วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พระวินัย ปาราชิก ว่าด้วยอาบัติปาราชิก (ผู้พ่ายแพ้)

ปาราชิก 4


ตตฺริเม จตฺตาโร ปาราชิกา ธมฺมา อุทฺเทสํ อาคจฺฉนฺติ.
ว่าด้วยอาบัติปาราชิก (ผู้พ่ายแพ้) มี 4 สิกขาบท ละเมิดเข้าแล้วต้องขาดจากความเป็นภิกขุ แม้สึกไปแล้วจะมาบวชใหม่อีก ก็ไม่ได้

ปาราชิกสิกขาบทที่ 1

ปฐมปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกขุเพราะเสพเมถุน

1. โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขูนํ สิกฺขาสาชีวสมาปนฺโน สิกฺขํ อปฺปจฺจกฺขาย ทุพฺพลฺยํ อนาวิกตฺวา เมถุนํ ธมฺมํ ปฏิเสเวยฺย, อนฺตมโส ติรจฺฉานคตายปิ ปาราชิโก โหติ อสํวาโส.

“อนึ่ง ภิกขุใดถึงพร้อมซึ่งสิกขาบทและสาชีพของภิกขุทั้งหลายแล้ว ไม่บอกคืนสิกขาไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธัมม์โดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียเป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้.”

ต้นบัญญัติ

สมัยนั้นมีหมู่บ้านนามว่ากลันทะ ตั้งอยู่ไม่ไกลเมืองเวสาลี
มีบุตรเศรษฐีผู้เป็นบุตรชาวกลันทะ นามว่าสุทินนะ, สุทินนะ (ผู้มีคำต่อท้ายชื่อว่าบุตรชาวกลันทะ) พร้อมด้วยสหายไปสู่กรุงเวสาลี 
เห็นพระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรม จึงแวะเข้าไปสดับธรรมะ มีความเลื่อมใสใคร่จะออกบวช จึงกราบทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา แต่พระศาสดายังไม่ประทานอนุญาตให้บวช เพราะมารดาบิดายังไม่อนุญาต
สุทินนะจึงกลับไปขออนุญาตท่านมารดาบิดา แต่ไม่ได้รับอนุญาต จึงอ้อนวอนถึง 3 ครั้ง ก็ไม่ได้รับอนุญาตเช่นเดิม 
สุทินนะจึงนอนลงกับพื้น อดอาหารถึง 7 วัน มารดาบิดาอ้อนวอนให้ล้มความตั้งใจ ก็ไม่ยอม 
พวกเพื่อน ๆ มาอ้อนวอน ก็ไม่ยอม 
ในที่สุด พวกเพื่อน ๆ อ้อนวอนให้มารดาบิดาของสุทินนะอนุญาต ก็ได้รับอนุญาต 
เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็ออกบวช ประพฤติปฏิบัติเคร่งครัดอยู่ทางวัชชีคาม

ครั้งนั้น แคว้นวัชชี (ซึ่งมีกรุงเวสาลีเป็นราชธานี) เกิดทุพภิกขภัย 
พระสุทินนะมีญาติเป็นคนมั่งคั่งมาก 
เมื่อเดินทางไปถึงกรุงเวสาลี ญาติ ๆ ทราบข่าวก็นำอาหารมาถวายเหลือเฟือ 
พระสุทินนะก็ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายอีกต่อหนึ่งแล้วเดินทางไปกลันทคาม (ตำบลบ้านเดิมของตน). 
ความทราบถึงมารดา บิดา, บิดาจึงนิมนต์ไปฉัน 
มารดาก็นำทรัพย์สมบัติมาล่อเพื่อให้สึก 
พระสุทินนะไม่ยอมจึงไม่สำเร็จ
ต่อมามารดาพระสุทินนะรอจนภริยาของพระสุทินนะ (ตั้งแต่ในสมัยยังไม่ได้บวช) มีระดู ได้กำหนดจะมีบุตรได้ 
จึงพานางไปหาพระสุทินนะที่ป่ามหาวัน ชวนให้สึกอีก พระสุทินนะไม่ยอม จึงกล่าวว่า ถ้าไม่สึกก็ขอพืชพันธุ์ไว้สืบสกุล
ครั้งนั้นยังไม่มีการบัญญัติวินัยห้ามเสพเมถุน พระสุทินนะเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่พอทำได้ เพื่อให้มีบุตรสืบสกุล จึงเสพเมถุนด้วยภริยาของตน 
ซึ่งต่อมานางตั้งครรภ์และคลอดบุตร
บุตรของพระสุทินนะจึงได้นามว่าเจ้าพืช
ภริยาของพระสุทินนะ ก็ได้นามว่ามารดาของเจ้าพืช
ต่อมาทั้งมารดาและบุตรออกบวชได้สำเร็จอรหัตตผลทั้งสองคน.

กล่าวถึงพระสุทินนะเกิดความไม่สบายใจขึ้นภายหลัง ถึงขนาดซูบผอม 
ภิกษุทั้งหลายถามทราบความ จึงพากันติเตียน 
และนำความกราบทูลพระผู้มีพระภาค 
พระองค์จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวนเรื่องนั้น ทรงติเตียนว่า
“ดูก่อนโมฆบุรุษ ธัมมะอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพรากมิใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่นมิใช่หรือ? เมื่อธัมมะชื่่อนั้น อันเราแสดงแล้วเพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น.
ดูก่อนโมฆบุรุษ ธัมมะอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยายเพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความกระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่ดับแห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาชื่อวานะ (เครื่องร้อยรัด) มิใช่หรือ?
ดูก่อนโมฆบุรุษ องค์กำเนิด อันเธอสอดเข้าไปในปากอสรพิษที่มีพิษร้ายยังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในปากงูเห่ายังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าไปในองค์กำเนิดของมาตุคาม ไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในหลุมถ่านที่ไฟติดลุกโชนยังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคาม ไม่ดีเลย.

ข้อที่เราว่าดีนั้น เพราะเหตุไร? เพราะบุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าในปากอสรพิษเป็นต้นนั้น พึงถึงความตาย หรือความทุกข์เจียนตาย ซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้ทำการสอดองค์กำเนิดเข้าไปในองค์กำเนิดของมาตุคามนั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายกายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการกระทำนี้เป็นเหตุ.
ดูก่อนโมฆบุรุษ เมื่อการกระทำนั้น มีโทษอยู่ เธอยังชื่อว่าได้ต้องอสัทธัมม์ อันเป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นมารยาทของคนชั้นต่ำอันชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด มีในที่ลับ เป็นของคนคู่ อันคนคู่พึงร่วมกันเป็นไป เธอเป็นคนแรกที่กระทำอกุศลธัมมะ เป็นหัวหน้าของคนเป็นอันมาก
การกระทำของเธอนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว…”

ทรงตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสมการปรารถนาความเพียร โดยอเนกปริยาย

ทรงกระทำธัมมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้นแก่ภิกขุทั้งหลาย แล้วทรงรับสั่งกับภิกขุทั้งหลายว่า

“ดูก่อนภิกขุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกขุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ คือ
  1. เพื่อความดีงามที่เป็นไปโดยความเห็นชอบร่าวมกันของสงฆ์
  2. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
  3. เพื่อกำราบคนหน้าด้านไม่รู้จักอาย
  4. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกขุผู้มีศีลดีงาม
  5. เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะมีในปัจจุบัน
  6. เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสียความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะมีในภายหลัง
  7. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
  8. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของคนที่เลื่อมใสแล้ว
  9. เพื่อความดำรงมั่นแห่งสัทธัมม์
  10. เพื่อส่งเสริมความเป็นระเบียบเรียบร้อย สนับสนุนวินัยให้หนักแน่น…

ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกขุเสพเมถุน ทรงปรับอาบัติปาราชิกแก่ภิกขุ ผู้ล่วงละเมิด

อนุบัญญัติ (ข้อบัญญัติเพิ่มเติม)

ต่อมามีภิกษุวัชชีบุตร ชาวกรุงเวสาลี เข้าใจว่าห้ามเฉพาะเสพเมถุนกับมนุษย์
จึงเสพเมถุนด้วยนางลิง 
ความทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติเพื่อเติมให้ชัดขึ้นว่า ห้ามแม้ในสัตว์ดิรัจฉาน

ภิกษุเสพเมถุนขาดจากความเป็นภิกษุแล้ว 
ภายหลังขอเข้าอุปสมบทอีก พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติมิให้อุปสมบทแก่ผู้เช่นนั้น

ต่อจากนั้น มีคำอธิบายตัวสิกขาบทอย่างละเอียดทุก ๆ คำ พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างประกอบ.

อนาบัติ (ลักษณะที่ไม่ต้องอาบัติ)
  1. ภิกษุผู้ไม่รู้ตัว (หรือถูกบังคับแต่ไม่ยินดี)
  2. ภิกษุผู้เป็นบ้า 
  3. ภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน (หมายถึงเป็นบ้าไปชั่วขณะด้วยเหตุอื่น ไม่ใช่บ้าโดยปกติ อรรถกถาแก้ว่า ผีเข้า ในสมัยนี้เทียบด้วยเป็นบ้าเพราะฤทธิ์ยาบางชนิด) 
  4. ภิกษุผู้มีเวทนากล้า ไม่รู้ตัวว่าทำอะไรลงไปบ้าง
  5. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ. 

วินีตวัตถุ (เรื่องที่ทรงวินิจฉัยชี้ขาด)

ต่อจากนั้น มีการแสดงตัวอย่างที่ภิกษุทำไปเกี่ยวกับสิกขาบทนี้ ในลักษณะต่าง ๆ กัน และพระผู้มีพระภาคทรงวินิจฉัย ไต่สวน และชี้ขาดว่า ต้องอาบัติบ้าง ไม่ต้องอาบัติบ้าง ตามเงื่อนไขทางพระวินัยทั้งหมดมีประมาณ ๗๒ เรื่อง.

วิภังค์ (จำแนกความ)

คำว่า ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง ทรงอธิบายไว้ว่า ภิกขุทั้งหลาย การทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง และสิกขาไม่เป็นอันบอกคืนก็มี ภิกขุทั้งหลาย การทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง และสิกขาเป็นอันบอกคืนก็มี. ภิกขุในธัมมวินัยนี้ กระสัน ไม่ยินดี ใคร่จะเคลื่อนจากความเป็นสมถะ อึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชังความเป็นภิกขุ ปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์ ปรารถนาความเป็นอุบาสก ปรารถนาความเป็นอารามิก ปรารถนาความเป็นสามเณร ปรารถนาความเป็นเดียรถีย์ ปรารถนาความเป็นสาวกเดียรถีย์ ปรารถนาความเป็นผู้มิใช่สมณะ ปรารถนาความเป็นผู้มิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร ย่อมกล่าวให้ผู้อื่นทราบว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระพุทธเจ้า …ดูก่อนภิกขุุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าการทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง และสิกขาก็เป็นอันบอกคืน…

ขอท่านจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์…ข้าพเจ้าจะต้องการอะไรด้วย พระพุทธเจ้า…ข้าพเจ้าไม่ต้องการด้วยพระพุทธเจ้า…ข้าพเจ้าพ้นดีแล้วจากพระพุทธเจ้า…ภิกขุย่อมกล่าวให้ผู้อื่นทราบด้วยไวพจน์เหล่านั้น อันเป็นอาการเป็นลักษณะเป็นนิมิต. ดูก่อนภิกขุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าการทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง และสิกขาก็เป็นอันบอกคืน.

ที่ชื่อว่า เมถุนธัมม์ มีอธิบายว่า ธัมมะของอสัตบุรุษ ประเพณีของชาวบ้าน มารยาทของคนชั้นต่ำ ธัมมะอันชั่วหยาบ ธัมมะอันมีน้ำเป็นที่สุด กิจที่ควรซ่อนเร้น ธัมมะอันคนเป็นคู่ๆ พึงประพฤติร่วมกัน นี้ชื่อว่า เมถุนธัมม์.

ที่ชื่อว่า เสพ ความว่า ภิกขุใดสอดนิมิตเข้าไปทางนิมิต สอดองค์กำเนิดเข้าไปทางองค์กำเนิด โดยที่สุดแม้ชั่วเมล็ดงา ภิกขุนั้นชื่อว่า เสพ.

คำว่า เป็นปาราชิก ความว่า บุรุษถูกตัดศีรษะแล้ว ไม่อาจมีสรีระคุมกันนั้นเป็นอยู่ ชื่อแม้ฉันใด ภิกขุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เสพเมถุนธรรมแล้วย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า เป็นปาราชิก.

ที่ชื่อว่า สังวาส ได้แก่ กัมม์ที่พึงทำร่วมกัน อุเทส ที่พึงสวดร่วมกัน ความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่า สังวาส สังวาสนั้นไม่มีร่วมกับภิกขุนั้น เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้

องค์แห่งอาบัติ 
  1. จิตคิดจะเสพเมถุน
  2. ยังองค์กำเนิดให้เข้าไปในทวารมรรค ถูกต้อง ณ ที่ใดที่หนึ่ง 
พร้อมด้วยองค์ 2 ดังนี้ จึงเป็นปาราชิก (บุพพสิกขาวรรณาหน้า 112)

*******

ปาราชิกสิกขาบทที่ 2


ทุติยปาราชิก ขาดความเป็นภิกขุเพราะลักขโมย

2. โย ปน ภิกฺขุ คามา วา อรญฺญา วา อทินฺนํ เถยฺยสงฺขาตํ อาทิเยยฺย, ยถารูเป อทินฺนาทาเน ราชาโน โจรํ คเหตฺวา หเนยฺยุํ วา พนฺเธยฺยุํ วา ปพฺพาเชยฺยุํ วา, โจโรสิ พาโลสิ มูโฬฺหสิ เถโนสีติ ตถารูปํ ภิกฺขุ อทินฺนํ อาทิยมาโน, อยมฺปิ ปาราชิโก โหติ อสํวาโส.

“อนึ่ง ภิกขุใด ถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้ว ประหารเสียแล้ว จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้างด้วยบริภาษว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย ดังนี้ ในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานใด ภิกขุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น แม้ภิกขุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้.”

ต้นบัญญัติ

เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์.
ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปที่เป็นมิตรสหายกัน ได้ทำกุฏีหญ้า จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้นด้วย. ภิกษุอื่น ๆ 
เมื่ออกพรรษาก็รื้อกุฎีหญ้า เก็บหญ้า เก็บไม้ แล้วจาริกไปสู่ชนบท
ส่วนพระธนิยะคงอยู่ในที่นั้นไม่ไปไหนตลอด 3 ฤดู ขณะที่เข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน 
พวกคนเก็บหญ้า เก็บไม้ มารื้อกุฎี นำหญ้าและไม้ไป 
ท่านต้องทำใหม่ แต่พวกนั้นก็มารือ ขโมยหญ้าและไม้ไปอีกถึง ๓ ครั้ง 
ท่านพระธนิยะจึงคิดสร้างกุฎีดิน เพราะเป็นผู้ชำนาญในการผสมดินปั้นหม้อมาก่อน
เมื่อตกลงใจดั่งนั้น จึงเอาดินเหลวมาขยำ แล้วทำเป็นกุฎีดินล้วน เอาหญ้าไม้และมูลโคมาสุมกุฎีที่ทำไว้แล้ว ให้เป็นกีฎีดินเผา สวยงามมีสีแดงดังตัวแมลงเต่าทอง
(อินทโคปกะ อาจแปลได้ว่า หิ่งห้อย แมลงทับ แต่ทั้งสองชนิดนี้ไม่มีสีแดง การแปลคำนี้ในที่นี้ เป็นปัญหาที่ค้นคว้ากันมากในผู้ศึกษาภาษาบาลีหลายประเทศ ส่วนใหญ่เห็นว่า ได้แก่แมลงเต่าทอง (Lady birds) แมลงชนิดนี้ โดยปกติตัวสีแดง มีจุดดำ แต่ที่ตัวสีเหลือง ก็มีบ้าง)
กิตติศัพท์ของกุฎีนี้ที่ว่าสวยงาม แพร่ไป 
พระพุทธเจ้าทรงทราบ ตรัสสั่งให้ทุบทำลายเสีย เพื่อมิให้ภิกษุรุ่นหลังเอาอย่าง 
เพราะการขุดดินเอามาทำกุฎี อาจทำสัตว์ให้ตายได้ 
แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามทำกุฎีดินล้วน ปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ล่วงละเมิด

ท่านพระธนิยะไม่ยุติเพียงเท่านั้น 
เข้าไปหาคนเฝ้าโรงเก็บไม้ของหลวง 
เล่าความให้ฟังถึงเรื่องที่คนรื้อกุฎีหญ้า ขโมยหญ้า และไม้ไปถึง ๓ ครั้ง 
ท่านจึงคิดทำกุฎีดินเผา ก็ถูกสั่งให้ทำลายเสีย 
จึงมาขอไม้จากคนเฝ้าโรงเก็บไม้ของหลวง
คนเฝ้าปฏิเสธว่า ตนไม่มีไม้ที่จะให้ มีแต่ไม้ที่เป็นของพระราชาหวงแหน 
เพื่อใช้ซ่อมพระนคร เก็บไว้ในคราวมีอันตราย
ถ้าพระราชาพระราชทานก็นำไปได้
พระธนิยะตอบว่า พระราชาพระราชทานแล้ว
คนเฝ้าโรงไม้เชื่อว่าเป็นพระคงไม่พูดปด จึงอนุญาตให้นำไป
ท่านพระธนิยะก็นำไม้มาตัดเป็นท่อนเล็กท่อนน้อยใส่เกวียนขนไปทำกุฎีไม้.

เมื่อวัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ มาตรวจ พบว่าไม้หายไป จึงไต่สวน
แล้วนำความกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร 
มีรับสั่งให้นำตัวคนเฝ้าโรงไม้เข้าไปเฝ้า เขาจึงถูกมัดนำตัวไป
ท่านพระธนิยะเห็นคนเฝ้าไม้ถูกมัดนำตัวไป จึงสอบถามได้ความแล้ว ก็ตามไปด้วย
พระเจ้าพิมพิสารถวายนมัสการท่านพระธนิยะ 
แล้วตรัสถามว่า เป็นความจริงหรือที่ว่า พระองค์ถวายไม้นั้น
ท่านพระธนิยะตอบว่า เป็นความจริง
พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า พระองค์เป็นพระราชา มีกิจธุระมาก ถวายไปแล้ว อาจนึกไม่ออกก็ได้ 
ถ้าท่านพระธนิยะนึกออก ก็ขอให้ชี้แจงมา
ท่านพระธนิยะทูลถามว่า 
ทรงระลึกได้หรือไม่ ที่ทรงเปล่งวาจาในวันอภิเษกเสวยราชย์ว่า 
หญ้า ไม้ และน้ำ เป็นอันข้าพเจ้าถวายแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ขอจงใช้สอยเถิด
ตรัสตอบว่า ทรงระลึกได้ แต่ที่ตรัสอย่างนั้น
ทรงหมายสำหรับสมณพราหมณ์ผู้มีความละอาย ผู้มีความรังเกียจ 
หมายถึงเป็นผู้มีศีลอันดี ย่อมละอายใจ รังเกียจในความชั่ว แม้มีธุระจะใช้หญ้าใช้ไม้เล็กน้อยในป่า ก็ไม่กล้าใช้ จึงประทานอนุญาตไว้ ไม่ได้หมายอนุญาตของในเมือง
ใคร่ต่อการศึกษา ผู้เกิดความรังเกียจ แม้ในความชั่วเพียงเล็กน้อย
และทรงหมายถึงสิ่งของที่ไม่มีใครหวงแหนในป่า
ท่านถือเอาไม้ที่มิได้ให้ด้วยเลสนี้ 
คนอย่างพระองค์จะพึงฆ่า จองจำ หรือเนรเทศสมณะหรือพราหมณ์ได้อย่างไร
ท่านจงไปเถิด ท่านพ้นเพราะเพศ (บรรพชิต) ต่อไปอย่าทำอย่างนี้อีก

มนุษย์ทั้งหลายพากันติเตียนด้วยประการต่าง ๆ ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค 
จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวน 
เมื่อท่านพระธนิยะรับเป็นสัตย์แล้ว 
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า

“ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน เธอจึงได้ถือเอาไม้ของหลวงที่เขาไม่ได้ให้ไปเปล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว”

จึงทรงถามภิกษุผู้เคยเป็นมหาอำมาตย์ผู้พิพากษา 
ซึ่งเข้ามาบวชว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงจับโจรได้ 
ทรงประหารชีวิต จองจำหรือเนรเทศ ด้วยกำหนดทรัพย์เท่าไร
ก็ได้รับคำตอบว่า บาทหนึ่ง
ราคาบาทหนึ่ง หรือ 5 มาสกของนครนั้น มีราคาสูงพอใช้ เพราะในเรื่องตัวอย่างบางเรื่อง ผ้าโพกที่ขโมยมาจากตลาด ราคายังไม่ถึงบาทหนึ่งด้วยซ้ำ ดูวินัยปิฎก เล่ม 126 แต่ผ้าโพกที่ราคาถึง ปรับอาบัติปาราชิกก็มีในหน้า 108 
หรือมีราคาเท่ากับบาทหนึ่ง หรือเกินกว่าบาทหนึ่ง
ครั้งนั้น ในกรุงราชคฤห์ บาทหนึ่งเท่ากับ 5 มาสก
จึงทรงบัญญัติสิกขาบท มิให้ภิกษุถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ 
ผู้ใดทำเช่นนั้น ได้ราคาที่พระราชาจับโจรได้ประหารชีวิต จองจำ หรือเนรเทศ ต้องอาบัติปาราชิก

อนุบัญญัติ (ข้อบัญญัติเพิ่มเติม)

สมัยนั้น ภิกษุฉัพพัคคีย์ (พวก 6 คือเป็นพวกร่วมใจกัน 6 รูป)
ไปที่ลาน (ตากผ้า) ของช่างย้อมขโมยห่อผ้าของช่างย้อมนำมาแบ่งกัน 
ความทราบถึงภิกษุทั้งหลาย เธอแก้ตัวว่า 
นี่เธอไปลักในป่า ไม่ได้ลักในบ้าน 
สิกขาบทที่บัญญัติมุ่งหมายถึงลักในบ้าน 
(ความจริงในตัวสิกขาบท มิได้ระบุสถานที่) 
แต่เพื่อที่จะปิดมิให้ข้อโต้เถียงต่อไป 
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า 
ลักของจากบ้านก็ตาม จากป่าก็ตาม 
(ในเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติปาราชิก).

ต่อจากนั้น เป็นคำอธิบายสิกขาบททุกคำโดยละเอียด 
พร้อมทั้งเติมถ้อยคำที่กันข้อแก้ตัว เช่น 
คำว่า ของตั้งอยู่บนพื้น บนบก บนอากาศ (เช่น นก) บนเวหาส (เช่น ของแขวนไว้)
ในน้ำ บนเรือ บนยาน บนเครื่องแบก (เช่น ศีรษะ, สะเอว) 
ในอาราม ในวิหาร ในนา ในสวน ในบ้าน ในป่า เป็นต้น

อนาบัติ ลักษณะที่ไม่ต้องอาบัติ มี 8 ประการ 
  1. ภิกษุถือเอาด้วยเข้าใจว่าเป็นของตน (หยิบผิด) 
  2. ถือเอาด้วยเข้าใจว่าคุ้นเคยกัน แม้เจ้าของรู้ก็คงไม่ว่า
  3. ถือเอาโดยเป็นของยืม 
  4. ถือเอาของที่ผู้ล่วงลับไปแล้วหวงแหน (ไม่รับรองสิทธิของคนที่ตายไปแล้ว เว้นแต่จะมีผู้รับมรดกต่อ)
  5. ถือเอาของที่สัตว์หวงแหน (เช่น เสือกัดเนื้อตาย ภิกษุถือเอามาบางส่วน เพื่อเป็นอาหาร)
  6. ถือเอาด้วยบังสุกุลสัญญา คือเข้าใจว่าเป็นของเขาทิ้งแล้ว 
  7. ภิกษุเป็นบ้า วิกลจริต
  8. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ อาทิกัมมิกะ

วินีตวัตถุ (เรื่องที่ทรงวินิจฉัยชี้ขาด)

ต่อจากนั้น มีการแสดงตัวอย่างที่ภิกษุทำไปเกี่ยวกับสิกขาบทนี้ ในลักษณะต่าง ๆ กัน ประมาณ ๑๔๙ เรื่อง พระผู้มีพระภาคทรงวินิจฉัยไต่สวนแล้ว ทรงชี้ขาดว่าต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ ตามควรแก่กรณี

วิภังค์ (จำแนกความ)

ที่ชื่อว่า ทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ มีอธิบายว่า ทรัพย์ใดอันเจ้าของไม่ได้ให้ ไม่ได้ละวาง ยังรักษาปกครองอยู่ ยังถือกรรมสิทธิ์อยู่ว่าเป็นของเรา ยังมีผู้อื่นหวงแหน ทรัพย์นั้นชื่อว่าทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้

บทว่า ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย ได้แก่ มีจิตคิดขโมย คือมีจิตคิดลัก.

บทว่า ถือเอา คือ ยึดเอา เอาไป เอาลง ยังอิริยาบถให้กำเริบ ให้เคลื่อนจากฐาน ให้ล่วงเลยเขตหมาย.

ที่ชื่อว่า เห็นปานใด คือ หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี

คำว่า เป็นปาราชิก มีอธิบายว่า ใบไม้เหลืองหล่นจากขั้นแล้ว ไม่อาจจะเป็นของเขียวสดขึ้นได้ แม้ฉันใดภิกขุก็ฉันนั้นแหละ ถือเอาทรัพย์อันเขาไมได้ให้ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี แล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นการ กระทำผิดตามสิกขาบทดังกล่าวจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก

องค์แห่งอาบัติ
  1. เป็นของผู้อื่นเป็นชาติมนุษย์หวงแหนอยู่
  2. สำคัญรู้ว่า เป็นของผู้อื่นหวงอยู่
  3. ของนั้นราคาบาทหนึ่งหรือราคากว่าบาทหนึ่งขึ้นไป
  4. จิตเป็นขโมย
  5. ลักได้ด้วยอวหาร (อาการที่ถือว่าเป็นลักทรัพย์) อย่างใด อย่างหนึ่ง 
พร้อมด้วยองค์ 5 นี้ จึงเป็นปาราชิก (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 124)


*******

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓

ตติยปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกขุเพราะฆ่ามนุษย์ให้ตาย

๓. โย ปน ภิกฺขุ สญฺจิจฺจ มนุสฺสวิคฺคหํ ชีวิตา โวโรเปยฺย, สตฺถหารกํ วาสฺส ปริเยเสยฺย มรณวณฺณํ วา สํวณฺเณยฺย มรณาย วาสมาทเปยฺย, อมฺโภ ปุริส กึ ตุยฺหิมินา ปาปเกน ทุชฺชีวิเตน มตนฺเต ชีวิตา เสยฺโยติ, อิติจิตฺตมโน จิตฺตสงฺกปฺโป อเนกปริยาเยนมรณวณฺณํ วา สํวณฺเณยฺย มรณาย วา สมาทเปยฺย, อยมฺปิ ปาราชิโก โหติ อสํวาโส.

“อนึ่ง ภิกขุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น หรือพรรณาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่ออันตราย ด้วยคำว่า แน่ะนายผู้เป็นชายจะประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยชีวิตอันแสนลำบาก ยากแค้นนี้ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ดังนี้ เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความหมายหลายอย่าง อย่างนี้ พรรณนาคุณในความตายก็ดี ชักชวนเพื่ออันตายก็ดีโดยหลายนัย แม้ภิกขุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้.”

ต้นบัญญัติ



เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เรือนยอด ป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลี
พระองค์ได้ทรงแสดงอสุภกถา คือถ้อยคำปรารภสิ่งที่ไม่สวยงาม
สรรเสริญคุณแห่งอสุภะ และคุณแห่งการเจริญอสุภะ 
คือ การพิจารณาเห็นร่างกายโดยความเป็นของไม่งาม กับทั้งคุณแห่งอสุภสมาบัติ
(การเข้าฌานมีอสุภะเป็นอารมณ์) โดยปริยายเป็นอันมาก
ครั้นแล้วตรัสว่า ทรงพระประสงค์จะหลีกเร้นอยู่ตามลำพังพระองค์ตลอดกึ่งเดือน 
ใคร ๆ ไม่พึงเข้าไปเฝ้า เว้นแต่ภิกษุผู้นำอาหารเข้าไปเพียงรูปเดียว

ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติอสุภภาวนา 
(การเจริญอสุภกัมมัฏฐาน คือการพิจารณาร่างกายโดยความเป็นของไม่งาม) 
ก็เกิดเบื่อหน่าย รังเกียจด้วยกายของตน 
เหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่ชอบการประดับตกแต่ง อาบน้ำ ดำเกล้าแล้ว 
รังเกียจซากศพงู ซากศพสุนัข ซากศพมนุษย์ อันคล้องอยู่ที่คอฉะนั้น 
เมื่อเบื่อหน่ายรังเกียจด้วยกายของตนอย่างนี้ 
ก็ฆ่าตัวตายบ้าง ฆ่ากันแลกันบ้าง 
เข้าไปหานายมิคลัณฑิกะ ผู้แต่งตัวเหมือนสมณะ 
จ้างด้วยบาตรจีวรให้ฆ่าบ้าง 
โดยนัยนี้ นายมิคลัณฑิกะก็รับจ้างฆ่าภิกษุทั้งหลายวันละหนึ่งรูปบ้าง สองรูป สามรูป สี่รูป ห้ารูป จนถึงหกสิบรูปบ้าง
อรรถกถาตั้งคำถามว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงทราบหรือว่า พระเหล่านั้นจะฆ่าตัวตาย หรือจ้างเขาฆ่าแล้วเฉลยว่า ทรงทราบ เพราะภิกษุนั้นในชาติก่อนเคยเป็นพรานล่าเนื้อ ฆ่าเนื้อมาตลอดชีวิต เป็นเรื่องของการใช้กรรมที่ไม่มีใครจะแก้ไขได้ พระองค์จึงทรงหลีกเร้นเสียตลอดกึ่งเดือน เรื่องของการใช้กรรม ถ้าไม่ตายอย่างนี้ ก็ต้องตายอย่างอื่น

เมื่อครบถึงเดือนแล้ว เสด็จกลับจากที่เร้น ทรงทราบเรื่องนั้น จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ 
ทรงสั่งสอน อานาปานสติสมาธิ 
(คือการทำใจให้ตั้งมั่นโดยกำหนดกำหนดลมหายใจเข้าออก) โดยปริยายต่าง ๆ 
แล้วทรงปรารภเรื่องภิกษุฆ่าตัวตาย ฆ่ากันและกัน รวมทั้งจ้างผู้อื่นให้ฆ่าตน ทรงติเตียนว่า

“ดูก่อนภิกขุทั้งหลาย การกระทำของภิกขุเหล่านั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนภิกขุเหล่านั้นจึงได้ ปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็เข้าไปหามิคลัณฑิกสมณกุตตก์ พูดอย่างนี้ว่า พ่อคุณ ขอท่านได้ช่วยปลงชีวิตพวกฉันที บาตรจีวรนี้จักเป็นของท่าน ดังนี้เล่า ดูก่อนภิกขุทั้งหลายการกระทำของภิกขุเหล่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว…”

แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุฆ่ามนุษย์หรือใช้ให้คนอื่นฆ่า 
ทรงปรับอาบัติปาราชิกแก่ผู้ล่วงละเมิด

อนุบัญญัติ (ข้อบัญญัติเพิ่มเติม)

สมัยนั้น อุบาสกคนหนึ่งไม่สบาย ภิกษุฉัพพัคคียื (มีพวก 6) 
เกิดพอใจในภริยาของอุบาสกนั้น 
จึงพูดพรรณนาคุณแห่งความตาย 
อุบาสกนั้นเชื่อ ก็ตั้งหน้ารับประทานแต่ของแสลง 
เป็นเหตุให้โรคกำเริบและตายด้วยโรคนั้น
ภริยาของอุบาสกจึงติเตียน ยกโทษภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้น 
ความทราบถึงพระพุทธเจ้า ทรงเรียกประชุมสงฆ์ ไต่สวน ได้ความเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงติเตียนว่า

“ดูก่อนโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนพวกเธอจึงได้พรรณนาคุณแห่งความตายแก่อุบาสกเล่า ดูก่อนโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว…”

และทรงบัญญัติเพิ่มเติม ห้ามการพรรณนาคุณของความตาย 
หรือชักชวนเพื่อให้ตาย ว่าผู้ใดละเมิด ต้องอาบัติปาราชิกด้วย

ต่อจากนั้น เป็นคำอธิบายในคำบัญญัติสิกขาบทโดยละเอียด 
และมีข้อความแสดงเรื่องอนาบัติ (การไม่ต้องอาบัติ) ว่ามี 6 ประเภท คือ 
  1. ภิกษุไม่รู้ (เช่น ทำของตกทับคนตายโดยไม่มีเจตนาฆ่า) 
  2. ไม่ประสงค์จะให้ตาย 
  3. ภิกษุเป็นบ้า วิกลจริต
  4. ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน (เป็นบ้าไปชั่วขณะ)
  5. ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนากล้า (ไม่รู้สึกตัว)
  6. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ อาทิกัมมิกะ

วินีตวัตถุ (เรื่องที่ทรงวินิจฉัยชี้ขาด)

มีเรื่องต่าง ๆ เกิดขึ้น ประมาณ 100 เรื่อง เกี่ยวกับการกระทำของภิกษุที่มีปัญหาว่าจะต้องอาบัติปาราชิกเพราะสิกขาบทนี้หรือไม่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงไต่สวน และทรงชี้ขาดว่า ต้องอาบัติบ้าง ไม่ต้องอาบัติบ้าง ตามควรแก่กรณี. เฉพาะเรื่องสุดท้ายเกี่ยวกับการกระทำของนางภิกษุณี

องค์แห่งอาบัติ
  1. สัตว์เป็นชาติมนุษย์ 
  2. รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต 
  3. จิตประสงค์จะฆ่า 
  4. พยายามด้วยประโยคทั้ง 6 อันใดอันหนึ่ง
  5. สัตว์นั้นตายด้วยพยายามนั้น 
พร้อมด้วยองค์ 5 ดังนี้ จึงเป็นปาราชิก (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 128 )


*******

ปาราชิกสิกขาบทที่ 4


จตุตถปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกขุเพราะอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

4. โย ปน ภิกฺขุ อนภิชานํ อุตฺตริมนุสฺสธมฺมํ อตฺตูปนายิกํ อลมริยญาณทสฺสนํ สมุทาจเรยฺย, อิติ ชานามิ อิติ ปสฺสามีติ, ตโต อปเรน สมเยน สมนุคฺคาหิยมาโน วา อสมนุคฺคาหิยมาโน วา อาปนฺโน วิสุทฺธาเปกฺโข เอวํ วเทยฺย, อชานเมวํ อาวุโส อวจํ ชานามิ อปสฺสํ ปสฺสามิ ตุจฺฉํ มุสา วิลปินฺติ อญฺญตฺร อธิมานา, อยมฺปิ ปาราชิโก โหติ อสํวาโส.

“อนึ่ง ภิกขุใด ไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธัมม์ อันเป็นความรู้ ความเห็น อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้นอันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่านข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อย ๆ เป็นเท็จเปล่า ๆ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกขุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้.”

ต้นบัญญัติ

เริ่มเรื่องว่า พระพุทธเจ้าประทับ ณ เรือนยอดในป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลี 
สมัยนั้นมีภิกษุหลายรูป ที่ชอบพอเป็นมิตรสหายกัน จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
สมัยนั้น เกิดทุพภิกขภัยในแคว้นวัชชี (ราชธานี ชื่อกรุงเวสาลี) เป็นสมัยเดียวกับที่กล่าวถึงในข้อ 2 ปฐมปาราชิกกัณฑ์ อันว่าด้วยปาราชิกสิกขาบทที่ 1 ตอนที่ เล่าเรื่องพระสุทินนะ
ภิกษุทั้งหลายลำบากด้วยเรื่องอาหารบิณฑบาต จึงปรึกษากันว่า จะทำอย่างไรดี
เป็นสมัยที่ภิกษุไม่ดีมีขึ้นหลายรูปแล้ว

บางรูปเห็นว่า ควรช่วยแนะนำกิจการงานของคฤหัสถ์ 
บางรูปเห็นว่า ควรทำหน้าที่ทูต 
(คือนำความข้างนี้ไปบอกข้างนั้น นำความข้างนั้นมาบอกข้างนี้ (คล้ายบุรุษไปรษณีย์) 
บางรูปเห็นว่า ควรใช้วิธีสรรเสริญกันและกันให้คฤหัสถ์ฟังว่า 
ภิกษุรูปนั้นรูปนี้ มีคุณวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น ได้ฌานที่ 1 ฌานที่ 2 เป็นต้น 
จนถึงว่าได้เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ 
มีวิชชา 3 มีอภิญญา 6
เมื่อเห็นว่าวิธีหลังนี้ดี จึงเที่ยวสรรเสริญกันและกันให้คฤหัสถ์ฟัง 
จึงได้รับเลี้ยงดูจากคฤหัสถ์ชาวริมน้ำวัคคุมุทาเป็นอย่างดี มีผิวพรรณผ่องใส เอิบอิ่ม
เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงเก็บเสนาสนะ เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ กรุงเวสาลี

ปรากฏว่าภิกษุที่มาแต่ทิศทางอื่นล้วนซูบผอม ผิวพรรณทราม มีเส้นเอ็นขึ้นเห็นได้ชัด
ส่วนภิกษุที่มาจากฝั่งน้ำวัคคุมุทา กลับอิ่มเอิบ อ้วนพี 
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามทุกข์สุข และทรงทราบเรื่องนั้น
จึงตรัสติเตียนและตรัสเรียกประชุมภิกษุทั้งหลาย ตรัสเรื่องมหาโจร 5 ประเภท เปรียบเทียบกับภิกษุ คือ

มหาโจร 5 ประเภท

  1. มหาโจรพวกหนึ่งคิดรวบรวมพวกตั้งร้อยตั้งพัน เพื่อจะเข้าไปฆ่า, ปล้น, เอาไฟเผาในคามนิคมราชธานี. ต่อมาก็รวบรวมพวกตั้งร้อยตั้งพันเข้าไปฆ่าปล้น เอาไฟเผาในคามนิคม ราชธานี เทียบด้วยภิกษุบางรูปคิดรวบรวมพวกตั้งร้อยตั้งพัน เพื่อจะจาริกไปในคามนิคม ราชธานี ให้คฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา อ่อนน้อม และได้จีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ตลอดจนยารักษาโรค ต่อมาก็รวบรวมพวกตั้งร้อยตั้งพันจากริกไปในคามนิคม ราชธานี มีคฤหัสถ์บรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา อ่อนน้อม และได้จีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ตลอดจนยารักษาโรค. นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ 1 (ซึ่งมีความปรารถนาลาภสักการะ แล้วก็ทำอุบายต่าง ๆ จนได้สมประสงค์). 
  2. ภิกษุชั่วบางรูปเรียนพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ก็โกงเป็นของตนเอง (แสดงว่าตนคิดได้เอง ไม่ได้เรียนหรือศึกษาจากใคร). นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ 2 
  3. ภิกษุชั่วบางรูปใส่ความเพื่อนพรหมจารีผู้บริสุทธิ์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ ด้วยข้อหาว่า ประพฤติผิดพรหมจรรย์ อันไม่มีมล. นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ 3
  4. ภิกษุชั่วบางรูปเอาของสงฆ์ที่เป็นครุภัณฑ์ ครุบริขาร (ที่ห้ามแจกห้ามแบ่ง) เช่น อาราม ที่ตั้งอาราม วิหาร ที่ตั้งวิหาร เตียง ตั่ง เป็นต้น ไปสงเคราะห์คฤหัสถ์ ประจบคฤหัสถ์ (พราะเห็นแก่ลาภ). นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ 4
  5. ภิกษุผู้อวดคุณพิเศษที่ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง ชื่อว่าเป็นยอดมหาโจรในโลก เพราะบริโภคก้อนข้าวของราษฎรด้วยอาการแห่งขโมย. 
ครั้นแล้วทรงติเตียนภิกษุชาวริมฝั่งน้ำวัดคุมุทาด้วยประการต่าง ๆ พร้อมทั้งทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน เมื่ออวดไปแล้ว แม้จะออกตัวสารภาพผิดทีหลัง ก็ต้องอาบัติปาราชิก.

อนุบัญญัติ (ข้อบัญญัติเพิ่มเติม)

สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปสำคัญผิดว่าตนได้บรรลุคุณพิเศษ 
จึงประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์ (พยากรณ์อรหัตตผล) สมัยต่อมา 
จิตของเธอน้อมไปเพื่อราคะ โทสะ โมหะ ก็เกิดความรังเกียจ 
สงสัยว่า การประกาศตนว่าได้บรรลุคุณวิเศษ ด้วยความสำคัญผิด 
จะทำให้ต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ 
ความทราบถึงพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติเพิ่มเติม 
ยกเว้นให้สำหรับภิกษุผู้สำคัญผิดว่าได้บรรลุ.

ต่อจากนั้น เป็นคำอธิบายตัวสิกขาบทโดยละเอียดแล้วแสดงอนาบัติ (การไม่ต้องอาบัติ) ๖ ประการ คือ 
  1. เพราะสำคัญผิดว่าได้บรรลุ 
  2. ภิกษุมิได้มีความประสงค์โอ้อวด (เช่น บอกเล่าแก่เพื่อพรหมจารี) โดยมิได้มีความปราถนาจะได้ลาภ)
  3. ภิกษุเป็นบ้า วิกลจริต
  4. ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน (เป็นบ้าไปชั่วคราวเพราะเหตุใด ๆ)
  5. ภิกษุมีเวทนากล้า (ไม่รู้สึกตัว) 
  6. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ อาทิกัมมิกะ

วินีตวัตถุ (เรื่องที่ทรงวินิจฉัยชี้ขาด)

ต่อจากนั้น แสดงตัวอย่างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยการกระทำของภิกษุที่เนื่องด้วยสิกขาบทนี้ 
ประมาณ 75 ราย ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงไต่สวนเอง ทรงวินิจฉัยชี้ขาดว่า ต้องอาบัติปาราชิกบ้าง ไม่ต้องอาบัติปาราชิกบ้าง ต้องอาบัติถุลลัจจัยบ้าง อาบัติทุกกฏบ้าง ตามควรแก่กรณี

องค์แห่งอาบัติ 
  1. อุตตริมนุสสธัมม์ไม่มีในตน 
  2. อวดด้วยมุ่งลาภ สรรเสริญ 
  3. ไม่อ้างผู้อื่น 
  4. บอกแก่ผู้ใดผู้นั้นเป็นชาติมนุษย์ 
  5. เขารู้ด้วยความในขณะนั้น 
พร้อมด้วยองค์ 5 ดังนี้ จึงเป็นปาราชิก (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 130)

สรุปความว่า อาบัติปาราชิกมี 4 สิกขาบท ต้องเข้าแล้ว ต้องขาดจากความเป็นภิกษุ แม้สึกไปแล้ว จะมาบวชใหม่อีก ก็ไม่ได้

จบปาราชิก 4


3 ความคิดเห็น:

  1. พร้อมด้วยอง5 นี้หมายถึงต้องประกอบกัน5อย่างจึงขะเป็นปาราชิกใช่ไหมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ใช่ครบ ครบองค์ประกอบทั้ง 5 ถึงจะต้องอาบัติ

      ลบ
  2. กราบขอบพระคุณที่เมตตาให้รายละเอียดไว้ดีมากๆ กราบขออนุญาตินำแชร์ถ่ายทอดให้ผู้ที่ยังไม่รู้ได้รู้ด้วยนะเจ้าคะ กราบนมัสการเจ้าค่ะ

    ตอบลบ