วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พุทธประวัติ ตอน ๓ เหตุการณ์หลังประสูติจนถึงวัยทรงพระเยาว์

พุทธประวัติ ตอน ๓ เหตุการณ์หลังประสูติจนถึงพระเยาว์



ทำนายลักษณะและถวายพระนาม



ดาบสพยากรณ์

ครั้งนั้นมีดาบสองค์หนึ่งมีนามว่า กาฬเทวิล
แต่มหาชนเรียกว่า อสิตะ
ได้สมาบัติ 8 มีฤทธิ์มาก 
เป็นกุลุปกาจารย์ของพระเจ้าสุทโธทนะ 
ได้ทราบข่าวจากเทพยดาว่า พระเจ้าสุทโธทนะได้พระราชโอรส 
จึงได้เดินทางเข้าไปยังกบิลพัสดุ์นคร 
เข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะในพระราชนิเวศน์ 
ถวายพระพรถามข่าวถึงการประสูติของพระราชโอรส 
พระเจ้าสุทโธทนะทรงปีติปราโมทย์ 
รับสั่งให้เชิญพระโอรสมาถวายเพื่อนมัสการท่านอสิตะดาบส 
แต่พระบาททั้งสองของพระโอรส 
กลับขึ้นไปปรากฏบนเศียรเกล้าของอสิตะดาบสเป็นอัศจรรย์ 
พระดาบสเห็นดังนั้น ก็สดุ้งตกใจ ครั้นพิจารณาดูลักษณะของพระกุมาร 
ก็ทราบชัดด้วยปัญญาญาณ มีน้ำใจเบิกบาน 
หัวเราะออกมาได้ด้วยความปีติโสมนัส 
ประนมหัตถ์ถวายอภิวาทแทบพระยุคคลบาทของพระกุมาร 
และแล้วอสิตะดาบสกลับได้คิด 
เกิดโทมนัสจิตร้องไห้เสียใจในวาสนาอาภัพของตน 



พระเจ้าสุทโธทนะได้ทอดพระเนตรเห็นอาการของท่านอาจารย์พิกล
ก็แปลกพระทัย เดิมก็ทรงปีติเลื่อมใสในการอภิวาทของท่านอสิตะดาบสว่า
อภินิหารของพระปิโยรสนั้นยิ่งใหญ่ประดุจท้าวมหาพรหม 
จึงทำให้ท่านอาจารย์มีจิตนิยมชมชื่นอัญชลี 
ครั้นเห็นท่านอสิตะดาบสคลายความยินดีโศกาอาดูร 
ก็ประหลาดพระทัยสงสัย รับสั่งถามถึงเหตุแห่งการร้องไห้ และการหัวเราะ เฉพาะหน้า



อสิตะดาบสก็ถวายพระพรพรรณนาถึงมูลเหตุ 
ว่าเพราะอาตมาพิจารณาเห็นเป็นมหัศจรรย์ 
พระกุมารนี้มีพระลักษณะพระโพธิสัตว์เจ้าบริบรูณ์ 
จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าโดยแท้ และจะเปิดโลกนี้ให้กระจ่างสว่างไสวด้วยพระกระแสแห่งธรรมเทศนา 
เป็นคุณที่น่าโสมนัสยิ่งนัก แต่เมื่ออาตมานึกถึงอายุสังขารของอาตมาซึ่งชราเช่นนี้แล้ว
คงจะอยู่ไปไม่ทันเวลาของพระกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นพระบรมครูสั่งสอน 
จึงได้วิปฏิสารโศกเศร้า เสียใจที่มีอายุไม่ทันได้สดับรับพระธรรมเทศนา อาตมาจึงได้ร้องไห้



ครั้นอสิตะดาบทถวายพระพรแล้ว ก็ทูลลากลับไปบ้านน้องสาว 
นำข่าวอันนี้ไปบอกนาลกะมานพ ผู้หลานชาย 
และกำชับให้พยายามออกบวชตามพระกุมารในกาลเมื่อหน้าโน้นเถิด



ครั้นถึงวันเป็นคำรบ 5 นับแต่พระกุมารประสูติมา พระเจ้าสุทโธทนะราชจึงโปรดให้ทำพระราชพิธีโสรจสรงองค์พระกุมารในสระโบกขรณี 
เพื่อถวายพระนามตามขัตติยราชประเพณี โปรดให้ตกแต่งพระราชนิเวศน์ 
ประพรมด้วยจตุรสุคนธชาติ และได้โปรยปรายซึ่งบุบผาชาติ 
มีข้าวตอกเป็นคำรพ 5 ปูลาดอาสนะอันขจิตด้วยเงินทองและแก้ว 
ตกแต่งข้าวปายาสอันประณีต 
ให้ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และเสนามุขอำมาต์ย ทั้งปวงพร้อมกันในพระราชนิเวศน์ 
รับสั่งให้เชิญพระราชโอรสอันประดับด้วยราชประสาธนาภรณ์อันวิจิตรมาสู่มหามณฑลสันนิบาต 
แล้วเชิญพราหมณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญในไตรเพท 108 คน 
ให้เลือกสรรเอาพราหมณ์ 8 คน 
ผู้ทรงคุณวิทยาประเสริฐกว่าพราหมณ์ทั้งหมดนั้น 
ให้นั่งเหนืออาสนะอันสูง 
แล้วให้เชิญพระราชโอรสไปยังที่ประชุมพราหมณ์ 8 คนนั้น 
เพื่อพิจารณาพระลักษณะพยากรณ์


พราหมณ์ทำนายลักษณะ



พราหมณ์ 8 คนนั้น มีนามว่า
รามพราหมณ์
ลักษณะพราหมณ์
ยัญญพราหมณ์
ธุชพราหมณ์
โภชพราหมณ์
สุทัตตพราหมณ์
สุยามพราหมณ์
โกณทัญญพราหมณ์
ใน 7 คนข้างต้น เว้นโกณทัญญพราหมณ์เสีย 
พิจารณาเห็นพระลักษณะพระกุมารบริบูรณ์ 
จึงยกนิ้วมือขึ้น 2 นิ้ว ทูลเป็นสัญลักษณ์ทำนายมีคติ 2 ประการว่า 
พระราชกุมารนี้ ผิว่าสถิตอยู่ในฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ผิว่าออกบรรพชาจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า



แต่โกณทัญญพราหมณ์ผู้เดียว ผู้มีอายุน้อย หนุ่มกว่าพราหมณ์ทั้ง 7
คนนั้นได้พิจารณาเห็นแท้แน่แก่ใจว่า 
พระราชกุมารจะต้องได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม่นมั่น 
จึงได้ยกนิ้วมือเดียว เป็นสัญลักษณ์พยากรณ์เป็นคติเดียวว่า 
พระราชกุมารบริบูรณ์ด้วยพระมหาบุรุษพุทธลักษณ์โดยส่วนเดียว
จะอยู่ครองฆราวาสวิสัยมิได้ จะเสด็จออกบรรพชา 
และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้



ถวายพระนามพระกุมาร


และได้พร้อมกันถวายพระนามพระกุมาร 
ตามคุณพิเศษที่ปรากฏ 
เพราะพระกุมารมีพระรัศมีโอภาสงามแผ่สร้านออกจากพระสรีระกายเป็นปกติ 
จึงถวายพระนามว่า อังคีรส 
และเพราะพระกุมารต้องพระประสงค์สิ่งอันใด 
สิ่งอันนั้นจะต้องพลันได้ดังพระประสงค์ 
จึงได้ถวายพระนามว่า สิทธัตถะ แต่มหาชนนิยมเรียกตามพระโคตรว่า โคตมะ
(โดยเฉพาะคนไทยเราแต่ก่อนนิยมเรียกว่า สิทธารถ อ่านว่า สิทธาด )

ในวันนั้น บรรดาขัตติยวงศ์ศากยราชทั้งหมด 
มีความปีติโสมนัสยิ่งนัก ต่างได้ทูลถวายราชบุตรองค์ละองค์ ๆ สิ้นด้วยกัน 
เป็นราชบริพารของพระราชกุมาร ฝ่ายพราหมณ์ 7 คนที่ถวายพยากรณ์พระกุมารว่า
มีคติเป็น 2 นั้น เมื่อกลับไปถึงเคหะสถานแล้ว 
ต่างเรียกบุตรของตนมาสั่งว่า พระราชโอรสของพระมหากษัตริย์มีบุญญาธิการยิ่งนัก 
แต่บิดาชราแล้ว จะได้อยู่ทันเห็นพระองค์หรือไม่ก็มิรู้ 
หากพระกุมารจะเสด็จออกบรรพชาแล้วไซร้ 
จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมั่นคง 
เจ้าทั้งหลายจงออกบวชในพระพุทธศาสนาเถิด

พระมารดาทิวงคต


ส่วนพระนางมายาเทวี เมื่อประสูติพระบรมโพธิสัตว์เจ้าล่วงไปได้ 7 วัน 
ก็เสด็จทิวงคต ไปบังเกิดเป็นเทพธิดา สถิตในดุสิตเทวโลก ตามประเพณีพระพุทธมารดา
(บางตำราก็ว่าเป็นเทพบุตร บางตำราก็ว่าเป็นเทพธิดา)
พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้มอบการบำรุงรักษาพระสิทธัตถะกุมาร
ให้เป็นภาระแก่พระนางปชาบดีโคตมี พระเจ้าน้า 
ซึ่งก็เป็นพระมเหษีของพระองค์ด้วย แม้พระนางปชาบดีโคตมี
ก็ทรงมีพระเมตตารักใคร่พระกุมารเป็นที่ยิ่ง 
เอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงพระกุมารเป็นอย่างดี 
แม้ต่อมาพระนางเจ้าจะทรงมีพระโอรสถึง 2 พระองค์ คือ 
นันทกุมาร และรูปนันทากุมารี 
ก็ทรงมอบภาระให้แก่พี่เลี้ยงนางนมบำรุงรักษา 
ส่วนพระนางเจ้าทรงเป็นธุระบำรุงพระสิทธัตถะกุมารด้วยพระองค์เอง

พระสิทธัตถกุมารได้สมาธิตั้งแต่เยาว์



ต่อมาวันหนึ่ง เป็นวันพระราชพิธีวัปปมงคล งานแรกนาขวัญ 
พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จไปทรงแรกนาขวัญ 
ในงานพระราชพิธีนั้น ก็โปรดเกล้าให้เชิญพระกุมารไปในงานพระราชพิธีนั้นด้วย 
ครั้นเสด็จถึงภูมิสถานที่แรกนาขวัญ ก็โปรดให้จัดร่มไม้หว้า 
ซึ่งหนาแน่นด้วยกิ่งใบ อันอยู่ใกล้สถานที่นั้น 
เป็นที่ประทับของพระกุมาร โดยแวดวงด้วยม่านอันงามวิจิตร 
ครั้นถึงเวลาพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงไถแรกนา 
บรรดาพระพี่เลี้ยงนางนมที่เฝ้าถวายบำรุงรักษาพระกุมาร 
พากันหลีกออกมาดูพิธีนั้นเสียหมด 
คงปล่อยให้พระกุมารประทับ ณ ภายใต้ร่มไม้หว้าพระองค์เดียว



เมื่อพระกุมารเสด็จอยู่พระองค์เดียว ได้ความสงัดเป็นสุข 
ก็ทรงนั่งขัดสมาธิเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน ยังปฐมฌานให้บังเกิด 
ในเวลานั้นเป็นเวลาบ่าย เงาแห่งต้นไม้ทั้งหลาย ย่อมชายไปตามแสงตะวันทั้งสิ้น 
แต่เงาไม้หว้านั้นดำรงทรงรูปปรากฏเป็นปริมณฑลตรงอยู่ดุจเวลาตะวันเที่ยง 
เป็นมหัศจรรย์ เมื่อนางนมพี่เลี้ยงทั้งหลายกลับมา เห็นปาฏิหาริย์ดังนั้นก็พลันพิศวง
จึงรีบไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะราช ๆ 
ได้ทรงสดับก็เสด็จมาโดยเร็ว 
ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์เป็นมหัศจรรย์เช่นนั้น 
ก็ยกพระหัตถ์ถวายอภิวันทนาการ ออกพระโอฐดำรัสว่า 
เมื่อวันเชิญมาให้ถวายนมัสการพระกาฬเทวิลดาบส
ก็ทรงทำปาฏิหาริย์ขึ้นไปยืนบนชฏาพระดาบส 
อาตมะก็ประณตครั้งหนึ่งแล้ว 
และครั้งนี้อาตมะก็ถวายอัญชลีเป็นวาระที่สอง 
ตรัสแล้วให้เชิญพระกุมารเสด็จคืนเข้าพระนคร ด้วยความเบิกบานพระทัย

ครั้นจำเนียรกาลมา พระสิทธัตถกุมารเจริญพระชนมพรรษาได้ 7 ขวบ 
พระราชบิดาจึงโปรดให้ขุดสระโบกขรณี 3 สระ 
ปลูกปทุมบัวหลวงสระ 1 ปลูกปุณฑริกบัวขาวสระ 1 ปลูกอุบลบัวขาบสระ 1 
จัดให้มีเรือพายพร้อมสรรพ เพื่อให้พระกุมารและบริวารน้อย ๆ ทรงเล่นเป็นที่สำราญพระทัย 
กับทรงจัดเครื่องทรง คือจันทน์สำหรับทา ผ้าโผกพระเศียร ฉลองพระองค์ ผ้าทรงสะพัก พระภูษา 
ล้วนเป็นของมาแต่แคว้นกาสี ซึ่งนิยมว่าเป็นของประณีต ของดี ในเวลานั้นทั้งสิ้น 
มีคนคอยกั้นเศวตฉัตร (คือพระกลดขาว ซึ่งนับว่าเป็นของสูง) 
ทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อจะมิให้เย็นร้อนธุลีละออง แดด น้ำค้าง มาถูกต้องพระกายได้

ทรงศึกษาศิลปวิทยา




เมื่อพระสิทธัตถะกุมารมีพระชนม์เจริญ 
ควรจะศึกษาศิลปวิทยาได้แล้ว 
พระราชบิดาจึงทรงพาไปมอบไว้ในสำนักครูวิศวามิตร 
พระกุมารทรงเรียนได้ว่องไว จนสิ้นความรู้ของอาจารย์สิ้นเชิง 





ต่อมาได้ทรงแสดงศิลปธนู ซึ่งถือว่าเป็นวิชาสำคัญสำหรับกษัตริย์ 
ในท่ามกลางขัตติยวงศ์ศากยราช และเสนามุขอำมาตย์ 
แสดงความแกล้วกล้าสามารถเป็นเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเทียมถึง ให้ปรากฏเป็นอัศจรรย์ 



ทรงอภิเษกสมรส




ครั้นพระกุมารมีพระชันษาได้ 16 ปี ควรมีพระเทวีได้แล้ว 
พระราชบิดาตรัสสั่งให้สร้างปราสาท 3 หลัง คือ 
วัมยปราสาท 1 สุรัมยปราสาท 1 สุภปราสาท 1 
เพื่อเป็นที่เสด็จประทับอยู่ของพระราชโอรสใน 3 ฤดูกาล คือ 
ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน 
ตกแต่งปราสาท 3 หลังนั้นงดงามสมพระเกียรติ เป็นที่สบายในฤดูนั้น ๆ 



แล้วตรัสขอ พระนางยโสธรา แต่นิยมเรียกว่า พระนางพิมพา พระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ 
ในเทวทหนคร อันประสูติแต่พระนางอมิตา พระกนิฏฐภคินีของพระองค์ 
มาอภิเษกเป็นพระชายา พระสิทธัตถะกุมารเสด็จอยู่บนปราสาททั้ง 3 หลังนั้น ตามฤดูทั้ง 3 
บำเรอด้วยดนตรีล้วน แต่สตรีประโคมขับ ไม่มีบุรุษเจือปน 
เสวยสุขสมบัติทั้งกลางวันกลางคืน 
จนพระชนม์ได้ 29 ปี มีพระโอรสประสูติแต่นางยโสธราพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ราหุลกุมาร



พระสิทธัตถะบริบูรณ์ด้วยความสุขตั้งแต่ทรงพระเยาว์ 
จนทรงพระเจริญวัยเห็นปานนี้ ก็เพราะเป็นพระราชโอรสสุขุมาลชาติ 
ยิ่งพระราชบิดาและพระญาติวงศ์ ได้ทรงฟังคำทำนายของอสิตดาบส และพราหมณ์ทั้ง 8 นาย 
ว่ามีคติเป็นสอง คือจะต้องประสบอย่างใดอย่างหนึ่ง 
ถ้าอยู่ครองสมบัติ จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ 
ถ้าออกบรรพชาจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก 
ก็จำเป็นอยู่เองที่พระองค์จะปรารถนาให้พระกุมารอยู่ครองสมบัติ 
มากกว่าที่จะยอมให้ออกบรรพชา จึงต้องคิดอุบายรักษาผูกพันพระกุมารไว้ให้เพลินเพลินในกามสุขอย่างนี้

จบเหตุการณ์หลังประสูติ จนถึงวัยทรงพระเยาว์


พระพุทธพจน์ที่กล่าวเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนี้


ประกอบด้วยมหาปุริสลักขณะ 32 



“....ภิกษุ ท. ! มหาบุรุษ (คือพระองค์เองก่อนผนวช) ผู้ประกอบด้วย มหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการ 
ย่อมมีคติเป็นสอง หาเป็นอย่างอื่นไม่ คือ:- 
ถ้าเป็นฆราวาส ย่อมเป็นจักรพรรดิผู้ประกอบด้วยธรรม เป็นพระราชา โดยธรรม 
มีแว่นแคว้นจดมหาสมุทรทั้งสี่เป็นที่สุด มีชนบทอันบริบูรณ์ ประกอบ ด้วยแก้ว 7 ประการ. 
แก้ว 7  ประการ ย่อมเกิดแก่มหาบุรุษนั้นคือ 
จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คหบดีแก้ว และปริณายกแก้ว เป็นที่ 7. 
มีบุตรผู้กล้าหาญ มีแววแห่งคนกล้าอันใคร ๆ จะย่ํายีมิได้ ตามเสด็จกว่า 1000 หนึ่ง
มหาบุรุษนั้นชนะแล้วครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นที่สุดโดยรอบ, 
ไม่มีหลักตอ เสี้ยนหนาม มั่งคั่ง เบิกบาน เกษม ร่มเย็น ปราศจากเสนียดคือโจร, 
ทรง ครอบครองโดยธรรมอันสม่ําเสมอ มิใช่โดยอาญาและศาสตรา. 
ถ้า ออกบวชจากเรื่อน เป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกื้อกูลด้วยเรือน 
ย่อมเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกิเลสเครื่องปกปิดอันเปิดแล้ว ในโลก. 
ภิกษุ ท.! มหาปุริสลักขณะ 32  ประการนั้น เหล่าไหนเล่า?  คือ:- 
  1. มหาบุรุษ มีพื้นเท้าสม่ําเสมอ
  2. มหาบุรุษ ที่ฝ่าเท้ามีจักรเกิดแล้ว, มีซี่ตั้งพัน พร้อมทั้งกงและดุม
  3. มหาบุรุษ มีส้นเท้ายาว
  4. มหาบุรุษ มีข้อนิ้วยาว
  5. มหาบุรุษ มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนละมุน
  6. มหาบุรุษ มีลายฝ่ามือฝ่าเท้าดุจตาข่าย
  7. มหาบุรุษ มีข้อเท้าอยู่สูง
  8. มหาบุรุษ มีแข้งดุจแข้งเนื้อทราย
  9. มหาบุรุษ ยืนไม่ย่อตัวลง แตะเข่าได้ด้วยมือทั้งสอง
  10. มหาบุรุษ มีองคชาตตั้งอยู่ในฝัก
  11. มหาบุรุษ มีสีกายดุจทอง คือมีผิวหนังดุจทอง
  12. มหาบุรุษ มีผิวหนังละเอียด ละอองจับไม่ได้
  13. มหาบุรุษ มีขนขุมละเส้น เส้นหนึ่ง ๆ อยู่ขุมหนึ่ง ๆ
  14. มหาบุรุษ มีปลายขนช้อนขึ้น สีดุจดอกอัญชัน ขึ้นเวียนขวา
  15. มหาบุรุษ มีกายตรงดุจกายพรหม
  16. มหาบุรุษ มีเนื้อนูนหนาในที่ 7 แห่ง (คือหลังมือหลังเท้าบ่าคอ)
  17. มหาบุรุษ มีกายข้างหน้า ดุจราชสีห์
  18. มหาบุรุษ มีหลังเต็ม (ไม่มีร่องหลัง)
  19. มหาบุรุษ มีทรวดทรงดุจต้นไทย กายกับวาเท้ากัน
  20. มหาบุรุษ มีคอ กลมเกลี้ยง
  21. มหาบุรุษ มีประสาทรับรสอันเลิศ
  22. มหาบุรุษ มีคางดุจคางราชสีห์
  23. มหาบุรุษ มีฟัน 40  ซี่บริบูรณ์
  24. มหาบุรุษ มีฟันเรียบเสมอ
  25. มหาบุรุษ มีฟันสนิท (ชิด)
  26. มหาบุรุษ มีเขี้ยวสีขาวงาม
  27. มหาบุรุษ มีลิ้น (ใหญ่และยาว) เพียงพอ
  28. มหาบุรุษ มีเสียงดุจเสียงพรหม พูดเหมือน นกการวิก
  29. มหาบุรุษ มีตาเขียวสนิท (สีนิล)
  30. มหาบุรุษ มีตาดุจตาวัว
  31. มหาบุรุษ มีอุณาโลมหว่างคิ้ว ขาวอ่อนเหมือนสําลี
  32. มหาบุรุษ มีศีรษะรับกับกรองหน้า
ภิกษุ ท. ! นี้เป็นมหาปุริสลักขณะ 32  ประการ ของมหาบุรุษ.

บาลี ลักขณสูตร ปา. ที. ๑๑/๑๕๗/๑๓๐.
ตรัสแก่ภิกษุ ท. ที่เชตวัน.



บุรพกรรมของการได้มหาปุริสลักขณะ



.....“ภิกษุ ท.! พวกฤาษีภายนอก จํามนต์มหาปุริสลักขณะได้ก็จริง 
แต่หารู้ไม่ว่า การที่มหาบุรุณได้ลักขณะอันนี้ ๆ เพราะทํากรรมเช่นนี้ ๆ : 

ก. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน 
ในภพที่อยู่ อาศัยก่อน ได้เป็นผู้บากบั่นในกุศล 
ถือมั่นในการสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต, ในการบริจาคทาน การสมาทานศีล 
การรักษาอุโบสถการปฏิบัติมารดา บิดา 
การปฏิบัติสมณพราหมณ์ การอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล และในอธิกุศลธรรม อื่น
เพราะได้กระทํา ได้สร้างสม ได้พอกพูน ได้มั่วสุมกรรมนั้น ๆ ไว้, 
ภายหลัง แต่การตาย เพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ตถาคตนั้นถือเอาใน เทพเหล่าอื่นโดย ฐานะ 10 คือ 
อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิบดีทิพย์
รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ สัมผัสทิพย์; 
ครั้นจุติจากภพนั้น มาสู่ความเป็นมนุษย่อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ 
มีฝ่าเท้าเสมอ จดลง ก็เสมอ ยกขึ้นก็เสมอฝ่าเท้าถูกต้องพื้นพร้อมกัน...ลักขณะที่, 
ย่อมเป็นผู้ไม่หวาดหวั่นต่อข้าศึกทั้งภายในและภายนอก
คือราคะ โทสะ โมหะ ก็ตาม สมณะ พราหมณ์ เทวดา
มาร พรหม หรือใคร ๆ ก็ตาม ในโลก ที่เป็นศัตรู

ข. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....(เว้นจุดไว้ คือ เหมือนกับข้อ ก.)
ได้เป็นผู้นํา สุขมาให้แก่มหาชนเป็นผู้บรรเทาภัยคือความสะดุ้งหวาดเสียว 
จัดการคุ้มครอง รักษาโดยธรรม ได้ถวายทานมีเครื่องบริวาร
เพราะได้กระทํา....กรรม นั้น ๆ ไว้..ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ 
ภายใต้ฝ่าเท้ามีจักรทั้งหลายเกิดขึ้น มีซี่ตั้งพัน พร้อมด้วยกงและดุม บริบูรณ์ ด้วยอาการทั้งปวง
มีระยะอันจัดไว้ด้วยดี....(ลักขณะที่ 2), ย่อมเป็นผู้มีบริวาร มาก, 
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกอุบาสิกา เทวดามนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ย่อมเป็น บริวารของตถาคต. 

ค. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน..ได้เป็นผู้เว้น จากปาณาติบาต 
วางแล้วซึ่งศาสตราและอาชญา มีความละอาย เอ็นดู กรุณา เกื้อกูลแก่สัตว์มีชีวิตทั้งปวง
เพราะ...กรรมนั้น ๆ ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะทั้ง 3 ข้อนี้ คือ
มีส้นยาว มีข้อนิ้วยาว มีกาย ตรงดุจกายพรหม.... ลักขณะที่ 3,4,15, 
ย่อมเป็นผู้มีชนมายุยืนยาวตลอด กาลนาน;
สมณะหรือพราหมณ์เทวดา มาร พรหม ก็ตาม หรือใคร ๆ ที่เป็นศัตรู 
ไม่สามารถปลงชีวิตตถาคตเสียในระหว่างได้. 

ง. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ได้เป็นผู้ให้ทาน 
ของควรเคี้ยวควรบริโภค ควรลิ้ม ควรจิบ ควรดื่ม มีรสอันประณีต. เพราะ …กรรมนั้น ๆ..
ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้ว จึงได้มหาปุริสลักขณะ ข้อนี้คือ มีเนื้อนูนหนาในที่ 7 แห่ง
คือที่มือทั้งสอง ที่เท้าทั้งสอง ที่บ่าทั้งสอง และที่คอ…ลักขณะที่ 16,
ย่อมได้ของควรเคี้ยว ควรบริโภค ควรลิ้ม ควรจิบ ควรดื่ม อันมีรสประณีต
จ. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....ได้สงเคราะห์ผู้อื่นด้วยสังคหวัตถุทั้งสี่ คือ 
การให้สิ่งของ วาจาที่ไพเราะ การประพฤติ ประโยชน์ผู้อื่น และความมีตนเสอมกัน
เพราะ..กรรม นั้น ๆ....ครั้นมาสู่ ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้ว จึงได้มหาปุริสลักขณะ 2 ข้อนี้คือ
มีมือและเท้า อ่อนนุ่ม มีลายฝ่ามือฝ่าเท้าดุจตาข่าย....(ลักขณะที่ 5,6), 
ย่อมเป็นผู้สงเคราะห์ บริษัท คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกอุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์
ย่อมได้รับความสงเคราะห์จากตถาคต. 

ฉ. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....ได้เป็นผู้กล่าว วาจาประกอบด้วยอรรถด้วยธรรม
แนะนําชนเป็นอันมาก เป็นผู้นําประโยชน์สุข มาให้แก่ชนทั้งหลาย ตนเองก็เป็นผู้บูชาธรรม. 
เพราะ....กรรมนั้น ๆ.... ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ 2 ข้อนี้ คือ
มีข้อเท้าสูง มีปลายขนช้อนขึ้น....ลักขณะที่ 7,14, 
ย่อมเป็นผู้เลิศประเสริฐเยี่ยมสูงกว่า สัตว์ทั้งหลาย. 

ช. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....
ได้เป็นผู้บอก ศิลปวิทยา ข้อประพฤติ ด้วยความเคาพร 
ด้วยหวังว่าสัตว์เหล่านั้นพึงรู้ได้รวด เร็วพึงปฏิบัติได้รวดเร็ว ไม่พึงเศร้าหมองสิ้นกาลนาน
เพราะ....กรรมนั้น ๆ ....ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ 
มีแข้งดังแข้งเนื้อ…ลักขณะที่ 8, 
ย่อมได้วัตถุอันควรแก่สมณะ เป็นองค์แห่งสมณะ เป็นเครื่องอุปโภคแก่สมณะ โดยเร็ว. 

ซ. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....
ได้เป็นผู้เข้าไป หาสมณพราหมณ์แล้วสอบถามว่า 
“ท่านผู้เจริญ ! อะไรเป็นกุศล อะไรเป็น อกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ 
อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ ทําอะไร ไม่มีประโยชน์ เป็นทุกข์ไปนาน 
ทําอะไรมีประโยชน์ เป็นสุขไปนานเพราะ....กรรมนั้น ๆ.... ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ 
จึงได้มหาปุริสลักขณะ ข้อนี้คือมีผิวละเอียดอ่อน ธุลีไม่ติดอยู่ได้....ลักขณะที่ 12, 
ย่อมเป็นผู้มีปัญญาใหญ่ มีปํญญาหนาแน่น มีปัญญาเครื่องปลื้มใจ 
ปัญญาแล่นปัญญาแหลม ปัญญา แทงตลอด,
ไม่มีสัตว์อื่นเสมอ หรือยิ่งไปกว่า. 

ฌ. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....
ได้เป็นผู้ไม่ มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความแค้น แม้ชนเป็นอันมาก ว่ากล่าวเอา 
ก็ไม่เอาใจใส่ ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่คุ่มแค้น 
ไม่แสดงความโกรธ ความร้ายกาจ ความเสีย ใจให้ปรากฏ. 
ทั้งเป็นผู้ให้ทานผ้าเปลือกไม้ ผ้าด้าย ผ้าไหม 
ผ้าขนสัตว์ สําหรับลาดและนุ่งห่ม อันมีเนื้อละเอียดอ่อน. 
เพราะ....กรรมนั้น ๆ.... ครั้นมาสู่ความ เป็นมนุษย่อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ 
มีกายดุจทอง มีผิวดุจทอง ลักขณะที่ 11, 
ย่อมเป็นผู้ได้ผ้าเปลือกไม้ ผ้าด้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ สําหรับลาดและห่ม มีเนื้อละเอียดอ่อน

ญ. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....
ได้เป็นผู้สมาน ญาติมิตร สหายชาวเกลอ ผู้เหินห่างแยกกันไปนาน, 
ได้สมานไมตรีมารดา กับบุตร บุตรกับมารดา บิดากับบุตร บุตรกับบิดา 
พี่น้องชายกับพี่น้องหญิง พี่น้องหญิงกับพี่น้องชาย, 
ครั้นทําความสามัคคีแล้ว พลอยชื่นชมยินดีด้วย. 
เพราะ....กรรมนั้น ๆ....ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ 
จึงได้มหาปุริสลักขณะ ข้อนี้คือ มีคุยหฐาน(อวัยวะที่ลับ) ซ่อนอยู่ในฝัก.... (ลักขณะที่ 10), 
ย่อมเป็น ผู้มีบุตร (สาวก) มากมีบุตรกล้าหาญ 
มีแววแห่งคนกล้าอันเสนาแห่งบุคคลอื่น จะย่ํายีมิได้หลายพัน. 

ฎ. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ได้เป้นผู้สังเกต ชั้นเชิงของมหาชน 
รู้ได้สม่ําเสมอ รู้ได้เอง รู้จักบุรุษธรรมดา และบุรุษพิเศษ ว่าผู้นี้ ควรแก่สิ่งนี้ ๆ,
ได้เป็นผู้ทําประโยชน์อย่างวิเศษในชนชั้นนั้น. 
เพราะ.... กรรมนั้น ๆ.... ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ 
จึงได้มหาปุริสลักขณะ 2 ข้อนี้ คือ
มีทรวดทรงดุจต้นไทร, ยืนตรงไม่ย่อกาย ลูบถึงเข่าได้ด้วยมือทั้งสอง.... ลักขณะที่ 19-9, 
ย่อมมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก. ทรัพย์ของตถาคต เหล่านี้คือ 
ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริทรัพย์คือโอตตัปปะ 
ทรัพย์คือการศึกษา (สุตะ) ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา

ฐ. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....ได้เป็นผู้ใคร่ต่อประโยชน์ 
ใคร่ต่อความเกื้อกูล ใคร่ต่อความผาสุข ใคร่ต่อความเกษมจากโยคะ 
แก่ชนเป็นอันมาก ว่า 
“ไฉนชนเหล่านี้พึงเป็นผู้เจริญด้วยศรัทธา ด้วยศีล ด้วยการ ศึกษา ด้วยความรู้  
ด้วยการเผื่อแผ่ ด้วยธรรม ด้วยปัญญา ด้วยทรัพย์ และ ข้าวเปลือก ด้วยนาและสวน 
ด้วยสัตว์สองเท้าสี่เท้า ด้วยบุตรภรรยา ด้วยทาส กรรมกรและบุรุษ 
ด้วยญาติมิตรและพวกพ้อง”. 
เพราะ....กรรมนั้น ๆ....ครั้นมาสู่ ความเป็นมนุษย่อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ 3 ข้อนี้ คือ
มีกึ่งกายเบื้องหน้า ดุจสีหะ, มีหลังเต็ม, มีคอกลม.. ลักขณะที่ 17-18-20, 
ย่อมเป็นผู้ ไม่เสื่อมเป็นธรรมดาคือไม่เสื่อมจากศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปํญญา, 
ไม่เสื่อม จากสมบัติทั้งปวง.

ฑ. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....
ได้เป็นผู้ไม่เบียด เบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือก็ตาม 
ก้อนดินก็ตาม ท่อนไม่ก็ตาม ศาสตรา ก็ตาม.
เพราะ....กรรมนั้น ๆ....ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ 
จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือมีประสาทรับรสอันเลิศ 
มีปลายขึ้นเบื้องบน เกิดแล้วที่คอ รับรสโดยสม่ําเสมอ....ลักขณะที่ 21,
ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย มีวิบากอันสม่ําเสมอ ไม่เย็นเกินร้อนเกิน พอควรแก่ความเพียร

ฒ. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....
ได้เป็นผู้ ไม่ถลึงตา ไม่ค่อนควักไม่จ้องลับหลัง, 
เป็นผู้แช่มชื่นมองดูตรง ๆ มองดูผู้อื่น ด้วยสายตาอันแสดงความรัก
เพราะ....กรรมนั้น ๆครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ 2 ข้อนี้ 
คือมีตาเขียวสนิท, มีตาดุจตาโค.... 
จึงได้มหาปุริสลักขณะ 2 อย่างนี้ คือมีฟันครบ ๔๐ ซี่ มีฟันสนิท ไม่ห่างกัน ....ลักขณะที่ 23-25, 
ย่อมเป็นผู้มีบริษัทไม่กระจัดกระจาย คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ 

ถ. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....
ได้เป็นผู้ละเว้น การกล่าวคําหยาบ, กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เป็นสุขแก่หู
เป็นที่ตั้งแห่งความรัก ซึมซาบถึงใจ เป็นคําพูดของชาวเมือง
เป็นที่พอใจและชอบใจของชนเป็น อันมาก. 
เพราะ....กรรมนั้น ๆครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ 2 ข้อนี้ คือ
มีลิ้นอันเพียงพอ, มีเสียงเหมือนพรหม พูดเหมือนนกการวิก....ลักขณะที่ 27-28, 
ย่อมเป็นผู้มีวาจาที่ผู้อื่นเอื้อเฟื้อ เชื่อฟัง, คือ ภิกษุ ภิกษุณีอุบาสก อุบาสิกา
 เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เอื้อเฟื้อเชื่อฟัง. 

ธ. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....
ได้เป็นผู้ละเว้น การพูดเพ้อเจ้อ,เป็นผู้กล่าวควรแก่เวลา กล่าวคําจริง กล่าวเป็นธรรม
กล่าวมีอรรถ กล่าวเป็นวินัย กล่าวมีที่ตั้ง มีหลักฐาน มีที่สุด ประกอบด้วย ประโยชน์. 
เพราะ....กรรมนั้น ๆครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้ คือ
คือมีคางดุจคางราชสีห์....ลักขณะที่ 22, ย่อมเป็นผู้ที่ ศัตรูทั้งภายในและภายนอกกําจัดไม่ได้ :
ศัตรู คือ ราคะ โทสะ โมหะ หรือ สมณะ พราหมณ์เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆในโลก กําจัดไม่ได้. 

น. ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน....
ได้เป็นผู้ละ มิจฉาชีพ มีการเลี้ยงชีพชอบ เว้นจากการฉ้อโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม
ด้วยเครื่องตวงเครื่องวัด จากการโกงการลวง เว้นจากการตัด การฆ่า การผูกมัด
การร่วมทําร้าย การปล้น การกรรโชก. 
เพราะ....กรรมนั้น ๆครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ 2 ข้อนี้ คือนั้น คือ
มีฟันอันเรียบเสมอมีเขี้ยวขาวงาม....ลักขณะที่ 24-26, ย่อมเป็นผู้มีบริวารเป็นคนสะอาด คือ
มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เป็นบริวาร อันสะอาด.

บาลี ลักขณสูตร ปา. ที. ๑๑/๑๕๙-๑๙๓/๑๓๐-๑๗๑.

ประสูติได้ ๗ วัน พระชนนีทิวงคต


....ถูกแล้วอานนท์ ! ถูกแล้วอานนท์ ! จริงเทียว มารดาแห่งโพธิสัตว์มีชนมายุน้อย. เมื่อประสูติพระโพธิสัตว์แล้วได้ ๗ วัน มารดาแห่งโพธิสัตว์ย่อมสวรรคต, ย่อมเข้าถึงเทวนิกาย ชั้นดุสิต.

ความตอนนี้ ตรัสแก่พระอานนท์. 

บาลี อัปปายุกสูตร โสณัตเถรวรรค อุ.ขุ.๒๕/๑๔๕/๑๑๑


ทรงได้รับการบำเรอ


ภิกษุ ท.! เราเป็นผู้ละเอียดอ่อน ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ละเอียดอ่อนอย่างที่สุด ดังเราจะเล่าให้ฟัง, ภิกษุ ท.! เขาขุดสระ ๓ สระในวังแห่งบิดาของเรา, ในสระหนึ่งปลูกอุบล (บัวเขียว), สระหนึ่งปลูกปทุม (บัวหลวง), สระหนึ่งปลูกบุณฑริกะ (บัวขาว), เพื่อประโยชน์แก่เรา.

ภิกษุ ท.! มิใช่ว่าจันทน์ที่เราใช้อย่างเดียว ที่มาแต่เมืองกาสี, ถึงผ้าโพก, เสื้อ, ผ้านุ่ง ผ้าห่ม, ก็ล้วนมาแต่เมืองกาสี. ภิกษุ ท.! เขาคอยกั้นเศวตฉัตรให้เรา ด้วยหวังว่าความหนาว, ความร้อน, ละออง, หญ้า, หรือน้ำค้าง อย่าได้ถูกต้องเรา ทั้งกลางวันและกลางคืน.

ภิกษุ ท.! มีปราสาทสำหรับเรา ๓ หลัง ; หลังหนึ่งสำหรับฤดูหนาว หลังหนึ่งสำหรับฤดูร้อน, และหลังหนึ่งสำหรับฤดูฝน. เราอยู่บนปราสาทสำหรับฤดูฝน ตลอดสี่เดือนฤดูฝน ให้เขาบำเรออยู่ด้วยดนตรีอันปราศจากบุรุษ, ไม่ลงจากปราสาท.

ภิกษุ ท.! ในวังของบิดาเรา, เขาให้ข้าวสุกแห่งข้าวสาลีเจือด้วยเนื้อแก่ทาสและคนงาน (ดาษดื่น) เช่นเดียวกับที่ที่อื่นเขาให้ข้าวปลายเกรียนกับน้ำส้มแก่พวกทาสและคนใช้.*

ภิกษุ ท.! เมื่อเราเพียบพร้อมไปด้วยการได้ตามใจตัวถึงเพียงนี้ มีการได้รับความประคบประหงมถึงเพียงนี้ ความคิดก็ยังบังเกิดแก่เราว่า "บุถุชนที่มิได้ยินได้ฟัง ทั้งที่ตัวเองจะต้องแก่ ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้, แต่ครั้นเห็นคนอื่นแก่ ก็นึกอิดหนาระอาใจสะอิดสะเอียน ไม่นึกถึงตัวเสียเลย. ถึงเราเองก็เหมือนกัน จะต้องแก่ ไม่ข้ามพ้นความแก่ไปได้, แต่ว่าเมื่อจะต้องแก่ ไม่พ้นความแก่ไปได้แล้ว จะมาลืมตัว อิดหนาระอาใจ สะอิดสะเอียนเมื่อเห็นคนอื่นแก่นั้น ไม่เป็นการสมควรแก่เรา." ภิกษุ ท.! เมื่อเราพิจารณาได้เช่นนี้ ความมัวเมาในความหนุ่ม ของเรา ได้หายไปหมดสิ้น.

ภิกษุ ท.! บุถุชนที่ไม่ได้ยินได้ฟัง ทั้งที่ตัวเองจะต้องเจ็บไข้ ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้, ครั้นเห็นคนอื่นเจ็บไข้ ก็นึกอิดหนาระอาใจสะอิดสะเอียนไม่นึกถึงตัวเสียเลย. ถึงเราเองก็เหมือนกัน จะต้องเจ็บไข้ ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้, แต่ว่าเมื่อจะต้องเจ็บไข้ ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้แล้ว จะมาลืมตัวอิดหนาระอาใจ สะอิดสะเอียนเมื่อเห็นคนอื่นเจ็บไข้นั้น ไม่การสมควรแก่เรา. ภิกษุ ท.! เมื่อเราพิจารณาได้เช่นนี้ ความมัวเมาในความไม่มีโรค ของเราก็หายไปหมดสิ้น.

ภิกษุ ท.! บุถุชนที่ไม่ได้ยินได้ฟัง ทั้งที่ตัวเองจะต้องตาย ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้, ครั้นเห็นคนอื่นตาย ก็อิดหนาระอาใจสะอิดสะเอียน ไม่นึกถึงตัวเสียเลย. ถึงเราเองก็เหมือนกัน จะต้องตาย ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้, แต่ว่าเมื่อจะต้องตาย ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้แล้ว จะมาลืมตัว อิดหนาระอาใจ สะอิดสะเอียนเมื่อเห็นคนอื่นตายนั้น ไม่เป็นการสมควรแก่เรา. ภิกษุ ท.! เมื่อเราพิจารณาได้เช่นนี้ ความมัวเมาในชีวิตความเป็นอยู่ ของเราได้หายไปหมดสิ้น.

บาลี นวมสูตร เทวทูตวรรค ปฐมปัณณาสก์ ติก. อํ. ๒๐/๑๘๓/๔๗๘.


กามสุขกับความหน่าย


....มาคัณฑิยะ ! ครั้งเมื่อเรายังเป็นคฤหัสถ์ ประกอบการครองเรือนได้อิ่มพร้อมไปด้วยกามคุณทั้งห้า ให้เขาบำเรอตนด้วยรูปที่เห็นได้ด้วยจักขุ, ด้วยเสียงที่ฟังได้ด้วยหู, ด้วยกลิ่นอันดมได้ด้วยจมูก, ด้วยรสอันลิ้มได้ด้วยลิ้น, ด้วยโผฏฐัพพะอันสัมผัสได้ด้วยกาย ล้วนแต่ที่สัตว์อยากได้ รักใคร่พอใจ ยวนใจเข้าไปตั้งไว้ซึ่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งราคะ.

มาคัณฑิยะ ! ปราสาทของเรานั้น มีแล้ว ๓ แห่ง ปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน, ปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูหนาว, ปราสาทหนึ่งสำหรับฤดูร้อน. มาคัณฑิยะ ! เราให้บำเรอตนอยู่ด้วยดนตรี ล้วนแต่สตรี ไม่มีบุรุษเจือปน ณ ปราสาทเป็นที่อยู่ในฤดูฝนสี่เดือน ไม่ลงจากปราสาท. ครั้นล่วงไปถึงสมัยอื่นมามองเห็นเหตุเป็นที่บังเกิด, และ ความที่ตั้งอยู่ไม่ได้, และ ความอร่อย, และโทษอันต่ำทราม, และอุบายเป็นเครื่องออกไปพ้น, แห่งกาม ท. ตามเป็นจริง, จึงละความอยากในกามเสีย บรรเทาความเดือดร้อนเพราะกาม ปราศจากความกระหายในกาม มีจิตสงบ ณ ภายใน. เรานั้น เห็นสัตว์เหล่าอื่น ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาม ถูกตัณหาในกามเคี้ยวกินอยู่ ถูกความกระวนกระวายในกามรุมเผาเอาอยู่ แต่ก็ยังขืนเสพกาม, เรามิได้ทะเยอทะยานตามสัตว์เหล่านั้น ไม่ยินดีในการเสพกามนั้นเลย. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุใด? มาคัณฑิยะ ! เพราะว่าคนเรา ถึงแม้ยินดีด้วยความยินดี ที่ปราศจากกาม หรือปราศจากอกุศลแล้ว** ก็ยังจัดเป็นสัตว์ที่เลวทรามอยู่, เราจึงไม่ทะเยอทะยานตามสัตว์เหล่านั้น ขืนเสพกามอีกเลย.

มาคัณฑิยะ ! คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมากเพรียบพร้อมด้วยกามคุณห้า ให้เขาบำเรอตนด้วย รูป, เสียง, กลิ่น, รส, และโผฏฐัพพะ อันสัตว์ปรารถนารักใคร่ชอบใจ ยั่วยวน, เข้าไปตั้งอยู่ด้วยความใคร่เป็นที่ตั้งแห่งราคะ. ถ้าหากเขานั้นประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เบื้องหน้าแต่กายแตกตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เป็นสหายกับเหล่าเทพในดาวดึงส์, เทพบุตรนั้น มีนางอัปสรแวดล้อมอยู่ในนันทวัน อิ่มหนำ เพียบพร้อมด้วยกามให้นางอัปสรบำเรอตนด้วยกามคุณห้าอันเป็นทิพย์ในดาวดึงส์นั้น. เทวบุตรนั้นหากได้เห็นคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดี (ในมนุษย์โลกนี้) อิ่มหนำเพียบพร้อมด้วยกาม ให้เขาบำเรอตนด้วยกามอยู่. มาคัณฑิยะ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร, เทพบุตรนั้นจะทะเยอทะยานต่อกามคุณของคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดีนั้นบ้างหรือหรือจะเวียนมาเพื่อกามอันเป็นของมนุษย์นี้บ้าง?

"พระโคดม ! หามิได้เลย เพราะว่ากามที่เป็นทิพย์ น่ารักใคร่กว่า ประณีตกว่า กว่ากามของมนุษย์."


บาลี มาคัณฑิยสูตร ปริพพาชกวรรค ม.ม. ๑๓/๒๗๔/๒๘๑. 

ครั้งหนึ่งประทับอยู่ ณ นิคมกัมมาสธัมมะ ในหมู่ชนชาวกุรุ พักอยู่กะพราหมณ์ภารทวาชโคตร ที่โรงบูชาไฟ มีเครื่องลาดล้วนไปด้วยหญ้า. มาคัณฑิยปริพพาชกเพื่อนของภารทวาชพราหมณ์ได้มาเยี่ยม ในที่สุดได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อได้ตรัสความที่พระองค์ทำลายความยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะให้ปริพพาชกนั้นเลื่อมใสแล้ว ได้ตรัสเล่าพระประวัติตอนนี้เพื่อแสดงความที่ได้เคยเสวยกามสุขมาแล้วอย่างมาก และความรู้สึกหน่ายในกามนั้น.



ทรงหลงกามและหลุดจากกาม


ดูก่อนมหานาม ! ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ แม้เป็นผู้มีสติระลึกได้ว่า "กามทั้งหลาย มีรสที่น่ายินดีน้อยมีทุกข์มาก, มีความคับแค้นมาก, โทษอันแรงร้ายมีอยู่ในกามนั้นอย่างยิ่ง" ก็ดีแต่เรานั้นยังไม่ได้บรรลุสุขอันเกิดแต่ปีติ หรือธรรมอื่นที่สงบยิ่งไปกว่าปีติสุขนั้น, นอกจากได้เสวยแต่กาม และอกุศลธรรมอย่างเดียว; เราจึงเป็นผู้หมุนกลับจากกามไม่ได้, ไม่รู้อย่างแจ่มแจ้งในกามทั้งหลาย อยู่เพียงนั้น.

ดูก่อนมหานาม ! เมื่อใด เป็นอันว่าเราได้เห็นข้อนี้อย่างดี ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงว่า "กามทั้งหลาย มีรสที่น่ายินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก, โทษอันแรงร้าย มีอยู่ในกามนั้นอย่างยิ่ง" แล้ว; ....เมื่อนั้นเราก็เป็นผู้ไม่หมุนกลับมาสู่กามทั้งหลาย รู้จักกามทั้งหลายอย่างแจ่มแจ้งได้.

บาลี จูฬทุกขักขันธสูตร สีหนาทวรรค มู.ม. ๑๒/๑๘๐/๒๑๑.
ตรัสแก่ท้าวมหานาม ที่นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น