วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พุทธประวัติตอน ๑ ความเป็นมาของศากยวงศ์

พุทธประวัติตอน ๑ ศากยวงศ์


ในยุคบรรพกาล ได้มีชนเผ่าเชื้อสายอริยกะหรืออารยันอพยพเข้ามาตั้งรกรากและราชธานี
ณ เชิงเขาหิมาลัย ชนเผ่าที่อพยพเข้ามาในภายหลัง

ก่อนหน้านั้นดินแดนแถบนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของพวกมิลักขะ ซึ่งมีความเจริญที่น้อยกว่า พวกอริยกะหรืออารยันเป็นพวกที่นับถือในศาสนาพราหมณ์เคร่งครัด และเชื่อถือในระบบวรรณะอย่างสุดโต่ง

โดยเชื่อว่าวรรณะทั้ง 4 ไม่สามารถที่จะแต่งงานร่วมกันได้ ถ้าแต่งงานบุตรจะกลายเป็นจัณฑาลทันที พวกเขาถือว่าตนยิ่งใหญ่ และบริสุทธิ์กว่าสายเลือดอื่น ๆ จึงแต่งงานด้วยกันเองภายในหมู่พี่น้องและวงศาคณาญาติซึ่งมีอยู่ 2 ตระกูลคือ
  1. ศากยวงค์
  2. โกลิยวงศ์
เจ้าศากยะทั้งหลายมีเชื้อชาติเป็นชาวอริยะหรืออารยัน ซึ่งเหล่าศากยวงศ์ล้วนมีลักษณะเฉพาะตัวที่สำคัญประการหนึ่ง 
คือถือตัวจัดด้วยถือว่าชาติตระกูลของตนอยู่ในวรรณะกษัตริย์ 
อันเป็นวรรณะสูงสุด แม้ในเหล่าวรรณะกษัตริย์ด้วยกัน เจ้าศากยะก็ถือตัวว่ายิ่งใหญ่และบริสุทธิ์โดยสายเลือดกว่าใคร ๆ ด้วยเหตุนี้ บรรดาเจ้าศากยะจึงอภิเษกสมรสกันในหมู่พี่น้องร่วมพระบิดามารดาเดียวกัน หรือในหมู่วงศานุวงศ์ใกล้ชิด เช่น กับราชวงศ์โกลิยะ แห่งกรุงเทวทหะ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากต้นตระกูลเดียวกัน

และเพราะความถือตัวจัดนี้เอง ที่ทำให้กรุงกบิลพัสดุด์ถูกทำลายอย่างย่อยยับ ด้วยอำนาจของพระเจ้าวิฑูฑภะ โอรสพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งสาวัตถี

ซึ่งพระเจ้าวิฑูฑภะเอง ก็ใช่อื่นไกลเป็นพระนัดดาของพระเจ้ามหานามแห่งกรุงกบิลพัสดุ์นั้นเอง

พระองค์ถูกเหยียดหยามจากพระญาติ ถึงขนาดเอาน้ำนมชำระล้างสถานที่ทุกแห่งที่พระองค์ประทับในกรุงกบิลพัสดุ์ 
คราวเสด็จเยี่ยมพระญาติ โดยพวกศากยะกรุงกบิลพัสดุ์รังเกียจว่า พระมารดาของพระองค์ไม่ใช่คนวรรณะกษัตริย์ 
แต่เป็นทาสีซึ่งเป็นคนละวรรณะกับพวกตน 
นี่คือชนวนของการทำลายล้างกรุงกบิลพัสดุ์ในเวลาต่อมา

เกี่ยวกับทฤษฏีของชนชาติอารยันของพวกศากยะที่เมืองกบิลพัสดุ์นี้ นักปราชญ์ไทยหลายท่านตั้งข้อสงสัยว่า พวกเขาน่าจะเป็นคนผิวเหลืองเชื้อสายมองโกลอยเหมือนคนไทย มากกว่าที่จะเป็นอารยันแบบแขก เพราะตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือมีชาวเนปาลเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าตัวเองเป็นเชื้อสายศากยะ และหน้าตาพวกเขาก็เป็นคนผิวเหลือง ไม่ใช่แขกอินเดีย แต่ประเด็นนี้คงต้องศึกษากันต่อไป และไม่ควรด่วนสรุป เพราะเป็นเรื่องใหญ่ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้แขกอินเดียเป็นจำนวนมาก ก็มีนามสกุล โคตมะ หรือ เคาตมะ และยังเชื่ออีกว่าพวกเขามีเชื้อสายเดียวกับพระพุทธองค์

ในทัศนะของคนเนปาลเองทุกคนเชื่อเต็มเปี่ยมว่าพระพุทธเจ้าเป็นชายเนปาล 
ไม่ใช่อินเดีย เพราะพระองค์เกิดในฝั่งเนปาล ไม่ใช่อินเดีย ซึ่งเป็นความจริงอยู่ไม่น้อย เพราะว่าตามสถานที่ประสูติแล้ว ลุมพินีและกบิลพัสดุ์ ก็ล้วนแล้วอยู่ในฝั่งเนปาล 
แต่เมื่อก่อนคำว่า อินเดีย เนปาลยังไม่เกิด มีแต่คำว่าชมพูทวีป 
พระพุทธองค์ใช้ชีวิตส่วนมากที่ฝั่งอินเดีย เพราะขณะที่พระชนม์ชีพอยู่ เมืองกบิลพัสดุ์ของพระองค์ก็ร้างแล้ว 
และเขตแดนกปิลพัสดุ์ลุมพินีก็ยังอยู่ในฝั่งอินเดีย 
จนอังกฤษเข้าปกครองอินเดียและยกให้เนปาลเมื่อ พ.ศ.2395 มานี้เอง

ต้นตระกูลของวงศ์ศากยะ คือ พระเจ้าโอกากราช กษัตริย์ผู้ทรงมีพระยศใหญ่ผู้สืบเชื้อสายมาจากต้นปฐมกษัตริย์แห่งศากยะ ซึ่งกล่าวไว้ว่าสืบต่อสัตติวงศ์เป็นปฐมตามลำดับมาถึง 11 พระองค์ แล้วแตกขยายวงศ์ออกไปอีกถึง 84,000 พระองค์ เรียงลำดับมาถึงพระเจ้าโอกากราช ที่ 3 จึงทรงมีพระราชโอรสและธิดารวมกัน 9 พระองค์ ซึ่งโอรสและธิดาทั้ง 9 พระองค์มาจากพระมารดาองค์ใหญ่ โดยเมื่อพระมเหษีองค์ใหญ่เสด็จสวรรคต

จึงได้เกิดแย่งชิงราชสมบัติกันขึ้น พระเจ้าโอกากราชที่ 3 จึงได้ตัดสินพระทัยยกราชสมบัติทั้งหมดนั้นให้แก่พระโอรสของพระมเหษีองค์ใหม่ ส่วนโอรสธิดาทั้ง 9 พระองค์นั้นก็ให้เสด็จออกจากเมืองไปตั้งพระนครแห่งใหม่ที่กลางป่าสักกะ ซึ่งบริเวณป่าสักกะนี้เป็นที่อยู่ของฤาษีกบิล หรือกบิลฤาษี โดยการตั้งนครแห่งใหม่นี้ได้ถูกขนานนามว่า “กบิลพัสดุ์” ตามชื่อของกบิลฤาษีนั้น และโดยธรรมเนียมโบราณนั้นการสมรสนอกราชตระกูล ไม่เป็นประเพณีนิยมทั้งนี้เพื่อการรักษาความบริสุทธิ์แห่งสายโลหิต 

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ต้นตระกูลของศากยวงศ์สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าโอกกากราช
และแบ่งออกเป็น 2 เมือง 2 ตระกูล คือ เมืองกบิลพัสดุ์ เป็นนครหลวงของแคว้นสักกะ และเมืองเทวทหะเป็นนครหลวงของแคว้นโกลิยะ ดังมีโครงสร้างดังนี้

ฝ่ายศากยวงศ์พระเจ้าชัยเสนมีพระราชโอรสและธิดา 2 พระองค์ คือ
  1. พระเจ้าสีหนุ
  2. พระนางยโสธรา

ฝ่ายโกลิยวงศ์มีพระราชาที่ไม่ปรากฏนาม มีโอรส 1 และธิดา 1 คือ
  1. พระเจ้าอัญชนะ 
  2. พระนางกาญจนา

พระเจ้าสีหนุแห่งศากยวงศ์อภิเษกสมรสกับพระนางกาญจนาแห่งโกลิยวงศ์มีพระโอรสและธิดารวม 7 พระองค์คือ
  1. พระเจ้าสุทโธทนะ
  2. พระเจ้าสุกโกทนะ
  3. พระเจ้าอมิโตทนะ
  4. พระเจ้าโธโตทนะ
  5. พระเจ้าฆนิโตทนะ
  6. พระนางปมิตา
  7. พระนางอมิตา
พระเจ้าอัญชนะแห่งโกลิยวงศ์อภิเษกสมรสกับ พระนางยโสธราแห่งศากยวงศ์ มีพระโอรสและพระธิดารวม 4 พระองค์คือ
  1. พระเจ้าสุปปพุทธะ
  2. พระเจ้าทัณฑปาณิ
  3. พระนางสิริมหามายา
  4. พระนางมหาปชาบดีโคตมี
พระเจ้าสุทโธทนะ แห่งศากยวงศ์อภิเษกสมรสกับพระนางสิริมหามายาแห่งโกลิยวงศ์ มีพระโอรส 1 พระองค์คือ เจ้าชายสิทธัตถะ

และต่อมาหลังพระนางสิริมหามายาสวรรคต พระองค์อภิเษกสมรสกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี มีพระโอรสและธิดา 2 พระองค์คือ
  1. เจ้าชายนันทะ
  2. เจ้าหญิงรูปนันทา

พระเจ้าสุปปพุทธะแห่งโกลิยวงศ์ได้อภิเษกสมรสกับพระนางอมิตาแห่งศากยวงศ์มีพระโอรสธิดารวม 2 พระองค์คือ
  1. เจ้าชายเทวทัต
  2. พระนางยโสธรา (พิมพา)

พระเจ้าสุกโกทนะแห่งศากยวงศ์อภิเษกสมรสกับพระนางกิสาโคตมี มีพระโอรสหนึ่งพระโอรส 1 พระองค์คือ เจ้าชายอานนท์

พระเจ้าอมิโตทนะแห่งศากยวงศ์ มีพระโอรสธิดารวม 3 พระองค์คือ
  1. เจ้าชายมหานาม
  2. เจ้าชายอนุรุทธะ
  3. เจ้าหญิงโรหิณี
พระเจ้ามหานามครองราชสมบัติต่อจากพระเจ้าสุทโธทนะมีพระธิดาจากนางทาสี 1 พระองค์คือพระนางวาสภขัตติยา ซึ่งต่อมาได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งสาวัตถี มีพระโอรส 1 พระองค์ คือ พระเจ้าวิฑูฑภะ




พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้พระศาสดาของเราทั้งหลายได้เสด็จมาอุบัติขึ้นในพวกอริยกชาติ ในจังหวัดมัชฌิมชนบท ชมพูทวีป แคว้นสักกะ ในสกุลกษัตริย์พวกศากยะผู้โคตมโคตร เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนศากยะเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ กับพระนางมายา ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

คำราชาศัพท์หมวดเครือญาติ

ปู่, ตา = พระอัยกา หรือ พระอัยกะ
ย่า, ยาย = พระอัยยิกา หรือ พระอัยกี
ปู่ทวด, ตาทวด = พระปัยกา หรือ พระปัยกะ
ย่าทวด, ยายทวด = พระปัยยิกา
พ่อ = พระชนก, พระราชบิดา
แม่ = พระชนนี, พระราชมารดา
พ่อตา, พ่อสามี = พระสสุระ
แม่ยาย, แม่สามี = พระสัสสุ, พระสัสสู
ลุง (พี่ชายของพ่อ), อาชาย (น้องชายของพ่อ) = พระปิตุลา, พระปิตุลา, พระบิตุลา, พระบิตุละ
ป้า (พี่สาวของพ่อ), อาหญิง (น้องสาวของพ่อ) = พระปิตุจฉา
ลุง (พี่ชายของแม่), น้าชาย (น้องชายของแม่) = พระมาตุลา, พระมาตุละ
ป้า (พี่สาวของแม่), น้าหญิง (น้องสาวของแม่) = พระมาตุจฉา
สามี = พระสวามี, พระภัสดา
ภรรยา = พระมเหสี, พระชายา
พี่ชาย = พระเชษฐา
พี่สาว = พระเชษฐภคินี
น้องชาย = พระอนุชา
น้องสาว = พระขนิษฐา
ลูกชาย = พระราชโอรส, พระเจ้าลูกยาเธอ
ลูกสาว = พระราชธิดา, พระเจ้าลูกเธอ
ลูกเขย = พระชามาดา
ลูกสะใภ้ = พระสุณิสา
หลานชาย, หลานสาว = พระราชนัดดา
เหลน = พระราชปนัดดา
หลาน คือ ลูกของพี่สาวหรือน้องสาว = พระภาคิไนย
หลาน คือ ลูกของพี่ชาย หรือน้องชาย = พระภาติยะ

จบความเป็นมาของศากยวงศ์

เพิ่มเติม สาเหตุที่ศากยวงศ์ล่มสลาย


พระเจ้าปเสนทิ พระราชาแห่งแคว้นโกศล 
มีความนับถือศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง ต้องการจะผูกสัมพันธ์เป็นญาติกับพระพุทธเจ้าในทางใดทางหนึ่ง
จึงต้องการเจ้าหญิงสักคนจากศากยวงศ์มาอภิเษกสมรส 
เมื่อแจ้งความประสงค์นี้ไปทางศากยวงศ์ 
ก็ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหญิงในศากยวงศ์เหลืออีก 
เพราะแต่งงานและออกบวชแทบหมด ยังมีเหลือเจ้าหญิงคนหนึ่ง 
ชื่อ วาสภขัตติยา ซึ่งเป็นธิดา(ลูกสาว) ของเจ้าชายมหานามะ 
ซึ่งเป็นโอรส(ลูกชาย) ของพระเจ้าอมิโตทนะ 
ซึ่งเป็นน้องชายคนหนึ่งของพระเจ้าสุทโธทนะ (หรือเป็นน้าชายของพระพุทธเจ้า)
ดังนั้นเจ้าชายมหานามะ ก็คือลูกพี่ลูกน้องของพระพระพุทธเจ้า 
ทำนองเดียวกับพระอานนท์ และพระอนุรุทธะ 
และพระนางโรหิณี 
(คือ พระเจ้าอมิโตทนะ มีลูกชาย 2 คน และ ลูกสาว 1 คน 
 คือ พระเจ้ามหานามะ พระอนุรุทธะ พระนางโรหิณี)

แต่ว่า เจ้าหญิงวาสภขัตติยา คนนี้ 
ซึ่งเป็นลูกสาวของเจ้าชายมหานามะ
มีแม่เป็นทาสซึ่งไม่ใช่วรรณะกษัตริย์ 
ดังนั้นเจ้าหญิงวาสภขัตติยา จึงเป็นวรรระจัณฑาล
ทางศากยวงศ์ ในเมื่อไม่อาจจะหาเจ้าหญิงอื่นๆได้ 
ก็เลยเอาเจ้าหญิงวาสภขัตติยา ส่งไปให้พระเจ้าปเสนทิโกศล 
แล้วปกปิดเรื่องนี้เป็นความลับ

เจ้าหญิงวาสภขัตติยา เมื่อไปเป็นมเหสีคนหนึ่งของพระเจ้าปเสนทิแล้ว 
จึงได้ลูกชายออกมาคนหนึ่ง ชื่อ เจ้าชายวิฑูทภะ

ต่อมาเมื่อเจ้าชายวิฑูทภะ เติบใหญ่เป็นวัยรุ่น 
ก็คิดถึงญาติๆที่เป็นศากยวงศ์ จึงเสด็จไปเยี่ยมญาติที่กรุงกบิลพัศดุ์
ตอนกลับออกมาลืมสิ่งของบางอย่างไว้ 
จึงรับสั่งให้อำมาตย์คนหนึ่งกลับไปเพื่อเอาของที่ลืมนั้น 
ตอนที่อำมาตย์กลับไป ก็เห็นพวกคนใช้กำลังเอาน้ำนมล้างทำความสะอาดบริเวณนั้น 
พร้อมกับบ่นว่า เพราะคนจัณฑาลเข้ามาในบริเวณนี้ 
ทำให้พวกเราต้องเหนื่อยเอาน้ำนมมาล้าง 
อำมาตย์นั่นก็แกล้งถามว่าใครคือคนจัณฑาลที่เข้ามา 
พวกคนใช้ที่กำลังเช็ดถูอยู่นั่น ก็ตอบว่า ก็เจ้าชายวิฑูทภะนั่นไง เป็นคนจัณฑาล 
เพราะมีแม่เป็นทาส 
อำมาตย์นั่นกลับมาจึงเอาเรื่องนี้มาทูลเล่าให้เจ้าชายวิฑูทภะฟัง
เจ้าชายจึงเกิดความโกรธแค้นต่อศากยวงศ์อย่างสุดๆ 
ที่ถูกเหยียดหยามอย่างสุดๆครั้งนี้ 
ตั้งใจไว้ว่า เมื่อได้เป็นกษัตริย์เมื่อใด 
จะยกกองทัพมาทำลายศากยวงศ์ให้สิ้นซาก 
เมื่อเจ้าชายวิฑูทภะกลับมา ก็กราบทูลเรื่องนี้ต่อพระราชบิดา(พ่อ) คือพระเจ้าปเสนทิ
เมื่อพระเจ้าปเสนทิรับทราบเรื่องนี้ ก็ไม่ได้ทรงว่าอะไร แต่มีข้อสงสัยข้องใจอยู่บ้าง
จึงไปกราบทูลถามปัญหานี้กับพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าจึงทรงตอบว่า เรื่องการนับเชื้อสายของบุตรธิดา
เขาถือว่าทางฝ่ายบิดาเป็นใหญ่มาแต่โบราณ 
ดังนั้น เจ้าชายวิฑูทภะ ก็ยังถือว่าเป็นเชื้อสายกษัตริย์ นั่นแหละ ไม่ใช่จัณฑาล
พระเจ้าปเสนทิ ก็ทรงหายข้องใจ 
แต่ในใจของพระเจ้าวิฑูทภะ ไม่หาย ยังคงเก็บความแค้นไว้เท่าเดิม

ต่อมาเมื่อเจ้าชายวิฑูทภะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ต่อจากพระบิดา 
จึงได้ยกกองทัพไปทำลายศากยวงศ์
ซึ่งการยกไป 2 ครั้งแรก ก็ถูกพระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงขัดขวางไว้ จึงยินยอมยกทัพกลับ
แต่ยังยกทัพไปอีกครั้งที่ 3 ซึ่งครั้งนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้เสด็จไปอีก เพราะทรงพิจารณาเห็นกรรมเก่าแต่อดีตชาติของพวกศากยวงศ์ 
ที่เคยทำกรรมไปฆ่าสัตว์พร้อม ๆ กัน 
บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่อดีตกรรมนั่นจะมาส่งผล 
มาทำลายชีวิตพวกศาสยวงศ์กลุ่มนี้ 
พระพุทธเจ้าจึงทรงนิ่งเฉยในครั้งนี้

กองทัพของพระเจ้าวิฑูทภะ (ซึ่งก็คือมีศักดิ์เป็นหลานของพระพุทธเจ้า)
จึงยกกองทัพไปทำลายล้างศากยวงศ์ เกือบหมด มีบางส่วนรอดมาได้
สำหรับคนที่เอาหญ้ามาคาบไว้ในปาก เมื่อถูกทหารของวิฑูทภะถามว่า 
"เจ้าเป็นศากยวงศ์หรือไม่" ก็ตอบว่า "ไม่ใช่ หญ้า" 
เพราะนิสัยของพวกศากยวงศ์จะไม่ยอมพูดโกหก 
ในเมื่อต้องโกหกเพื่อเอาชีวิตรอด จะพูดตรงๆก็ไม่ได้จึงใช้วิธีนี้เลี่ยงไป
ส่วนที่เหลือนอกนั้น โดนสังหารเรียบ
ตั้งแต่บัดนั้น ศากยวงศ์ถือว่าสูญสิ้น 
ที่สืบต่อมาจากผู้ที่รอดบางส่วนก็เป็นฐานะชาวบ้านธรรมดาๆ

พวกศากยวงศ์ที่รอดมานี้ ในประมาณ 200 ปี ต่อมา 
มีคนหนึ่งซึ่งหนีไปอยู่ต่างแดน ได้ไปรับราชการกับกษัตริย์ที่แคว้นหนึ่งทางทิศตะวันตก
(แคว้นราชสถานในยุคนี้) กษัตริย์ของแคว้นนั้นในตอนนั้นชื่อพระเจ้าเปารยะ
ศากยวงศ์คนนี้ชื่อ จันทรคุปต์ ได้เติบใหญ่จนได้เป็นเสนาบดีของพระเจ้าเปารยะ 
เมื่อสิ้นพระเจ้าเปารยะ จันทรคุปต์จึงตั้งตนเป็นกษัตริย์ ตั้งวงศ์กษัตริย์ชื่อว่า โมริยวงศ์ขึ้นมา 
(โมริยะ แปลว่า นกยูง) 
พระเจ้าจันทรคุปต์มีลูกชื่อว่า พระเจ้าพินทุสาร 
พระเจ้าพินทุสารมีลูกชื่อว่า อโศก ซึ่งก็คือพระเจ้าอโศกมหาราช
กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของศาสนาพุทธหลังยุคพุทธกาลนั่นเอง 
นั่นคือ ถ้าสืบย้อนกลังไปพระเจ้าอโศกมหาราช 
ก็คือคนที่สืบเชื้อสายมาจากศากยวงศ์นั่นเอง

พระเจ้าเปารยะ สิ้นพระชนม์ในการต่อสู้กับกองทัพของพระเจ้าอเล๊กซานเดอร์มหาราช 
จากกรีก ที่ยกกองทัพมาบุกอินเดีย ตอนนั้น
แต่เมื่อมาถึงยุคของพระเจ้าจันทรคุปต์ 
ได้ต่อต้านกองทัพกรีกอย่างเข้มแข็ง 
 จนพระเจ้าอเล๊กซานเดอร์ถอดใจ ยกทัพกลับ 
และไปสิ้นพระชนม์ที่อียิปต์ในปีต่อมา

ดังนั้น ก็ถือได้ว่า ที่อินเดียรอดพ้นจากการครอบงำของกรีกในยุคนั้นมาได้ 
เพราะผลงานการต่อต้านของพระเจ้าจันทรคุปต์ ปู่ของพระเจ้าอโศกฯ นั่นเอง

เมื่อพระเจ้าวิฑูทภะ ทำลายศากยวงศ์สมใจอยากแล้ว 
ตอนยกทัพกลับ ได้ไปตั้งกองทัพพักผ่อนริมแม่น้ำ
ก็เลยโดนน้ำท่วมตายหมดทั้งกองทัพรวมทั้งพระเจ้าวิฑูทภะด้วย

จบสาเหตุที่ศากยวงศ์ล่มสลาย


พุทธประวัติที่กล่าวถึงศากยวงศ์


การเกิดแห่งวงศ์สากยะ


อัมพัฏฐะ! เรื่องดึกดําบรรพ์,
พระเจ้าอุกการาช ปรารถนาจะยกราชสมบัติประทานแก่โอรสของพระมเหสีที่โปรดปรานต้องพระทัย
จึงได้ทรง ขับราชกุมารผู้มีชนมายุแก่กว่า
คือเจ้า อุกกามุข, กรกัณฑุ, หัตถินีกะ, สินีปุระ, 
ออกจากราชอาณาจักร ไปตั้งสํานักอยู่ ณ ป่าสากใหญ่ ใกล้สระ โบกขรณีข้างภูเขาหิมพานต์
เธอเหล่านั้น กลัวชาติจะระคนกัน 
จึงสมสู่กับ พี่น้องหญิงของเธอเอง.
ต่อมาพระเจ้าอุกการาชตรัสถามอํามาตย์ว่า 
“บัดนี้ กุมารเหล่านั้นอยู่ที่ไหน?” 
 กราบทูลว่า บัดนี้กุมารเหล่านั้นเสด็จอยู่ ณ ป่าสากใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้สระโบกขรณีข้างภูเขาหิมพานต์พระกุมารทั้งหลายกลัวชาติระคนกัน จึงสมสู่กับภคินีของตนเอง.

ความตอนนี้ ตรัสแก่อัมพัฏฐะมาณพ ศิษย์พราหมณ์โปกขรสาติ ที่ป่าอิจฉานังคละ. 
บาลี  อัมพัฏฐสูตรที่ ๓ สี. ที.๙/๑๒๐/๑๔๙ 

ขณะนั้น พระเจ้าอุกกากราชทรงเปล่งพระอุทานว่า 
“กุมารผู้อาจหาญ หนอ, กุมารผู้อาจหาญอย่างยิ่งหนอ”. 
เพราะเหตุนั้นเป็นเดิม จึงเป็นพวก ที่ได้ชื่อว่า “สากยะ” สืบมา....

ชื่อนี้มีมูลมาจากต้นสากก็ได้,แห่งคําว่ากล้าหาญก็ได้,
เพราะสักก-กล้าหาญ, สักกเราเรียกในเสียงภาษาไทยกันว่า สากยะ, 
เรื่องเกิดวงศ์สากยะมีกล่าวไว้อย่างพิสดารในอรรถกถาของอัมพัฎฐสูตรนี้เอง 
เช่นเรื่องไม้กะเบาเป็นต้น จะกล่าวในโอกาสหลัง. 

พวกสากยะอยู่ใต้อำนาจพระเจ้าโกศล


....วาเสฏฐะ ! พระราชา ปเสนทิโกศล ย่อมทราบว่า 'พระสมณโคดมผู้ยอดเยี่ยม บวชแล้วจากสากยตระกูล'. วาเสฏฐะ ! ก็แหละพวกสากยะ ท. เป็นผู้อยู่ใกล้ชิด และอยู่ในอำนาจของพระราชาปเสนทิโกศล. วาเสฏฐะ ! ก็พวกสากยะ ท. ย่อมทำการต้อนรับ, ทำการอภิวาท ลุกขึ้นยืนรับ ทำอัญชลีกรรมและสามีจิกรรม ในพระราชาปเสนทิโกศล. วาเสฏฐะ ! พวกสากยะกระทำการต้อนรับเป็นต้น แก่พระราชาปเสนทิโกศลอย่างไร, พระราชาปเสนทิโกศลย่อมกระทำการต้อนรับเป็นต้นแก่ตถาคต (เมื่อออกบวชแล้ว) อย่างนั้น.

**ความข้อนี้เราไม่อยากจะเชื่อกันโดยมากว่าจะเป็นอย่างนี้โดยที่เราไม่อยากให้ตระกูลของพระองค์เป็นเมืองขึ้นของใคร แต่พระองค์เองกลับตรัสตรงไปทีเดียวว่าเป็นเมืองขึ้นของโกศล, ต้องนอบน้อมต่อพระเจ้าปเสนทิ. แต่เมื่อพระองค์ออกบวชเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว. พระเจ้าปเสนทิโกศลกลับทำตรงกันข้าม คือนอบน้อมต่อพระองค์ เช่นเดียวกับที่พวกสากยะเคยนอบน้อมต่อพระเจ้าปเสนทิ. บาลีตรงนี้ คือ รญฺโ ปเสนทิสฺส โกสลสฺส อนนฺตรา อนุยนฺตา. คำว่า อนุยนฺตา อรรถกถาแก้ดังนี้ อนุยนฺตาติ วสวตฺติโน, (สุมัง. ๓, น.๖๒), แปลว่า อยู่ในอำนาจ.**

บาลี อัคคัญญสูตร ปา. ที. ๑๑/๙๑/๕๔.
ตรัสแก่วาเสฏฐะกับเพื่อน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น