วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พระวินัย อาบัติสังฆาทิเสส ต้องอาศัยสงฆ์ในการออกจากอาบัติ

พระวินัย อาบัติสังฆาทิเสส
ต้องอาศัยสงฆ์ในการออกจากอาบัติ


เตรสกัณฑ์ ว่าด้วยอาบัติสังฆาทิเสส 13 สิกขาบท

อิเม โข ปนายสฺมนฺโต เตรส สงฺฆาทิเสสา ธมฺมา อุทฺเทสํ อาคจฺฉนฺติ.

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 1 ห้ามทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน


1.สัญเจตะนิกา สุกกะวิสัฎฐิ, อัญญัต๎ระ สุปินันตา สังฆาทิเสโส.

“ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝันเป็นสังฆาทิเสส.”

ต้นบัญญัติ

เริ่มเรื่องว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนารามของนาถปิณฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี 
ภิกษุเสยยสกะถูกพระอุทายี
(ภิกษุที่ชื่ออุทายี มี ๒ รูป รูปหนึ่งผิวดำ จึงมีผู้เรียกว่า กาฬุทายี (อุทายีดำ) เคยเป็นอำมาตย์กรุงกบิลพัสดุ์ ออกบวชเมื่อคราวพระพุทธบิดาใช้ให้ไปทูลเชิญเสด็จพระพุทธเจ้า ส่วนพระอุทายีที่กล่าวถึงในที่นี้ชอบก่อเรื่องเลอะเทอะเสมอ จึงมีฉายาว่า โลลุทายี (อุทายีเลอะเทอะ)
แนะนำในทางที่ผิด ให้ใช้มือเปลื้องความใคร่ ทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน 
ความทราบถึงพระผุ้มีพระภาค ทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวน 
พระเสยยสกะรับเป็นสัตย์ ทรงติเตียนพระเสยยสกะเป็นอันมาก 
แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามทำน้ำอสุจิให้เคลื่อนโดยเจตนา ถ้าล่วงละเมิดต้องอาบัติสังฆาทิเทสส
(อาบัติที่ต้องให้สงฆ์เกี่ยวข้องในกรรมเบื้องต้นและกรรมอันเหลือ 
คือสงฆ์เป็นผู้ปรับโทษให้อยู่กรรม และสงฆ์เองเป็นผู้ระงับอาบัติ). 

อนุบัญญัติ (ข้อบัญญัติเพิ่มเติม)

สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายนอนหลับ น้ำอสุจิเคลื่อนด้วยความฝัน 
เกิดความสงสัยว่า จะต้องสังฆาทิเสส จึงกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค 
พระองค์ตรัสว่า เจตนามีอยู่ แต่เป็นอัพโพหาริก 
(ไม่ควรกล่าวว่า มีเหมือนอย่างเทน้ำหมดแก้วแล้ว น้ำก็ยังคงมีติดอยู่เล็กน้อย แต่ไม่ควรกล่าวว่า มี)
แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติม เพิ่มข้อยกเว้นสำหรับความฝัน

วิภังค์

บทว่า เป็นไปด้วยความจงใจ ความว่า รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ตั้งใจละเมิด 
บทว่า สุกกะ อธิบายว่า สุกกะ(น้ำอสุจิ) มี 10 อย่าง คือ 
  1. สุกกะสีเขียว
  2. สุกกะสีเหลือง
  3. สุุกกะสีแดง
  4. สุกกะสีขาว
  5. สุกกะสีเหมือนเปรียง
  6. สุกกะสีเหมือนน้ำท่า
  7. สุกกะสีเหมือนน้ำมัน
  8. สุกกะสีเหมือนนมสด
  9. สุกกะสีเหมือนนมส้ม
  10. สุกกะสีเหมือนเนยใส
การกระทำอสุจิให้เคลื่อนจากฐานเรียกว่า การปล่อย ชื่อว่า ปล่อย

อัพโพหาริก เจตนาที่จะยินดีนั้นมีอยู่ แต่กล่าวไม่ได้ว่ามี เพราะเกิดขึ้นนอกเหนือขอบเขต เจตนาในความฝันเป็นเจตนานอกเหนือขอบเขต (วิ.อ.2/235/2-3) 

อนาบัติ (การไม่ต้องอาบัติ) 6 ประการ คือ 
  1. เพราะฝัน 
  2. ภิกษุไม่มีเจตนาจะทำให้เคลื่อน 
  3. ภิกษุเป็นบ้า 
  4. ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน (เป็นบ้าไปชั่วคราวด้วยเหตุใด ๆ) 
  5. ภิกษุมีเวทนากล้า 
  6. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ

วินีตวัตถุ (เรื่องที่ทรงวินิจฉัยชี้ขาด)

ต่อจากนั้น แสดงตัวอย่างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เกี่ยวด้วยการกระทำของภิกษุที่เนื่องด้วยสิกขาบทนี้ 
ประมาณ 71 ราย ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงไต่สวนเอง ทรงวินิจฉัยชี้ขาดว่า ต้องอาบัติปาราชิกบ้าง ไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสบ้าง ไม่ต้องบ้าง ตามควรแก่กรณี

องค์แห่งอาบัติ
  1. เจตนาจะให้เคลื่อน
  2. พยายาม
  3. อสุจิเคลื่อน 
พร้อมด้วยองค์ 3 ดังนี้ จึงเป็นสังฆาทิเสส (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 132)

***

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 2 ห้ามจับต้องกายหญิง


2. โย ปน ภิกฺขุ โอติณฺโณ วิปริณเตน จิตฺเตน มาตุคาเมน สทฺธึ กายสํสคฺคํ สมาปชฺเชยฺย, หตฺถคาหํ วา เวณิคาหํ วา อญฺญตรสฺส วา อญฺญตรสฺส วา องฺคสฺส ปรามสนํ สงฺฆาทิเสโส.

“อนึ่ง ภิกขุใดกำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว จึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม คือจับมือก็ตาม จับช้องผมก็ตาม ลูบคลำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส.”

ต้นบัญญัติ
เริ่มเรื่องว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนารามเช่นเคย 
แล้วกล่าวถึงวิหาร (ที่อยู่) ของพระอุทายีว่างดงาม มีเตียงตั่งฟูกหมอน 
น้ำดื่มใช้ตั้งไว้ดี มีบริเวณอันกวาดสะอาด. 
มนุษย์ทั้งหลายพากันไปชมวิหารมากด้วยกัน. 
พราหมณ์ผู้หนึ่งพาภริยาไปขอชมวิหาร พระอุทายีก็พาชม ให้พราหมณ์เดินหน้า ภริยาตามหลัง
พระอุทายีเดินตามหลังภริยาของพราหมณ์นั้นอีกต่อหนึ่ง 
เลยถือโอกาสจับต้องอวัยวะน้อยใหญ่ของนาง 
นางบอกแก่สามี สามีโกรธ ติเตียนเป็นอันมาก 
ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค ทรงเรียกประชุมสงฆ์ ไต่สวนได้ความเป็นสัตย์ 
ทรงติเตียนเป็นอันมากแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบท 
ห้ามภิกษุมีจิตกำหนัดจับต้องกายหญิง ไม่ว่าจะเป็นการจับมือ จับช้องผม หรือลูบคลำอวัยวะใด ๆ 
ทรงปรับอาบัติสังฆาทิเสสแก่ผู้ล่วงละเมิด.

ครั้นแล้ว ได้มีคำอธิบายตัวสิกขาบทอย่างละเอียด 
และมีข้อแสดงลักษณะที่ไม่ต้องอาบัติ คล้ายคลึงกับสิกขาบทที่แล้ว ๆ มา 
ลงท้ายด้วยแสดงวินีตวัตถุ คือเรื่องที่เกิดขึ้น 
ซึ่งพระศาสดาทรงวินิจฉัย ไต่สวนชี้ขาดด้วยพระองค์เอง 
อันเกี่ยวกับสิกขาบทนี้ ประมาณ 20 เรื่อง

อนาบัติ (ลักษณะที่ไม่ต้องอาบัติ)
  1. ภิกขุไม่จงใจถูกต้อง
  2. ภิกขุถูกต้องด้วยไม่มีสติ
  3. ภิกขุไม่รู้
  4. ภิกขุไม่ยินดี
  5. ภิกขุวิกลจริต
  6. ภิกขุมีจิตฟุ้งซ่าน
  7. ภิกขุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา
  8. ภิกขุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล

องค์แห่งอาบัติ
  1. หญิงมนุษย์
  2. สำคัญว่าเป็นหญิง
  3. กำหนัดด้วยกายสังสัคคราคะ
  4. พยายามตามความกำหนัด
  5. จับมือเป็นต้น 
พร้อมด้วยองค์ 5 ดังนี้ จึงเป็นสังฆาทิเสส (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 134)

***

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 3 ห้ามพูดเกี้ยวหญิง

3. โย ปน ภิกฺขุ โอติณฺโณ วิปริณเตน จิตฺเตน มาตุคามํ ทุฏฺฐุลฺลาหิ วาจาหิ โอภาเสยฺย, ยถาตํ ยุวา ยุวตึ เมถุนูปสญฺหิตาหิ สงฺฆาทิเสโส.

“อนึ่ง ภิกขุใด กำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว พูดเคาะมาตุคาม ด้วยวาจาชั่วหยาบ เหมือนชายหนุ่มพูดเคาะหญิงสาวด้วยวาจาพาดพึงเมถุน เป็นสังฆาทิเสส.”

ต้นบัญญัติ

เริ่มเรื่องว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนารามเช่นเคย 
แล้วเล่าเรื่องสตรีหลายคนพากันไปชมวิหาร (ที่อยู่) ของพระอุทายี ซึ่งเลื่องลือกันว่างดงาม
พระอุทายีก็ถือโอกาสนั้นพูดจาพาดพิงถึงทวารหนัก ทวารเบาของหญิงเหล่านั้น
หญิงบางคนที่เป็นคนคะนองไม่มีความอาย ก็ยิ้มแย้ม ซี้ซิก คิกคัก พูดล้อกับพระอุทายี
ส่วนหญิงที่มีความละอาย ก็ว่ากล่าวติเตียน 
ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ไต่สวนได้ความเป็นสัตย์ 
ก็ทรงติเตียน แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท 
ห้ามภิกษุมีจิตกำหนัดพูดเกี้ยวหญิง ด้วยวาจาชั่วหยาบ พาดพิงเมถุน 
ทำนองชายหนุ่มพูดเกี้ยวหญิงสาว
(การพูดเกี้ยวของอินเดีย ในสมัยนั้น อาจจะเป็นอย่างอื่น ลักษณะการใช้ถ้อยคำ คงเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเทศะ พึงเข้าใจว่า การใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นการเกี้ยวหญิง ย่อมนับเข้าในข้อนี้)
ทรงปรับอาบัติสังฆาทิเสสแก่ผู้ล่วงละเมิด

วิภังค์

วาจาที่ชื่อว่า ชั่วหยาบ ได้แก่ วาจาที่พาดพิงวัจจมรรค ปัสสาวมรรค และเมถุนธัมม์

บทว่า พูดเคาะ คือที่เรียกกันว่า ประพฤติล่วงเกิน (ทางวาจา)

อนาบัติ (การไม่ต้องอาบัติ) 
  1. สำหรับภิกษุผู้พูด มุ่งอรรถ 
  2. มุ่งธรรม มุ่งสั่งสอน 
  3. ผู้เป็นบ้า วิกลจริต
  4. ผู้เป็นต้นบัญญัติ อาทิกัมมิกะ
องค์แห่งอาบัติ 
  1. หญิงมนุษย์ 
  2. รู้อยู่ว่าเป็นหญิง
  3. กำหนัดยินดีการที่จะกล่าวคำชั่วหยาบ
  4. กล่าวตามความกำหนัดนั้น
  5. หญิงรู้ความในขณะนั้น 
พร้อมด้วยองค์ 5 ดังนี้ จึงเป็นสังฆาทิเสส (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 135)

***

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 4 ห้ามพูดล่อหญิงให้บำเรอตนด้วยกาม


4. โย ปน ภิกฺขุ โอติณฺโณ วิปริณเตน จิตฺเตน มาตุคามสฺส สนฺติเก อตฺตกามปาริจริยาย วณฺณํ ภาเสยฺย, เอตทคฺคํ ภคินิ ปาริจริยานํ ยา มาทิสํ สีลวนฺตํ กลฺยาณธมฺมํ พฺรหฺมจารึ เอเตน ธมฺเมน ปริจเรยฺยาติ เมถุนูปสญฺหิเตน สงฺฆาทิเสโส.

“อนึ่ง ภิกขุใด กำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว กล่าวคุณแห่งการบำเรอตนด้วยกามในสำนักมาตุคาม
ด้วยถ้อยคำพาดพิงเมถุนว่า น้องหญิง หญิงใดบำเรอผู้ประพฤติพรหมจรรย์ 
มีศีล มีกัลยาณธัมม์ เช่นเรา ด้วยธัมม์นั่น 
นั่นเป็นยอดแห่งความบำเรอทั้งหลาย เป็นสังฆาทิเสส.”

ต้นบัญญัติ

เริ่มเรื่องว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนารามเช่นเคย 
แล้วเล่าถึงหญิงหม้ายคนหนึ่งผู้มีรูปร่างงดงาม 
พระอุทายีเข้าไปสู่สกุลนั้น สั่งสอนจนเกิดความเลื่อมใสแล้ว
เธอปวารณาที่จะถวายผ้านุ่งห่ม อาหารที่นอนที่นั่งและยารักษาโรค
แต่พระอุทายีกลับพูดล่อหรือชักชวนหญิงนั้น ให้บำเรอตนด้วยกาม 
ถือว่า เป็นสิ่งที่หาได้ยาก นางหลงเชื่อ แสดงอาการยินยอม 
พระอุทายีถ่มน้ำลาย แสดงอาการรังเกียจ
นางจึงติเตียนพระอุทายี
ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ไต่สวน ติเตียนแล้ว 
ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุมีจิตกำหนัดพูดล่อหญิงให้บำเรอตนด้วยกาม
ทรงปรับอาบัติสังฆาทิเสสแก่ผู้ล่วงละเมิด

อนาบัติ (การไม่ต้องอาบัติ)
  1. พูดให้บำรุงด้วยปัจจัย ๔
  2. ภิกษุเป็นบ้า วิกลจริต
  3. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ อาทิกัมมิกะ
องค์แห่งอาบัติ 
  1. หญิงมนุษย์ 
  2. รู้อยู่ว่าเป็นหญิง
  3. กำหนัดยินดีในที่จะกล่าวคำชั่วหยาบ
  4. กล่าวตามความกำหนัดนั้น
  5. หญิงรู้ความในขณะนั้น 
พร้อมด้วยองค์ 5 ดังนี้ จึงเป็นสังฆาทิเสส (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 136)

***

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5 ห้ามชักสื่อ


5. โย ปน ภิกฺขุ สญฺจริตฺตํ สมาปชฺเชยฺย, อิตฺถิยา วา ปุริสมตึ ปุริสสฺส วา อิตฺถีมตึ ชายตฺตเน วา ชารตฺตเน วา อนฺตมโส ตํขณิกายปิ สงฺฆาทิเสโส.

“อนึ่ง ภิกขุใดถึงความเป็นผู้ชักสื่อ บอกความประสงค์ของบุรุษแก่หญิงก็ดี บอกความประสงค์ของหญิงแก่บุรุษก็ดี ในความเป็นเมียก็ตาม ในความเป็นชู้ก็ตาม โดยที่สุด บอกแม้แก่หญิงแพศยาอันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะ เป็นสังฆาทิเสส.”

ต้นบัญญัติ

เริ่มเรื่องว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนารามเช่นเคย
สมัยนั้น พระอุทายีเมื่อเห็นเด็กชายที่ยังไม่มีภริยา 
เด็กหญิงที่ยังไม่มีสามี ก็เที่ยวพูดสรรเสริญเด็กหญิงในสำนักมารดาบิดาของเด็กชาย
เขาก็วานให้พระอุทายีไปสู่ขอเด็กหญิง
พระอุทายีไปเที่ยวพูดสรรเสริญเด็กชายในสำนักมารดาบิดาของเด็กหญิง
เขาก็วานให้พระอุทายีไปพูดให้ฝ่ายชายมาขอบุตรีของตน
โดยนัยนี้ พระอุทายีก็ทำให้เกิดการอาวาหะ วิวาหะ และการสู่ขอหลายราย

สมัยนั้น ธิดาของหญิงผู้เคยเป็นโสเภณีคนหนึ่ง มีรูปงาม น่าดู น่าชม, 
สาวกของอาชีวกซึ่งอยู่ต่างตำบล จึงมาขอธิดานั้น แต่มารดาของนางอ้างว่า นางไม่รู้จัก
ทั้งก็มีลูกคนเดียว ลูกจะต้องไปสู่ตำบลบ้านอื่น จึงไม่ยอมยกให้
สาวกของอาชีวกจึงไปหาพระอุทายี ขอให้ช่วยสู่ขอและรับรองให้
พระอุทายีก็ไปพูดกับหญิงนั้น นางเชื่อว่าพระอุทายีรู้จักจึงยอมยกให้
สาวกของอาชีวกรับเด็กหญิงนั้นไปเลี้ยงดูอย่างลูกสะใภ้ได้เดือนเดียว 
ต่อมาก็เลี้ยงดูแบบทาสี (ทาส)

เด็กหญิงจึงส่งข่าวไปแจ้งให้มารดาทราบว่าตนได้รับความลำบาก
อยู่อย่างทาสี ขอให้มารดามารับกลับไป 
มารดาจึงไปต่อว่าสาวกอาชีวก 
แต่ก็กลับถูกรุกราน อ้างว่าการนำมานำไปเกี่ยวกับนาง
แต่เกี่ยวกับพระอุทายี จึงไม่รับรู้เรื่องนี้
นางจึงต้องกลับสู่กรุงสาวัตถี

เด็กหญิงนั้น ส่งทูตไปแจ้งข่าวแก่มารดาเป็นครั้งที่ ๒
เล่าถึงความลำบากยากแค้นที่ได้รับในการที่มีความเป็นอยู่แบบทาสี 
ขอให้มารดานำตัวกลับ
มารดาจึงไปหาพระอุทายีให้ช่วยไปเจรจากับสาวกอาชีวกให้
พระอุทายีก็ไปเจรจา แต่ก็ถูกรุกรานกลับมา 
โดยอ้างว่าพระอุทายีไม่เกี่ยว การนำมานำไป 
เป็นเรื่องระหว่างตนกับมารดาของเด็กหญิง 
เป็นสมณะควรขวนขวายน้อย ควรเป็นสมณะที่ดี พระอุทายีจึงต้องกลับ

เด็กหญิงนั้น ส่งทูตไปแจ้งข่าวเช่นเดิมแก่มารดาอีกเป็นครั้งที่ ๓ 
ขอให้นำตัวกลับ มารดาจึงไปหาพระอุทายี 
พระอุทายีก็บอกว่าไปแล้ว และถูกรุกรานไม่ยอมไปอีก
มารดาของเด็กหญิงนั้น และหญิงอื่น ๆ ที่ไม่พอใจแม่ผัว พ่อผัว หรือสามี ก็พากันติเตียน
สาปแช่งพระอุทายี
ส่วนหญิงที่พอใจแม่ผัว พ่อผัว หรือสามี ก็สรรเสริญให้พรพระอุทายี

ความทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวนได้ความเป็นสัตย์
จึงทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน
ทรงปรับอาบัติสังฆาทิเสสแก่ผู้ล่วงละเมิด

ต่อมาพระอุทายีก่อเรื่องขึ้นอีก โดยพวกนักเลงขอร้องให้ไปตามหญิงแพศยามา 
เพื่อสำเร็จความใคร่ มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติมว่า 
การชักสื่อเช่นนั้น แม้โดยที่สุด เพื่อสำเร็จความประสงค์ชั่วขณะหนึ่ง ก็ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

อนาบัติ (ลักษณะการไม่ต้องอาบัติ)
  1. ไปด้วยกิจของสงฆ์ ของเจดีย์ หรือของภิกษุไข้ 
  2. ภิกษุเป็นบ้า  วิกลจริต
  3. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ ไม่ต้องอาบัติ 
องค์แห่งอาบัติ 
  1. นำสัญจริตตะ (การชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน) ในผู้ใด ผู้นั้นเป็นชาติมนุษย์ 
  2. เขาไม่เป็นผัวเป็นเมียกันอยู่ก่อน หรือว่าเป็นแต่ว่าหย่าขาดกันแล้ว
  3. รับคำเขา
  4. บอกตามเขาสั่ง
  5. กลับมาบอกแก่ผู้วาน 
พร้อมด้วยองค์ 5 ดังนี้ จึงเป็นสังฆาทิเสส ( บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 138 )

***

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 6 ห้ามสร้างกุฎีด้วยการขอ


6. สญฺญาจิกาย ปน ภิกฺขุนา กุฏึ การยมาเนน อสฺสามิกํ อตฺตุทฺเทสํ ปมาณิกา กาเรตพฺพา, ตตฺริทํ ปมาณํ ทีฆโส ทฺวาทส วิทตฺถิโย สุคตวิทตฺถิยา ติริยํ สตฺตนฺตรา ภิกฺขู อภิเนตพฺพา วตฺถุเทสนาย. เตหิ ภิกฺขูหิ วตฺถุํ เทเสตพฺพํ อนารมฺภํ สปริกฺกมนํ สารมฺเภ เจ ภิกฺขุ วตฺถุสฺมึ อปริกฺกมเน สญฺญาจิกาย กุฏึ กาเรยฺย ภิกฺขู วา อนภิเนยฺย, วตฺถุเทสนาย ปมาณํ วา อติกฺกาเมยฺย สงฺฆาทิเสโส.

“อนึ่งภิกขุ จักให้สร้างวิหารใหญ่ อันมีเจ้าของเฉพาะตนเอง พึงนำภิกขุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ ภิกขุเหล่านั้นพึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ หากภิกขุให้สร้างวิหารใหญ่ ในที่อันมีผู้จองไว้ อันหาชานรอบมิได้ หรือไม่นำภิกขุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ เป็นสังฆาทิเสส.”

ต้นบัญญัติ

เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ 
ครั้งนั้น ภิกษุชาวแคว้นอาฬวีให้ก่อกุฎี ที่ไม่มีเจ้าของ (ในที่ซึ่งไม่มีใครจับจอง) 
เป็นของจำเพาะตน (เพื่อประโยชน์ของตนเอง) 
เป็นกุฎีไม่มีประมาณ (ไม่กำหนดเขตแน่นอน) 
ด้วยการขอเอาเอง (คือขอของใช้รวมทั้งขอแรง) 
กุฎียังไม่เสร็จ พวกเธอก็มากไปด้วยการขอ 
เช่น ขอคน ขอแรงงาน ขอโค ขอเกวียน ขอพร้า ขอขวาน เป็นต้น
ก่อความเดือดร้อนแก่มนุษย์เป็นอันมาก 
ถึงกับเห็นภิกษุทั้งหลายเข้า ก็พากันหวาดบ้าง สะดุ้งกลัวบ้าง หนีบ้าง ไปทางอื่นบ้าง
หันหน้าหนีไปทางอื่นบ้าง ปิดประตูบ้าง เห็นโค สำคัญว่าเป็นภิกษุ ก็พากันหนีบ้าง
(เรื่องนี้ควรเป็นเครื่องเตือนใจให้สังวรในการเรี่ยไร รบกวนชาวบ้านจนไม่เป็นอันทำอะไร และแสดงไปในตัวว่า พระพุทธเจ้าทรงปราบปรามเรื่องเช่นนี้อย่างหนักเพียงไร )

ท่านพระมหากัสสปจาริกไปสู่แคว้นอาฬวี พักที่อัคคาฬวเจดีย์
ไปบิณฑบาตก็พบมนุษย์ทั้งหลายพากันหวาดสะดุ้ง หลบหนี 
เมื่อกลับมาถามภิกษุทั้งหลาย ทราบความแล้ว 
พอพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปสู่เมืองอาฬวี ก็กราบทูลให้ทรงทราบ 
จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ตรัสเทศนาสั่งสอนไม่ให้เป็นผู้มักขอ 
ทรงเล่านิทานประกอบถึง ๓ เรื่อง แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า 
ภิกษุจะให้ก่อกุฎี ที่ไม่มีเจ้าของ เป็นที่อยู่จำเพาะตนด้วยการขอ (สิ่งต่าง ๆ) เอาเอง 
พึงทำให้ได้ประมาณ คือยาวไม่เกิน ๑๒ คืบ กว้างไม่เกิน ๗ คืบ 
ทั้งต้องให้ภิกษุทั้งหลายแสดงที่ให้ก่อน
ภิกษุทั้งหลายพึงแสดงที่ ซึ่งไม่มีใครจองไว้ ที่มีชานรอบ 
ถ้าภิกษุให้ก่อกุฎีด้วยการขอ (สิ่งต่าง ๆ) เอาเอง ในที่ซึ่งมีผู้จองไว้ ไม่มีชานรอบ
ไม่ให้ภิกษุทั้งหลายแสดงที่ให้ก่อนก็ดี ทำให้เกินประมาณก็ดี ต้องอาบัติสังฆาทิเสส



อนาบัติ
  1. ภิกขุสร้างถ้ำ 
  2. ภิกขุสร้างคูหา
  3. ภิกขุสร้างกุฎีหญ้า
  4. ภิกขุสร้างวิหารเพื่อภิกขุอื่น
  5. เว้นอาคารเป็นที่อยู่เสีย ภิกขุสร้างนอกจากนั้น ไม่ต้องอาบัติ 
  6. ภิกขุวิกลจริต 
  7. ภิกขุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติ
***

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 7 ห้ามสร้างวิหารใหญ่โดยสงฆ์มิได้กำหนดที่

7. มหลฺลกํ ปน ภิกฺขุนา วิหารํ การยมาเนน สสฺสามิกํ อตฺตุทฺเทสํ ภิกฺขู อภิเนตพฺพา วตฺถุเทสนาย เตหิ ภิกฺขูหิ วตฺถุํ เทเสตพฺพํ อนารมฺภํ สปริกฺกมนํ สารมฺเภ เจ ภิกฺขุ วตฺถุสฺมึ อปริกฺกมเน มหลฺลกํ วิหารํ กาเรยฺย ภิกฺขู วา อนภิเนยฺย วตฺถุเทสนาย สงฺฆาทิเสโส.

"อนึ่ง ภิกษุจะให้สร้างวิหารใหญ่ อันมีเจ้าของเฉพาะตนเอง พึงนำ ภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ หากภิกษุให้สร้างวิหารใหญ่ ในที่อันมีผู้จองไว้ อันหาชานรอบมิได้ หรือไม่นำภิกษุ ทั้งหลายไป เพื่อแสดงที่ เป็นสังฆาทิเสส"

ต้นบัญญัติ

เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี. ครั้งนั้น คฤหบดีผู้เป็นอุปฐาก (บำรุง) พระฉันนะ ขอให้พระฉันนะแสดงที่ให้ ตนจะสร้างวิหารถวาย. พระฉันนะให้ปราบพื้นที่ ให้ตัดต้นไม้ที่ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นการก่อความสะเทือนใจ มนุษย์ทั้งหลายจึงพากันติเตียน ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงติ และทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะให้ทำวิหารใหญ่อันมีเจ้าของ เฉพาะตนเอง พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่. ภิกษุเหล่านั้น พึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ หากภิกษุให้ทำวิหารใหญ่ในที่มีผู้จองไว้ หาชานรอบมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปแสดงที่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส. 

วิภังค์

วิหารที่ชื่อว่า ใหญ่ ท่านว่ามีเจ้าของ 

ที่ชื่อว่า วิหาร ได้แก่ที่อยู่ ซึ่งโบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายในก็ตาม ซึ่งโบกฉาบปูนไว้ เฉพาะภายนอกก็ตาม ซึ่งโบกฉาบปูนไว้ทั้งภายในทั้งภายนอกก็ตาม 

บทว่า ให้สร้าง คือ ทำเองก็ตาม ใช้ให้เขาทำก็ตาม 

บทว่า อันมีเจ้าของ คือ มีใคร ใครคนอื่น ที่เป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม เป็นเจ้าของ 

บทว่า เฉพาะตนเอง คือ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

***

สิกขาบทที่ 8 ห้ามโจทอาบัติปาราชิกไม่มีมูล


8. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุํ ทุฏฺโฐ โทโส อปฺปตีโต อมูลเกน ปาราชิเกน ธมฺเมน อนุทฺธํเสยฺย, อปฺเปวนาม นํ อิมมฺหา พฺรหฺมจริยา จาเวยฺยนฺติ ตโต อปเรน สมเยน สมนุคฺคาหิยมาโน วา อสมนุคฺคาหิยมาโน วา อมูลกญฺเจว ตํ อธิกรณํ โหติ ภิกฺขุ จ โทสํ ปติฏฺฐาติ สงฺฆาทิเสโส.

“อนึ่ง ภิกขุใด ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ตามกำจัด ซึ่งภิกขุด้วยธัมม์มีโทษถึงปาราชิก อันหามูลมิได้ ด้วยหมายว่า แม้ไฉนเราจะยังเธอให้เคลื่อนจากพรหมจริยานี้ได้ ครั้งสมัยอื่นแต่นั้นอันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้นเป็นเรื่องหามูลมิได้ แลภิกขุยันอิงโทสะอยู่ เป็นสังฆาทิเสส.”

ต้นบัญญัติ

เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ 
สมัยนั้น พระทัพพมัลลบุตร (ผู้เป็นบุตรแห่งมัลลกษัตริย์) ได้บรรลุพระอรหัตตผลตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ
ไม่มีกิจอื่นที่จะต้องทำอีก
ต่อมาท่านปรารถนาจะทำประโยชน์แก่คณะสงฆ์ 
โดยเป็นผู้จัดเสนาสนะ (เสนาสนคาหาปกะ มีหน้าที่จัดที่พักให้พระที่เดินทางมา) 
และเป็นผู้แจกภัตต์ (ภัตตุทเทสกะ มีหน้าที่จัดภิกษุไปฉันในที่นิมนต์ ในเมื่อทายกมาขอพระต่อสงฆ์)
จึงกราบทูลความดำริของท่านแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคประทานสาธุการ และทรงแสดงความเห็นชอบด้วยที่จะให้ท่านทัพพมัลลบุตรทำหน้าที่ทั้งสองนั้น

จึงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ 
ให้สงฆ์เชิญพระทัพพะก่อน
แล้วให้ภิกษุรูปหนึ่งสวดประกาศขอความเห็นชอบในการสมมติ 
พระทัพพมัลลบุตรเป็นผู้แจกเสนาสนะ และแจกภัตต์ 
เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงเป็นอันสงฆ์ได้สมมติ (หรือแต่งตั้ง) แล้ว

พระทัพพมัลลบุตรทำหน้าที่มาด้วยดี 
ครั้งหนึ่งถูกภิกษุพวกพระเมตติยะ 
และภุมมชกะ (สองรูปนี้เป็นหัวหน้าของกลุ่มภิกษุผู้มักก่อเรื่องเสียหาย)
เข้าใจผิดหาว่าท่านไปแนะนำคฤหบดีผู้หนึ่ง 
มิให้ถวายอาหารดี ๆ แก่พวกตน ซึ่งความจริงคฤหบดีผู้นั้น ไม่เลื่อมใส และรังเกียจด้วยตนเอง
จึงใช้นางเมตติยาภิกษุณีให้เป็นโจทก์ฟ้องพระทัพพมัลลบุตร 
ในข้อหาต้องอาบัติปาราชิกเพราะข่มขืนนาง

พระพุทธเจ้าทรงประชุมสงฆ์ ไต่สวน 
ได้ความว่าเป็นการแกล้งใส่ความ จึงให้สึกนางเมตติยาภิกษุณี
พวกภิกษุผู้ใช้ออกรับสารภาพแทน ก็ไม่ทรงผ่อนผัน 
กลับทรงเรียกประชุมสงฆ์ ติเตียนหมู่ภิกษุผู้คิดร้าย 
ใส่ความฟ้องพระทัพพมัลลบุตร ด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล
แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติสังฆาทิเสส แก่ภิกษุผู้ประพฤติเช่นนั้น

อนาบัติ
  1. ภิกขุจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ภิกขุโจทมีความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์
  2. ภิกขุจำเลยเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ภิกขุโจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ 
  3. ภิกขุวิกลจริต 
  4. ภิกขุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติ

องค์แห่งอาบัติ 
  1. โจทเอง หรือให้ผู้อื่นโจทซึ่งผู้ใด ผู้นั้นถึงซึ่งนับว่าเป็นอุปสัมบัน
  2. สำคัญว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ 
  3. โจทด้วยปาราชิกใด ปาราชิกนั้นไม่มีมูลด้วยความเห็นเป็นต้น
  4. โจทเองหรือให้ผู้อื่นโจทในที่ต่อหน้า 
  5. ด้วยอธิบายจะให้เคลื่อนจากพรหมจริยาผู้ต้องโจทในขณะนั้น 
พร้อมด้วยองค์ 5 ดังนี้ จึงเป็นสังฆาทิเสส (บุพพสิกขาฯ หน้า141)

***

สิกขาบทที่ 9 ห้ามอ้างเลสโจทอาบัติ


9. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขุํ ทุฏฺโฐ โทโส อปฺปตีโต อญฺญภาคิยสฺส อธิกรณสฺส กิญฺจิ เทสํ เลสมตฺตํ อุปาทาย ปาราชิเกน ธมฺเมน อนุทฺธํเสยฺย, อปฺเปวนาม นํ อิมมฺหา พฺรหฺมจริยา จาเวยฺยนฺติ, ตโต อปเรน สมเยน สมนุคฺคาหิยมาโน วา อสมนุคฺคาหิยมาโน วา อญฺญภาคิยญฺเจว ตํ อธิกรณํ โหติ, โกจิ เทโส เลสมตฺโต อุปาทินฺโน ภิกฺขุ จ โทสํ ปติฏฺฐาติ สงฺฆาทิเสโส.

“อนึ่ง ภิกขุใด ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ถือเอาเอกเทศบางแห่ง แห่งอธิกรณ์อันเป็นเรื่องอื่น ให้เป็นเพียงเลศ ตามกำจัดซึ่งภิกขุ ด้วยธัมม์อันมีโทษถึงปาราชิก ด้วยหมายว่า แม้ไฉนเราจักยังเธอให้เคลื่อนจากพรหมจริยานี้ได้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้นอันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้นเป็นเรื่องอื่นแท้ เอกเทศบางแห่ง เธอถือเอาพอเป็นเลศแลภิกขุ ยันอิงโทสะอยู่ เป็นสังฆาทิเสส.”

ต้นบัญญัติ

เล่าเรื่องภิกษุ พวกพระเมตติยะ และภุมมชกะชุดเดิม
แกล้งหาเลส โจทพระทัพพมัลลบุรด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล
คือเห็นแพะตัวผู้เป็นสัดด้วยแพะตัวเมีย
ก็นัดกันตั้งชื่อแพะตัวผู้ว่า พระทัพพมัลลบุตร
ตั้งชื่อแพะตัวเมียว่า เมตติยาภิกษุณี
แล้วเที่ยวพูดว่า ตนได้เห็นพระทัพพมัลลบุตรได้เสียกับนางเมตติยาภิกษุณีด้วยตาตนเอง.

ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์
ทรงไต่สวนพระทัพพมัลลบุตร ได้ความว่าเป็นการอ้างเลส ใส่ความ
จึงมอบให้สงฆ์จัดการไต่สวนภิกษุพวกที่อ้างเลสใส่ความ
เมื่อพวกเธอรับเป็นสัตย์จึงทรงติเตียน แล้วบัญญัติสิกขาบท
ห้ามอ้างเลสใส่ความภิกษุด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ทรงปรับอาบัติสังฆาทิเสสแก่ผู้ล่วงละเมิด.

อนาบัติ

  1. ภิกขุผู้สำคัญเป็นอย่างนั้นโจทเองก็ดี สั่งให้ผู้อื่นโจทก็ดี
  2. ภิกขุวิกลจริต
  3. ภิกขุอาทิกัมมิกะไม่ต้องอาบัติ

ตั้งแต่สิกขาบทที่ 1 ถึงที่ 9 เรียกว่าปฐมาปัตติกะ คือต้องอาบัติตั้งแต่ลงมือทำครั้งแรก
ส่วนสิกขาบทที่ 10 ถึง 13 เรียกยาวตติยกะ สงฆ์ต้องสวดประกาศครบ ๓ ครั้ง ขืนดื้อดึงจึงต้องอาบัติ

เลศ คือ ข้ออ้าง,เรื่องเล็กๆน้อยๆ,เลศนัย กิริยาอาการที่จะยกขึ้นเป็นข้ออ้างใส่ความได้
(พระไตรปิฎก มจร.1/431/391)
***

สิกขาบทที่ 10 ห้ามทำสงฆ์ให้แตกกัน


10. โย ปน ภิกฺขุ สมคฺคสฺส สงฺฆสฺส เภทาย ปรกฺกเมยฺย, เภทนสํวตฺตนิกํ วา อธิกรณํ สมาทาย ปคฺคยฺห ติฏฺเฐยฺย, โส ภิกฺขุ ภิกฺขูหิ เอวมสฺส วจนีโย มา อายสฺมา สมคฺคสฺส สงฺฆสฺส เภทาย ปรกฺกมิ เภทนสํวตฺตนิกํ วา อธิกรณํ สมาทาย ปคฺคยฺห อฏฺฐาสิ, สเมตายสฺมา สงฺเฆน สมคฺโค หิ สงฺโฆ สมฺโมทมาโน อวิวทมาโน เอกุทฺเทโส ผาสุ วิหรตีติ. เอวญฺจ โส ภิกฺขุ ภิกฺขูหิ วุจฺจมาโน ตเถว ปคฺคเณฺหยฺย โส ภิกฺขุ ภิกฺขูหิ ยาวตติยํ สมนุภาสิตพฺโพ ตสฺส ปฏินิสฺสคฺคาย. ยาวตติยญฺเจ สมนุภาสิยมาโน ตํ ปฏินิสฺสชฺเชยฺย อิจฺเจตํ กุสลํ โน เจ ปฏินิสฺสชฺเชยฺย สงฺฆาทิเสโส.

“อนึ่ง ภิกขุใด ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงหรือถือเอาอธิกรณ์อันเป็นเหตุแตกกัน ยกย่องยันอยู่ ภิกขุนั้นอันภิกขุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง หรืออย่าได้ถือเอาอธิกรณ์อันเป็นเหตุแตกกันยกย่องยันอยู่ ขอท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกันไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกันย่อมอยู่ผาสุก แลภิกขุนั้น อันภิกขุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกขุนั้น อันภิกขุทั้งหลาย พึงสวดสมนุภาสน์ กว่าจะครบสามจบเพื่อให้สละกัมม์นั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกัมม์นั้นเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส.”

ต้นบัญญัติ
เริ่มเรื่อง เล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนารามเช่นเคย
แล้วเล่าเรื่องพระเทวทัตเข้าไปหาพระโกกาลิกะ, พระกฏโมรกดิสสกะ,
พระที่เป็นบุตรของนางปัณฑเทวี และพระสมุทรทัตชักชวนให้ทำสงฆ์ให้แตกกัน
พร้อมทั้งบอกแผนการที่จะเสนอไปในทางเคร่งครัดยิ่งขึ้น 5 ข้อ ซึ่งเข้าใจว่าพระผู้มีพระภาคคงไม่ทรงอนุญาต
และตนจะได้นำข้อเสนอนั้นประกาศแก่มหาชน. ข้อเสนอ 5 ข้อ คือ

  1. ภิกษุพึงอยู่ป่าตลอดชีวิต เข้าละแวกบ้าน ต้องมีโทษ
  2. ภิกษุพึงถือบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต ผู้ใดรับนิมนต์ (ไปฉันตามบ้าน) ต้องมีโทษ
  3. ภิกษุพึงใช้ผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น คือผ้าหรือเศษผ้าที่เขาทิ้งตามกองขยะบ้าง ตามที่ต่าง ๆ บ้าง นำมาซักและปะติดปะต่อเป็นจีวร) จนตลอดชีวิต ผู้ใดรับคฤหบดีจีวร (ผ้าที่เขาถวาย) ต้องมีโทษ
  4. ภิกษุพึงอยู่โคนไม้จนตลอดชีวิต ผู้ใดเข้าสู่ที่มุง (ที่มีหลังคา) ต้องมีโทษ
  5. ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อสัตว์ ผู้ใดฉัน ต้องมีโทษ

ภิกษุเหล่านั้นเห็นมีทางชนะก็ร่วมด้วย
พระเทวทัตจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลข้อเสนอทั้งห้าข้อนั้น.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูก่อนเทวทัต ผู้ใดปรารถนาจะอยู่ป่าก็จงอยู่ป่า, ผู้ใดปรารถนาจะอยู่ละแวกบ้าน ก็จงอยู่ในละแวกบ้าน. ผู้ใดปรารถนาจะเที่ยวบิณฑบาตก็จงเที่ยวบิณฑบาต, ผู้ใดปรารถนาจะรับนิมนต์ ก็จงรับนิมนต์, ผู้ใดปรารถนาจะใช้ผ้าบังสุกกุล ก็จงใช้ผ้าบังสุกุล, ผู้ใดปรารถนาจะรับคฤหบดีจีวร 
(ผ้าที่เขาถวาย) ก็จงรับคฤหบดีจีวร, เราอนุญาตที่นอนที่นั่ง ณ โคนไม้ ตลอด ๘ เดือน (ที่มิใช่ฤดูฝน), เราอนุญาตเนื้อสัตว์ที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ 
(ว่าเขาฆ่าเพื่อเจาะจงจะให้ภิกษุบริโภค)
พระดำรัสตอบของพระพุทธเจ้าเป็นไปในทางสายกลาง ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป อนุโลมให้เหมาะสมกับกาลเทศะ
พระเทวทัตดีใจ จึงเที่ยวประกาศให้เห็นว่า
พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตข้อเสนอที่ดีของตน
ทำให้คนที่มีปัญญาทรามบางคนเห็นว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มักมาก.
แต่คนที่เข้าใจเรื่องดี กลับติเตียนพระเทวทัต
ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์
ทรงไต่สวนพระเทวทัต รับเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงติเตียน และบัญญัติสิกขาบท
ห้ามภิกษุพากเพียรทำสงฆ์ให้แตกกัน
เมื่อภิกษุอื่นห้ามปราม ไม่เชื่อฟัง ภิกษุทั้งหลายพึงสวดประกาศ (เป็นการสงฆ์)
เพื่อให้เธอเลิกเรื่องนั้นเสีย ถ้าสวดประกาศครบ 3 ครั้ง ยังไม่ละเลิก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

อนาบัติ
  1. ภิกขุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์ 
  2. ภิกขุผู้สละเสียได้ 
  3. ภิกขุวิกลจริต 
  4. ภิกขุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
สวดสมนุภาสน์ คือ สงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปสวดประกาศห้ามภิกขุไม่ให้ถือรั้นการอันมิชอบ
(พระไตรปิฎก 1/446/412)

ผ้าบังสุกุล หมายถึง ผ้าเปื้อนฝุ่น คือ ผ้าห่อศพ หรือเศษผ้าที่เขาทิ้งตามกองขยะบ้าง ตามที่ต่าง ๆ บ้าง นำมาซักและปะติดปะต่อเป็นจีวร
***

สิกขาบทที่ 11 ห้ามเป็นพรรคภวกของผู้ทำสงฆ์ให้แตกกัน


11. ตสฺเสว โข ปน ภิกฺขุสฺส ภิกฺขู โหนฺติ อนุวตฺตกา วคฺควาทกา เอโก วา เทฺว วา ตโย วา เต เอวํ วเทยฺยุํ มา อายสฺมนฺโต เอตํ ภิกฺขุํ กิญฺจิ อวจุตฺถ ธมฺมวาที เจโส ภิกฺขุ วินยวาที เจโส ภิกฺขุ อมฺหากญฺเจโส ภิกฺขุ ฉนฺทญฺจ รุจิญฺจ อาทาย โวหรติ ชานาติ โน ภาสติ อมฺหากมฺเปตํ ขมตีติ. เต ภิกฺขู ภิกฺขูหิ เอวมสฺสุ วจนียา มา อายสฺมนฺโต เอวํ อวจุตฺถ น เจโส ภิกฺขุ ธมฺมวาที น เจโส ภิกฺขุ วินยวาที มา อายสฺมนฺตานมฺปิ สงฺฆเภโท รุจฺจิตฺถ สเมตายสฺมนฺตานํ สงฺเฆน สมคฺโค หิ สงฺโฆ สมฺโมทมาโน อวิวทมาโน เอกุทฺเทโส ผาสุ วิหรตีติ. เอวญฺจ เต ภิกฺขู ภิกฺขูหิ วุจฺจมานา ตเถว ปคฺคเณฺหยฺยุํ เต ภิกฺขู ภิกฺขูหิ ยาว ตติยํ สมนุภาสิตพฺพา ตสฺส ปฏินิสฺสคฺคาย. ยาวตติยญฺเจ สมนุภาสิยมานา ตํ ปฏินิสฺสชฺเชยฺยุํ อิจฺเจตํ กุสลํ โน เจ ปฏินิสฺสชฺเชยฺยุํ สงฺฆาทิเสโส.

“อนึ่ง มีภิกขุผู้ประพฤติตาม ผู้พูดเข้ากันของภิกขุนั้นแล 1 รูปบ้าง 2 รูปบ้าง 3 รูปบ้าง เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า ขอท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวคำอะไร ๆ ต่อภิกขุนั้น ภิกขุนั้นกล่าวถูกธัมม์ด้วย ภิกขุนั้นกล่าวถูกวินัยด้วย ภิกขุนั้นถือเอาความพอใจและความชอบใจของพวกข้าพเจ้ากล่าวด้วย เธอทราบความพอใจและความชอบใจของพวกข้าพเจ้าจึงกล่าว คำที่เธอกล่าวนั่นย่อมควรแม้แก่พวกข้าพเจ้า

ภิกขุเหล่านั้น อันภิกขุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกขุนั่นหาใช่ผู้กล่าวถูกธัมม์ไม่ด้วย ภิกขุนั่นหาใช่ผู้กล่าวถูกวินัยไม่ด้วย ความทำลายสงฆ์อย่าได้ชอบแม้แก่พวกท่าน ขอพวกท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกันไม่ได้วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน ย่อมอยู่ผาสุก แลภิกขุเหล่านั้น อันภิกขุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกขุเหล่านั้น อันภิกขุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกัมม์นั้นเสีย หากเธอทั้งหลายถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกัมม์นั้นเสีย สละได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอทั้งหลายไม่สละเสียเป็นสังฆาทิเสส.”

ต้นบัญญัติ
เนื่องมาจากสิกขาบทที่ 10 คือภิกษุโกกาลิกะ เป็นต้น
สนับสนุนพระเทวทัต ว่าไม่ควรติเตียนพระเทวทัต พูดเป็นธรรม เป็นวินัย ต้องด้วยความพอใจของตน
ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนภิกษุพวกที่สนับสนุน ภิกษุผู้พากเพียรทำสงฆ์ให้แตกกันนั้น
ความทราบถึงพระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ได้ความจริงแล้ว จึงทรงติเตียน
และทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามสนับสนุนภิกษุผู้พากเพียรทำสงฆ์ให้แตกกัน
ถ้าห้ามไม่ฟัง ให้ภิกษุทั้งหลายสวดประกาศตักเตือน (เป็นการสงฆ์) ถ้าครบ 3 ครั้ง
ยังไม่ละเลิก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

อนาบัติ
  1. ภิกขุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์ 
  2. ภิกขุผู้สละเสียได้ 
  3. ภิกขุวิกลจริต 
  4. ภิกขุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน 
  5. ภิกขุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา 
  6. ภิกขุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติ
***

สิกขาบทที่ ๑๒ ห้ามเป็นคนว่ายากสอนยาก


12. ภิกฺขุ ปเนว ทุพฺพจชาติโก โหติ อุทฺเทสปริยาปนฺเนสุ สิกฺขาปเทสุ ภิกฺขูหิ สหธมฺมิกํ วุจฺจมาโน อตฺตานํ อวจนียํ กโรติ, มา มํ อายสฺมนฺโต กิญฺจิ อวจุตฺถ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา อหมฺปายสฺมนฺเต น กิญฺจิ วกฺขามิ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา วิรมถายสฺมนฺโต มม วจนายาติ. โส ภิกฺขุ ภิกฺขูหิ เอวมสฺส วจนีโย, มา อายสฺมา อตฺตานํ อวจนียํ อกาสิ วจนียเมว อายสฺมา อตฺตานํ กโรตุ, อายสฺมาปิ ภิกฺขู วเทตุ สหธมฺเมน ภิกฺขูปิ อายสฺมนฺตํ วกฺขนฺติ, สหธมฺเมน เอวํ สํวฑฺฒา หิ ตสฺส ภควโต ปริสา, ยทิทํ อญฺญมญฺญวจเนน อญฺญมญฺญวุฏฺฐาปเนนาติ. เอวญฺจ โส ภิกฺขุ ภิกฺขูหิ วุจฺจมาโน ตเถว ปคฺคเณฺหยฺย, โส ภิกฺขุ ภิกฺขูหิ ยาวตติยํ สมนุภาสิตพฺโพ ตสฺส ปฏินิสฺสคฺคาย ยาวตติยญฺเจ สมนุภาสิยมาโน ตํ ปฏินิสฺสชฺเชยฺย, อิจฺเจตํ กุสลํ โน เจ ปฏินิสฺสชฺเชยฺย สงฺฆาทิเสโส.

“อนึ่งภิกขุเป็นผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายาก อันภิกขุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ 
ถูกทางธัมม์ ในสิกขาบททั้งหลายอันเนื่องในอุเทศทำตนให้เป็นผู้อันใคร ๆ ว่ากล่าวไม่ได้ 
ด้วยกล่าวโต้ว่า พวกท่านอย่าได้กล่าวอะไรต่อเรา 
เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม 
แม้เราก็จักไม่กล่าวอะไร ๆ ต่อพวกท่านเหมือนกัน 
เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม
ขอพวกท่านจงเว้นจากการว่ากล่าวเราเสีย 
ภิกขุนั้นอันภิกขุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า 
ท่านอย่าได้ทำตนให้เป็นผู้อันใคร ๆ ว่ากล่าวไม่ได้ 
ขอท่านจงทำตนให้เขาว่ากล่าวได้แล 
แม้ท่านก็จงว่ากล่าวภิกขุทั้งหลายโดยชอบธัมม์ 
แม้ภิกขุทั้งหลายก็จักว่ากล่าว ท่านโดยชอบธัมม์ 
เพราะว่าบริษัทของพระผู้มีพระภาคนั้น 
เจริญแล้วด้วยอาการอย่างนี้ 
คือด้วยว่ากล่าวซึ่งกันและกัน 
ด้วยเตือนกันและกันให้ออกจากอาบัติ 
แลภิกขุนั้นอันภิกขุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ 
ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว 
ภิกขุนั้น อันภิกขุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบเพื่อให้สละกัมม์นั้นเสีย 
หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกัมม์นั้นเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี 
หากเธอไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส.”

ต้นบัญญัติ
เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี
สมัยนั้น พระฉันนะ ประพฤติอนาจาร (ความประพฤติอันไม่สมควร)
ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าว กลับว่าติเตียน
ภิกษุทั้งหลายจึงพากันติเตียน ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค
ทรงเรียกประชุมสงฆ์ ไต่สวนได้ความเป็นสัตย์แล้ว
จึงทรงติเตียนและทรงบัญญัติสิกขาบท
ห้ามทำตนเป็นผู้ว่ายาก
ถ้าไม่เชื่อฟัง ภิกษุทั้งหลายสวดประกาศตักเตือน (เป็นการสงฆ์)
ถ้าครบ 3 ครั้ง ยังไม่ละเลิก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

พระฉันนะรูปนี้ เคยตามเสด็จเมื่อคราวทรงผนวช จึงตัวว่าเป็นคนสำคัญ ไม่ยอมให้ใครว่ากล่าว กลายเป็นคนดื้อว่ายาก ใครปราบไม่ลง พระพุทธเจ้าทรงสั่งให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ คือ อย่าให้ใครว่ากล่าวตักเตือนหรือพูดจาด้วย จึงกลับตัวได้ในที่สุด


อนาบัติ
  1. ภิกษะผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์ 
  2. ภิกขุผู้สละเสียได้ 
  3. ภิกขุวิกลจริต 
  4. ภิกขุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติ
***

สิกขาบทที่ ๑๓ ห้ามประทุษร้ายสกุล คือประจบคฤหัสถ์


13. ภิกฺขุ ปเนว อญฺญตรํ คามํ วา นิคมํ วา อุปนิสฺสาย วิหรติ กุลทูสโก ปาปสมาจาโร. ตสฺส โข ปาปกา สมาจารา ทิสฺสนฺติ เจว  สุยฺยนฺติ จ กุลานิ จ เตน ทุฏฺฐานิ ทิสฺสนฺติ เจว สุยฺยนฺติ จ. โส ภิกฺขุ ภิกฺขูหิ เอวมสฺส วจนีโย, อายสฺมา โข กุลทูสโก ปาปสมาจาโร อายสฺมโต โข ปาปกา สมาจารา ทิสฺสนฺติ เจว สุยฺยนฺติ จ กุลานิ จายสฺมตา ทุฏฺฐานิ ทิสฺสนฺติ เจว สุยฺยนฺติ จ, ปกฺกมตายสฺมา อิมมฺหา อาวาสา, อลนฺเต อิธ วาเสนาติ. เอวญฺจ โส ภิกฺขุ ภิกฺขูหิ วุจฺจมาโน เต ภิกฺขู เอวํ วเทยฺย, ฉนฺทคามิโน จ ภิกฺขู โทสคามิโน จ ภิกฺขู โมหคามิโน จ ภิกฺขู ภยคามิโน จ ภิกฺขู, ตาทิสิกาย อาปตฺติยา เอกจฺจํ ปพฺพาเชนฺติ เอกจฺจํ น ปพฺพาเชนฺตีติ. โส ภิกฺขุ ภิกฺขูหิ เอวมสฺส วจนีโย, มา อายสฺมา เอวํ อวจ, น จ ภิกฺขู ฉนฺทคามิโน น จ ภิกฺขู โทสคามิโน น จ ภิกฺขู โมหคามิโน น จ ภิกฺขู ภยคามิโน, อายสฺมา โข กุลทูสโก ปาปสมาจาโร, อายสฺมโต โข ปาปกา สมาจารา ทิสฺสนฺติ เจว สุยฺยนฺติ จ กุลานิ จายสฺมตา ทุฏฺฐานิ ทิสฺสนฺติ เจว สุยฺยนฺติ จ, ปกฺกมตายสฺมา อิมมฺหา อาวาสา, อลนฺเต อิธ วาเสนาติ. เอวญฺจ โส ภิกฺขุ ภิกฺขูหิ วุจฺจมาโน ตเถว ปคฺคเณฺหยฺย, โส ภิกฺขุ ภิกฺขูหิ ยาวตติยํ สมนุภาสิตพฺโพ ตสฺส ปฏินิสฺสคฺคาย. ยาวตติยญฺเจ สมนุภาสิยมาโน ตํ ปฏินิสฺสชฺเชยฺย, อิจฺเจตํ กุสลํ, โน เจ ปฏินิสฺสชฺเชยฺย สงฺฆาทิเสโส.

“อนึ่ง ภิกขุเข้าไปอาศัยบ้านก็ดี นิคมก็ดี แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่
เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม 
ความประพฤติเลวทรามของเธอ 
เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย
และสกุลทั้งหลายอันเธอประทุษร้ายแล้ว 
เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย 
ภิกขุนั้นอันภิกขุทั้งหลาย พึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า 
ท่านเป็นผู้ทุษร้ายสกุล 
มีความประพฤติเลวทราม 
ความประพฤติเลวทรามของท่าน
เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย 
และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว 
เขาได้เห็นอยู่แล้ว เขาได้ยินอยู่ด้วย 
ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ 
และภิกขุนั้นอันภิกขุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ 
พึงกล่าวกับภิกขุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า 
พวกภิกขุถึงความพอใจด้วย 
ถึงความขัดเคืองด้วย ถึงความหลงด้วย ถึงความกลัวด้วย 
ย่อมขับภิกขุบางรูป ย่อมไม่ขับภิกขุบางรูป เพราะอาบัติเช่นเดียวกัน 
ภิกขุนั้น อันภิกขุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า 
ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้นภิกขุทั้งหลาย 
หาได้ถึงความพอใจไม่ หาได้ถึงความขัดเคืองไม่ หาได้ถึงความหลงไม่ หาได้ถึงความกลัวไม่ 
ท่านเองแลเป็นผู้ประทุษร้ายสกุล 
มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน 
เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย
และสกุลทั้งหลาย อันท่านประทุษร้ายแล้ว 
เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย 
ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ 
และภิกขุนั้น อันภิกขุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว
ภิกขุนั้น อันภิกขุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ 
เพื่อให้สละกัมม์นั้นเสียหากเธอถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ 
สละกัมม์นั้นเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี 
หากเธอไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส.”

ต้นบัญญัติ
เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี.
ครั้งนั้น ภิกษุเลว ๆ ที่ชื่อว่าเป็นพวกพระธัสสชิและพระปุนีมสุกะ
เป็นพระเจ้าถิ่นอยู่ในชนบท ชื่อว่ากิฏาคิริ เป็นพระอลัชชี

มีภิกษุรูปหนึ่ง จำพรรษาในแคว้นกาสี ผ่านมาพัก ณ ชนบทนั้น
เพื่อจะเดินทางไปกรุงสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ภิกษุนั้นเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านด้วยอาการสำรวม
แต่มนุษย์ทั้งหลายไม่ชอบ เพราะไม่แสดงอาการประจบประแจง
เหมือนภิกษุพวกพระพระธัสสชิและพระปุนีมสุกะ จึงไม่ถวายอาหาร
แต่อุบาสกผู้หนึ่ง (เป็นผู้เข้าใจพระธรรมวินัยถูกต้อง) เห็นเข้า
จึงนิมนต์ภิกษุรูปนั้นไปฉันที่บ้านของตน
สั่งความให้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า
ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ ประพฤติตนไม่สมควรต่าง ๆ

ความทราบถึงพระพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า

“ดูก่อนภิกขุทั้งหลาย การกระทำของภิกขุโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่นไม่เหมาะ 
ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ.

ดูก่อนภิกขุทั้งหลาย ไฉนภิกขุโมฆบุรุษเหล่านั้น จึงได้ประพฤติอนาจารเห็นปานนี้ คือ ปลูกต้นไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยกรองดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นร้อยกรองบ้าง ทำมาลัยต่อก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำมาลัยเรียงก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้ช่อเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พุ่มเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้เทริดเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พวงเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้แผงสำหรับประดับอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง

พวกเธอนำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งมาลัยต่อก้าน นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งมาลัยเรียงก้าน นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้ช่อ นำไปเองบ้างใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้พุ่มนำไปเองบ้างใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้เทริด นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้พวง นำไปเองบ้างใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้แผง สำหรับประดับอก เพื่อกุลสตรี เพื่อกุลธิดา เพื่อกุลกุมารี เพื่อสะใภ้แห่งสกุล เพื่อกุลทาสี

พวกเธอฉันอาหารในภาชนะอันเดียวกันบ้าง ดื่มน้ำในขันใบเดียวกันบ้าง นั่งบนอาสนะอันเดียวกันบ้าง นอนบนเตียงอันเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดอันเดียวกันบ้าง นอนคลุมผ้าห่มผืนเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาด และคลุมผ้าห่มร่วมกันบ้าง กับกุลสตรี กุลธิดา กุลกุมารี สะใภ้แห่งสกุล กับกุลทาสี

ฉันอาหารในเวลาวิกาลบ้าง ดื่นน้ำเมาบ้าง ทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้บ้าง ฟ้อนรำบ้าง ขับร้องบ้าง ประโคมบ้าง เต้นรำบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ขับร้องกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ประโคมกับหญิงฟ้อนรำบ้าง เต้นรำกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงขับร้องบ้าง ขับร้องกับหญิงขับร้องบ้าง ประโคมกับหญิงขับร้องบ้าง เต้นรำกับหญิงขับร้องบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงประโคมบ้าง ขับร้องกับหญิงประโคมบ้าง ประโคมกับหญิงประโคมบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงเต้นรำบ้าง ขับร้องกับหญิงเต้นรำบ้าง ประโคมกับหญิงเต้นรำบ้าง เต้นรำกับหญิงเต้นรำบ้าง เล่นหมากรุกแถวละแปดตาบ้าง เล่นหมากรุกแถวละสิบตาบ้าง เล่นหมากเก็บบ้าง เล่นชิงนางบ้าง เล่นหมากไหวบ้าง เล่นโยนห่วงบ้าง เล่นไม้หึ่งบ้าง เล่นฟาดให้เป็นรูปต่าง ๆ บ้าง เล่นสะกาบ้าง เล่นเป่าใบไม้บ้าง เล่นไถน้อย ๆบ้าง เล่นหกคะเมนบ้าง เล่นไม้กังหันบ้าง เล่นเขียนทายบ้าง เล่นทายใจบ้าง เล่นเลียนคนพิการบ้าง หัดขี่ช้างบ้าง หัดขี่ม้าบ้าง หัดขี่รถบ้าง หัดยิงธนูบ้าง หัดเพลงอาวุธบ้าง วิ่งผลัดช้างบ้าง วิ่งผลัดม้าบ้าง วิ่งผลัดรถบ้าง วิ่งขับกันบ้าง วิ่งเปรี้ยวกันบ้าง ผิวปากบ้าง ปรบมือบ้าง ปล้ำกันบ้าง ชกมวยกันบ้าง ปูลาดผ้าสังฆาฏิ ณ กลางสถานเต้นรำ แล้วพูดกับหญิงฟ้อนรำอย่างนี้ว่า น้องหญิงเธอจงฟ้อนรำ ณ ที่นี้ดังนี้บ้าง ให้การคำนับบ้าง ประพฤติอนาจารมีอย่างต่างๆบ้างเล่า.”

ทรงรับสั่งให้พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พาหมู่ภิกขุไปทำปัพพาชนียกัมม์ (การลงโทษโดยสงฆ์ให้ประพฤติวัตร และไล่ให้ออกจากที่นั้น) แก่พวกภิกขุหมู่นั้น (ซึ่งเป็นสัทธิวิหารริกของพระอัครสาวกทั้งสอง)

แต่ภิกขุพวกนั้นสงฆ์ทำปัพพาชนียกัมม์แล้ว ยังไม่ประพฤติชอบหายเย่อหยิ่ง ไม่ประพฤติกลับตัว ไม่ขอขมาภิกขุทั้งหลาย ยังด่าว่าการกสงฆ์ (สงฆ์ผู้ดำเนินการในกิจตามพระธัมม์วินัย) เที่ยวใส่ความว่าการกสงฆ์ลำเอียงปริวารของภิกขุนั้นบางพวกหลีกไปเสียก็มี บางพวกสึกเสียก็มี.

แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท มีใจความว่า
ภิกษุประทุษร้ายสกุล (ประจบคฤหัสถ์ ทอดตนลงให้เขาใช้)
มีความประพฤติเลวทราม เป็นที่รู้เห็นทั่วไป
ภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวและขับเสียจากที่นั้น
ถ้าเธอกลับว่าติเตียน ภิกษุทั้งหลายพึงสวดประกาศ (เป็นการสงฆ์) ให้เธอละเลิก
ถ้าสวดครบ ๓ ครั้ง ยังดื้อดึง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

วิภังค์

ที่ชื่อว่า สกุล หมายสกุล 4 คือ สกุลกษัตริย์ สกุลพราหมณ์ สกุลแพศย์ สกุลศูทร

บทว่า เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล คือ ประจบสกุลด้วยดอกไม้ก็ดี 
ผลไม้ก็ดี แป้งก็ดี ดินก็ดี ไม้สีฟันก็ดี ไม้ไผ่ก็ดี การแพทย์ก็ดี การสื่อสารก็ดี

บทว่า มีความประพฤติเลวทราม คือ ปลูกไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง 
รดน้ำเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นเก็บบ้าง 
ร้อยกรองดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นร้อยกรองบ้าง

อนาบัติ
  1. ภิกขุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์ 
  2. ภิกขุผู้เสียสละได้ 
  3. ภิกขุวิกลจริต 
  4. ภิกขุมีจิตฟุ้งซ่าน 
  5. ภิกขุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา 
  6. ภิกขุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติ

จบอาบัติสังฆาทิเสส


1 ความคิดเห็น:

  1. อยากทราบว่าในอาบัติสังฆาทิเสสสิกขาบทใดมีโทษมากที่สุด?..เพราะเหตุใด?

    ตอบลบ