วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พุทธประวัติ ตอน ๒ ประสูติ

พุทธประวัติ ตอน ๒ ประสูติ


ประมาณ 600 ปีเศษ ก่อนคริสต์ศักราชประเทศอินเดียหรือที่เรียกกันว่า ชมพูทวีป
มีแคว้น หรือรัฐใหญ่ๆ รวมอยู่ 10 แคว้นด้วยกัน 
ในจำนวนนี้ 8 แคว้น ปกครองแบบราชาธิปไตย คือมี พระเจ้าแผ่นดินปกครอง เช่น 
มคธ (ราชคฤห์ - เมืองหลวง), โกศล (สาวัตถี - เมืองหลวง), วังสะ (โกสัมพี - เมืองหลวง) เป็นต้น
ที่เหลืออีก 8 รัฐ เช่น วัชชี (เวสาลี - เมืองหลวง) มัลละ (ปาวา และกุสินารา - เมืองหลวง) เป็นต้น ปกครองแบบสามัคคีธรรม หรือคณะราชย์ ซึ่งก็คือ ระบบประชาธิปไตยนั่นเอง



มีรัฐเล็ก ๆ ที่นับว่าเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนั้นรัฐหนึ่ง 
อยู่ทางเหนือสุดของอินเดียที่เชิงเขา หิมพานต์ (ภูเขาหิมาลัย) ชื่อ กรุงกบิลพัสดุ์ 
อยู่ในความอารักขาของแคว้นโกศล มีกษัตริย์ราชวงศ์ศากยะปกครอง 
พระราชาทรงพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระอรรคมเหสีพระนามว่าพระนางศิริมหามายาเทวี



ในกาลนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าบังเกิดเป็นสันตุสิตเทวราช เสวยทิพยสมบัติอยู่ในรัตนวิมานสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลก ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมและเทวราชในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นฟ้า ชวนกันไปเฝ้ากราบทูลอาราธนาพระบรมโพธิสัตว์เจ้า จุติลงไปบังเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยโลก เพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า แสดงธรรมสั่งสอนประชากรให้รู้ธรรมและประพฤติธรรม สมดังที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีตั้งพระทัยไว้แต่แรก



พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ยังมิได้รับอาราธนาของทวยเทพทั้งหลายก่อน 
ทรงพิจารณาดู ปัญจมหาวิโลกนะ 5 ประการ คือ


  1. กาลเวลา คือ กาลเวลาแห่งอายุของมนุษย์ คือ ถ้ามนุษย์มีอายุมากเกินแสนปีขึ้นไป หรือต่ำกว่าร้อยปีลงมา ก็ไม่ใช่กาลที่จะลงมาตรัสรู้ เพราะยุคสมัยที่มนุษย์อายุมากเกินไปก็ไม่อาจเห็นพระไตรลักษณ์ หรือหากอายุสั้นเกินไปก็มีกิเลสหนามากไม่อาจเห็นธรรม แต่ในยุคนี้เป็นยุคที่มนุษย์มีอายุร้อยปี จึงเป็นกาลที่จะลงมาตรัสรู้ได้ 
  2. ทวีป ทรงเห็นว่าชมพูทวีปเป็นทวีปที่เหมาะสมที่จะลงมาตรัสรู้เหตุนี้ พระบรมโพธสัตว์ซึ่งบังเกิดเป็นสันดุสิตเทวราชเสวยทิพยสมบัติอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต เลือกลงมาจุติในชมพูทวีป เพราะถือเป็นทวีปที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในยุคนั้น พระพุทธเจ้าทั้งปวงในอดีตล้วนประสูติในมัชฌิมประเทศ และกรุงกบิลพัลดุ์ แคว้นสักกะนั้นก็ตั้งอยู่ในมัชฌิมประเทศแห่งชมพูทวีป
  3. กาลประเทศ ทรงเห็นว่า มัชฌิมประเทศ คือท้องถิ่นร่วมกลางชมพูทวีป ซึ่งบัดนี้อยู่ในอินเดีย ปากีสถานเป็นส่วนมาก เลยเข้าไปในเนปาลบ้าง เช่น สถานที่ประสูติอยู่ในเนปาล เป็นสถานที่เหมาะที่จะลงมาตรัสรู้
  4. ราชตระกูล ทรงเห็นวงศ์ ศากยราชตระกูล และพระเจ้าสุทโธทนะจะทรงเป็นพระราชบิดาได้
  5. พระราชมารดา คือ ทรงเห็นพระนางสิริมหามายามีศีลและบารมีธรรมที่ได้ทรงอบรมบ่มบำเพียร สั่งสมมาเป็นเวลา 1 อสงไขย และนับแต่นี้จะมีพระชนม์ชีพเหลืออีกเพียง 10 เดือนกับอีก 7 วัน ซึ่งสมควรเป็นพระมารดาได้ ทั้งจะมีพระชนม์สืบไปจากเวลาที่พระโอรสประสูติเพียงเจ็ดวัน สัตว์อื่นไม่อาจอาศัยคัพโภทร(ครรภ์)บังเกิดได้อีก อีกทั้งพระนางสิริมหามายาเทวีก็เป็นผู้รักษา เบญจศีลาจารวัตรอันบริสุทธิ์
ส่วนสาเหตุที่ถือกำเนิดในวรรณะกษัตริย์แทนที่จะเป็นวรรณะพราหมณ์ เหล่าบูรพาจารย์ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า พราหมณ์กับวรรณกษัตริย์แข่งขันกันอยู่ว่าใครสูงกว่ากัน และวรรณะพราหมณ์มักชนะอยู่เสมอเพราะการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องไตรเพท คือได้เรียนศิลปวิทยา และได้รับความเคารพนับถือจากคนทุกวรรณะ ครั้นถึงสมัยพุทธกาลเหล่าวรรณะกษัตริย์จึงเริ่มอยู่เหนือวรรณะพราหมณ์ เนื่องจากได้ศึกษาพระเวทจนเจนจบ และออกบรรพชาแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง จนในที่สุดมีความรู้เหนือวรรณะพราหมณ์และเอาพวกพราหมณ์เป็นบริวารได้
เห็นว่าอยู่ในสถานที่ควรจะเสด็จจุติลงได้ ด้วยจะสำเร็จดังมโนปณิธานที่ทรงตั้งไว้ จึงได้ทรงรับคำทูลเชิญของมวลเทพนิกร





เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ส่งเทพเจ้าทั้งหลายกลับคืนนิวาสถานของตน ๆ แล้ว เสด็จแวดล้อมไปด้วยเทพบริวาร ไปสู่นันทวันอุทยาน อันมีในดุสิตเทวโลก เสด็จประภาสรื่นรมณ์อยู่ในทิพย์อุทยานนั้น ครั้นได้เวลาอันสมควรก็เสด็จจุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางเจ้ามายาราชเทวี อัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ ในวันเพ็ญ เดือน 8 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

พระนางสิริมหามายาทรงพระสุบิน


ในราตรีกาลวันอาสาฬหปุรณมี เพ็ญเดือน ๘ นั้น พระนางเจ้ามายาราชเทวีทรงอธิฐานสมาทานอุโบสถศีล
เสด็จบรรทมบนพระแท่นที่ ในเวลารุ่งสุริยรังษีปัจจุบันสมัย ทรงพระสุบินนิมิตว่า



“ท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 มายกพระองค์ไปพร้อมกับพระแท่นที่ผทม 
เอาไปวางไว้บนแผ่นมโนศิลา ภายใต้ต้นรังใหญ่ แล้วมีนางเทพธิดามาทูลเชิญให้เสด็จไปสรงน้ำในสระอโนดาษ 
ชำระล้างมลทินแห่งมนุษย์แล้ว ทรงผลัดด้วยผ้าทิพย์ 
ลูบไล้ด้วยเครื่องหอมอันเป็นทิพย์ ทั้งประดับด้วยทิพย์บุบผาชาติ ใกล้ภูเขาเงินภูเขาทอง
แล้วเชิญเสด็จให้เข้าผทมในวิมานทอง บ่ายพระเศียรไปยังปราจีนทิศ (ตะวันออก) 
ขณะนั้นมีเศวตกุญชร ช้างเผือกเชือกหนึ่ง 
ชูงวงจับดอกปุณฑริกปทุมชาติ (บัวขาว) เพิ่งแย้มบาน กลิ่นหอมฟุ้งตระหลบ
ลงจากภูเขาทองด้านอุตตรทิศ ร้องก้องโกญจนาทเดินเข้าไปในวิมาน 
ทำปทักษิณเวียนพระแท่นที่ผทมได้ 3 รอบ แล้วปรากฏเสมือนเข้าไปสู่พระอุทรทางเบื้องขวาของพระราชเทวี” 
ก็พอดีพระนางเจ้าเสด็จตื่นบรรทม ขณะนั้นก็พลันบังเกิดกัมปนาทแผ่นดินไหว
มีรัศมีสว่างไปทั่วโลกธาตุ เป็นบุพพนิมิตโดยธรรมนิยม 
ในเวลาพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเสด็จลงปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางเจ้ามายาราชเทวี


ครั้นเวลารุ่งเช้า พระนางเจ้ามายาราชเทวี จึงกราบทูลเรื่องพระสุบินนิมิตเมื่อราตรีแก่พระราชสามี พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช จึงรับสั่งให้เชิญพราหมณ์ปาโมกข์โหราจารย์เข้ามาเฝ้า แล้วทรงเล่าเรื่องพระสุบินของพระราชเทวีให้ทำนาย พราหมณ์ทั้งหลายก็ทูลพยากรณ์ว่า พระสุบินของพระราชเทวี เป็นมงคลนิมิตปรากฏ พระองค์จะได้พระปิโยรส เป็นอัครบุรุษมนุษย์ชายชาติเชื้ออาชาไนย มีบุญญาธิการยิ่งใหญ่ในโลกสันนิวาส เป็นที่พึ่งของประชาชาติไม่มีผู้ใดเสมอ พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงสดับก็ทรงโสมนัส โปรดประทานการบริหารพระครรภ์พระราชเทวีเป็นอย่างดี ให้สนมอยู่ประจำที่คอยอภิบาลอยู่ตลอดเวลา



เมื่อพระนางเจ้ามายาราชเทวีทรงพระครรภ์อยู่ถ้วนทศมาส 
10 เดือนบริบูรณ์แล้วมีพระทัยปราถนาจะเสด็จไปเมืองเทวทหะนคร 
อันเป็นชาติภูมิของพระองค์ จึงกราบทูลลาพระเจ้าสุทโธทนะพระราชสามี ครั้นได้รับพระราชทานอนุมัติแล้ว ก็เสด็จโดยราชยานสีวิกามาศ (วอทอง) 
แวดล้อมด้วยเสนามาตย์ราชบริพาร ตามเสด็จถวายอารักขาเป็นอย่างดี 
ในวันวิสาขะปุณณมี เพ็ญเดือน 6 ออกจากพระนครในเวลาเช้า 
เสด็จไปตามมรรคาโดยสวัสดี ตราบเท่าบรรลุถึงลุมพินีสถาน 
อันตั้งอยู่ในระหว่างพระนครทั้งสอง คือ พระนครกบิลพัสดุ์และพระนครเทวทหะ 
เป็นรมณียสถาน บริบูรณ์ด้วยรุกขบุบผาผลาชาติ กำลังผลิตดอกออกผล หอมฟุ้งขจรจบในบริเวณนั้น
พระนางเจ้ามีพระทัยปรารถนาจะเสด็จประพาส 
จึงอำมาตย์ทั้งหลายก็เชิญเสด็จแวะจากมรรคา เสด็จเข้าสู่ลุมพินีวัน 
เสด็จลงจากราชยานสีวิกามาศ แวดล้อมด้วยพระพี่เลี้ยงและนารีราชบริวารเป็นอันมาก
เสด็จดำเนินไปถึงร่มไม้สาละพฤกษ์ ทรงยกพระหัตถ์เหนี่ยวกิ่งสาละซึ่งอ่อนน้อมค้อมลงมา 
ขณะนั้นก็ประจวบลมกัมมัชวาตหวั่นไหวประชวรพระครรภ์ ใกล้ประสูติ 
เจ้าพนักงานทั้งหลายก็รีบจัดสถานที่ผูกม่านแวดวงเข้ากับภายใต้ร่มไม้สาละถวายเท่าที่พอจะทำได้ 
แล้วก็ชวนกันออกมาภายนอก เทพยดาในหมื่นจักรวาลมาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น 
พระนางเจ้ามายาเทวี ทรงนุ่งโกสัยพัสตร์ขจิตด้วยทอง 
ทรงห่มทุกุลพัสตร์คลุมพระองค์ลงไปถึงหลังพระบาท 
ประทับยืนผันพระปฤษฏางค์พิงเข้ากับลำต้นมงคลสาละพฤกษ์ 
พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งสาละ ทอดพระเนตรไปยังปราจีนทิศ

พระกุมารประสูติ


ในกาลนั้น เป็นมหามงคลหุติฤกษ์
พระบรมโพธิสัตว์เจ้าประสูติจากมาตุคัพโภทร 
ท้าวสุธาวาสมหาพรหมทั้ง 4 พระองค์ 
ก็ทรงถือข่ายทองรองรับพระกายไว้ 
ในที่เฉพาะพระพักตร์พระราชเทวีแล้วกล่าวว่า พระแม่เจ้าจงทรงโสมนัสเถิด 
พระราชโอรสที่ประสูตินี้ มีมเหศักดาอานุภาพยิ่งนัก 
ขณะนั้นท่ออุทกธาราทั้งสองก็ไหลหลั่งลงมาจากอากาศ 
ท่อธารหนึ่งเป็นน้ำร้อน ท่อธารหนึ่งเป็นน้ำเย็น 
ตกลงมาโสรจสรงพระกายพระกุมารกับพระราชมารดา

ลำดับนั้นท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 พระองค์ 
ก็ทรงรับพระราชกุมารไปจากพระหัตถ์ท้าวมหาพรหม
โดยรองรับพระองค์ด้วยอชินจัมมาชาติ อันมีสุขสัมผัส 
ซึ่งสมมุติว่าเป็นมงคลในโลก 
ต่อนั้น นางนมทั้งหลายจึงรองรับพระองค์ด้วยผ้าทุกุลพัสตร์จากพระหัตถ์ท้าวจตุโลกบาล 
และขณะนั้นพระราชกุมาร ก็เสด็จอุฏฐาการลงจากมือนางนมทั้งหลาย 
เสด็จเหยียบยืนยังพื้นภูมิภาค ด้วยพระบาททั้งสองเสมอเป็นอันดี 
ท้าวมหาพรหมก็ทรงเปรมปรีย์ ทรงทิพย์เศวตฉัตรกลางกั้น 
กันละอองมิให้มาถูกต้องพระยุคลบาท 
ท้าวสยามเทวราช ทรงซึ่งทิพย์วาลวิชนีอันวิจิตร 
เทพบุตรที่มีมหิทธิฤทธิ์องค์หนึ่ง 
ถือพระขรรค์อันขจิตด้วยแก้ว 7 ประการ เทพบุตรองค์หนึ่งยืนประดิษฐานถือฉลองพระบาทชาตรูปมัยทั้งคู่ 
เทพบุตรองค์หนึ่งยืนเชิดชูทิพยมหามงกุฏ 
ล้วนเป็นเกียรติแก่พระกุมาร 
ซึ่งเพียบพร้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 5 
ปรากฏแก่นัยน์ตาของมวลมนุษย์ 
แต่เทพยดาทั้งหลายที่ถือนั้นมิได้เห็นปรากฏ


ทรงเปล่งอาภิสวาจา 

ครั้นพระกุมารทอดพระเนตรไปยังปราจีนทิศ 
เห็นเทพยดามนุษย์เป็นอันมาก 
มาสโมสรสันนิบาตในลานอันเดียวกัน 
และเทพยดาทั้งปวงนั้นทำสักการะบูชาด้วยบุบผาชาติต่าง ๆ ตั้งไว้บนเศียรเกล้า 
แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระกุมาร พระองค์เป็นผู้ประเสริฐสุด จะหาบุคคลในโลกนี้เสมอด้วยพระองค์มิได้มี 
ครั้นแล้วพระกุมารเจ้าก็บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุตตรทิศ 
เสด็จย่างพระบาทไปบนพื้นแผ่นทอง 
อันท้าวจตุโลกบาลถือรองรับไว้ได้ 7 ก้าว 
แล้วทรงหยุดประทับยืนบนทิพยปทุมบุบผาชาติ อันมีกลีบได้ 100 กลีบ 
ทรงเปร่งพระสุรเสียงอันไพเราะดุจเสียงท้าวมหาพรหม ดำรัสอาภิสวาจาด้วยพระคาถาว่า



อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐ เสฏฺโฐ หมสฺมิ
อยนฺติมา เม ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ฯ


ความว่า ในโลกนี้ เราเป็นยอด เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปไม่มี


ขณะนั้น โลกธาตุก็บังเกิดมหัศจรรย์หวั่นไหว 
รัศมีพระอาทิตย์ก็อ่อนมิได้ร้อนเย็นสบาย มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในทิศทั้งหลาย 
ยังวัสโสทกให้ตกลงในที่นั้น ๆ โดยรอบ ทิศานุทิศทั้งหลายก็โอภาสสว่างยิ่งนัก
ทั้งสรรพบุพพนิมิตปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ก็ปรากฏมี ดุจการเมื่อเสด็จลงปฏิสนธิในพระครรภ์นั้น

และในวันพระกุมารประสูตรนั้น มีมนุษย์และสัตว์ 
กับสิ่งซึ่งเป็นสหชาติมงคลบังเกิดร่วมกันวันทันสมัยถึง ๗ คือ 


  1. พระนางพิมพา หรือพระนางยโสธรา เป็นพระราชบุตรีของประเจ้าสุปปพุทธะกรุงเทวทหะ เป็นพระชายาของพระสิทธัตถะเมื่อมีประชนม์ได้ 16 พรรษา เป็นพระมารดาของพระราหุล ภายหลังออกบวชมีนามว่า พระภัททกัจจานา
  2. พระอานนท์ เป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ โอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านออกบวชในพุทธศาสนา และได้รับเลือกเป็นพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในหลายด้าน ท่านบรรลุพระอรหันต์หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 3 เดือน เป็นกำลังสำคัญในคราวทำปฐมสังคายนา ท่านดำรงชีวิตสืบมาจนถึงอายุได้ 120 ปี จึงปรินิพพานในอากาศเหนือแม่น้ำโรหิณี ซึ่งเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างแคว้นของพระญาติสองฝ่ายคือศากยะ และโกลิยะ
  3. นายฉันนะ เป็นอำมาตย์คนสนิท และเป็นสารถีของเจ้าชายสิทธัตถะในวัง เสด็จออกบรรพชาเมื่อมีพระชนม์ได้ 29 พรรษา นายฉันนะตามเสด็จไปด้วยและนำเครื่องอาภรณ์พร้อมทั้งคำกราบทูลของเจ้าชายสิทธัตถะกลับกรุงกบิลพัสดุ์ ภายหลังบวชเป็นภิกษุถือตัวว่าเป็นคนใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาแต่เก่าก่อน ใครว่าไม่ฟังเกิดความบ่อย ๆ หลังจาก พระพุทธเจ้าปรินิพานแล้ว ถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์หายพยศและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
  4. อำมาตย์กาฬุทายี เป็นพระสหายสนิทของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์พระเจ้าสุทโธนะส่งไปทูลเชิญพระศาสดาเพื่อเสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์ อำมาตย์กาฬุทายีไปเผ้าพระศาสดาที่กรุงราชคฤห์ ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตตผล อุปสมบทเป็นภิกษุแล้วทูลเชิญพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ท่านได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาผู้ทำตระกูลให้เลื่อมใส
  5. ม้ากัณฐกะ ม้าพระที่นั่งของเจ้าชายสิทธัตถะ ตัวม้ายาวจากคอถึงหาง 18 ศอก ส่วนสูงก็เหมาะสมกับส่วนยาว มีสีขาวผ่องเหมือนเปลือกหอยสังข์ที่ขาวสะอาด ในราตรีที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จหนีออกจากพระราชวัง เพื่อเสด็จออกพรรพชา การเดินทางครั้งนี้มีนายฉันนะเกาะหางม้ากัณฐกะไปด้วย ม้ากัญฐกะเดินทางถึงแม่น้ำอโนมาใช้เวลาเที่ยงคืนถึงเช้าระยะทาง 30 โยชน์ (480 กิโลเมตร) กระโดดครั้งเดียวก็ข้ามแม่น้ำอโนมา เมื่อข้ามฝั่งแม่น้ำแล้วเจ้าชายสิทธัตถะจึงรับสั่งว่า กัณฐกะเจ้าจงกลับไปยังเมืองกบิลพัสดุ์เถิด ม้ากัณฐกะจึงเหลียวมองไปทางเจ้าชายสิทธัตถะ พอเจ้าชายลับสายตาไป ม้าก็ถึงแก่ความตายเนื่อง จากเสียใจ และได้ไปเกิดอยู่ในดาวดึงส์ มีชื่อว่า "กัณฐกเทวบุตร"
  6. ต้นมหาโพธิ์ เจ้าชายสิทธัตถะขณะที่มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา ทรงบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเพ็ญ เดือน 6 ใต้ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ ภายในป่าสาละ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ (ปัจจุบันคือ ตำบลพุทธคยา แขวงเมืองอุรุเวลาเสนานิคม ของรัฐพิหาร) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ 1 เกิดพร้อมกับเจ้าชายสิทธัตถะ มีอายุ 305 ปี (ต้นโพธิ์ตรัสต้นที่ 2 มีอายุ 891 ปี ต้นที่ 3 มีอายุ 1,227 ปี ต้นโพธิ์ตรัสรู้ปัจจุบันเป็นหน่อที่ 4 ปลูกราว พ.ศ. 2434)
  7. ขุมทรัพย์ทั้งสี่ ขุมทรัพย์ทั้ง 4 หรือนิธิกุมภี คือขุมทอง 4 ขุม ได้แก่ ขุมทองสังขนิธี ขุมทองเอลนิธี ขุมทองอุบลนิธี ขุมทองปุณฑริกนิธี

ครั้นกษัตริย์ศากยราชทั้งสองพระนครทรงทราบข่าวสาร 
พระกุมารประสูติก็ทรงปีติโสมนัสเป็นที่ยิ่ง 
จึงเสด็จมาอันเชิญพระราชกุมารพร้อมด้วยพระชนนี แวดล้อมด้วยมหันตราชบริวาร กึกก้องด้วยดุริยะประโคมขาน แห่เสด็จคืนเข้าพระนครกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้จัดพี่เลี้ยง นางนม พร้อมด้วยเครื่องสูงแบบกษัตริย์ บำรุงพระราชกุมาร กับจัดแพทย์หลวงถวายการบริหารพระราชเทวี พระราชชนนีของพระกุมารเป็นอย่างดี

พระพุทธพจน์จากพระไตรปิฏก ตรัสถึงเรื่องในครั้งนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !
ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้จำเอามาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า 

 “ ดูก่อนอานนท์! หญิงอื่น ๆ ย่อมนั่งคลอดบ้าง นอนคลอดบ้าง. 
ส่วนมารดา แห่งโพธิสัตว์ หาเป็นอย่างนั้นไม่, 
มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อม ยืนคลอด โพธิสัตว์” ดังนี้. ฯลฯ 

“ดูก่อนอานนท์! ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่ง มารดา 
ในกาลนั้นเทวดาย่อมเข้ารับก่อน
ส่วนมนุษย์ทั้งหลายย่อมเข้ารับต่อภายหลัง” ดังนี้. ฯลฯ 

“ดูก่อนอานนท์! ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดา
ยังไม่ทันถึงแผ่นดินเทพบุตรทั้งสี่ย่อมรับเอามาวางตรงหน้าแห่งมารดา
ทูลว่าแม่เจ้าจงพอพระทัยเถิด บุตรอันมีศักดาใหญ่ของแม่เจ้า เกิดแล้ว” ดังนี้. ฯลฯ

“ดูก่อนอานนท์! 
ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดา 
ในกาลนั้นเป็นผู้สะอาดหมดจด 
ไม่เปื้อนด้วยเมือก ไม่เปื้อนด้วยเสมหะ ไม่เปื้อน ด้วยเลือด ไม่เปื้อนด้วยหนอง ไม่เปื้อนด้วยของไม่สะอาดอย่างใด ๆ 
เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดหมดจดมาทีเดียว.
เหมือนอย่างว่า แก้วมณีที่วางอยู่บนผ้าเนื้อเกลี้ยง อันมาแต่แคว้นกาสี, 
แก้วก็ไม่เปื้อนผ้า ผ้าก็ไม่เปื้อนแก้ว, เพราะเหตุใด, 
เพราะเหตุว่ามันเป็นของสะอาดหมดจดทั้งสองอย่าง; ฉันใดก็ฉันนั้น 
ที่โพธิสัตว์ ออกมาจากท้องแห่งมารดา เป็นผู้สะอาดหมดจด 
ไม่เปื้อนด้วยเมือก ไม่เปื้อน ด้วยเสมหะ ไม่เปื้อนด้วยเลือด ไม่เปื้อนด้วยหนอง ไม่เปื้อนด้วยของไม่สะอาด อย่างใด ๆ เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดหมดจดมาทีเดียว” ดังนี้. ฯลฯ 

“ดูก่อนอานนท์! 
ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดา 
ในกาลนั้น ท่อธารแห่งน้ำสองท่อ ปรากฏจากอากาศ 
เย็นท่อหนึ่งร้อนท่อหนึ่ง, อันเขาใช้ในกิจอันเนื่องด้วยน้ำ แก่โพธิสัตว์ และแก่มารดา”. ดังนี้. ฯลฯ 

“ดูก่อนอานนท์! โพธิสัตว์ผู้คลอดแล้วเช่นนี้ เหยียบพื้นดิน ด้วยฝ่าเท้าอันสม่ำเสมอ 
มีพระพักตร์ทางทิศเหนือ ก้าวไป 7 ก้าว, มีฉัตร สีขาวกั้นอยู่ ณ เบื้องบน, 
ย่อมเหลียวดูทิศทั้งหลาย และกล่าว อาสภิวาจา ว่า 
 “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี”. ดังนี้"

จบเรื่องการประสูติ


บทวิเคราะห์

เนื่องจากมีหลักฐานเป็นจดหมายเหตุของหลวงจีนฟาเหียน ที่มากับเรือสำเภาจีน เรื่องการที่พระไตรปิฏกถูกดัดแปลง แก้ไข
จึงมีทัศนคติที่แตกต่างกันออกไปสองจำพวก

พวกหนึ่งว่า เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง อีกพวกไม่เชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริง
เพราะฉะนั้น ท่านไม่ต้องกินแหนงแคลงใจไปหรอก ใครใครจะเชื่อก็เชื่อ ใครใคร่จะไม่เชื่อก็ไม่มีใครว่าอะไร
ถ้าสองพวกนี้มันทะเลาะกันเพราะเรื่องความเชื่อ ก็ปล่อยมันทะเลาะกันไป
เอาเวลาไปสร้างสรรค์ประโยชน์อย่างอื่นเถิด

วิเคราะห์การประสูติแล้วเดินได้ 7 ก้าว เป็นปริศนาธรรม เป็นกุศโลบาย หมายถึง พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระศาสนาไปยัง 7 แคว้นในอินเดีย

การที่พุทธประวัติถูกตกแต่ง แต่งเติม ให้อลังการ มีปาฏิหาริย์ วิเคราะห์ว่า
เนื่องจากยุคหนึ่งที่ศาสนาพุทธเริ่มเสื่อมถอยในอินเดีย ถูกลิทธิพราหมณ์เบียดเบียน เข้าแทรก และทำลายพระพุทธศาสนาจากภายในบ้าง ภายนอกบ้าง ถึงขั้นแต่งตำราพราหมณ์ใหม่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงอวตารหนึ่งของเทพบูชาของพราหมณ์เท่านั้น ให้พราหมณ์ไปแสวงบุญยังศาสนาพุทธได้ และเชิญชวนให้พุทธไปแสวงบุญยังเขตของพราหมณ์ ส่วนพราหมณ์ไม่ต้องนับถือพุทธ คนพุทธให้มานับถือพราหมณ์ด้วย (โดยที่ก็ยังนับถือพุทธอยู่) เมื่อนานวันไปเข้า พุทธศาสนาก็เสื่อมถอยลง ทำให้ชาวพุทธบางท่าน ถึงขั้นแต่งเติมเสริมพุทธประวัติให้มีอภินิหาร อลังการ เพื่อดึงดูดผู้นับถือศาสนาอื่น นี่เป็นบทวิเคราะห์ข้างต้นเท่านั้น

บทวิเคราะห์เรื่องการเปล่งอาสภิวาจา มีปริศนาธรรมแฝงไว้
ตีความจากเนื้อหาแล้ว สามารถพิจารณาได้เป็น 2 ประเด็น ดังนี้

1.เป็นการตรัสวาจาที่อาจหาญยิ่งเท่าที่มนุษย์เคยกล่าวมา
เนื่องจากเป็นวาจาที่แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์เอง โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า หรืออำนาจใดๆ อีกต่อไป
นับเป็นการประกาศอิสรภาพทางใจให้แก่มนุษย์
ซึ่งแต่เดิมนั้นมนุษย์ต้องคอยหวังพึ่งอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้าให้กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง
ขาดการสร้างสรรค์ด้วยปัญญาของตน 
แต่เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น 
ทรงแสดงให้มนุษย์ทั้งหลายเห็นในศักยภาพของตนเองที่มีความพร้อมในการสร้างสรรค์ชีวิตของตน
โดยไม่ต้องหวังรอพึ่งพาอำนาจนอกเหนือจากอำนาจของการกระทำด้วยตนเอง (กฎแห่งกรรม)
การกล่าววาจาว่าเป็นใหญ่ในโลก ประเสริฐที่สุดในโลกนั้น 
เป็นการกล่าวในนามมนุษย์ทั้งหมด ที่มีความกล้าหาญพอในการที่จะพึ่งตนเอง
มากกว่าพึ่งอำนาจลึกลับอย่างที่ผ่านมา

2. การตรัสคำว่า “ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา ชาติต่อไปจะไม่มีอีกแล้ว” มีความหมายที่ชัดเจนอยู่ในตัว คือ 
การเกิดมาในชาติที่เป็นพระสิทธัตถะนับเป็นชาติสุดท้ายของพระพุทธองค์
โดยที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีมาในอดีตชาติอย่างมหาศาล 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 10 ชาติสุดท้ายที่ได้บำเพ็ญบารมีอย่างยอดเยี่ยม 
จนพระชาติสุดท้ายก่อนได้เกิดมาเป็นพระสิทธัตถะ 
ได้ทรงบำเพ็ญทานบารมีในคราวเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร
การเกิดขึ้นในชาติที่เป็นพระสิทธัตถะนี้ จึงเป็นชาติสุดท้าย 
เพราะพระองค์ได้ตรัสรู้เข้าถึงพระนิพพาน สามารถดับกิเลสทั้งปวงได้และหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

อาสภิวาจานี้ จึงมีความหมายที่สอดคล้องกับการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นมา
เพื่อยกเลิกความเป็นทาสทางใจให้แก่มนุษย์ 
จนสามารถเป็นนาย ไม่เป็นทาสของกิเลสและความหลงใด ๆ 
จนสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลกได้ ด้วยการฝึกฝนตน 
ดังพระพุทธดำรัสว่า 
“ทันโต เสฏโฐ มนุสเสสุ มนุษย์ผู้ที่ฝึกตนมาดี เป็นผู้ประเสริฐที่สุด”

จบบทวิเคราะห์




พระพุทธพจน์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้

การอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิต



ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ดูก่อนอานนท์ ! โพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม บังเกิดขึ้นในหมู่ เทพชั้นดุสิต" ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ! ข้อที่พระโพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม บังเกิดขึ้นในหมู่เทพชั้นดุสิต นี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่า เป็นของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค.


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ดูก่อนอานนท์! โพธิสัตว์มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ดำรงอยู่ ในหมู่เทพชั้นดุสิต" ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อที่พระโพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ดำรงอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิต นี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่า เป็นของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค.


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ดูก่อนอานนท์! โพธิสัตว์มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ดำรงอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิต จนกระทั่งตลอดกาลแห่งอายุ" ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ข้อที่พระโพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ดำรงอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิตจนกระทั่งตลอดกาลแห่งอายุ นี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่า เป็นของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีเกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค.


บาลี อัจฉริยอัพภูตธัมมสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๗/๓๖๐-๑-๒, เป็นคำที่พระอานนท์เล่าแก่ภิกษุทั้งหลาย ต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ถึงเรื่องที่เคยได้ฟังมาจากพระผู้มีพระภาคเอง, นับว่าเป็นข้อความจากพระโอษฐ์ เฉพาะตอนที่อยู่ในอัญญประกาศ.
บาลีอัจฉริยอัพภูตธัมมสูตรอันว่าด้วยเรื่องอยู่ในดุสิต เรื่องจุติ เรื่องประสูติ เหล่านี้ซึ่งล้วนแต่เป็นปาฎิหาริย์, จะเป็นเรื่องที่ควรถือเอาตามนั้นตรงตามตัวอักษรไปทั้งหมด หรือว่าเป็นเรื่องที่ท่านแฝงไว้ในปุคคลาธิษฐาน จะต้องถอดให้เป็นธรรมาธิษฐานเสียก่อนแล้วจึงถือเอา เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยกันอีกต่อหนึ่ง, ข้าพเจ้าผู้รวบรวมสังเกตเห็นความแปลกประหลาดของเรื่องเหล่านี้ ตอนที่ไม่ตรัสเล่าเสียเอง ยกให้เป็นหน้าที่ของพระอานนท์ เป็นผู้เล่ายืนยันอีกต่อหนึ่ง ขอให้วินิจฉัยกันดูเถิด. ที่นำมารวมไว้ในที่นี้ด้วย ก็เพราะมีอยู่ในบาลี เป็น พุทธภาษิตเหมือนกัน แม้จะโดยอ้อม โดยผ่านทางปากของพระอานนท์อีกต่อหนึ่ง ซึ่งลักษณะเช่นนี้มีแต่เรื่องตอนนี้เท่านั้น.



การจุติจากดุสิตลงสู่ครรภ์


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ดูก่อนอานนท์! โพธิสัตว์มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม จุติจากหมู่เทพชั้นดุสิต ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา" ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! แม้ข้อนี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่า เป็นของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีเกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค. 

บาลี อัจฉริยอัพภูตธัมมสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๘/๓๖๓.


เกิดแสงสว่างเนื่องด้วย การจุติจากดุสิต


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ดูก่อนอานนท์! โพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม จุติจากหมู่เทพชั้นดุสิตแล้ว ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา ในขณะนั้น แสงสว่างอันโอฬารจนหาประมาณมิได้ ยิ่งใหญ่กว่าอานุภาพของเทวดาทั้งหลายจะบันดาลได้, ได้ปรากฏขึ้นในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์พร้อมทั้งเทวดาแลมนุษย์ ถึงแม้ในโลกันตริกนรก อันโล่งโถงไม่มีอะไรปิดกั้น แต่มืดมน หาการเกิดแห่งจักขุวิญญาณมิได้ อันแสงสว่างแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ อันมีฤทธิอานุภาพอย่างนี้ ส่องไปไม่ถึงนั้น แม้ในที่นั้น แสงสว่างอันโอฬารจนหาประมาณมิได้ ยิ่งใหญ่กว่าอานุภาพของเทวดาทั้งหลายจะบันดาลได้ ก็ได้ปรากฏขึ้นเหมือนกันสัตว์ที่เกิดอยู่ ณ ที่นั้น รู้จักกันได้ด้วยแสงสว่างนั้น พากันร้องว่า 'ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ผู้อื่นอันเกิดอยู่ในที่นี้ นอกจากเรา ก็มีอยู่เหมือนกัน' ดังนี้ และหมื่นโลกธาตุนี้ ก็หวั่นไหว สั่นสะเทือนสะท้าน. แสงสว่างอันโอฬารจนหาประมาณมิได้ ได้ปรากฏขึ้นในโลก เกินกว่าอานุภาพของเทวดาทั้งหลายจะบันดาลได้." ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! แม้ข้อนี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่าเป็นของน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค.


(ข้อความเช่นนี้ ที่อยู่ในรูปพุทธภาษิตล้วนๆ ก็มี คือ บาลีสัตตมสูตร ภยวัคค์ จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๗๖/๑๒๗, เป็นอัศจรรย์ครั้งที่ ๑ (จุติ), ครั้งที่ ๒ (ประสูติ), ครั้งที่ ๓ (ตรัสรู้), ฯลฯ ไปตามลำดับ, สังเกตดูได้ที่ตอนตรัสรู้เป็นต้นไป, ในที่นี้ไม่นำมาใส่ไว้ เพราะใจความซ้ำกัน)

บาลี อัจฉริยอัพภูตธัมมสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๘/๓๖๔, และ จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๗๖/๑๒๗.




แผ่นดินไหว เนื่องด้วยการจุติ


ดูก่อนอานนท์ ! เหตุปัจจัยที่ทำให้ปรากฏการไหวแห่งแผ่นดินอันใหญ่หลวง มีอยู่แปดประการ. ....

ดูก่อนอานนท์ ! เมื่อใดโพธิสัตว์ จุติจากหมู่เทพชั้นดุสิต มีสติสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา; เมื่อนั้น แผ่นดินย่อมหวั่นไหว ย่อมสั่นสะเทือน ย่อมสั่นสะท้าน. อานนท์ ! นี้เป็นเหตุปัจจัยคำรบสามแห่งการปรากฏการไหวของแผ่นดินอันใหญ่หลวง.

บาลี อฎฺฐก. อํ. ๒๓/๓๒๒,๓๒๓/๑๖๗.

ตรัสแก่พระอานนท์ ที่ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี.



การลงสู่ครรภ์


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์กำลังก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา ในกาลนั้นเทพบุตรทั้งหลายย่อมทำการอารักขาในทิศทั้งสี่ แก่โพธิสัตว์ โดยประสงค์ว่ามนุษย์หรืออมนุษย์หรือใครๆ ก็ตาม อย่าได้เบียดเบียนโพธิสัตว์ หรือมารดาแห่งโพธิสัตว์เลย" ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แม้ข้อนี้ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่าเป็นของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีเกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค. 

บาลี อัจฉริยอัพภูตธัมมสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๙/๓๖๕.



การอยู่ในครรภ์


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำมาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ดูก่อนอานนท์! ในกาลใด โพธิสัตว์ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา ในกาลนั้นมารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อมเป็นผู้มีศีลอยู่โดยปกติ เป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต เว้นจากอทินนาทาน เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากมุสาวาท เว้นจากสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งของความประมาท" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดาในกาลนั้น มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อม ไม่มีความคิดอันเจือด้วยกามคุณ ในบุรุษทั้งหลาย, อนึ่ง มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อมเป็นผู้ที่บุรุษใดๆ ไม่คิดจะล่วงเกินด้วยจิตอันกำหนัด" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดาในกาลนั้น มารดาแห่งโพธิสัตว์ เป็นผู้มีลาภ ด้วยกามคุณทั้งห้า*, มารดาแห่งโพธิสัตว์นั้น อิ่มเอิบด้วยกามคุณทั้งห้า เพียบพร้อมด้วยกามคุณทั้งห้า ให้เขาประคบประหงมอยู่" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดาในกาลนั้น มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อม ไม่มีอาพาธไรๆ มีความสุข ไม่อ่อนเพลีย, อนึ่ง มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อม แลเห็นโพธิสัตว์ ผู้อยู่ในครรภ์มารดา มีอวัยวะน้อยใหญ่สมบูรณ์ มีอินทรีย์ไม่ทราม. เหมือนอย่างว่า แก้วไพฑูรย์อันงดงามโชติช่วงสดใสเจียระไนดีแล้ว มีด้ายร้อยอยู่ในแก้วนั้น สีเขียว เหลืองแกมเขียวแดง ขาว หรือเหลือง ก็ตาม บุรุษที่ตายังดี เอาแก้วนั้นวางบนฝ่ามือแล้วย่อมมองเห็นชัดเจนว่า นี้แก้วไพฑูรย์ อันงดงามโชติช่วงสดใส เจียระไนดีแล้ว, นี้ด้าย ซึ่งร้อยอยู่ในแก้วนั้น จะเป็นสีเขียว เหลืองแกมเขียว แดง ขาว หรือเหลืองก็ตาม; ฉันใดก็ฉันนั้น ที่มารดาแห่งโพธิสัตว์ เป็นผู้ไม่มีอาพาธ มีความสบายไม่อ่อนเพลีย แลเห็นโพธิสัตว์ผู้นั่งอยู่ในครรภ์ มีอวัยวะน้อยใหญ่สมบูรณ์ มีอินทรีย์ไม่ทราม" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! หญิงอื่นๆ อุ้มครรภ์ไว้เก้าเดือนบ้าง สิบเดือนบ้าง จึงจะคลอด, ส่วนมารดาแห่งโพธิสัตว์ ไม่เป็นเช่นนั้น, ย่อม อุ้มครรภ์ไว้สิบเดือนเต็ม ทีเดียว แล้วจึงคลอด" ดังนี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แม้ข้อนี้ๆ ข้าพระองค์ย่อมถือไว้ว่า เป็นของน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี, เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค.

บาลี อัจฉริยอัพภูตธัมมสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๙-๒๕๑/๓๖๖-๗-๘-๙, ๓๗๑.


การประสูติ


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จำเอามาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า "ดูก่อนอานนท์ ! หญิงอื่นๆ ย่อมนั่งคลอดบ้าง นอนคลอดบ้าง. ส่วนมารดาแห่งโพธิสัตว์ หาเป็นอย่างนั้นไม่, มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อม ยืนคลอด โพธิสัตว์" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดา ในกาลนั้น เทวดาทั้งหลายย่อมเข้ารับก่อน ส่วนมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมเข้ารับต่อภายหลัง" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดายังไม่ทันถึงแผ่นดิน เทพบุตรทั้งสี่ ย่อม รับเอามาวางตรงหน้าแห่งมารดา ทูลว่าแม่เจ้าจงพอพระทัยเถิด บุตรอันมีศักดาใหญ่ของแม่เจ้า เกิดแล้ว" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดาในกาลนั้นเป็นผู้สะอาดหมดจด ไม่เปื้อนด้วยเมือก ไม่เปื้อนด้วยเสมหะ ไม่เปื้อนด้วยเลือด ไม่เปื้อนด้วยหนอง ไม่เปื้อนด้วยของไม่สะอาดอย่างใดๆ เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดหมดจดมาทีเดียว. เหมือนอย่างว่า แก้วมณีที่วางอยู่บนผ้าเนื้อเกลี้ยงอันมาแต่แคว้นกาสี, แก้วก็ไม่เปื้อนผ้า ผ้าก็ไม่เปื้อนแก้ว, เพราะเหตุใด, เพราะเหตุว่ามันเป็นของสะอาดหมดจดทั้งสองอย่าง; ฉันใดก็ฉันนั้น ที่โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดา เป็นผู้สะอาดหมดจด ไม่เปื้อนด้วยเมือก ไม่เปื้อนด้วยเสมหะ ไม่เปื้อนด้วยเลือด ไม่เปื้อนด้วยหนอง ไม่เปื้อนด้วยของไม่สะอาดอย่างใดๆ เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดหมดจดมาทีเดียว" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! ในกาลใด โพธิสัตว์ออกมาจากท้องแห่งมารดาในกาลนั้น ท่อธารแห่งน้ำสองท่อ ปรากฏจากอากาศ เย็นท่อหนึ่งร้อนท่อหนึ่ง, อันเขาใช้ในกิจอันเนื่องด้วยน้ำ แก่โพธิสัตว์ และแก่มารดา" ดังนี้.

ฯลฯ "ดูก่อนอานนท์ ! โพธิสัตว์ผู้คลอดแล้วเช่นนี้ เหยียบพื้นดินด้วยฝ่าเท้าอันสม่ำเสมอ มีพระพักตร์ทางทิศเหนือ ก้าวไป ๗ ก้าว, มีฉัตรสีขาวกั้นอยู่ ณ เบื้องบน, ย่อมเหลียวดูทิศทั้งหลาย และกล่าว อาสภิวาจา* ว่า "เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี" ดังนี้. 

บาลี อัจฉริยอัพภูตธัมมสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๕๑/๓๗๒-๓-๔-๕-๖-๗.  

1 ความคิดเห็น: