วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พุทธประวัติ ตอน ๔ ทรงออกผนวช

พุทธประวัติ ตอน ๔ ทรงออกผนวช




เทวทูต 4





วันหนึ่ง พระสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน โดยรถพระที่นั่ง
ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ซึ่งเทพยดานิรมิตให้ทอดพระเนตรในระยะทาง
ทรงเบื่อหน่ายในกามสุข ตั้งต้นแต่ได้ทรงเห็นคนแก่ เป็นลำดับไป



ทรงหยั่งเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ครอบงำมหาชนอยู่ทุกคน ไม่ล่วงพ้นไปได้ เป็นอย่างนั้น
เพราะโทษที่ได้ฟังคำสอนของนักปราชญ์ เห็นผู้อื่นแก่ เจ็บ ตาย ย่อมเบื่อหน่ายเกลียดชัง
ไม่คิดถึงตัวว่า จะต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นบ้าง เมาอยู่ในวัย ในความไม่มีโรค
และในชีวิต เหมือนหนึ่งเป็นคนจะไม่ต้องแก่ เจ็บ ตาย มีแต่ขวนขวายหาของอันมีสภาวะเช่นนั้น
ไม่คิดอุบายเครื่องพ้นบ้างเลย ถึงพระองค์ก็มีอย่างนั้นเป็นธรรม
แต่จะเกลียดเบื่อหน่ายเหมือนอย่างเขา ไม่สมควรแก่พระองค์เลย



เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็ทรงบันเทาความเมา 3 ประการ คือ
เมาในวัย เมาในความไม่มีโรค และเมาในชีวิต
กับทั้งความเพลิดเพลินในกามสมบัติเสียได้
จึงทรงดำริต่อไปว่า ธรรมดาสภาวะทั้งปวง ย่อมมีของที่เป็นข้าศึกแก่กัน
เช่นมีร้อน ก็มีเย็นแก้ มีมืด ก็มีสว่างแก้
บางทีจะมีอุบายแก้ทุกข์ 3 อย่างนั้นได้บ้างกระมัง
ก็แต่ว่า การที่จะแสวงหาอุบายแก้ทุกข์ 3 อย่างนั้น
เป็นการยากอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ยังอยู่ในฆราวาสวิสัย จะแสวงหาไม่ได้
เพราะฆราวาสนี้เป็นที่คับแคบนัก และเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์อันทำใจให้เศร้าหมอง
เหตุความรัก ความชัง ความหลง ดุจเป็นทางมาแห่งธุลี
บรรพชาเป็นช่องว่าง พอเป็นที่แสวงหาอุบายนั้นได้
ทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็มีพระอัธยาศัยน้อมไปในบรรพชา ไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติ



ครั้นทรงแน่พระทัยว่า เป็นอุบายให้แสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นได้เช่นนั้น ก็ทรงโสมนัส
เสด็จกลับพระราชวังในเวลาเย็น ด้วยพระเกียรติยศอันสูง เสด็จขึ้นประทับที่มุขปราสาทชั้นบน



ขณะนั้น นางกีสาโคตมี ราชกัญญาแห่งศากยราช
ได้ทอดพระเนตรเห็นพระสิทธัตถะ
ทรงมีพระทัยปฏิพัทธ
ได้ตรัสคาถาสรรเสริญพระคุณสมบัติของพระกุมารด้วยสุรเสียงอันไพเราะว่า

นิพฺพุตา นูน สา มาตา นิพฺพุโต นูน โส ปิตานิพฺพุตา นูน สา นารี ยสฺสายํ อีทิโส ปติ.
ความว่า หญิงใด เป็นมารดาของพระกุมารนี้ หญิงนั้นดับทุกข์ได้ ชายใดเป็นบิดาของพระกุมารนี้ ชายนั้นดับทุกข์ได้ พระกุมารนี้เป็นสามีของนางใด นางนั้นก็ดับทุกข์ได้




ทรงเบื่อหน่ายในกามารมณ์


พระสิทธัตถะทรงสดับคาถานั้น ทรงเลื่อมใส พอพระทัยในคำว่า
นิพฺพุตา ความดับทุกข์ ซึ่งมีความหมายไกลออกไปถึงพระนิพพาน
ธรรมเครื่องดับทุกข์ทั้งมวล
ทรงดำริว่า พระน้องนางผู้นี้ ให้เราได้สดับคุณบทแห่งพระนิพพานครั้งนี้
ชอบยิ่งแล้วจึงทรงถอดสร้อยมุกข์ซึ่งมีค่ายิ่งจากพระศอ
พระราชทานรางวัลแก่พระนางกีสาโคตมีด้วยทรงปิติยินดี
ผดุงน้ำพระทัยให้พระองค์น้อมไปในการเสด็จออกบรรพชายิ่งขึ้น
แต่ตรงข้ามจากความรู้สึกของพระนางกีสาโคตมี
ซึ่งมีความรู้สึกในศัพท์ว่า นิพฺพุตา ต่ำ ๆ เพียงดับทุกข์ยาก ไม่ต้องเดือดร้อน
สำหรับคนครองเรือน ยิ่งได้รับพระราชทานสร้อยมุกข์
ก็กลับเพิ่มความปฏิพัทธในพระกุมารยิ่งขึ้น
คิดว่าพระกุมารคงจักพอพระทัยปฏิพัทธในพระนาง
และแล้วก็คิดไกลออกไปตามวิสัยของคนมีความรัก




ครั้นพระสิทธัตถะทรงน้อมพระทัยเสด็จออกบรรพชาเช่นนั้น ก็ทรงเห็นมีทางเดียว คือ
เสด็จหนีออกจากพระนคร ตัดความอาลัย ความเยื่อใย ในราชสมบัติ พระชายา และพระโอรส
กับทั้งพระประยูรญาติ ตลอดราชบริพารทั้งสิ้น ด้วยหากจะทูลพระราชบิดา
ก็คงจะถูกทัดทาน ยิ่งมวลพระประยูรญาติทราบเรื่อง ก็จะรุมกันห้ามปราม
การเสด็จออกซึ่งหน้า ไม่เป็นผลสำเร็จได้ เมื่อทรงตั้งพระทัยเสด็จหนีเช่นนั้นแล้ว
ในเวลาราตรีนั้น เสด็จบรรทมแต่หัวค่ำ
ไม่ทรงใยดีในการขับประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีของพวกราชกัญญาทั้งหลาย
ที่ประจงจัดถวายบำรุงบำเรอทุกประการ




เมื่อพระสิทธัตถะทรงตื่นบรรทมในเวลาดึกสงัดแห่งราตรีนั้น
ได้ทอดพระเนตรเห็นนางบำเรอฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีเหล่านั้น
นอนหลับอยู่เกลื่อนภายในปราสาท ซึ่งสร้างด้วยแสงประทีป
บางนางอ้าปาก กัดฟัน น้ำลายไหล บางนางผ้านุ่งหลุด บางนางกอดพิณ
บางนางก่ายเปิงมาง บางนางบ่น ละเมอ นอนกลิ้งกลับไปมา
ปรากฏแก่พระสิทธัตถะ ดุจซากศพ อันทิ้งอยู่ในป่าช้าผีดิบ
ปราสาทอันงามวิจิตรแต่ไหนแต่ไรมา
ได้กลายเป็นป่าช้า ปรากฎแก่พระสิทธัตถะในขณะนั้น
เป็นการเพิ่มกำลังความดำริในการออกบรรพชาในเวลาย่ำค่ำเพิ่มขึ้นอีก
ทรงเห็นบรรพชาเป็นทางที่ห่างอารมณ์อันล่อให้หลงและมัวเมา
เป็นช่องที่จะบำเพ็ญปฏิบัติ เป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น
ทำชีวิตให้มีผลไม่เป็นหมัน ทรงตกลงพระทัยเช่นนี้
ก็เตรียมแต่งพระองค์ทรงพระขรรค์
รับสั่งเรียกนายฉันนะ อำมาตย์ ให้เตรียมผูกม้ากัณฐกะ เพื่อเสด็จออกในราตรีนั้น

เสด็จออกผนวช




ครั้นตรัสสั่งแล้วก็เสด็จไปยังปราสาทพระนางพิมพาเทวี
เพื่อทอดพระเนตรราหุลกุมาร พระโอรสพระองค์เดียวของพระองค์
เผยพระทวารห้องบรรทมของพระนางพิมพาเทวี เห็นพระนางบรรทมหลับสนิท
พระกรกอดโอรสอยู่ ทรงดำริจะอุ้มพระโอรสขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้าย
ก็เกรงว่าพระนางพิมพาจะทรงตื่นบรรทม เป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา
จึงตัดพระทัยระงับความเสน่หาในพระโอรส





เสด็จออกจากห้องเสด็จลงจากปราสาท
พบนายฉันนะเตรียมม้าพระที่นั่งไว้พร้อมดีแล้ว
ก็เสด็จขึ้นประทับม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะตามเสด็จหนึ่งคน
เสด็จออกจากพระนครในราตรีกาล
ซึ่งเทพยดาบรรดาลเปิดทวารพระนครไว้ให้เสด็จโดยสวัสดี



เมื่อเสด็จข้ามพระนครไปแล้ว ขณะนั้นพญามารวัสวดี ผู้มีจิตบาป
เห็นพระสิทธัตถะสละราชสมบัติ เสด็จออกจากพระนคร เพื่อบรรพชา
จะล่วงพ้นบ่วงของอาตมาซึ่งดักไว้ จึงรีบเหาะมาประดิษฐานลอยอยู่ในอากาศ
ยกพระหัตถ์ขึ้นร้องห้ามว่า ดูกร พระสิทธัตถะ ท่านอย่ารีบร้อนออกบรรพชาเสียก่อนเลย
ยังอีก 7 วันเท่านั้น ทิพยรัตนจักรก็จะปรากฏแก่ท่าน
แล้วท่านก็จะได้เป็นองค์บรมจักรพรรดิ์ เสวยสมบัติเป็นอิสราธิบดี
มีทวีใหญ่ทั้ง 4 เป็นขอบเขต ขอท่านจงนิวัตนาการกลับคืนเข้าพระนครเถิด

พระสิทธัตถะจึงตรัสว่า ดูกรพญามาร แม้เราก็ทราบแล้วว่า
ทิพยรัตนจักรจะเกิดขึ้นแก่เรา
แต่เราก็มิได้มีความต้องการด้วยสมบัติบรมจักรพรรดิ์นั้น
เพราะแม้สมบัติบรมจักรพรรดิ์นั้น ก็ตกอยู่ในอำนาจไตรลักษณ์
ไม่อาจนำผู้เสวยให้พ้นทุกข์ได้ ท่านจงหลีกไปเถิด
เมื่อทรงขับพญามารให้ถอยไปแล้ว ก็ทรงขับม้ากัณฐกะราช ชาติมโนมัยไปจากที่นั้น
บ่ายหน้าสู่มรรคา เพื่อข้ามให้พ้นเขตราชเสมาแห่งกบิลพัสดุ์บุรี
เหล่าเทพยดาก็ปลาบปลื้มยินดี บูชาด้วยบุบผามาลัยมากกว่ามาก
บ้างก็ติดตามห้อมล้อมถวายการรักษาพระมหาบุรุษเจ้าตลอดไป



พอจวนเวลาใกล้รุ่งปัจจุสมัย ก็บรรลุถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที
ก็ทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดี
เมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตบุรีกบิลพัสดุ์แล้ว ก็เสด็จลงจากหลังอัสวราช ประทับนั่งเหนือหาดทรายอันขาวสะอาด รับสั่งแก่นายฉันนะว่า
เราจักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิตในที่นี้ ท่านจงเอาเครื่องประดับของอาตมากับม้าสินธพกลับพระนครเถิด
ครั้นตรัสแล้วก็ทรงเปลื้องเครื่องประดับสำหรับขัตติยราชทั้งหมดมอบให้แก่นายฉันนะ
ตั้งพระทัยปรารถนาจะทรงบรรพชา จึงทรงดำริว่า
เกศาของอาตมานี้ ไม่สมควรแก่สมณเพศ
จึงทรงจับพระโมลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์
ตัดพระโมลีให้ขาดออกเรียบร้อยด้วยพระองค์เอง
แล้วทรงจับพระโมลีนั้นขว้างขึ้นไปบนอากาศ
ทรงอธิษฐานว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณโดยแท้แล้ว
ขอจุฬาโมลีนี้ จงตั้งอยู่ในอากาศ อย่าได้ตกลงมา
ทว่าจะมิได้บรรลุสิ่งซึ่งต้องประสงค์ ก็จงตกลงมายังพื้นพสุธา
ในทันใดนั้น จุฬาโมฬีก็มิได้ตกลงมา คงลอยอยู่ในอากาศ
จึงสมเด็จพระอัมรินทราธิราชก็เอาผอบแก้วมารองรับไว้
แล้วนำไปบรรจุยังจุฬามณีเจดีย์สถาน ในเทวโลก



ฆฎิการพรหมถวายบาตรและจีวร





ขณะนั้น ฆฏิการพรหม ก็น้อมนำไตรจีวรและบาตร มาจากพรหมโลกเข้าไปถวาย พระสิทธัตถะทรงรับผ้าไตรจีวรกาสาวพัสตร์และบาตรแล้ว
ก็ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์
ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต อุดมเพศ
แล้วทรงมอบผ้าทรงเมื่อยังเป็นคฤหัสถ์เพศทั้งคู่
ให้แก่ฆฏิการพรหม ๆ ก็น้อมรับผ้าคู่นั้นไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ ในพรหมโลกสถาน

เมื่อพระมหาบุรุษเจ้าทรงบรรพชาแล้ว จึงดำรัสสั่งนายฉันนะ อำมาตย์ว่า
ท่านจงเป็นธุระนำอาภรณ์ของอาตมากลับเข้าไปยังกรุงกบิลพัสดุ์
แจ้งข่าวแก่ขัตติยสกุลทั้งหลายอันยังมิได้รู้เหตุ
แล้วกราบทูลพระปิตุเรศ และพระราชมาตุจฉาว่า
พระโอรสของพระองค์หาอันตรายโรคาพยาธิสิ่งใดมิได้ บัดนี้บรรพชาแล้ว
อย่าให้พระองค์ทรงทุกข์โทมนัสถึงพระราชบุตรเลย
จงเสวยภิรมย์ราชสมบัติให้เป็นสุขทุกอิริยาบถเถิด
เมื่ออาตมาได้บรรลุพระสัพพัญญุญาณแล้ว จะได้ไปเฝ้าพระราชบิดา พระมารดา
กับทั้งพระประยูรญาติขัตติยวงศ์ทั้งมวล ท่านจงกลับไปกราบทูลข่าวสารด้วยประการฉะนี้

นายฉันนะ อำมาตย์ รับพระราชโองการแล้ว ก็ถวายบังคมลาแทบพระยุคลบาท
มิอาจจะกลั้นโศกาอาดูรได้ มิอยากจะจากไปด้วยความเสน่หาอาลัยเป็นที่ยิ่ง
รู้สึกว่าเป็นโทษหนักที่ทอดทิ้งให้พระมหาบุรุษเจ้าอยู่แต่พระองค์เดียว
แต่ก็ไม่อาจขัดพระกระแสรับสั่งได้ จำต้องจากพระมหาบุรุษเจ้าไปด้วยความสลดใจสุดจะประมาณ
นำเครื่องอาภรณ์ของพระมหาบุรุษเจ้าทั้งหมด เดินทางพร้อมกับม้ากัณฐกะสินธวชาติ
กลับพระนครกบิลพัสดุ์ พอเดินทางไปได้ชั่วสุดสายตาเท่านั้น
ม้ากัณฐกะก็ขาดใจตาย ด้วยความอาลัยในพระมหาบุรุษเจ้าสุดกำลัง

เมื่อนายฉันนะกลับไปถึงพระนคร ชาวเมืองทั้งปวงก็โจษจันกันอึงมี่
ว่านายฉันนะอำมาตย์กลับแล้ว ต่างก็รีบไปถามข่าว
มวลหมู่อำมาตย์ทราบความก็บอกเล่ากันต่อ ๆ ไป
ตราบจนนายฉันนะอำมาตย์เข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะราช
ถวายเครื่องอาภรณ์ของพระมหาบุรุษเจ้า
แล้วกราบทูลความตามที่พระมหาบุรุษเจ้าสั่งมาทุกประการ

ครั้นพระราชบิดา พระมาตุจฉา พระนางพิมพา ตลอดจนขัตติยราช
ได้สดับข่าวก็ค่อยคลายความโศกเศร้า
และต่างก็ตั้งหน้าคอยสดับข่าวตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ของพระมหาบุรุษสืบไป
ตามคำพยากรณ์ที่อสิตดาบส และพราหมณ์ทั้งหลายทูลถวายไว้แต่ต้นนั้น

ปัญจวัคคีย์ออกบวชตาม


ฝ่ายโกณฑัญญะพราหมณ์ได้ฟังข่าวว่า พระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชาแล้วก็ดีใจ
รีบไปหาบุตรของเพื่อนพราหมณ์ทั้ง 7 คน
ที่ร่วมคณะถวายคำทำนายพระลักษณะด้วยกัน กล่าวว่า
บัดนี้พระสิทธัตถะกุมารเสด็จออกบรรพชาแล้ว
พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ ไม่มีข้อที่จะสงสัย
ถ้าบิดาของท่านทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่ก็จะออกบรรพชาด้วยกันในวันนี้
ผิว่าท่านทั้งหลายปรารถนาจะบวช ก็จงมาบวชตามเสด็จพระมหาบุรุษพร้อมกันเถิด
แต่บุตรพราหมณ์ทั้ง 7 นั้น หาได้พร้อมใจกันทั้งสิ้นไม่
ยินดีรับยอมบวชด้วยเพียง 4 คน
โกณฑัญญะพราหมณ์ก็พาพราหมณ์มานพทั้ง 4 ออกบรรพชา
เป็น 5 คนด้วยกัน จึงได้นามว่า พระปัญจวัคคีย์ เพราะมีพวก 5 คน
ชวนกันออกสืบเสาะติดตามพระมหาบุรุษเจ้า

ส่วนพระมหาบุรุษหลังแต่ทรงบรรพชาแล้ว เสวยบรรพชาสุขอยู่ ณ ที่ป่าไม้มะม่วงตำบลหนึ่ง
มีนามว่า อนุปิยอัมพวัน เว้นเสวยพระกระยาหารถึง 7 วัน ครั้นวันที่ 8
จึงเสด็จดำเนินจากอนุปิยอัมพวันเข้าไปบิณฑบาตรในกรุงราชคฤห์
โดยกิริยาสงบอยู่ในอาการสังวร สมควรแก่ภาวะของสมณะ
เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของทุกคนที่ได้เห็น
เมื่อได้บิณฑภัตรพอแก่ยาปนมัตถ์ ก็เสด็จกลับจากพระนคร
โดยเสด็จออกจากทางประตูที่แรกเสด็จเข้าไป ตรงไปยังมัณฑวะบรรพต
มีหน้าผาเป็นที่ร่มเย็น ควรแก่สมณวิสัย ประทับนั่ง ณ ที่สมควร
ทรงปรารภจะเสวยอาหารในบาตร ทอดพระเนตรเห็นบิณฑาหารในบาตร ไม่สะอาด ไม่ประณีต
หารสกลิ่นอันควรแก่การเสวยมิได้ เป็นอาหารเลว
ที่พระองค์ไม่เคยทรงเสวยมาแต่ก่อน ก็บังเกิดปฏิกูล น่ารังเกียจเป็นที่ยิ่ง

ลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสสอนพระองค์เองว่า
“สิทธัตถะ ตัวท่านบังเกิดในขัตติยสุขุมาลชาติ
เคยบริโภคแต่อาหารปรุงแต่งด้วยสุคันธชาติโภชนสาลี
อันประกอบด้วยสูปพยัญชนะมีรสอันเลิศต่าง ๆ ไฉนท่านจึงไม่รู้สึกตนว่า
เป็นบรรพชิตเห็นปานฉะนี้ และเที่ยวบิณฑบาตร
อย่างไรจะได้โภชนาหารอันสะอาดประณีตมาแต่ที่ใดเล่า
และบัดนี้ ท่านสมควรจะคิดอย่างไรแก่อาหารที่ได้มานี้”
ครั้นให้โอวาทแก่พระองค์ฉะนี้แล้ว ก็มนสิการในปฏิกูลสัญญา
พิจารณาอาหารบิณฑบาตรด้วยปัจจเวกขณ์ และปฏิกูลปัจจเวกขณ์
ด้วยพระปรีชาญาณสมบูรณ์ด้วยพระสติดำรงมั่น
ทรงเสวยมิสกาหารบิณฑบาตรอันนั้น ปราศจากความรังเกียจดุจอมฤตรส
และทรงกำหนดในพระทัยว่า
ตั้งแต่ทรงบรรพชามาได้ 8 วัน เพิ่งได้เสวยภัตตาหารในวันนี้

จบเรื่อง ทรงออกผนวช


พระพุทธพจน์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้


ความรู้สึก ที่ถึงกับทำให้ออกผนวช


ภิกษุ ท. ! ในโลกนี้ ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ตนเองมีความเกิด เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง, ตนเองมีความแก่ เป็นธรรมดาอยู่แล้วก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง, ตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง, ตนเองมีความตาย เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความตาย เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง, ตนเองมีความโศก เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความโศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง, ตนเองมีความเศร้าหมองโดยรอบด้าน เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง อีก.

ภิกษุ ท. ! ก็อะไรเล่า เป็นสิ่งที่มีความเกิด (เป็นต้น) ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้าน (เป็นที่สุด) เป็นธรรมดา?

ภิกษุ ท. ! บุตรและภรรยา มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. ทาสหญิงทาสชาย มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. แพะ แกะ มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. ไก่ สุกร มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. ช้าง โค ม้า ลา มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. ทองและเงิน เป็นสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา. สิ่งที่มนุษย์เข้าไปเทิดทูนเอาไว้ เหล่านี้แลที่ชื่อว่าสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา ซึ่งคนในโลกนี้ พากันจมติดอยู่ พากันมัวเมาอยู่ พากันสยบอยู่ ในสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้ตนทั้งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดาอยู่เองแล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ ที่มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา อยู่นั่นเอง อีก.

การจำแนกว่าอะไรบ้างเป็นสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดานี้ อยู่ก่อนตรัสปรารภพระองค์เอง แต่ในที่นี้เรียงไว้หลัง เพื่อเข้าใจง่าย. ของเดิมก็อยู่ติดกันเช่นนี้. สำหรับในสมัยพุทธกาลทรงจำแนกสิ่งที่คนในโลกพากัน "เทิดทูน" ไว้เช่นนี้. แต่สำหรับสมัยนี้จะจำแนกเป็นอะไรได้บ้างนั้น ผู้อ่านทุกคนนึกเอาได้เอง.

ภิกษุ ท. ! ความคิดอันนี้ ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า "ทำไมหนอ เราซึ่งมีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมองโดยรอบด้าน เป็นธรรมดาอยู่เองแล้ว จะต้องไปมัวแสวงหาสิ่งที่มีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดาอยู่อีก. ไฉนหนอ เราผู้มีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมองโดยรอบด้าน เป็นธรรมดาอยู่เองแล้ว ครั้งได้รู้สึกถึงโทษอันต่ำทรามของการมีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดานี้แล้ว เราพึงแสวงหา นิพพาน อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด".

ภิกษุ ท. ! เรานั้นโดยสมัยอื่นอีก ยังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยความหนุ่มที่กำลังเจริญ ยังอยู่ในปฐมวัย, เมื่อมารดาบิดาไม่ปรารถนาด้วยกำลังพากันร้องไห้น้ำตานองหน้าอยู่, เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว.

บาลี ปาสราสิสูตร โอปัมมวรรค มู.ม. ๑๒/๓๑๖/๓๑๖. 
ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่อาศรมของรัมมกพราหมณ์ ใกล้เมืองสาวัตถี.

(ในบาลี สคารวสูตร มีที่ตรัสไว้สรุปแต่สั้น ๆ ว่า :-) 

ภารทวาชะ ! ในโลกนี้ ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่, ความคิดนี้เกิดมีแก่เรา ว่า "ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสว่าง; ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว, โดยง่าย นั้นไม่ได้. ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือน เถิด" ดังนี้. ภารทวาชะ ! เรานั้นโดยสมัยอื่นอีกยังหนุ่มเทียว.... 

บาลี สคารวศุตร พราหมณวรรค ม.ม. ๑๓/๖๖๙/๗๓๘. ตรัสแก่พราหมณ์หนุ่ม ชื่อสคารวะ, ที่หมู่บ้านปัจจลกัปป์. ข้อความเช่นนี้ ยังมีในสูตรอื่นอีก เช่นบาลีมหาสัจจกสูตร มู.ม. หน้า ๔๔๒ บรรพ ๔๑๑ เป็นต้น.


การออกผนวช


....ราชกุมาร ! ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่, ได้เกิดความรู้สึกขึ้นภายในใจว่า "ชื่อว่าความสุขแล้ว ใครๆ จะบรรลุได้โดยง่ายเป็นไม่มี, ความสุขเป็นสิ่งที่ใครๆ บรรลุได้โดยยาก," ดังนี้. ราชกุมาร! ครั้นสมัยอื่นอีก เรานั้นยังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญในปฐมวัย, เมื่อมารดาบิดาไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากันร้องไห้ น้ำตานองหน้าอยู่, เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว....

บาลี โพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ม.ม. ๑๓/๔๔๓/๔๘๙.
ตรัสแก่กุมารชื่อนั้น ที่ปราสาทสร้างใหม่ของเขา.



ออกผนวชเมื่อพระชนม์ ๒๙


....ดูก่อนสุภัททะ ! เรามีอายุได้ สามสิบหย่อนหนึ่งโดยวัย, ได้ออกบรรพชา แสวงหาว่า "อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นกุศล" ดังนี้ 

ออกผนวชในเพศแห่งนักจาริกแสวงบุญ ซึ่งเป็นธรรมเนียมอยู่ในครั้งนั้น.

ตรัสแก่สุภัททะ
ในมหาปรินิพพานสูตร มหา. ที. ๑๐/๑๗๖/๑๓๙.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น