วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พระวินัย เสขิยวัตร 75 ว่าด้วยวัตรและจรรยามารยาทที่ภิกษุจะต้องศึกษา

เสขิยวัตร 75 
ว่าด้วยวัตรและจรรยามารยาทที่ภิกษุจะต้องศึกษา


ต้นเหตุแห่งการบัญญัติสิกขาบททุกข้อทั้งเจ็ดสิบห้าข้อในเสขิยกัณฑ์นี้
เนื่องมาแต่ภิกษุฉัพพัคคีย์ (ภิกษุพวก 6) ทำความไม่ดีไม่งามไว้ทั้งสิ้น 
ในตัวสิกขาบทมิได้ปรับอาบัติไว้ เพียงแต่กล่าวว่า ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า 
เราจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในคำอธิบายท้ายสิกขาบทระบุว่า ถ้าทำเข้าต้องอาบัติทุกกฏ (ซึ่งแปลว่าทำชั่ว) พร้อมทั้งแสดงลักษณะที่ไม่ต้องอาบัติไว้ด้วย ในที่นี้จะรวบรัดกล่าวเฉพาะตัวสิกขาบท ส่วนวัตถุประสงค์ที่บัญญัติสิกขาบทนั้น ตลอดจนคำอธิบายท้ายสิกขาบท ข้อใดควรกล่าวไว้ก็จะกล่าวไว้ในวงเล็บ 
อนึ่ง เมื่อจัดหมวดใหญ่ ๆ ไว้แล้ว ยังจัดวรรคไว้คาบเกี่ยวระหว่างหมวดใหญ่ ๆ อีกด้วย ในที่นี้จึงเลือกแสดงไว้แต่หมวดใหญ่เพื่อกันความฟั่นเฝือ 
การจัดวรรคอาจสะดวกในการสวดก็ได้ 
แต่ในปัจจุบันการสวดปาฏิโมกข์ของพระมิได้ระบุวรรคไว้ด้วย คงออกชื่อแต่หมวดใหญ่ ๆ

อิเม โข ปนายสฺมนฺโต (ปญฺจสตฺตติ) เสขิยา ธมฺมา อุทฺเทสํ อาคจฺฉนฺติ. ปริมณฺฑลวคฺโค

หมวดที่ 1 สารูป หมวดว่าด้วยความเหมาะสมแก่สมณเพศ 26 สิกขาบท


สารูปสิกขาบทที่ 1
ปะริมัณฑะลัง นิวาเสสสามีติ สิกขา กะระณียา.
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักนุ่งให้เป็นปริมณฑล
อันภิกษุนุ่งปิดมณฑลสะดือ มณฑลเข่า ชื่อว่านุ่งเป็นปริมณฑล ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ห่มผ้าเลื้อยหน้าหรือเลื้อยหลัง ต้องอาบัติทุกกฏ



สารูปสิกขาบทที่ 2
ปะริมัณฑะลัง ปารุปิสสามีติ สิกขา กะระณียา.
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักห่มให้เป็นปริมณฑล
อันภิกษุห่มทำมุมทั้งสองให้เสมอกัน ชื่อว่าห่มเป็นปริมณฑล

 

สารูปสิกขาบทที่ 3
สุปะฏิจฉันโน อันตะระฆะเร คะมิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักปกปิดกายด้วยดี ไปในบ้าน
(คือไม่เปิดกาย) 



สารูปสิกขาบทที่ 4
สุปะฏิจฉันโน อันตะระฆะเรา นิสีทิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักปกปิดกายด้วยดี นั่งในบ้าน



สารูปสิกขาบทที่ 5
สุสังวุโต อันตะระฆะเร คะมิสสามีติ สิกขา กะระณียา.
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักสำรวมด้วยดี ไปในบ้าน
ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อคะนองมือก็ดีคะนองเท้าก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ



สารูปสิกขาบทที่ 6
สุสังวุโต อันตะระฆะเร นิสีทิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักสำรวมด้วยดี นั่งในบ้าน



สารูปสิกขาบทที่ 7
โอกขิตตะจักขุ อันตะระฆะเร คะมิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีตาทอดลง ไปในบ้าน
อันภิกษุพึงมีนัยน์ตาทอดลง เดินไปในละแวกบ้าน พึงแลประมาณชั่วแอกหนึ่ง ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ไปในละแวกบ้าน พลางแลดูในที่นั้น ๆ ต้องอาบัติทุกกฏ



สารูปสิกขาบทที่ 8
โอกขิตตะจักขุ อันตะระฆะเร นิสีทิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีตาทอดลง นั่งในบ้าน



สารูปสิกขาบทที่ 9
นะ อุกขิตตะกายะ อันตะระฆะเร คิมิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เวิกผ้า ไปในบ้าน
อันภิกษุไม่พึงเดินเวิกผ้าไปในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อเวิกผ้าขึ้นข้างเดียวก็ดี ทั้งสองข้างก็ดี เดินไปในละแวกบ้าน ต้องอาบัติ ทุกกฏ



สารูปสิกขาบทที่ 10
นะ อุกขิตตะกายะ อันตะระฆะเร นิสีทิสสามิติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เวิกผ้า นั่งในบ้าน



อุชฺชคฺฆิกวคฺโค

สารูปสิกขาบทที่ 11
นะ อุชชัคฆิกายะ อันตะระฆะเร คิมิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่หัวเราะดัง ไปในบ้าน



สารูปสิกขาบทที่ 12
นะ อุชชัคฆิกายะ อันตะระฆะเร นิสีทิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่หัวเราะดัง นั่งในบ้าน



สารูปสิกขาบทที่ 13
อัปปะสัทโท อันตะระฆะเร คะมิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่พูดเสียงดัง ไปในบ้าน
อันภิกษุพึงมีเสียงเบาเดินไปในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อเดินส่งเสียงตะเบ็ง เสียงตะโกนไปในละแวกบ้าน ต้องอาบัติทุกกฏ



สารูปสิกขาบทที่ 14
อัปปะสัทโท อันตะระฆะเร นิสีทิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่พูดเสียงดัง นั่งในบ้าน



สารูปสิกขาบทที่ 15
นะ กายัปปะจาละกัง อันตะระฆะเร คะมิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่โคลงกาย ไปในบ้าน



สารูปสิกขาบทที่ 16
นะ กายัปปะจาละกัง อันตะระฆะเร นิสีทิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่โคลงกาย นั่งในบ้าน



สารูปสิกขาบทที่ 17
นะ พาหุปปะจาละกัง อันตะระฆะเร คะมิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ไกวแขน ไปในบ้าน
อันภิกษุไม่พึงเดินแกว่งแขนไปในละแวกบ้าน พึงประคองแขนเดินไป 
ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ เดินแกว่งแขนไปในละแวกบ้าน แสดงท่ากรีดกรายต้องอาบัติทุกกฏ



สารูปสิกขาบที่ 18
นะ พาหุปปะจาละกัง อันตะระฆะเร นิสีทิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ไกวแขน นั่งในบ้าน



สารูปสิกขาบทที่ 19
นะ สีสัปปะจาละกัง อันตะระฆะเร คิมิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่สั่นศีรษะ ไปในบ้าน



สารูปสิกขาบทที่ 20
นะ สีสัปะจาละกัง อันตะระฆะเร นิสีทิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่สั่นศีรษะ นั่งในบ้าน



ขมฺภกตวคโค

สารูปสิกขาบทที่ 21
นะ ขัมภะกะโต อันตะระฆะเร คะมิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอามือค้ำกาย ไปในบ้าน

สารูปสิกขาบทที่ 22
นะ ขัมภะกะโต อันตะระฆะเร นิสีทิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอามือค้ำกาย นั่งในบ้าน

สารูปสิกขาบทที่ 23
นะ ขัมภะกะโต อันตะระฆะเร คะมิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอาผ้าคลุมศีรษะ ไปในบ้าน

สารูปสิกขาบทที่ 24
นะ โอคุณฐิโต อันตะระฆะเร นิสีทิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอาผ้าคลุมศีรษะ นั่งในบ้าน

สารูปสิกขาบทที่ 25
นะ อุกกุฏิกายะ อันตะระฆะเร คะมิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เดินกระโหย่งเท้า ไปในบ้าน
อันภิกษุไม่พึงมีการกระโหย่งเท้าเดินไปในละแวกบ้าน 
ตัวอย่างเช่น มีแอ่งน้ำ ขี้หมา ระหว่างทางที่ท่านเดินไป จะเขย่งเท้าเดินย่องไปดูไม่งาม
ห้ามเฉพาะละแวกบ้าน ไม่ได้ห้ามในวัด

สารูปสิกขาบทที่ 26
นะ ปัลลัตถิกายะ อันตะระฆะเร นิสีทิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งรัดเข่า ในบ้าน


*******

ฉพฺพีสติ สารุปฺปา

หมวดที่ 2 โภชนปฏิสังยุต หมวดว่าด้วยการฉันอาหาร มี 30 สิกขาบท


โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 1
สักกัจจัง ปิณฑะปาตัง ปะฏิคคะเหสสามีติ กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเคารพ 
เคารพในที่นี้ หมายถึง ให้เกียรติแก่ผู้ที่ใส่บาตร ถวายภัตตาหาร ไม่แสดงท่าทีรังเกียจ ง่อนแง่น

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 2
ปัตตะสัญญี ปิณฑะปาตัง ปะฏิคคะเหสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักแลดูแต่ในบาตร รับบิณฑบาต
ขณะที่รับบาตร มองดูแต่ในบาตร ไม่ล่อกแล่ก หันรีหันขว้างไปมา

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 3
สะมะสูปกัง ปิณฑะปาตัง ปะฏิคคะเหสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณบาตพอสมส่วนกับแกง
จักรับบิณฑบาต มีสูปเสมอกัน 
ที่ชื่อว่า สูปะ มีสองชนิด คือ สูปะ ทำด้วยถั่วเขียว 1 สูปะ ทำด้วยถั่วเหลือง 1 ที่จับได้ด้วยมือ
ปัจจุบันไม่นิยมตักอาหารหวานคาวใส่บาตร นิยมใช้แกงถุงมัด เป็นถุงพลาสติกใส่หลาย ๆ อย่าง พระภิกษุรับจำนวนมาก เพื่อเลี้ยงดูบิดามารดา หรือเผื่อแผ่ไปยังศิษย์วัด หมาแมวที่ญาติโยมนำมาปล่อย รวมถึงผู้ยากไร้ที่เข้ามาขอข้าววัดกิน ขออย่าได้ตั้งจิตคิดร้ายท่าน หากเห็นพระภิกษุสงฆ์รับบิณฑบาตรจำนวนมาก ต้องคิดด้วยว่า ที่วัดเองก็มีภาระในการเลี้ยงดูสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งสัตว์ และคน
โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 4
สะมะติตติกัง ปิณฑะปาตัง ปะฏิคคะเหสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตพอสมเสมอขอบปากบาตร
ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ รับบิณฑบาตจนล้น ต้องอาบัติทุกกฏ
ข้อนี้จากสมัยพุทธกาลนิยมใส่ข้าว และแกงกับลงในบาตร ไม่เหมือนสมัยปัจจุบันที่ใช้ถุงพลาสติกมัดให้ป่อง ๆ พอง ๆ หรือใส่กล่องโฟม ฯลฯ แล้วรวมใส่ถุงหิ้วใหญ่ ๆ ใส่บาตร อย่างที่กล่าวไว้แล้วในโภชนปฏิสังยุติข้อที่ 3 ข้างต้น ขอโปรดจงอย่าคิดร้ายต่อท่าน เพื่อที่จะไม่ทำให้จิตใจของท่านตกต่ำเพราะการเพ่งโทษ จะเป็นเวร เป็นกรรมที่ไม่ดีต่อท่าน

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 5
สักกัจจัง ปิณฑะปาตัง ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตโดยเคารพ
ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ฉันบิณฑบาตโดยรังเกียจ ทำอาการดุจไม่อยากฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ข้อนี้พึงสังวรเอาไว้อย่างหนึ่งว่า ภิกษุใดที่มีอาการแพ้อาหารบางชนิด ฉันสิ่งใดไม่ได้ โปรดถาม เช่น ท่านแพ้อาหารทะเล หรือกินไก่ไม่ได้เพราะโรคเก๊าท์ ก็ควรงดเว้นสิ่งนั้นแก่ท่าน อย่าไปเชื่อคำที่ว่า ตักบาตรอย่าถามพระ จริง ๆ แล้วควรถามว่าท่านแพ้อาหารชนิดใด ทานสิ่งใดไม่ได้ ทานของท่านจะได้ไม่เสียเปล่า
โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 6
ปัตตะสัญญี ปิณฑะปาตัง ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักแลดูแต่ในบาตร ฉันบิณฑบาต
ขณะที่ฉันภัตตาหาร แลดูแต่ในภาชนะของตนเอง ไม่วอกแวก ล่อกแล่ก หันรีหันขวางไปมา

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 7
สะปะทานัง ปิณฑะปาตัง ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาต ไม่ขยุ้มแต่ยอดลงไป
อันภิกษุพึงฉันบิณฑบาตเกลี่ยให้เสมอ 
ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อฉันบิณฑบาตเจาะลงในที่นั้น ๆ ต้องอาบัติทุกกฏ

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 8
สะมะสูปะกัง ปิณฑะปาตัง ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง
อันภิกษุพึงฉันบิณฑบาตมีสูปะพอดีกัน 
ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อฉันแต่สูปะอย่างเดียว ต้องอาบัติทุกกฏ

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 9
นะ ถูปะโต โอมัททิต๎วา ปิณฑะปาตัง ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาต ไม่ขยุ้มแต่ยอดลงไป

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 10
นะ สูปัง วา พ๎ยัญชะนัง วา โอทะเนนะ ปะฏิจฉาเทสสามิ
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอาข้าวสุกปิดแกงและกับด้วยหวังจะได้มาก

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 11
นะ สูปัง วา โอทะนัง วา อะคิลาโน อัตตะโน อัตถายะ
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่เจ็บไข้ จักไม่ขอแกงหรือข้าวสุกเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 12
นะ อุชฌานะสัญญี ปะเรสัง ปัตตัง โอโลเกสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่มองดูบาตรของผู้อื่นด้วยคิดจะยกโทษ
อันภิกษุไม่พึงมุ่งหมายจะเพ่งโทษ แลดูบาตรของภิกษุอื่น
เพื่อไม่ให้เกิดความอิจฉา ริษยากัน
โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 13
นาติมะหันตัง กะวะฬัง กะริสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่เกินไป
ตักอาหารให้พอดีกับช้อน ไม่พูนช้อนจนเข้าปากไม่ได้ แล้วหกเลอะเทอะ

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 14
ปะริมัณฑะลัง อาโลปัง กะริสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักทำคำข้าวให้กลมกล่อม
อันภิกษุผู้ฉันอาหารพึงทำคำข้าวให้กลมกล่อม 
ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ทำคำข้าวใหญ่ ต้องอาบัติทุกกฏ
กลมกล่อมในที่นี้ หมายถึง ทำให้พอดี ไม่ใหญ่จนเกินไป ตักเข้าปากแล้วไม่หก เลอะเทอะ
โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 15
นะ อะนาหะเฏ กะวะเฬ มุขะทะวารัง วิวะริสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่อ้าปากในเมื่อคำข้าวยังไม่มาถึง

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 16
นะ ภุญชะมาโน สัพพัง หัตถัง มุเข ปักขิปิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอามือทั้งมือใส่ปากในขณะฉัน
อันภิกษุกำลังฉันอาหารอยู่ ไม่พึงสอดนิ้วมือทั้งหมดเข้าในปาก

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 17
นะ สะกะวาเฬนะ มุเขนะ พ๎ยาหะริสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่พูดทั้งที่ปากยังมีคำข้าว
ขณะกำลังฉัน ไม่ควรพูดคุยกัน

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 18
นะ ปิณฑุกเขปะกัง ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันโยนคำข้าวเข้าปาก
ข้อนี้หมายถึง อาหารที่เป็นเมล็ด เช่น ถั่ว ห้ามโยนเข้าปาก แลดูไม่เหมาะสม

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 19
นะ กะวะฬาวัจเฉทะกัง ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันกัดคำข้าว (หมายถึงสิ่งที่นำขึ้นมากัดเพื่อกิน)
(อนาบัติ ยกเว้น 1.ไม่แกล้ง 2.เผลอ 3.ไม่รู้ตัว 4.อาพาธ 5.ฉันขนมที่แข้นแข็ง 
6.ฉันผลไม้น้อยใหญ่ 7.ฉันกับแกง 8.มีอันตราย 9.วิกลจริต 10.อาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัิติแล)

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 20
นะ อะวะคัณฑะการะกัง ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย
ไม่ตักเข้าปากมากจนเกินไป จนทำให้กระพุ้งแก้มตุ่ยเวลาเคี้ยว

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 21
นะ หัตถะนิทธูนะกัง ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันพลางสะบัดมือพลาง
หากมีเศษอาหาร เศษข้าวติดอยู่ พึงใช้ผ้า หรือกระดาษชำระเช็ดออก ไม่ควรสะบัดมือ

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 22
นะ สิตถาวะการะกัง ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าว
ไม่ทำข้าวหก หล่น ขณะฉัน

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 23
นะ ชิวหานิจฉาระกัง ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันแลบลิ้น
ไม่แลบลิ้นขณะฉันอาหาร 

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 24
นะ จะปุจะปุการะกัง ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันดังจับ ๆ

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 25
นะ สุรุสุรุการะกัง ภิญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันดังซูด ๆ

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 26
นะ หัตถะนิลเลหะกัง ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียมือ
เศษอาหารเลอะมือ พึงไม่เลียมือ ให้ใช้ผ้า หรือกระดาษชำระเช็ดออก

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 27
นะ ปัตตะนิลเลหะกัง ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียบาตร
บาตรสมัยนั้นไม่ลึกมากอย่างปัจจุบัน แม้ภาชนะใส่ของคล้ายชาม ก็เรียกว่าบาตร จึงเลียได้

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 28
นะ โอฏฐินิลเลหะกัง ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียริมฝีปาก
ไม่แลบลิ้นเลียริมฝีปากขณะฉันอาหาร

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 29
นะ สามิเสนะ หัตเถนะ ปานียะถาละกัง ปะฏิคคะเหสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ
หากมือเลอะ เปรอะเปื้อน ไม่ควรจับภาชนะใส่น้ำ เช่น แก้วน้ำ ควรเช็ดมือก่อน

โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 30
นะ สะสิตะถึง ปัตตะโธวะนัง อันตะระฆะเร ฉัฑเฑสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอาน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวเทลงในบ้าน
ให้เช็ดเมล็ดข้าวออกก่อนที่จะนำน้ำมาเทล้าง ห้ามเฉพาะในละแวกบ้าน ไม่ได้ห้ามในวัด


*******

ธัมมเทสนาปฏิสังยุต หมวดว่าด้วยการแสดงธรรม มี 16 สิกขาบท


ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 1
นะ ฉัตตะปาณิสสะ อะคิลานัสสะ ธัมมัง เทสิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีร่มในมือ
แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้กั้นร่ม ต้องอาบัติทุกกฏ

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 2
นะ ทัณฑะปาณิสสะ อะคิลานัสสะ ธัมมัง เทสิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีไม้พลองในมือ
ที่ชื่อว่า ไม้พลอง ได้แก่ ไม้พลองยาวสี่ศอกของมัชฌิมบุรุษ ยาวกว่านั้นไม่ใช่ไม้พลอง สั้นกว่านั้น ก็ไม่ใช่ไม้พลอง

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 3
นะ สัตถะปาณิสสะ อะคิลานัสสะ ธัมมัง เทสิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีศัสตรา (ของมีคม) ในมือ

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 4
นะ อาวุธปาณิสสะ อะคิลานัสสะ ธัมมัง เทสิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีอาวุธ 
(ของซัดไปหรือยิงไปได้) ในมือ
ข้อ 2-3-4 นี้ ที่ว่า ไม่เป็นไข้ คือคนปกติ อาจจะเป็นทหาร โจร หรือบุคคลที่มีอาวุธทั้งหลายเหล่านั้นในมือ เพื่อป้องกันไม่ให้ภิกษุเกิดอันตราย ที่ว่า เป็นไข้ นับตั้งแต่ส้นเท้าแตกถือว่าเป็นไข้ โดยที่ยกเว้นไว้ ด้วยกรณีเช่นว่า ทหาร หรือบุคคลใดบาดเจ็บจากการสู้รบ พึงแสดงธรรมให้จิตของท่านปล่อยวาง เมื่อวาระจิตสุดท้ายเป็นกุศล ย่อมไปสู่สุขคติภพภูมิที่ดีได้ จึงอนุญาติแสดงธรรมเมื่อเป็นไข้ คือ บาดเจ็บได้

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 5
นะ ปาทุการูฬ๎หัสสะ อะคิลานัสสะ ธัมมัง เทสิสสามีติ สิกขา กะระณียา.
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมเขียงเท้า (รองเท้าไม้)

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 6
นะ อุปาหะนารูฬ๎หัสสะ อาคิลานัสสะ ธัมมัง เทสิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมรองเท้า
ข้อ 5-6 นี้ ภิกษุเท้าเปล่า กับบุคคลที่สวมเขียงเท้า หรือรองเท้านั้น ถือว่าคนที่สวมเขียงเท้า-รองเท้า มีฐานสูงกว่า ย่อมไม่แสดงธรรม ยกเว้นผู้เป็นไข้ คือ นับตั้งแต่ส้นเท้าแตก ก็ชื่อว่าเป็นไข้ อาจจะป่วยหนัก หรือบาดเจ็บ ทำให้ถอดรองเท้าไม่ได้ ถอดรองเท้าไม่ทัน พึงแสดงธรรมได้

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 7
นะ ยานะคะตัสสะ อิคิลานัสสะ ธัมมัง เทสิสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในยาน
นั่งอยู่ในยาน หมายเอาบุคคลผู้นั่งคานหาม บนวอ ถูกอุ้มไป ถูกแบกใส่บ่าไป นั่งบนยานที่ไม่ได้เทียมม้า หรือแม้นั่งบนล้อที่แยกส่วนออกมา ถือว่านั่งอยู่ในยานทั้งสิ้น แต่ถ้าอยู่ในยานด้วยกัน ทั้งภิกษุผู้แสดงธรรมและอุบาสกผู้รับธรรมเทศนา ภิกษุแสดงธรรมแก่คนที่ไปในยานด้วยกันได้ ถ้าภิกษุผู้แสดงธรรมนั่งอยู่ข้างหน้าในที่สูงกว่า หรือเสมอกันกับอุบาสกผู้ฟังไม่ต้องอาบัติ
(วิ.อ.2/640/456).

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 8
นะ สะยะนะคะตัสสะ อะคิลานัสสะ ธัมมัง เทสิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนที่นอน

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 9
นะ ปัลลัตถิกายะ นิสินนัสสะ อะคิลานัสสะ ธัมมัง เทสิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งรัดเข่า

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 10
นะ เวฏฐิตะสีสัสสะ อะคิลานัสสะ ธัมมัง เทสิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่โพกศีรษะ

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 11
นะ โอคุณฐิตะสีสัสสะ อะคิลานัสสะ ธัมมัง เทสิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่คลุมศีรษะ
ข้อ 8-9-10-11 นี้ ผู้เป็นไข้ คือ นับตั้งแต่ส้นเท้าแตก ไม่ว่าจะนอน นั่งกอดเข่า โพกผ้า คลุมหัว สามารถแสดงธรรมเพื่อระงับเวทนานั้นได้ แต่หากไม่เป็นไข้ พึงงดแสดงธรรมแก่บุคคลเหล่านี้

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 12
นะ ฉะมายัง นิทีทิต๎วา อาสะเน นิสินนัสสะ อิคิลานัสสะ
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรานั่งอยู่บนแผ่นดิน จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่บนอาสนะ 
(ผ้าหรือเครื่องปูนั่ง)
ข้อนี้ หากภิกษุนั่งบนพื้น ผู้ฟังธรรมนั่งบนอาสนะ จะถือว่าฐานของผู้นั่งบนอาสนะสูงกว่า พึงไม่แสดงธรรม

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 13
นะ นีเจ อาสะเน นิสีทิต๎ิวา อุจเจ อาสะเน นิสินนัสสะ
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรานั่งอยู่บนอาสนะต่ำ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งบนอาสนะสูง
ผู้ที่นั่งสูงกว่า ถือว่ามีฐานสูงกว่า แลเป็นอาการไม่เคารพในผู้แสดงธรรม พึงงดเว้น
ยกเว้นผู้เป็นไข้
ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 14
นะ ฐิโต นิสินนัสสะ อาคิลานัสสะ ธัมมัง เทสิสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรายืนอยู่ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 15
นะ ปัจฉะโต คัจฉันโต ปุระโต คัจฉันตัสสะ อะคิลานัสสะ
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินไปข้างหลัง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่เดินไปข้างหน้า

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 16
นะ อุปปะเถนะ คัจฉันโต ปะเถนะ คัจฉันตัสสะ อิคิลานัสสะ
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินไปนอกทาง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในทาง
ข้อ 15-16 นี้ คือ การเดินไปด้วยกันแล้วเขาเดินนำหน้าเรา หรือเราเดินออกนอกเส้นทาง แต่บุคคลผู้รับธรรมยังเดินอยู่ในทางหลักอยู่ 

*******

หมวดปกิณณกะ หมวดเบ็ดเตล็ด มี 3 สิกขาบท


ปกิณณกะ สิกขาบทที่ 1
นะ ฐิโต อะคิลาโน อุจจารัง วา ปัสสาวัง วา กะริสสามีติ สิกขา กะระณียา
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่เป็นไข้ จักไม่ยืนถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ 
ปัจจุบันสุขา หรือห้องน้ำ ของชาวโลกเป็นแบบโถยืนฉี่ 
หากไม่มีโถนั่งยอง พึงอนุโลมตามกฏของชาวโลก

ปกิณณกะ สิกขาบทที่ 2
นะ หะริเต อะคิลาโน อุจจารัง วา ปัสสาวัง วา เขฬัง วา กะริสสามีติ สิกขา กะระณียา.
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่เป็นไข้ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในของเขียว
(พืชพันธุ์ไม้) 


ปกิณณกะ สิกขาบทที่ 3
นะ อุทะเก อิคิลาโน อุจจารัง วา ปัสสาวัง เขฬัง วา กะริสสามีติ สิกขา กะระณียา.
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่เป็นไข้ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในน้ำ
ปัจจุบัน สุขา หรือห้องน้ำ โถส้วม คอห่าน ชักโครก ใช้แบบการหล่อน้ำ ในข้อนี้ไม่นับ
เพราะในสิกขาบทนั้น น้ำในที่นี้เป็นแหล่งน้ำที่ใช้สอย เช่น แม่น้ำ ลำคลอง บ่อ บึง เป็นต้น
แต่ถ้าหากเป็นโถส้วม คอห่าน หรือชักโครกในโลกปัจจุบัน พึงอนุโลมตามกฏของชาวโลก

จบเสขิยวัตร และหมวดเบ็ดเตล็ด


1 ความคิดเห็น:

  1. สารูปสิกขาบทที่ 9 คะมิสสามีติ
    สารูปสิกขาบทที่ 11 คะมิสสามีติ
    สารูปสิกขาบทที่ 19 คะมิสสามีติ
    สารูปสิกขาบทที่ 23 นะ โอคุณฐิโต
    โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 10 ภืโยกะมุยตัง อุปาทายาติ สิกขา กะระณียา
    โภชนปฏิสังยุตสิกขาบทที่ 11 วิญญาเปตวา ภุญชิสสามีติ สิกขา กะระณียา

    ตอบลบ