่ภิกษุผู้สั่งสอนเพราะเหตุจีวร บิณฑบาต เสนาสนะคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การกราบไหว้ การบูชา ตามปกติ
  2. ภิกษุวิกลจริต 
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.

***

สิกขาบทที่ 5 โอวาทวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามให้จีวรแก่นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ

25. โย ปน ภิกฺขุ อญฺญาติกาย ภิกฺขุนิยา จีวรํ ทเทยฺย อญฺญตฺร ปาริวฏฺฏกา ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ให้จีวรแก่ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุรูปหนึ่งให้จีวรแก่นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุให้จีวรแก่นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ต้องปาจิตตีย์. 

อนาบัติ
  1. ภิกษุณีผู้เป็นญาติ
  2. ภิกษุแลกเปลี่ยน คือ เอาจีวรมีค่าน้อยแลกเปลี่ยนจีวรมีค่ามาก หรือเอาจีวรมีค่ามากแลกเปลี่ยนจีวรมีค่าน้อย
  3. ภิกษุณีถือวิสาสะ
  4. ภิกษุณีถือเอาเป็นของขอยืม
  5. ภิกษุให้บริขารอื่นเว้นจีวร
  6. ภิกษุให้แก่สิกขมานา
  7. ภิกษุให้สามเณรี 
  8. ภิกษุวิกลจริต
  9. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่่ต้องอาบัติ
***

สิกขาบทที่ 6 โอวาทวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามเย็บจีวรให้นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ

26. โย ปน ภิกฺขุ อญฺญาติกาย ภิกฺขุนิยา จีวรํ สิพฺเพยฺย วา สิพฺพาเปยฺย วา ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด เย็บก็ดี ให้เย็บก็ดี ซึ่งจีวร เพื่อภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

พระอุทายีเย็บจีวรให้นางภิกษุณี มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุเย็บเอง หรือใช้ผู้อื่นให้เย็บจีวร เพื่อให้นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ต้องปาจิตตีย์. 

อนาบัติ
  1. ภิกษุเย็บเพื่อภิกษุณีผู้เป็นญาติ
  2. ภิกษุเย็บเองก็ดี ให้เย็บก็ดีซึ่งบริขารอื่นเว้นจีวร
  3. ภิกษุเย็บเพื่อสิกขมานา 
  4. ภิกษุเย็บเพื่อสามเณรี 
  5. ภิกษุวิกลจริต 
  6. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
***

สิกขาบทที่ 7 โอวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์


ห้ามเดินทางไกลร่วมกับนางภิกษุณี

27. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุนิยา สทฺธึ สํวิธาย เอกทฺธานมคฺคํ ปฏิปชฺเชยฺย อนฺตมโส คามนฺตรมฺปิ อญฺญตฺร สมยา ปาจิตฺติยํ.
ตตฺถายํ สมโย สตฺถคมนีโย โหติ มคฺโค สาสงฺกสมฺมโต สปฺปฏิภโย อยํ ตตฺถ สมโยติ.

“อนึ่ง ภิกษุใดชักชวนกันแล้วเดิืนทางไกลด้วยกันกับภิกษุณีโดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่้ง เว้นไว้แต่สมัยเป็นปาจิตตีย์นี้สมัยในเรื่องนั้น ทางเป็นที่จะต้องไปด้วยพวกเกวียน รู้กันอยู่ว่าเป็นที่น่ารังเกียจ มีภัยเฉพาะหน้า นี้สมัยในเรื่องนั้น.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ชวนนางภิกษุณีเดินทางไกลร่วมกัน มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุชวนนางภิกษุณีเดินทางไกลร่วมกัน แม้ชั่วระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์ ภายหลังผ่อนผันให้เดินทางร่วมกันได้ เมื่อทางนั้นมีภัย ต้องไปเป็นคณะ 

สตฺถคมนีโย แปลได้สองอย่าง คือเป็นทางที่ต้องไปด้วยหมู่เกวียน ซึ่งถือเอาความว่า ต้องไปเป็นคณะอีกอย่างหนึ่ง แปลว่า ต้องไปด้วยศัสตรา คือต้องมีศัสตราวุธ  

อนาบัติ
  1. มีสมัย 
  2. ไม่ได้ชักชวนกันไป 
  3. ภิกษุณีชักชวน ภิกษุไม่ได้ชักชวน 
  4. ไปโดยมิได้นัดหมาย 
  5. มีอันตราย 
  6. ภิกษุวิกลจริต 
  7. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
***

สิกขาบทที่ 8 โอวาทวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามชวนนางภิกษุณีเดินทางร่วมเรือร่วมกัน

28. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุนิยา สทฺธึ สํวิธาย เอกนาวํ อภิรูเหยฺย อุทฺธคามินึ วา อโธคามินึ วา อญฺญตฺร ติริยนฺตรณาย ปาจิตฺติยํ.

"อนึ่ง ภิกษุใดชักชวนกันแล้วโดยสารเรือลำเดียวกับภิกษุณี ขึ้นน้ำไปก็ดี ล่องน้ำไปก็ดี เว้นแต่ข้ามฟาก เป็นปาจิตตีย์"

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ชวนนางภิกษุณีไปในเรือลำเดียวกัน มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุชวนนางภิกษุณีลงเรือลำเดียวกันขึ้นหรือล่อง ต้องปาจิตตีย์ ภายหลังทรงผ่อนผันให้ข้ามฟากได้. 

อนาบัติ
  1. ข้ามฟาก 
  2. ไม่ได้ชักชวนกันโดยสาร 
  3. ภิกษุณีชักชวน ภิกษุไม่ได้ชักชวน 
  4. โดยสารเรือโดยมิได้นัดหมาย 
  5. มีอันตราย 
  6. ภิกษุวิกลจริต 
  7. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล

***

สิกขาบทที่ 9 โอวาทวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามฉันอาหารที่นางภิกษุณีไปแนะให้เขาถวาย

29. โย ปน ภิกฺขุ ชานํ ภิกฺขุนีปริปาจิตํ ปิณฺฑปาตํ ภุญฺเชยฺย อญฺญตฺร ปุพฺเพ คิหิสมารมฺภา ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ ฉันบิณฑบาตอันภิกษุณีแนะนำให้ถวายเว้นแต่คฤหัสถ์ปรารถไว้ก่อน เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

นางถุลลนันทาภิกษุณีเที่ยวไปสู่ตระกูล แนะนำให้เขาถวายอาหารแก่พระเทวทัตกับพวก มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุรู้อยู่ ฉันบิณฑบาตที่นางภิกษุณีแนะให้เขาถวาย ต้องปาจิตตีย์ ภายหลังทรงผ่อนผันให้ ว่าถ้าคฤหัสถ์เขาเริ่มไว้เองก่อน ฉันได้. 

อนาบัติ

  1. ภิกษุฉันบิณฑบาตที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน
  2. ภิกษุฉันบิณฑบาตอันสิกขมานา แนะนำให้ถวาย
  3. ภิกษุฉันบิณฑบาตอันสามเณรีแนะนำให้ถวาย
  4. ภิกษุฉันอาหารทุกชนิดเว้น โภชนะห้า
  5. ภิกษุวิกลจริต
  6. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.

***

สิกขาบทที่ 10 โอวาทวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามนั่งในที่ลับสองต่อสองกับนางภิกษุณี

30. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุนิยา สทฺธึ เอโก เอกาย รโห นิสชฺชํ กปฺเปยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ผู้เดียว สำเร็จการนั่งในที่ัลับกับภิกษุณีผู้เดียวเป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

พระอุทายีนั่งในที่ลับสองต่อสองกับนางภิกษุณีผู้เป็นอดีตภริยาของตนเสมอ มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุนั่งในที่ลับสองต่อสองกับภิกษุณี ต้องปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุมีบุรุษผู้รู้เดียงสาคนใดคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อน
  2. ภิกษุยืนมิได้นั่ง
  3. ภิกษุผู้มิได้มุ่งที่ลับ
  4. ภิกษุนั่งส่งใจไปในอารมณ์อื่น
  5. ภิกษุวิกลจริต
  6. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
*******

 ๓. โภชนวรรค วรรคว่าด้วยการฉันอาหาร เป็นวรรคที่ 4 มี 10 สิกขาบท


สิกขาบทที่ ๑ โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามฉันอาหารในโรงพักเดินทางเกิน ๑ มื้อ

31. อคิลาเนน ภิกฺขุนา เอโก อาวสถปิณฺโฑ ภุญฺชิตพฺโพ ตโต เจ อุตฺตรึ ภุญฺเชยฺย ปาจิตฺติยํ.

“ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ พึงฉันอาหารในโรงทานได้ครั้งหนึ่ง ถ้าฉันยิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ไปฉันอาหารในโรงพักเดินทางที่คณะเจ้าของ
เขาจัดอาหารให้เป็นทานแก่คนเดินทางที่มาพัก 
แล้วเลยถือโอกาสไปพักและฉันเป็นประจำ เป็นที่ติเตียน 
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุพึงฉันอาหารในโรงพักเพียงมื้อเดียว 
ถ้าฉันเกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์
ภายหลังทรงผ่อนผันให้ภิกษุไข้ ซึ่งเดินทางต่อไปไม่ไหวฉันเกินมื้อเดียวได้. 

อนาบัติ
  1. ภิกษุอาพาธ
  2. ภิกษุไม่อาพาธฉันครั้งเดียว
  3. ภิกษุเดินทางไป หรือ เดินทางกลับ มาแวะฉัน
  4. เจ้าของนิมนต์ให้ฉัน
  5. ภิกษุฉันอาหารที่เขาจัดไว้จำเพาะ
  6. ภิกษุฉันอาหารที่เขามิได้จัดไว้มากมาย
  7. ภิกษุฉันอาหารทุกชนิดเว้ันโภชนะห้า 
  8. ภิกษุวิกลจริต 
  9. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. เป็นก้อนข้าวในโรงทาน
  2. ไม่เป็นไข้ 
  3. เฝ้าฉันอยู่
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 205).

***

สิกขาบทที่ 2 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามฉันอาหารรวมกลุ่ม

32. คณโภชเน อญฺญตฺร สมยา ปาจิตฺติยํ. ตตฺถายํ สมโย คิลานสมโย จีวรทานสมโย จีวรการสมโย อทฺธานคมนสมโย อยํ ตตฺถ สมโยติ.

“การฉันเป็นหมู่ เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่นี้สมัยในเรื่องนั้น คือ คราวอาพาธ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวที่ทำจีวร คราวที่เดินทางไกล คราวที่โดยสารเรือไป คราวประชุมใหญ่ คราวภัตของสมณะ นี้สมัยในเรื่องนั้น.”

ต้นบัญญัติ

พระเทวทัตเสื่อมลาภสักการะ จึงต้องเที่ยวขออาหารเขาตามสกุล ฉันรวมกลุ่มกับบริษัทของตน มนุษย์ทั้งหลายพากันติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุฉันอาหารรวมกัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภายหลังทรงผ่อนผันให้เมื่อเป็นไข้, เมื่อถึงหน้าถวายจีวร, เมื่อถึงคราวทำจีวร, เมื่อเดินทางไกล, เมื่อไปทางเรือ, เมื่อประชุมกันอยู่มาก ๆ, เมื่อนักบวชเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหาร. 

วิภังค์

ที่ชื่อว่า ฉันเป็นหมู่ คือ คราวที่มีภิกษุ 4 รูป อันเขานิมนต์ด้วยโภชนะ 5 
(1.ข้าวสุก 2.ขนมสด 3.ขนมแห้ง 4.ปลา 5.เนื้อ) อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วฉัน นี้ชื่อว่าฉันเป็นหมู่

บทว่า เว้นไว้แต่สมัย คือ ยกเว้นสมัย.

ที่ชื่อว่า คราวอาพาธ คือ โดยที่สุดแม้เท้าแตก ภิกษุคิดว่าเป็นคราวอาพาธแล้วฉันได้.

ที่ชื่อว่า คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คือ เมื่อกฐินยังไม่ได้กรานกำหนดท้ายฤดูฝน 1 เดือน เมื่อกฐินกรานแล้ว 5 เดือน ภิกษุคิดว่าเป็นคราวที่เป็นฤดูฝน ถวายจีวร แล้วฉันได้

ที่ชื่อว่า คราวที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวรกันอยู่ ภิกษุคิดว่าเป็นคราวที่ทำจีวรแล้วฉันได้.

ที่ชื่อว่า คราวเดินทางไกล คือ ภิกษุคิดว่า จักเดินทางไปถึงกึ่งโยชน์แล้วฉันได้ เมื่อจะไปก็ฉันได้ มาถึงแล้วก็ฉันได้.

ที่ชื่อว่า คราวประชุมใหญ่ คือ คราวที่มีภิกษุ 2-3 รูปเที่ยวบิณฑบาตพอเลี้ยงกัน แต่เมื่อมีรูปที่ 4 มารวมด้วย ไม่พอเลี้ยงกัน ภิกษุคิดว่าเป็นคราวประชุมใหญ่ แล้วฉันได้.

ที่ชื่อว่า คราวภัตของสมณะ คือ คราวที่มีผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งนับเนื่องว่าเป็นนักบวชทำภัตตาหารถวาย ภิกษุคิดว่าเป็นคราวภัตของสมณะ แล้วฉันได้.

นอกจากสมัย ภิกษุรับว่า จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ กลืนกิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน

อนาบัติ
  1. ภิกษุฉันในสมัย
  2. ภิกษุ 2-3 รูปฉันรวมกัน
  3. ภิกษุหลายรูปเที่ยวบิณฑบาตรแล้วประชุมฉันแห่งเดียวกัน
  4. ภัตเขาถวายเป็นนิตย์ 5.ภัตเขาถวายตามสลาก
  5. ภัตเขาถวายในปักษ์
  6. ภัตเขาถวายในวันอุโบสถ 
  7. ภัตเขาถวายในวันปาฏิบท
  8. ภิกษุฉันอาหารทุกชนิดเว้นโภชนะห้า
  9. ภิกษุวิกลจริต
  10. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. เป็นคณะโภชนะ
  2. ไม่มีสมัย
  3. กลืนกิน 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึง เป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 204)

ข้อสังเกต จากต้นบัญญัติ,และที่ตรัสว่า “เพื่อ..อย่าอาศัยฝักฝ่ายทำลายสงฆ์ (หน้า 331), วิภังค์สิกขาบทที่ 2 และ 3 ที่ระบุถึง” นิมนต์ด้วยโภชนะ 5 ทั้งสองแห่งต่างกันแต่ว่าภิกษุ 4 รูป, และเรื่องอนุบัญญัติที่ทรงอนุญาตในจีวรกาลนั้น ไม่ได้กล่าวถึง นิมนต์โดยออกชื่อโภชนะ แต่ภิกษุซึ่งเป็นกลุ่มทำจีวรด้วยกันทั้ง 4 รูป จึงเกรงจะอาบัติ. แสดงว่าคณโภชนะ (การฉันเป็นหมู่) นั้น ประเด็นอยู่ที่เจาะจงภิกษุกลุ่มเดียวกัน 4 รูปฉันร่วมกัน มิใช่ที่นิมนต์โดยออกชื่อโภชนะ นักวินัยธรพึงพิจารณาเองเถิด.

***

สิกขาบทที่ 3 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามรับนิมนต์แล้วไปฉันอาหารที่อื่น

33. ปรมฺปรโภชเน อญฺญตฺร สมยา ปาจิตฺติยํ. ตตฺถายํ สมโย คิลานสมโย จีวรทานสมโย จีวรการสมโย อยํ ตตฺถ สมโยติ.

“เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ เพราะโภชนะทีหลังนี้สมัยในเรื่องนั้น คือ คราวเป็นไข้ ครวที่ถวายจีวร คราวที่ทำจีวรนี้สมัยในเรื่องนั้น.”
ทำให้เจ้าของบ้านที่นิมนต์เสียใจว่าเขาเลี้ยงไม่อิ่มหรืออย่างไร  

ต้นบัญญัติ

กรรมกรผู้ยากจนคนหนึ่งนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขไปฉันที่บ้าน ภิกษุทั้งหลายไปเที่ยวบิณฑบาตฉันเสียก่อน (อาจจะเกรงว่าอาหารเลวหรือไม่พอฉัน) เมื่อไปฉันที่บ้านกรรมกรคนนั้นจึงฉันได้เพียงเล็กน้อย (เพราะอิ่มมาก่อนแล้ว) ความจริงอาหารเหลือเฟือ เพราะชาวบ้านรู้ข่าวเอาของไปช่วยมาก พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะรับนิมนต์แล้วไปฉันอาหารรายอื่นก่อน ภายหลังทรงผ่อนผันให้ในยามเจ็บไข้, ในหน้าถวายจีวร, ในคราวทำจีวร, มอบให้ภิกษุอื่นฉันในที่นิมนต์แทน.

วิภังค์

ที่ชื่อว่า โภชนะทีหลัง ความว่า ภิกษุรับนิมนต์ด้วยโภชนะ 5 อย่างใดอย่างหนึ่งไว้แล้ว เว้นโภชนะนั้น ฉันโภชนะ 5 อย่างใดอย่างหนึ่งอื่น นี่ชื่อว่า โภชนะทีหลัง (ปรัมปรโภชน).

อนาบัติ
  1. ภิกษุฉันในสมัย
  2. ภิกษุวิกัปแล้วฉัน
  3. ภิกษุฉันบิณฑบาตที่รับนิมนต์ไว้ 2-3 แห่งรวมกัน
  4. ภิกษุฉันตามลำดับที่รับนิมนต์ 
  5. ภิกษุรับนิมนต์ชาวบ้านทั้งมวล แล้วฉัน ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในตำบลบ้านนั้น 
  6. ภิกษุรับนิมนต์หมู่ประชาชนทุกเหล่าแล้วฉัน ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในประชาชนหมู่นั้น 
  7. ภิกษุถูกเขานิมนต์ แต่บอกว่า จักรับภิกษา
  8. ภัตตาหารที่เขาถวายเป็นนิตย์
  9. ภัตตาหารที่เขาถวายด้วยสลาก
  10. ภัตตาหารที่เขาถวายในปักษ์
  11. ภัตตาหารที่เขาถวายในวันอุโบสถ
  12. ภัตตาหารที่เขาถวายในวันปาฏิบท
  13. ภิกษุฉันอาหารทุกชนิด เว้นโภชนะห้า
  14. ภิกษุวิกลจริต
  15. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. เป็นโภชนะของผู้อื่น 
  2. ไม่มีสมัย
  3. กลืนกิน 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 206).
  
***

สิกขาบทที่ 4 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามรับบิณฑบาตเกิน 3 บาตร

34. ภิกฺขุํ ปเนว กุลํ อุปคตํ ปูเวหิ วา มนฺเถหิ วา อภิหฏฺฐุํ ปวาเรยฺย. อากงฺขมาเนน ภิกฺขุนา ทฺวิตฺติปตฺตปูรา ปฏิคฺคเหตพฺพา.
ตโต เจ อุตฺตรึ ปฏิคฺคเณฺหยฺย ปาจิตฺติยํ. ทฺวิตฺติปตฺตปูเร ปฏิคฺคเหตฺวา ตโต นีหริตฺวา ภิกฺขูหิ สทฺธึ สํวิภชิตพฺพํ อยํ ตตฺถ สามีจีติ.

“อนึ่ง เขาปวารณาเฉพาะภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูล ด้วยขนมก็ดีด้วยสัตตุผงก็ดี เพื่อนำไปได้ตามปรารถนา ภิกษุผู้ต้องการพึงรับได้เต็ม 2-3 บาตร ถ้ารับยิ่งกว่านั้นเป็นปาจิตตีย์ ครั้นรับเต็ม 2-3 บาตรแล้ว นำออกจากที่นั้นแล้ว พึงแบ่งปันกับภิกษุทั้งหลายนี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น.”

ต้นบัญญัติ

มารดานางกาณาทำขนมไว้จะให้บุตรีนำไปสู่สกุลแห่งสามี ภิกษุเข้าไปรับบิณฑบาตแล้วกลับบอกกันต่อไปให้ไปรับ นางจึงถวายจนหมด แม้ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ที่ทำขนมก็เกิดเรื่องทำนองนี้ จนบุตรีของนากาณาไม่ได้ไปสู่สกุลสามีสักที ทำให้เกิดความเสียหายแก่บุตรีของนาง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุเข้าไปสู่สกุล ถ้าเขาปรารณาด้วยขนมหรือด้วยข้าวสัตตุผง เพื่อนำไปได้ตามปรารถนา พึงรับเพียงเต็ม ๒-๓ บาตร ถ้ารับเกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์. ทางที่ชอบ ภิกษุรับ ๒-๓ บาตรแล้ว พึงนำไปแบ่งกับภิกษุทั้งหลาย. 

วิภังค์

ที่ชื่อว่า ขนม ได้แก่ ของกินชนิดใดชนิดหนึ่งที่เขาจัดเตรียมไว้ เพื่อต้องการเป็นของกำนัล.

ที่ชื่อว่า สัตตุผง ได้แก่ ของกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาจัดเตรียมไว้เพื่อต้องการเป็นเสบียง.

อนาบัติ
  1. ภิกษุรับเต็ม 2-3 บาตร 
  2. ภิกษุรับหย่อนกว่า 2-3 บาตร
  3. เขาไม่ได้ถวายของที่เตรียมไว้เพื่อต้องการเป็นของกำนัล 
  4. เขาไม่ได้ถวายของที่เตรียมไว้เพื่อต้องการเป็นเสบียง 
  5. เขาถวายของที่เหลือจากที่เขาเตรียมไว้เพื่อต้องการเป็นของกำนัลหรือเพื่อต้องการเป็นเสบียง เมื่อเขาระงับการไปแล้วถวาย 
  6. รับของพวกญาติ 
  7. รับของคนปวารณา
  8. รับเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น
  9. จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน
  10. ภิกษุวิกลจริต
  11. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
***

สิกขาบทที่ 5 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามฉันอีกเมื่อฉันในที่นิมนต์เสร็จแล้ว

35. โย ปน ภิกฺขุ ภุตฺตาวี ปวาริโต อนติริตฺตํ ขาทนียํ วา โภชนียํ ขาเทยฺย วา ภุญฺเชยฺย วา ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใดฉันเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี อันมิใช่เดน เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุรับนิมนต์ไปฉันบ้านพราหมณ์คนหนึ่ง แล้วบางรูปไปฉันที่อื่นหรือไปรับบิณฑบาตอีก พราหมณ์ติเตียน แสดงความน้อยใจ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุฉันเสร็จแล้วบอกไม่รับอาหารที่เขาเพิ่มให้แล้ว เคี้ยวหรือฉันของเคี้ยวของฉัน ต้องปาจิตตีย์. ภายหลังทรงอนุญาตให้ฉันอาหารที่เป็นเดนได้. 

พุทธพจน์ : “ดูก่อนอุบาลี การห้ามภัต ย่อมปรากฏด้วยอาการ 5 อย่าง 5 อย่าง อะไรบ้าง
  1. การฉันยังปรากฏอยู่ 
  2. โภชนะปรากฏอยู่ 
  3. ผู้ให้อยู่ในหัตถบาส 
  4. เขาน้อมของเข้ามา 
  5. การห้ามปรากฏ” 
( พระไตรปิฎกสยามรัฐ 8/1175/424)

“ดูก่อนอุบาลี ของที่เป็นเดน นี้ มี 5 อย่าง 5 อย่างอะไรบ้าง คือ 
  1. ภิกษุทำให้เป็นกัปปิยะ 
  2. รับ(ประเคน) 
  3. ยกขึ้นส่งให้ 
  4. ทำในหัตถบาส 
  5. กล่าวว่าทั้งหมดนั่นพอล่ะ.”
(พระไตรปิฎกสยามรัฐ. 8/1174/423)

ข้อสังเกต จากสิกขาบทที่ 5 นี้, พุทธพจน์ข้างต้น,พระดำรัสที่ว่า “ให้ลุกขึ้นย่อมเป็นอันห้ามภัตด้วย” (ดูหน้า 323), รวมทั้ง พระดำรัสในจุลศีล (หน้า 369) ที่ว่า “เป็นผู้ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว..แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง”,และภัททาลิกสูตร,ลฑุกิโลปมสูตร(พระไตรปิฎกสยามรัฐ 13/150-185/128-151),แสดงว่า ถ้ามิใช่กรณีของที่เป็นเดนเมื่อภิกษุฉันแล้วลุกขึ้นแล้วฉันอีก ย่อมเป็นอาบัติ นักวินัยธรเห็นอย่างไรพึงพิจารณาเองเถิด.

“หัตถบาส” เป็นพยัญชนะโดยพุทธพจน์ ซึ่งแปลว่า บ่วงแห่งมือ ส่วนความหมายที่อธิบายเพิ่มเป็นนัยแห่งอรรถกถา 

อนาบัติ
  1. ภิกษุให้ทำเป็นเดนแล้วฉัน
  2. ภิกษุรับประเึคนไว้ด้วยตั้งใจว่าจักให้ทำเป็นเดน แล้วจึงฉัน
  3. ภิกษุรับไปเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น
  4. ฉันอาหารที่เหลือของภิกษุอาพาธ
  5. ฉันยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ในเมื่อมีเหตุอันสมควร
  6. ภิกษุวิกลจริต
  7. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. เป็นผู้ห้ามข้าวลุกจากอาสนะแล้ว 
  2. อามิสไม่ได้ทำกัปปิยะ เป็นอนติริตะอยู่ (อนติริตตะ = ซึ่งไม่เป็นคนเป็นเดน มี 2 คือ 1.เป็นเดนภิกษุไข้ 2.เป็นของภิกษุทำให้เป็นเดน : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์)
  3. กลืนกินในกาล 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 212)

***

สิกขาบทที่ 6 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามพูดให้ภิกษุที่ฉันแล้วฉันอีกเพื่อจับผิด

37. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุํ ภุตฺตาวึ ปวาริตํ อนติริตฺเตน ขาทนีเยน วา โภชนีเยน วา อภิหฏฺฐุํ ปวาเรยฺย หนฺท ภิกฺขุ ขาท วา ภุญฺช วาติ ชานํ อาสาทนาเปกฺโข ภุตฺตสฺมึ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ เพ่งจะหาโทษให้ นำไปปวารณาภิกษุผู้ฉันเสร็จห้ามภัตแล้ว ด้วยของเคี้ยวก็ดี ด้วยของฉันก็ดี อันมิใช่เดน บอกว่า นิมนต์เถิดภิกษุ เคี้ยวก็ตาม ฉันก็ตาม พอเธอฉันแล้ว เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุรูปหนึ่งรู้ว่า ภิกษุอีกรูปหนึ่งฉันในที่นิมนต์เสร็จแล้ว แกล้งแค่นไค้ให้ฉันอาหารอีก เพื่อจับผิดเธอ (ตามสิกขาบที่ 5) พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ทำเช่นนั้น. 

อนาบัติ
  1. ภิกษุให้ทำเป็นเดนแล้วให้
  2. ภิกษุให้ด้วยบอกว่า จงให้ทำเป็นเดนแล้วจึงฉันเถิด
  3. ภิกษุให้ด้วยบอกว่า จงนำไปเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น
  4. ภิกษุให้อาหารที่เหลือของภิกษุอาพาธ
  5. ภิกษุให้ด้วยบอกว่าในเมื่อมีเหตุสมควร จงฉันยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก
  6. ภิกษุวิกลจริต
  7. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. เธอห้ามข้าวแล้ว 
  2. รู้อยู่ว่าเธอห้ามข้าวแล้ว
  3. เพ่งเล็งในการยกโทษ
  4. เอาของที่เป็นอนติริตตะน้อมเข้าไปให้
  5. เธอนั้นฉันแล้ว 
พร้อมด้วยองค์ 5 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 213).

***

สิกขาบทที่ 7 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล

37. โย ปน ภิกฺขุ วิกาเล ขาทนียํ วา โภชนียํ วา ขาเทยฺย วา ภุญฺเชยฺย วา ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ในเวลาวิกาล เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุพวก 17 ฉันอาหารในเวลาวิกาล พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ฉันอาหารในเวลาวิกาล (ตั้งแต่เที่ยงไปจนรุ่งอรุณ). 

วิภังค์

ที่ชื่อว่า เวลาวิกาล หมายถึง ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันล่วงแล้วไปจนถึงอรุณขึ้น

อนาบัติ
  1. ภิกษุฉันยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เมื่อมีเหตุสมควร
  2. ภิกษุวิกลจริต
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. เป็นเวลาวิกาล
  2. ของฉันเป็นยาวกาลิก
  3. กลืนกิน 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 214). 

กาลิก (อ่านว่า กา-ลิก) แปลว่า ประกอบด้วยกาลเวลา, ขึ้นอยู่กับกาลเวลา เป็นภาษาพระวินัย หมายถึงอาหารหรือของที่ภิกษุรับแล้วเก็บไว้ฉันได้ตามกาลเวลาที่กำหนดเท่านั้น หากเก็บไว้เกินกว่านั้นถือเป็นความผิด ได้แก่
  1. ยาวกาลิก ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราว คือตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ได้แก่ ข้าวสุก ขนม ปลา เนื้อ เป็นต้น
  2. ยามกาลิก ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วระยะเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ได้แก่ น้ำปานะหรือน้ำผลไม้ชนิดต่าง ๆ ที่ทรงอนุญาตไว้
  3. สัตตาหกาลิก ของที่เก็บไว้ฉันได้ภายใน 7 วัน ได้แก่ เภสัช 5 คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
ทั้งนี้ของที่นอกเหนือจากกาลิกทั้ง 3 นั้น คือ ยาวชิวิก เป็นของที่เก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต


ยาวชิวิก คือ ของที่พระสงฆ์เก็บไว้ฉันได้เสมอไป ไม่มีจํากัดกาล ตามวินัยบัญญัติได้แก่ของที่ใช้ประกอบเป็นยาสงเคราะห์เข้าในคิลานปัจจัย

(พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548)

***

สิกขาบทที่ ๘ โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน

38. โย ปน ภิกฺขุ สนฺนิธิการกํ ขาทนียํ วา โภชนียํ วา ขาเทยฺย วา ภุญฺเชยฺย วา ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ที่ทำการสั่งสม เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

พระเวลัฏฐสีสะเก็บข้าวตากไว้ฉันในวันอื่น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน.

วิภังค์

ที่ชื่อว่า ทำการสั่งสม คือ รับประเคนในวันนี้ ขบฉันในวันอื่น.

ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยตั้งใจว่า จักเคี้่ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.

ขณะกลืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุก ๆคำกลืน.

อนาบัติ
  1. ภิกษุเก็บของเป็นยาวกาลิกไว้ฉันชั่วกาล
  2. ภิกษุเก็บของเป็นยามกาลิกไว้ฉันชั่วยาม
  3. ภิกษุเก็บของเป็นสัตตาหกาลิกไว้ฉันชั่วสัปดาห์ 
  4. ภิกษุฉันของเป็นยาวชีวิกในเมื่อมีเหตุสมควร
  5. ภิกษุวิกลจริต
  6. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. อามิสเป็นยาวกาลิก
  2. อามิสนั้น รับประเคนแรมคืนไว้เป็นสันนิธิ(ของที่สั่งสมไว้)
  3. กลืนกิน 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 215).

***

สิกขาบทที่ 9 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามขออาหารประณีตมาเพื่อฉันเอง

39. ยานิ โข ปน ตานิ ปณีตโภชนานิ เสยฺยถีทํ สปฺปิ นวนีตํ เตลํ มธุ ผาณิตํ มจฺโฉ มํสํ ขีรํ ทธิ. โย ปน ภิกฺขุ เอวรูปานิ ปณีตโภชนานิ อคิลาโน อตฺตโน อตฺถาย วิญฺญาเปตฺวา ภุญฺเชยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด มิใช่ผู้อาพาธ ขอโภชนะอันประณีตเห็นปานนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม เพื่อประโยชน์แก่ตนแล้วฉัน เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ขออาหารประณีต คือ เนยใส, เนยข้น, น้ำมัน, น้ำผึ้ง, น้ำอ้อย, ปลา, เนื้อ, นมสด, นมส้ม มาเพื่อฉันเอง เป็นที่ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ทำเช่นนั้น เว้นไว้แต่อาพาธ. 

อนาบัติ
  1. ภิกษุอาพาธ
  2. ภิกษุเป็นผู้อาพาธขอมา หายอาพาธแล้วฉัน
  3. ภิกษุฉันโภชนะที่เหลือของภิกษุอาพาธ
  4. ภิกษุขอต่อญาติ
  5. ภิกษุขอต่อคนปวารณา
  6. ภิกษุขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น
  7. ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน
  8. ภิกษุวิกลจริต
  9. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
องค์แห่งอาบัติ 
  1. เป็นปณีตโภชนะ
  2. ไม่เป็นไข้
  3. ได้มาด้วยวิญญัติ(การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย มี 2 คือ กายวิญญัติ เช่น พยักหน้า 2. วจีวิญญัติ คือ พูดบอกกล่าว)
  4. กลืนกิน 
พร้อมด้วยองค์ 4 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาฯ หน้า 216).

***

สิกขาบทที่ 10 โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามฉันอาหารที่มิได้รับประเคน

40. โย ปน ภิกฺขุ อทินฺนํ มุขทฺวารํ อาหารํ อาหเรยฺย อญฺญตฺร อุทกทนฺตโปณา ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด กลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ ล่วงช่องปาก เว้นไว้แต่น้ำและไม้ชำระฟัน เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุรูปหนึ่งไม่ชอบรับอาหารที่มนุษย์ถวาย จึงไปถือเอาเครื่องเซ่น ที่เขาทิ้งไว้ตามสุสานบ้าง ตามต้นไม้บ้าง ตามหัวบันไดบ้าง มาฉัน เป็นที่ติเตียนของคนทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ฉันอาหารที่เขามิได้ให้ (ประเคน) เว้นไว้แต่น้ำและไม้สีฟัน.

วิภังค์

ที่ชื่อว่า เขาให้ คือ 
  1. เมื่อเขาให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือโยนให้ 
  2. เขาอยู่ในหัตถบาส 
  3. ภิกษุรับประเคนด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย 
นี้ชื่อว่า เขาให้.

พุทธพจน์ในคัมภีร์ปริวารที่เกี่ยวกับการรับประเคน
 “ดูก่อนอุบาลี การรับประเคนที่ใช้ไม่ได้นี้มี 5 อย่าง. 5 อย่างอะไรบ้าง คือ 
  1. ของเขาให้ด้วยกาย ไม่รับประเคนด้วยกาย
  2. ของเขาให้ด้วยกาย ไม่รับประเคนด้วยของเนื่องด้วยกาย
  3. ของเขาให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย ไม่รับประเคนด้วยกาย
  4. ของเขาให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย ไม่รับประเคนด้วยของเนื่องด้วยกาย 
  5. ของเขาให้ด้วยโยนให้ไม่รับประเคนด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย (มีตรัสไว้โดยนัยตรงข้าม,ไตร 8/1177/422)

อนาบัติ
  1. กลืนน้ำและไม้ชำระฟัน
  2. ฉันยามหาวิกัติ 4 (มูตร คูถ เถ้า ดิน ) ในเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เมื่อกัปปิยการก (ผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค) ไม่มี ภิกษุถือเอาเองแล้วฉันได้
  3. ภิกษุวิกลจริต
  4. ภิกษุอาทิกัมมิกะไม่ต้องอาบัติ
องค์แห่งอาบัติ 
  1. ของไม่ได้รับประเคน
  2. ของนั้นไม่ใช่ของพระพุทธเจ้าทรงอนุญาต
  3. ของนั้นไม่เป็นอัพโพหาริก ดังควันไฟ เป็นต้น
  4. กลืนเข้าไปในลำคอ 
พร้อมด้วยองค์ 4 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 217).

******* 

5. อเจลกวรรค วรรคว่าด้วยชีเปลือย เป็นวรรคที่ 5 มี 10 สิกขาบท 


สิกขาบทที่ ๑ อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามยื่นอาหารด้วยให้ชีเปลือยและนักบวชอื่น ๆ

41. โย ปน ภิกฺขุ อเจลกสฺส วา ปริพฺพาชกสฺส วา ปริพฺพาชิกาย วา สหตฺถา ขาทนียํ วา โภชนียํ วา ทเทยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ให้ของเคี้ยวก็ดี ของกินก็ดี แก่อเจลกก็ดี แก่ปริพาชกก็ดี แก่ปริพาชิกาก็ดี ด้วยมือของตน เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ขนมเกิดขึ้นแก่สงฆ์ (เหลือเฟือ) พระผู้มีพระภาคจึงทรงโปรดให้พระอานนท์แจกเป็นทานแก่คนอดอยาก พระอานนท์จึงแจก มีนักบวชนอกศาสนาที่เป็นผู้หญิงมารับแจกด้วย เผอิญให้เกินไป ๑ ก้อน แก่นักบวชหญิงนั้น ด้วยเข้าใจผิด พวกเขาเองจึงล้อกันว่า พระอานนท์เป็นชู้ของหญิงนั้น. และภิกษุรูปหนึ่งฉันเสร็จก็เอาข้าวสุกคลุกเนยใสให้แก่อาชีวกผู้หนึ่ง. มีผู้เห็นว่าไม่เหมาะสม (เพราะการยื่นให้ด้วยมือ แสดงคล้ายเป็นศิษย์ หรือคฤหัสถ์ประเคนของพระ จะกลายเป็นเหยียดตัวเองลงเป็นคฤหัสถ์). พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามให้อาหารแก่ชีเปลือย แก่ปริพพาชก แก่ปริพพาชิกา ด้วยมือของตน ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

วิภังค์

ที่ชื่อว่า อเจลก ได้แก่ ชีเปลือยคนใดคนหนึ่งที่จัดเข้าในจำพวกนักบวช.

ที่ชื่อว่า ปริพาชก ได้แก่ บุรุษคนใดคนหนึ่ง ที่จัดเข้าในพวกนักบวช เว้นภิกษุและสามเณร.

ที่ชื่อว่า ปริพาชกา ได้แก่ สตรีคนใดคนหนึ่งที่จัดเข้าในจำพวกนักบวช เว้นภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี.

อนาบัติ
  1. ภิกษุสั่งให้ผู้อื่นให้ ไม่ได้ให้เอง
  2. วางไว้
  3. ให้ของไล้ทาภายนอก
  4. ภิกษุวิกลจริต
  5. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
***

สิกขาบทที่ 2 อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามชวนภิกษุไปบิณฑบาตด้วยแล้วไล่กลับ

42. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุํ เอวํ วเทยฺย เอหาวุโส คามํ วา นิคมํ วา ปิณฺฑาย ปวิสิสฺสามาติ ตสฺส ทาเปตฺวา วา อทาเปตฺวา วา อุยฺโยเชยฺย คจฺฉาวุโส น เม ตยา สทฺธึ กถา วา นิสชฺชา วา ผาสุ โหติ เอกกสฺส เม กถา วา นิสชฺชา วา ผาสุ โหตีติ เอตเทว ปจฺจยํ กริตฺวา อนญฺญํ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด กล่าวต่อภิกษุอย่างนี้ว่า ท่านจงมาเข้าไปสู่บ้านหรือสู่นิคมเพื่อบิณพบาตด้วยกัน เธอยังเขาให้ถวายแล้วก็ดี ไม่ให้ถวายแล้วก็ดี แก่เธอแล้วส่งไปด้วยคำว่า ท่านจงไปเถิด การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเรากับท่าน ไม่เป็นผาสุกเลย การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเราคนเดียว ย่อมเป็นผาสุก ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

พระอุปนนทะ ศากยบุตร ชวนภิกษุรูปหนึ่งไปเที่ยวบิณฑบาตด้วยกัน แล้วไล่เธอกลับ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามทำเช่นนั้น ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

อนาบัติ
  1. ภิกษุส่งกลับไปด้วยคิดว่าเรา 2 รูปรวมกัน จักไม่พอฉัน
  2. ภิกษุส่งกลับไปด้วยคิดว่า รูปนั้นพบสิ่งของมีราคามากแล้ว จักยังความโลภให้เกิด 
  3. ภิกษุส่งกลับไปด้วยคิดว่ารูปนั้นเห็นมาตุคามแล้วจักยังความกำหนัดให้เกิด
  4. ภิกษุส่งกลับไปด้วยสั่งว่า จงนำข้าวต้มหรือข้าวสวย ของเคี้ยวหรือของฉันไปให้แก่ภิกษุผู้อาพาธแก่ภิกษุผู้ตกค้างอยู่ หรือแก่ภิกษุผู้เฝ้าวิหาร 
  5. ภิกษุัไม่ประสงค์จะประพฤติอนาจาร แต่เมื่อมีกิจจำเป็นจึงส่งกลับไป
  6. ภิกษุวิกลจริต
  7. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. ใคร่จะประพฤติอนาจาร
  2. ไล่อุปสัมบันเพื่อประโยชน์นั้น
  3. ผู้ต้องไล่ล่วงอุปจาร 
 พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า218).
***

สิกขาบทที่ 3 อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามเข้าไปแทรกแซงในสกุลที่มีคน ๒ คน (การนั่งแทรกแซงในที่มีเฉพาะหญิงกับชาย)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงตีความไปอย่างอื่นว่า สกุลที่เขากำลังบริโภคอาหารกันอยู่  

43. โย ปน ภิกฺขุ สโภชเน กุเล อนุปขชฺช นิสชฺชํ กปฺเปยฺย ปาจิตฺติยํ.


“อนึ่ง ภิกษุใด สำเร็จการนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน 2 คน เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

พระอุปนนทะ ศากยบุตร เข้าไปในสกุลที่มีสามีภริยาเขานั่งอยู่ด้วยกัน ได้ภิกษาแล้ว สามีไล่ให้กลับ แต่ภริยานิมนต์ให้นั่งอยู่ก่อน จึงนั่งอยู่ เขาไล่ถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่กลับ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุเข้าสู่สกุลที่มีสามีภริยาอยู่ด้วยกัน ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

วิภังค์

ตระกูลที่ชื่่อว่า มีคน 2 คน คือ มีเฉพาะสตรี 1 บุรุษ 1 ทั้ง 2 คน ยังไม่ออกจากกัน ทั้ง 2 คนหาใช่ผู้ปราศจากราคะไม่.

บทว่า แทรกแซง คือ กีดขวาง.

อนาบัติ
  1. ภิกษุนั่งในเรือนใหญ่ ไม่ล่วงล้ำหัตถบาสแห่งบานประตู
  2. ภิกษุนั่งในเรือนเล็ก ไม่เลยท่ามกลางห้อง
  3. ภิกษุมีเพื่อนอยู่ด้วย 
  4. คนทั้ง 2 ออกจากกันแล้ว
  5. ทั้ง 2 คนปราศจากราคะแล้ว
  6. ภิกษุนั่งในสถานที่อันมิใช่ห้องนอน
  7. ภิกษุวิกลจริต
  8. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
***

สิกขาบทที่ 4 อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามนั่งในที่ลับมีที่กำลังกับมาตุคาม

44. โย ปน ภิกฺขุ มาตุคาเมน สทฺธึ รโห ปฏิจฺฉนฺเน อาสเน นิสชฺชํ กปฺเปยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังกับมาตุคาม เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

พระอุปนนทะ ศากยบุตร ไปสู่เรือนสหาย นั่งในที่ลับมีที่กำบังกับภริยาของสหายนั้น เขาติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามนั่งในที่ลับมีที่กำลังกับมาตุคาม (ผู้หญิง) ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

วิภังค์

ที่ชื่อว่า ในที่ลับ ได้แก่ 1.ที่ลับตา 2.ที่ลับหู

ที่ชื่อว่า ที่ลับตา ได้แก่ ที่่ซึ่งเมื่อภิกษุหรือมาตุคามขยิบตา ยักคิ้ว หรือชะเง้อศีรษะไม่มีใครสามารถจะแลเห็นได้.

ที่ชื่อว่า ที่ลับหู ได้แก่ ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่สนทนากันตามปกติได้.

อาสนะที่ชื่อว่า กำบัง คือ เป็นอาสนะที่เขากำบังด้วยฝา บานประตู ลำแพน ม่านบัง ต้นไม้ เสา หรือฉางข้าว อย่างใดอย่างหนึ่ง.

คำว่า สำเร็จการนั่ง ความว่า เมื่อมาตุคามนั่งแล้ว ภิกษุนั่งใกล้ หรือ นอนใกล้ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุนั่งแล้ว มาตุคามนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุมีบุรุษผู้รู้เดียงคนใดคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อน
  2. ภิกษุยืนมิได้นั่ง
  3. ภิกษุมิได้มุ่งที่ลับ
  4. ภิกษุนั่งส่งใจไปในอารมณ์อื่น 
  5. ภิกษุวิกลจริต 
  6. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
***

สิกขาบทที่ 5 อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามนั่งในที่ลับ (หู) สองต่อสองกับมาตุคาม

45. โย ปน ภิกฺขุ มาตุคาเมน สทฺธึ เอโก เอกาย รโห นิสชฺชํ กปฺเปยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ผู้เดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามผู้เดียวเป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

พระอุปนนทะ ศากยบุตร ไปสู่เรือนสหาย นั่งในที่ลับ (หู) กับภริยาของสหายนั้นสองต่อสอง เขาติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามนั่งในที่ลับ (หู) สองต่อสองกับมาตุคาม ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

อนาบัติ
  1. ภิกษุมีบุรุษผู้รู้เดียงสาคนใดคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อน
  2. ภิกษุยืนมิได้นั่ง
  3. ภิกษุมิได้มุ่งที่ลับ
  4. ภิกษุนั่งส่งใจไปในอารมณ์อื่น
  5. ภิกษุวิกลจริต
  6. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
***

สิกขาบทที่ 6 อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามรับนิมนต์แล้วไปที่อื่นไม่บอกลา

46. โย ปน ภิกฺขุ นิมนฺติโต สภตฺโต สมาโน สนฺตํ ภิกฺขุํ อนาปุจฺฉา ปุเรภตฺตํ วา ปจฺฉาภตฺตํ วา กุเลสุ จาริตฺตํ อาปชฺเชยฺย อญฺญตฺร สมยา ปาจิตฺติยํ. ตตฺถายํ สมโย จีวรทานสมโย จีวรการสมโย อยํ ตตฺถ สมโยติ.

“อนึ่ง ภิกษุใด รับนิมนต์แล้ว มีภัตอยู่แล้วไม่บอกลาภิกษุซึ่งมีอยู่ ถึงความเป็นผู้เที่ยวในตระกูลทั้งหลาย ก่อนฉันก็ดี ทีหลังฉันก็ดี เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์. นี้สมัยในเรื่องนั้น คือ คราวที่ถวายจีวร คราวที่ทำจีวร, นี้สมัยในเรื่องนั้น.”

ต้นบัญญัติ

พระอุปนนทะ ศากยบุตร รับนิมนต์ไปฉันในที่แห่งหนึ่งแล้ว ไปสู่สกุลอื่นเสียก่อน ทำให้ภิกษุอื่น และเจ้าของบ้านที่นิมนต์ไว้ต้องคอย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามทำเช่นนั้น ภายหลังมีเหตุเกิดขึ้น จึงทรงบัญญัติเพิ่มเติมหลายครั้ง รวมความในสิกขาบทนี้ว่า ภิกษุรับนิมนต์แล้ว ไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่ (ในวัด) เที่ยวไปในสกุลทั้งหลายก่อนฉันก็ดี ภายหลังฉันก็ดี เว้นแต่สมัย คือคราวถวายจีวร และคราวทำจีวร ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

วิภังค์

ที่ชื่อว่า ภิกษุซึ่งมีอยู่ คือ อาจที่จะบอกลาก่อนเข้าไป.

อนาบัติ
  1. ภิกษุฉันในสมัย
  2. ภิกษุบอกลาภิกษุซึ่งมีอยู่แล้วจึงเข้าไป
  3. ไม่ได้บอกลาภิกษุซึ่งไม่มีอยู่ แล้วเข้าไป
  4. เดินทางผ่านเรือนผู้อื่น
  5. เดินทางผ่านอุปจารเรือน
  6. ไปอารามอื่น
  7. ไปสู่สำนักภิกษุณี
  8. ไปสู่สำนักเดียรถีย์ 
  9. ไปโรงฉัน
  10. ไปเรือนที่เขานิมนต์ฉัน 
  11. ไปเพราะมีอันตราย
  12. ภิกษุวิกลจริต
  13. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. ยินดีเขานิมนต์ด้วยโภชนะ 5 อันใดอันหนึ่ง
  2. ไม่ลา ไม่บอกภิกษุที่มีอยู่ 
  3. ไปเรือนอื่นจากเรือนผู้นิมนต์ 
  4. ยังไม่ล่วงเวลาเที่ยงไป 
  5. ไม่มีสมัยหรืออันตราย 
พร้อมด้วยองค์ 5 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 220).

***

สิกขาบทที่ 7 อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามขอของเกินกำหนดเวลาที่เขาอนุญาตไว้

47. อคิลาเนน ภิกฺขุนา จาตุมาสปจฺจยปวารณา สาทิตพฺพา อญฺญตฺร ปุนปวารณาย อญฺญตฺร นิจฺจปวารณาย ตโต เจ อุตฺตรึ สาทิเยยฺย ปาจิตฺติยํ.

“ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ พึงยินดีปวารณาด้วยปัจจัยเพียงสี่เดือน เว้นไว้แต่ปวารณาอีก เว้นไว้แต่ปวารณาเป็นนิตย์ ถ้าเธอยินดียิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

มหานาม ศากยะ ปวารณาต่อภิกษุสงฆ์ ให้ขอเภสัชได้ตลอด ๔ เดือน แล้วปวารณาต่ออีก ๔ เดือน แล้วปวารณาต่อจนตลอดชีวิต ภิกษุฉัพพัคคีย์ขอเนยใส ในขณะที่คนใช้ของมหานาม ศากยะ ไปทำงาน แม้จะถูกขอร้องให้คอยก็ไม่ยอม กลับพูดว่า ปวารณาแล้วไม่ให้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุไม่เป็นไข้ พึงขอปัจจัยสำหรับภิกษุไข้ที่เขาปวารณา ๔ เดือนได้ ถ้าขอเกินกำหนดนั้น เว้นไว้แต่เขาปวารณาอีก และปวารณาตลอดชีวิต ต้องปาจิตตีย์. (ไม่เป็นไข้ขอไม่ได้ แสร้งขอในเมื่อไม่มีความจำเป็นก็ไม่ได้).

วิภังค์

คำว่า ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ พึงยินดีปวารณาด้วยปัจจัยเพียงสี่เดือนนั้น ความว่า พึงยินดีปวารณาเฉพาะปัจจัยของภิกษุไข้ แม้เขาปวารณาอีกก็พึงยินดีว่า เราจักขอชั่วเวลาที่ยังอาพาธอยู่ แม้เขาปวารณาเป็นนิตย์ ก็พึงยินดีว่า เราจังขอชั่วเวลาที่ยังอาพาธอยู่.

อนาบัติ
  1. ภิกษุผู้ขอเภสัชตามที่เขาปวารณาไว้ 
  2. ขอในระยะกาลตามที่เขาปวารณาไว้ 
  3. บอกขอว่า ท่านปวารณาพวกข้าพเจ้าด้วยเภสัชเหล่านี้แต่พวกข้าพเจ้าต้องการเภสัชชนิดนี้และชนิดนี้ 
  4. บอกขอว่าระยะกาลที่ท่านได้ปวารณาไว้ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ข้าพเจ้ายังต้องการเภสัช
  5. ขอต่อญาติ
  6. ขอต่อคนปวารณา 
  7. ขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุรูปอื่น 
  8. จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน 
  9. ภิกษุวิกลจริต 
  10. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. เขาปวารณาแก่สงฆ์
  2. ขอยาให้เกินกว่านั้น
  3. ไม่เป็นไข้
  4. ล่วงกำหนดแล้ว 
พร้อมด้วยองค์ 4 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 221).

***

สิกขาบทที่ 8 อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามไปดูกองทัพที่ยกไป

48. โย ปน ภิกฺขุ อุยฺยุตฺตํ เสนํ ทสฺสนาย คจฺเฉยฺย อญฺญตฺร ตถารูปปจฺจยา ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ไปเพื่อจะดูเสนาอันยกออกแล้ว เว้นไว้แต่ปัจจัยมีอย่างนั้นเป็นรูป เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ไปดูกองทัพที่ยกไป พระเจ้าปเสนทิทอดพระเนตรเห็นก็ทรงทักท้วง คนทั้งหลายพากันติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุไปดูกองทัพที่เขายกไป ต้องปาจิตตีย์ ภายหลังทรงอนุญาตให้ไปในกองทัพได้เมื่อมีเหตุสมควร.

วิภังค์

ที่ชื่อว่า อันยกออกแล้ว ได้แก่ กองทัพซึ่งยกออกจากหมู่บ้านแล้ว ยังพักอยู่หรือเคลื่อนขบวนต่อไปแล้ว.

บทว่า เว้นไว้แต่ปัจจัยมีอย่างนั้นเป็นรูป คือ ยกเหตุจำเป็นเสีย.

อนาบัติ
  1. ภิกษุอยู่ในอารามมองเห็น
  2. กองทัพยกผ่านมายังสถานที่ภิกษุยืนนั่งหรือนอนเธอมองเห็น
  3. ภิกษุเดินสวนทางไปพบเข้า
  4. มีเหตุจำเป็น
  5. มีอันตราย
  6. ภิกษุวิกลจริต
  7. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
องค์แห่งอาบัติ 
  1. กระบวนจตุรังคินีเสนายกทัพออก
  2. ไปเพื่อจะดู
  3. เห็นใน ที่อื่นพ้นโอกาสซึ่งพระพุทธเจ้าทรงอนุญาต
  4. ไม่มีเหตุที่สมควรหรืออันตราย 
พร้อมด้วยองค์ 4 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 221).

***

สิกขาบทที่ 9 อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามพักอยู่ในกองทัพเกิน ๓ คืน

49. สิยา จ ตสฺส ภิกฺขุโน โกจิเทว ปจฺจโย เสนํ คมนาย ทฺวิรตฺตติรตฺตํ เตน ภิกฺขุนา เสนาย วสิตพฺพํ. ตโต เจ อุตฺตรึ วเสยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ปัจจัยบางอย่างเพื่อจะไปสู่เสนา มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นพึงอยู่ได้ในเสนาเพียง 2 -3 คืน ถ้าอยู่ยิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ
ภิกษุฉัพพัคคีย์มีเหตุจำเป็นไปในกองทัพ และพักอยู่เกิน ๓ คืน มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า เมื่อมีเหตุจำเป็นจะต้องไปในกองทัพ ภิกษุจะพักอยู่ในกองทัพได้ไม่เกิน ๓ ราตรี ถ้าอยู่เกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุอยู่ 2 – 3 คืน
  2. ภิกษุอยู่ไม่ถึง 2-3 คืน
  3. ภิกษุอยู่ 2 คืน แล้วออกไปก่อนอรุณของคืนที่ 3 ขึ้นมา กลับอยู่ใหม่ 
  4. ภิกษุอาพาธพักแรมอยู่ 
  5. ภิกษุอยู่ด้วยกิจธุระของภิกษุอาพาธ
  6. ภิกษุตกอยู่ในกองทัพที่ถูกข้าศึกล้อมไว้
  7. ภิกษุมีเหตุบางอย่างขัดขวางไว้ 
  8. มีอันตราย 
  9. ภิกษุวิกลจริต 
  10. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
***

สิกขาบทที่ 10 อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามดูเขารบกัน เป็นต้น เมื่อไปในกองทัพ

50. ทฺวิรตฺตติรตฺตญฺเจ ภิกฺขุ เสนาย วสมาโน อุยฺโยธกํ วา พลคฺคํ วา เสนาพฺยูหํ วา อนีกทสฺสนํ วา คจฺเฉยฺย ปาจิตฺติยํ.

“ถ้าภิกษุอยู่ในเสนา 2 – 3 คืน ไปสู่สนามรบก็ดี ไปสู่ที่พักพลก็ดี ไปสู่ที่จัดขบวนทัพก็ดี ไปดูกองทัพที่จัดเป็นขบวนแล้วก็ดีเป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์มีเหตุจำเป็นต้องไปพักในกองทัพ ๒-๓ ราตรี เธอได้ไปดูการรบ การตรวจพล การจัดทัพ และดูทัพที่จัดเป็นกระบวนเสร็จแล้ว. ภิกษุรูปหนึ่งในจำนวน ๖ รูป ถูกลูกเกาทัณฑ์ (เพราะไปดูเขารบกัน) เป็นที่เยาะเย้ยติเตียนของคนทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุที่พักอยู่ในกองทัพ ๒-๓ ราตรี ไปดูการรบ การตรวจพล การจัดทัพ และทัพที่จัดเป็นขบวนเสร็จแล้ว ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

อนาบัติ
  1. ภิกษุอยู่ในอารามมองเห็น
  2. การรบพุ่งผ่านมายังสถานที่ภิกษุยืน นั่ง หรือ นอน เธอมองเห็น
  3. ภิกษุเดินสวนทางไปพบเข้า
  4. ภิกษุมีกิจจำเป็นเดินไปพบเข้า
  5. มีอันตราย 
  6. ภิกษุวิกลจริต 
  7. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล

*******

6. สุราปานวรรค วรรคว่าด้วยการดื่มสุรา เป็นวรรคที่ 6 มี 10 สิกขาบท 


สิกขาบทที่ 1 สุราปานวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามดื่มสุราเมรัย

51. สุราเมรยปาเน ปาจิตฺติยํ.

“เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะดื่มสุราและเมรัย.”

ต้นบัญญัติ

พระสาคตะปราบนาค (งูใหญ่) ของพวกชฏิลได้ ชาวบ้านดีใจ ปรึกษากันว่าจะถวายอะไรดีที่หาได้ยาก ภิกษุฉัพพัคคีย์แนะให้ถวายเหล้าใส สีแดงดั่งเท้านกพิราบ ชาวบ้านจึงเตรียมเหล้าแดงไว้ และถวายให้พระสาคตะดื่ม พระสาคตะเมานอนอยู่ที่ประตูเมือง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุดื่มสุรา (น้ำเมาที่กลั่น) และเมรัย (น้ำเมาที่หมักหรือดอง) ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด. 

วิภังค์

ที่ชื่อว่า สุรา ได้แก่ สุราที่ทำด้วยแป้ง สุราที่ทำด้วยขนม สุราที่ทำด้วยข้าวสุก สุราที่หมักส่าเหล้า สุราที่ผสมด้วยเครื่องปรุง.

ที่ชื่อว่า เมรัย ได้แก่ น้ำดองดอกไม้ น้ำดองผลไม้ น้ำดองน้ำผึ้ง น้ำดองน้ำอ้อยงบ น้ำดองที่ผสมด้วยเครื่องปรุง.

คำว่า ดื่ม คือ ดื่มโดยที่สุดแม้ด้วยปลายหญ้าคา ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุดื่มน้ำที่มีกลิ่นรสเหมือนน้ำเมา แต่ไม่ใช่น้ำเมา
  2. ภิกษุดื่มน้ำเมาที่เจือลงในแกง
  3. ที่เจือลงในเนื้อ
  4. ที่เจือลงในน้ำมัน
  5. น้ำเมาที่เจือลงในน้ำอ้อยที่ดองมะขามป้อม
  6. ภิกษุดื่มยาดองอริฏฐะ (ดองด้วยน้ำมะขามป้อมเป็นต้น สี กลิ่น รส คล้ายน้ำเมา. ดูเชิงอรรถหน้า 248 ) ซึ่งไม่ใช่ของเมา
  7. ภิกษุวิกลจริต
  8. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. เป็นน้ำเมา
  2. ดื่มกิน 
พร้อมด้วยองค์ 2 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 223)

***

สิกขาบทที่ 2 สุราปานวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

ห้ามจี้ภิกษุ

52. องฺคุลิปโตทเก ปาจิตฺติยํ.

“เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะจี้ด้วยนิ้วมือ.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์เอานิ้วมือจี้ภิกษุสัตตรสวัคคีย์ (พวก ๑๗) รูปหนึ่ง เธอสะดุ้ง เลยขาดใจตาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจี้ภิกษุ ต้องปาจิตตีย์.


วิภังค์

ที่ชื่อว่า จี้ด้วยนิ้วมือ คือ ใช้นิ้วมือจี้ อุปสัมบัน มีความประสงค์จะยังอุปสัมบันให้หัวเราะ ถูกต้องกายด้วยกาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุไม่ประสงค์จะให้หัวเราะ เมื่อมีกิจจำเป็นถูกต้องเข้า
  2. ภิกษุวิกลจริต
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. อธิบายจะเล่นสนุก 
  2. ต้องการอุปสัมบันด้วยกายตน 
พร้อมด้วยองค์ 2 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 224).

***

สิกขาบทที่ 3 สุราปานวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

ห้ามว่ายน้ำเล่น

53. อุทเก หสฺสธมฺเม ปาจิตฺติยํ.

“เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะธรรม คือ หัวเราะในน้ำ.”

ต้นบัญญัติ 

ภิกษุ (พวก 17) เล่นน้ำในแม่น้ำอจิรวดี พระเจ้าปเสนทิออกอุบายฝากขนมไปถวายพระพุทธเจ้า เพื่อให้ทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านี้ไปเล่นน้ำ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุว่ายน้ำเล่น ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด. 

วิภังค์

ที่ชื่อว่า ธรรม คือ หัวเราะในน้ำ ความว่า ในน้ำลึกพ้นข้อเท้าขึ้นไปภิกษุมีความประสงค์จะรื่นเริง ดำลงก็ดี ผุดขึ้นก็ดี ว่ายไปก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

ภิกษุเล่นน้ำตื้นใต้ข้อเท้า ต้องอาบัติทุกกฏ

ภิกษุเล่นเรือ ต้องอาบัติทุกกฏ

ภิกษุเอานิ้วมือวักน้ำก็ดี เอาเท้าแกว่งน้ำก็ดี เอาไม้ขีดน้ำก็ดี เอากระเบื้องปาน้ำเล่นก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ

น้ำ น้ำส้ม น้ำนม เปรียง น้ำย้อม น้ำปัสสาวะ หรือน้ำโคลน ซึ่งขังอยู่ในภาชนะ ภิกษุเล่น ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาบัติ
  1. ภิกษุไม่ประสงค์จะเล่น แต่เมื่อมีกิจจำเป็น ลงน้ำแล้วดำลงก็ดีผุดขึ้นก็ดี ว่ายไปก็ดี
  2. ภิกษุผู้จะข้ามฟาก ดำลงก็ดี ผุดขึ้นก็ดี ว่ายไปก็ดี 
  3. มีอันตราย
  4. ภิกษุวิกลจริต 
  5. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. น้ำลึกท่วมข้อเท้า
  2. ลงเล่นประสงค์จะสนุก 
พร้อมด้วยองค์ 2 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 224). 

***

สิกขาบทที่ ๔ สุราปานวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

ห้ามแสดงความไม่เอื้อเฟื้อในวินัย

54. อนาทริเย ปาจิตฺติยํ.

“เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะความไม่เอื้อเฟื้อ.” 

ต้นบัญญัติ

พระฉันนะประพฤติอนาจาร ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือน กลับไม่เอื้อเฟื้อ ขืนทำต่อไป พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุไม่เอื้อเฟื้อในวินัย ต้องปาจิตตีย์. 

วิภังค์

ที่ชื่อว่า ความไม่เอื้อเฟื้อ ได้แก่ ความไม่เอื้อเฟื้อ 2 อย่าง คือ 
  1. ความไม่เอื้อเฟื้อในบุคคล
  2. ความไม่เอื้อเฟื้อในธรรม

ที่ชื่อว่า ความไม่เอื้อเฟื้อในบุคคล ได้แก่ ภิกษุผู้อันอุปสัมบัน ว่ากล่าวอยู่ด้วยพระบัญญัติ แสดงความไม่เือื้อเฟื้อโดยอ้างว่า ท่านผู้นี้ถูกยกวัตร ถูกดูหมิ่นหรือถูกติเตียน เราจักไม่ทำตามถ้อยคำของท่านผู้นี้ ดังนี้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

ที่ชื่อว่า ความไม่เอื้อเฟื้อในธรรม ได้แก่ ภิกษุผู้อันอุปสัมบัน ว่ากล่าวอยู่ด้วยพระบัญญัติ แสดงความไม่เอื้อเฟื้อโดยอ้างว่า ไฉน ธรรมข้อนี้จะพึงเสื่อมสูญหาย หรืออันตรธานเสีย ดังนี้ก็ดี ไม่ประสงค์จะศึกษาพระบัญญัตินั้น จึงแสดงความไม่เอื้อเฟื้อก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุกล่าวชี้เหตุว่า อาจารย์ทั้งหลายของพวกข้าพเจ้าเรียนมาอย่างนี้ สอบถามมาอย่างนี้
  2. ภิกษุวิกลจริต
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. อุปสัมบันตักเตือนว่ากล่าวด้วยบัญญัติ
  2. ทำความไม่เอื้อเฟื้อ 
พร้อมด้วยองค์ 2 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 225). 

***

สิกขาบทที่ ๕ สุราปานวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามหลอกภิกษุให้กลัว

55. ภึสาเปยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใดหลอนซึ่งภิกษุ เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ
ภิกษุฉัพพัคคีย์ (พวก ๖) หลอกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ (พวก ๑๗) ให้กลัวผีจนร้องไห้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุทำภิกษุให้กลัว๑ ต้องปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุไม่ประสงค์จะหลอน แต่แสดงรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะก็ดี หรือบอกเล่าทางกันดารเพราะโจร ทางกันดารเพราะสัตว์ร้าย ทางกันดาร เพราะปีศาจ
  2. ภิกษุวิกลจริต
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. ผู้ที่หลอนนั้นเป็นอุปสัมบัน
  2. พยายามด้วยหวังจะให้อุปสัมบันนั้นกลัวในวิสัยที่เธอจะเห็นและได้ยิน 
พร้อมด้วยองค์ 2 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 226). 

โผฏฐัพพะ : นำรูป เสียง กลิ่น รส หรือ โผฏฐัพพะที่น่ากลัวเข้าไปใกล้ (พระวินัยปิกฎแปล มจร. 1/147-9/178).

***

สิกขาบทที่ 6 สุราปานวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามติดไฟเพื่อผิง

56. โย ปน ภิกฺขุ อคิลาโน วิสีวนาเปกฺโข โชตึ สมาทเหยฺย วา สมาทหาเปยฺย วา อญฺญตฺร ตถารูปปจฺจยา ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใดมิใช่ผู้อาพาธ มุ่งการผิง ติดก็ดี ให้ติดก็ดี ซึ่งไฟ เว้นไว้แต่ปัจจัยมีอย่างนั้นเป็นรูป เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุทั้งหลายก่อไฟผิงในฤดูหนาว งูร้อนออกจากโพรงไล่กัดภิกษุแตกหนีกระจายไป พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุก่อไฟเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นก่อไฟก็ดี เพื่อจะผิง ต้องปาจิตตีย์ ภายหลังทรงอนุญาตให้ทำได้เมื่อเป็นไข้ (ผิงไฟที่คนอื่นเขาก่อไว้แล้ว ไม่ผิด).

อนาบัติ
  1. ภิกษุอาพาธ 
  2. ภิกษุผิงไฟที่ผู้อื่นติดไว้ 
  3. ภิกษุผิงถ่านไฟที่ปราศจากเปลว
  4. ภิกษุตามประทีปก็ดี ก่อไฟใช้อย่างอื่นก็ดี ติดไฟในเรื่องไฟก็ดี เพราะมีเหตุเห็นปานนั้น
  5. มีอันตราย (มีสัตว์ร้าย เนื้อร้าย หรืออมนุษย์มาทำร้าย)
  6. ภิกษุวิกลจริต 
  7. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. ไม่เป็นไข้
  2. ไม่มีเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต
  3. ใคร่จะผิง
  4. ติดเองหรือให้ผู้อื่นติดให้โพลงขึ้น 
 พร้อมด้วยองค์ 4 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 226).

***

สิกขาบทที่ 7 สุราปานวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามอาบน้ำบ่อย ๆ เว้นแต่มีเหตุ

58. โย ปน ภิกฺขุ โอเรนฑฺฒมาสํ นฺหาเยยฺย อญฺญตฺร สมยา ปาจิตฺติยํ. ตตฺถายํ สมโย ทิยฑฺโฒ มาโส เสโส คิมฺหานนฺติ
วสฺสานสฺส ปฐโม มาโส อิจฺเจเต อฑฺฒเตยฺยมาสา อุณฺหสมโย ปริฬาหสมโย คิลานสมโย กมฺมสมโย อทฺธานคมนสมโย วาตวุฏฺฐิสมโย อยํ ตตฺถ สมโยติ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือนอาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัยเป็นปาจิตตีย์ นี้สมัยในเรื่องนั้น เดือนกึ่งท้ายฤดูร้อน เดือนต้นแห่งฤดูฝน สองเดือนกึ่งนี้ เป็นคราวร้อน เป็นคราวกระวนกระวาย คราวเจ็บไข้ คราวทำการงาน คราวไปทางไกล คราวฝนมากับพายุ นี้สมัยในเรื่องนั้น.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุทั้งหลายอาบน้ำในแม่น้ำตโปทา พระเจ้าพิมพิสารก็เสด็จไปจะสนานพระเกศา ทรงรออยู่ภิกษุเหล่านั้นอาบอยู่ พระองค์จึงได้สนานพระเกศาและกลับไปไม่ทัน ประตูเมืองปิด ต้องทรงพักค้างแรมอยู่นอกเมือง พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุอาบน้ำก่อนกำหนดกึ่งเดือน ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด ภายหลังทรงอนุญาตให้อาบน้ำได้ก่อนกำหนดระยะกึ่งเดือน ในเมื่อมีเหตุจำเป็น เช่น ร้อนจัด เจ็บไข้

[ในประเทศเราไม่เกี่ยวกับสิกขาบทนี้ เพราะทรงอนุญาตให้ อาบน้ำได้เป็นนิตย์ ทั่วปัจจันตชนบท (ในปัจจันตชนบท คือ นอกเขตตอนกลางของอินเดีย) ตามคำขอของพระมหากัจจายนะ ซึ่งส่งข่าวฝากลูกศิษย์ ( คือ พระโสณกุฏิกัณณะ) มาทูลขอ.(ดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ในหน้า 244)]

อนาบัติ
  1. ภิกษุอาบน้ำในสมัย
  2. ภิกษุอาบน้ำในเวลากึ่งเดือน
  3. ภิกษุอาบน้ำในเวลาเกินกึ่งเดือน
  4. ภิกษุข้ามฟากอาบน้ำ
  5. ภิกษุอาบน้ำในปัจจันตชนบททุก ๆ แห่ง
  6. ภิกษุอาบน้ำเพราะมีอันตราย
  7. ภิกษุวิกลจริต
  8. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
***

สิกขาบทที่ ๘ สุราปานวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ให้ทำเครื่องหมายเครื่องนุ่งห่ม

58. นวํ ปน ภิกฺขุนา จีวรลาเภน ติณฺณํ ทุพฺพณฺณกรณานํ อญฺญตรํ ทุพฺพณฺณกรณํ อาทาตพฺพํ นีลํ วา กทฺทมํ วา กาฬสามํ วา. อนาทา เจ ภิกฺขุ ติณฺณํ ทุพฺพณฺณกรณานํ อญฺญตรํ ทุพฺพณฺณกรณํ นวํ จีวรํ ปริภุญฺเชยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุได้จีวรมาใหม่ พึงถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี 3 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ของเขียวครามก็ได้ ตมก็ได้ ของดำคล้ำก็ได้ ถ้าภิกษุไม่ถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี 3 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้จีวรใหม่ เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุและปริพพาชกเดินทางจากเมืองสาเกตมาสู่เมืองสาวัตถี โจรปล้นระหว่างทาง เจ้าหน้าที่จับโจรได้พร้อมทั้งของกลาง จึงขอให้ภิกษุไปเลือกจีวรของตนที่ถูกชิงไป ภิกษุเหล่านั้นจำไม่ได้ เป็นที่ติเตียนจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุได้จีวรใหม่มา พึงถือเอาเครื่องทำให้เสียสี สีใดสีหนึ่งใน ๓ สี คือสีคราม สีโคลน สีดำคล้ำ (มาทำเครื่องหมาย). ถ้าไม่ทำอย่างนั้น ใช้จีวรใหม่ ต้องปาจิตตีย์.

วิภังค์

พากย์ว่า ถ้าภิกษุไม่ถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี 3 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ความว่า ภิกษุไม่ถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี 3 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง (ทำเป็นวงกลม) โดยที่สุดแม้ด้วยปลายหญ้าคา แล้วใช้จีวรใหม่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

อนาบัติ 
  1. ภิกษุถือเอาแล้วนุ่งห่ม
  2. ภิกษุนุ่งห่มจีวรที่มีเครื่องหมายหายสูญไป
  3. ภิกษุนุ่งห่มจีวรที่มีโอกาสทำเครื่องหมายไว้แต่จางไป
  4. ภิกษุนุ่งห่มจีวร ที่ยังมิได้ทำเครื่องหมายแต่เย็บติดกับจีวรที่ทำเครื่องหมายแล้ว
  5. ภิกษุนุ่งห่มผ้าปะ
  6. ภิกษุนุ่งห่มผ้าทาบ
  7. ภิกษุใช้ผ้าดาม
  8. ภิกษุวิกลจริต
  9. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. ผ้าดังว่าไม่ได้ทำกัปปพินทุ
  2. ไม่ใช่ผู้มีจีวรหายเป็นต้น
  3. นุ่งหรือห่มผ้านั้น 
 พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรณนา หน้า 228).

***

สิกขาบทที่ ๙ สุราปานวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


วิกัปจีวรไว้แล้ว จะใช้ ต้องถอนก่อน

59. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุสฺส วา ภิกฺขุนิยา วา สิกฺขมานาย วา สามเณรสฺส วา สามเณริยา วา สามํ จีวรํ วิกปฺเปตฺวา อปจฺจุทฺธารกํ ปริภุญฺเชยฺย ปาจิตฺติยํ.

"อนึ่ง ภิกษุใดวิกัปจีวรเอง แก่ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี สิกขมานาก็ดี สามเณรก็ดี สามเณรีก็ดี แล้วใช้สอยจีวรนั้น ซึ่งไม่ให้เขาถอนก่อน เป็นปาจิตตีย์"

ต้นบัญญัติ

พระอุปนนทะ ศากยบุตร วิกัปจีวรกับภิกษุอื่นแล้วยังไม่ได้ถอน ใช้จีวรนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุวิกัปจีวรกับภิกษุ, ภิกษุณี, นางสิกขมานา, สามเณร หรือสามเณรี แล้วใช้สอยจีวรนั้นที่ยังมิได้ถอน ต้องปาจิตตีย์

วิภังค์

ที่ชื่อว่า วิกัป คือทำให้เป็นสองเจ้าของ ถ้าผ้าเกิดขึ้นเกินจำเป็นที่อนุญาตให้มีได้ ภิกษุจะต้องทำให้เป็นสองเจ้าของกับภิกษุ ภิกษุณี เป็นต้น เวลาจะใช้ก็ต้องขออนุญาตต่อผู้ที่ตนมอบให้ร่วมเป็นเจ้าของก่อน มี 2 อย่าง คือ วิกัปต่อหน้า และ วิกัปลับหลัง

ที่ชื่อว่า วิกัปต่อหน้า คือ กล่าวคำว่า ข้าพเจ้าวิกัปผืนนี้แก่ท่าน หรือว่าข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่สหธรรมิกผู้มีชื่อนี้.

ที่ชื่อว่า วิกัปลับหลัง คือ กล่าวคำว่า ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่านเพื่อช่วยวิกัป ภิกษุผู้รับวิกัปนั้นพึงถามว่า ใครเป็นมิตรหรือเป็นผู้เคยเห็นของท่านพึงตอบว่า ท่านผู้มีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับวิกัปนั้นพึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าให้แก่ภิกษุมีชื่อนั้นและภิกษุมีชื่อนั้น จีวรผืนนี้เป็นของภิกษุเหล่านั้น ท่านจงใช้สอยก็ตาม จงสละก็ตาม จงทำตามปัจจัยก็ตาม.

ที่ชื่อว่า ซึ่งไม่ให้เขาถอนก่อน คือ ภิกษุใช้สอยจีวรที่ผู้รับวิกัปนั้น ยังมิได้คืนให้ หรือไม่วิสาสะแก่ภิกษุผู้รับวิกัปนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุใช้สอยจีวรที่ภิกษุผู้รับวิกัปคืนให้ หรือวิสาสะแก่ภิกษุผู้รับวิกัป 
  2. ภิกษุวิกลจริต
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. ไม่ปัจจุทธรณ์ (ถอนคืน) ผ้าที่ตนวิกัปไว้
  2. ผ้านั้นกว้างยาวพอวิกัป
  3. บริโภคนุ่งห่ม 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 228).

***

สิกขาบทที่ 10 สุราปานวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามเล่นซ่อนบริขารของภิกษุอื่น

60. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุสฺส ปตฺตํ วา จีวรํ วา นิสีทนํ วา สูจิฆรํ วา กายพนฺธนํ วา อปนิเธยฺย วา อปนิธาเปยฺย วา อนฺตมโส หสฺสาเปกฺโขปิ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ซ่อนก็ดี ให้ซ่อนก็ดี ซึ่งบาตรก็ดี จีวรก็ดี ผ้าปูนั่งก็ดี กล่องเข็มก็ดี ประคดเอวก็ดีของภิกษุ โดยที่สุดแม้หมายจะหัวเราะ เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุพวก ๖ ซ่อนบาตรบ้าง จีวรบ้าง ของภิกษุพวก 17 ซึ่งไม่ค่อยเก็บงำบริขาร (เครื่องใช้) ของตนให้เรียบร้อย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุซ่อนบาตร จีวร กล่องเข็ม ประคดเอวของภิกษุ แม้เพื่อจะหัวเราะเล่น ต้องปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุไม่มีความประสงค์จะหัวเราะ
  2. ภิกษุเก็บบริขารที่ผู้อื่นวางไว้ไม่ดี
  3. ภิกษุเก็บไว้ด้วยหวังสั่งสอนแล้วจึงจะคืนให้ 
  4. ภิกษุวิกลจริต 
  5. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. ซ่อนบาตรเป็นต้น เป็นของอุปสัมบัน
  2. ใคร่จะให้เจ้าของลำบาก หรือจะหัวเราะเล่น 
พร้อมด้วยองค์ 2 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 229)

*******

7.สัปปาณกวรรค วรรคว่าด้วยสัตว์มีชีวิต เป็นวรรคที่ 7 มี 10 สิกขาบท


สิกขาบทที่ 1 สัปปาณกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามฆ่าสัตว์

61. โย ปน ภิกฺขุ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด แกล้งพรากสัตว์จากชีวิต เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

พระอุทายีเกลียดกา จึงยิงกา ตัดศีรษะเสียบไว้ในหลาว พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจงใจฆ่าสัตว์ ต้องปาจิตตีย์. 

อนาบัติ
  1. ภิกษุไม่แกล้งพวก
  2. ภิกษุพรากด้วยไม่มีสติ 
  3. ภิกษุไม่รู้
  4. ภิกษุไม่ประสงค์จะให้ตาย 
  5. ภิกษุวิกลจริต 
  6. ภิกษุอาทิกัมมิกะไม่ต้องอาบัติแล.
***

สิกขาบทที่ 2 สัปปาณกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามใช้น้ำมีตัวสัตว์

62. โย ปน ภิกฺขุ ชานํ สปฺปาณกํ อุทกํ ปริภุญฺเชยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ บริโภค น้ำมีตัวสัตว์ เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุพวก 6 รู้อยู่ ใช้น้ำมีตัวสัตว์ เป็นที่ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุรู้อยู่ ใช้น้ำมีตัวสัตว์ ต้องปาจิตตีย์

วิภังค์ 

ภิกษุรู้อยู่ คือ รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายจักตายเพราะการบริโภคดังนี้ บริโภคต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาบัติ
  1. ภิกษุไม่รู้ว่าน้ำมีตัวสัตว์
  2. ภิกษุรู้ว่าน้ำไม่มีตัวสัตว์ คือ รู้ว่าสัตว์จักไม่ตายเพราะการบริโภค ดังนี้ บริโภค
  3. ภิกษุวิกลจริต
  4. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
บริโภค หมายถึง ดื่ม ใช้ล้างบาตร เอาบาตรข้าวต้มร้อนแช่ให้เย็น อาบ หรือแม้ลงไปลุยน้ำในตระพัง ในสระโบกขรณี ทำให้เกิดคลื่น (วิ.อ. 2/ 387 / 412)

***

สิกขาบทที่ 3 สัปปาณกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามรื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ชำระเป็นธรรมแล้ว

63. โย ปน ภิกฺขุ ชานํ ยถาธมฺมํ นีหตาธิกรณํ ปุนกมฺมาย อุกฺโกเฏยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ฟื้นอธิกรณ์ที่ทำเสร็จแล้วตามธรรมเพื่อทำอีก เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุพวก ๖ รู้อยู่ รื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ชำระถูกต้องตามธรรมแล้ว เพื่อให้ชำระใหม่ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุรู้อยู่ รื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ชำระถูกต้องตามธรรมแล้ว เพื่อให้ชำระใหม่ ต้องปาจิตตีย์

อนาบัติ
  1. ภิกษุรู้อยู่ว่า ทำกรรมโดยไม่เป็นธรรม โดยเป็นวรรค หรือทำแก่บุคคล ผู้ไม่ควรแก่กรรม ดังนี้ 
  2. ภิกษุวิกลจริต
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
องค์แห่งอาบัติ 
  1. อธิกรณ์สงฆ์รำงับแล้วตามธรรม
  2. รู้อยู่ว่าสงฆ์รำงับแล้ว 
  3. เลิกเสีย 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 231). 
***

สิกขาบทที่ 4 สัปปาณกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่น

64. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุสฺส ชานํ ทุฏฺฐุลฺลํ อาปตฺตึ ปฏิจฺฉาเทยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุเป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

พระอุปนนทะ ศากยบุตร ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วบอกกับภิกษุอื่นขอให้ช่วยปกปิดด้วย ภิกษุนั้นก็ช่วยปกปิด พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุรู้อยู่ ปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุ ต้องปาจิตตีย์. 

วิภังค์

ที่ชื่อว่า อาบัติชั่วหยาบ ได้แก่ อาบัติปาราชิก 4 และอาบัติสังฆาทิเสส 13.

อนาบัติ
  1. ภิกษุคิดเห็นว่าความบาดหมางก็ดี ความทะเลาะก็ดี ความแก่งแย่งก็ดี การวิวาทก็ดี จักมีแก่สงฆ์ แล้วไม่บอก
  2. ไม่บอกด้วยคิดเห็นว่าสงฆ์จักแตกแยกกัน หรือจักร้าวรานกัน 
  3. ไม่บอกด้วยคิดเห็นว่าภิกษุรูปนี้เป็นผู้โหดร้ายหยาบคาย จักทำอันตรายชีวิต หรือ อันตรายพรหมจรรย์ 
  4. ไม่พบภิกษุอื่นที่สมควรจึงไม่บอก
  5. ไม่ตั้งใจจะปิดแต่ยังไม่ได้บอก
  6. ไม่บอกด้วยคิดเห็นว่าจักปรากฏเอง ด้วยการกระทำของตน
  7. ภิกษุวิกลจริต
  8. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. รู้อยู่ว่าอุปสัมบันต้องทุฏฐุลลาบัติ
  2. ปลงธุระเสียว่า เราจักไม่บอกแก่ผู้อื่น ด้วยหวังจะช่วยปิดไว้ 
พร้อมด้วยองค์ 2 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 232)

***

สิกขาบทที่ 5 สัปปาณกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามบวชบุคคลอายุไม่ถึง ๒๐

65. โย ปน ภิกฺขุ ชานํ อูนวีสติวสฺสํ ปุคฺคลํ อุปสมฺปาเทยฺย โส จ ปุคฺคโล อนุปสมฺปนฺโน เต จ ภิกฺขู คารยฺหา อิทํ ตสฺมึ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ยังบุคคลมีปีหย่อน 20 ให้อุปสมบท บุคคลนั้นไม่เป็นอุปสัมบันด้วย ภิกษุทั้งหลายนั้นถูกติเตียนด้วยนี้เป็นปาจิตตีย์ในเรื่องนั้น.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุทั้งหลายให้เด็ก ๆ บรรพชาอุปสมบท เด็ก ๆ เหล่านั้น ลุกขึ้นร้องไห้ขออาหารกินในเวลากลางคืน เพราะทนหิวไม่ไหว พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุรู้อยู่ ให้บุคคลมีอายุต่ำกว่า ๒๐ อุปสมบท ผู้นั้นไม่เป็นอันอุปสมบท ภิกษุทั้งหลาย (ที่นั่งเป็นพยาน) ต้องถูกติเตียน และในข้อนั้น ภิกษุ (ผู้เป็นอุปัชฌายะให้บวช) ต้องปาจิตตีย์. 

อนาบัติ
  1. บุคคลมีอายุหย่อน 20 ปี ภิกษุสำคัญว่ามีอายุครบ 20 ปี ให้อุปสมบท
  2. บุคคลมีอายุครบ 20 ปี ภิกษุสำคัญว่ามีอายุครบ 20 ปี ให้อุปสมบท
  3. ภิกษุวิกลจริต
  4. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
อายุครบ 20 ปี : กำหนดนับเอาตั้งแต่วันที่ถือปฏิสนธิ จิตดวงแรกเกิดในครรภ์มารดา (วิ.อ. 2/ 404/ 415-6)

***

สิกขาบทที่ 6 สัปปาณกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามชวนพ่อค้าผู้หนีภาษีเดินทางร่วมกัน

66. โย ปน ภิกฺขุ ชานํ เถยฺยสตฺเถน สทฺธึ สํวิธาย เอกทฺธานมคฺคํ ปฏิปชฺเชยฺย อนฺตมโส คามนฺตรมฺปิ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ชักชวนแล้ว เดินทางไกลด้วยกันกับพวกเกวียน พวกต่างผู้เป็นโจร โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุรูปหนึ่งรู้อยู่ ชวนพ่อค้าผู้หนีภาษีเดินทางร่วมกัน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุรู้อยู่ ชวนพ่อค้าผู้หนีภาษี ชวนพ่อค้าผู้หนีภาษีเดินทางไกลร่วมกัน แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์

อนาบัติ
  1. ภิกษุไม่ได้ชักชวนกันไป
  2. คนทั้งหลายชักชวน ภิกษุมิได้ชักชวน
  3. ไปผิดวันผิดเวลา
  4. มีอันตราย
  5. ภิกษุวิกลจริต
  6. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
องค์แห่งอาบัติ 
  1. เป็นพวกโจร
  2. รู้อยู่
  3. ชักชวนกันทั้งสองข้าง
  4. ไปล่วงอุปจารบ้านอื่นหรือล่วงกึ่งโยชน์ไม่ผิดสังเกต 
พร้อมด้วยองค์ 4 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 233)

***

สิกขาบทที่ 7 สัปปาณกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามชวนผู้หญิงเดินทางร่วมกัน

67. โย ปน ภิกฺขุ มาตุคาเมน สทฺธึ สํวิธาย เอกทฺธานมคฺคํ ปฏิปชฺเชยฺย อนฺตมโส คามนฺตรมฺปิ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ชักชวนแล้ว เดินทางไกลด้วยกันกับ มาตุคาม โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์”

ต้นบัญญัติ
 
ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางในโกศลชนบท จะไปสู่กรุงสาวัตถี ถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง สตรีคนหนึ่งทะเลาะกับสามีขอเดินทางร่วมไปกับภิกษุนั้นด้วย สามีติดตามทำร้ายภิกษุ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุชวนผู้หญิงเดินทางไกลร่วมกัน แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์. 

อนาบัติ
  1. ภิกษุไม่ได้ชักชวนกันไป
  2. มาตุคามชักชวน ภิกษุไม่ได้ชักชวน
  3. ภิกษุไปผิดวันผิดเวลา
  4. มีอันตราย
  5. ภิกษุวิกลจริต 
  6. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. ชักชวนด้วยกันทั้งสองข้าง แล้วเดินทางไป 
  2. ไม่ผิดสังเกต 
  3. ล่วงอุปจารบ้านอื่นหรือล่วงกึ่งโยชน์ 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 234)

***

สิกขาบทที่ 8 สัปปาณกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามกล่าวตู่พระธรรมวินัย

68. โย ปน ภิกฺขุ เอวํ วเทยฺย ตถาหํ ภควตา ธมฺมํ เทสิตํ อาชานามิ ยถา เยเม อนฺตรายิกา ธมฺมา วุตฺตา ภควตา เต ปฏิเสวโต นาลํ อนฺตรายายาติ. โส ภิกฺขุ ภิกฺขูหิ เอวมสฺส วจนีโย มา อายสฺมา เอวํ อวจ มา ภควนฺตํ อพฺภาจิกฺขิ น หิ สาธุ ภควโต อพฺภกฺขานํ น หิ ภควา เอวํ วเทยฺย อเนกปริยาเยน อาวุโส อนฺตรายิกา ธมฺมา วุตฺตา ภควตา อลญฺจ ปน เต ปฏิเสวโต อนฺตรายายาติ. เอวญฺจ โส ภิกฺขุ ภิกฺขูหิ วุจฺจมาโน ตเถว ปคฺคเณฺหยฺย โส ภิกฺขุ ภิกฺขูหิ ยาวตติยํ สมนุภาสิตพฺโพ ตสฺส ปฏินิสฺสคฺคาย. ยาวตติยญฺเจ สมนุภาสิยมาโน ตํ ปฏินิสฺสชฺเชยฺย อิจฺเจตํ กุสลํ โน เจ ปฏินิสฺสชฺเชยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่าเป็นธรรม ทำอันตรายได้อย่างไร ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแกู่ผู้เสพได้จริงไม่ ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ท่านอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดีดอก พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย แน่ะเธอ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมทำอันตรายไว้โดยบรรยายเป็นอันมาก ก็แลธรรมเหล่านั้น อาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง และภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนั้น ขืนถืออยู่อย่างนั้นแล ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดประกาศห้ามจนหนที่ 3 เพื่อสละการนั้นเสีย ถ้าเธอถูกสวดประกาศห้ามอยู่จนหนที่ 3 สละการนั้นเสียได้ การสละได้ดังนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุอริฏฐะผู้เคยฆ่าแร้งมาก่อน มีความเห็นผิด กล่าวตู่พระธรรมวินัย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ใจความว่า เมื่อมีภิกษุกล่าวตู่พระธรรมวินัย ภิกษุทั้งหลายพึงห้ามปราม ถ้าไม่เชื่อฟังสงฆ์พึงสวดประกาศ เพื่อให้เธอละเลิกเสีย สวดประกาศครบ ๓ ครั้ง ยังไม่เชื่อฟัง ต้องปาจิตตีย์. 

อนาบัติ
  1. ภิกษุผุ้ไม่ถูกสวดประกาศห้าม
  2. ภิกษุผู้ยอมสละ
  3. ภิกษุวิกลจริต
  4. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ หมายถึง รับสั่งว่า “ธรรมอันตรายเรากล่าวไว้โดยบรรยายเป็นอันมากมิใช่หรือ? ธรรมเหล่านั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง กามทั้งหลาย เรากล่าวว่ามีความยินดีน้อย มีทุกข์มากมีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนร่างกระดูก..กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ..” (พระไตรปิฎก 2/662/558)
***

สิกขาบทที่ ๙ สัปปาณกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามคบภิกษุผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย

69. โย ปน ภิกฺขุ ชานํ ตถาวาทินา ภิกฺขุนา อกฏานุธมฺเมน ตํ ทิฏฺฐึ อปฺปฏินิสฺสฏฺเฐน สทฺธึ สมฺภุญฺเชยฺย วา สํวเสยฺย วา สห วา เสยฺยํ กปฺเปยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ กินร่วมก็ดี อยู่ร่วมก็ดี สำเร็จการนอนด้วยกันก็ดี กับภิกษุผู้กล่าวอย่างนั้น ยังไม่ได้ทำกรรมอันสมควรยัง ไม่ได้สละทิฏฐินั้น เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ยังคบหาพระอริฏฐะผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย ผู้ยังไม่ยอมละทิ้งความเห็นผิดนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามคบ ห้ามอยู่ร่วม ห้ามนอนร่วมกับภิกษุเช่นนั้น ทรงปรับอาบัติปาจีตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด. 

วิภังค์

ที่ชื่อว่า ยังไม่ได้ทำกรรมอันสมควร คือ เป็นผู้ถูกสงฆ์ยกวัตรแล้วสงฆ์ยังไม่ได้เรียกเข้าหมู่

ที่ชื่อว่า กินร่วม หมายถึง การคบหา มี 2 อย่าง 1.คบหากันในทางอามิส 2.คบหากันในทางธรรม

ที่ชื่อว่า คบหากันในทางอามิส คือ ให้อามิสก็ดี รับอามิสก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

ที่ชื่อว่า คบหากันในทางธรรม คือ บอกธรรมให้ หรือขอเรียนธรรม.

บทว่า อยู่ร่วมก็ดี ความว่า ทำอุโบสถก็ดี ปวารณาก็ดี สังฆกรรมก็ดี ร่วมกับภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตรแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร
  2. ภิกษุรู้ว่าภิกษุถูกสงฆ์ยกวัตร แต่สงฆ์เรียกเข้าหมู่แล้ว
  3. ภิกษุรู้ว่าภิกษุถูกสงฆ์ยกวัตรแล้ว แต่ละทิฏฐินั้นแล้ว
  4. ภิกษุวิกลจริต
  5. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.

***

สิกขาบทที่ ๑๐ สัปปาณกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามคบสามเณรผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย

70. สมณุทฺเทโสปิ เจ เอวํ วเทยฺย ตถาหํ ภควตา ธมฺมํ เทสิตํ อาชานามิ ยถา เยเม อนฺตรายิกา ธมฺมา วุตฺตา ภควตา เต ปฏิเสวโต นาลํ อนฺตรายายาติ. โส สมณุทฺเทโส ภิกฺขูหิ เอวมสฺส วจนีโย มา อาวุโส สมณุทฺเทส เอวํ อวจ มา ภควนฺตํ อพฺภาจิกฺขิ น หิ สาธุ ภควโต อพฺภกฺขานํ น หิ ภควา เอวํ วเทยฺย อเนกปริยาเยน อาวุโส สมณุทฺเทส อนฺตรายิกา ธมฺมา วุตฺตา ภควตา อลญฺจ ปน เต ปฏิเสวโต อนฺตรายายาติ. เอวญฺจ โส สมณุทฺเทโส ภิกฺขูหิ วุจฺจมาโน ตเถว ปคฺคเณฺหยฺย โส สมณุทฺเทโส ภิกฺขูหิ เอวมสฺส วจนีโย อชฺชตคฺเค เต อาวุโส สมณุทฺเทส น เจว โส ภควา สตฺถา อปทิสิตพฺโพ ยมฺปิจญฺเญ สมณุทฺเทสา ลภนฺติ ภิกฺขูหิ สทฺธึ ทฺวิรตฺตติรตฺตํ สหเสยฺยํ สาปิ เต นตฺถิ จร ปิเร วินสฺสาติ. โย ปน ภิกฺขุ ชานํ ตถานาสิตํ สมณุทฺเทสํ
อุปลาเปยฺย วา อุปฏฺฐาเปยฺย วา สมฺภุญฺเชยฺย วา สห วา เสยฺยํ กปฺเปยฺย ปาจิตฺติยํ.

“ถ้าแม้สมณุทเทส กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่าเป็นธรรม ทำอันตรายได้อย่างไร ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่สมณุทเทสนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่าอาวุโส สมณุทเทส เธออย่าได้พูดอย่างนั้น เธออย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระัภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีดอก พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย.อาวุโส สมณุทเทส พระผู้มีพระภาค ตรัสธรรม ทำอันตรายไว้ โดยบรรยายเป็นอันมากก็แลธรรมเหล่านั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง และสมณุทเทสนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ว่า แน่ะอาวุโส สมณุทเทส เธออย่าอ้างพระผู้มีพระภาคนั้นว่าเป็นพระศาสดาของเธอ ตั้งแต่วันนี้ไป และพวกสมณุทเทสอื่นย่อมได้การนอนร่วมเพียง 2 -3 คืน กับภิกษุทั้งหลายอันใด แม้กิริยาที่ได้นอนร่วมนั้นไม่มีแก่เธอ เจ้าคนเสีย เจ้าจงไป เจ้าจงฉิบหายเสีย. อนึ่งภิกษุใด รู้อยู่ เกลี้ยกล่อมสมณุทเทสผู้ถูกให้ฉิบหายเสียอย่างนั้น แล้วให้อุปัฏฐากก็ดี กินร่วมก็ดี สำเร็จการนอนร่วมก็ดี เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

สามเณรชื่อกัณฑกะ มีความเห็นผิด กล่าวตู่พระธรรมวินัย สงฆ์จึงขับเสียจากหมู่ ภิกษุฉัพพัคคีย์กลับคบหา พูดจา ร่วมกินร่วมนอนกับสามเณรนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามพูดด้วย ห้ามใช้สอย ห้ามใช้ของร่วม หรือนอนร่วมกับสามเณรเช่นนั้น ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด

อนาบัติ
  1. ภิกษุรู้อยู่ว่า สมณุทเทสไม่ใช่ผู้ถูุกสงฆ์นาสนะ
  2. ภิกษุรู้อยู่ว่าสมณุทเทสยอมสละทิฏฐินั้นแล้ว
  3. ภิกษุวิกลจริต
  4. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
สมณุทเทส ในที่นี้ หมายถึง สามเณร พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์

นาสนะ แปลว่า ให้ฉิบหาย ได้แก่ การลงโทษภิกษุ มี 3 วิธี คือ (1) ลิงคนาสนะ ให้สึก (2) ทัณฑกรรมนาสนะ ไล่ออกจากสำนัก (3) สังวาสนาสนะ ยกออกจากหมู่ (วิ.อ.2 / 428 /420-421)

*******

สหธัมมิกวรรค วรรคว่าด้วยการว่ากล่าวถูกต้องตามธรรม เป็นวรรคที่ 8 มี 12 สิกขาบท


สิกขาบทที่ 1 สหธัมมิกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามพูดไถลเมื่อทำผิดแล้ว

71. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขูหิ สหธมฺมิกํ วุจฺจมาโน เอวํ วเทยฺย น ตาวาหํ อาวุโส เอตสฺมึ สิกฺขาปเท สิกฺขิสฺสามิ ยาว นญฺญํ ภิกฺขุํ พฺยตฺตํ วินยธรํ ปริปุจฺฉามีติ ปาจิตฺติยํ. สิกฺขมาเนน ภิกฺขเว ภิกฺขุนา อญฺญาตพฺพํ ปริปุจฺฉิตพฺพํ ปริปญฺหิตพฺพํ. อยํ ตตฺถ สามีจีติ.

“อนึ่ง ภิกษุใด อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม กล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะเธอ ฉันจักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้สอบถามภิกษุอื่น ผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย เป็นปาจิตตีย์. (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย) อันภิกษุศึกษาอยู่ ควรรู้ถึง ควรสอบถาม ควรตริตรอง นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น.”

ต้นบัญญัติ

พระฉันนะประพฤติอนาจาร ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือน กลับพูดว่า จะขอถามภิกษุผู้รู้วินัยดูก่อน พระผูมีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุที่ภิกษุว่ากล่าวถูกต้องตามธรรมกลับพูดว่า จักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้จนกว่าจะได้ถามภิกษุอื่นผู้ฉลาด ผู้รู้วินัยก่อน ต้องปาจิตตีย์ อันภิกษุผู้ศึกษา จะต้องรู้จะต้องสอบสวน จะต้องไต่ถาม.

อนาบัติ
  1. ภิกษุกล่าวว่า จักรู้ จักสำเหนียก ดังนี้
  2. ภิกษุวิกลจริต
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้่องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. อุปสัมบันว่ากล่าวด้วยบัญญัติ
  2. กล่าวผัดเพี้ยนไปดังนั้น ด้วยหวังจะไม่ศึกษา 
พร้อมด้วยองค์ 2 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 236). 

***

สิกขาบทที่ 2 สหธัมมิกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามกล่าวติเตียนสิกขาบท

72. โย ปน ภิกฺขุ ปาติโมกฺเข อุทฺทิสฺสมาเน เอวํ วเทยฺย กึ ปนิเมหิ ขุทฺทานุขุทฺทเกหิ สิกฺขาปเทหิ อุทฺทิฏฺเฐหิ ยาวเทว กุกฺกุจฺจาย วิเหสาย วิเลขาย สํวตฺตนฺตีติ สิกฺขาปทวิวณฺณนเก ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อมีใครสวดปาติโมกข์อยู่ กล่าวอย่างนี้ว่า ประโยชน์อะไรด้วยสิกขาบทเล็กน้อยเหล่านี้ที่สวดขึ้นแล้ว ช่างเป็นไปเพื่อความรำคาญ เพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งเหยิงนี่กระไร เป็นปาจิตตีย์ เพราะก่นสิกขาบท.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์แกล้งกล่าวติเตียนพระวินัยว่า สิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ชวนให้น่ารำคาญ รบกวนเปล่า ๆ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ความว่า เมื่อสวดปาฏิโมกข์ ภิกษุแกล้งกล่าวติเตียนสิกขาบท ต้องปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุผู้ไม่ประสงค์จะก่น พูดตามเหตุว่า นิมนต์ท่านเรียนพระสูตร พระคาถา หรือพระอภิธรรมไปก่อนเถิด ภายหลังจึงค่อยเรียนพระวินัย ดังนี้ 
  2. ภิกษุวิกลจริต
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.

องค์แห่งอาบัติ
  1. ใคร่จะติเตียน
  2. ติเตียนสิกขาบทในสำนักอุปสัมบัน 
พร้อมด้วยองค์ 2 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 237). 

***

สิกขาบทที่ 3 สหธัมมิกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามพูดแก้ตัวว่า เพิ่งรู้ว่ามีในปาฏิโมกข์

73. โย ปน ภิกฺขุ อนฺวฑฺฒมาสํ ปาติโมกฺเข อุทฺทิสฺสมาเน เอวํ วเทยฺย อิทาเนว โข อหํ ชานามิ อยมฺปิ กิร ธมฺโม สุตฺตาคโต สุตฺตปริยาปนฺโน
อนฺวฑฺฒมาสํ อุทฺเทสํ อาคจฺฉตีติ. ตญฺเจ ภิกฺขุํ อญฺเญ ภิกฺขู ชาเนยฺยุํ นิสินฺนปุพฺพํ อิมินา ภิกฺขุนา ทฺวิตฺติกฺขตฺตุํ ปาติโมกฺเข อุทฺทิสฺสมาเน โก ปน วาโท ภิยฺโยติ น จ ตสฺส ภิกฺขุโน อญฺญาณเกน มุตฺติ อตฺถิ ยญฺจ ตตฺถ อาปตฺตึ อาปนฺโน ตญฺจ ยถาธมฺโม กาเรตพฺโพ อุตฺตริญฺจสฺส โมโห อาโรเปตพฺโพ ตสฺส เต อาวุโส อลาภา ตสฺส เต ทุลฺลทฺธํ ยํ ตฺวํ ปาติโมกฺเข อุทฺทิสฺสมาเน น สาธุกํ อฏฺฐิกตฺวา มนสิกโรสีติ. อิทํ ตสฺมึ โมหนเก ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อพระวินัยสวดปาติโมกข์อยู่ทุกกึ่งเดือน กล่าวอย่างนี้ว่า ฉันเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า เออ ธรรมแม้นี้ก็มาแล้วในสูตร เนื่องแล้วในสูตร มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ถ้าภิกษุทั้งหลายอื่นรู้จักภิกษุนั้นว่า ภิกษุนี้เคยนั่งเมื่อปาติโมกข์กำลังสวดอยู่ 2-3 คราวมาแล้ว กล่าวอะไรอีก อันความพ้นด้วยอาการที่ไม่รู้หามีแก่ภิกษุนั้นไม่ พึงปรับเธอตามธรรมด้วยอาบัติที่ต้องในเรื่องนั้น และพึงยกความหลงขึ้นแก่เธอเพิ่มอีกว่า แน่ะเธอ ไม่ใช่ลาภของเธอ เธอได้ไม่ดีแล้ว ด้วยเหตุว่าเมื่อปาติโมกข์กำลังสวดอยู่ เธอหาทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ดีไม่ นี้เป็นปาจิตตีย์ในความเป็นผู้แสร้งทำหลงนั้น.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ประพฤติอนาจาร เมื่อฟังสวดปาฏิโมกข์ว่า ภิกษุไม่รู้ก็ต้องอาบัติ จึงกล่าวว่า เพิ่งรู้ว่าข้อความนี้มีในปาฏิโมกข์ (ทั้ง ๆ ที่ฟังมาแล้วไม่รู้ว่ากี่ครั้ง เป็นการแก้ตัว) พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้กล่าวแก้ตัวเช่นนั้น เป็นการปรับอาบัติในภิกษุ (ผู้แก้ตัวว่า) หลงลืม. 

อนาบัติ
  1. ภิกษุยังไม่ได้ฟังโดยพิสดาร
  2. ภิกษุฟังโดยพิสดารไม่ถึง 2 – 3 คราว
  3. ภิกษุผู้ไม่ปรารถนาจะแสร้งทำหลง
  4. ภิกษุวิกลจริต
  5. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
ธรรม หมายถึง สิกขาบท

สูตร หมายถึง พระปาติโมกข์ (พระไตรปิฎกแปลไทย มจร. 2/552/443)

***

สิกขาบทที่ 4 สหธัมมิกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามทำร้ายร่างกายภิกษุ

74. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุสฺส กุปิโต อนตฺตมโน ปหารํ ทเทยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด โกรธ น้อยใจ ให้ประหารแก่ภิกษุ เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์โกรธ ทำร้ายร่างกายภิกษุสัตตรสวัคคีย์ (พวก 17) เธอร้องไห้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญติสิกขาบทว่า ภิกษุโกรธเคือง ทำร้ายภิกษุ ต้องปาจิตตีย์.

***

สิกขาบทที่ 5 สหธัมมิกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามเงื้อมือจะทำร้ายภิกษุ

75. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุสฺส กุปิโต อนตฺตมโน ตลสตฺติกํ อุคฺคิเรยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด โกรธ น้อยใจ เงื้อหอกคือฝ่ามือ ขึ้นแก่ภิกษุเป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ
ภิกษุฉัพพัคคีย์โกรธ เงื้อมือจะทำร้ายภิกษุสัตตรสวัคคีย์
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุโกรธเคือง เงื้อมือ (จะทำร้าย) ภิกษุ ต้องปาจิตตีย์

วิภังค์ 

คำว่า ให้ประหาร ความว่า ให้ประหารด้วยกายก็ดี ด้วยของเนื่อง ด้วยกายก็ดี ด้วยของที่โยนไปก็ดีโดยที่สุด แม้ด้วยกลีบอุบล ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุถูกใคร ๆ เบียดเบียน ประสงค์จะป้องกันตัวให้ประหาร
  2. ภิิกษุวิกลจริต
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. โกรธแค้น 
  2. ไม่มีอธิบายจะให้พ้นอันตราย 
  3. ให้ประหารอุปสัมบัน 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 238)

***

สิกขาบทที่ 6 สหธัมมิกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามโจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูล

76. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุํ อมูลเกน สงฺฆาทิเสเสน อนุทฺธํเสยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด กำจัดซึ่งภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสหามูลมิได้ เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์แกล้งโจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมีมูล พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุโจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูล ต้องปาจิตตีย์ 

อนาบัติ
  1. ภิกษุสำคัญว่ามีมูล โจทเองก็ดี ให้ผู้อื่นโจทก็ดี
  2. ภิกษุวิกลจริต
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
องค์แห่งอาบัติ 
  1. ผู้ต้องโจทเป็นอุปสัมบัน
  2. อาบัิติสังฆาทิเสสไม่มีมูล 
  3. โจทเองหรือให้ผู้อื่นโจท
  4. ผู้ต้องโจทรู้ตัวในขณะนั้น 
พร้อมด้วยองค์ 4 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 239).

***

สิกขาบทที่ 7 สหธัมมิกวรรคในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามก่อความรำคาญแก่ภิกษุอื่น

77. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุสฺส สญฺจิจฺจ กุกฺกุจฺจํ อุปทเหยฺย อิติสฺส มุหุตฺตมฺปิ อผาสุ ภวิสฺสตีติ เอตเทว ปจฺจยํ กริตฺวา อนญฺญํ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด แกล้งก่อความรำคาญแก่ภิกษุด้วยหมายว่าด้วยเช่นนี้ ความไม่ผาสุกจักมีแก่เธอแม้ครู่หนึ่ง ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุพวก 6 แกล้งพูดให้ภิกษุพวก 17 กังวลสงสัยว่า เมื่อบวชอายุจะไม่ครบ 20 จริง ถ้าเช่นนั้นก็คงไม่เป็นพระ ภิกษุพวก 17 ร้องไห้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุแกล้งก่อความรำคาญแก่ภิกษุ ด้วยคิดว่า ความไม่สบายจักมีภิกษุนั้น แม้เพียงครู่หนึ่ง มุ่งเพียงเท่านั้น มิได้มุ่งเหตุอื่น ต้องปาจิตตีย์.

อนาบัติ
  1. ภิกษุไม่ประสงค์จะก่อความรำคาญ พูดแนะนำว่า ชะรอยท่านจะมีอายุไม่ครบ 20 ฝน อุปสมบทแล้ว ชะรอยท่านจะบริโภคอาหารในเวลาวิกาลแล้ว ชะรอยท่านจะดื่มน้ำเมาแล้ว ชะรอยท่านจะนั่งในที่ลับกับมาตุคามแล้ว ท่านจงรู้ไว้เถิดว่า ความรำคาญใจในภายหลังอย่าได้มีแก่ท่าน ดังนี้ 
  2. ภิกษุวิกลจริต
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่่ต้องอาบัติแล
องค์แห่งอาบัติ
  1. ผู้อื่นเป็นอุปสัมบัน
  2. หวังความไม่ผาสุกแก่เธอนั้น
  3. ทำความรำคาญให้เกิดขึ้นดังว่านั้น 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 240). 

***

สิกขาบทที่ 8 สหธัมมิกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามแอบฟังความของภิกษุผู้ทะเลาะกัน

78. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขูนํ ภณฺฑนชาตานํ กลหชาตานํ วิวาทาปนฺนานํ อุปสฺสุตึ ติฏฺเฐยฺย ยํ อิเม ภณิสฺสนฺติ ตํ โสสฺสามีติ เอตเทว ปจฺจยํ กริตฺวา อนญฺญํ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อภิกษุทั้งหลายเกิดหมางกัน เกิดทะเลาะกัน ถึงการวิวาทกัน ยืนแอบฟังด้วยหมายว่าจักได้ฟังคำที่เธอพูดกัน ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับภิกษุทั้งหลายแล้วไปแอบฟังความว่า ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตนอย่างไร พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายทะเลาะวิวาทกัน ภิกษุแอบฟังความด้วยประสงค์จะทราบว่าภิกษุเหล่านั้นพูดว่าอย่างไร มุ่งเพียงเท่านั้น มิได้มุ่งเหตุอื่น ต้องปาจิตตีย์. 

อนาบัติ
  1. ภิกษุเดินไปหมายว่า จักฟังถ้อยคำของภิกษุเหล่านี้แล้ว จักงด จักเว้น จักระงับ จักเปลื้องตน ดังนี้ 
  2. ภิกษุวิกลจริต
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ
  1. ผู้อื่นเป็นอุปสัมบัน
  2. อธิบายจะโจท
  3. แอบฟังได้ยิน 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 240)

***

สิกขาบทที่ 9 สหธัมมิกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ให้ฉันทะแล้วห้ามพูดติเตียน

79. โย ปน ภิกฺขุ ธมฺมิกานํ กมฺมานํ ฉนฺทํ ทตฺวา ปจฺฉา ขียนธมฺมํ อาปชฺเชยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ให้ฉันทะเพื่อกรรมอันเป็นธรรมแล้วถึงธรรม คือ ความบ่นว่าในภายหลัง เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ให้ฉันทะในการประชุมทำกรรมของสงฆ์ แล้วกลับว่าติเตียนในภายหลัง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุให้ฉันทะ (คือความพอใจหรือการมอบอำนาจให้สงฆ์ทำกรรมได้) เพื่อกรรมอันเป็นธรรม แล้วบ่นว่าในภายหลัง ต้องปาจิตตีย์. 

วิภังค์

ที่ชื่อว่า กรรมอันเป็นธรรม ได้แก่
  1. อปโลกนกรรม 
  2. ญัตติกรรม 
  3. ญัตติทุติยกรรม
  4. ญัตติจตุตถกรรม ที่สงฆ์ทำแล้วตามธรรม ตามวินัยตามสัตถุศาสน์ นี้ชื่อว่ากรรมอันเป็นธรรม.
อนาบัติ
  1. ภิกษุรู้อยู่ว่า สงฆ์ทำกรรมโดยไม่ถูกธรรม เป็นพวกหรือทำแก่ภิกษุมิใช่ผู้ควรแก่กรรมบ่นว่า 
  2. ภิกษุวิกลจริต
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.

***

สิกขาบทที่ 10 สหธัมมิกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ขณะกำลังประชุมสงฆ์ ห้ามลุกไปโดยไม่ให้ฉันทะ

80. โย ปน ภิกฺขุ สงฺเฆ วินิจฺฉยกถาย วตฺตมานาย ฉนฺทํ อทตฺวา อุฏฺฐายาสนา ปกฺกเมยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อเรื่องอันจะพึงวินิจฉัยยังเป็นไปอยู่ในสงฆ์ไม่ให้ฉันทะแล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไปเสีย เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

สงฆ์กำลังประชุมกันทำกรรมอยู่ ภิกษุฉัพพัคคีย์ให้ฉันทะแก่ภิกษุพวกตนรูปหนึ่งให้เข้าไปประชุมแทน ภายหลังภิกษุรูปนั้นไม่พอใจจึงลุกออกจากที่ประชุมทั้งที่มิได้ให้ฉันทะ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุไม่ให้ฉันทะ ลุกจากอาสนะหลีกไปในเมื่อถ้อยคำวินิจฉัยยังค้างอยู่ในสงฆ์ ต้องปาจิตตีย์

อนาบัติ
  1. ภิกษุคิดเห็นว่า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง หรือการวิวาท จักเกิดแก่สงฆ์ดังนี้ แล้วหลีกไป
  2. ภิกษุคิดเห็นว่า สงฆ์จักแตกแยกกัน หรือจักร้าวราวกันดังนี้ แล้วหลีกไป
  3. ภิกษุคิดเห็นว่า สงฆํจักทำกรรม โดยไม่เป็นธรรม เป็นวรรค หรือจักทำกรรมแก่ภิกษุมิใช่ผู้ควรแก่กรรมดังนี้ แล้วหลีกไป
  4. ภิกษุเกิดอาพาธ หลีกไป
  5. ภิกษุหลีกไปด้วยธุระอันจะทำแก่ภิกษุอาพาธ
  6. ภิกษุปวดอุจจาระปัสสาวะแล้วหลีกไป
  7. ภิกษุไม่ตั้งใจจะทำกรรมให้เสีย หลีกไปด้วยคิดว่าจะกลับมาอีก
  8. ภิกษุวิกลจริต
  9. ภิกษอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
องค์แห่งอาบัติ 
  1. ตัดสินความหรือสังฆกรรมค้างอยู่ 
  2. กรรมนั้นเป็นธรรม 
  3. รู้อยู่ว่าเป็นธรรม 
  4. อยู่ในสีมาด้วยสงฆ์ 
  5. ตนมีสังวาสเสมอด้วยสงฆ์ 
  6. ประสงค์จะให้กรรมกำเริบแล้วลุกไป 
พร้อมด้วยองค์ 6 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 242)

***

สิกขาบทที่ 11 สหธัมมิกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ร่วมกับสงฆ์ให้จีวรแก่ภิกษุแล้ว ห้ามติเตียนภายหลัง

81. โย ปน ภิกฺขุ สมคฺเคน สงฺเฆน จีวรํ ทตฺวา ปจฺฉา ขียนธมฺมํ อาปชฺเชยฺย ยถาสนฺถุตํ ภิกฺขู สงฺฆิกํ ลาภํ ปริณาเมนฺตีติ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด กับสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ให้จีวรแก่ภิกษุแล้วภายหลังถึงธรรมคือบ่นว่า ภิกษุทั้งหลายน้อมลาภของสงฆ์ไปตามชอบใจ เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

จีวรเกิดขึ้นแก่สงฆ์ สงฆ์ประชุมกันให้แก่พระทัพพมัลลบุตร ภิกษุฉัพพัคคีย์กลับว่าสงฆ์ให้จีวรเพราะชอบกัน ภิกษุทั้งหลายจึงติเตียนว่า ร่วมประชุมกับสงฆ์แล้ว ทำไมจึงมาพูดติเตียนในภายหลัง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามทำเช่นนั้น ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด

อนาบัติ
  1. ภิกษุบ่นว่า สงฆ์มีปกติทำโดยฉันทาคติ..โทสาคติ..โมหาคติ..ภยาคติ จะประโยชน์อะไรด้วยด้วยจีวรที่ให้แก่ภิกษุนั้น แม้เธอได้ไปแล้วก็จักทิ้งเสีย จักไม่ใช้สอยโดยชอบธรรม 
  2. ภิกษุวิกลจริต
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
***

สิกขาบทที่ 12 สหธัมมิกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามน้อมลาภสงฆ์มาเพื่อบุคคล

82. โย ปน ภิกฺขุ ชานํ สงฺฆิกํ ลาภํ ปริณตํ ปุคฺคลสฺส ปริณาเมยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไปจะถวายสงฆ์มาเพื่อบุคคล เป็นปาจิตตีย์.” 

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์รู้ว่าเขาเตรียมจีวรไว้ถวายแก่สงฆ์ ไปพูดให้เขาถวายแก่ภิกษุ (ที่เป็นพรรคพวกของตน) เขาไม่ยอม เธอก็พูดแค่นได้จนเขารำคาญ ต้องถวายไป พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุน้อมลาภที่เขากะว่าจะถวายแก่สงฆ์ไปเพื่อบุคคล ต้องปาจิตตีย์

อนาบัติ

  1. ภิกษุ เมื่อทายกถามว่า จะถวายที่ไหน ตอบว่า ไทยธรรมของพวกท่าน พึงได้รับการใช้สอย พึงได้รับการปรับปรุง หรือพึงตั้งอยู่ได้นานในที่ใด ก็หรือจิตของท่านเลื่อมใสในที่ใด ก็จงถวายในที่นั้นเถิด ดังนี้
  2. ภิกษุวิกลจริต
  3. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
*******

9. รตนวรรค วรรคว่าด้วยนางแก้ว (พระราชเทวี) เป็นวรรคที่ 9 มี 10 สิกขาบท


สิกขาบทที่ 1 รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามเข้าไปในตำหนักของพระราชา

83. โย ปน ภิกฺขุ รญฺโญ ขตฺติยสฺส มุทฺธาภิสิตฺตสฺส อนิกฺขนฺตราชเก อนิคฺคตรตนเก ปุพฺเพ อปฺปฏิสํวิทิโต อินฺทขีลํ อติกฺกาเมยฺย ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ไม่ได้รับบอกก่อน ก้าวล่วงธรณีเข้าไปในห้องของพระราชา ผู้กษัตริย์ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว ที่พระราชายังไม่ได้เสด็จออก ที่รัตนะยังไม่ออก เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

พระเจ้าปเสนทิโกศลขอให้พระพุทธเจ้าส่งภิกษุไปสอนธรรมแก่พระองค์ พระผู้มีพระภาคจึงส่งพระอานนท์ไปสอนเป็นประจำ เช้าวันหนึ่งพระอานนท์เข้าไปยังตำหนักของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระนางมัลลิกาต้องรีบออกจากตำหนักนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ความว่า ภิกษุมิได้รับนัดหมายก้าวล่วงธรณีเข้าไป (ในห้อง) ของพระราชาผู้ได้รับมูรธาภิเษก ในเมื่อพระราชายังไม่เสด็จออก พระมเหสียังไม่ออก ต้องปาจิตตีย์. 

วิภังค์
บทว่า ที่พระราชายังไม่เสด็จออก คือ พระเจ้าแผ่นดินยังไม่เสด็จออกจากตำหนักที่บรรทม.

บทว่า ที่รัตน์ยังไม่ออก คือ พระมเหสียังไม่เสด็จออกจากตำหนักที่บรรทม หรือทั้ง 2 พระองค์ยังไม่เสด็จออก.

อนาบัติ
  1. ได้รับบอกแล้ว 
  2. ไม่ใช่กษัตริย์ 
  3. ไม่ได้รับอภิเษกโดยสรงสนานให้เป็นกษัตริย์ 
  4. พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกจากตำหนักที่บรรทมแล้ว
  5. พระมเหสีเสด็จออกจากตำหนักที่บรรทมแล้ว 
  6. หรือทั้ง 2 พระองค์เสด็จออกจากที่บรรทมแล้ว
  7. ไม่ใช่ตำหนักที่บรรทม
  8. ภิกษุวิกลจริต
  9. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
***

สิกขาบทที่ 2 รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามเก็บของมีค่าที่ตกอยู่

84. โย ปน ภิกฺขุ รตนํ วา รตนสมฺมตํ วา อญฺญตฺร อชฺฌารามา วา อชฺฌาวสถา วา อุคฺคเณฺหยฺย วา อุคฺคณฺหาเปยฺย วา ปาจิตฺติยํ. รตนํ วา ปน ภิกฺขุนา รตนสมฺมตํ วา อชฺฌาราเม วา อชฺฌาวสเถ วา อุคฺคเหตฺวา วา อุคฺคหาเปตฺวา วา นิกฺขิปิตพฺพํ ยสฺส ภวิสฺสติ โส หริสฺสตีติ.
อยํ ตตฺถ สามีจีติ.

“อนึ่ง ภิกษุใด เก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี เว้นไว้แต่ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี เป็นปาจิตตีย์.และภิกษุเก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี ในวัดที่อยู่ก็ดีในที่อยู่ก็ดี แล้วพึงเก็บไว้ด้วยหมายว่า ของผู้ใด ผู้นั้นจะได้นำไป นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุรูปหนึ่งเก็บถุงเงินของพราหมณ์ผู้หนึ่งด้วยปรารถนาดี เมื่อพราหมณ์มาถามก็คืนให้ไป พราหมณ์แกล้งกล่าวว่าเงินในถุงของตนมีมากกว่านั้น (เพื่อไม่ต้องให้รางวัล) พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามเก็บเองหรือใช้ผู้อื่นให้เก็บซึ่งรตนะ (แก้วแหวนเงินทอง) หรือสิ่งของสมมติว่าเป็นรตนะ ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด. ภายหลังทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า ของตกในวัดหรือในที่อยู่ ควรเก็บเพื่อจะคืนเจ้าของไป ถือว่าเป็นการปฏิบัติชอบ

วิภังค์

ที่ชื่อว่า รัตนะ ได้แก่ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง แก้วทับทิม แก้วลาย นี้ชื่อว่ารัตนะ.

ที่ชื่อว่า ของที่สมมติว่ารัตนะ ได้แก่ เครื่องอุปโภค เครื่องบริโภค ของมวลมนุษย์ นี้ชื่อว่าของที่สมมติว่ารัตนะ.

อนาบัติ
  1. ภิกษุเก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี แล้วเก็บไว้ด้วยหมายว่า ของผู้ใด ผู้นั้นจะได้นำไปดังนี้ 
  2. ภิกษุถือวิสาสะของที่สมมติว่ารัตนะ
  3. ภิกษุถือเป็นของขอยืม
  4. ภิกษุเข้าใจว่าเป็นของบังสุกุล
  5. ภิกษุวิกลจริต 
  6. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
องค์แห่งอาบัติ
  1. ไม่ใช่เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต
  2. เป็นของๆผู้อื่น
  3. ไม่มีแห่งความถือเอาด้วยวิสาสะและบังสุกุลสัญญา
  4. ถือเอาเองหรือให้ผู้อื่นถือเอาของนั้น 
พร้อมด้วยองค์ 4 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 244)

***

สิกขาบทที่ 3 รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


จะเข้าบ้านในเวลาวิการ ต้องบอกลาภิกษุก่อน

85. โย ปน ภิกฺขุ สนฺตํ ภิกฺขุํ อนาปุจฺฉา วิกาเล คามํ ปวิเสยฺย อญฺญตฺร ตถารูปา อจฺจายิกา กรณียา ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ไม่อำลาภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าไปสู่บ้านในเวลาวิกาล เว้นไว้แต่กิจรีบด่วนมีอย่างนั้นเป็นรูป เป็นปาจิตตีย์.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าสู่บ้านในเวลาวิกาล (เที่ยงแล้วไป) ชวนชาวบ้านพูดเรื่องไร้สาระ เป็นที่ติเตียนของคนทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามเข้าสู่บ้านในเวลาวิกาล ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด ภายหลังทรงผ่อนผันให้เข้าไปในบ้านในเวลาวิกาลได้ เมื่อบอกลาภิกษุที่มีอยู่ในวัดหรือในเมื่อมีกิจรีบด่วน. 

อนาบัติ
  1. เข้าไปสู่บ้านเพราะมีกิจรีบด่วนเห็นปานนั้น
  2. อำลาภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าไป
  3. ภิกษุไม่มีไม่อำลาเข้าไป
  4. ไปสู่อารามอื่น 
  5. ภิกษุไปสู่สำนักภิกษุณี
  6. ภิกษุไปสู่สำนักเดียรถีย์
  7. ไปสู่โรงฉัน 
  8. เดินไปตามทางอันผ่านบ้าน
  9. มีอันตราย
  10. ภิกษุวิกลจริต
  11. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
องค์แห่งอาบัติ
  1. ไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่
  2. ไม่มีเหตุซึ่งพระพุทธเจ้าทรงอนุญาต
  3. เข้าไปบ้านในวิกาล 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 246)

*** 

สิกขาบทที่ 4 รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามทำกล่องเข็มด้วยกระดูก, งา, เขาสัตว์

86. โย ปน ภิกฺขุ อฏฺฐิมยํ วา ทนฺตมยํ วา วิสาณมยํ วา สูจิฆรํ การาเปยฺย เภทนกํ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำกล่องเข็ม แล้วด้วยกระดูกก็ดี แล้วด้วยงาก็ดี แล้วด้วยเขาก็ดี เป็นปาจิตตีย์ ที่ให้ต่อยเสีย.”

ต้นบัญญัติ

ช่างกลึงงาช้างปวารณาให้ภิกษุของกล่องเข็มได้ ภิกษุทั้งหลายก็ขอกันเรื่อย มีกล่องเล็กขอกล่องใหญ่ มีกล่องใหญ่ขอกล่องเล็ก จนช่างไม่เป็นอันทำขาย. เขาติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุให้ทำกล่องเข็มที่ทำด้วยกระดูก, งาช้าง, เขาสัตว์ ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ต่อยทิ้ง (ก่อนจึงแสดงอาบัติตก). 

วิภังค์

บทว่า ให้ทำ คือ ทำเองก็ดี ใช้ผู้อื่นทำก็ดี เป็นทุกกฏในประโยคเป็นปาจิตตีย์ด้วย ได้กล่องเข็มมา ต้องต่อยให้แตกก่อน จึงแสดงอาบัติตก.

อนาบัติ
  1. ภิกษุทำลูกดุม
  2. ภิกษุทำตะบันไฟ
  3. ภิกษุทำลูกถวิล ( ห่วงร้อยสายประคด)
  4. ภิกษุทำกลักยาตา
  5. ภิกษุทำไม้ป้ายยาตา
  6. ภิกษุทำฝักมีด
  7. ภิกษุทำกระบอกกรองน้ำ 
  8. ภิกษุวิกลจริต
  9. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
องค์แห่งอาบัติ
  1. เป็นกล่องเข็ม 
  2. แล้วด้วยกระดูกเป็นต้น
  3. ทำเองหรือให้ผู้อื่น ทำเพื่อตนแล้วได้มา 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 246)

***

สิกขาบทที่ 5 รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามทำเตียงตั่งมีเท้าสูงกว่าประมาณ

87. นวํ ปน ภิกฺขุนา มญฺจํ วา ปีฐํ วา การยมาเนน อฏฺฐงฺคุลปาทกํ กาเรตพฺพํ สุคตงฺคุเลน อญฺญตฺร เหฏฺฐิมาย อฏนิยา ตํ อติกฺกามยโต เฉทนกํ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำเตียงก็ดี ตั่งก็ดี ใหม่พึงทำให้มีเท้าเพียง 8 นิ้ว ด้วยนิ้วสุคต เว้นไว้แต่แม่แคร่เบื้องต่ำ เธอทำให้ล่วงประมาณนั้นไป เป็นปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย.”

ต้นบัญญัติ

พระอุปนนทะ ศากยบุตร นอนบนเตียงสูง พระผู้มีพระภาคเสด็จตรวจวิหารพบเข้า จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะให้ทำเตียงหรือตั่งใหม่ พึงทำให้มีเท้าเพียง 8 นิ้ว ด้วยนิ้วสุคต เว้นไว้แต่แม่แคร่เบื้องล่าง ถ้าทำให้มีเท้าเกินกำหนด ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดทิ้ง (จึงแสดงอาบัติตก)

วิภังค์

ภิกษุทำเองก็ดี ใช้คนอื่นทำก็ดี เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ต้องอาบัติทุกกฏ.

ภิกษุได้เตียง ตั่งที่คนอื่นทำสำเร็จแล้วมาใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ.


อนาบัติ
  1. ทำเตียง ตั่งได้ประมาณ
  2. ทำเตียง ตั่งหย่อนกว่าประมาณ
  3. ได้เตียง ตั่งที่ผู้อื่น ทำเกินประมาณมาตัดเสียก่อนแล้วใช้สอย
  4. ภิกษุวิกลจริต
  5. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
องค์แห่งอาบัติ
  1. เตียงหรือตั่งล่วงประมาณ
  2. ทำเองหรือให้ผู้อื่นทำเพื่อตนแล้วได้มา 
พร้อมด้วยองค์ 2 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 247)

***

สิกขาบทที่ 6 รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามให้ทำเตียงตั่งหุ้มด้วยนุ่น

88. โย ปน ภิกฺขุ มญฺจํ วา ปีฐํ วา ตูโลนทฺธํ การาเปยฺย อุทฺทาลนกํ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำเตียงก็ดี ตั่งก็ดี เป็นของหุ้มนุ่นเป็นปาจิตตีย์ ที่ให้รื้อเสีย.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ให้ทำเตียงบ้าง ตั่งบ้าง หุ้มด้วยนุ่น เป็นที่ติเตียนของคนทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุให้ทำเตียงหรือตั่งที่หุ้มด้วยนุ่น ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้รื้อเสีย (จึงแสดงอาบัติตก). 

อนาบัติ
  1. ทำสายรัดเข่า
  2. ทำประคตเอว
  3. ทำสายโยกบาตร
  4. ทำถุงบาตร
  5. ทำผ้ากรองน้ำ
  6. ทำหมอน
  7. ได้เตียงตั่งที่ผู้อื่นทำสำเร็จแล้วมาทำลายก่อนใช้สอย
  8. ภิกษุวิกลจริต
  9. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
องค์แห่งอาบัติ 
  1. เตียงหรือตั่งหุ้มนุ่น
  2. ทำเองหรือให้ผู้อื่นทำเพื่อตนแล้วได้มา 
พร้อมด้วยองค์ 2 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 247)

***

สิกขาบทที่ 7 รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามทำผ้าปูนั่งมีขนาดเกินประมาณ

89. นิสีทนํ ปน ภิกฺขุนา การยมาเนน ปมาณิกํ กาเรตพฺพํ. ตตฺรีทํ ปมาณํ ทีฆโส เทฺว วิทตฺถิโย สุคตวิทตฺถิยา ติริยํ ทิยฑฺฒํ ทสา วิทตฺถิ. ตํ อติกฺกามยโต เฉทนกํ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำผ้าสำหรับนั่ง พึงให้ทำให้ได้ประมาณ นี้ประมาณในคำนั้น โดยยาว 2 คืบ โดยกว้างคืบครึ่ง ชายคืบครึ่งคือคืบสุคต เธอทำให้ล่วงประมาณนั้นไป เป็นปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าปูนั่งไม่มีประมาณ ผ้าย้อยไปข้างหน้าข้างหลังของเตียงแลตั่ง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะให้ทำผ้าปูนั่ง พึงทำให้ได้ประมาณ คือ ยาว 2 คืบ กว้างคืบครึ่ง ด้วยคืบสุคต ถ้าทำให้เกินประมาณนั้นไป ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย (จึงแสดงอาบัติตก) ภายหลังทรงอนุญาตชายผ้าปูนั่งอีก 1 คืบ 

อนาบัติ
  1. ภิกษุทำผ้าสำหรับนั่งได้ประมาณ
  2. ทำผ้าสำหรับนั่งหย่อนกว่าประมาณ
  3. ได้ผ้าสำหรับนั่ง ที่ผู้อื่นทำสำเร็จแล้วเกินประมาณมาตัดเสีย แล้วใช้สอย
  4. ทำเป็นผ้าขึงเพดานก็ดี ทำเป็นผ้าปูพื่้นก็ดี ทำเป็นผ้าม่านก็ดี ทำเป็นเปลือกฟูก็ดี เป็นปลอกหมอนก็ดี 
  5. ภิกษุวิกลจริต
  6. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
องค์แห่งอาบัติ 
  1. ผ้านีสีทนะนั้นล่วงประมาณ 
  2. ทำเองหรือให้ผู้อื่นทำเพื่อตนแล้วได้มา 
พร้อมด้วยองค์ 2 ดังนี้ จึงเป็นปาจิตตีย์ (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 248)

***

สิกขาบทที่ ๘ รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามทำผ้าปิดฝีมีขนาดเกินประมาณ

90. กณฺฑุปฏิจฺฉาทึ ปน ภิกฺขุนา การยมาเนน ปมาณิกา กาเรตพฺพา. ตตฺริทํ ปมาณํ ทีฆโส จตสฺโส วิทตฺถิโย สุคตวิทตฺถิยา ติริยํ เทฺว วิทตฺถิโย. ตํ อติกฺกามยโต เฉทนกํ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำผ้าปิดฝี พึงให้ทำให้ได้ประมาณนี้ประมาณในคำนั้นโดยยาว 4 คืบ โดยกว้าง 2 คืบ ด้วยคืบสุคตเธอให้ล่วงประมาณนั้นไป เป็นปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย.”

ต้นบัญญัติ
ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าปิดฝีไม่มีประมาณ ลากผ้าไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง เที่ยวไป พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะทำให้ผ้าปิดฝี พึงทำให้ได้ประมาณ คือ ยาว ๔ คืบ กว้าง ๒ คืบ ด้วยคืบสุคต ถ้าทำให้เกินประมาณนั้น ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย (จึงแสดงอาบัติตก).

อนาบัติ
  1. ทำผ้าปิดฝีได้ประมาณ 
  2. ทำผ้าปิดฝีให้หย่อนกว่าประมาณ
  3. ได้ผ้าปิดฝีที่ผู้อื่นทำไว้เกินประมาณมาตัดแล้วใช้สอย
  4. ทำเป็นผ้าขึงเพดานก็ดี ทำเป็นผ้าปูพื้นก็ดี ทำเป็นผ้าม่านก็ดี ทำเป็นเปลือกฟูกก็ดี ทำเป็นปลอกหมอนก็ดี 
  5. ภิกษุวิกลจริต
  6. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
***

สิกขาบทที่ ๙ รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามทำผ้าอาบน้ำฝนมีขนาดเกินประมาณ

91. วสฺสิกสาฏิกํ ปน ภิกฺขุนา การยมาเนน ปมาณิกา กาเรตพฺพา. ตตฺริทํ ปมาณํ ทีฆโส ฉ วิทตฺถิโย สุคตวิทตฺถิยา ติริยํ อฑฺฒเตยฺยา. ตํ อติกฺกามยโต เฉทนกํ ปาจิตฺติยํ.

“อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำผ้าอาบน้ำฝน พึงให้ทำได้ประมาณนี้ประมาณในคำนั้น โดยยาว 6 คืบ โดยกว้าง 2 คืบครึ่ง ด้วยคืบสุคต เธอทำให้ล่วงประมาณนั้น เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเสีย.”

ต้นบัญญัติ
ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าอาบน้ำฝนไม่มีประมาณ ลากผ้าไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง เที่ยวไป พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะให้ทำผ้าอาบน้ำฝน พึงทำให้ได้ประมาณ คือ ยาว 6 คืบ กว้าง 2 คืบครึ่ง ด้วยคืบสุคต ถ้าทำให้เกินประมาณนั้น ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย (จึงแสดงอาบัติตก)

อนาบัติ
  1. ทำผ้าอาบน้ำฝนได้ประมาณ
  2. ทำผ้าอาบน้ำฝนหย่อนกว่าประมาณ
  3. ได้ผ้าอาบน้ำฝนที่ผู้อื่นทำเกินประมาณมาตัด แล้วใช้สอย
  4. ทำเป็นผ้าขึงเพดานก็ดี ทำเป็นผ้าปูพื้นก็ดี ทำเป็นผ้าม่านก็ดี ทำเป็นเปลือกฟูกก็ดี ทำเป็นปลอกหมอนก็ดี 
  5. ภิกษุวิกลจริต
  6. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
***

สิกขาบทที่ 10 รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์


ห้ามทำจีวรมีขนาดเกินประมาณ

92. โย ปน ภิกฺขุ สุคตจีวรปฺปมาณํ จีวรํ การาเปยฺย อติเรกํ วา เฉทนกํ ปาจิตฺติยํ. ตตฺริทํ สุคตสฺส สุคตจีวรปฺปมาณํ ทีฆโส นว วิทตฺถิโย สุคตวิทตฺถิยา ติริยํ ฉ วิทตฺถิโย. อิทํ สุคตสฺส สุคตจีวรปฺปมาณนฺติ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำจีวรมีประมาณเท่าสุคตจีวร หรือยิ่งกว่า เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเสีย นี้ประมาณแห่งสุคตจีวรของพระสุคตในคำนั้น โดยยาว 9 คืบ โดยกว้าง 6 คืบ ด้วยคืบสุคต นี้ประมาณแห่งสุคตจีวรของพระสุคต.”

ต้นบัญญัติ

พระนนทะ พุทธอนุชา ใช้จีวรมีขนาดเท่าจีวรพระสุคต ภิกษุทั้งหลายเห็นท่านเดินมาแต่ไกล ก็ลุกขึ้นต้อนรับ ด้วยนึกว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมา เมื่อเข้าใกล้เห็นว่ามิใช่ จึงติเตียนว่าใช้จีวรขนาดเท่าของพระสุคตพระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุทำจีวรให้มีขนาดเท่าจีวรสุคตหรือยิ่งกว่า ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย. ประมาณแห่งจีวรสุคต คือ ยาว 9 คืบ กว้าง 6 คืบ

อนาบัติ
  1. ทำจีวรหย่อนกว่าประมาณ
  2. ได้จีวรที่ผู้อื่นทำสำเร็จแล้วเกินประมาณมาตัดเสียแล้วใช้สอย
  3. ทำเป็นผ้าขึงเพดานก็ดี ทำเป็นผ้าปูพื้นก็ดี ทำเป็นผ้าม่านก็ดี ทำเป็นเปลือกฟูกก็ดี ทำเป็นปลอกหมอนก็ดี
  4. ภิกษุวิกลจริต
  5. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัตแล

จบหมวดปาจิตติยกัณฑ์


หมวดอื่น ๆ ของพระวินัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น