วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พระวินัย อนิยตกัณฑ์ ว่าด้วยอาบัติอันไม่แน่ว่า จะควรปรับในข้อไหน

พระวินัย อนิยตกัณฑ์ 

ว่าด้วยอาบัติอันไม่แน่ว่า จะควรปรับในข้อไหน


อิเม โข ปนายสฺมนฺโต เทฺว อนิยตา ธมฺมา อุทฺเทสํ อาคจฺฉนฺติ.

อนิยตสิกขาบทที่ 1 วิธีปรับอาบัติเพราะนั่งในที่ลับตากับหญิงสองต่อสอง


1. โย ปน ภิกฺขุ มาตุคาเมน สทฺธึ เอโก เอกาย รโห ปฏิจฺฉนฺเน อาสเน อลงฺกมฺมนิเย นิสชฺชํ กปฺเปยฺย ตเมนํ สทฺเธยฺยวจสา อุปาสิกา ทิสฺวา ติณฺณํ ธมฺมานํ อญฺญตเรน วเทยฺย ปาราชิเกน วา สงฺฆาทิเสเสน วา ปาจิตฺติเยน วา นิสชฺชํ ภิกฺขุ ปฏิชานมาโน ติณฺณํ ธมฺมานํ อญฺญตเรน กาเรตพฺโพ ปาราชิเกน วา สงฺฆาทิเสเสน วา ปาจิตฺติเยน วา เยน วา สา สทฺเธยฺยวจสา อุปาสิกา วเทยฺย เตน โส ภิกฺขุ กาเรตพฺโพ. อยํ ธมฺโม อนิยโต.

“อนึ่ง ภิกขุใดรูปเดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือในอาสนะกำบัง พอจะทำการได้กับมาตุคามผู้เดียว อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้เห็นภิกขุกับมาตุคามนั้นนั่นแล้ว พูดขึ้นด้วยธัมม์ 3 ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือด้วยปาราชิกก็ดี ด้วยสังฆาทิเสสก็ดี ด้วยปาจิตตีย์ก็ดี ภิกขุปฏิญาณซึ่งการนั่ง พึงถูกปรับด้วยธัมม์ 3 ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยปาราชิกบ้าง ด้วยสังฆาทิเสสบ้าง ด้วยปาจิตตีย์บ้าง อีกอย่างหนึ่ง อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้นั้น กล่าวด้วยธัมม์ใด ภิกขุนั้นพึงถูกปรับด้วยธัมม์นั้น ธัมม์นี้ชื่อ อนิยต.”

ต้นบัญญัติ
เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี 
สมัยนั้น พระอุทายี เป็นผู้เข้าสู่สกุลมากด้วยกัน ในกรุงสาวัตถี 
วันหนึ่งเข้าไปนั่งในห้องลับตาสองต่อสองกับหญิงสาว สนทนาบ้าง กล่าวธรรมบ้าง
นางวิสาขาได้รับเชิญไปสู่สกุลนั้น เห็นเข้า จึงทักท้วงว่าเป็นการไม่สมควร ก็ไม่เอื้อเฟื้อ เชื่อฟัง
ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวนได้ความเป็นสัตย์แล้ว 
จึงทรงติเตียน และทรงบัญญัติสิกขาบท ใจความว่า ภิกษุนั่งในที่ลับตาสองต่อสองกับหญิงเป็นที่อันพอจะประกอบกรรมได้ 
ถ้าอุบาสิกา ผู้มีวาจาควรเชื่อได้ กล่าวว่า ภิกษุต้องอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่าง คือ 
อาบัติปาราชิก (เพราะเสพเมถุน) ก็ตาม , 
อาบัติสังฆาทิเสส (เพราะถูกต้องกายหญิง หรือเกี้ยวหญิง เป็นต้น) ก็ตาม, 
อาบัติปาจิตตีย์ (เพราะนั่งในที่ลับสองต่อสองกับหญิง) ก็ตาม. 
ถ้าภิกษุผู้นั่งในที่ลับตารับสารภาพอย่างไร ในอาบัติ 3 อย่าง 
ก็พึงปรับอาบัติเธอตามสารภาพนั้น หรือปรับตามที่ถูกกล่าวหานั้น (สุดแต่อย่างไหนจะเหมาะสม)

วิภังค์

ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่หญิงยักษ์ ไม่ใช่หญิงเปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย โดยที่สุด แม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น ไม่ต้องพูดถึงหญิงผู้ใหญ่

ที่ชื่อว่า ในที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตา 1 ที่ลับหู 1

ที่ลับตา ได้แก่ ที่ซึ่งเมื่อภิกขุหรือมาตุคามขยิบตา ยักคิ้ว หรือชูศีรษะไม่มีใครสามารถจะแลเห็นได้

ที่ลับหู ได้แก่ ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่พูดตามปกติได้

อาสนะที่ชื่อว่า กำบัง คือเป็นอาสนะที่เขากำบังด้วยฝา บานประตู

บทว่า พอจะทำการได้ คือ อาจเพื่อจะเสพเมถุนธัมม์ได้

คำว่า สำเร็จการนั่ง หมายความว่า เมื่อมาตุคามนั่งแล้ว ภิกขุนั่งใกล้หรือนอนใกล้ก็ดี
เมื่อภิกขุนั่งแล้ว มาตุคามนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ก็ดี นั่งทั้งสองคน หรือนอนทั้งสองคนก็ดี


อนิยตสิกขาบทที่ 2 วิธีปรับอาบัติเพราะนั่งในที่ลับหูกับหญิงสองต่อสอง


2. น เหว โข ปน ปฏิจฺฉนฺนํ อาสนํ โหติ นาลงฺกมฺมนิยํ อลญฺจ โข โหติ มาตุคามํ ทุฏฺฐุลฺลาหิ วาจาหิ โอภาสิตุํ. โย ปน ภิกฺขุ ตถารูเป อาสเน มาตุคาเมน สทฺธึ เอโก เอกาย รโห นิสชฺชํ กปฺเปยฺย, ตเมนํ สทฺเธยฺยวจสา อุปาสิกา ทิสฺวา ทฺวินฺนํ ธมฺมานํ อญฺญตเรน วเทยฺย สงฺฆาทิเสเสน วา ปาจิตฺติเยน วา นิสชฺชํ ภิกฺขุ ปฏิชานมาโน ทฺวินฺนํ ธมฺมานํ อญฺญตเรน กาเรตพฺโพ สงฺฆาทิเสเสน วา ปาจิตฺติเยน วา เยน วา สา สทฺเธยฺยวจสา อุปาสิกา วเทยฺย เตน โส ภิกฺขุ กาเรตพฺโพ. อยมฺปิ ธมฺโม อนิยโต.

“อนึ่ง สถานหาเป็นอาสนะกำบังไม่เลยทีเดียว หาเป็นที่พอจะทำการได้ไม่ แต่เป็นที่พอจะพูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบได้อยู่ แลภิกขุใดรูปเดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับด้วยมาตุคามผู้เดียว ในอาสนะมีรูปอย่างนั้น อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้เห็นภิกขุกับมาตุคามนั้นนั่นแล้ว พูดขึ้นด้วยธัมม์ 2 ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยสังฆาทิเสสก็ดี ด้วยปาจิตตีย์ก็ดี ภิกขุปฏิญาณซึ่งการนั่ง พึงถูกปรับด้วย ธัมม์ 2 ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยสังฆาทิเสสบ้าง ด้วยปาจิตตีย์บ้าง อีกอย่างหนึ่ง อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้นั้นกล่าวด้วยธัมม์ใด ภิกขุนั้นพึงถูกปรับด้วยธัมม์นั้น แม้ธัมม์นี้ก็คือ อนิยต.”

ต้นบัญญัติ
เล่าเรื่องสืบมาจากสิกขาบทก่อน. 
พระอุทายีเห็นว่าพระผู้มีพรภาคทรงบัญญัติสิกขาบท 
ห้ามนั่งในที่ลับตากับหญิงสองต่อสอง 
จึงนั่งในที่ลับสองต่อสองกับหญิงนั้น (ไม่ลับตา แต่ลับหู) สนทนาบ้าง กล่าวธรรมบ้าง
นางวิสาขาไปพบเข้าอีก จึงทักท้วงว่าไม่สมควรเช่นเคย พระอุทายีก็ไม่เอื้อเฟื้อเชื่อฟัง
ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ 
ทรงไต่สวนได้ความเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงติเตียน และทรงบัญญัติสิกขาบท ใจความว่า 
ภิกษุนั่งในที่ลับ (หู) สองต่อสองกับหญิง 
ถ้าอุบาสิกาผู้มีวาจาควรเชื่อได้ กล่าวว่าภิกษุต้องอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 อย่าง คืออาบัติสังฆาทิเสส (เพราะพูดเกี้ยวหญิง หรือพูดล่อหญิงให้บำเรอตนด้วยกาม) ก็ตาม, 
อาบัติปาจิตตีย์ (เพราะนั่งในที่ลับหูกับหญิงสองต่อสอง) ก็ตาม. ถ้าภิกษุผู้นั่งในที่ลับหูรับสารภาพอย่างไร ในอาบัติ 2 อย่าง 
ก็พึงปรับอาบัติเธอตามที่สารภาพนั้น หรือปรับตามที่ถูกกล่าวหานั้น (สุดแต่อย่างไหนจะเหมาะสม).

หมายเหตุ : เรื่องของอนิยต 
หรือสิกขาบทอันไม่กำหนดแน่ว่าจะปรับอาบัติอย่างไร ใน ๒-๓ อย่าง 
ทั้งสองสิกขาบทนี้ หนักไปในทางแนะวิธีตัดสินอาบัติ 
แต่ก็บ่งอยู่ว่า ห้ามภิกษุนั่งในที่ลับตาก็ตาม ลับหู (แม้ไม่ลับตา) ก็ตาม กับหญิงสองต่อสอง เว้นแต่ในที่ลับตาจะมีชายผู้รู้เดียงสาอยู่ด้วย, 
แต่ในที่ลับหูหญิงหรือชายผู้รู้เดียงสานั่งเป็นเพื่อนอยู่ด้วย ก็พ้นจากความเป็นที่ลับหูไป

ถ้าอุบาสิกา ผู้มีวาจาควรเชื่อได้ หมายถึงที่เป็นอริยบุคคล เช่น นางวิสาขา
แต่โดยใจความ หมายถึงผู้ที่พบเห็น เป็นผู้มีวาจาควรเชื่อได้เป็นหลักฐาน

จบอนิยต


หมวดอื่น ๆ ของพระวินัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น