วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พระวินัย ปาฏิเทสนียกัณฑ์ ว่าด้วยอาบัติปาฏิเทสนียะ คือที่พึงแสดงคืน

ปาฏิเทสนียกัณฑ์ 
(ว่าด้วยอาบัติปาฏิเทสนียะ คือที่พึงแสดงคืน มี ๔ สิกขาบท)


อิเม โข ปนายสฺมนฺโต จตฺตาโร ปาฏิเทสนียา ธมฺมา อุทฺเทสํ อาคจฺฉนฺติ.

สิกขาบทที่ 1 แห่งปาฏิเทสนียะ


ห้ามรับของเคี้ยวของฉันจากมือนางภิกษุณีมาฉัน

1. โย ปน ภิกฺขุ อญฺญาติกาย ภิกฺขุนิยา อนฺตรฆรํ ปวิฏฺฐาย หตฺถโต ขาทนียํ วา โภชนียํ วา สหตฺถา ปฏิคฺคเหตฺวา ขาเทยฺย วา ภุญฺเชยฺย วา ปฏิเทเสตพฺพํ เตน ภิกฺขุนา คารยฺหํ อาวุโส ธมฺมํ อาปชฺชึ อสปฺปายํ ปาฏิเทสนียํ ตํ ปฏิเทเสมีติ.

“อนึ่ง ภิกษุใด รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตนจากมือของภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ผู้เข้าไปสู่ละแวกบ้าน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี อันภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืนธรรมนั้น.”

ต้นบัญญัติ

นางภิกษุณีรูปหนึ่งไปเที่ยวบิณฑบาต ได้แล้ว ขากลับเห็นภิกษุรูปหนึ่ง จึงบอกถวายอาหารที่ได้มา ภิกษุนั้นก็รับจนหมด นางจึงอดอาหารเพราะหมดเวลาที่จะเข้าไปบิณฑบาตอีกแล้ว รุ่งขึ้นนางไปบิณฑบาตได้พบภิกษุรูปนั้นอีก ก็บอกถวาย ภิกษุรูปนั้นก็รับจนหมด นางจึงอดอาหารอีก ในวันที่ 3 ก็เป็นเช่นนี้ จนเวลาหลีกรถเศรษฐี นางถึงกับหมดแรงล้มลง เศรษฐีขอขมา ทราบความก็ติเตียนภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุเข้าไปสู่ละแวกบ้าน รับของเคี้ยวของฉันจากมือของภิกษุณีมาเคี้ยวหรือฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ

อนาบัติ
  1. ภิกษุณีผู้เป็นญาติ 
  2. ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติสั่งให้ถวาย มิได้ถวายเอง
  3. ภิกษุณีถวายโดยวางไว้ถวาย
  4. ถวายในอาราม
  5. ในสำนักภิกษุณี
  6. ในสำนักเดียรถีย์ 
  7. ในโรงฉัน
  8. นำออกจากบ้านแล้วถวาย
  9. ถวายยามกาลิกสัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ด้วยคำว่า เมื่อเหตุมีอยู่นิมนต์ฉันได้
  10. สิกขมานาถวาย
  11. สามเณรีถวาย
  12. ภิกษุวิกลจริต
  13. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
***

สิกขาบทที่ 2 แห่งปาฏิเทสนียะ


ให้ไล่นางภิกษุณีที่มายุ่งให้เขาถวายอาหาร

2. ภิกฺขู ปเนว กุเลสุ นิมนฺติตา ภุญฺชนฺติ. ตตฺร เจ ภิกฺขุนี โวสาสมานรูปา ฐิตา โหติ, อิธ สูปํ เทถ อิธ โอทนํ เทถาติ.
เตหิ ภิกฺขูหิ สา ภิกฺขุนี อปสาเทตพฺพา, อปสกฺก ตาว ภคินิ ยาว ภิกฺขู ภุญฺชนฺตีติ. เอกสฺสปิ เจ ภิกฺขุโน นปฺปฏิภาเสยฺย ตํ ภิกฺขุนึ อปสาเทตุํ อปสกฺก ตาว ภคินิ ยาว ภิกฺขู ภุญฺชนฺตีติ ปฏิเทเสตพฺพํ เตหิ ภิกฺขูหิ คารยฺหํ อาวุโส ธมฺมํ อาปชฺชิมฺหา อสปฺปายํ ปาฏิเทสนียํ ตํ ปฏิเทเสมาติ.

“อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์ฉันอยู่ในสกุล ถ้าภิกษุณีมายืนสั่งเสียอยู่ในที่นั้นว่า จงถวายแกงในองค์นี้ จงถวายข้าวในองค์นี้ ภิกษุทั้งหลายนั้นพึงรุกรานภิกษุณีนั้นว่า น้องหญิงเธอจงหลีกไปเสีย ตลอดเวลาที่ภิกษุฉันอยู่ ถ้าภิกษุแม้รูปหนึ่งไม่กล่าวออกไป เพื่อจะรุกรานภิกษุณีนั้นว่า น้องหญิง เธอจงหลีกไปเสีย ตลอดเวลาที่ภิกษุฉันอยู่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ พวกฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน พวกฉันแสดงคืนธรรมนั้น.”

ต้นบัญญัติ

ภิกษุทั้งหลายได้รับนิมนต์ให้ไปฉันในสกุล นางภิกษุณีพวก ๖ ซึ่งชอบพอกับภิกษุพวก ๖ ได้ยืนอยู่ด้วย บอกกับเขาว่า จงถวายแกงในองค์นี้ จงถวายข้าวในองค์นี้ ภิกษุพวก ๖ ฉันได้ตามต้องการ แต่ภิกษุอื่น ๆ ฉันอย่างไม่สะดวกใจ. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุทั้งหลายได้รับนิมนต์ให้ไปฉันในสกุล. ถ้านางภิกษุณีผู้คุ้นเคยมายืนอยู่ในที่นั้น บอกกับเขาว่า จงถวายแกงในองค์นี้ จงถวายข้าวในองค์นี้ ภิกษุทั้งหลายพึงไล่นางภิกษุณีนั้นไป จนกว่าภิกษุทั้งหลายจะฉันเสร็จ ถ้าภิกษุแม้รูปหนึ่งมิได้ไล่นางภิกษุณีนั้น ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ

อนาบัติ
  1. ภิกษุณีสั่งให้ถวายภัตตาหารของตน มิได้ถวายเอง
  2. ถวายภัตตาหารของผู้อื่น มิได้สั่งให้ถวาย
  3. สั่งให้ถวายภัตตาหารที่เขาไม่ได้ถวาย
  4. สั่งให้เขาถวายในภิกษุที่เขาไม่ได้ถวาย
  5. สั่งให้ถวายเท่าๆกันแก่ภิกษุทุกรูป
  6. สิกขมานาสั่งเสีย
  7. สามเณรีสั่งเสีย 
  8. เว้นโภชนะห้า อาหารทุกอย่างไม่เป็นอาบัติ 
  9. ภิกษุวิกลจริต
  10. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล

***

สิกขาบทที่ 3 แห่งปาฏิเทสนียะ


ห้ามรับอาหารในสกุลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสขะ

3. ยานิ โข ปน ตานิ เสกฺขสมฺมตานิ กุลานิ โย ปน ภิกฺขุ ตถารูเปสุ เสกฺขสมฺมเตสุ กุเลสุ ปุพฺเพ อนิมนฺติโต อคิลาโน ขาทนียํ วา โภชนียํ วา สหตฺถา ปฏิคฺคเหตฺวา ขาเทยฺย วา ภุญฺเชยฺย วา ปฏิเทเสตพฺพํ เตน ภิกฺขุนา คารยฺหํ อาวุโส ธมฺมํ อาปชฺชึ อสปฺปายํ ปาฏิเทสนียํ ตํ ปฏิเทเสมีติ.

“อนึ่ง ภิกษุใด ไม่ได้รับนิมนต์ก่อน มิใช่ผู้อาพาธ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ในตระกูลทั้งหลายที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะเห็นปานนั้น ด้วยมือของตน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืนธรรมนั้น.”

ต้นบัญญัติ

ในสมัยนั้นสกุลบางสกุลเลื่อมใสทั้งฝ่ายสามีและภริยา เป็นสกุลเจริญด้วยศรัทธา แต่เสื่อมทรัพย์ (เป็นสกุลพระอริยบุคคล) บุคคลเหล่านี้ย่อมสละของเคี้ยวของกินที่เกิดขึ้นทั้งหมดแก่ภิกษุทั้งหลาย บางครั้งตัวเองถึงอด. คนทั้งหลายพากันติเตียนพวกภิกษุว่ารับไม่รู้จักประมาณ พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้สงฆ์สวดประกาศสมมติสกุลนั้นว่าเป็นสกุลของพระเสขะ แล้วทรงบัญญัติห้ามเข้าไปรับของเคี้ยวของฉันในสกุลที่สงสมมติว่าเป็นเสขะ ด้วยมือของตนมาเคี้ยวแลฉัน ทรงปรับอาบัติปาฏิเทสนียะแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด. ภายหลังทรงอนุญาตว่า ถ้าเขานิมนต์ไว้ก่อนหรือเป็นไข้ เข้าไปรับอาหารมาฉันได้

วิภังค์

คำว่า ตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ความว่า ตระกูลที่ชื่อว่าอันสงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ได้แก่ตระกูลที่เจริญด้วยศรัทธา แต่หย่อนด้วยโภคสมบัติ ได้รับสมมติ ด้วยญัตติทุติยกรรมว่าเป็นเสกขะ.

อนาบัติ
  1. ภิกษุได้รับนิมนต์ไว้
  2. ภิกษุอาพาธ 
  3. ภิกษุฉันของเป็นเดน ภิกษุผู้ได้รับนิมนต์ไว้หรือผู้อาพาธ 
  4. ภิกษุฉันภิกษาที่เขาจัดไว้ในที่นั้นเพื่อภิกษุอื่นๆ
  5. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขานำออกจากเรือนไปถวาย 
  6. ภิกษุฉันนิตยภัย
  7. ภิกษุฉันสลากภัต 
  8. ภิกษุฉันปักขิกภัต
  9. ภิกษุฉันอุโบสถิกภัต 
  10. ภิกษุฉันปาฏิปทิกภัต 
  11. ภิกษุฉันยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ที่เขาถวายบอกว่า เมื่อมีปัจจัยก็นิมนต์ฉัน 
  12. ภิกษุวิกลจริต
  13. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล

***

สิกขาบทที่ 4 แห่งปาฏิเทสนียะ


ห้ามรับอาหารที่เขาไม่ได้จัดไว้ก่อนเมื่ออยู่ป่า

4. ยานิ โข ปน ตานิ อารญฺญกานิ เสนาสนานิ สาสงฺกสมฺมตานิ สปฺปฏิภยานิ โย ปน ภิกฺขุ ตถารูเปสุ เสนาสเนสุ วิหรนฺโต ปุพฺเพ อปฺปฏิสํวิทิตํ ขาทนียํ วา โภชนียํ วา อชฺฌาราเม สหตฺถา ปฏิคฺคเหตฺวา อคิลาโน ขาเทยฺย วา ภุญฺเชยฺย วา ปฏิเทเสตพฺพํ เตน ภิกฺขุนา คารยฺหํ อาวุโส ธมฺมํ อาปชฺชึ อสปฺปายํ ปาฏิเทสนียํ ตํ ปฏิเทเสมีติ.

“อนึ่ง ภิกษุใดอยู่ในเสนาสนะป่า ที่รู้กันว่า เป็นที่มีรังเกียจมีภัยเฉพาะหน้า รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี อันเขาไม่ได้บอกให้รู้ไว้ก่อน ด้วยมือของตน ในวัดที่อยู่ ไม่ใช่ผู้อาพาธ เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืน ธรรมนั้น.” 

ต้นบัญญัติ

เจ้าศากยะที่เป็นหญิงนำอาหารไปเพื่อรับประทานในเสนาสนะป่า ถูกพวกทาสชิงของและข่มขืน เจ้าศากยะที่เป็นชายออกจับพวกนั้นได้ ติเตียนภิกษุทั้งหลายว่าไม่บอกเรื่องโจรอาศัยอยู่ในวัด. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุอยู่ในเสนาสนะป่าเปลี่ยวน่ากลัว รับของเคี้ยวของฉัน ซึ่งเขามิได้จัดไว้ก่อนด้วยมือของตน ภายในอาราม มาฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ ภายหลังทรงผ่อนผันให้แก่ภิกษุไข้

วิภังค์

ที่ชื่อว่า บอกให้รู้ คือ ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตามมาสู่อาราม หรือ อุปจารแห่งอารามแล้วบอกว่า ท่านเจ้าข้า สตรีหรือบุรุษชื่อโน้น จักนำของเคี้ยวหรือของฉันมาถวายภิกษุมีชื่อนี้ ถ้าที่นั้นเป็นสถานที่มีรังเกียจภิกษุพึงบอกเขาว่า เป็นสถานที่มีรังเกียจ ถ้าที่นั้นเป็นสถานที่มีภัยเฉพาะหน้า พึงบอกเขาว่า เป็นสถานที่มีภัยเฉพาะหน้า ถ้าเขากล่าวว่า ไม่เป็นไรเจ้าข้า เขาจักนำมาเอง ภิกษุพึงบอกพวกโจรว่า ชาวบ้านจักเข้ามาในที่นี้ พวกท่านจงหลีกไปเสีย.

เมื่อเขาบอกให้รู้เฉพาะยาคู แล้วเขานำบริวารแห่งยาคูมาด้วย นี้ชื่อว่า อันเขาบอกให้รู้.

อนาบัติ
  1. เขาบอกให้รู้ 
  2. ภิกษุอาพาธ
  3. ภิกษุฉันของเป็นเดนของภิกษุผู้ได้รับนิมนต์ไว้หรือของภิกษุผู้อาพาธ
  4. ภิกษุรับนอกวัดแล้วมาฉันในวัด 
  5. ภิกษุฉันรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ หรือผลไม้ ซึ่งเกิดขึ้นในวัดนั้น
  6. ภิกษุฉันของเป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ในเมื่อมีเหตุจำเป็น
  7. ภิกษุวิกลจริต
  8. ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล
เสนาสนะป่า หมายถึง เสนาสนะที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 25 เส้น ( 25 เส้น เท่ากับ 500 วา หรือ 1,000 เมตร) (พระไตรปิฎกแปลไทย มจร. 2/ 644/)

จบหมวดปาฏิเทสนียกัณฑ์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น